Connect with us

Hi, what are you looking for?

Accessories review

[Review] Sony WF-1000XM3 หูฟังแบบ True Wireless ที่อัดแน่นด้วยคุณภาพเสียง และระบบตัดเสียงรบกวน

เทรนด์การใช้งานหูฟังไร้สายแบบ True Wireless หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า TWS ซึ่งเป็นหูฟัง Bluetooth ที่แยกหูทั้งสองข้างเป็นอิสระ ไม่มีสายเชื่อมต่อถึงกัน เป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่สอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีการรับส่งสัญญาณ​ Bluetooth ที่ได้รับการพัฒนาจนสามารถให้คุณภาพเสียงที่ดีเทียบเท่ากับหูฟังแบบใช้สาย ราคาที่มีให้เลือกหลากหลาย และที่สำคัญที่สุดเลยคือฝั่งของมือถือเองที่เริ่มตัดช่อง 3.5 มม. ออก จึงทำให้ผู้ใช้เริ่มมองหาหูฟังแบบ TWS มาใช้งานข้างกายกันมากขึ้น ล่าสุดเอง Sony ก็ส่งหูฟัง TWS ระดับไฮเอนด์ลงตลาดด้วยเช่นกัน นั่นคือ Sony WF-1000XM3 ในรีวิวบทความนี้นี่เองครับ

P1770656

Advertisement

โดย Sony WF-1000XM3 เป็นหูฟังแบบ TWS ที่ได้รับการโปรโมตในด้านของคุณภาพเสียง และคุณสมบัติในการตัดเสียงรบกวน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสัมผัสกับเสียงเพลงได้อย่างเต็มอารมณ์ ซึ่งที่ผ่านมา Sony เองก็เป็นหนึ่งในผู้นำด้านหูฟังที่ถูกใจใครหลาย ๆ คนมาอยู่แล้ว ทั้งในแง่ของแนวเสียง ฟังก์ชันเสริมที่ทำได้ดี รวมถึงตัวเลือกในตลาดที่มีอย่างหลากหลาย ซึ่งในการกระโดดมาทำหูฟัง TWS รอบนี้ Sony ก็นำเอาจุดเด่นของตัวเองมาใส่ไว้เต็มที่เช่นกันครับ

สำหรับสเปคคร่าว ๆ ของหูฟัง Sony WF-1000XM3 ก็มีประมาณนี้

  • เป็นหูฟังแบบ In-Ear
  • ไดรเวอร์ขนาด 6 มม. พร้อมแม่เหล็กนีโอดิเมียม
  • ตอบสนองความถี่เสียงผ่าน Bluetooth ได้ที่ระดับ 20Hz – 20,000 Hz
  • รองรับการทำงานร่วมกับ Bluetooth 5.0 (คลื่น 2.4 GHz) A2DP, AVRCP, HFP, HSP
  • รองรับ codec แบบ SBC และ AAC
  • น้ำหนักเฉพาะตัวหูฟัง ข้างละ 8.5 กรัม
  • มีไมค์ในตัว ใช้คุยโทรศัพท์ได้
  • ระยะการทำงานไกลสุด 10 เมตร (ตามทฤษฎี)
  • มีเซ็นเซอร์สำหรับแตะเพื่อสั่งงานได้จากหูฟังทั้งสองข้าง
  • ระบบตัดเสียงรบกวน (NC) ด้วยการทำงานของชิปประมวลผล QN1e และเซ็นเซอร์เสียงรบกวนแบบคู่
  • มีระบบช่วยปรับการตั้งค่าเสียงให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมภายนอก
  • รองรับ DSEE HX สำหรับเสริมคุณภาพให้กับไฟล์เสียงที่ถูกบีบอัด
  • ใช้งานแบตเตอรี่ได้ประมาณ 6 ชั่วโมง โดยเคสสามารถชาร์จไฟให้หูฟังได้ 3 รอบ (รวมทั้งหมด 24 ชั่วโมง)
  • แบตเตอรี่
    • ใช้ฟังเพลงต่อเนื่อง (เปิด NC) ได้ 6 ชั่วโมง / (ปิด NC) ได้ 8 ชั่วโมง
    • ใช้สนทนาต่อเนื่อง (เปิด NC) ได้ 4 ชั่วโมง / (ปิด NC) ได้ 4.5 ชั่วโมง
    • สแตนด์บายต่อเนื่อง (เปิด NC) ได้ 9 ชั่วโมง / (ปิด NC) ได้ 15 ชั่วโมง
    • ใช้เวลาในการชาร์จแบตหูฟังจนเต็มประมาณ 1.5 ชั่วโมง โดยการชาร์จเพียง 10 นาที ก็สามารถใช้งานต่อได้ถึง 1 ชั่วโมง
    • เคสชาร์จ ใช้เวลาชาร์จแบตของเคสจนเต็มประมาณ​ 3.5 ชั่วโมง (ชาร์จผ่าน USB-C)

ทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในหูฟัง Sony WF-1000XM3 คู่นี้ครับ สนนราคากลางบนเว็บไซต์ Sony ก็อยู่ที่ 8,990 บาท

P1770621

หน้ากล่องก็จะมีฟังก์ชันเด่น ๆ บอกมาให้ชัดเจน แถมยังรองรับการใช้งานร่วมกับ Google Assistant ได้ด้วย ส่วนเมื่อดึงใส้ในออกมา ก็จะพบกับวิธีการจับคู่หูฟังให้ทำตามได้ทันที โดยจะมีด้วยกัน 3 ขั้นตอนหลักครับ ง่าย ๆ เลยก็คือเสียบหูฟังกลับเข้าไปในกล่องให้ถูกด้าน จากนั้นเปิดแอป Sony | Headphones Connect ขึ้นมา แล้วทำการเชื่อมต่อตามขั้นตอนในแอป

P1770624

เมื่อเปิดฝาที่ระบุขั้นตอนการเชื่อมต่อขั้นแรกออก ก็จะพบกับตัวหูฟัง Sony WF-1000XM3 พร้อมกล่องใส่

P1770659

ส่วนอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องก็ได้แก่ เอกสารคู่มือการใช้งาน การรับประกัน การใช้งานร่วมกับบ Google Assistant สาย USB-C สำหรับชาร์จไฟให้กล่องหูฟัง แล้วก็จุกหูฟังที่จะแบ่งเป็นสองชุด ชุดแรกคือจุกยางแบบบาง ส่วนอีกชุดน่าจะเป็นจุกยางเหมือนกัน แต่เป็นแบบหนา ให้สัมผัสค่อนข้างใกล้เคียงจุกโฟม ซึ่งแต่ละชุดจะให้มา 3 ขนาด สามารถเลือกใช้งานได้ตามสะดวก (ที่ตัวหูฟังก็มีมาให้คู่นึง รวมแล้วมีจุกให้เลือกใช้งานถึง 7 คู่) ส่วนตัวผมก็ใส่ข้างนึงเป็นจุกขนาดเล็ก อีกข้างก็เป็นขนาดกลาง เพื่อให้พอดีกับหูที่สุด

P1770625

หน้าตาของ Sony WF-1000XM3 ก็จะออกเป็นทรงคล้าย ๆ กับหูฟังไร้สายหลายรุ่นในตลาด คือเป็นเม็ด แล้วมีส่วนของท่อหูฟังยื่นเข้ามา เพื่อใช้งานในแบบลักษณะของหูฟังแบบ In-Ear โดยแต่ละข้างจะมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร  ข้างซ้ายและขวาจะถูกออกแบบมาแบบเจาะจง ไม่สามารถสลับใช้งานได้

P1770633

ด้านหน้า (ฝั่งที่หันออกข้างนอกเวลาใช้งาน) จะมีโลโก้ Sony ติดอยู่ พร้อมกับช่องรับเสียงของเซ็นเซอร์ตัดเสียงรบกวน ส่วนบริเวณที่เป็นวงกลมพื้นด้านนั้น คือบริเวณสำหรับใช้นิ้วแตะเพื่อสั่งงานครับ โดยสามารถตั้งค่าจากในแอปได้ ว่าจะให้ทำหน้าที่อะไรบ้าง หรือจะปิดฟังก์ชันนี้ไปก็ได้ โดยหลัก ๆ แล้ว ถ้าหากต้องการใช้ควบคุมการเล่นเพลง ก็จะมีรูปแบบการสั่งงานคร่าว ๆ ตามนี้

  • แตะ 1 ครั้ง = เล่น/หยุดเพลงชั่วคราว
  • แตะ 2 ครั้ง = ข้ามไปเพลงถัดไป
  • แตะ 3 ครั้ง = ย้อนไปต้นเพลง/เพลงก่อนหน้านี้

P1770630

ตรงส่วนริม บริเวณโลโก้ Sony จะมีไฟสำหรับใช้แสดงสถานะอยู่ เช่น ไฟสีแดงเมื่อกำลังชาร์จแบตเตอรี่อยู่ ไฟสีฟ้าที่จะกระพริบตอนที่หูฟัง stand by อยู่ (แต่ยังไม่ได้ใส่เพื่อใช้งาน) เป็นต้น

P1770628

ส่วนด้านในก็จะมีขั้วทองเหลืองสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ และก็เซ็นเซอร์วัดระยะตรงแถบสีดำ เพื่อใช้ตรวจจับว่ากำลังอยู่ในระหว่างการใช้งานหรือไม่ ส่วนตรงบริเวณใกล้ ๆ กับท่อหูฟัง ก็จะเซ็นเซอร์อีกตัวสำหรับไว้ช่วยตัดเสียงรบกวนจากภายนอก ซึ่งตัวหูฟังแต่ละข้างก็จะใช้เซ็นเซอร์ทั้งฝั่งในและฝั่งนอกประกอบกัน เพื่อตัดเสียงรบกวนจากภายนอก

ในขณะเดียวกันก็เปิดรับเสียงภายนอกเท่าที่จำเป็นมาให้ผู้ใช้ได้ยินด้วย (Ambient Sound Control) ซึ่งจะมีประโยชน์ในตอนที่มีคนอื่นหันมาพูดกับผู้ใช้ รวมถึงยังช่วยให้ได้ยินเสียงประกาศชื่อสถานีระหว่างโดยสารรถไฟฟ้าได้อีกด้วย ซึ่งตรงนี้เท่าที่ผมทดลอง มันก็ใช้งานได้ดีจริงครับ ต่างจากหูฟัง In-Ear ทั่วไปที่มักจะตัดเสียงภายนอกออกหมด

P1770634

ด้านบนและด้านล่างของ Sony WF-1000XM3 ก็ไม่ได้มีเซ็นเซอร์อะไรพิเศษ แต่จะทำให้เห็นรูปทรงได้ชัดเลยว่า ได้รับการออกแบบมาให้เข้ากับช่องหูได้ดีแน่ ๆ

P1770636

P1770638

กล่องของ Sony WF-1000XM3 ก็จะมาในทรงมน ๆ หน่อย ขนาดจัดว่าเกือบเต็มฝ่ามืออยู่เหมือนกันครับ เทียบแล้วใหญ่กว่ากล่อง AirPods 2 ถึงเกือบเท่าตัว ซึ่งก็เนื่องมาจากรูปทรงของตัวหูฟัง ประกอบกับภายในมีแบตเตอรี่ด้วย โดยกล่องของ Sony WF-1000XM3 ตามสเปคระบุว่าสามารถชาร์จไฟให้กับตัวหูฟังรวมได้สูงสุดถึง 18 ชั่วโมง ส่วนช่องชาร์จก็เป็น USB-C สามารถใช้สายชาร์จ อะแดปเตอร์ชาร์จของมือถือมาใช้งานได้เลย

P1770645

เมื่อเปิดฝากล่อง ก็จะพบกับตัวหูฟังอยู่ด้านบนสุด โดยสามารถแงะหูฟังแต่ละข้างขึ้นมาได้ด้วยการแงะตรงร่องตรงกลางครับ ไม่สามารถเทออกมาได้ เพราะภายในมีแม่เหล็กช่วยยึดหูฟังเอาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยตรงขอบกล่องตรงแถวสัญลักษณ์ NFC ก็จะมีไฟแสดงสถานะการชาร์จด้วยเช่นกัน ถ้ากำลังชาร์จไฟเข้าไปให้ตัวหูฟัง ก็จะมีไฟสีแดงขึ้นมาทั้งที่ตัวกล่อง และก็ที่ตัวหูฟังเลย แต่ที่น่าเสียดายหน่อยคือ ผู้ใช้ไม่สามารถดูปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ของตัวกล่องได้เลย เพราะในแอปพลิเคชัน Sony | Headphones Connect จะแสดงเฉพาะปริมาณแบตของตัวหูฟังเท่านั้น

P1770642

ถ้าดึงเอาหูฟังออก แต่ละฝั่งภายในกล่องจะมีสัญลักษณ์ระบุให้ชัดเจนว่าฝั่งไหนใช้สำหรับใส่หูฟังข้างไหนบ้าง โดยช่องสำหรับใส่ข้างซ้ายก็จะเป็นตัว L ในวงกลมสีขาว ส่วนข้างขวาก็จะเป็นตัว R ในวงกลมสีส้ม ซึ่งสัญลักษณ์ที่ใช้บนตัวหูฟังก็จะเป็นแบบเดียวกันครับ ทำให้สามารถสังเกตได้ง่าย หยิบขึ้นมา เห็นสีส้ม ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นหูฟังข้างขวา

Review Sony WF 1000XM3 NotebookSPEC 2

ภาพตอนใช้งานหูฟัง Sony WF-1000XM3 ก็จะประมาณนี้ครับ ไม่ได้ดูใหญ่เทอะทะ แต่ก็กระชับ พอดีมาก ๆ โดยผมลองใช้งานในหลาย ๆ สถานการณ์ ซึ่งโดยส่วนตัวผมเป็นคนที่เหงื่อออกง่าย แต่ Sony WF-1000XM3 มันก็กระชับติดหูแน่นเกินคาดมาก ๆ โดยกิจกรรมที่ผมลองก็เช่น

  • นั่งฟังเพลง
  • ใส่เดินช้า ๆ
  • ใส่เดินเร็ว ๆ
  • ใส่วิ่ง
  • ใส่ออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ
  • ใส่ขณะซิทอัพ

ซึ่งเท่าที่ผมเจอก็คือ ตัวหูฟัง Sony WF-1000XM3 นั้นแทบจะไม่หลุดเลย มีแค่เพียงตอนซิทอัพที่มีแนวโน้มว่าอาจจะหลุด เพราะผมรู้สึกได้ว่าหูฟังมันมีการขยับตำแหน่งออกมาทีละนิด ๆ ครับ แต่ถ้าเทียบกับ AirPods 2 ที่ผมใช้งานอยู่ บอกเลยว่าคนละเรื่อง เพราะแค่ตอนเดินเร็ว ๆ บางที AirPods ก็เริ่มหลุดแล้ว

ส่วนการใส่แบบใช้งาน Sony WF-1000XM3 ติดต่อกันนาน ๆ ก็ไม่พบอาการปวดหรือล้าหูแต่อย่างใดครับ

 

เริ่มใช้งาน Sony WF-1000XM3

ขั้นตอนแรกก่อนจะเริ่มใช้งาน Sony WF-1000XM3 กับมือถือ แท็บเล็ตได้ ก็คือต้องทำการจับคู่ก่อน ซึ่งก็ต้องอาศัยแอปพลิเคชันของทาง Sony ในการจับคู่ นั่นคือแอป Sony | Headphones Connect ที่มีให้ดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งบน App Store ของ iOS และ Play Store ของ Android

Screen Shot 2019 10 06 at 5.04.11 PM

แอป Sony | Headphones Connect สำหรับ iOS

Screen Shot 2019 10 06 at 5.04.20 PM

แอป Sony | Headphones Connect สำหรับ Android

1 1

เมื่อโหลดแอปมาเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเริ่มจับคู่ได้ทันที โดยในการจับคู่นั้น ก็จะมีให้เลือกทั้งแบบจับคู่ผ่านการตั้งค่า Bluetooth และก็การจับคู่โดยใช้ NFC ช่วย ซึ่งที่จริงแล้ว การเชื่อมต่อก็ยังคงผ่าน Bluetooth เหมือนกันครับ แต่ NFC จะช่วยในการทำให้ทั้งหูฟัง และมือถือของเราเจอกันเร็วขึ้น ง่ายขึ้น สามารถทำได้โดยเอาส่วนที่เป็นเสาอากาศ NFC ของมือถือ มาแตะกับตัวกล่อง ตรงบริเวณที่มีจุดที่ใช้เปิดฝาขึ้นมาได้เลย

ส่วนตัวผมในรอบแรก ผมใช้การเชื่อมต่อผ่านทาง Bluetooth ปกติครับ ทำตามขั้นตอนไป แอปก็จะให้ไปทำการเชื่อมต่อจากในเมนูของตัว Android อยู่ดี เมื่อเชื่อมต่อเรียบร้อย ก็ค่อยเปิดกลับมาที่แอปอีกที เพื่อเริ่มใช้งาน

ส่วนในภาพขวาสุด อันนี้ Google Assistant ในเครื่องผมตรวจพบว่าเจ้า Sony WF-1000XM3 รองรับการทำงานร่วมกับตัว Assistant ด้วย เลยแจ้งว่าสามารถเชื่อมต่อหูฟังเข้ากับระบบ Assistant ได้ทันที ซึ่งเมื่อเชื่อมต่อแล้ว ก็จะสามารถสั่งงาน Assistant ด้วยเสียงผ่านทางตัวหูฟังได้ทันที แถมมันยังสามารถอ่านการแจ้งเตือนที่มีเข้ามาได้อีกด้วย

2

ในหน้าหลักของแอป Sony | Headphones Connect ก็จะรวมข้อมูล และการตั้งค่าต่าง ๆ เอาไว้ทั้งหมด ไล่ลงมาได้แก่

  • รุ่นของหูฟังที่ใช้งานอยู่ พร้อม codec ที่ใช้ และปริมาณแบตเตอรี่แบบแยกข้าง (หลักการเชื่อมต่อของ Sony WF-1000XM3 เข้ากับมือถือ คือจะเชื่อมต่อแบบแยกซ้าย-ขวาอิสระ)
  • Adaptive Sound Control: เปิด/ปิดฟังก์ชันการปรับค่าเสียงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายนอก และตัวผู้ใช้เอง (นั่ง ยืน เดินอยู่ เป็นต้น)
  • Ambient Sound Control: ตัวช่วยปรับระดับของการตัดเสียงรบกวน / ปริมาณเสียง ambient ที่ต้องการให้เข้ามา
  • Equalizer: ปรับระดับ eq และปริมาณเบส
  • ตัวควบคุมการเล่นเพลง ซึ่งจะไปเชื่อมต่อกับแอปฟังเพลงที่กำลังใช้งานอยู่

 

3

เลื่อนลงมาก็จะเจอตัวเลือกการตั้งค่าอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • ตัวเลือกเปิด/ปิดฟังก์ชันการหยุดเล่นเพลงอัตโนมัติ เมื่อผู้ใช้ถอดหูฟังออก
  • ตัวเลือกโหมดการเชื่อมต่อ ระหว่างการเชื่อมต่อที่เน้นคุณภาพเสียง กับการเชื่อมต่อที่เน้นความเสถียรของสัญญาณ
  • ตัวเลือกเปิด/ปิดระบบ DSEE HX เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพให้กับเสียงที่ได้จากไฟล์เพลงที่ผ่านการบีบอัดมา (แนะนำให้เปิดไว้ตลอด เพราะมันกินแบตแทบไม่ต่างกันเลย)
  • ตัวเลือกการปรับฟังก์ชันเมื่อแตะที่หูฟังข้างซ้ายและขวา ซึ่งจะมีตัวเลือกทั้ง
    • ควบคุมการเล่นเพลง
    • ควบคุมการเข้าของเสียง ambient
    • เรียกใช้งาน Google Assistant (ต้องไปตั้งค่าที่ตัว Assistant ในเครื่องด้วย)
    • ปิดการใช้งานของปุ่มสัมผัส

P1770648

คุณภาพเสียง / คุณภาพการเชื่อมต่อของ Sony WF-1000XM3

เป็นสิ่งที่ผมแทบอยากจะให้คะแนนเต็มเลยทีเดียว เพราะเสียงนั้นมาเต็มในทุกย่านเสียงมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นสูง กลาง ต่ำ อิมแพคก็ทำได้ดี เนื้อเสียงมีมวล รวมถึงซาวด์สเตจที่ทำได้สมราคา จัดว่ายอดเยี่ยมมากสำหรับหูฟังแบบ TWS เมื่อถอดข้างใดข้างนึงออก เสียงก็จะออกเพียงอีกข้างเดียวที่ใส่อยู่ได้อัตโนมัติ เมื่อใส่กลับมาตามปกติ เสียงก็ตามกลับมาด้วยเช่นกัน แต่จะมีดีเลย์นิดหน่อย ส่วนเสียงจากไมค์ ก็คมชัดพอสมควร แต่เสียงจะเหมือนอยู่ห่าง ๆ ไปนิด

ส่วนการตัดเสียงรบกวน และการปรับการตั้งค่าเสียงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมก็ช่วยเพิ่มความสนุกในการฟังเพลงได้ดีจริงครับ เพราะตัวหูฟังจะช่วยให้ ความดัง แนวเสียง เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างกัน ทำให้ผมไม่ต้องคอยปรับระดับเสียงเพื่อเร่งแข่งกับเสียงภายนอก ตอนที่ใช้งานนอกบ้านให้วุ่นวายเลย

แต่จะมีบางจุดที่ทำให้ Sony WF-1000XM3 เป็นหูฟัง TWS ที่สมบูรณ์แบบกว่านี้ถ้าได้รับการปรับปรุง เช่น ระยะเวลาที่ใช้ในการเชื่อมต่อกับมือถือ นับตั้งแต่เปิดฝากล่อง จนถึงเวลาที่เพลงเริ่มดังจากตัวหูฟัง เพราะเท่าที่ผมลองทั้งกับ Android 10 (Google Pixel 2 XL) และ iOS 13 (iPad mini 5) พบว่า Sony WF-1000XM3 ใช้เวลาถึงเกือบ 15 วินาที กว่าที่เสียงเพลงที่เล่นจากลำโพงของเครื่อง จะย้ายมาออกที่ตัวหูฟังแทน ในขณะที่ AirPods 2 กลับใช้เวลาเพียงประมาณ 5 วินาทีเท่านั้นเอง (แต่ถ้าถามเรื่องคุณภาพเสียง บอกได้เลยว่า Sony WF-1000XM3 ดีกว่า AirPods 2 อย่างเห็นได้ชัดครับ)

อีกประเด็นที่ผมพบระหว่างทดสอบ Sony WF-1000XM3 ก็คือ ความเสถึยรของสัญญาณการเชื่อมต่อระหว่างตัวหูฟังกับมือถือ/แท็บเล็ต ที่บางครั้งผมก็เจออาการหูฟังข้างขวาเสียงหายไปประมาณเกือบ 1 วินาที ในขณะที่ข้างซ้ายไม่เป็นอะไร (ผมทดสอบด้วยการใช้โหมดเน้นคุณภาพเสียง)

ส่วนการใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ ก็สามารถเชื่อมต่อได้ค่อนข้างดีครับ แต่ในจุดนี้ มือถือที่ใช้งานก็นับเป็นปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการเชื่อมต่อด้วยเช่นกัน เพราะจากที่ผมลอง พบว่าตอนที่ใช้งานกับมือถือในข้างต้น ผมพบปัญหาสัญญาณหลุดบ่อยมาก แต่พอเปลี่ยนมาเชื่อมต่อกับ iPad ปรากฏว่าปัญหาแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ผมก็ใช้มือถือข้างเดียวกันกับ AirPods 2 ก็ไม่เกิดปัญหาสัญญาณหลุดนะ (แต่เกิดปัญหาเสียงเบาผิดปกติแทน =.= )

//ดังนั้น ข้อนี้ปัญหาอาจจะเกิดจากมือถือผมเป็นหลักนะครับ แต่ถ้าเทียบตอนใช้งาน Sony WF-1000XM3 กับ iPad ก็แทบไม่พบปัญหาการเชื่อมต่อเลย ไม่ว่าจะใช้งานบน BTS/MRT เดินห้างสรรพสินค้า เดินสยาม ก็ใช้งานได้สบาย

แบตเตอรี่ของ Sony WF-1000XM3

ตามสเปคระบุว่า Sony WF-1000XM3 สามารถใช้ฟังเพลงแบบเปิดฟังก์ชันตัดเสียงรบกวนได้นานสุดประมาณ 6 ชั่วโมง ซึ่งจากที่ผมลองใช้งาน ก็ได้ประมาณ 5 ชั่วโมงกว่า ๆ นะ แต่ถ้าช่วงไหนที่สัญญาณหลุดบ่อย มีเสียงขาด ๆ หาย ๆ ช่วงนั้นอาจจะใช้ได้แค่ประมาณ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติครับ เพราะถ้าหูฟังเกิดปัญหาเรื่องสัญญาณหลุดบ่อย ๆ ตัวหูฟังก็จะเร่งการทำงานของภาครับ/ภาคส่งคลื่นให้แรงขึ้น เพื่อพยายามคงสถานะการเชื่อมต่อเอาไว้

 

รวม ๆ แล้ว Sony WF-1000XM3 เป็นหูฟังไร้สายแบบ TWS ระดับไฮเอนด์ที่ทำมาได้ไม่เสียชื่อ Sony จริง ๆ ด้วยคุณภาพเสียงที่สมกับเป็นหนึ่งในเจ้าของหูฟังระดับแมสมาอย่างยาวนาน เป็นหูฟังที่ฟังเพลงแล้วสนุก ดูหนังก็ได้อรรถรสดี หรือจะใช้เล่นเกมก็ลงตัว ส่วนพวกฟังก์ชันเสริมอย่างการตัดเสียงรบกวน การปล่อยเสียง ambient ภายนอกเข้ามาในบางจังหวะ การเพิ่มคุณภาพเสียง การควบคุม สั่งงานได้ด้วยการแตะที่หูฟัง ต่างก็เป็นฟังก์ชันที่ช่วยเสริมประสบการณ์การใช้งานได้เป็นอย่างดี เรียกว่า ถ้าคุณกำลังมองหาหูฟังไร้สายแบบ TWS แบบยอมจ่ายได้เพื่อประสบการณ์การใช้งานที่ดี Sony WF-1000XM3 คือหนึ่งในทางเลือกที่น่าจะถูกใจคุณแน่นอน กับค่าตัว 8,990 บาท ขนาดตัวผมเอง ยังอยากจะโยน AirPods 2 กลับไปเก็บในกล่องเลยครับ

 

ข้อดี

  • เสียงดีมาก มาเต็ม ครบทุกย่านเสียง
  • รูปทรงกำลังดี น้ำหนักเบา
  • ระบบช่วยตัดเสียงรบกวน และระบบควบคุมระดับเสียง ambient ช่วยเสริมประสบการณ์การใช้งานได้ดี
  • แถบแตะสั่งงานด้านข้าง สามารถใช้งานได้ง่าย และปรับแต่งการทำงานได้หลากหลาย
  • ใช้งานได้ทั้งกับ iOS และ Android ได้แบบเสมอภาค
  • แบตเตอรี่ในตัวใช้งานได้ประมาณ 6 ชั่วโมง และสามารถชาร์จจากเคสเพิ่มได้เป็นสูงสุดรวม 24 ชั่วโมง
  • สามารถตั้งค่า และใช้งานร่วมกับ Google Assistant ได้

ข้อสังเกต

  • ไม่สามารถดูปริมาณแบตที่เหลืออยู่ของตัวเคสได้
  • การจับคู่ครั้งแรกเข้ากับมือถือจะค่อนข้างวุ่นวายนิดหน่อย เพราะต้องทำผ่านแอป
  • ใช้เวลาในการเชื่อมต่อกับมือถือเพื่อใช้งานค่อนข้างนานนิดนึง เลยอาจทำให้ใช้งานได้ไม่ทันใจเท่าไหร่
  • หากพบปัญหาการเชื่อมต่อ แนะนำว่าควรเปลี่ยนไปเชื่อมต่อด้วยโหมดที่เน้นความเสถียรแทน
Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

IT NEWS

ชาว PC เตรียมพบกับประสบการณ์ VR สุดล้ำจาก Sony PlayStation VR2 ได้ภายในปี 2024 Sony Interactive Entertainment (SIE) ประกาศเตรียมรองรับ PlayStation VR2 (PS VR2) อุปกรณ์ VR สุดล้ำสำหรับ PlayStation 5...

IT NEWS

ล่าสุดมีข้อมูลบางส่วนของ PS5 Pro หลุดออกมาให้เราได้อัพเดทกัน โดยข้อมูลที่ได้มาบางส่วนเป็นการอ้างอิงจาก YouTuber ในต่างประเทศ ซึ่งสเปคตามข่าวลือที่ออกมาให้เราได้อัพเดทกันแล้วจะมีตามตารางดังนี้Advertisement CONSOLE XBOX SERIES X SONY PS5 SONY PS5 PRO (RUMOR) Codename Scarlett Obreon Viola Process TSMC...

PR-News

ตอกย้ำความสำเร็จและการเป็นผู้นำด้านการถ่ายภาพสุดล้ำ เดินหน้าต่อยอดแคมเปญ Hybridgraphy With Sony ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้โซนี่ไทยได้ทำการเปิดตัวแคมเปญ “AI x Hybridgraphy สร้างสรรค์ทุกไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณ”

Buyer's Guide

หูฟังไร้สายน่าใช้ปลายปี 2023 มีหลายรุ่นน่าโดนทั้งนั้น! หูฟังไร้สายไม่ว่าจะแบบ Lace คล้องตามคอหรือจะทรง True Wireless ไม่ว่าจะ In-Ear หรือ Earbuds ก็มีให้เลือกหลากหลายรุ่น, สไตล์ตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนหลักหมื่น ขึ้นอยู่ว่าทางบริษัทใส่ฟีเจอร์และลูกเล่นอะไรมาให้ใช้งานบ้าง โดยหลักๆ แล้วหูฟังไร้สายหลายรุ่นจะมีฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวนและยังใช้ Gesture Control เพียงแตะตรงหูฟังก็สามารถคุมการเล่นเพลงได้และบางรุ่นก็แตะสั่ง Amazon Alexa หรือ Google...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก