เชื่อว่าหลายๆ คน ที่กำลังจะซื้อซีพียูใหม่ หรือจะสั่งประกอบคอม นอกจากจะต้องพอรู้จักอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อที่จะสั่งซื้อหรือประกอบให้ครบทั้งชุดแล้ว ก็อาจจะต้องเข้าใจในสเปกของซีพียูด้วยเช่นกัน ในการเลือกใช้งานให้ตรงกับความต้องการและยังต้องเข้ากันได้กับเมนบอร์ด ไม่เช่นนั้น เลือกผิดก็ต้องกลับไปเปลี่ยนใหม่ ยิ่งเวลานี้ซีพียูมีหลายรุ่น หลายซ็อกเก็ต หากไม่แน่ใจเลือกผิด เดี๋ยวจะงงไปใหญ่ การดูข้อมูลหน้ากล่องในเบื้องต้นได้ ก็พอจะช่วยให้คุณเลือกใช้งานได้ง่ายขึ้น
สำหรับซีพียูจากค่าย Intel
สำหรับแพ็คเกจของค่าย Intel เรามักจะคุ้นเคยกันดี เพราะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก รายละเอียดต่างๆ ก็ถูกแจงเอาไว้เกือบครบถ้วนในตัวอยู่แล้ว ส่วนรายละเอียด ก็ตามกล่องแบบนี้
ด้านหน้ากล่อง เกือบทุกรุ่น จะพิมพ์ให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นซีพียูซีรีส์ใด เช่น Core i3, i5 หรือ Core i7 หรือแม้กระทั่งซีพียู Pentium, Celeron ก็ตาม หน้ากล่องก็ยังมาพร้อมใบรับประกันจากผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการมาด้วย ตรงนี้เก็บไว้ให้ดี กรณีที่ต้องส่งเคลม
ถัดมาด้านล่าง จะบอกถึงรุ่น เช่น i7-6700, LGA1151 ซึ่งหมายถึงเป็นซีพียู Intel Core i7 ในรุ่น 6700, ใช้งานร่วมกับเมนบอร์ดซ็อกเก็ต LGA1151
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่พิมพ์ไว้บนลาเบลด้านข้างกล่อง จะประกอบไปด้วย
- แถวบนสุดเป็นตัวเลขที่บอกเอกลักษณ์ของซีพียู: เช่น i7-6700 (ชื่อรุ่น), 3.4GHz. (ความเร็วสัญญาณนาฬิกา) 8MB Cache, (L3-cache), LGA1151 (Socket)
- Product Code: BX80662176700
- S-spec: SR2L2 เป็นรหัสเฉพาะตัวของซีพียูแต่ละรุ่น ที่จะช่วยบอกคุณได้ว่าเป็นรุ่นอะไร โดยจะมีทั้งหน้ากล่องและบนตัวซีพียู ซึ่งผู้ใช้สามารถนำชุดรหัสดังกล่าวไปค้นหาสเปกได้ ที่นี่
- S/N: xxxxxxxxxxxxxxxxxx
- แหล่งที่ผลิต: Made in Malaysia
- ต้องระวังในการเลือกใช้งาน Socket 1151 สำหรับ Intel Gen6, Gen7 (Chipset Intel 100, 200 series) และ Socket 1151 สำหรับ Intel Gen8 (Intel 300 series)
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่เป็น Batch# Code ที่สามารถบอกรายละเอียดคร่าวๆ ได้ดังนี้ อาทิเช่น L623F529
รหัสชุดแรก > หมายถึง แหล่งผลิต: L คือ มาเลย์เซีย
0 = San Jose, Costa Rica
1 = Cavite, Philippines
3 = Costa Rica
6 = Chandler, Arizona
7 = Philippines
8 = Leixlip, Ireland
9 = Penang, Malaysia
L = Malaysia
Q = Malaysia
R = Manila, Philippines
Y = Leixlip, Ireland
รหัสชุดที่ 2 > หมายถึง ปีที่ผลิต: 6 (2016)
รหัสชุดที่ 3 และ 4 > หมายถึง สัปดาห์ที่ผลิต: 23 (สัปดาห์ที่ 23)
รหัสชุดที่ 5 และ 6 > หมายถึง ล็อตที่: (529)
นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณเข้าใจในรหัสตัวเลขของซีพียูแต่ละรุ่นได้ง่ายยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ข้อมูลจาก Intel® Processor Numbers ด้วยการดูจาก ที่นี่
วิธีเช็คสเปกและฟีเจอร์ต่างๆ ของซีพียู: สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ที่ Intel Processor Identification Utility
สำหรับซีพียูจากค่าย AMD
หน้ากล่องของ AMD รุ่นใหม่ จะแตกต่างจาก Box ของในรุ่นที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง แต่ยังคงระบุซีรีส์มาบนหน้ากล่อง และรายละเอียดส่วนใหญ่จะไปอยู่ในลาเบลที่แปะมาบนกล่องนั่นเอง
วิธีการดูรุ่น ให้สังเกตจากรายละเอียดของลาเบลที่แปะมาบนกล่อง ประกอบด้วย
- แถวบนสุดเป็นตัวเลขที่บอกเอกลักษณ์ของซีพียู: เช่น Ryzen 7 1700X (ชื่อรุ่น) หรือถ้าเป็นรุ่นอื่นๆ ก็จะบอกเป็น Ryzen 3 หรือ Ryzen 5 เป็นต้น
- 8C / 16T (Core/Thread), 20MB cache (L3-cache) จำนวน Core/ Threadเป็นตัวเลขสำคัญที่ควรให้ความสนใจ
- 3.4GHz Base 3.8GHz Precision Boost (ความเร็วสัญญาณนาฬิกาปกติ / ความเร็วสัญญาณนาฬิกาเมื่อบูสท์)
- S/N: xxxxxxxxxxxxxxxxxx
- Socket AM4 (บอกถึงซ็อกเก็ตที่ใช้งานร่วมกับเมนบอร์ด), Discrete graphic design (กำหนดให้ต้องใช้งานกราฟฟิกแยกหรือการ์ดจอนั่นเอง)
- *No heatsink fan include (ระบุว่าไม่มีฮีตซิงก์มาให้ด้วย) *ฮีตซิงก์จะมีมาในกล่องในรุ่นที่ไม่ใช่ X series เท่านั้น
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีในการดูข้อมูลจากกล่องของซีพียู ครั้งต่อไปจะเป็นข้อมูลในการเลือกซีพียูและชิปเซ็ตบนเมนบอร์ด ของแต่ละรุ่นและแต่ละค่าย เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกใช้และประกอบคอมในโอกาสต่อไปครับ
ตามไปจัดสเปกพีซี ประกอบคอม ได้ที่ notebookspec.com/pc/spec