หลายต่อหลายคน ที่เคยได้สัมผัสกับโน๊ตบุ๊คที่แรง บาง เร็วอย่างในซีรีส์ X1 กันมา ส่วนใหญ่จะติดอกติดใจกับความแน่นของบอดี้ แม้ปัจจุบันจะออกแบบมาได้บางมากเพียงใด แต่ก็ยังมั่นใจได้ในความแข็งแกร่ง และขนาดที่เหมาะกับการพกพา ที่ทาง Lenovo ได้ออกแบบมาอย่างลงตัว สวยงาม นอกจากนี้การปรับปรุงองค์ประกอบภายในให้สดใหม่ จนมาถึงรุ่นปัจจุบัน ต้องถือว่าเป็นจุดแข็งที่ไม่มีการปล่อยให้โมเดลใหม่ มาย่ำอยู่กับที่ แต่กลับเติมสิ่งใหม่ๆ เข้าไปให้ผู้ใช้นั้น สามารถใช้งานอย่างเต็มระบบ
เช่นเดียวกับ Lenovo ThinkPad X1 Carbon ในเวอร์ชั่น 2016 นี้ ก็มาพร้อมหัวใจหลักสำคัญอย่าง Intel Gen6 Skylake ที่จัดวางมาบนบอดี้ในสไตล์อัลตร้าบุ๊กที่มีความเบาบาง บนหน้าจอขนาดกระทัดรัด ให้ความละเอียดสูง และยังจัดเอาระบบ Storage ใหม่ด้วยการใช้ SSD ในแบบ PCIe-NVME ที่ให้ความเร็วสูงมาในตัว เพื่อการใช้งานที่ไม่ติดขัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของซอฟต์แวร์ทำงานทั่วไปหรือความบันเทิงด้านมัลติมีเดีย แต่ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ จะต่างจาก X1 Carbon เดิมอย่างไรบ้าง เข้ามาดูรายละเอียดกันได้เลย
การออกแบบ
สำหรับ ThinkPad รุ่นนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่มีความเบาเป็นพิเศษ เพียงแค่ 1.17Kg เท่านั้น ทำให้ง่ายต่อการพกพาในการเดินทางหรือถือไปรอบๆ ออฟฟิศ กรณีที่ต้องเคลื่อนย้ายไปยังจุดต่างๆ บ่อยครั้ง เพราะใช้แค่เพียงมือเดียวถือไปมาได้สบาย ซึ่งบางครั้งถ้าเปลี่ยนจากโน๊ตบุ๊คหนักๆ มาใช้เจ้า X1 Carbon ใหม่นี้ บางครั้งอาจจะต้องคอยเปิดกระเป๋าเป้ดู เพราะจะให้ความรู้สึกเหมือนกับลืมนำโน๊ตบุ๊คมาด้วยหรือเปล่า ด้วยน้ำหนักที่เบากว่าเดิมไม่น้อย
ThinkPad X1 Carbon ยังคงใช้รูปลักษณ์ในโทนสีดำ เช่นเดียวกับโน๊ตบุ๊คธุรกิจรุ่นอื่นๆ ของตน แต่มีขนาดที่เล็กเพียง 33.3 x 22.9 x 1.65cm เท่านั้น และดูบางกว่าโน๊ตบุ๊คที่ใกล้ชิดกันอย่าง ThinkPad T460s อีกด้วย
Specifications
- CPU : Intel Core i5-6300U
- Operating System : Windows 10 Pro
- RAM : 8GB RAM Upgradable to 8GB
- Hard Drive Size : 256GB
- Hard Drive Type : M.2 PCIe SSD
- Display Size : 14
- Native Resolution : 2560 x 1440
- Graphics Card : Intel HD Graphics 520
- Video Memory : Shared
- Wi-Fi : 802.11b/g/n
- Wi-Fi Model : Intel Dual Wireless-AC 8260
- Bluetooth : Bluetooth 4.1
- Touchpad Size : 10 x 5.6cm
- Ports (excluding USB) : HDMI
- Ports (excluding USB) : Mini Display Port
- USB Ports : 2
- Card Slots : microSD
- Size : 33.3 x 22.9 x 1.65cm
- Weight : 1.17Kg
ความทนทาน
ด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ที่เป็นหน้าสัมผัสเกือบทั้งหมด รวมถึงฝาปิดด้านบน และบอดี้ที่เป็นแม็กนิเซียมอัลลอย ทำให้ X1 Carbon ทนต่อสภาพการใช้งานหรือการเดินถือไปมาในสำนักงาน รวมถึงการใช้งานที่นอกสถานที่ได้หนักหน่วงกว่าปกติ อย่างน้อยๆ ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องแรงกระแทกหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก โดยเฉพาะเรื่องริ้วรอยที่หลายคนมักกังวลจะเกิดขึ้นกับโน๊ตบุ๊ค สัมผัสที่หยิบจับได้ถนัดมือ ยังคงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโน๊ตบุ๊ครุ่นนนี้ ตามที่ Lenovo ได้ระบุไว้ถึงอัลตร้าบุ๊ก ผ่านการทดสอบ MIL-STD 810G ในเรื่องความทนทานต่อการใช้งานในอุณหภูมิสูง ทนแรงกระแทกหรือสั่นสะเทือน รวมถึงระดับความชื้นสูง แป้นคีย์บอร์ดสามารถทนน้ำและแรงกระแทกด้านบนได้ดีทีเดียว พูดง่ายๆ ว่ารองรับการกดด้วยแรงหนักๆ สำหรับคนที่ชอบพิมพ์กระแทกได้สบาย เป็นเอกลักษณ์ของโน๊ตบุ๊คในกลุ่ม ThinkPad มานาน
ความปลอดภัย
X1 Carbon มีคีย์ฟีเจอร์ที่สำคัญในด้านความปลอดภัยตามความต้องการของไอทีระดับองค์กร ประกอบไปด้วย TPM (Trusted Platform Module) การเข้ารหัสและสนับสนุนเทคโนโลยี Intel vPro manageability (บนซีพียู Core i5-6300U หรือรุ่นสูงกว่า)
โน๊ตุบ๊กรุ่นนี้ยังมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอีกเยอะเลย เช่น Fingerprint reader ที่ให้คุณสามารถใช้งานร่วมกับฟีเจอร์ Hello ในการล็อคอินสำหรับเข้าใช้งาน Windows 10 และสำหรับการตรวจสอบ Preboot ก่อนเข้าใช้งานระบบ การตั้งค่าเพื่อล็คอินเข้าสู่ระบบไบโอเมตริกค่อนข้างง่าย ด้วยซอฟต์แวร์พื้นฐาน แต่อาจต้องใช้การกดนิ้วลงไปที่ตัวสแกนหลายรอบบ้าง เพื่อให้ระบบตรวจสอบและยอมรับ เมื่อเสร็จสิ้นก็ถือว่าพร้อมสำหรับการใช้งานได้ทันที
หน้าจอแสดงผล
ThinkPad X1 Carbon มาพร้อมจอขนาด 14 นิ้ว มีความละเอียดให้เลือก 2 แบบคือ FHD 1920 x 1080 หรือ 2560 x 1440 ซึ่งจะเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นมา 70USD หรือประมาณ 2,450 บาท เมื่อดูจากตัวเลือกบน Lenovo.com จากการทดสอบเห็นได้ชัดว่า จอภาพให้สีสันที่ดีมีความคมชัด ส่วนจอที่เป็นตัวเลือกรุ่นความละเอียดสูง ยิ่งโดดเด่นมากขึ้น ในภาพรวมดูจะให้ความคุ้มค่าได้ดีในจำนวนเงินที่จ่ายเพิ่มไป
จากการทดสอบด้วยการชมภาพยนตร์ตัวอย่าง Star Wars : Rogue One รายละเอียดที่มาได้ครบถ้วน เช่นรูขุมขนบนใบหน้าของหน้าของนักแสดง รวมถึงกระบนแก้มของ Felicity Jone’s ในขณะที่แสงสีจากการระเบิดที่ปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะสีส้มหรือเขียวต่างแสดงให้เห็นถึงความสมจริงบนหน้าจอ รวมถึงภาพเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ในโทนสีอบอุ่นและให้ความสดใสบนหน้าจอแบบ 2560 x 1440 แต่สำหรับหน้าจอ 1920 x 1080 จะให้ความสว่างขึ้นเล็กน้อย แต่อยู่ในโทนสีเย็น
จากที่ทดสอบด้วย Colorimeter นั้น ThinkPad X1 Carbon จอแสดงผลทั้ง 1920 x 1080 และ 2560 x 1440 สามารถให้ค่าสี Gamut sRGB อยู่ที่ 104% และ 103% ตามลำดับ ซึ่งก็ดูจะเพียงพอที่บอกได้ว่า เหนือกว่าในโน๊ตบุ๊ครุ่นใกล้เคียงกันหลายรุ่น เช่น ThinPad T460s ยังอยู่ที่ 66% เท่านั้น นอกจากนี้ยังดีกว่าใน X1 Carbon ในรุ่นที่ 3 ซึ่งทำได้เพียง 85.5% เท่านั้นเองสำหรับ Gamut ที่ทดสอบได้
แต่ที่น่าสนใจก็คือ X1 Carbon ในรุ่น 1920 x 1080 มีหน้าจอที่มีความสว่างกว่า อยู่ที่ประมาณ 292 nits จากการทดสอบด้วยเครื่องวัด เมื่อเทียบกับตัวเลข 257 nits ที่ได้จากหน้าจอ 2560 x 1440 อย่างไรก็ตามทั้งสองรูปแบบอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ 148 nits และมีมุมมองในระดับที่ใกล้กัน โดยหน้าจอจะดูซีดลงเล็กน้อยในมุมที่กว้างกว่า 45 องศา
ระบบเสียง
ลำโพงของ ThinkPad X1 Carbon อยู่บริเวณด้านล่างของตัวเครื่อง จัดไว้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เสียงนั้นดังพอสำหรับการใช้ในห้องนั่งเล่นขนาดกลางและมีเบสที่หนักพอในการเล่นเพลงเฮฟวี่ ที่สามารถได้ยินเสียงที่แยกกันอย่างชัดเจน ของเครื่องดนตรีและเสียงร้องจากลำโพงซ้าย-ขวา รวมถึงบทเพลงจากกีตาร์ที่มาโซโล่ก็ให้เสียงแหลมสูงได้ดีอีกด้วย
แต่ก็เช่นเดียวกับโน๊ตบุ๊ค Lenovo รุ่นอื่นๆ X1 Carbon มาพร้อมซอฟต์แวร์ระบบเสียง Dolby ซึ่งมีกราฟฟิกอีควอไลเซอร์ที่ให้ตั้งแบบแมนนวล ซึ่งสามารถกำหนดเป็นโพรไฟล์หรือ Preset สำหรับในโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี เกมหรือชมภาพยนตร์ และการสนทนาด้วยเสียง ตามปกติแล้วจะพบว่า การตั้งค่า Preset เอาไว้ในแบบไดนามิก จะปรับการทำงานให้อัตโนมัติในการให้เสียงได้ดีที่สุด
คีย์บอร์ดและทัชแพด
ในโมเดลที่เป็นรุ่นที่ 4 นี้ ทาง Lenovo ได้ให้คีย์บอร์ดสุดพิเศษมาใน X1 Carbon ต่างจากรุ่นก่อนหน้านี้ ที่คีย์บอร์ดจะค่อนข้างตื้นหรือให้ความรู้สึกอึดอัดเล็กน้อย ด้วยการปรับชุดคีย์บอร์ดใหม่นี้ น่าจะช่วยให้หลายคนทำงานได้ง่ายขึ้น ด้วยระยะการกดประมาณ 1.8mm ทำให้ปุ่มกดลึกกว่าคู่แข่งอยู่เล็กน้อย ส่งผลให้สัมผัสถึงการพิมพ์ได้ดีกว่า โดยเฉพาะการพิมพ์สัมผัสที่ต้องการความแม่นยำ X1 ให้สัมผัสที่แข็งแกร่ง ซึ่งนั้นทำให้เกิดความแตกต่าง
นอกจากนี้ เช่นเดียวกับ ThinkPad อื่นๆ X1 Carbon มาพร้อมคีย์บอร์ดที่สามารถทนต่อน้ำและละอองที่หกลงบนแป้นพิมพ์ พร้อมปุ่มที่โค้ง ช่วยให้ง่ายต่อการกดได้แม่นยำ โดยไม่จำเป็นต้องมอง รวมถึงยังมาพร้อมแสงไฟที่ที่เป็นออพชั่น Backlight ที่ให้ความสว่างมากพอในการใช้งานในบริเวณที่มีแสงน้อยอีกด้วย
ด้วย TrackPoint ที่อยู่ระหว่างปุ่ม G และ H สีแดงสดใส ก็เป็นอีกหนึ่งการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสำหรับการเลื่อนไปมาบนหน้าจอได้ดี รวมถึงการเลื่อนไปยังข้อความหรือไอคอนได้แม่นยำ เมื่อใช้งานบ่อยๆ โดยแทบไม่ต้องยกมือขึ้นมาจากแป้นพิมพ์เลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณไม่ได้เป็นแฟนที่ชอบเจ้าปุ่มแดงนี้ ยังมีทัชแพดขนาดใหญ่ 10 x 5.6cm พร้อมปุ่มที่่เป็นแบบ buttonless มาในตัว X1 Carbon ทั้งแผงดูราบเรียบไปกับบอดี้ ให้แรงเสียดทานบนผิวสัมผัสที่ดีและการตอบสนองได้ไว รองรับระบบมัลติทัชได้ถึง 4 นิ้ว ในการปัดซ้าย ขวาหรือซูมเข้าออก
พอร์ตต่อพ่วง
จะดีหรือที่การมีโน๊ตบุ๊คบางเบา แต่ต้องพกตัวแปลงและอแดปเตอร์มากมายอยู่ในกระเป๋า สำหรับ X1 Carbon ให้คุณสามารถใช้งานต่อพ่วงอุปกรณ์ได้มากมาย กับการจัดวางพอร์ตสำคัญมีเกือบครบถ้วน ยกเว้นบางอย่าง เช่น พอร์ต Ethernet และช่องอ่านการ์ดแบบ SD ในแบบ Full-size ของบรรดาช่างภาพ ทางด้านซ้ายประกอบด้วย USB 3.0, mini DisplayPort รวมถึงช่องต่อสายเพาเวอร์ และมี Lenovo OneLink+ ที่เป็นพอร์ตสำหรับ Docking ทางด้านขวาประกอบด้วยช่องต่อ 3.5mm สำหรับหูฟัง และพอร์ต HDMI ขนาดปกติ รวมถึงพอร์ต USB 3.0 อีกสองพอร์ต และช่อง microSD Card ที่ซ่อนไว้ตรงด้านหลัง
ประสิทธิภาพในการทำงาน
ด้วยความเร็วระดับ 3GHz จากซีพียู Intel Core i5-6300U และแรม 8GB รวมถึง PCIe SSD NVME 256GB แสดงให้เห็นประสิทธิภาพที่ไม่ธรรมดาสำหรับ ThinkPad X1 Carbon รุ่นนี้ โดยนำเสนอความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพในการทำงานมัลติทาส์กกิ้ง ด้วยเปิดหน้าจอการทำงานถึง 14 แท็ปด้วยกันและหนึ่งในนั้นเป็นการเล่นวีดีโอ Youtube ถึงจะพอสังเกตได้ถึงความหน่วงนิดๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อเริ่มพิมพ์งานใน Google Docs
ส่วนคะแนนบน Geekbench 3 ซึ่งเป็นมาตรฐานในการทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผล โดยที่ X1 Carbon ให้ผลการทดสอบได้ที่ 6828 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีสำหรับโน๊ตบุ๊ค 14 นิ้วเช่นนี้ เทียบกับ T460s ก็ได้คะแนนที่ไม่ต่างกันมากนัก เพราะใช้ซีพียูใกล้เคียงกัน
แต่ที่น่าสนใจก็คือ X1 Carbon สามารถใช้งานได้ทั้ง SATA ปกติและ SSD ในแบบ PCIe NVME ที่มีความเร็วสูง ซึ่งแนะนำว่าหากต้องการได้ประสิทธิภาพสูงสุด ให้เลือกเป็นแบบหลัง โดยในการทดสอบไดรฟ์ในแบบ 256GB PCIe NVME ใช้เวลาเพียง 12 วินาทีในการคัดลอกไฟล์ขนาด 4.97GB ที่เป็นไฟล์ผสมผสาน โดยมีอัตราการส่งข้อมูลที่สูงถึง 419MB/s หรือเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับ ThinkPad T460s ที่ใช้ไดรฟ์ 256GB SATA
นอกจากนี้ยังใช้เวลาเพียง 4 นาที 14 วินาที ในการทดสอบ Spreadsheet macro ในการตรวจเช็ครายชื่อและที่อยู่จำนวน 20000 ชุดให้ตรงกัน สำหรับการทำงานบน OpenOffice ดีกว่าความเร็วเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5.32 นาที ในการทดสอบ นอกจากนี้ ด้วยกราฟฟิกที่มีมาให้ในรุ่น Intel HD Graphic 520 บนโน๊ตบุ๊ค X1 Carbon นี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการดูวีดีโอและแก้ไขมัลติมีเดียแบบง่ายๆ แต่อาจไม่เหมาะกับการเล่นเกมหนักๆ มากนัก โดยผลที่ได้จากการทดสอบนั้นอยู่ที่ 67,488 บนการทดสอบ 3DMark Ice Strom Unlimited การทดสอบนี้เป็นพลังจากราฟฟิกล้วนๆ ซึ่งคะแนนจัดว่าพอใช้ได้
ระยะการทำงานของแบตเตอรี่
X1 Carbon ให้คุณสามารถทำงานได้นานพอหนึ่งวันสำหรับแบต 4-cell ที่อยู่ภายใน โดยมีเงื่อนไขคือ ใช้งานร่วมกับจอแสดงผล 1920 x 1080 โดยบนหน้าจอ 1080p นี้ โน๊ตบุ๊ค Lenovo ให้ผลการทดสอบได้ที่ประมาณ 9 ชั่วโมงกับอีก 6 นาทีสำหรับ Battery Test สิ่งที่เกี่ยวข้องกันคือ การใช้ท่องเน็ตอย่างต่อเนื่องผ่านสัญญาณ WiFi และความสว่างหน้าจอ 100 nits แต่ที่มีการใช้พลังงานมากขึ้นจะเป็นหน้าจอ 2560 x 1440 ที่ทำให้ระยะการทำงานนั้นลดลงเหลือ 7 ชั่วโมงกับ 57 นาทีในการทดสอบ แต่ก็ยังดีกว่าใน ThinkPad T460s ที่เวลา 7.21 ชั่วโมง
ตามที่ Lenovo ได้แจ้งถึง ThinkPad X1 Carbon สามารถที่จะใช้ RapidCharge ซึ่งชาร์จได้ที่ 80% ภายในเวลา 60 นาที และเต็ม 100% ในระยะ 2 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อรักษาสภาวะที่ดีของแบตเอาไว้ให้ใช้งานได้นานๆ เราคิดว่าไม่น่าจะเสียาร์จไว้ เมื่อแบตมีอยู่มากกว่า 95% อย่างไรก็ตามในระยะยาวกับการใช้งาน ดูเหมือนจะไม่มีผลจากการใช้งานมากนักที่จะชาร์จไว้ให้พร้อม สำหรับการนำไปใช้ข้างนอกได้ทันทีในภายหลัง
การเลือกองค์ประกอบต่างๆ ของแต่ละรุ่น
สำหรับ Thinkpad X1 Carbon รุ่นใหม่นี้ ในบ้านเราอาจจะต้องดูว่า Lenovo จะมีโมเดลใดให้เลือกบ้าง ส่วนถ้าเป็นต่างประเทศก็คงทราบดีกว่า การซื้อออนไลน์และความหลากหลายของสินค้าเป็นเรื่องปกติ จึงมีให้มีเดลแยกย่อยเล็กๆ ให้เลือก เช่น มีซีพียู Core i5/ i7 แต่เลือกได้ว่าต้องการจอความละเอียดใด 1920 x 1080 หรือ 2560 x 1440 จะเป็น SSD ในแบบ SATA หรือจะเป็น PCIe NVME และอัพเกรดได้ถึง 1TB เช่นเดียวกัน ถ้าคุณเลือกตัวท็อปสุดในไลน์ของ X1 Carbon เป็นแบบ Core i7 คุณสามารถที่จะใส่แรมระดับ 16GB เข้ามาในระบบได้ แม้ว่ารุ่นก่อนหน้านี้ จะมีออพชั่นให้เลือกเป็นหน้าจอสัมผัส แต่เวลานี้ในรุ่นใหม่ยังไม่มีให้เลือกใช้งาน เพราะคาดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อการใช้งานแบตเตอรี่
ราคาเริ่มต้นของ ThinkPad X1 Carbon อยู่ที่ 1142USD หรือประมาณ 39,900 บาท มาพร้อมซีพียู Intel Core i5-6200U หน้าจอความละเอียด 1920 x 1080 และ SSD 128GB และตัวที่รีวิวนี้ราคา 1470USD (51,000 บาท) มาในซีพียู Intel Core i5-6300U อัพเพิ่มอีก 80USD (2,800 บาท) ได้หน้าจอ 1920 x 1080, Windows 10 Pro แรม 8GB และถ้าจะใส่ SSD NVME 256GB เพิ่มอีก 255USD (8,900 บาท) แต่ถ้าจะใช้เป็นหน้าจอ 2560 x 1440 ราคาจะเพิ่มอีก 63USD (2,200 บาท)
ตามที่ Lenovo แจ้งไว้ในคู่มือโครงสร้าง คุณจะสามารถอัพเกรดโน๊ตบุ๊คด้วย M. SSD หลังจากที่ซื้อไปแล้วได้ แต่ถ้าแรมจะถูกบัดกรีมาบนเมนบอร์ด ส่วนแบตเตอรี่เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากจะต้องการใช้งานแบบยาวๆ ในหนึ่งวัน สบายๆ หน้าจอ 1920 x 1080 ดูจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม
Conclusion
สำหรับ ThinkPad X1 Carbon ต้องถือว่าเป็นโน๊ตบุ๊คที่ให้ความเบาบางและมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน สำหรับคนที่ติดตาม ThinkPad มาตลอด จะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดและเข้าถึงผู้ใช้ทั้งในกลุ่มงานและผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากบอดี้ที่กระทัดรัดลงในหลายรุ่น แต่จุดเด่นสำคัญน่าจะอยู่ที่ความสอดคล้องกันระหว่างประสิทธิภาพในการทำงานและแบตเตอรี่ ที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของอัลตร้าบุ๊กจาก Lenovo รุ่นนี้ ด้วยผลที่ได้จากการทดสอบระดับ 9 ชั่วโมงสำหรับหน้าจอแบบ Full-HD ซึ่งเป็นความละเอียดระดับพอเหมาะกับการใช้งานบนหน้าจอ 14 นิ้วเช่นนี้ โดยซีพียูที่ใช้ระดับ Intel Core i5 ก็ถือว่าไม่ได้ลดความแรงลงไปมากมาย แม้จะเป็น U series ก็ตาม เพราะถ้าใช้งานทั่วไป ก็สามารถรองรับการทำงานได้ไม่ยาก ทั้งซอฟต์แวร์ออฟฟิศหรือมัลติมีเดียก็ตาม ซึ่งหากเลือกที่เป็นองค์ประกอบที่ลงตัว เช่น SSD PCIe M.2 NVME และแรม 16GB ก็น่าจะช่วยให้การทำงานคล่องตัวขึ้นอีกเยอะทีเดียว
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่บางประการภายในเครื่อง ก็อาจทำให้เป็นจุดสังเกตได้เช่นกัน เช่นแรมที่ติดมาบนเมนบอร์ด แต่ยังมีข้อดีที่มีให้เลือกใช้ แต่ต้องกำหนดไว้ตั้งแต่ต้น ส่วนอื่นๆ เช่นวัสดุ และดีไซน์ ก็คงต้องว่ากันไปตามความชอบ เพราะบอดี้สีดำและพื้นผิวเช่นนี้ อาจดูสวยสำหรับหลายๆ คน แต่ถ้าใครที่กังวลเรื่องความซ้ำซากจำเจ อาจจะต้องลองเข้ามาสัมผัสกันอีกครั้ง สนนราคาถ้ามองจากต่างประเทศก็ดูไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ใกล้เคียงกัน หากเทียบกันในฟีเจอร์ต่างๆ ยังเรียกว่าคุ้มค่าน่าสนใจ แต่สำหรับในไทยคงต้องรอลุ้นราคากันอีกสักระยะ
จุดเด่น
- ขนาดกระทัดรัดสำหรับอัลตร้าบุ๊กในระดับ 14 นิ้ว
- ให้จอแสดงผลความละเอียดสูง
- มีตัวเลือกที่เป็น SSD M.2 NVME
- ใช้งานได้นาน ด้วยแบต 4-cell
ข้อสังเกต
- แรมถูกติดตั้งมาบนเมนบอร์ด
- กราฟฟิกมาในตัวซีพียู เน้นที่ซอฟต์แวร์สำนักงานและความบันเทิงทั่วไป
ที่มา :laptopmag