Connect with us

Hi, what are you looking for?

Special Story

[บทความพิเศษ] อดีต … ปัจจุบัน … อนาคต กับความสำเร็จของ ASUS อ้างอิงจากประธานบริษัทโดยตรง

เมื่อไม่นานมานี้ที่ New Delhi ได้มีการจัดงาน Meet and greeted … เอ้ยไม่ใช่ครับ เรียกว่างานพบปะของแฟนๆ ASUS จะดีกว่าครับ โดยในงานนั้นประธานของ ASUS อย่าง Jonney Shih

เมื่อไม่นานมานี้ที่ New Delhi ได้มีการจัดงาน Meet and greeted … เอ้ยไม่ใช่ครับ เรียกว่างานพบปะของแฟนๆ ASUS จะดีกว่าครับ โดยในงานนั้นประธานของ ASUS อย่าง Jonney Shih ได้พบปะกับแฟนๆ กว่าเกือบ 2,000 ชีวิต ในงานที่มีชื่อเรียกว่า “ZenFestival” ครับ ใจความสำคัญของงานนั้นคุณ Shin ก็ต้องการที่จะออกมาขอบคุณบรรดาแฟนๆ ของ ASUS ที่ยังคงให้การสนับสนุนกันมาอยู่ตลอดเวลาและในโอกาสนี้คุณ Jonney ก็ได้มีโอกาสขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับ อดีต … ปัจจุบัน และ อนาคต ของ ASUS ครับ จะเป็นอย่างไรนั้นไปติดตามกันได้เลยครับ

asus-jerry-shen-jonney-shih-jonathan-tsang 600

Advertisement

Jonney Shih ผู้มีอายุ 62 ปีกับคณะผู้บริหารระดับสูงของ Asus

วันวานก่อนจะมี ASUS

ก่อนอื่นเลยคุณ Jonney ได้บอกครับว่าในสมัยก่อนนั้นเขาและวิศวกรอีก 4 คน(ที่ตอนนี้มาเป็นคณะผู้บริหารระดับสูงอยู่ใน ASUS) เคยทำงานให้กับ Acer มาก่อนเป็นเวลา 12 ปีด้วย(คุณ Jonney ดูแลแผนกพัฒนาและวิจัยของ Acer) และครั้งหนึ่งที่โรงอาหารคุณ Jonney และคณะก็ได้คุยกันถึงความใฝ่ฝันที่จะสร้างบริษัทใหม่เล็กๆ แต่สวยงาม จนกระทั่งโดนคณะยุยงให้คุณ Jonney ตั้งบริษัทใหม่เลยแต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ในตอนนั้นครับ

ในเวลาไม่นานนัก Jonney ก็เริ่มคิดเป็นจริงเป็นจัง จึงได้รายงานไปยัง Stan Shin(ผู้ซึ่งก้าวมาเป็นประธานและ CEO ของ Acer ในภายหลัง) ที่ถึงแม้ว่าจะสกุล Shin เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นญาติกันแต่อย่างใด โดย Jonney นั้นได้ขอคำปรึกษากับ Stan ว่าขอให้ Stan ช่วยอวยพรให้กับ Jonney หากเขาจะตั้งบริษัทใหม่ แต่ทว่า Stan ก็ยังคงขอให้ ณ เวลานั้น Jonney อยู่กับ Acer ต่อก่อนเนื่องจากว่า Acer เองก็ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์ที่บริษัทยังไม่เข้ารูปเข้าร่างมากนัก(แถมยังอยู่ในช่วงขาลงเพราะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ)

ทว่าถึงแม้ Stan จะมั่นใจว่า Jonney จะยังไม่ไปไหนก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งความตั้งใจของ Jonney และคณะวิศวกรที่ Jonney ได้ให้ทุนถึง 60% ในการจัดตั้งบริษัทได้ จนในที่สุด Stan ก็ทำใจและปล่อยคณะนักวิศวกรไปสร้างฝันก่อนในการตั้งบริษัทใหม่ครับ ส่วน Jonney ยังคงอยู่กับ Acer เช่นเดิม โดยในตอนนั้นกลุ่มวิศวกรได้ออกไปตั้งบริษัท ASUS ก่อนเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี หลังจากนั้นคุณ Jonney ถึงได้โบกมือลา Acer ไปเข้าร่วมกับ ASUS เพื่อตามความฝันของตัวเขาเองครับ

asus-1989 600

โรงงานขนาดเล็กของ Asus ในช่วงปี 1989 ซึ่ง ณ เวลานั้นยังคงไม่มี Jonney Shin มาเป็นผู้นำจนกระทั่ง 3 ปี ต่อมา

ถึงแม้ว่า ASUS จะก่อตั้งขึ้นมาก่อนที่ Jonney จะเข้าเป็นประธานและ CEO ของบริษัทนั้น ASUS เองก็ได้มีการออกแบบและพัฒนาพร้อมกับปล่อยเมนบอร์ดที่รองรับกับ Intel 486 ออกมาเป็นตัวแรกของบริษัท ซึ่งเป็นในช่วงเดียวกับที่ IBM ปล่อยของออกมาเช่นเดียวกัน แต่แน่นอนครับว่าบริษัทที่พึ่งก่อตัวใหม่คงไม่สามารถที่จะไปแข่งทางด้านชื่อเสียงกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM ของสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อเสียงมาเนิ่นนานได้

ทว่า ASUS เองกลับสามารถสร้างเมนบอร์ดนี้ให้สำเร็จได้ด้วยตัวของตัวเองโดยไม่ได้รับตัวอย่างของชิป Intel มาทดสอบล่วงหน้าเหมือนอย่างยักษ์ใหญ่ IBM(หรือบริษัทใหญ่อื่นๆ) แต่อย่างใดครับ นักวิศวกรของ ASUS ได้ดีไซน์เมนบอร์ดตัวแรกของบริษัทภายใต้พื้นฐานของความเข้าใจของตัวเองกับชิปเซ็ทที่มีก่อนหน้านี้

เหลือเชื่อว่าความพยายามและความสามารถนั่นไปเข้าตา Intel อย่างจังจนถึงขั้นสร้างความประทับใจมิรู้ลืมให้กับ Intel เลยทีเดียวครับ แน่นอนว่าหลังจากนั้น ASUS ก็ได้กลายเป็นบริษัทหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึง CPUs ตัวใหม่ๆ ของ Intel จนกระทั่ง ASUS ได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้สร้างเมนบอร์ดชื่อดังเหมือนกับบริษัทดังอย่าง Dell, HP และ Sony

asus logo

กาลเวลามันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วครับ จนกระทั่งในปี 1992 นั้น Shins ทั้ง 2 คนก็สามารถทำให้ Acer กลับมาตั้งหลักเป็นรูปเป็นร่างได้ โดยลักษณะของบริษัท Acer ในตอนนั้นก็แตกต่างกับ ASUS อย่างชัดเจนเลยทีเดียวครับ เนื่องจากว่า Acer นั้นได้รับบาดแผลอย่างหนักจากเรื่องของปัญหาทางด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์แถมยังเจอปัญหาเรื่องของการต้องศูนย์เสียวิศวกรรุ่นที่สองไปอีก

หมายเหตุ – ปัญหาเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ของ Acer นี้ติดฝังใจผู้ใช้มายาวนานมาก จนแม้กระทั่งตัวผมซึ่งเป็นผู้เขียนบทความนี้เองสมัยเรียนก็ไม่เคยแนะนำให้เพื่อนๆ หรือคนรู้จักซื้อผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ใช้ยี่ห้อ Acer เลยครับ … แต่ตอนนี้ Acer เขาเปลี่ยนไปเยอะแล้วนะครับผลิตภัณฑ์ของเขานั้นถือว่ามีคุณภาพดีมากครับ

Jonney นั้นจำได้อย่างแม่นยำครับว่าเขาได้เข้าไปสู่ห้องปฎิบัติการของ ASUS ที่ว่างเปล่าในช่วงเวลา 17.30 น. ในเย็นวันหนึ่ง ซึ่งความว่างเปล่านั้นทำให้เขาเป็นกังวลอย่างมากกับสิ่งที่มันควรจะเป็นจริงๆ สำหรับการเริ่มต้นที่มาจากความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่ แถมเขายังบอกเป็นนัยๆ อีกครับว่าผู้ร่วมก่อตั้ง ASUS หนุ่มสาวทั้งหลาย(หรือคณะวิศวกรที่ออกมาสร้าง ASUS ก่อนเขา) ก็ติดอยู่กับปัญหาในเรื่องของการนำเดินงานทางด้านธุรกิจและเทคโนโลยี ซึ่งนั่นเป็นจุดที่เขาจะต้องเข้ามาให้คำแนะนำและแก้ไขกับทีมงานครับ

asus-jonney-shih-sean-maloney 600

Jonney Shih กับ Sean Maloney ผู้บริหารของ Intel ที่ได้เครดิตในการสร้าง ASUS Eee PC netbook

หลังจากที่ Jonney เข้ามากำกับดูแลและควบคุม ASUS อย่างเป็นทางการนั้น Jonney ก็ทำการเปลี่ยนแปลงพรสวรรค์ที่ ASUS เคยทำมาในช่วง 3 ปีแรกทันทีซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็ไม่ใช่งานที่ง่ายมากนักสักเท่าไรครับ โดย Jonney ได้ยกสายโทรศัพท์ตรงไปยังสถานศึกษาเก่าของเขาเองอย่าง National Taiwan University เพื่อที่จะขอรายชื่อผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันนี้และทำการโทรหาแต่ละคนในรายชื่อเพื่อที่จะทำการชักชวนพวกเขาเหล่านั้นให้มาร่วมงานกับทาง ASUS ครับ

แน่นอนครับว่าผู้สำเร็จการศึกษาที่ได้รับโทรศัพท์สายตรงจาก Jonney โดยตรงหลายรายก็ตัดสินใจที่จะเข้ามาร่วมงานกับ ASUS ซึ่งหากจะว่าไปแล้วส่วนหนึ่งก็มาจากชื่อเสียงของ Jonney เองที่จบมาจากคณะวิศวกรรมไฟฟ้าที่สามารถก้าวเข้าไปทำงานกับบริษัทระดับโลกของ Acer ได้ และรวมไปถึงความรักในวิทยาศาสตร์ของตัว Jonny เองที่สื่อออกมาทำให้ผู้ที่ได้รับสายคล้อยตาม จนในที่สุด ASUS ก็เต็มไปด้วยวิศวกรจากหลากหลายสาขาครับ

ความสำเร็จในปัจจุบันของ ASUS ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

ในปัจจุบันนั้น ASUS มีพนักงานที่แข็งแกร่งกว่า 13,800 ราย และจำนวนกว่า 6,000 รายที่ทำงานอยู่ที่ไต้หวันบ้านเกิดของ ASUS ครับ เราได้เห็นกันแล้วในปัจจุบันครับว่า ASUS ถึงจะมีชื่อเสียงมาจากการสร้างเมนบอร์ดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ ทว่าในปัจจุบันนั้น ASUS มีผลิตภัณฑ์มากมายหลายอย่างที่ทรงพลังไม่ว่าจะเป็นโน๊ตบุ๊ค, คอมพิวเตอร์ PC, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน, กราฟิกการ์ด, เราเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ทว่าสิ่งที่ ASUS ยังคงสามารถครองมาตรฐานที่ดีไม่เสื่อมคลายไม่ว่าจะผ่านมานานแสนนานเท่าไรก็คือเมนบอร์ดนี่แหละครับ เชื่อไหมครับว่าในช่วงเริ่มต้นของปีนี้(2015) ASUS นั้นสามารถที่จะจำหน่ายเฉพาะเมนบอร์ดไปได้กว่า 500 ล้านหน่วยแล้ว

asus-jonney-shih-interview 600

 

ความสำเร็จทางด้านเมนบอร์ดของ ASUS นั้นถือว่ายิ่งใหญ่มากเลยทีเดียวครับ โดยในปี 2008 ที่ผ่านมานั้นทาง ASUS ได้แยกบริษัทย่อยที่ผลิตเมนบอร์ดของตัวเองอย่าง Pegatron ออกมาเพื่อที่จะยังคงให้ ASUS สามารถที่จะผลิตเมนบอร์ดภายใต้ชื่อของตัวเองต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะรับเป็นผู้ผลิตเมนบอร์ดให้กับ OEM รายอื่นอย่างเช่น HP หรือ Dell(หรือบริษัทอื่นๆ ที่ไม่มีโรงงานและบริษัทย่อยในการผลิตเมนบอร์ดเป็นของตัวเอง) แถมยังไม่แค่นั้นนะครับเนื่องด้วยกำลังการผลิตของ ASUS เองก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ Pegatron จึงยังต้องผลิตเมนบอร์ดให้กับ ASUS เองอีกด้วยครับ

หมายเหตุ – การแยก Pegatron ออกจาก ASUS สำเร็จสิ้นสุดในปี 2010

ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในยุคที่โน๊ตบุ๊คและแท็บเล็ตเข้ามาแย่งส่วนแบ่งของตลาดคอมพิวเตอร์ PC ไปเป็นจำนวนมากแต่ทว่า Jonney ก็ยังคงเชื่อครับว่ามันจะยังคงมีพื้นที่ให้กับเมนบอร์ด PC ในตลาดผู้บริโภคและผู้บริโภคระดับสูงอยู่ตลอดเวลา และจากมุมมองของการวิจัยและพัฒนาของเขานั้น เขาได้บอกเอาไว้ว่าเมนบอร์ดเป็นสิ่งพื้นฐานที่วิศวกรทุกคนจะต้องมองกลับไปก่อนที่จะผลิตอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีอะไรขึ้นมาสักอย่างครับ ดังนั้นจะว่าไปแล้วก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไรเลยครับที่ผลิตภัณฑ์ตระกูล Zen ทั้งหลายจะมีอะไรหลายๆ อย่างคล้ายคลึงกับการวิจัยและพัฒนาเมนบอร์ดของ ASUS ในอดีตครับ

asus-motherboard-art-installation 600

Jonney บอกครับว่าเขาจะถามวิศวกรของเขาเสมอเวลาที่วิศวกรของเขาเข้ามานำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (ในตัวอย่างนั้น Jonney ใช้คำว่าเมนบอร์ด แต่ส่วนตัวผมเองเข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งหมดที่ได้รับการพัฒนาภายใต้ชื่อ ASUS) ว่าเวลาที่คุณจับมันแล้วคุณรู้สึกถึงคลื่นแม่เห็ลกไฟฟ้าที่ไหนออกมาจากผลิตภัณฑ์เหล่านั้นหรือไม่ ถ้าไม่ … ก็กลับไปทำมาใหม่ แล้วเขาก็จะหัวเราะ ทว่าเขาบอกว่าคำถามนั้นเป็นคำถามที่เขาถามอย่างจริงจังไม่ใช่แค่ถามเล่นๆ ครับ

สาเหตุที่เขาถามคำถามดังกล่าวนั้นก็มีอยู่ครับเนื่องจากว่าอุปกรณ์ดิจิทัลที่เราๆ ท่านๆ ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นอาจจะถูกรบกวนได้ทั้งจากเสียงในอากาศและรวมไปถึงการรบกวนเนื่องจากลักษณะของแม่เห็ลกไฟฟ้าภายใน ที่แน่นอนว่าถ้าเกิดขึ้นนั้นอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ คงไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดแน่ โดยถ้าวิศวกรที่เข้ามาแล้วเจอคำถามนี้ไปแล้วไม่เข้าใจถึงที่มาของคำถามว่าเขาต้องการจะสื่อถึงเรื่องอะไรเขาก็จะไล่ให้วิศวกรรายนั้นไปอ่านทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้าสัก 20 ครั้ง เพราะว่านั่นก็เป็นสิ่งเดียวกันกับที่ตัว Jonney เคยทำมาแล้วเช่นกันครับ

Jonney ถือว่าเป็นบุคคลหนึ่งในโลกที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดีก็ว่าได้ครับ และในตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้นตัว Jonney เองก็ยังคงแสดงความกระตือรือร้นเมื่อพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับแคลคูลัส, สมการของแมกซ์เวล, การออกแบบสัญญาณความเร็วสูง, การจำลองสัญญาณ, ฟิสิกส์ควอนตัม และทฤษฎีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมายอีกครับ ซึ่งทำให้เห็นว่าคุณ Jonney ผู้กุมบังเหียนของ ASUS นั้นพร้อมที่จะนำศาสตร์ความรู้สมัยใหม่มาประยุคใช้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้นำสมัยเสมอครับ(แน่นอนว่านั่นทำให้ดูเหมือนเขาเป็นคนแนว true geek ด้วยครับ)

เมื่อเรื่องของการดีไซน์ต้องวนมาพบกับหลักการทางด้านวิศวกรรม

จากที่เราได้รู้จัก Jonney ในหลายๆ ส่วนนั้นดูแล้วตัวเขาเองค่อนข้างจะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับด้านวิศวกรรมเทคโนโลยีเป็นอย่างมากใช่ไหมครับ แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้น Jonney เองก็ให้ความสนใจในเรื่องของการดีไซน์ออกแบบไม่แพ้กันเลยครับ โดยสิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นได้ว่าคุณ Jonney นั้นให้ความสนใจในเรื่องของศิลปะก็คือการที่ตัวคุณ Jonney เองนั้นเดินตามรอยของคุณปู่ในเรื่องของการเขียนอักษรจีนครับ(ผู้ที่เรียนสาขานี้น่าจะรู้กันดีครับว่าการเขียนอักษรจีนนั้นเน้นในเรื่องของศิลปะความสวยงามมาก)

asus-zenbook-ux305 600

การเขียนอักษรจีนนั้นนอกจากจะต้องให้ความใส่ใจในความสวยงามของตัวอักษรแล้วยังต้องให้ความสนใจในเรื่องของการคอยฝึกฝนอยู่เป็นประจำเพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอไม่แพ้กันครับ อีกทั้งคุณ Jonney ยังให้ความสนใจทางด้านดนตรีคลาสสิกอย่าง Mozart ด้วย ซึ่งตรงจุดนี้เองที่คุณ Jonney นำเอามาใช้กับเรื่องของดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ใน ASUS เพราะทุกผลิตภัณฑ์ของ ASUS จะต้องผ่านการปรับปรุงในทุกๆ ด้านให้เกิดความเหมาะสมถึงแม้ว่ามันจะใช้เวลานานมากเท่าไรก็ตามครับ

อย่างไรก็ตามใช่ว่าวิศวกรทุกคนใน ASUS จะสามารถที่จะทำแบบที่คุณ Jonney ต้องการได้ครับ เพราะวิศวกรบางส่วนใน ASUS นั้นได้เคยเข้ามาสารภาพกับคุณ Jonney โดยตรงเลยครับว่าพวกเขานั้นบางทีก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจหลักของการออกแบบดีไซน์ให้สวยงามอย่างที่ Jonney ต้องการได้เหมือนกัน

คุณ Jonney ก็ได้ให้แนวทางกับวิศวกรเหล่านั้นว่าควรที่จะใช้เวลาทำความเข้าใจกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้มากเพื่อดูดซึมความเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นๆ เข้าสู่ตัวให้มากที่สุด และเพื่อให้เกิดการสร้างความสามารถให้กับวิศวกรของเขาให้มากที่สุด Jonney ถึงกับตั้งห้องเรียน “design thinking” ให้กับเหล่าวิศวกรของเขาภายในบริษัทขึ้นมาอีกต่างหากครับ

asus-zenfone-2-launch 600

ตามความเห็นของ Jonney นั้น ZenFone 2 เป็นตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จในการรวมเอาดีไซน์ที่สวยงามเข้ากับหลักวิศวกรรมที่ทันสมัยครับ เพราะทุกๆ อย่างของ ZenFone 2 นั้นดูลงตัวเองอย่างมากๆ โดยถึงแม้ว่าตัวเครื่อง ZenFone 2 จะใช้พลาสติก แต่รูปลักษณ์ของมันนั้นกลับดูสวยงามให้ความรู้สึกมั่นคง(ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ คนก็คงมีความเห็นเช่นเดียวกันครับ)

สิ่งที่ยืนยันความสำเร็จของ ZenFone 2 คงเห็นได้จากคำยืนยันของสำนักวิจัยอย่าง BCN หรือแม้กระทั่งการได้รับรางวัลต่างๆ ทางด้านการออกแบบต่างๆ  นี่ยังไม่รวมไปถึงการที่ ZenFone 2 นั้นสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2015 ได้ถึง 29.6% ทำให้ ZenFone 2 เป็นสมาร์ทโฟนที่ขายดีอยู่ในอันดับที่ 3 เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นการครองตำแหน่งในเดือนที่ 2 ติดต่อกันครับ

ก้าวต่อไปของ ASUS กับเรื่องของหุ่นยนต์และอื่นๆ อีกมากมาย

ในงาน Computex 2015 ที่ผ่านมานั้น ASUS ได้เผยแผนการในอนาคตอย่างระบบนิเวศของบ้านอัจฉริยะ(smart home ecosystem) ออกมาครับ ซึ่งนั่นรวมไปถึงระบบเตือนภัยเวลาที่ประตูหรือหน้าต่างถูกเปิด, อุปกรณ์ต่อพ่วงพลังงานอัจฉริยะและ IP cameras นอกจากนั้นทาง ASUS เองก็จะไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้นะครับ เพราะ Jonney ได้บอกกับแฟนๆ ในงาน “ZenFestival” ไว้ว่าตอนนี้ในบริษัทกำลังมีการตั้งห้องปฎิบัติการใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “Da Vinci Lab” ซึ่งห้องปฎิบัติการนี้จะเน้นไปในเรื่องของการบริหารข้อมูลขนาดมหึมาและหุ่นยนต์ครับ Jonney บอกว่านี่จะเป็นการปฎิวัติวงการอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ของโลกเลยก็ว่าได้ครับ

asus-jonney-shih-zenny-slide 600

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานภายในห้องปฎิบัติการ “Da Vinci Lab” นั้นค่อนข้างที่จะเป็นความลับครับ แต่ทว่าสถานที่ตั้งของห้องปฎิบัติการนี้ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด โดยหากอ้างอิงจาก OpenStreetMap แล้วจากถนนหลักหน้าทางเข้า ASUS HQ แล้วเลี้ยวซ้ายไปเราร้านสะดวกซื้ออยู่ตรงหัวมุม และด้านหลังของร้านสะดวกซื้อนี้เองครับที่จะมีประตูเชื่อมไปสู่ทางเข้าของห้องปฎิบัติการ “Da Vinci Lab” ของทาง ASUS หล่ะครับ(ว่าแต่ว่าจะได้มีโอกาสเข้าไปเห็นภายในรึเปล่านั้นก็อีกเรื่องนะครับ)

จะว่าไปแล้ว “Da Vinci Lab” ของทาง ASUS เองนั้นก็เคยมีผลงานออกมาให้เราๆ ท่านๆ ได้เห็นได้ใช้งานกันแล้วครับไม่ว่าจะเป็น ASUS’ FV6 scented laptops หรือโน๊ตบุ๊คที่มาพร้อมกับกลิ่นหอมในตัว หรือจะเป็นแท็บเล็ตเครื่องแรกของทางบริษัท กระทั่ง PixelMaster camera technology ก็ถูกพัฒนาขึ้นที่ ณ ห้องปฎิบัติการแห่งนี้ครับ

ทั้งนี้หากคุณลองค้นหาด้วย Google ดูด้วยคำว่า “Da Vinci Lab” ซึ่งจะพบผลลัพธ์มากมาย และถ้าคุณตาดีพอจะเห็นครับว่า “Da Vinci Lab” ของ ASUS นั้นกำลังพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องของการประมวลผลภาษาธรรมชาติอยู่ครับ(natural language processing)

หมายเหตุ – natural language processing เป็นความรู้ด้านหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่ให้ความสำคัญกับคอมพิวเตอร์ให้การประมวลผลข้อมูลภาษาธรรมชาติอย่างเช่นภาษาพูดของมนุษย์เป็นต้นครับ

asus-computex-2015-booth 600

ทั้งนี้ใน “Da Vinci Lab” ของทาง ASUS จะมีการพัฒนาในเรื่องอะไรนั้นยังคงเป็นปริศนาที่พวกเราคงต้องรอคอยติดตามกันต่อไปครับ ทว่าคุณ Jonney เองก็ได้หลุดปากออกมาในงาน “ZenFestival” เหมือนกันครับว่าตอนนี้ตัวเขาเองนั้นมีความสนใจเป็นอย่างมากในเรื่องของโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ โดยหุ่นยนต์นั้นจะมีจุดมุ่งหมายที่สามารถที่จะทำการโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างโดยตรงแบบเชิงรุก(คล้ายๆ กับหุ่นยนต์ที่รวมเอาความสามารถของ Siri หรือ Cortana เข้าไปเพื่อที่จะตอบสนองกับมนุษย์อย่างเช่นการพูดคุย ฯลฯ แบบมนุษย์ทำกับมนุษย์ได้ครับ)

หมายเหตุ – ไม่แน่ว่าโครงการหุ่นยนต์ที่คุณ Jonney สนใจนั้นอาจจะเหมือนกับหุ่นยนต์ Pepper ของ SoftBank บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่สามารถตอบสนองกับมนุษย์ได้แบบที่บอกไปครับ)

หมายเหตุ 2 – มีรายงานจากทาง Nikkei บอกเอาไว้ว่า depth-sensing camera ที่ใช้ในหุ่นยนต์ Pepper ก็ถูกสร้างขึ้นมาจากทาง ASUS ด้วยครับ

ด้วยความทะเยอทะยานอย่างสูงและความสำเร็จอันท่วมท้นที่ผ่านมาของทาง ASUS นั้นก็ปฎิเสธไม่ได้เลยครับว่า ASUS เป็นอีกบริษัททางด้านเทคโนโลยีหนึ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก(โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอายุบริษัทที่พึ่งจะครบ 29 ปีเท่านั้น) คู่แข่งของทาง ASUS เองก็เริ่มจางหายไปทีละบริษัทไม่ว่าจะเป็น HTC หรือกระทั่ง Acer ที่ซึ่งเป็นที่คุณ Jonney Shin จากมา(ด้วยเหตุผลที่บอกไปตอนข้างต้น) และบริษัทคู่แข่งอย่าง Gigabyte ที่เมื่อมองเรื่องของเมนบอร์ดกับกราฟิกการ์ดแล้วเป็นคู่ที่สมน้ำสมเนื้อกับ ASUS แต่ทางด้านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตกับสู้ ASUS ไม่ได้แม้แต่น้อย(จนต้องประกาศยุบส่วนผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตไปเมื่อเดือนที่แล้ว)

และด้วยความที่ ASUS เองยังเป็นพันธมิตรที่ดีกับ Intel มาอย่างเนิ่นนาน(คงจะไม่ต้องบอกกันมากครับในเรื่องนี้เพราะเห็นๆ กันอยู่เลยครับว่า ZenFone นั้นใช้ชิปเซ็ทจากทาง Intel มากกว่า 80% ของสายการผลิตทั้งหมด) เชื่อได้ว่าอีกไม่นานนี้เราคงได้เห็น ASUS ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ในระดับโลกมากขึ้นและก้าวเป็นบริษัทระดับยักษ์ของโลกอย่างไม่ยากครับ

หมายเหตุ – ฝากกันนิดครับ คุณ Jonney Shin นั้นได้ปิดท้ายในงาน “ZenFestival” ไว้ครับว่าบริษัทของเขาจะดำเนินงานทั้งหมดภายใต้คำยึดมั่นว่าจะไม่มีการโกง หรือ “No cheating” ไม่ว่าจะกับหลักการของตัวเองหรือกับใครๆ ก็ตามครับ ซึ่งหลักการหลายๆ อย่างของคุณ Jonney Shin นั้นน่าสนใจและน่านำไปปฎิบัติใช้งานตามเป็นอย่างมากเลยครับ

ที่มา : engadget

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

รีวิว Asus

ASUS ProArt P16 H7606WI ครีเอเตอร์โน๊ตบุ๊คฟีเจอร์แพรวพราว สเปคทรงพลัง หน้าจอสีสันแม่นยำทำงานเลิศ! ถ้าจะจัดหมวดหมู่ให้โน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูงทั้งหลายโดยละเอียด นอกจากเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คซึ่งครองใจใครหลายคนแล้ว ก็มีครีเอเตอร์โน๊ตบุ๊คอย่าง ASUS ProArt P16 H7606WI ซึ่ง ASUS ใส่ใจรายละเอียดในทุกส่วนตั้งแต่ตัวเครื่องสีดำนาโนแบล็คเคลือบมาบนตัวเครื่องอลูมิเนียมสีดำแข็งแรงจนผ่านการทดสอบ MIL-STD 810H ให้คนทำงานพกใส่กระเป๋าไปสร้างผลงานใหม่ได้ทุกที่ ทนทานทุกสภาพอากาศจะร้อนหนาวแค่ไหนก็ยังเปิดใช้งานได้แต่ สอดดีไซน์เอาไว้ตามส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะโลโก้ใหม่, ขอบจอนูนต่ำคล้ายวงปรับโฟกัสเลนส์และคุมโทนความเรียบหรูไม่หวือหวาเตะตา...

CONTENT

ด้วยความที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอยู่เสมอ ทำให้สามารถออกแบบและผลิตฮาร์ดแวร์ให้มีขนาดเล็กลงได้ โดยยังคงประสิทธิภาพที่ดีอยู่ ดังจะเห็นได้จากคอมพิวเตอร์ที่ทุกวันนี้สามารถทำให้ตัวเครื่องมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก แต่ยังสามารถนำมาใช้ทำงาน ใช้เล่นเกมเบา ๆ แทนเครื่องที่มีขนาดใหญ่ได้สบาย เช่นกลุ่มของ Mini PC ที่เป็นคอมพิวเตอร์ในดีไซน์กล่องเล็ก ๆ แต่ภายในมาพร้อมกับสมรรถนะที่แทบไม่แตกต่างจากคอมเครื่องใหญ่เลย โดยในบทความนี้เราจะมาแนะนำ Mini PC AMD ที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อคอมเครื่องเล็ก ๆ มาใช้ทำงานรวมถึงใช้พกพาแทนโน้ตบุ๊กกัน

CONTENT

ตลาดโน้ตบุ๊กสายคุ้มที่ช่วงราคาหมื่นต้น ๆ แม้อาจจะดูเหมือนชนกับแท็บเล็ต แต่ก็ยังเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมอยู่ ด้วยราคาที่จัดว่าไม่สูงมากสำหรับโน้ตบุ๊ก แต่สามารถใช้ทำงานพื้นฐานได้ มีหน้าจอ คีย์บอร์ด ทัชแพดแบบครบในตัว ทำให้สามารถพกไปใช้ทำงานที่ไหนก็ได้สะดวกกว่าแท็บเล็ตที่อาจจำเป็นต้องมีคีย์บอร์ดแยกไปอีกชิ้น เพื่อให้สามารถพิมพ์งานได้คล่องตัวกว่าการพิมพ์บนหน้าจอ ส่วนเรื่องประสิทธิภาพก็อยู่ในระดับที่เพียงพออยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคที่ AMD Ryzen กลับมาในโน้ตบุ๊กแบบเต็มตัว เพราะด้วยสมรรถนะ จำนวนคอร์ และความประหยัดพลังงาน ทำให้มีโน้ตบุ๊ก AMD เป็นตัวเลือกในช่วงราคาหมื่นต้น ๆ ที่น่าสนใจหลายรุ่นทีเดียว

รีวิว Asus

ASUS Zenbook S 16 UM5606WA พลัง AMD Ryzen AI สุดฉลาดทรงพลัง เครื่องบางแค่ 1.1 ซม. ทำงานหนักแค่ไหนก็เย็นฉ่ำ! ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีผลในชีวิตประจำวันและการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ โน๊ตบุ๊คแต่ละรุ่น เช่น ASUS Zenbook S 16 UM5606WA...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก