เกมหลายๆ เกมที่ออกมาให้เราได้เล่นกันนั้น มักจะเป็นตัวที่เผยให้เห็นความสามารถที่แท้จริงของประสิทธิภาพเครื่องพีซีที่ใช้กันอยู่ ซึ่งนั่นก็ส่งผลต่อบรรดาเกมเมอร์ ที่ต้องการศักยภาพของเครื่องพีซีในการรองรับเกมได้ตามต้องการ โดยเกมเมอร์ส่วนใหญ่ก็จะมีการอัพเกรดพีซีที่ใช้อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์หรือใช้โปรแกรมในการปรับปรุง แก้ไข อัพเดตไดรเวอร์ รวมถึงใช้ซอฟต์แวร์ Patch หรือการโมดิฟาย โดยไม่สนเรื่องการหมดประกันเสียด้วยซ้ำ
แต่ฮาร์ดแวร์ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการอัพเกรดในการเล่นเกมของหลายๆ คน แต่การอัพเกรดก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้ถูกนักสำหรับฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งค่อนข้างจะได้ผลที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าถ้าไม่มีงบประมาณมากพอ แนวทางนี้ก็คงตัดไป อย่างไรก็ดียังพอมีทางที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานได้ ด้วยการโอเวอร์คล็อก โดยวิธีการนี้เป็นการปรับแต่งความเร็วให้กับอุปกรณ์ เช่น ซีพียูหรือกราฟฟิกการ์ด และหน่วยความจำ ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น บางครั้งส่งผลให้ความสามารถโดยรวมของเครื่องพีซีดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา โดยเฉพาะในการเล่นเกม หากมีการปรับแต่งที่ดีแล้ว ก็มีส่วนช่วยเพิ่มเฟรมเรตในการเล่นเกมได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป้าหมายสำคัญคือ การโอเวอร์คล็อกกราฟฟิกการ์ดนั่นเอง
ซึ่งหากใครที่เคยผ่านการโอเวอร์คล็อกมาบ้างแล้ว ก็น่าจะพอคุ้นเคยกันดีกับซอฟต์แวร์เหล่านี้ หน้าที่ของผู้ใช้คือ ต้องเรียนรู้แล้ะทำความเข้าใจซอฟต์แวร์ยูทิลิตี้แต่ละตัวเพื่อให้การปรับแต่งที่ได้นั้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กราฟฟิกการ์ดและในการเล่นเกมได้ดียิ่งขึ้น
ก่อนการโอเวอร์คล็อก มีบางสิ่งที่ต้องพิจารณาในการที่จะปรับเพิ่มความเร็วให้กับกราฟฟิกการ์ด เช่น เรื่องของชุดระบายความร้อนและการปรับทิศทางการระบายความร้อนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดเสถียรภาพในการทำงานของระบบขณะที่ใช้งานจริง
ตามนิยามของการโอเวอร์คล็อกการ์ดจอ หมายถึงการเพิ่มความเร็วของกราฟฟิกการ์ดได้เหนือกว่าความเร็วพื้นฐานของ GPU และหน่วยความจำ ส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานที่มากขึ้นและความร้อนที่สูงขึ้น ระบบระบายความร้อนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งในการ์ดบางค่ายออกแบบมาให้มีความเร็วสูงเพิ่มขึ้นได้บ้าง จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการออกแบบของกราฟฟิก GPU และ Memory ที่ใช้ รวมถึงบางรุ่นที่มีการออกแบบชุดระบายความร้อนสำหรับการโอเวอร์คล็อกโดยตรง ก็จะสามารถระบายความร้อนของการ์ดได้ดีมากขึ้นและรองรับความร้อนที่จะเกิดขึ้นจากการโอเวอร์คล็อกได้อีกด้วย
โดยในส่วนของอุณหภูมิสามารถตรวจสอบได้โดยการใช้เครื่องมือประเภทยูทิลิตี้ ซึ่งผู้ผลิตเมนบอร์ดหลายค่ายมีเซ็นเซอร์สำหรับการอ่านค่าความร้อนบนบอร์ด รวมถึงบนไบออสที่มีการรายงานการทำงานของฮาร์ดแวร์ต่างๆ รวมถึงยูทิลิตี้ GPU Tweaking ที่จะพูดถึงต่อมานี้ ซึ่งจะทำหน้าที่รายงานอุณหภูมิของ GPU ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิจากจุดใดบนการ์ดก็ตาม โดยพื้นฐานควรจะต้องจัดการอุณหภูมิโดยรอบให้ต่ำกว่า 90 องศาเซลเซียสเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปก็คือ เรื่องของการจ่ายพลังงาน เพราะการโอเวอร์คล็อกส่งผลให้มีการใช้พลังงานมากขึ้น ก็จำเป็นจะต้องเพิ่มพลังในการจ่ายไฟ ให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพ โดยเฉพาะประสิทธิภาพการจ่ายไฟจากเพาเวอร์ซัพพลาย ที่ควรจะต้องมีเหลือพอสำหรับการเพิ่มเติมได้ในอนาคต ซึ่งในจุดนี้สามารถคำนวณง่ายๆจากตัวเลขการใช้พลังงานของแต่ละอุปกรณ์ แล้วตรวจเช็คว่าเพียงพอหรือต้องเปลี่ยนใหม่
ระบบก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งก็ควรจะต้องได้รับการปรับปรุงให้สมบูรณ์เต็มที่และมีเสถียรภาพ ก่อนจะทำการโอเวอร์คล็อก ระบบที่ไร้เสถียรภาพตั้งแต่ต้น จะลดโอกาสความสำเร็จในการโอเวอร์คล็อกไปได้พอสมควร ทั้งนี้การปรับปรุงและอัพเดตไดรเวอร์และสิ่งอื่นๆ เตรียมไว้ตั้งแต่ต้น ก็จะช่วยให้การปรับแต่งเป็นไปอย่างราบรื่น สิ่งที่ควรต้องทำต่อไปก็คือ การอัพเดตไดรเวอร์กราฟฟิกการ์ดและทำการวัดประสิทธิภาพที่ได้จากเดิม เพื่อเก็บเอาไว้เปรียบเทียบและดูผลที่ได้จากการโอเวอร์คล็อกนั้นมีความคุ้มค่าเพียงใดหรือให้ผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่ รวมถึงเทียบกับความร้อนที่เกิดขึ้นและประสิทธิภาพในการเล่นเกมไปด้วยกันได้หรือไม่
สุดท้ายก็คงต้องเตือนสติไว้ว่า การโอเวอร์คล็อกอาจทำให้อายุการใช้งานของกราฟฟิกการ์ดน้อยลง ยิ่งหากมีการเพิ่มแรงดันไฟขึ้นไปมากขึ้น โอกาสที่ GPU จะต้องปรับความถี่ให้สูงมากกว่าเดิมตามที่ปรับขึ้นไป หากไม่ได้มีการระบายความร้อนที่ดีหรือทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงบ้าง ก็อาจเกิดความเสียหายขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นอาจถูกปฏิเสธการรับประกันจากการโอเวอร์คล็อกนี้
ส่วนเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการโอเวอร์คล็อกกราฟฟิกการ์ดมีอยู่หลายตัวด้วยกัน เช่น:
AMD Overdrive เป็นโปรแกรมที่ช่วยในการโอเวอร์คล็อกซีพียูและกราฟฟิกของค่าย AMD ซึ่งมีความสามารถในการปรับแต่งที่ค่อนข้างละเอียดเลยทีเดียว โดยเลือก Enable ในส่วนของ Grapphic Overdrive โดยเลือกที่จะปรับแบบอัตโนมัติหรือใช้แบบ manual ก็ได้ตามถนัด เพียงแต่ผู้ใช้อาจจะต้องใส่รายละเอียดบางอย่างเข้าไปด้วยตัวเอง แต่ก็ได้ได้ในเรื่องของการปรับที่มีความเร็วและเสถียรภาพแบบสุดๆ ตามมา สามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่
EVGA Precision ยูทิลิตี้สำหรับการโอเวอร์คล็อกกราฟฟิกการ์ด EVGA โดยเฉพาะ ด้วยอินเทอร์เฟสที่ดูหรูหรา แต่ให้การปรับที่ละเอียดมากทีเดียว ตั้งแต่ในเรื่องของ GPU clock, Memory clock ไปจนถึงแรงดันไฟ ที่สำคัญยังมีการปรับแบบโพรไฟล์ รวมถึงระบบเซ็นเซอร์ที่รายงานความร้อนในหน้าเดียวกันนี้ ช่วยให้การปรับแต่งทำได้รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น ดาวน์โหลดได้ ที่นี่
GIGABYTE OC Guru II utility ซอฟต์แวร์สำหรับการปรับแต่งกราฟฟิกการ์ดจากค่าย GIGABYTE ที่มาพร้อมอินเทอร์เฟสที่เป็นกันเองและใช้งานง่าย เลือกปรับเป็นโพรไฟล์ได้ตามที่ต้องการ รวมถึงการแยกปรับเป็นแบบหมวดหมู่ให้ดูชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว GPU, Memory, Voltage และพัดลม ด้วยการปรับแต่งผ่านปุ่มกดเพิ่มและลดได้บนหน้าจอ พร้อมกราฟฟิกที่รายงานระบบในแบบเรียลไทม์ ดาวน์โหลดได้ ที่นี่
Sapphire Trixx เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการโอเวอร์คล็อกกราฟฟิกการ์ด ที่ดูแล้วค่อนข้างเรียบง่าย ใช้อินเทอร์เฟสที่ดูเป็นกันเองในการใช้งาน โดยแบ่งเป็นแท็ปย่อยๆ สำหรับการปรับแต่ง โดยมีให้เลือกในส่วนของการโอเวอร์คล็อก GPU, Memory และ Voltage พร้อมจัดเก็บเป็นโพรไฟล์สำหรับการปรับค่าได้ 4 รูปแบบ พร้อมการรายงานแบบเรียลไทม์ รวมถึงการปรับ Fan control ที่เลือกให้ปรับอัตโนมัติหรือปรับแบบ Manual ได้อีกด้วย ดาวน์โหลดได้ ที่นี่
โปรแกรมเหล่านี้มีให้เลือกใช้และดาวน์โหลดตามความเหมาะสมของผู้ใช้และกราฟฟิกการ์ดของแต่ละค่ายนั่นเอง