จะว่าไปสำหรับคนที่ถ่ายรูปด้วย Smartphone เป็นประจำ ก็คงพอจะจับจุดได้ว่าถ่ายแบบไหน ถึงได้ออกมาดี เพราะอย่าลืมว่ากล้องบนมือถือนั้น แค่แตะแล้วก็ถ่าย แทบจะไม่ต้องอะไรมากเลย แต่ทำไมบางคนถึงถ่ายออกมาสวย บางคนดูมีมิติหรือบางทีก็ออกมาแย่จัง ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่คุณภาพของกล้องและเซ็นเซอร์บนมือถือแต่ละรุ่น แต่สิ่งสำคัญที่น่าจะให้ผลมากที่สุดก็คือ เทคนิคและมุมมองของผู้ถ่ายที่สามารถถ่ายทอดภาพออกมาได้ดีและสื่อถึงความรู้สึกของภาพได้อย่างชัดเจน
แต่สำหรับเราๆ หรือบางคนที่เป็นมือใหม่ อาจจะไม่ได้ตั้งอกตั้งใจสำหรับถ่ายภาพแนวอาร์ตหรือเรียลลิสติกกันเป็นประจำ ขอแค่ถ่ายภาพเพื่อนไม่เบลอหรือถ่ายสิ่งของพอไปอวดใครๆ ได้บ้างก็พอแล้ว หากมาจับกล้องมือถือ นอกจากจะต้องทำความคุ้นเคยกับมือถือที่ใช้ การรู้วิธีในการถ่ายรูปบ้าง ก็จะช่วยให้ภาพที่ออกมานั้นดูน่าสนใจ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้ภาพพอที่จะไปโพสขึ้นโซเชียลได้มั่นใจยิ่งขึ้น ด้วยวิธีการง่ายๆ คือ
Focus จับให้ได้ ถ่ายให้แม่น : เป็นเรื่องปกติในการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะใช้กล้องดิจิตอลหรือกล้องมือถือก็ตาม เรื่องนี้ไม่ต้องเทคนิคมากเพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า จะถ่ายอะไรเราก็ต้องโฟกัสสิ่งนั้นเป็นหลัก ง่ายๆ เลยคือ วัตถุใดที่เราต้องการและเป็นเป้าหมาย ให้แน่ใจว่าอยู่ในระยะโฟกัสที่ถูกต้อง สังเกตง่ายๆ คือ ถ้าไม่ได้ระยะ จะไม่สามารถจับโฟกัสได้ นอกจากนี้ให้ลองแตะไปที่หน้าจอของ Smartphone เพื่อโฟกัสวัตถุ ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อจับภาพได้แล้วก็จะปรากฏเป็นแถบสีเขียวหรือมีเสียงปี๊บๆ นั่นหมายถึงอยู่ในระยะโฟกัสที่ถูกต้อง
Zoom ได้บ้าง ถ้าไม่จำเป็นอย่าใช้ Digital Zoom : สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อการถ่ายภาพด้วย Smartphone กล้องถ่ายภาพของ Smartphone รุ่นใหม่ สามารถซูมได้ด้วยการแตะหรือขยายได้จากหน้าจอ ซึ่งความเป็นจริงไม่ควรที่จะทำเช่นนั้น เพราะตัวกล้องไม่มีเลนส์ที่สามารถขยับได้ ความหมายก็คือ การซูมดิจิตอลเหมือนกับเป็นการ Crop ภาพจากภาพที่ได้ปกติ ดังนั้นเมื่อมีการตัดภาพมาเฉพาะจุดที่เราซูมหรือต้องการ ด้วยกำลังขยายนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพจริง ผลที่ได้คือ การสูญเสียรายละเอียดของภาพที่แท้จริงออกไป แต่ก็แน่นอนว่าบางครั้งก็จำเป็นต้องใช้ Digital Zoom ในกรณีที่ต้องการถ่ายภาพที่รวดเร็ว ไม่ได้สนรายละเอียด แบบนี้ก็นำมาใช้ได้ ส่วนถ้าต้องการที่จะถ่ายภาพจาก Smartphone ให้ได้ผลดี การเดินเข้าหาวัตถุจะช่วยให้ได้ภาพที่ดีขึ้น
ถ้าไม่จำเป็น ควรงดใช้แฟลช : จริงอยู่ที่การใช้แฟลชเพื่อให้เห็นรายละเอียดในบริเวณที่แสงน้อยหรือมืดได้ดี แต่ถ้าใช้มากไปหรือไม่ถูกจังหวะก็อาจจะทำลายภาพสวยๆ หรืออารมณ์ของภาพที่ต้องการได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะแฟลชจาก Smartphone ที่แสนจะเจิดจ้าเป็นอย่างยิ่ง อย่างเช่น คุณต้องการถ่ายแสงเทียนที่แทนที่จะได้เห็นการขยับตัวของไฟเทียนที่ให้ความสว่างไปรอบๆ แต่กลายเป็นว่าเห็นแสงเทียนเพียงเล็กน้อยและโดยรอบนั้นสว่างจนน่าใจหายหรือไปถ่ายบุคคลที่มีแฟลชยิงเข้าหน้าจนสว่างเวอร์จนดูน่าตกใจ ในกรณีที่ถ่ายในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อยกว่าปกติ อาจจะต้องตรวจสอบการตั้งค่าของแฟลช ไม่ให้ยิงออกไปโดยอัตโนมัติหรือตั้งค่าบางอย่างเพื่อชดเชยแสงจากแอพฯ ที่ปรับการใช้งานได้นั่นเอง
ถ่ายด้วยกล้องหลัง ข้อนี้บอกได้ยากจริงๆ สำหรับการถ่ายภาพ เพราะในยุคที่การเซลฟี่ครองเมื่อ แถมสมาร์ทโฟนบางรุ่นออกแบบมาเพื่อการ Selfie โดยเฉพาะและถ่ายได้สวยงามทีเดียว แต่โดยส่วนใหญ่กล้องหลังจะเป็นกล้องที่มีคุณภาพมากกว่ากล้องหน้า ว่ากันที่ความละเอียดก็ต่างกันเยอะแล้ว ยกเว้นบางรุ่นที่ออกแบบมาให้ใกล้เคียงกัน ซึ่งเอาเป็นว่าถ้าต้องการถ่ายภาพต่างๆ รอบตัวที่ไม่เกี่ยวกับเซลฟี่ ใช้กล้องหลังความละเอียดดีกว่าและยังใช้การปรับแต่งจากหน้าจอได้ง่ายขึ้น ก็จะช่วยให้ภาพที่ได้ดูสวยงามและอยู่ในโฟกัสได้ชัดเจน ส่วนถ้าอยากได้ภาพเซลฟี่สวยๆ แนะนำว่าถ้ากล้องหน้าแย่จนรับไม่ได้ ก็ให้คนที่ไปด้วยหรือคนรอบข้างช่วยถ่ายให้น่าจะได้ผลดีกว่าเยอะ
ติดกล้องเสริม เพิ่มคุณภาพ : หากที่สุดแล้วดูจะยุ่งยากไปเสียทั้งหมด ก็ให้ลองเพิ่มเงินซื้อกล้องสำหรับติด Smartphone โดยเฉพาะก็น่าจะดี เพราะเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนจาก Android หรือ iOS ก็ตาม ต่างมีผู้ผลิตกล้องในแบบ Third party มาใช้ร่วมกับสมาร์ทโฟนได้ พร้อมคอนโทรลจากมือถือได้เลย ด้วยกล้องและเลนส์ที่มีคุณภาพ ทำให้การถ่ายภาพนั้นง่ายขึ้นกว่าเดิมและได้ภาพที่สวยถูกใจอีกด้วย สิ่งที่ต้องทำก็คือ การหามุมมองใหม่ๆ แปลกๆ ด้วยตัวเองเท่านั้น
นอกจากนี้การเลือกใช้แอพในการถ่ายภาพ ก็มีส่วนช่วยอยู่บ้าง แต่ในแง่ของคุุณภาพและมุมมองที่ดีอยู่ที่ตัวผู้ถ่ายเท่านั้น ที่จะสามารถดึงเอาความสามารถของกล้อง Smartphone ออกมาได้ เพราะโดยทั่วไปแอพฯ ก็จะให้ได้ในส่วนของ Filter หลากรูปแบบที่จะช่วยปรับภาพให้ได้สวยตามต้องการ ซึ่งหากใช้งานบ่อยๆ รู้จักตั้งค่าให้เหมาะสม ก็จะช่วยให้ได้ภาพออกมาสวยถูกใจได้เหมือนกัน