เชื่อว่าใครหลายคนที่คุ้นเคยกับเครื่องพีซีมาบ้างหรือเป็นคนที่คลุกคลีกับอุปกรณ์คอมพ์มาในช่วง 5-10 ปีมานี้ น่าจะพอเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีหรือรูปแบบการพัฒนาของชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องคอมพ์ ที่ต้องบอกว่ามีอยู่มากมายเลยทีเดียว บางสิ่งก็ได้รับความนิยม แต่บางอย่างก็ Fail ขึ้นอยู่กับว่ามีการออกแบบให้ผู้ใช้ได้คุ้นเคยหรือชื่นชอบได้อย่างไรนั่นเอง
เช่นเดียวกับเรื่องราวที่ผมจะมานำเสนอในครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องของ ของใช้และเทคโนโลยีบางสิ่งที่บางคนอาจไม่เคยเห็นหรือไม่เคยทราบมาก่อนว่าเคยมีอยู่ในแวดวงของคอมพิวเตอร์นี้ด้วยหรือ จะว่าไปน่าจะเป็นสิ่งที่แปลกและครั้งหนึ่งเคยถูกผลิตและนำมาใช้จริงในตลาดอีกด้วย แต่จะเป็นเรื่องใดบ้างนั้น ต้องมาติดตามกัน
น้ำหอมอโรมา ผ่อนคลายเมื่อใช้คอมพ์
หากย้อนกลับไปสัก 7-8 ปีก่อน เราคงจะคุ้นเคยกับในยุคที่หอมฟุ้งไปด้วยการทำอโรมา กับสิ่งที่เรียกว่าการ บำบัด ซึ่งใช้กันแทบจะทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ส่วนตัว การพักผ่อนหรือแม้กระทั่งการทำสปา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่หลายคนคุ้นเคยกันดี แต่ก็กลายเป็นสิ่งที่จุดประกายให้กับผู้ผลิตไอทีบางค่าย นำมาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ของตน อย่างเช่น ค่าย ABIT ในรุ่น DigiDice ที่นอกจากจะเป็นพีซีขนาดเล็กที่คุ้นหูกันในนามของ Barebone เพื่อตอบสนองในด้านของความบันเทิงและคนที่ชอบความกะทัดรัดแล้ว หากสังเกตดีๆ ด้านหลังเครื่อง นอกจากจะมีชุดระบายความร้อนที่เป็นฮีตซิงก์ขนาดใหญ่แล้ว ยังมีชุดถาดและน้ำหอมอโรมาขวดเล็กๆ มาให้ในชุดอีกด้วย โดยการใช้งานก็แค่เพียง หยดน้ำหอมเล็กๆ นี้ลงไปในถาด จากนั้นใช้ความร้อนจากฮีตซิงก์ในการทำให้ร้อนขึ้น จากนั้นใช้พัดลมที่อยู่ด้านหลังเป็นตัวกระจายกลิ่น จึงเป็นที่มาของพีซีที่มีความหอมในตัว ซึ่งนับว่าเป็นไอเดียที่ดีทีเดียว
RAMDisk GIGABYTE i-Ram รวมแรมให้เป็นฮาร์ดดิสก์
ในยุคหนึ่งที่มีการเริ่มต้นเทคโนโลยีหลายๆ อย่าง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงของเครื่องพีซี โดยที่ i-RAM นี้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เรียกกระแสได้พอสมควร ด้วยการทำงานที่ใช้ RAM หลายๆ แถวมาติดตั้งบนอุปกรณ์ที่เป็นการ์ดคล้ายกับการ์ดจอ แต่แทนที่จะเป็นชิปกราฟฟิก ก็กลายเป็นมีสล็อตแรมจำนวน 4 แถววางอยู่บนการ์ด สำหรับการติดตั้งแรมลงไป ด้วยหลักการทำงานคือ นำแรมที่อาจจะเรียกว่าแรมเก่าหรือเหลือใช้นั้น มาทำเป็นฮาร์ดดิสก์และเป็นฮาร์ดดิสก์ที่ทำงานได้รวดเร็วอีกด้วย ซึ่งก็ให้ผลได้ดีในเวลานั้น แต่มีข้อจำกัดอย่างเช่น การควบคุมพลังงานใช้สำหรับเลี้ยงแรม ให้ข้อมูลยังคงอยู่ได้ หากทิ้งไว้จนแบตฯ หมดข้อมูลที่เก็บไว้จะหายไป รวมถึงแรมที่ใช้นั้นมีความจุไม่มากนัก การที่จะนำมาติดตั้งโปรแกรมหรือเก็บข้อมูลแบบจริงจังก็ไม่ง่ายนัก อีกทั้งราคาของการ์ดก็สูงพอสมควรทีเดียว แต่ก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีในตำนานที่น่าสนใจ หากใครอยากเห็นเทคโนโลยีใกล้เคียงกัน ก็น่าจะเป็น SSD ในแบบ PCI-Express นั่นเอง แต่ความทันสมัยและการใช้งานยืดหยุ่นกว่ากันเยอะ
Peltier Cooler ระบายความร้อนซีพียู เย็นสุดขั้ว
ในการระบายความร้อนให้กับซีพียู เราอาจจะคุ้นเคยกับฮีตซิงก์ระบายความร้อนด้วยลม ที่เป็นฮีตซิงก์ที่มีครีบระบายความร้อนขนาดใหญ่และมีพัดลมในการเป่าความร้อนออกไปหรือถ้า Advance ขึ้นมาหน่อย ก็จะเป็นการระบายความร้อนด้วยน้ำ ที่ใช้การน้ำในการเวียนเอาความร้อนออกจากซีพียูไป อันเป็นวิธีง่ายๆ และดั้งเดิม แต่มียุคหนึ่งในยุคทีเรียกว่าการโอเวอร์คล็อกหรือการเพิ่มความเร็วให้กับซีพียูและอุปกรณ์อื่นๆ รุ่งเรืองขึ้น ก็ได้มีการคิดวิธีสารพัดเพื่อการลดความร้อน หนึ่งในนั้นก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า Peltier Cooler หรือที่เรียกกันว่าแผ่นร้อนเย็น ตามลักษณะของอุปกรณ์ เพราะการทำงานจะเป็นการปล่อยกะแสไฟเข้า แผ่น Peltier Cooler นี้ จากนั้นแถบหนึ่งของอุปกรณ์จะร้อนและอีกด้านหนึ่งจะเย็นสุดขั้ว ยิ่งแถบหนึ่งร้อนมากเท่าใด อีกด้านหนึ่งจะเย็นมากเท่านั้น หากเป็นรุ่นที่ใช้กำลังวัตต์ได้สูง บางครั้งจะเย็นจนน้ำแข็งเกาะกันเลยทีเดียว จึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่นักโอเวอร์คล็อกนำมาใช้ แต่ด้วยการควบคุมในการทำงานไม่ได้ง่ายและต้องปรับแต่งให้ฮีตซิงก์ในการติดตั้งมากพอสมควร จึงได้ห่างหายไป
การ์ดเปลี่ยนซีพียู ECS PF88 Extreme Hybrid ใช้ได้ 2 แพลตฟอร์ม
สิ่งนี้เป็นอีกยุคหนึ่ง ต้องถือว่าเป็นการพัฒนาที่ผู้ผลิตเองคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นและฉีกกฎเมนบอร์ดในยุคนั้นลง โดยเฉพาะคนที่อยากได้เมนบอร์ดที่สามารถใช้กับซีพียูได้ทั้ง Intel และ AMD ก็มีผู้ผลิตเมนบอร์ดออกมาตอบโจทย์ให้กับคนที่ต้องการ ซึ่งเป็นการทำตลาดได้แหวกแนวมากทีเดียว โดยเฉพาะเมนบอร์ดจากค่าย ECS ในรุ่น PF88 Extreme Hybrid ที่ออกแบบเมนบอร์ดที่มีซ็อกเก็ตสำหรับซีพียูอินเทล แต่มีการ์ดต่อพ่วงในแบบ Expansion Card ที่สามารถติดตั้งซีพียูเอเอ็มดีลงไปได้ เพื่อให้ใช้งานในกรณีที่ต้องการอัพเกรดหรือเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปใช้ซีพียูอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยออกเมนบอร์ดในแนวนี้มาอยู่ 2-3 รุ่น แต่ก็เป็นเพียงช่วงหนึ่ง ส่วนเรื่องของความนิยมนั้น ก็บอกได้ยาก เพราะแม้จะตอบโจทย์ในความยืดหยุ่นสำหรับการอัพเกรดหรือใช้งานซีพียู แต่ก็ไม่ได้ให้ความคล่องตัวนั้น อีกทั้งยังมีในเรื่องของชิปเซ็ตและแพลตฟอร์มที่อาจจะไม่ได้ทำให้ผู้ใช้ได้ใช้งานอย่างเต็มที่นัก