หากจะว่ากันถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือชิ้นส่วนสำคัญที่นอกเหนือจากฮาร์ดแวร์หลักอย่าง ซีพียู แรม การ์ดจอหรือเมนบอร์ดแล้ว Accessories ประเภทที่เข้ามาเสริมการใช้งาน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ระบายความร้อนหรือฮีตซิงก์ (Heat Sink) ที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่สำคัญในการระบายความร้อนและเป็นเหมือนสีสันของการแต่งเคสไปในเวลาเดียวกัน
เรียกว่าได้ประโยชน์ทั้ง 2 ทางเลยทีเดียว แต่บางคนอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองเปล่าๆ เพราะราคาก็ไม่ได้ถูก แถมยังไม่รู้ว่าคุ้มค่าต่อการเปลี่ยนหรือไม่ เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมมีเหตุผลดีๆ ที่อาจจะทำให้คุณเปลี่ยนทัศนคติและเข้าใจในการเปลี่ยนฮีตซิงก์ใหม่ก็เป็นได้
เหตุผลที่ 1 :?ช่วยลดความร้อนได้อย่างมั่นใจ
แน่นอนว่า การลดความร้อน เป็นเรื่องพื้นฐานสุดๆ คงไม่มีเหตุผลใดที่ฟังดูดีไปกว่านี้อีกแล้วสำหรับการที่จะเปลี่ยนฮีตซิงก์ สิ่งนี้ผู้ใช้จะสัมผัสได้เอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความรู้สึกหรือจะใช้ตัวเลขจากโปรแกรมวัดอุณหภูมิ รวมถึงการเช็คในไบออส ก็เป็นเครื่องวัดได้ดี หลังการเปลี่ยนฮีตซิงก์ แม้ว่าหลายคนอาจจะยังคงเฉยๆ หรือไม่ได้รู้สึกได้ถึงความร้อนที่เกิดขึ้น ยิ่งเป็นซีพียูในปัจจุบันที่มีกระบวนการผลิตที่เล็กลง แต่อาจจะสัมผัสได้เมื่อวันหนึ่งต้องทำงานซีพียูอย่างหนักหน่วงมากยิ่งขึ้นและต่อเนื่อง เช่น การเล่นเกมหรือรันซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่โหลดการทำงานมากๆ หรือต้องเจอกับสภาพของฝุ่นหรือสิ่งสกปรกเกาะที่พัดลมตัวเดิมมาก จนทำให้พัดลมไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาจจะมีอาการของเครื่องดับ รีสตาร์ทเองหรือไม่สามารถบูตเครื่องได้ เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ก็อาจทำให้คุณเปลี่ยนใจและเปลี่ยนฮีตซิงก์ตัวใหม่ เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวนี้
เหตุผลที่ 2 :?เพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบ
เมื่อความร้อนในจุดต่างๆ ลดลง โดยเฉพาะในส่วนสำคัญอย่าง ซีพียูหรือแรม ที่อาจจะเคยมีความร้อนสูงมากจนเครื่องดับ แต่เมื่อเปลี่ยนฮีตซิก์ตัวใหม่เข้าไป อาจจะลดได้อย่างน้อย 5 องศาเซลเซียสสำหรับซิงก์รุ่นปกติ แต่หากเป็นซิงก์รุ่นท็อปๆ ก็อาจจะลดความร้อนได้มากกว่าเดิมชนิดที่ผิดหูผิดตา ย่อมส่งผลต่อการใช้งานของคุณเองได้มากมาย โดยเฉพาะอาการผิดปกติที่เคยเจอ อย่างเช่น เครื่องดับหรือรีสตาร์ทเอง ก็อาจจะหายไป นั่นก็เพราะเมื่อความร้อนลดลง บรรยากาศภายใน โดยเฉพาะความร้อนจากฮีตซิงก์ซีพียู ที่เคยสะสมหรือกระจายตัวไปยังอุปกรณ์รอบข้าง ก็หายไปด้วย ก็เป็นการส่งคืนเสถียรภาพให้กับการทำงานกลับมา ไม่ต้องเสียอารมณ์กับการเล่นไปแฮงก์ไปเหมือนอย่างที่เคยเป็น
เหตุผลที่ 3 :?ลดเสียงรบกวน
เป็นที่ทราบกันดีว่าบรรดาฮีตซิงก์โรงงานหรือ Stock Sink นั้นจะมีดีไซน์ที่ไม่หวือหวาหรือพิศดารมากนัก เรียกง่ายๆ คือ ธรรมดาสุดๆ เน้นความเป็นแท่งๆ ก้อนๆ จะต่างจากฮีตซิงก์จำหน่ายแยก ซึ่งมีการออกแบบมาเป็นพิเศษ ที่นอกจากจะระบายความร้อนได้ดีแล้ว ยังลดเสียงรบกวนได้อีกด้วย สังเกตที่ครีบระบายที่มีความเล็กๆ และถี่ สามารถดึงความร้อนจากฮีตไปป์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อลมมากระทบยังครีบ ก็ไม่เกิดเสียงมากนัก อีกทั้งพัดลมที่มากับฮีตซิงก์เหล่านี้จะมีรอบการทำงานที่ต่ำ ประมาณ 600-1500 rpm เท่านั้น ต่างจากพัดลมของฮีตซิงก์โรงงานที่ส่วนใหญ่พัดลมจะอัดเข้าตัวฮีตซิงก์ในระยะประชิด เมื่อเกิดความร้อนมากยิ่งขึ้น รอบพัดลมก็จะสูงขึ้นตาม ทำให้เกิดเสียงรบกวนอย่างมาก ดังนั้นการเปลี่ยนพัดลมก็จะได้อานิสงตรงจุดนี้ได้โดยตรง ทำงานสบายหูยิ่งขึ้น
เหตุผลที่ 4 :?โอเวอร์คล็อกเล่น ก็ยังเย็นสบาย
เมื่อซีพียูเย็นสบาย ตามที่ควรจะเป็นแล้ว ก็จะเอื้ออำนวยในการปรับแต่งซีพียูทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดแค่ผู้ใช้ที่ชื่นชอบการโอเวอร์คล็อกอยู่เป็นทุนเดิมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมือใหม่ ที่อยากจะทดลองปรับแต่งหรือโอเวอร์คล็อกสักครั้งในชีวิต ก่อนที่จะก้าวเป็นนักโมดิฟายอย่างเต็มตัวในภายหลัง เพราะเมื่อซีพียูเกิดความร้อนน้อยลง ก็ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จในการเพิ่มความเร็วให้กับซีพียูมากยิ่งขึ้น ซึ่งบางครั้งการปรับแต่ง ต้องอาศัยการเพิ่มแรงดันไฟ เพื่อให้มีโอกาสไปยังความเร็วที่ต้องการได้ เมื่อเพิ่มไฟ ความร้อนก็ตามมา การเปลี่ยนฮีตซิงก์ก็ถือว่าเป็นเครื่องมือทีช่วยให้คุณปรับแต่งโอเวอร์คล็อกได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย
เหตุผลที่ 5 :?ให้ความสวยงาม
ต้องถือว่าเป็นผลพลอยได้ ที่ได้รับจากการเปลี่ยนฮีตซิงก์ แต่ก็ไม่ได้การันตีเรื่องนี้กับทุกคน เพราะหลายคนนำมาเป็นเรื่องหลักในการเปลี่ยนฮีตซิงก์กันเลยทีเดียว ซึ่งต้องยอมรับว่าฮีตซิงก์ที่มีจำหน่ายในปัจจุบันนั้น มีการเน้นเรื่องดีไซน์ที่สวยทันสมัย นอกเหนือจากการระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หลายๆ คนเลือกเปลี่ยนฮีตซิงก์จากความสวยงาม ต้องลองนึกภาพว่าคุณมีเคสที่สวย ฝาข้างใส ข้างในมีเมนบอร์ดและไฟสวยงาม แต่ฮีตซิงก์ที่ใช้เป็นแบบธรรมดา ก็คงจะดูแปลก ในทางกลับกันอุปกรณ์ภายในธรรมดา อาจจะดูน่าเบื่อ ได้ฮีตซิงก์สวยๆ มาติดตั้งพร้อมไฟสีสวยๆ จากพัดลมระบายความร้อนของฮีตซิงก์ประกบเข้ากัน จากภายในเคสที่ดูเชยๆ ก็จะกลายเป็นเคสที่สวยสะดุดตาน่าใช้ในทันที
นอกจากทั้ง 5 ข้อนี้แล้ว ยังมีเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งผู้เปลี่ยนฮาร์ดดิสก์จะได้รับก็คือ ประสบการณ์ในการเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ด้วยตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนฮีตซิงก์ถือเป็นก้าวแรกของการทดลอง DIY หรือลองเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตัวคุณเอง ก่อนที่จะลงมือทำในสิ่งที่ยากขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนเมนบอร์ดหรือการปรับแต่งอื่นใดก็ตาม