สำหรับโน๊ตบุ๊คสมัยนี้ เครื่องที่มีการ์ดจอแยกไม่ว่าจะของค่ายไหน ก็ย่อมจะต้องมีระบบกราฟิกในตัวหรือที่เรียกง่ายๆว่าการ์ดจอ on-board อยู่ในตัวกันทั้งนั้น อย่างใน Intel ก็จะเป็นพวก Intel HD Graphics ทั้งหลาย ส่วน AMD ก็จะเป็นกราฟิกชิปใน APU โดยหน้าที่ของมันก็คือจะทำงานเมื่อระบบมีการประมวลผลกราฟิกที่ไม่มากนัก เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและลดความร้อนของตัวเครื่องลง แล้วถ้ามีการประมวลผลกราฟิกที่หนักๆ เช่นการรันเกม ก็จะเปิดใช้งานการ์ดจอแยกแทน ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะมาเลือกเองทีละโปรแกรมมันก็เสียเวลาอยู่ ค่ายการ์ดจอทั้งสองอย่าง NVIDIA และ AMD ก็ได้พัฒนาระบบสำหรับจัดการสลับการทำงานของการ์ดจอให้เหมาะสมกับการทำงานขึ้นมา จุดประสงค์หลักก็คือต้องการให้ผู้ใช้งานสามารถใช้เครื่องได้อย่างราบรื่น (ถึงแม้ความเป็นจริงมันจะไม่ใช่ 100% นัก)
ซึ่งของค่าย NVIDIA จะเรียกว่า NVIDIA Optimus ถ้าอยากทราบว่าเป็นอย่างไร ก็ลองไปทำความรู้จักกับมันก่อนได้เลยครับ (บทความ NVIDIA Optimus)
ส่วนของ AMD จะเรียกว่า AMD Dynamic Switchable Graphics ซึ่งเราก็มีบทความให้ทุกท่านได้ไปทำความรู้จักกันก่อนเช่นกัน (บทความ AMD Dynamic Switchable Graphics)
เนื่องด้วยความที่การทำงานมันคล้ายกันของทั้ง 2 ค่าย ทำให้มีหลายคนนำไปเปรียบเทียบกันว่าระบบไหนดีกว่ากัน NBS เราจึงได้ไปสรรหาบทความเปรียบเทียบกันของทั้งสองเทคโนโลยีจากในเว็บ Notebookcheck มาเรียบเรียงใหม่ให้ทุกท่านได้อ่านและพิจารณากัน
เริ่มกันด้วยเครื่องที่ใช้ทดสอบ
เครื่องที่ใช้ของทางฝั่ง NVIDIA คือ Acer Aspire Timline 3830TG
- Intel Core i7-2620M
- NVIDIA GeForce GT 540M
- Intel HD Graphics
ส่วนฝั่ง AMD ก็คือ Sony VAIO VPC-CA290x
- Intel Core i5-2410M
- AMD Radeon HD 6630M
- Intel HD Graphics
การเช็คว่าการ์ดจอตัวใดทำงานอยู่
ในส่วนของ NVIDIA Optimus จะมีไอคอนแสดงกราฟิกชิปที่ทำงานอยู่ โดยไอคอนนี้จะแสดงอยู่ตรงบริเวณ taskbar ซึ่งสามารถเปิดใช้งานได้จากใน NVIDIA Control Panel ลักษณะการทำงานก็เป็นดังภาพเลย
เมื่อไม่ได้ใช้งานกราฟิกชิป
เมื่อเปิดใช้งานกราฟิกชิป
ซึ่งถ้ามันสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ก็ต้องนับว่าเป็นทูลที่มีประโยชน์มากเลยทีเดียว
แต่ทางฝั่งของ AMD Dynamic Switchable Graphics นั้นไม่มีทูลสำหรับแสดงว่ากราฟิกชิปตัวใดทำงานอยู่เลย แม้กระทั่งตัว Catalyst Control Center ก็ไม่มีบอกเช่นกัน และเมื่อตรวจสอบการทำงานจากโปรแกรม GPU-Z ก็พอจะทราบแบบเลาๆ แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ฟันธงได้ 100% นัก
เมื่อไม่ได้ใช้งานกราฟิกชิป
?เมื่อใช้งานกราฟิกชิป
ในกรณีนี้ GPU-Z ก็พอจะใช้วัดได้พอสมควร แต่ที่น่าแปลกใจคือ โปรแกรม AMD System Monitor ของ AMD เองกลับตรวจจับการทำงานไม่ได้ซะอย่างนั้น
การทดสอบการสลับการทำงานเมื่อรันเกม
Left 4 Dead
ระบบ NVIDIA Optimus สามารถสลับไปเรียกใช้งาน NVIDIA GeForce GT 540M ได้อย่างถูกต้อง
ส่วน AMD Dynamic Switchable Graphics ก็สามารถตั้งค่าการเลือกใช้งานกราฟิกชิปแบบอัตโนมัติได้อย่างถูกต้อง ก็เป็นว่าเกมแรกเสมอกันไป
————————————————————-