MSI Stealth A16 AI+ ครีเอเตอร์โน๊ตบุ๊คเล่นเกมได้ ดีไซน์เรียบหรูและแรงด้วยพลัง AMD Ryzen AI ทำได้ทุกงานเล็กใหญ่!!
นอกจาก MSI Titan กับ MSI Raider สองพี่น้องตัวแรงขวัญใจเกมเมอร์แล้ว ฝั่งครีเอเตอร์หน้าตาเรียบหรูซ่อนความแรงก็มี MSI Stealth A16 AI+ ให้ครีเอเตอร์หาซื้อเอาไว้ทำงานกราฟิคตั้งแต่แต่งภาพและตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงก็ได้ ปั้นโมเดล 3D ก็ไหว เขียนโปรแกรมก็สบายและเข้าเงื่อนไขเป็น Copilot+ PC มีกำลังประมวลผล AI เกิน 40 TOPS ตามที่ Microsoft กำหนดเอาไว้ ด้วย AMD Ryzen AI กับ NVIDIA GeForce RTX 4070 รวม 401 TOPS (80+321 TOPS) ก็ช่วยให้ Microsoft Copilot ทำงานได้รวดเร็วทันใจ จะสั่งหาข้อมูล, สรุปความจากหน้าเว็บไซต์, วาดภาพ, เขียนโครงเนื้อหาหรือร่างอีเมล์ไปจนแนะนำให้ข้อมูลใดๆ ก็ได้ ช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้น
แม้จะมีราคา 94,990 บาท แต่สเปคของ MSI Stealth A16 AI+ ก็คุ้มค่า ได้ AMD Ryzen AI 9 HX 370 กับจีพียู NVIDIA GeForce RTX 4070 พร้อมชุดระบายความร้อน Cooler Boost 5 มีช่อง M.2 NVMe เสริมไว้เติม SSD เพิ่มไว้ติดตั้งเกมหรือเก็บงานคู่กับ SSD 2TB ในเครื่องได้ แม้จะอัปเกรด RAM เพิ่มไม่ได้เพราะเป็นออนบอร์ด LPDDR5X แต่ก็มีความจุ 32GB มากพอให้ใช้ทำงานได้ทุกแบบ แถมได้หน้าจอ 16 นิ้ว ความละเอียด 4K (3840*2400) พาเนล Mini-LED IPS ค่า Refresh Rate 120Hz ขอบเขตสี 100% DCI-P3 แสดงสีสันได้สวยงามสมจริงระดับมืออาชีพ
ลูกเล่นของ MSI Stealth A16 AI+ นอกจากตัวเครื่องบาง 19.95 มม. หนักเพียง 2.1 กก. ซึ่งน้อยกว่าโน๊ตบุ๊คขนาด 16 นิ้วทั่วไปในท้องตลาดแล้ว ก็ติด MUX Switch เอาไว้ตัดต่อการทำงานระหว่างจีพียูในชิปเซ็ต AMD Ryzen AI กับ NVIDIA GeForce RTX 40 Series ได้อย่างเหมาะสม เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เสถียรและรวดเร็วด้วย Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be ซึ่งเป็นมาตรฐานล่าสุด มีลำโพงติดตั้งมา 6 ตัว แยกเป็น Speaker 2 ตัว และ Woofer 4 ตัว ปรับจูนเสียงด้วย DYNAUDIO กับ Nahimic ได้ SteelSeries มาช่วยปรับแต่งคีย์บอร์ดให้ตอบสนองได้ดีและเปลี่ยนไฟได้แบบ Per-Key RGB แถมมีเซนเซอร์สแกนใบหน้าและลายนิ้วมือติดตั้งมาครบทั้งคู่ ช่วยรักษาข้อมูลของเจ้าของเครื่องให้ปลอดภัยไร้กังวลไม่ถูกใครแอบใช้โดยพลการอย่างแน่นอน
NBS Verdicts
MSI Stealth A16 AI+ โน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์หน้าตาสวยเรียบร้อยผิดกับชิปเซ็ตภายในอันแรงทรงพลังและยังผ่านมาตรฐาน Microsoft Copilot+ PC มีกำลังประมวลผลสูงเกิน 40 TOPS ทำให้รัน AI กับ LLMs ได้รวดเร็วด้วยชิปเซ็ต AMD Ryzen AI กับ NVIDIA GeForce RTX 40 Series มี RAM 32GB LPDDR5X กับ M.2 NVMe SSD ตั้งต้นมา 2TB พร้อมช่องอัปเกรดเพิ่มอีก 1 ช่อง เผื่อใครต้องการเพิ่มความจุเอาไว้ใช้งานก็ทำได้ แม้ตัวเครื่องจะซีลมาแน่นหนาเปิดฝาได้ยากสักหน่อยแต่ถ้ามีอุปกรณ์พร้อมก็ยังทำเองได้
แง่การใช้งานก็สมฐานะโน๊ตบุ๊คครีเอเตอร์ระดับพรีเมี่ยมที่เล่นเกมได้นิดหน่อยอย่างไม่ต้องสงสัย ตั้งแต่ใช้ทำงานกราฟิคตัดต่อวิดีโอ, แต่งภาพทำโมเดล 3D ได้ รัน AI ก็เร็วทันใจ จะตั้งทำงานในออฟฟิศก็เรียบหรูดูมีระดับและพกไปพบลูกค้าก็เบาเพียง 2.1 กก. และพรีวิวตัวอย่างงาน 3D ได้เป็นอย่างดี หลังเลิกงานก็เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค MSI เล่นเกมชั้นนำยอดนิยมในปัจจุบันได้ทุกเกมบนความละเอียด 4K UHD ได้ทันทีไม่ว่าจะเปิดหรือปิด NVIDIA DLSS ก็ยังเล่นได้ลื่นไหล หรือถ้าลดความละเอียดลงมาเหลือ 2K QHD ภาพก็ยิ่งลื่นไหลขึ้นกว่าเดิมแถมได้ลำโพงชุดใหญ่ 6 ตัว ปรับจูนเสียงด้วย DYNAUDIO ได้เสียงมีมิติ ฟังเพลงก็เพลินเล่นเกมก็แยกทิศทางเสียงได้คมชัด แถมติดตั้งเซนเซอร์สแกนใบหน้ากับนิ้วมือมาครบเครื่อง รักษาความปลอดภัยให้ข้อมูลภายในเครื่องได้เป็นอย่างดี
ด้านข้อสังเกตของ MSI Stealth A16 AI+ มีเรื่องการเปิดฝาเพิ่ม SSD ได้ค่อนข้างลำบากเพราะตัวเครื่องซีลมาแน่นแข็งแรงและติดตั้ง RAM มาแบบออนบอร์ดแทนที่จะเป็น SO-DIMM จึงเพิ่มความจุในภายหลังไม่ได้ก็จริง แต่ก็มีความจุมากถึง 32GB LPDDR5X จึงไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ก็ได้ อีกส่วนคือ Numpad มีขนาดเล็กกว่ามาตรฐานต้องปรับตัวสักพักถึงจะคุ้นชินและใช้งานได้สะดวก ด้านฟีเจอร์ Matrix Display ก็ยังรองรับเช่นเดิม โดยต่อหน้าจอแยกผ่าน USB-C กับ HDMI ได้ทันทีแต่แนะนำให้เปิด MSI Center ขึ้นมาเพื่ออัปเดตเฟิร์มแวร์ทั้งหมดให้ครบตั้งแต่ต้นจะช่วยให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
ข้อดีของ MSI Stealth A16 AI+
- ซีพียูเป็น AMD Ryzen AI 9 HX 370 ประสิทธิภาพสูง ใช้ทำงานและเล่นเกมได้เยี่ยม
- จีพียูเป็น NVIDIA GeForce RTX 4070 รุ่น TGP 105W ใช้ทำงานและเล่นเกมได้ดี
- มี RAM 32GB LPDDR5X ติดตั้งมาให้จากโรงงาน ใช้ทำงานและเล่นเกมได้สบาย
- ติดตั้ง Microsoft Office Home & Student 2021 มาให้พร้อมใช้ ไม่ต้องซื้อเพิ่ม
- หน้าจอมีความละเอียด 4K ค่า Refresh Rate 120Hz ขอบเขตสี 100% DCI-P3
- ติดตั้งเซนเซอร์สแกนใบหน้าและลายนิ้วมือมาให้ควบคู่ชิป Microsoft Pluton
- ลำโพงรวม 6 ตัว ปรับจูนโดย Nahimic ใช้เล่นเกมและฟังเพลงได้เสียงไพเราะ
- เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วและเสถียรด้วย Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be
- ติดตั้งพอร์ต USB-C 4.0 Full Function มาให้ ชาร์จด้วย GaN 100W ได้
- เป็นเกมมิ่งและครีเอเตอร์โน๊ตบุ๊คเครื่องใหญ่แต่เบาเพียง 2.1 กก. เท่านั้น
- คีย์บอร์ดปรับแต่งร่วมกับ SteelSeries ตั้งค่า Macro และ Per-Key RGB ได้
- ชุดระบายความร้อน Cooler Boost 5 ระบายความร้อนได้ดีไม่ Throttle down
- มีบานชัตเตอร์ปิดกล้องเว็บแคมได้เวลาไม่ใช้งาน เพิ่มความเป็นส่วนตัว
- ติดตั้ง M.2 NVMe SSD ความจุ 2TB มาให้ เพิ่ม SSD เสริมได้อีกช่อง
- ดีไซน์ปุ่ม Ctrl กับ Shift ฝั่งซ้ายให้กว้างเท่ากัน จึงกดใช้งานได้ง่าย
- กางบานพับได้ราบ 180 องศาขนานไปกับพื้นโต๊ะ แชร์หน้าจอให้เพื่อนดูได้ง่าย
ข้อสังเกตของ MSI Stealth A16 AI+
- RAM เป็นแบบออนบอร์ด อัปเกรดเพิ่มในภายหลังไม่ได้
- ตัวเครื่องซีลมาแน่นแข็งแรงเปิดฝาอัปเกรดได้ค่อนข้างยาก
- Numpad มีขนาดเล็กกว่ามาตรฐาน เวลาเริ่มใช้งานช่วงแรกต้องปรับตัวพอควร
รีวิว MSI Stealth A16 AI+
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector, Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
- Gallery
Specification
สเปคของ MSI Stealth A16 AI+ เป็น Copilot+ PC นอกจากใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวันได้เยี่ยมแล้ว ก็รัน AI กับ LLMs ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี บอดี้บางเพียง 19.95 มม. หนักเพียง 2.1 กก. จึงพกไปใช้งานที่ไหนก็ง่าย เวลาว่างก็ใช้เล่นเกมชั้นนำได้สบาย เหมาะกับครีเอเตอร์และผู้ที่มองหาโน๊ตบุ๊ค MSI ประสิทธิภาพสูงอยู่แน่นอน สเปคจะมีรายละเอียดดังนี้
CPU | AMD Ryzen AI 9 HX 370 แบบ 12 คอร์ 24 เธรด (Zen 5*4 คอร์ / Zen 5c*8 คอร์) ความเร็ว Zen 5 ตั้งแต่ 2.0~5.1GHz ความเร็ว Zen 5c ตั้งแต่ 2.0~3.3GHz NPU 80 TOPS |
NPU | AMD Ryzen AI NPU Performance 50 TOPS Total Processor Performance 80 TOPS |
GPU | NVIDIA GeForce RTX 4070 VRAM 8GB GDDR6 TGP 105W AI Processing power 321 TOPS |
Storage | M.2 NVMe SSD ความจุ 2TB อินเทอร์เฟส PCIe 4.0 x4 รองรับการอัปเกรด M.2 NVMe SSD เพิ่ม 1 ช่อง |
Memory | 32GB LPDDR5X บัส 7500MHz |
Operating System & Software | Windows 11 Home Microsoft Office Home & Student 2021 |
Display | 16 นิ้ว ความละเอียด 4K (3840*2400) พาเนล Mini-LED IPS Refresh Rate 120Hz 100% DCI-P3 |
Connectivity | USB-A 3.2 Gen2*2 USB-C 4.0 Full Function*1 HDMI 2.1*1 (8K 60Hz / 4K 120Hz) LAN*1 Audio combo*1 Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be Bluetooth 5.4 |
Security system | IR Camera (1080p 30 Fps) HDR, 3DNR+ Fingerprint scanner TPM 2.0 Microsoft Pluton AMD PSP 11.0 |
Weight | 2.1 กก. |
Price | 94,990 บาท |
Hardware & Design
สเปคภายใน MSI Stealth A16 AI+ แม้จะแรงระดับเกมมิ่งหรือครีเอเตอร์โน๊ตบุ๊ครุ่นเรือธง แต่ดีไซน์เครื่องกลับเรียบง่ายถ้าไม่จับสังเกตก็แทบไม่เอะใจเลยว่าเป็นโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูง รูปลักษณ์ภายนั้นนอกดูเรียบง่ายเหมือนโน๊ตบุ๊คทำงานสีดำเครื่องใหญ่จึงไม่ดึงดูดสายตาผู้อื่นแม้แต่น้อย แต่ถ้าสังเกตจะเห็นรายละเอียดบอกใบ้ความเป็นเกมมิ่งอยู่ตามส่วนต่างๆ จากขอบบนตัวเครื่องจะมีช่องนำลมเข้าไประบายความร้อนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าตีเฉียงติดอยู่ ถัดลงมาเป็นคีย์บอร์ด Full size มีไฟ LED Backlit ปรับไฟแบบ Per-key RGB ได้ ติดสติกเกอร์บอกซีพียูกับจีพียูเอาไว้ฝั่งซ้ายตรงข้ามกับสติกเกอร์บอกจุดเด่นฝั่งขวาถัดลงมาจากเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ขอบหน้าเครื่องสลักชื่อแบรนด์ DYNAUDIO ไว้ฝั่งซ้ายตรงข้ามกับ MSI ฝั่งขวาตามด้วยลายสามเหลี่ยมสามบรรทัดสลักกินเนื้อเครื่องเข้าไป
ฐานบานพับหน้าจอของ MSI Stealth A16 AI+ ออกแบบตัวบานพับให้กางได้แบนราบขนานกับพื้นโต๊ะ ตัวก้านประกบบานพับถูกติดเอาไว้ขอบนอกสันตัวเครื่องซึ่งลาดลงไปเล็กน้อย ภายในก็ล็อคฐานบานพับหน้าจอเอาไว้แข็งแรง พอกางหน้าจอก็แน่นแข็งแรงไม่มีอาการบานหน้าจอกระพือสะบัดให้เห็นสักนิดและหยุดเท่าที่มือผู้ใช้ดันไปอย่างแน่นอน จึงวางบนโต๊ะทำงานหรือขึ้นแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ปรับองศาหน้าจอให้เข้ากับมุมสายตาได้ง่ายไม่เกิดเงาตกกระทบบนหน้าจอแม้แต่น้อย
ฝาหลังสีดำเนื้อด้านของ MSI Stealth A16 AI+ ยิงเลเซอร์โลโก้ MSI Dragon ติดไว้ตรงกลางค่อนบนจุดเดียวไม่มีลวดลายอะไรเพิ่มเข้ามาเป็นพิเศษให้รกสายตา แต่ไล่ลงมาจะเห็นแถบอลูมิเนียมมันวาวติดเฉียงเอาไว้ สลักคำว่า “STEALTH” อยู่ด้านในบอกซีรี่ส์ของโน๊ตบุ๊คนี้อยู่เหนือช่องระบายความร้อนคู่ด้านหลัง ดูสะอาดตามีระดับเหมือนโน๊ตบุ๊คพรีเมี่ยมขนาดใหญ่เครื่องหนึ่งเท่านั้น จึงเสริมบุคลิคผู้ใช้ให้ดูดีขึ้นไปในตัว
ด้านใต้เครื่องครึ่งบนจะเป็นช่องนำลมเข้าตีเฉียงเป็นเครื่องหมาย Backslash ( \ ) เรียงเป็นแนวยาวและสูง ใช้พื้นที่ไปครึ่งหนึ่งเพื่อนำลมเข้าไปให้ชุดระบายความร้อน Cooler Boost 5 ทำงานได้เต็มกำลัง ติดสันยางกันลื่นเอาไว้ 4 เส้น แยกเป็นคู่บนทำเป็นสันสูงให้มีระยะห่างจากพื้นโต๊ะพอให้นำลมเย็นเข้าได้มากขึ้น เสริมด้วยเส้นสั้นตรงกลางเพิ่มความมั่นคงเวลากดคีย์บอร์ดพิมพ์งานหรือเล่นเกมและเส้นยาวตรงแถบล่างไว้รับข้อมือทั้งสองข้างของผู้ใช้ ยึดน็อตหัวแฉกบวก Philips Head ไว้ 7 ดอก แต่ดูตามปกติจะนับได้ 6 เท่านั้นเพราะดอกสุดท้ายซ่อนไว้ใต้สติกเกอร์ตรงกลางเครื่อง
Screen & Speaker
หน้าจอขนาด 16 นิ้วของ MSI Stealth A16 AI+ ถูกรีดกรอบข้างหน้าจอให้บางลงเพื่อเพิ่มพื้นที่แสดงผล ขอบบนจะหนาขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะตรงกลางส่วนติดกล้องเว็บแคม, IR Camera และไมโครโฟนจะเป็นสันเฉียงให้ใช้นิ้วชี้กางหน้าจอใช้งานได้ง่าย เวลาดึงขึ้นมาใช้ก็ไม่มีอาการกระพือและขอบล่างจะหนากว่าด้านข้างเป็นเท่าตัวเพื่อติดชุดพาเนลแสดงผลเอาไว้ ตรงกลางสกรีนโลโก้ MSI เอาไว้
กล้องเว็บแคมของโน๊ตบุ๊ค MSI Stealth A16 AI+ จะมีฟีเจอร์จัดเฟรมภาพให้ผู้พูดโดยอัตโนมัติด้วย AI (Automatic Framing), แก้การสบสายตาของผู้ใช้ให้สบตาผู้พูดอัตโนมัติ (Eye Contact Correction) และเปลี่ยนหรือเบลอฉากหลังเวลาประชุมงานออนไลน์ (Advanced Background Effects) เพื่อความเป็นส่วนตัวและเปลี่ยนบรรยากาศให้ดียิ่งขึ้น สามารถเปิดใน Settings ของ Windows 11 ได้ทันทีและทำงานได้รวดเร็วด้วย NPU ใน AMD Ryzen AI
ข้อดีของพาเนล IPS จาก AU Optronics นอกจากมีความละเอียดสูง 4K (3840*2400) ยังมีค่า Refresh Rate สูง 120Hz มีองศาการแสดงผลกว้าง 178 องศาทั้งในแนวตั้งกับนอน จึงมองแล้วไม่เกิดเงาทาบบนหน้าจอแม้แต่นิดเดียว ถ้าดูใน Windows Advanced display จะไม่มีโหมดแสดงผลแบบ Dynamic ให้ตัวเครื่องเปลี่ยนอัตราการกระพริบหน้าจอ (Refresh Rate) ตามคอนเทนต์ก็ตาม แต่ก็แสดงผลได้ดีมากแถมเคลมขอบเขตสีเอาไว้กว้าง 100% DCI-P3 พอกับจอของโน๊ตบุ๊คระดับพรีเมี่ยมรุ่นอื่นในค่าย
พอปรับความสว่างสูงสุดแล้วทดสอบด้วย DisplayCal 3 ด้วย Calibrite Display Pro HL วัดความสว่างได้ 795.13 cd/m2 มีค่าขอบเขตสีจริงของหน้าจอ (Gamut coverage) 100% sRGB, 90.6% Adobe RGB, 100% DCI-P3 และขอบเขตสีองค์รวม (Gamut volume) ได้ 163.8% sRGB, 112.8% Adobe RGB, 116% DCI-P3 ค่าความเที่ยงตรงสี Delta-E 0.08~1.26 นับว่าตรงสมกับข้อมูลเคลมหน้าสเปคและค่า Delta-E ยังน้อยกว่า 2 จึงเที่ยงตรงสมจริงจนใช้ทำงานกราฟิคในระดับโปรดักชั่นเฮ้าส์ได้สบาย
จากการใช้งานจริง หน้าจอของ MSI Stealth A16 AI+ แม้จะปรับสว่าง 100% ก็ไม่ถึงกับสว่างจ้าและสู้แสงแดดตกกระทบหน้าจอได้สบาย ถ้าลดเหลือ 60% ก็ใช้งานในอาคารออฟฟิศได้สบายๆ แถมประหยัดแบตเตอรี่ได้ดี สีสันมีความสวยสดงดงามน่าประทับใจไม่ว่าจะใช้เพื่อความบันเทิงหรือทำงานก็ดี
ลำโพง 6 ดอก แยกเป็น Speaker 2 ดอก กับ Woofer 4 ดอก ปรับจูนด้วย DYNAUDIO กับ Nahimic มีซอฟท์แวร์ปรับแต่งโทนเสียงติดตั้งมาพร้อมใช้ให้เลือกโหมดเสียงตามการใช้งานหรือใช้โหมด SMART ให้ระบบปรับจูนโดยอัตโนมัติก็ดี ลำโพงสามารถปรับโทนเสียงได้รวดเร็วตามการใช้งานแถมมีกำลังและแยกทิศทางศัตรูได้ชัดเจนพอให้คาดเดาตำแหน่งของอีกฝ่ายได้อย่างรวดเร็ว
ถ้าใช้ฟังเพลงเนื้อเสียงจะเน้น Vocal นำ Treble เล็กน้อยแต่ก็ไม่กลบกันเกินไปและมี Bass คอยเสริมเวลาฟังเพลงได้อย่างเต็มอิ่มมีแรงปะทะกำลังดี เร่งเสียงดัง 100% แล้ววัดความดังได้ราว 88dB จึงดังพอเปิดฟังในห้องนอนขนาดราว 13 ตร.ม. ได้ชัดเจนไม่ต้องต่อลำโพงเพิ่ม ยกเว้นอยากได้โทนเสียงแบบใดเป็นพิเศษจะต่อเพิ่มก็ดี
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ด Full size ของ MSI Stealth A16 AI+ ได้ทาง SteelSeries เข้ามาช่วยปรับแต่งให้ใช้งานได้ดีขึ้นทั้งตอนทำงานและเล่นเกม ตัวปุ่มเป็น Rubberdome แต่ใส่สปริงมาค่อนข้างแข็งจึงมีสัมผัสคล้ายสวิตช์ Tactile มีไฟคีย์บอร์ดเปลี่ยนสีได้แบบ Per-Key RGB ในซอฟท์แวร์ SteelSeries GG ได้ทันที เวลาพิมพ์หรือกดเล่นเกมจะแข็งกว่าคีย์บอร์ดโน๊ตบุ๊คทั่วไป ดีดสู้นิ้วตอบสนองตอนเล่นเกมได้ดีและถ้าใครพิมพ์งานแล้วกดลงน้ำหนักนิ้วมากน่าจะถูกใจ
ปุ่มฟังก์ชั่นพื้นฐานจะมี Print screen, Insert, Delete ถัดจาก F12 เสมอกับปุ่มเครื่องหมายคณิตศาสตร์เหนือ Numpad มีปุ่ม Power อยู่มุมบนขวาของคีย์บอร์ด ยังไม่ได้แยกออกไปเป็นปุ่มเอกเทศของตัวเองแล้วถัดลงมาเป็นปุ่ม Num Lock ด้วย บางครั้งอาจมีโอกาสกดผิดกันได้บ้าง หากทางบริษัทแยกปุ่มนี้ออกไปโดยเฉพาะ ติดแยกเป็นปุ่มทรงสี่เหลี่ยมผสานเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือไว้ในตัวจะได้ลดโอกาสกดผิดพลาดได้
ฟังก์ชั่นตั้งค่าตัวเครื่องจาก MSI จะมีปุ่ม Hotkeys ตรงลูกศรสี่ทิศทางเอาไว้เล่นหรือหยุดเพลง, ดับหน้าจอ, เร่งรอบพัดลมและเปิดเป้าเล็งปืนค้างบนหน้าจอ (Static Crosshair) ติดมาให้ใช้เล่นเกม FPS ได้ง่าย มีปุ่ม Fn อยู่ติดกันเพื่อกดใช้ Hotkeys ตรงบรรทัด F1~F12 ได้ มีปุ่ม Backslash ( \ ) อยู่ข้างปุ่ม Copilot ฝั่งขวามือ เพราะฝั่งซ้ายทางบริษัทขยายปุ่ม Ctrl ให้กว้างเท่า Shift ให้กดเล่นเกมได้สะดวก ไม่พลาดโดนปุ่ม Windows เวลาเล่นเกม
ในบรรทัด F1~F12 ของคีย์บอร์ดจะมี Hotkeys ติดตั้งมาให้ใช้ ถ้ากด Fn+ESC แล้วจะสลับเลเยอร์ใช้งานได้ สังเกตว่า F12 จะไม่มีคีย์ลัดติดมาให้ หากทางบริษัทติดคำสั่ง Windows Lock หรือ Airplane mode มาให้ก็จะดี หรือไม่ก็ตั้งค่าใน SteelSeries GG แทนก็ได้ ซึ่งคำสั่งที่มีจะเป็นดังนี้
- F1~F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียง
- F4 – ปิดการทำงานทัชแพด
- F5 – ปิดไมโครโฟน
- F6 – ปิดการทำงาน Bluetooth
- F7 – ปุ่ม MSI Center เมื่อกดจะเปลี่ยนโหมดตัวเครื่อง
- F8 – ปุ่มปรับความสว่างไฟ RGB ของคีย์บอร์ด
- F9~F10 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F11 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
ใน SteelSeries GG นอกจากใช้ตั้งค่าไฟคีย์บอร์ด Per-Key RGB ได้ทั้งทีละปุ่ม, ลากคลุมเลือกเป็นโซนก็ได้ ยังมี Macro Editor ไว้ตั้งคำสั่งใช้งานบ่อยเข้าไปได้ เพียงกดแล้วจะมีหน้าบันทึกลำดับคำสั่งติดขึ้นมาให้ใช้ได้ตามต้องการ ช่วยให้ใช้ทำงานและเล่นเกมได้สะดวกขึ้น
ทัชแพดของ MSI Stealth A16 AI+ แม้จะมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่ารุ่นก่อนพอควรและรองรับ Touch gesture ในตัว สังเกตว่ามันถูกเลื่อนระยะให้ออกไปทางขวามากขึ้น เวลาวางมือซ้ายจรดนิ้วลงปุ่ม WASD แล้วสันมือจะไม่ถูกแป้นทัชแพดแม้แต่นิดเดียว แต่แป้นมือขวาจะทาบเต็มแป้นทัชแพดแทนเวลาพิมพ์จึงต้องยกสันมือขึ้นเล็กน้อยให้ไม่กดแป้นทัชแพดไปด้วย
Connector, Thin & Weight
พอร์ตและการเชื่อมต่อของ MSI Stealth A16 AI+ จะติดอยู่ด้านข้างเครื่องสองฝั่งเท่านั้นและเน้นให้ฝั่งซ้ายเป็นพอร์ตแบบต่อทิ้งไว้กับเครื่องเป็นเวลานานแล้วให้ฝั่งขวาเป็นพอร์ตใช้งานทั่วไปถอดได้ง่าย การเชื่อมต่อไร้สายได้ Wi-Fi PCIe Card เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดจึงเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็ว โดยการเชื่อมต่อทั้งหมดมีดังนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – Kensington Lock, LAN RJ45, HDMI 2.1, USB-A 3.2 Gen2
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – Audio combo, USB-C 4.0 Full Function, USB-A 3.2 Gen2, DC-in
- การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be รองรับ Bluetooth 5.4
นับว่าพอร์ตของ Stealth A16 AI+ เป็นเวอร์ชั่นใหม่รับส่งข้อมูลได้รวดเร็วทั้งมีและไร้สาย มีให้ใช้งานค่อนข้างครบถ้วน และแนะนำให้อัปเดตเฟิร์มแวร์และ BIOS จากทาง MSI ตั้งแต่เริ่มใช้งานในครั้งแรกเพื่อแก้บั๊กการต่อหน้าจอแยกให้รองรับ Matrix Display ได้เต็มที่
ความหนาของตัวเครื่องในหน้าสเปคเคลมไว้บาง 19.95 มม. ต่างจากจุดบางสุดด้านหน้าเครื่อง วัดจากไม้เวอร์เนียคาลิปเปอร์ได้ 20.9 มม. ส่วนหลังเครื่องหนา 21.5 มม. ถือว่าไล่เลี่ยกับการเคลมบนหน้าสเปคและบางกว่าเกมมิ่งและครีเอเตอร์โน๊ตบุ๊คหลายรุ่นในปัจจุบันแน่นอน จึงพกใส่กระเป๋าเป้ใส่โน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้วหรือ 17.3 นิ้วได้สบายและเติมอุปกรณ์เสริมไปได้อีกพอควรด้วย
น้ำหนัก 2.1 กก. ในหน้าสเปคของ MSI Stealth A16 AI+ กับ 2.15 กก. บนตาชั่งถือว่าไล่เลี่ยไม่ผิดกันนัก ถ้ารวมอะแดปเตอร์ 240W อีก 723 กรัม จะหนัก 2.87 กก. ถ้าพกอุปกรณ์ทั้งหมดใส่กระเป๋าเป้ไปก็หนักพอรับได้ แต่อยากแนะนำให้พกอะแดปเตอร์ GaN 100W เอาไว้ชาร์จผ่าน USB-C 4.0 Full Function แทนแล้ววางเอาอะแดปเตอร์ประจำเครื่องไว้กับโต๊ะประจำจะเบาพกสบายกว่ามาก
Inside & Upgrade
การเปิดฝาอัปเกรด MSI Stealth A16 AI+ ให้เริ่มขันน็อต Philips Head 7 ดอกออกก่อน แต่ฝาใต้เครื่องจะยังไม่หลุดในทันทีเพราะกรอบยังขัดกับหัวพอร์ตข้างเครื่องอยู่ ให้เอาปิ๊กกีตาร์หรือการ์ดแข็งบางสอดไว้ตรงช่องระบายความร้อนฝั่งซ้ายก่อนแล้วค่อยแกะตะเข็บเครื่องรอบตัวให้หมด วิธีสังเกตให้ดูว่ากรอบฝาต้องไม่ครอบหัวพอร์ตโดยเฉพาะ Audio combo จากนั้นให้ดันฝาหลังเลื่อนออกจากช่องต่อหูฟังจะเปิดได้ทันที เวลาใส่คืนให้ทำขั้นตอนทำย้อนกลับโดยเอาฝาหลังเกี่ยวครอบช่องต่อหูฟังแล้วกดกรอบรอบเครื่องให้เรียบร้อย
บนเมนบอร์ดจะมีชิปและตัวต้านทานต่างๆ ติดเอาไว้เยอะมาก จุดอัปเกรดได้จะมีเพียงอินเทอร์เฟส PCIe 4.0×4 คู่หันหัวเข้าหา Wi-Fi PCIe Card ตรงกลางเมนบอร์ดใกล้แบตเตอรี่ ในเครื่องมี SSD 2TB มาให้แต่ต้นอยู่แล้วและมีช่องเสริมให้ติดตั้งได้อีกตัว ด้านของ RAM เป็นแบบออนบอร์ดไม่สามารถเพิ่มความจุในภายหลังได้ ถ้าพิจารณาจากพื้นที่บนเมนบอร์ดและมิติตัวเครื่องก็เข้าใจได้เนื่องจากตัวเครื่องก็บางจะใส่ SO-DIMM interface เข้ามาก็หนาเกินแล้วยังมีชิปต่างๆ ติดมาอีกจึงเพิ่มอะไรเข้าไปไม่ได้มาก
Performance & Software
ซีพียูภายใน MSI Stealth A16 AI+ ติดตั้งเป็น AMD Ryzen AI 9 HX 370 รุ่นใหม่ล่าสุด รหัสพัฒนา AMD Strix Point ผลิตจากโรงงาน TSMC มีขนาดทรานซิสเตอร์ 4 นาโนเมตร FinFET มี 12 คอร์ 24 เธรด แยกเป็น Zen 5*4 คอร์ ความเร็ว 2.0~5.1GHz กับ Zen 5c*8 คอร์ ความเร็ว 2.0~3.3GHz มี AMD Ryzen AI NPU มีความเร็วประมวลผล 50 TOPS รวมทั้งชิปเซ็ตได้ 80 TOPS จึงรัน AI กับ LLMs ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
การแยกคอร์เธรดของ AMD จะแบ่งเป็นคอร์ชุดหลักกับรองซึ่งมีสถาปัตยกรรมแบบเดียวกัน คอร์ Zen 5 จะเป็นชุดหลักมีกำลังประมวลผลสูงสุด เสริมด้วย Zen 5c เป็นคอร์ชุดรอง มีขนาดคอร์เล็กและความเร็วสูงสุดน้อยกว่า มีหน้าที่รันโปรแกรมรองกินทรัพยากรน้อย เช่น เปิดทำงานไฟล์เอกสารหรือเปิดเบราเซอร์เป็นต้น ถ้าเปิดโปรแกรมใหญ่แล้วทุกคอร์จะทำงานร่วมกันทั้งหมดและรองรับ SMT (Simultaneous Multi-Threading) หรือ Hyperthreading ทุกคอร์ จึงทำงานเวลาใช้แบตเตอรี่ได้ต่อเนื่อง ต่อปลั๊กก็ดึงประสิทธิภาพออกมาได้มากกว่าเดิมและรองรับชุดคำสั่งทำงานต่างๆ ครบถ้วน
จีพียูของ MSI Stealth A16 AI+ ติดตั้ง NVIDIA GeForce RTX 4070 มีค่า TGP 105W มี CUDA 4,608 Unified เอาไว้ประมวลผลกราฟิคและวิทยาศาสตร์ได้ มี VRAM 8GB GDDR6 พ่วง Dynamic Boost ใช้ AI ช่วยคำนวณและจัดการกำลังไฟระหว่างซีพียูกับจีพียูได้อย่างเหมาะสม รองรับชุดคำสั่ง DirectX 12, OpenCL, OpenGL 4.6, CUDA, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing และ PhysX ครบถ้วน นอกจากเล่นเกมชั้นนำบนหน้าจอความละเอียด 4K ได้ดีแล้ว ก็ใช้ทำงานกราฟิค, คำนวณทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ปั้นโมเดล 3D ก็ทำได้เป็นอย่างดี
ชิ้นส่วนต่างๆ หลังเช็คผ่านทาง Device Manager จะเห็นว่า MSI Stealth A16 AI+ ติดตั้งชิปรักษาความปลอดภัย AMD PSP 11.0, TPM 2.0 และ Microsoft Pluton security processor เอาไว้ช่วยรักษาความปลอดภัยและประสานงานกับเซนเซอร์สแกนใบหน้ากับนิ้วมือด้วยระบบ Windows Hello ได้เป็นอย่างดี เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ด้วย Wi-Fi PCIe Card รุ่น Qualcomm FastConnect 7800 รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be รองรับ Bluetooth 5.4 ในตัว สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi คลื่น 2.4 / 5 / 6GHz ได้ มีความเร็วรับส่งข้อมูลสูงสุด 5.8Gbps
การทดสอบความเร็ว Download/Upload ด้วยเว็บไซต์ Ookla Speedtest โดยตั้งเครื่องเอาไว้ห่างจาก Router ราว 10 เมตรและมีประตูไม้อัดกั้นไว้ 1 ชั้น จะทำความเร็ว Download 835.87 Mbps และ Upload 829.96 Mbps มีค่า Ping 7ms เท่านั้น ดังนั้นจะเล่นเกมหรือดูหนังฟังเพลงก็ทำงานได้ดีมาก
M.2 NVMe SSD ความจุ 2TB รหัส WD PC SN5000S เป็น OEM SSD อินเทอร์เฟส PCIe 4.0×4 มีกระบวนการผลิต NAND Chip เป็นรุ่น BiCS6 QLC 3D NAND พ่วงด้วย nCache 4.0 with Hybrid SLC เอาไว้แคชข้อมูลเพิ่มอายุการใช้งานให้นานยิ่งขึ้น ตามสเปคจากหน้าเว็บไซต์ของ Western Digital สามารถเขียนอ่านไฟล์เข้าออกไดรฟ์ได้ 600 TBW จากการทดสอบด้วย CrystalDiskMark 8 เทียบกับหน้าสเปคจะเป็นดังนี้
ความเร็ว/สเปค | Read (MB/s) | Write (MB/s) |
หน้าสเปค | 6,000 | 5,600 |
Sequential | 6,384.89 | 5,897.16 |
RND4K | 653.73 | 462.0 |
ถ้าเทียบความเร็วระหว่างหน้าสเปคกับ CrystalDiskMark 8 ถือว่า WD PC SN5000S ทำงานได้ดีเท่ากับข้อมูลเคลมหน้าสเปค ทั้ง Sequential ซึ่งเป็นความเร็วเวลาเขียนอ่านข้อมูลขนาดใหญ่ก้อนเดียวเข้าออกไดรฟ์ก็ทำได้รวดเร็ว ด้าน RND4K เวลาโอนไฟล์ขนาดเล็กปริมาณมากพร้อมกันก็ทำได้รวดเร็วมาก จึงไม่ต้องเปลี่ยนไดรฟ์หลักก็ได้แต่หา SSD เสริม เช่น Kingston NV3, WD Black SN770 หรือ Samsung 980 PRO มาใส่เพิ่มไว้เก็บไฟล์งานก็เป็นวิธีที่ดี
การทดสอบเล่นเกมด้วยโปรแกรม 3DMark Time Spy ทั้งเวอร์ชั่นมาตรฐานจะจำลองการเล่นเกมบนหน้าจอความละเอียด 2K QHD ว่าสามารถเล่นได้ดีหรือไม่และเวอร์ชั่น Extreme เพื่อทดสอบว่าซีพียูกับจีพียูสามารถจัดการ Workloads ต่างๆ ได้ดีหรือไม่ ซึ่งผลคะแนนเป็นดังนี้
การทดสอบ/คะแนน | Time Spy | Time Spy Extreme |
คะแนนเฉลี่ย | 11,932 | 5,788 |
CPU score | 11,220 | 7,456 |
Graphics score | 12,068 | 5,569 |
กรณีของ 3DMark Steel Nomad จะจำลองการเล่นเกมบนหน้าจอ 4K ตั้งค่ากราฟิคสูงสุดว่าสามารถเล่นเกมได้ดีหรือไม่ ซึ่งผลคะแนนเฉลี่ยทำได้ 2,711 คะแนน หรือ 27.12 FPS ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า MSI Stealth A16 AI+ ก็สามารถเล่นเกมบนหน้าจอ 4K UHD ตั้งค่ากราฟิคไว้ระดับสูงสุดได้แน่นอน แต่ถ้าปรับลดหรือต่อหน้าจอแยก 2K QHD ก็จะได้ภาพลื่นไหลยิ่งขึ้น เฟรมเรทจัดว่าเล่นได้ลื่นไหลแน่นอน
ด้านการเล่นเกมบนหน้าจอความละเอียด 4K ตั้งค่ากราฟิคสูงสุดแล้วไม่ใช้ NVIDIA DLSS เพื่อเร่งเฟรมเรทเพิ่ม จะเห็นว่าแต่ละเกมได้เฟรมเรทเกิน 30 Fps ขึ้นไปหมด แถมภาพเวลาเล่นก็ยังต่อเนื่องไม่เกิดอาการเฟรมเรทตกกะทันหันให้เห็น ยกเว้นเพียง Black Myth: Wukong ยังได้เฉลี่ยราว 25 Fps อยู่บ้าง คาดว่าต้องให้ผู้พัฒนาเกมปรับแล้วอัปเดตแพทช์เพิ่มเติม แม้จะน้อยลงบ้างแต่ก็ยังเปิดเล่นได้แล้วภาพยังลื่นไหลต่อเนื่อง ถ้ามีจังหวะไหนมีเอฟเฟคแสงกับฝุ่นแล้วภาพอาจหน่วงลงเล็กน้อย
ถ้าเปิด NVIDIA DLSS แบบ Quality จะเห็นว่าเฟรมเรทของทุกเกมรวมถึง Black Myth: Wukong ก็เพิ่มขึ้นไปเกิน 30 Fps แล้ว ไม่เกิดอาการเฟรมเรทลดเวลาเจอเอฟเฟคภายในเกมเหมือนก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าเกมไหนเปิดใช้ Frame Generation เพิ่มยิ่งเล่นเกมได้ดีขึ้น จึงสรุปได้ว่า MSI Stealth A16 AI+ นั้นเล่นเกมบนหน้าจอ 4K ได้อย่างแน่นอน แต่แนะนำให้ต่อหน้าจอแยก 2K QHD สำหรับเล่นเกมจะเหมาะสม เล่นเกมแล้วได้ภาพสวยคมชัดและเฟรมเรทสูง เล่นได้สนุกถูกใจเกมเมอร์ยิ่งขึ้น
นอกจากเล่นเกมแล้ว MSI Stealth A16 AI+ ก็ใช้ทำงานต่างๆ ได้ดีมาก จากการทดสอบด้วย PCMark 10 ใช้จำลองการทำงานออฟฟิศ เปิดเว็บไซต์, ประชุมงานออนไลน์, ทำงานเอกสารไปจนตัดต่อภาพกับวิดีโอก็ทำงานได้ดีทำคะแนนเฉลี่ยได้สูงเกาะกลุ่มโน๊ตบุ๊คเรือธงในปัจจุบันได้สบาย ซึ่งผลคะแนนเฉลี่ยและแยกแต่ละหมวดจะเป็นดังนี้
ผลคะแนน / รูปแบบทดสอบ | คะแนน |
คะแนนเฉลี่ย | 7,957 |
Essential (เปิดเว็บไซต์, เปิดโปรแกรม, ประชุมออนไลน์) | 9,950 |
Productivity (ทำงานกับไฟล์ Word, Excel) | 10,277 |
Digital Content Creation (แต่งภาพ, เรนเดอร์โมเดล 3D, ตัดต่อวิดีโอ) | 13,369 |
การทำงานกับงานกราฟิค 3D หรือตัดต่อวิดีโอก็ทำได้เป็นอย่างดี รองรับการตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงถึง 4K และใส่เอฟเฟคเพิ่มเติมได้พอควรแถมรองรับเอนจิ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่าง Redshift ด้วย จากการทดสอบด้วย CINEBENCH ในเวอร์ชั่นต่างๆ จะได้คะแนนดังนี้
- 2024 – ใช้ทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูกับจีพียูอย่างหนักพร้อมกันโดยใช้เอนจิ้น Redshift สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนต์ ได้ GPU 10,563 pts, CPU (Multi-Core) 1,195 pts และ CPU (Single Core) 112 pts
- R23 – ใช้ทดสอบพลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก มีความละเอียดและแม่นยำสูง ได้คะแนน Multi Core 23,501 pts และ Single Core อีก 1,979 pts
- R20 – ใช้ทดสอบกำลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ได้คะแนน CPU 9,179 pts
Blender CPU Blender iGPU Blender dGPU
จากการทดสอบด้วย Blender Benchmark ว่าสามารถเรนเดอร์โมเดล 3D ได้ดีหรือไม่ โดยโปรแกรมจะสั่งคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นปั้นโมเดลสามมิติแล้วจับเวลา 1 นาที ว่าสามารถปั้นได้กี่ Sample ยิ่งทำได้มากยิ่งดี โดยแต่ละชิ้นส่วนในเครื่องจะทำได้ดังนี้
การทดสอบ/ชิ้นส่วน (ยิ่งมากยิ่งดี) | CPU | iGPU | dGPU |
monster | 136 | 174 | 1,706 |
junkshop | 95 | 63 | 822 |
classroom | 69 | 88 | 901 |
Geekbench 6 GeekbenchML ONNX GeekbenchAI ONNX GeekbenchAI OpenVINO
การทดสอบด้วยโปรแกรมตระกูล Geekbench จะทำการทดสอบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างๆ ตามแต่ละเวอร์ชั่น เริ่มจากซีพียู AMD Ryzen AI 9 HX 370 จะได้ผลลัพธ์ดังนี้
- Geekbench 6 – ใช้ทดสอบว่าซีพียูสามารถประสานงานกับหน่วยความจำในเครื่องได้ดีหรือไม่ โดยจำลอง workloads งานประเภทการบีบอัดข้อมูล (data compression), การประมวลผลภาพ (image processing), Machine Learning และ Compile code มาทดสอบ
- Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าซีพียูคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ถ้าเป็น Single-Core ทำได้ 2,771 คะแนน และ Multi-Core ได้ 14,836 คะแนน
- Geekbench ML ทดสอบด้วย ONNX CPU – ใช้ทดสอบว่าฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นสามารถใช้งานโปรแกรม Machine Learning ได้ดีหรือไม่ ในส่วนนี้ทำได้ 3,401 คะแนน
- Geekbench AI – คำนวณว่าซีพียูนั้นสามารถรันการทำงานกับโปรแกรม AI ต่างๆ ได้แม่นยำหรือรวดเร็วหรือไม่ แบ่งเป็น Single Precision เน้นความเที่ยงตรงของคำสั่ง, Half precision เน้นความเร็วมากขึ้นและลดความแม่นยำลง และ Quantized Score เน้นความเร็วแต่ไม่แม่นยำนัก
- ONNX ได้คะแนน Single Precision 2,405 คะแนน, Half precision 775 คะแนน และ Quantized Score 4,907 คะแนน
- OpenVINO ได้คะแนน Single Precision 4,690 คะแนน, Half precision 4,642 คะแนน และ Quantized Score 11,966 คะแนน
Geekbench 6 iGPU OpenCL Geekbench 6 iGPU Vulkan GeekbenchML iGPU ONNX DirectML Geekbench AI iGPU ONNX DirectML Geekbench 6 dGPU OpenCL Geekbench 6 dGPU Vulkan GeekbenchML dGPU ONNX DirectML Geekbench AI dGPU ONNX DirectML
ถัดมาเป็นจีพียูภายในชิปซีพียูอย่าง AMD Radeon 890M จะได้ผลลัพธ์ดังนี้
- Geekbench 6 ทดสอบการ์ดจอ AMD Radeon 890M (iGPU)
- OpenCL, Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ซึ่งจีพียูทดสอบด้วย OpenCL framework ทำได้ 44,462 คะแนน
- Vulkan, Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ซึ่งจีพียูทดสอบด้วย OpenCL framework ทำได้ 47,249 คะแนน
- Geekbench ML ทดสอบด้วย ONNX DirectML – ใช้ทดสอบว่าฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นสามารถใช้งานโปรแกรม Machine Learning ได้ดีหรือไม่ ในส่วนนี้ทำได้ 7,480 คะแนน
- Geekbench AI ทดสอบด้วย ONNX DirectML ว่าสามารถรัน AI ได้ดีหรือไม่ – Single Precision 9,091 คะแนน, Half precision 13,284 คะแนน และ Quantized Score 6,448 คะแนน
สุดท้ายเป็นจีพียูอย่าง NVIDIA GeForce RTX 4070 จะได้คะแนนดังนี้
- Geekbench 6 ทดสอบการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 4070 (dGPU)
- OpenCL, Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ซึ่งจีพียูทดสอบด้วย OpenCL framework ทำได้ 105,464 คะแนน
- Vulkan, Windows AVX2 (Advanced Vector Extension 2) ชุดคำสั่งเสริมจาก AVX พื้นฐาน ใช้ทดสอบว่าคำนวน vector integer ได้รวดเร็วหรือไม่ ซึ่งจีพียูทดสอบด้วย OpenCL framework ทำได้ 106,656 คะแนน
- Geekbench ML ทดสอบด้วย ONNX DirectML – ใช้ทดสอบว่าฮาร์ดแวร์ชิ้นนั้นสามารถใช้งานโปรแกรม Machine Learning ได้ดีหรือไม่ ในส่วนนี้ทำได้ 12,809 คะแนน
- Geekbench AI ทดสอบด้วย ONNX DirectML ว่าสามารถรัน AI ได้ดีหรือไม่ – Single Precision 17,855 คะแนน, Half precision 28,121 คะแนน และ Quantized Score 13,799 คะแนน
จากการทดสอบเล่นเกมและรัน Benchmark ทดสอบการทำงานกับ MSI Stealth A16 AI+ จนหมดแล้ว ก็นับว่ามันใช้งานได้รอบด้าน ตั้งแต่พกไปทำงานออฟฟิศก็ใช้งานหนักเบาได้ทุกแบบตั้งแต่เปิดทำงานผ่านเว็บแอพฯ จัดการเอกสารด้วย Microsoft Office Home & Student 2021 ได้ ตัดต่อวิดีโอและแต่งภาพก็ง่าย สั่งงาน AI กับ LLMs ก็ทำงานรวดเร็วทันใจเพราะชิปเซ็ตภายในเครื่องก็มีค่า TOPS สูง จบวันจากออฟฟิศก็หยิบกลับบ้านมาต่อหน้าจอแยกเล่นเกมบนหน้าจอความละเอียด 4K UHD ได้ภาพสวยงามลื่นไหล แม้ราคาจะสูงก็จริงแต่ลงทุนครั้งเดียวใช้งานได้ 4~5 ปีได้อย่างแน่นอน
ซอฟท์แวร์ประจำโน๊ตบุ๊ค MSI ทุกเครื่องรวมถึง MSI Stealth A16 AI+ อย่าง MSI Center นอกจากใช้มอนิเตอร์การทำงานและอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้ตัวเครื่องทำงานได้ลื่นไหลขึ้นแล้ว ก็มี User scenario ให้ตั้งเปลี่ยนโหมดตัวเครื่องได้ว่าจะเร่งประสิทธิภาพหรือกดให้ประหยัดพลังงานก็ได้ รวมไปถึงตั้งค่าทั่วไปใน General Settings มีโหมด True Color เอาไว้เปลี่ยนการแสดงผลหน้าจอได้ ส่วนลูกเล่นใน Mystic Light สามารถเปิด Ambient Mode เพิ่มอรรถรสเวลาใช้งานได้ด้วย นับว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก
แม้สเปคของ MSI Stealth A16 AI+ จะไม่เข้าเงื่อนไขใช้ MSI AI Artist ไม่ได้ แต่ทดแทนด้วย Amuse AI ซึ่งเป็น Image Generative AI สั่งวาดภาพแบบ Offline ได้โดยมี Stable Diffusion เป็นพื้นฐาน เพียงดาวน์โหลดมาติดตั้ง เลือกใช้โหมด MSI AI Engine และต่ออะแดปเตอร์ก็พิมพ์ภาพในจินตนาการของเราเข้าไปในช่อง Prompt ตั้งค่าอีกเล็กน้อยก็สั่ง Generate Images ออกมาใช้ประกอบงานของเรา เช่น ใช้ประกอบบทความ, ประกอบการอธิบายภายในคลิปวิดีโอ ฯลฯ ได้ทันที นับว่ามีประโยชน์มาก
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่แบบลิเธียมโพลีเมอร์ความจุ 99.9Whr ภายใน MSI Stealth A16 AI+ ผลิตจากโรงงาน Getec Technology (Kunshan) วัดเป็นความจุแบบ Typical Capacity ได้ 6,578mAh (99.9Whr) และ Rated Capacity ได้ 6,250mAh (95Whr) เป็นความจุสูงสุดเท่าที่จะพกขึ้นเครื่องบินเดินทางต่างประเทศได้โดยไม่ต้องติดต่อทำเรื่องขออนุญาตเพิ่มเติมและไม่ทำให้ตัวเครื่องหนาเกินไป
ระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่จากการทดสอบตามมาตรฐานของทางเว็บไซต์ โดยลดความสว่างหน้าจอเหลือ 50% และเปิดลำโพงดัง 10% ใช้เพียงจีพียูในชิปเซ็ต AMD Ryzen AI ใช้โหมด Super Battery ใน MSI Center ควบคู่กับ Battery saver ของ Windows 11 ดูคลิปใน YouTube ผ่านทาง Microsoft Edge นาน 30 นาที จะเห็นว่าระยะเวลาใช้งานวัดด้วย BatteryMon จะใช้ได้นานถึง 6 ชม. 39 นาที พอจะอยู่จนจบการประชุม Town Hall หรือเลคเชอร์ใหญ่ได้แน่นอน นับว่า AMD Ryzen AI 9 HX 370 สามารถจัดการพลังงานได้ดี คาดว่าถ้าปิดเสียงลำโพงไปอาจได้เกิน 7 ชม. ก็เป็นไปได้
จุดสำคัญของโน๊ตบุ๊ค AMD ทุกเครื่อง ถ้าดาวน์โหลด AMD Chipset Drivers มาติดตั้งเพิ่ม นอกจากช่วยให้ตัวเครื่องทำงานได้เสถียรขึ้นแล้วเสริมประสิทธิภาพในส่วนต่างๆ รวมถึงการจัดการพลังงานแบตเตอรี่ให้ดีขึ้น ดังนั้นถ้าประกอบคอมหรือซื้อโน๊ตบุ๊ค MSI เครื่องใหม่มาใช้ แนะนำให้ดาวน์โหลดซอฟท์แวร์นี้มาติดตั้งเพิ่มสักนิดจะช่วยดึงประสิทธิภาพของเครื่องออกมาได้มากขึ้น
อุณหภูมิภายนอกตัวเครื่องจากการวัดด้วยเลเซอร์วัดอุณหภูมิกับกล้องอินฟาเรด จะเห็นว่าจุดวางมือทั้งแป้นคีย์บอร์ดกับที่วางข้อมือจะมีอุณหภูมิอยู่ราว 32~38 องศาเซลเซียส อาจมีความร้อนแผ่จากแถบเหนือคีย์บอร์ดซึ่งสูงราว 48 องศาลงมาให้รู้สึกได้เวลารันโปรแกรมใช้งานเต็มกำลัง แต่ตอนใช้งานทั่วไปอย่างทำงานเอกสาร, ดูหนังฟังเพลงหรือเล่นเกมจะไม่มีปัญหานี้แน่นอน ภายในเครื่องเวลาวัดจาก CPUID HWMonitor จะได้ผลดังนี้
ชิ้นส่วน/อุณหภูมิ | ต่ำสุด (เซลเซียส) | สูงสุด (เซลเซียส) |
CPU | 37.1 | 94.9 |
iGPU | 33 | 67 |
dGPU | 38 | 83 |
SSD | 40 | 75 |
เสียงพัดลมของ MSI Stealth A16 AI+ ในสถานการณ์ปกติ เสียงพัดลมจะเบาไม่ต่างจากโน๊ตบุ๊คทั่วไป เสียงจะดังราว 46.3dB เท่านั้น ถ้าเปิดโปรแกรมทำงานหรือเล่นเกมแล้ววัดเสียงจากด้านหน้าจะดังราว 56.5dB ส่วนด้านหลังได้ 61.8dB เทียบความดังแล้วเท่ากับเสียงบทสนทนาของมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น เสียงพัดลมจะไม่แผดลั่นแต่ยังได้ยินอยู่ว่ากำลังทำงานเต็มกำลัง ดังนั้นจะพกไปทำงานในสถานที่สาธารณะก็ไม่รบกวนผู้อื่นนัก
User Experience
MSI Stealth A16 AI+ ภาคต่อของซีรี่ส์ MSI Stealth ซึ่งเกิดมาเป็นโน๊ตบุ๊คเวอร์ชั่น “เก่งรอบด้าน” จะใช้ทำงานเล็กใหญ่ก็ได้ เปิดเกมฟอร์มใหญ่เล่นในเวลาว่างก็ดีนั้นถูกอัปเกรดสเปคให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งรุ่นนี้ติดตั้งซีพียู AMD Ryzen AI 300 Series มาควบคู่กับจีพียู NVIDIA GeForce RTX 40 Series ใหม่ล่าสุดด้วย จึงใช้งานกับโปรแกรมใหญ่กินทรัพยากรเครื่องอย่าง AutoCAD, SOLIDWORKS, SketchUp ฯลฯ ได้สบายๆ รวมถึงเขียนโค้ดรันโปรแกรมก็ดีแถมใช้กับโปรแกรมสาย AI ต่างๆ ได้ด้วย เป็นเครื่องที่เหมาะกับยุค AI กับ LLMs ณ ตอนนี้มาก ยิ่งบริษัทไหนปรับตัวเข้ามาใช้หรือสร้างปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้อยู่แล้ว Stealth A16 AI+ นี้ก็จัดการได้ดี
ถ้าเป็นเรื่องงานก็ไม่ได้จะต้องนั่งประจำโต๊ะทำงานทั้งวัน หลายคนก็ต้องพกโน๊ตบุ๊คออกไปติดต่องานกับลูกค้าด้วย ซึ่ง MSI Stealth A16 AI+ ก็จัดว่าพกพาง่ายพอควร ทั้งขนาดเครื่องใหญ่ 16 นิ้ว แต่เบาแค่ 2.1 กก. แถมยังชาร์จแบบ Power Delivery ด้วยอะแดปเตอร์ GaN 100W ด้วยพอร์ต USB-C 4.0 ได้ ถ้านัดพบลูกค้าประชุมงานทั่วไปไม่ได้เปิดพรีวิวงาน 3D ก็แทบไม่พึ่งอะแดปเตอร์ของเครื่องนี้เลย จึงลดน้ำหนักของใช้ในกระเป๋าไปได้เกือบกิโลกรัมแล้วพกของใช้หรือเอกสารสำคัญเพิ่มได้อีกพอควร
เรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ผู้เขียนชื่นชอบการให้เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือกับใบหน้ามาทั้งคู่ให้เลือกใช้ได้ตามชอบ ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาแอบใช้คอมโดยพลการได้ เสริมด้วยชิป TPM 2.0, AMD PSP 11.0 กับ Microsoft Pluton ภายในตัว จึงป้องกันการเจาะระบบผ่านซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ได้ทั้งหมด ถ้าใครเก็บไฟล์งานสำคัญไว้ใน MSI Stealth A16 AI+ ก็ไม่ต้องกลัวจะโดนขโมยข้อมูลไปได้
เมื่อมีซีพียูกับจีพียูประสิทธิภาพสูงติดมาให้ หลายคนก็ใช้มันเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเล่นเกมบนหน้าจอความละเอียด 4K UHD ก็เล่นได้สบายๆ แต่แนะนำให้เล่นบนความละเอียด 2K QHD จะได้เฟรมเรทสูงให้ภาพลื่นไหลขึ้น เสริมด้วย NVIDIA DLSS ปรับค่าเป็น Quality จะเหมาะสมสุด และถ้าลองเล่นแล้วได้เฟรมเรทเกิน 60 Fps จะเปิด Frame Generation ให้ AI ช่วยคำนวณซ้อนเฟรมภาพเพิ่มยิ่งดี จะเปิด Ray Tracing ก็ไม่มีปัญหา
อย่างไรก็ตาม จุดสังเกตของ MSI Stealth A16 AI+ อย่างอัปเกรดเพิ่ม M.2 NVMe SSD ได้อีกช่องเดียว ไม่สามารถเพิ่ม RAM ได้ด้วยตัวเองถือว่าเข้าใจได้ เนื่องจากบนเมนบอร์ดก็มีชิ้นส่วนต่างๆ รวมถึงชิปเซ็ตติดมามากมายจนเบียดพื้นที่ใส่ช่อง RAM SO-DIMM เพิ่มไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องถอดอินเทอร์เฟส PCIe 4.0×4 ออกไปแทน ดังนั้นการเลือกติดตั้งเป็นแบบ LPDDR5X จึงสมเหตุผลกว่า เรื่องแป้น Numpad มีขนาดเล็กกว่าปกติก็อาศัยความคุ้นชินเวลาเริ่มใช้งานใหม่ๆ สักนิด ซึ่งกินเวลาไม่นานแน่นอน
Conclusion & Award
MSI Stealth A16 AI+ โน๊ตบุ๊คครอบจักรวาลทั้งใช้ทำงานครีเอเตอร์โปรเจคใหญ่ ตัดคลิปความละเอียด 4K UHD ได้ ปั้นโมเดลสะดวก สู้กับ AutoCAD, SOLIDWORKS หรือ SketchUp ได้สบายๆ แปลงร่างเป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในเวลาว่างหลังเลิกงานมอบความบันเทิงให้เจ้าของได้ ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งเพื่อผู้ใช้ที่ไม่อยากเสียเวลามาประกอบคอมแล้ว ลงทุน 94,990 บาท ซื้อเครื่องนี้มาใช้เป็น Desktop Replacement laptop แล้วใช้มันเป็นเครื่องประจำตัวใช้งานร้อยแปดไปได้ยาว 4~5 ปี ได้สบายๆ ถ้าใครพร้อมจะลงทุนเงินสักก้อนเพื่อโน๊ตบุ๊ค MSI ดีๆ สักเครื่อง นี่คือตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้ามแม้แต่น้อย
Award
Best for Creator
หน้าจอขนาด 16 นิ้ว ความละเอียด 4K ขอบเขตสีกว้าง 100% DCI-P3 ทั้งแสดงสีสันได้กว้างและแม่นยำ ได้ซีพียู AMD Ryzen AI 300 Series กับจีพียู NVIDIA GeForce RTX 40 Series และไดรเวอร์ NVIDIA Studio ทำให้ Stealth A16 AI+ สามารถทำงานระดับโปรดักชั่นเฮ้าส์ได้อย่างแน่นอน
Best Mobility
ปกติโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพสูงขนาด 16 นิ้ว จะมีน้ำหนักมากกว่า 2.1 กก. ของ MSI Stealth A16 AI+ อยู่แล้ว ดังนั้นเจ้าเครื่องนี้จึงพกพาง่ายแถมบางเพียง 19.95 มม. และชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ GaN 100W ได้อีก ช่วยลดน้ำหนักในกระเป๋า เพิ่มพื้นที่ใส่ของใช้และเอกสารอื่นๆ เพิ่มได้อีกเพียบ
Best Performance
สเปคของ MSI Stealth A16 AI+ จัดอยู่ในกลุ่มเรือธงได้สบายๆ รับจบได้ทุกงานจะรันโปรแกรมใหญ่กินกำลังเครื่องหรือเล่นเกมชั้นนำก็ดี เป็น Desktop Replacement laptop ซ่อนรูปในบอดี้สุดเรียบง่ายดูดี