ASUS Vivobook S 15 S5507QA ความหวังใหม่ของคนทำงานด้วยพลัง Snapdragon X Elite และฟีเจอร์ครบเครื่อง!
ถ้าพูดถึง Qualcomm ทุกคนย่อมคิดถึงชิปเซ็ตในสมาร์ทโฟนก่อน จนกระทั่งยักษ์แห่งวงการสมาร์ทโฟนจับมือกับเหล่ายักษ์แห่งวงการคอม ก็ได้เป็น ASUS Vivobook S 15 S5507QA โน๊ตบุ๊ค Copilot+ PC รุ่นแรกรับยุคแห่ง AI ที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยพลังของชิปเซ็ต Snapdragon X Elite มี NPU (Neural Processing Unit) กำลังประมวลผล 45 TOPS (45 Trillions Of Operations Per Second – 45 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที) ทำให้การประมวลผลคำสั่งร่วมกับส่วนเชื่อมต่อ AI ในแต่ละโปรแกรมทำได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมมาก ช่วยให้งานต่างๆ เสร็จลุล่วงในเวลาไม่นาน
ถึงมีชิปเซ็ตแต่ระบบปฏิบัติการไม่รองรับก็คงไม่ได้ Windows 11 แพทช์ 24H2 จึงเพิ่ม Emulator อย่าง “Prism” เข้ามาให้ชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM สามารถรันโปรแกรมตระกูล x86 ได้ เทียบแล้วก็เหมือน macOS มี Rosetta 2 ติดตั้งมาในตัว พอทุกอย่างพร้อมทาง Microsoft ก็สร้างมาตรฐาน Copilot+ PC ใหม่เพิ่มเข้ามาเพื่อกำหนดให้พีซีที่สามารถรัน AI ได้อย่างลื่นไหลต้องผ่านเงื่อนไขดังนี้
- ติดตั้งชิปเซ็ตมีพลังประมวลผลคำสั่ง 40 TOPS ขึ้นไป รองรับการแปลภาษาแบบ real-time และสร้างภาพด้วย AI (image generation) ได้
- ติดตั้งชิปเซ็ตที่รองรับ AI เช่น Snapdragon X Elite, Snapdragon X Plus รวมถึงรุ่นใหม่ในอนาคต
- มีหน่วยความจำ RAM 16GB DDR5/LPDDR5 และสตอเรจ SSD/UFS ความจุ 256GB ขึ้นไป
ซึ่ง ASUS Vivobook S 15 S5507QA นอกจากผ่านเงื่อนไขข้างต้นแล้ว ยังเสริมสเปคและฟีเจอร์เข้ามาให้โน๊ตบุ๊ค Copilot+ PC รุ่นแรกของทางแบรนด์หลายอย่าง ทั้งให้แบตเตอรี่จุ 70Wh ให้ทำงานได้นานถึง 18 ชั่วโมง แต่มิติเครื่องยังบาง 1.47 ซม. เบาเพียง 1.42 กก. ผิดกับหน้าจอที่ใหญ่ถึง 15.6 นิ้ว ความละเอียด 3K พาเนล OLED ค่า Refresh Rate 120Hz แสดงผลขอบเขตสีได้กว้าง 100% DCI-P3 ได้รับการรับรอง VESA DisplayHDR True Black 600 การันตีว่าภาพบนหน้าจอจะสวยสมจริงเหมาะกับการทำงานทุกรูปแบบ ตั้งแต่งานเอกสารทั่วไปจนกระทั่งงานตัดต่อวิดีโอ, แต่งภาพและใดๆ ก็ได้ เสริมเซนเซอร์สแกนใบหน้า IR Camera เข้ามารักษาความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวของเจ้าของให้ดียิ่งขึ้น
องค์ประกอบที่ทำให้ ASUS Vivobook S 15 S5507QA ยิ่งน่าใช้มีหลายสิ่ง ไม่ว่าจะบานหน้าจอกางได้แบนราบ 180 องศาไปกับพื้นโต๊ะ ประกบชุดระบายความร้อน ASUS IceCool มาช่วยระบายความร้อนได้เป็นอย่างดีแถมเสียงก็เบาไม่รบกวนโสตประสาท ได้พอร์ต USB 4.0 Gen 3 Type-C มาอีกคู่ร่วมกับพอร์ตมาตรฐาน รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be ด้วยชิป Qualcomm FastConnect 7800 ได้ harman/kardon มาช่วยปรับจูนเสียงลำโพงให้รองรับ Dolby Atmos พร้อมซอฟท์แวร์ติดตั้งมาพร้อมใช้
ลูกเล่นใหม่ของ Vivobook S 15 S5507QA นอกจากคีย์บอร์ด RGB ปรับเอฟเฟคแสงและสีได้ ไฮไลต์หลักต้องยกให้แป้นทัชแพด ASUS ErgoSense ซึ่งขนาดใหญ่ขึ้นพร้อมติดฟังก์ชั่นสไลด์ริมแป้นฝั่งซ้าย, ขวาและแถบบนเพื่อเพิ่มลดแสงเสียงได้รวดเร็ว แถมเลื่อนตำแหน่งคลิปได้ให้ใช้งานได้สะดวกขึ้นอีก
NBS Verdicts
แม้หลายคนจะมองว่า ASUS Vivobook S 15 S5507QA ก็ไม่ต่างจากโน๊ตบุ๊คทำงานทั่วไป อย่างมากก็แค่เปลี่ยนชิปเซ็ตเป็น Qualcomm Snapdragon X Elite ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานนี้ แต่ไม่ใช่กับคนนำ AI มาใช้งานในชีวิตประจำวันแน่นอน เพราะตัวชิปเซ็ตมี NPU ประสิทธิภาพสูงเข้ามาช่วยให้ประมวลผลคำสั่งได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะตอนใช้ Microsoft Copilot หรือ LLMs จะรับรู้ได้ว่าเหล่าปัญญาประดิษฐ์ตอบสนองคำสั่งของเราได้เร็วทันใจกว่าเดิมอย่างชัดเจน
ส่วนคนตามข้อมูลข่าวสารในวงการไอทีมาอย่างยาวนาน อาจสงสัยหรือกังวลว่าเอาชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM มาใช้แล้วจะรันโปรแกรม x86 ได้หรือ? ซึ่งคำตอบนั้นอยู่ใน Windows 11 แพทช์ 24H2 โดยใช้ Prism Emulator ตัวแปลงคำสั่งของโปรแกรมยุคเก่าให้ใช้กับชิปเซ็ตแบบใหม่ได้ และบริษัทผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ชั้นนำก็พากันปรับแต่งโปรแกรมให้รองรับชิปเซ็ต ARM ได้ ไม่ว่าจะ Adobe Suite, CapCut, Microsoft Office Suite, Blackmagic ฯลฯ และมั่นใจว่าจะมีอีกหลายโปรแกรมตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน แถมทาง Qualcomm ก็ประกาศว่ากำลังพอร์ตเกมต่างๆ ให้เปิดเล่นใน Snapdragon X Elite ได้ในอนาคตอย่างแน่นอน
ในแง่การใช้งานจริง ASUS Vivobook S 15 S5507QA สามารถรันโปรแกรมพื้นฐานในชีวิตประจำวันได้ดีไม่มีปัญหา เป็นคอมเครื่องประจำก็เปิดใช้โปรแกรมทั่วไปในชีวิตประจำวันได้สบายๆ ทำงานเอกสารไปจนงานกราฟิคตัดต่อภาพและวิดีโอก็ได้ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วแถมมีพอร์ตพื้นฐานกับ USB 4.0 Gen 3 Type-C ให้ใช้ หรือพกใส่กระเป๋าไปพบลูกค้าก็เบาสบายเพียง 1.42 กก. และชิปเซ็ต ARM ก็ใช้พลังงานน้อยจนไม่ต้องพกพาวเวอร์แบงค์เผื่อไว้เลยก็ได้ จะต่อปลั๊กก็แค่ตอนรันโปรแกรมตระกูล Adobe หรือแบตกำลังจะหมดก็พอ เป็นการเอาจุดแข็งของตัวชิปเซ็ตแบบสมาร์ทโฟนมาปรับใช้กับเดสก์ท็อปได้อย่างเหมาะสมมาก
ข้อสังเกตของ Vivobook S 15 S5507QA อย่างแรกคือ ASUS ซีลตัวเครื่องมาแน่นหนาแทบจะเปิดฝาอัปเกรดไม่ได้ ราวจะบอกผู้ใช้อ้อมๆ ว่าแค่สเปคตั้งต้นนี้ก็ดีพอแล้วไม่ต้องทำอะไรกับมันก็ได้ ถ้าต้องซ่อมเปลี่ยนอะไรไว้เป็นภาระของช่างผู้ชำนาญการดูแลให้ดีกว่า และ Prism Emulator ของ Windows 11 แม้จะแปลงให้โปรแกรม x86 ให้ทำงานบนชิปเซ็ต ARM แล้วใช้งานได้ก็จริง แต่ก็รองรับเฉพาะโปรแกรมประเภท x86 ซึ่งใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวันเท่านั้น ซึ่งไม่กระทบต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันใดๆ แต่ x64 ยังต้องรอทาง Microsoft อัปเดตเพิ่มในอนาคต ซึ่งบางโปรแกรมที่ยังไม่รองรับก็เปิดใช้งานไม่ได้หรือ Crash ระหว่างใช้งานได้ อาจต้องให้เวลาทั้ง Qualcomm และ Microsoft จัดการเพิ่มเติมสักนิด มั่นใจว่าชิปเซ็ตจาก Qualcomm จะเข้ามาเป็นอีกตัวเลือกเมื่อคิดจะซื้อโน๊ตบุ๊คได้แน่นอน
ข้อดีของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA
- ชิป Snapdragon X Elite ใช้กับโปรแกรมทั่วไปในชีวิตประจำวันได้โดยไม่มีปัญหา
- ชิปเซ็ตจัดการพลังงานได้เยี่ยมยอด ใช้งานได้นานร่วม 15 ชั่วโมง
- NPU มีพลังประมวลผล 45 TOPS ช่วยให้ AI ประมวลผลคำสั่งได้รวดเร็ว
- อุณหภูมิในเครื่องต่ำและเสียงพัดลมของชุด IceCool เบามาก ไม่รบกวนระหว่างใช้งาน
- ได้หน่วยความจำ RAM 32GB LPDDR5x และ M.2 NVMe SSD 1TB ตั้งต้นจากโรงงาน
- ตัวเครื่องเบาเพียง 1.42 กก. พกพาได้สะดวกไม่หนักเกินไป
- ติดตั้งพอร์ต USB 4.0 Gen 3 Type-C มาให้ 2 ช่อง ต่อหน้าจอแยกและชาร์จไฟได้ในตัว
- แป้นทัชแพด ASUS ErgoSense สไลด์ขอบข้างเพิ่มลดเสียง, ความสว่างและเลื่อนคลิปได้
- คีย์บอร์ดเป็น Full-size เปิดโปรแกรมเปลี่ยนแสงไฟ RGB คีย์บอร์ดได้
- เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วและเสถียรด้วย Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be
- ชิป FastConnect 7800 รองรับ Codec เสียง aptX Lossless, Snapdragon Sound ในตัว
- หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด 3K เป็นพาเนล OLED ขอบเขตสี 100% DCI-P3
- หน้าจอได้รับรอง VESA DisplayHDR True Black 600 การันตีความดำสนิทสมจริง
- กล้องหน้าใช้สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่อง ถ้าไม่ได้มองหน้าจอจะหรี่แสงและล็อคอัตโนมัติ
- ติดตั้ง Microsoft Office Home & Student 2021 มาให้พร้อมใช้งาน
ข้อสังเกตของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA
- ตัวเครื่องซีลมาอย่างแน่นหนา ไม่แนะนำให้เปิดฝาอัปเกรดด้วยตัวเอง
- ยังใช้งานกับโปรแกรม x64 บางตัวยังไม่ได้ ต้องรอผู้พัฒนาพอร์ตมาให้ใช้งาน
รีวิว ASUS Vivobook S 15 S5507QA
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector, Thin & Weight
- Performance & Software
- Battery, Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
ASUS Vivobook S 15 S5507QA โน๊ตบุ๊ค Copilot+ PC พร้อมชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon X Elite รุ่นล่าสุดจากผู้ผลิตชิปเซ็ตสมาร์ทโฟน พอผสานกับ Windows 11 24H2 พร้อม Prism Emulator ให้รันโปรแกรม x86 บนชิปสถาปัตยกรรม ARM ได้ ก็ทำงานได้ดีไม่แพ้กันกับโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นในท้องตลาด และทำงานได้ดียิ่งขึ้นเมื่อรันโปรแกรมหรือใช้ AI ซึ่งสเปคจะมีรายละเอียดดังนี้
CPU | Qualcomm Snapdragon X Elite X1E-78-100 แบบ 12 คอร์ ความเร็ว 3.4GHz |
GPU | Qualcomm Adreno 4.6 TFLOPS รองรับ DirectX 12 |
NPU | Qualcomm Hexagon NPU 45 TOPS |
SSD | M.2 NVMe SSD ความจุ 1TB |
RAM | 32GB LPDDR5X บัส 7467 MHz |
Software | Windows 11 Home Microsoft Office Home & Student 2021 |
Display | 15.6 นิ้ว ความละเอียด 3K (2880*1620) พาเนล OLED Refresh Rate 120Hz 100% DCI-P3 VESA DisplayHDR True Black 600 |
Connectivity | USB-A 3.2*2 USB 4.0 Gen 3 Type-C*2 HDMI 2.1*1 MicroSD Card reader*1 Audio combo*1 Wi-Fi 7 Bluetooth 5.4 |
Weight (กก.) | 1.42 |
Price | 46,990 บาท (BaNANA) |
Hardware & Design
จุดยืนของ Vivobook S/X Series จะเน้นดีไซน์สวยงามและประสิทธิภาพสูงใช้ทำงานได้ดี ซึ่ง ASUS Vivobook S 15 S5507QA ก็เช่นกัน ตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียมสีขาวตัดกับกรอบหน้าจอสีดำ ติดสติกเกอร์บอกชิปเซ็ต Snapdragon X Elite ไว้ฝั่งซ้ายร่วมกับประกัน Perfect Warranty และ Microsoft Office Home & Student 2021 ตรงข้ามกันจะเป็นสติกเกอร์ของ ASUS บอกจุดเด่นของโน๊ตบุ๊คนี้มีจุดเด่นด้านไหนบ้าง สังเกตว่ามีโลโก้ Copilot+ PC ใส่เพิ่มเข้ามาบอกผู้ใช้ว่า Vivobook S 15 นี้ จะทำงานกับ AI ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
กลางเครื่องถัดลงมาจากทัชแพดจะเห็นว่าทาง ASUS ตัดขอบเครื่องเฉียงขึ้นเล็กน้อยให้เอานิ้วเกี่ยวเปิดหน้าจอได้สะดวก เพียงนิ้วเดียวก็เปิดหน้าจอใช้งานได้ทันทีและขาบานพับหน้าจอก็แข็งแรงไม่กระพือสั่นตอนเปิดใช้งานแม้แต่น้อย
ขาบานพับติดตั้งมาตั้งฉากกับบานหน้าจอ ล็อคแกนบานพับเอาไว้ด้านในทำให้กางหน้าจอแล้วไม่ติดฐานตัวเครื่อง จึงดันหน้าจอให้ราบ 180 องศาไปกับพื้นโต๊ะได้ทันที นอกจากแชร์หน้าจอให้ผู้อื่นดูได้ง่าย ยังปรับองศาหน้าจอให้เจ้าของดูได้สะดวกไม่ว่าจะวางบนพื้นโต๊ะหรือขึ้นแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ดี
ฝาหลังของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA จะเป็นเพียงฝาหลังสีขาวไม่มีลวดลายใดๆ ติดมาให้ ยกเว้นป้ายชื่อ ASUS Vivobook ตรงกลางฝั่งขวาของบานหลังหน้าจอให้ดูเรียบหรูมีระดับยิ่งขึ้น ถัดลงมาสังเกตว่าตัวบานฝาหลังไม่ได้เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ตัดขอบล่างเว้าขึ้นเว้นให้ช่องระบายความร้อน ASUS IceCool เวลาพัดลมทำงานแล้วจะเป่าตรงออกไปไม่เข้าขอบล่างหน้าจอ
ด้านใต้เครื่องสังเกตว่าช่องนำลมเข้าจะมีเพียง 2 แถว กินพื้นที่ฝาใต้เครื่องไปเล็กน้อย แสดงว่าตัวชิปเซ็ตไม่ได้สร้างความร้อนมากนักจึงไม่ต้องเจาะช่องให้กว้างเท่ากับซีพียู x86 ก็ได้ ติดแถบยางกันลื่นเอาไว้ 3 เส้น เป็นเส้นยาวขอบบนและคู่เล็กด้านล่างถัดลงมาจากลำโพงคู่กันเครื่องลื่นหรือเกิดรอยขนแมวตอนวางใช้งานกับพื้นโต๊ะ ฝาหลังขันน็อตหัวแฉกดาว (Trox) ไว้ทั้งหมด 10 ดอกและติดสติกเกอร์ปิดหัวน็อตไว้
Screen & Speaker
หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด 3K (2880*1620) พาเนล OLED ค่า Refresh Rate 120Hz เคลมขอบเขตสีกว้างจากโรงงาน 100% DCI-P3 ได้รับการรับรอง VESA DisplayHDR True Black 600 ว่าสีดำบนหน้าจอนี้จะดำสนิทสมจริง และในโปรแกรม MyASUS ยังใส่ฟีเจอร์ Pixel Refresh มาลดโอกาสเกิดหน้าจอเบิร์น (Burn-in) มาให้ในตัว
กรอบหน้าจอดีไซน์ให้กรอบข้างบางเพิ่มพื้นที่การแสดงผลด้านข้างให้มากขึ้น มีกล้องเว็บแคมพร้อมระบบอินฟราเรด (IR Camera) ติดมาส่วนขอบบนหน้าจอไว้ยืนยันตัวปลดล็อคเครื่องใช้งานได้สะดวก ตัวกล้องมีฟังก์ชั่นจับการมองหน้าจอแล้วหรี่ความสว่างและล็อคจออัตโนมัติถ้าไม่ได้นั่งอยู่หน้าเครื่องหรือหันไปทางอื่น กล้องเว็บแคมมีบานชัตเตอร์ให้สไลด์ปิดได้เวลาไม่ใช้งานส่วนขอบล่างตรงข้ามกันจะสกรีนโลโก้ ASUS Vivobook ไว้ด้วย
ASUS เคลมว่าพาเนล OLED ของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA แสดงขอบเขตสีหน้าจอได้กว้าง 100% DCI-P3 แสดงผลภาพได้กว้าง 178 องศา พอทดสอบด้วย DisplayCal 3 กับเครื่อง Calibrite Display Pro HL ของ Calibrite ปรับหน้าจอสว่าง 100% วัดความสว่างได้ 392.02 cd/m2 ได้ขอบเขตสีจริงของหน้าจอ (Gamut coverage) ได้ 100% sRGB, 87.4% Adobe RGB, 99.3% DCI-P3 และขอบเขตสีโดยรวม (Gamut volume) ได้ 151.7% sRGB, 104.5% Adobe RGB, 107.4% DCI-P3 ค่าความเที่ยงตรงสีหรือ Delta-E เฉลี่ย 0.06~2.06 นับว่าพาเนล OLED รุ่น ATNA56AC03-0 นอกจากได้ขอบเขตสีกว้างตรงตามเคลม จึงใช้ทำงานด้านสีสันไม่ว่าจะเกลี่ยสีแต่งภาพใดๆ ก็ทำได้เยี่ยม
ความสว่างหน้าจอร่วม 400 cd/m2 นอกจากสว่างพอจะสู้แสงแดดได้ทุกสถานการณ์ จะใช้ในอาคารแล้วแสงลอดหน้าต่างมากระทบหน้าจอหรือจะนำติดตัวไปทำงานนอกสถานที่ก็ปรับความสว่างได้ตามสะดวก ถ้าใช้งานในอาคารแนะนำให้ปรับความสว่างไว้ราว 50~60% ก็มองเห็นชัดเจนแล้ว
ลำโพงคู่ใต้เครื่องปรับจูนโดย harman/kardon ทำให้เนื้อเสียงเวลาเปิดดูหนังหรือฟังเพลงได้อรรถรสดี เนื้อเสียงโทนใสฟังสบายหู เสียงเครื่องดนตรีกับนักร้องได้ยินชัดเจนไม่กลืนกันเกินไป เสียงเบสถึงจะไม่หนักแน่นแรงปะทะพอมีให้ฟังเพลงได้หลากหลายแนว ไม่ว่าจะป็อป, ร็อค, แจ๊ส ก็ฟังได้ดี แต่ถ้าเป็นเพลง EDM เน้นเบสหนักๆ แนะนำให้ต่อลำโพงเพิ่มจะดีกว่า
เสียงลำโพงเมื่อปรับระดับเสียงไว้ 100% แล้ววัดด้วยเครื่องวัดเสียง จะดังราว 78~80dB พอจะได้ยินชัดในห้องขนาด 13 ตร.ม. แล้ว ถ้าต้องการปรับโทนเสียงสามารถเปิดโปรแกรม Dolby Access ปรับรูปแบบได้ตามชอบ
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA เป็นขนาด Full size มีไฟ RGB 1-Zone ปรับความสว่างได้ 3 ระดับ เปลี่ยนสีในซอฟท์แวร์ของ ASUS ได้ตามสะดวก ปุ่มจะมีระยะกดสั้นน่าจะถูกใจคนชอบพิมพ์สัมผัส เพียงออกแรงกดปุ่มทรง Dished key caps ลงไปเล็กน้อยก็ตอบสนองแล้ว แถมสัมผัสเวลาพิมพ์ก็แน่นไม่กลวงหลวมเลย ปุ่มแป้น Numpad จะมีขนาดเล็กกว่าปุ่มชุดหลักเล็กน้อย ในช่วงแรกต้องปรับตัวเล็กน้อยถึงจะใช้ได้ถนัดตามปกติ
ฟังก์ชั่นบนคีย์บอร์ดยังมีให้ใช้ครบถ้วนและรวบฟังก์ชั่นเอาไว้กับปุ่มต่างๆ เช่น Page Up/Down, Home, End จะอยู่กับปุ่มลูกศร เหนือ Numpad จะรวมปุ่มเครื่องหมายคณิตศาสตร์ไว้เป็นกลุ่มด้วยกัน ส่วน Fn ถ้ากดรวมกับ Esc จะสลับเลเยอร์ระหว่าง Function Hotkey และปุ่ม F1~F12 ได้ สังเกตว่าปุ่ม Menu ข้าง Alt ขวากลายเป็น Copilot แล้ว แต่ถ้าใครจะใช้งานก็กด Fn+Ctrl ซ้ายแทนได้
จุดสังเกตต้องระวังของคีย์บอร์ดนี้ คือ ปุ่ม Power รวมอยู่กับปุ่มเหนือแป้น Numpad ซึ่งควรแยกเป็นปุ่มเฉพาะออกไป ป้องกันผู้ใช้พลาดไปกดโดนแล้วดับหรือล็อคเครื่องโดยไม่ตั้งใจ แนะนำว่าย้ายไปอยู่ด้านข้างรวมกับพอร์ตเชื่อมต่อหรือริมเครื่องเหมือนเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คในเครือก็ดี
คีย์ลัดกดเปลี่ยนโหมดของ ASUS เป็นปุ่ม Fn+F กดแล้วเปลี่ยนได้ 4 โหมด มี Whisper mode เวลาต้องการประหยัดไฟไม่ต้องการเสียงพัดลมดังมาก, Standard mode ให้ทำงานได้ตามมาตรฐานการตั้งค่าจากโรงงาน, Performance mode ไว้เร่งประสิทธิภาพเครื่องให้สูงขึ้นและ Full-speed mode รีดกำลังเครื่องขึ้นไปสูงสุด
บรรทัด F1~F12 จะรวมคำสั่ง Function Hotkey ต่างๆ ไว้ ถ้ากด Fn+Esc จะสลับกลับไปปุ่ม Function ตามปกติได้ โดยแต่ละปุ่มจะมีคำสั่งดังนี้
- F1~F3 – ปิด, ลด/เพิ่มเสียงลำโพง
- F4 – ปรับความสว่างคีย์บอร์ด เลือกได้ 3 ระดับ ทำงานแบบ Toggle
- F5~F6 – ลด/เพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F7 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
- F8 – ปุ่มเรียกคำสั่ง Emoji มาใช้งานเหมือนกด Win+; (เครื่องหมายอัฒภาค)
- F9 – ปิดไมโครโฟน
- F10 – ใช้ AI Noise cancellation ของไมโครโฟน
- F12 – เรียกโปรแกรม MyASUS
สังเกตว่าปุ่ม F11 จะไม่มี Hotkeys ติดมาให้อย่างน่าเสียดาย หากใส่คำสั่งอิงกับฟังก์ชั่นของตัวเครื่องอย่างปรับค่า Refresh Rate, พลิกหน้าจอกลับด้านเวลากางหน้าจอให้เพื่อนร่วมงานดู หรือล็อคแป้นทัชแพด ฯลฯ ก็จะดีกว่านี้และคาดหวังว่าทางบริษัทจะติดเพิ่มมาให้ในรุ่นย่อยหรือรุ่นถัดไปก็จะดี
แป้นทัชแพด ASUS ErgoSense นอกจากมีขนาดใหญ่พาดตั้งแต่กึ่งกลางปุ่ม Alt ซ้ายจนถึงปุ่ม Copilot ให้ลากเคอร์เซอร์เมาส์ได้ไกล ใช้ Gesture control ของ Windows 11 ได้สะดวกแล้ว ยังมีฟังก์ชั่นรูดนิ้วตามขอบแป้นได้ด้วย โดยฝั่งซ้ายจะเพิ่มลดเสียง, ฝั่งขวาเพิ่มลดความสว่างหน้าจอ ขอบบนถ้ารูดนิ้วไปฝั่งซ้ายจะถอยคลิปที่เล่นอยู่กลับไป 5 วินาที ไปฝั่งขวาก็จะเร่งไปข้างหน้าแทน มีคำสั่งตวัดนิ้วจากมุมบนขวาเฉียงเข้ามากลางแป้นจะเปิดโปรแกรม ScreenXpert Control Center ขึ้นมา
จากการเพิ่มฟังก์ชั่นให้ทัชแพดควบคุมแสงและเสียงรวมถึงเลื่อนคลิปได้ ก็ไม่จำเป็นต้อง Mapping ปุ่มแบบเดิมอีกต่อไป อาจเปลี่ยนฟังก์ชั่นทับซ้อนกับ ErgoSense ให้เป็นคำสั่งอื่นเช่น Multimedia Keys แทนหรือใส่เป็นฟังก์ชั่นเอื้อการทำงานมากขึ้นก็น่าสนใจเช่นกัน
Connector, Thin & Weight
พอร์ตและการเชื่อมต่อทั้งหมดของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA นอกจากทันสมัยแล้ว ยังไม่ตัดพอร์ตอื่นที่ยังใช้งานในชีวิตประจำวันออกไปถือเป็นเรื่องดี ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องฝากทุกสิ่งเอาไว้กับ USB 4.0 Gen 3 Type-C และ USB Hub เพียงอย่างเดียว ซึ่งการเชื่อมต่อทั้งหมดจะมีดังนี้
- พอร์ตฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – HDMI 2.1, USB 4.0 Gen 3 Type-C*2, MicroSD Card reader, Audio combo
- พอร์ตฝั่งขวาจากซ้ายมือ – USB-A 3.2 Gen 1*2
- การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be รองรับ Bluetooth 5.4
นอกจากพอร์ตพื้นฐานและรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be พอร์ตเด่นของ Vivobook S 15 ต้องยกให้ USB 4.0 Gen 3 Type-C ทั้ง 2 ช่อง เพราะรับส่งข้อมูลได้เร็วมากถึง 40 Gb/s ทำให้ต่อหน้าจอความละเอียดสูงได้หลายจอพร้อมกันแบบ DisplayPort 1.4 อ้างอิงจากตัวชิปเซ็ต Snapdragon X Elite จะรองรับหน้าจอความละเอียดสูงถึง 4K @ 60Hz สูงสุด 3 บาน แสดงผลสีได้ระดับ HDR10 และรองรับการชาร์จไฟแบบ Power Delivery กำลังไฟ 240 วัตต์ในตัว นอกจากนี้ยังต่อพ่วงกับอุปกรณ์เสริมได้อีก ไม่ว่าจะอุปกรณ์ AR/VR, Docking stations ฯลฯ ได้ ทำให้ใช้งานได้สารพัดรูปแบบยิ่งขึ้น
น้ำหนักของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA ไม่ว่าจะบนหน้าสเปคหรือบนตาชั่งก็ได้ 1.42 กก. เท่ากันไม่มีผิดเพี้ยน ถ้ารวมกับอะแดปเตอร์ประจำตัวกำลังชาร์จ 90 วัตต์เข้าไปอีก 388 กรัม จะมีน้ำหนักเพิ่มเป็น 1.81 กก. เท่ากับน้ำหนักเฉพาะตัวเครื่องของโน๊ตบุ๊คขนาดเดียวกันในท้องตลาด จึงพกใส่กระเป๋าเป้หรือ Sling bag สะพายข้างก็ได้ไม่ปวดไหล่
ถ้าเป็นโน๊ตบุ๊คทั่วไปอาจจะแนะนำให้พกอะแดปเตอร์ GaN หรือพาวเวอร์แบงค์ 65 วัตต์กับสาย USB-C สักเส้นเผื่อเอาไว้ชาร์จไฟในยามจำเป็น แต่ไม่ใช่กรณีชิปเซ็ต Snapdragon X Elite ซึ่งจัดการพลังงานได้ดีอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ใช้เรนเดอร์วิดีโอหรือโมเดล 3D ก็แทบไม่มีโอกาสใช้อุปกรณ์ข้างต้นเลย
Performance & Software
CPU-Z ARM64 CPU-Z x86
สเปคของชิป Qualcomm Snapdragon X Elite ของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA เป็นรุ่นย่อย X1E-78-100 แบบ 12 คอร์ แยกเป็น 2 ชุดคือ 4P+8P ความเร็วสูงสุด 3.4GHz รหัส Qualcomm Oryon สถาปัตยกรรมขนาด 4 นาโนเมตร มี RAM Onboard ความจุ 32GB LPDDR5X บัส 8448 MHz ติดตั้งมาให้ใช้งาน
จากการทดสอบด้วย CPU-Z Benchmark แยกกันระหว่างเวอร์ชั่น ARM64 เทียบกับชิป Qualcomm Snapdragon 8cx Gen 3 ซึ่งเปิดตัวมาก่อนหน้าเทียบกับ CPU-Z เวอร์ชั่นมาตรฐานสำหรับซีพียู x86 จะได้ผลดังนี้
รุ่นและผลการทดสอบ | Single Thread | Multi Thread |
Snapdragon X Elite (CPU-Z ARM64) | 379.8 | 5,097.6 |
Snapdragon 8cx Gen 3 | 563 | 3610 |
Snapdragon X Elite (CPU-Z x86) | 266.6 | 3,587.1 |
Intel Core i7-5960X | 360 | 3,518 |
ดูจากผลคะแนน จะเห็นว่า Snapdragon X Elite มีประสิทธิภาพสูงกว่าชิปเซ็ต 8cx Gen 3 อย่างชัดเจนโดยเฉพาะตอนทำงาน Multi Thread แต่คะแนน Single Thread จะยังไม่หนีกันมาก อาจมาจากการออกแบบและชุดคำสั่งต่างๆ ภายในตัวชิปเซ็ตได้รับการปรับปรุงมาใหม่และมี NPU เข้ามาเสริมจึงทำงานได้ดีขึ้น
กลับกันถ้าเทียบกับซีพียูแบบ x86 แล้ว พลังประมวลผลจะเทียบเท่ากับ Intel Core i7-5960X เท่านั้น แม้จะได้คะแนนไม่มาก แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตัวชิปเซ็ตและ Windows 11 ต้องแบ่งกำลังไปรัน Prism Emulator ควบคู่กันด้วย ดังนั้นผลคะแนนจะลดลงไปก็เข้าใจได้
ชิ้นส่วนภายในเครื่องเมื่อเช็คด้วย Device Manager จะเห็นว่า ASUS Vivobook S 15 S5507QA ติดตั้งเซนเซอร์สแกนใบหน้าไว้ยืนยันตัวผู้ใช้มาให้ ผสานเข้ากับระบบ Windows Hello เพื่อยืนยันตัวก่อนปลดล็อคเครื่องมาควบคู่กับชิปรักษาความปลอดภัย TPM 2.0 เพิ่มความรัดกุมยิ่งขึ้น
ชิปเซ็ตสำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 7 มาตรฐาน 802.11be เป็น Qualcomm FastConnect 7800 เชื่อมต่อ Wi-Fi 6GHz / 5GHz / 2.4GHz ได้ รับส่งข้อมูลได้เร็วสูงสุด 5.8 Gbps แบนด์วิธกว้าง 320MHz (160+160MHz) รองรับ Bluetooth 5.4 ในตัว
ข้อดีของ FastConnect 7800 คือ รองรับ Qualcomm aptX Voice, aptX Adaptive, aptX Lossless กับ Snapdragon Sound ในตัว เวลาต่อหูฟัง True Wireless รุ่นที่รองรับจะได้คุณภาพเสียงดีขึ้นทั้งตอนฟังเพลงและประชุมงานออนไลน์จะได้ยินเสียงคมชัดเป็นพิเศษ
M.2 NVMe SSD ความจุ 1TB ชื่อ MTFDKBA1T0QFM เป็นรหัสของ Micron 2400 SSD ยอดนิยมที่ ASUS เลือกใช้กับโน๊ตบุ๊คในเครือหลายรุ่น สเปคเป็นอินเทอร์เฟส PCIe 4.0 รองรับการเขียนไฟล์เข้าออกได้ 300 TBW ถ้าเทียบกับรุ่นความจุ 1TB ทั่วไปในท้องตลาดซึ่งรองรับการเขียนอ่านไฟล์ได้ 600 TBW จะดูน้อยไปบ้างแต่ก็ยังใช้งานได้นานหลายปี มีความเร็วการเขียนอ่านข้อมูลหลังจากทดสอบด้วย CrystalDiskMark 8 จะได้ผลดังนี้
สเปค/ผลทดสอบ | Read (MB/s) | Write (MB/s) |
สเปคจากโรงงาน | 4,500 | 3,600 |
Sequential | 4,353.85 | 3,612.72 |
RND4K | 215.56 | 313.79 |
ความเร็วของ Micron 2400 ใน ASUS Vivobook S 15 S5507QA นับว่าทำงานได้เร็วไล่เลี่ยกับ SSD ในโน๊ตบุ๊คทำงานรุ่นอื่นในเครือ ในแง่การทำงานก็สามารถเปิดโปรแกรมและเรียกไฟล์มาใช้งานได้รวดเร็วเพียงพอจนไม่ต้องอัปเกรดก็ได้
ผลคะแนนจากการทดสอบด้วย Geekbench 6 สำหรับทดสอบชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM โดยเฉพาะ ยิ่งได้คะแนนสูงยิ่งดี โดยผลทดสอบเทียบกับชิปเซ็ต Apple M2 Series ซึ่งทาง Qualcomm นำมาเทียบตั้งแต่เปิดตัวแล้ว จะได้ผลดังนี้
รุ่น/คะแนน | Single-Core | Multi-Core |
Snapdragon X Elite (Vivobook S 15 เครื่องรีวิว) | 2,392 | 12,814 |
MacBook Pro (16-inch, 2021) – Apple M1 Max | 2,368 | 12,211 |
MacBook Pro (13-inch, 2022) – Apple M2 | 2,659 | 10,034 |
MacBook Pro (14-inch, 2023) – Apple M2 Pro | 2,705 | 12,597 |
MacBook Pro (16-inch, 2023) – Apple M2 Max | 2,665 | 14,932 |
ช่วงคะแนนของ Snapdragon X Elite เทียบกับชิปเซ็ต Apple SoC หลังจากอัปเดตแพทช์ล่าสุดจาก ASUS แล้ว จะทำคะแนนได้ดีกว่าช่วงเปิดตัวใหม่ๆ จะเทียบได้แค่ Apple M1 เท่านั้น แต่หลังอัปเดตแล้วก็ได้คะแนนดีกว่าชิปเซ็ต Apple M1 Max, Apple M2 แล้ว สังเกตคะแนน Multi-Core จะสูงกว่า M2 Pro เสียอีก มั่นใจว่าถ้ามีแพทช์ใหม่เพิ่มมาก็น่าจะได้คะแนนดีกว่านี้แน่นอน
งานปั้นโมเดล 3D และทำกราฟิคต่างๆ ตัวชิป Snapdragon X Elite ก็ทำผลงานได้ค่อนข้างดี สามารถเปิดพรีวิวรวมถึงปั้นโมเดลสามมิติได้ไม่แพ้กับซีพียูทั่วไปในปัจจุบันอย่างแน่นอน ซึ่งคะแนนหลังทดสอบด้วยโปรแกรมตระกูล CINEBENCH จะได้ผลดังนี้
- 2024 (Windows ARM64) – ใช้ทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูกับจีพียูอย่างหนักพร้อมกันโดยใช้เอนจิ้น Redshift สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนต์ ได้ CPU (Multi-Core) 894 pts และ CPU (Single Core) 106 pts
- R23 – ใช้ทดสอบพลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก มีความละเอียดและแม่นยำสูง ได้คะแนน Multi Core 10,328 pts และ Single Core อีก 1,099 pts
- R20 – ใช้ทดสอบกำลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ได้คะแนน CPU 4,252 pts
ถึง ASUS Vivobook S 15 S5507QA จะใช้ทำงานได้ดีก็จริง แต่ยังไม่ค่อยเหมาะกับการเล่นเกมเท่าไหร่และต้องรอผู้พัฒนาเกมรวมถึง Qualcomm พอร์ตเกมมาให้เล่นเกมชิปเซ็ตนี้ได้ดีขึ้น ในการทดสอบเล่นเกมด้วย 3DMark Time Spy ที่ใช้ DirectX 12 API จะรันไม่ได้แม้ในหน้าสเปคของ SoC จะขึ้นว่ารองรับก็ตาม เจออาการเปิดแล้วหยุดทำงานกะทันหันทุกรอบการทดสอบ จึงต้องย้อนมาใช้ Fire Strike ซึ่งเป็น DirectX 11 API แทน
ผลคะแนนเฉลี่ยของ Snapdragon X Elite กับชิป Qualcomm Adreno จะได้คะแนนเฉลี่ย 6,101 คะแนน แยกเป็น Graphics score 6,463 คะแนน, Physics score 17,105 คะแนน, Combined score ไปได้ 2,559 คะแนน สรุปได้ว่าตัวซีพียูกับจีพียูมีประสิทธิภาพดีพอควร สามารถเล่นเกมชั้นนำได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องรอการปรับปรุง API ใดๆ ให้ดีขึ้นก่อน
จากผลคะแนนก็บอกได้ว่าเฟรมเรทตอนเล่นเกมด้วย ASUS Vivobook S 15 S5507QA อาจนับว่าพอเปิดเล่นได้แต่ก็ไม่แนะนำให้เปิดกราฟิคสูงสุดนัก เพราะจากการทดสอบจะเห็นว่าเฟรมเรทเฉลี่ยของแต่ละเกมอยู่ในระดับพอเล่นได้และกราฟิคภายในเกมก็ลดคุณภาพลงพอควรอีกด้วย ซึ่งสัมผัสเวลาทดสอบเล่นแต่ละเกมจะเป็นดังนี้
- Resident Evil 4 Remake (RE Engine) : เฟรมเรทเฉลี่ยราว 14 Fps แม้จะเปิดเล่นได้แต่ก็ไม่แนะนำนัก ช่วงเริ่มต้นเกมระหว่างเรนเดอร์ Shaders ในเกมมีอาการภาพค้างกระตุกไปราว 2~3 วินาที ระหว่างเล่นเจออาการภาพหน่วงและ Input Lag ระหว่างยิงปืนหรือทำลายสิ่งของในฉากเป็นช่วงๆ และถ้าปรับความละเอียดภาพสูงเกิน 1080p จะเจอบั๊กภาพเกมล้มครึ่งหน้าจอจนเล่นไม่ได้
- The Witcher 3: Wild Hunt (REDengine) : เฟรมเรทเฉลี่ย 43 Fps สามารถเปิดเล่นได้แล้วภาพไม่กระตุก แต่รายละเอียดของตัวละคร, หญ้า, อาคาร รวมถึงเอฟเฟคต่างๆ โดนลดทอนความคมชัดและรายละเอียดหยาบลงพอควรจนเกือบเป็นกรอบพิกเซล นอกจากนี้ตัวเกมยังบังคับไม่ให้ปรับความละเอียดหน้าจอเกิน 1366*768 พิกเซลอีกด้วย
- Genshin Impact (Unity Engine) : ปรับกราฟิคสูงสุดเล่นได้ราว 34 Fps ควบคุมตัวละครเล่นได้ตามปกติ ตอบสนองการควบคุมได้ค่อนข้างดีและ Input Lag น้อย เรนเดอร์ฉาก Open world ได้ไม่มีปัญหาโหลดหรือหน่วง
- Honkai: Star Rail (Unity Engine) : เฟรมเรทเฉลี่ย 48 Fps เวลาเดินในฉาก Open world ไปยังโซนต่างๆ ไม่เจออาการกระตุกค้าง แต่บางครั้งเฟรมเรทจะหน่วงลดลงไปชั่วครู่แล้วกลับมาเล่นได้ตามปกติ แต่ในฉากต่อสู้สามารถเล่นได้ดีตามปกติ
กรณีของ Resident Evil 4 Remake และ The Witcher 3: Wild Hunt สองเกมนี้ถูกพอร์ตให้เล่นกับ Windows on ARM ได้ก็จริง แต่ก็ยังทำเฟรมเรทได้ไม่สูงนัก กลับกันเกมที่พัฒนาด้วย Unity Engine อย่าง Genshin Impact และ Honkai: Star Rail จะเปิดเล่นได้ทันทีเพราะทางผู้พัฒนาเอนจิ้นเกมปรับแต่งให้รองรับอุปกรณ์ Arm-based Windows ตั้งแต่เวอร์ชั่น Unity 2023.1 แล้ว
อาจกล่าวได้ว่า ASUS Vivobook S 15 S5507QA นั้นเกิดมาเพื่อคนทำงาน โดยเฉพาะใครต้องพกคอมไปไหนมาไหนเป็นประจำแล้วไม่อยากพกพาวเวอร์แบงค์หรือสายชาร์จให้วุ่นวายก็ใช้ได้ ตั้งแต่พนักงานออฟฟิศทั่วไป, ช่างภาพถ่ายงานนอกสถานที่หรือแม้แต่โปรแกรมเมอร์ก็ใช้มันทำงานได้ กลับกันผู้ใช้ยังต้องรอทาง Qualcomm กับ Microsoft ปรับแต่งชุดคำสั่ง API ต่างๆ เพิ่มอีกพอสมควร Snapdragon X Elite ถึงจะพอเล่นเกมชั้นนำต่างๆ ได้เทียบเท่ากับ x86 อาจใช้เวลาราว 1~2 ปี ขึ้นไปแน่นอน
โปรแกรมประจำเครื่องอย่าง MyASUS ก็ยังติดตั้งมาให้ใช้งานเช่นเดียวกับรุ่นอื่นในเครือ มีฟังก์ชั่นถนอมพาเนล OLED ให้ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น มี Smart Gestures ของแป้นทัชแพดเสริมเข้ามาให้เลือกเปิดใช้ รวมถึงช่วยดาวน์โหลดและอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด ก็ขอแนะนำให้เปิดโปรแกรมนี้มาเช็คแพทช์ใหม่เป็นระยะๆ จะช่วยให้โน๊ตบุ๊คนี้ทำงานได้ดีขึ้น
Battery, Heat & Noise
แบตเตอรี่ 70Whr ของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA มีความจุมากไล่เลี่ยกับซีรี่ส์ Zenbook พอชิปเซ็ตเป็น Snapdragon X Elite ก็ใช้งานได้นานยิ่งขึ้น ซึ่งระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่โดยปรับความสว่างหน้าจอเหลือ 50% ลดเสียงลำโพงเหลือ 10% และใช้โหมดประหยัดพลังงานดูคลิป YouTube นาน 30 นาทีด้วย Microsoft Edge แล้ว Vivobook S 15 จะใช้งานได้นาน 14 ชั่วโมง 25 นาที เทียบกับการเคลมระยะเวลาใช้งานหน้าเว็บไซต์ 18 ชั่วโมงแล้ว จะใช้งานได้สั้นกว่าราว 3 ชั่วโมงครึ่ง
ถึงจะใช้งานได้สั้นกว่าก็จริง แต่ระยะเวลาร่วม 14 ชั่วโมงครึ่งซึ่งเกินระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงว่าแบตเตอรี่จะหมดระหว่างวันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ถ้าแบตเตอรี่เต็มไม่ต้องเตรียมพาวเวอร์แบงค์หรืออะแดปเตอร์ GaN ติดกระเป๋าไปเผื่อเลย ยิ่งถ้าใช้ทำงานเอกสาร, เปิดเว็บไซต์, พรีเซนต์งานบ้าง มั่นใจว่าแบตเตอรี่จะเหลือราว 50% หรือมากกว่าแน่นอน
อุณหภูมิฝั่งซ้าย อุณหภูมิฝั่งขวา
นอกจากจะใช้พลังงานน้อยไม่กินแบตเตอรี่มากนัก ชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM ก็ไม่ร้อนเลย พัดลมของ ASUS IceCool แทบไม่หมุนให้รำคาญแม้แต่น้อย จากภาพตอนรันโปรแกรม FurMark 2 รีดให้อุณหภูมิเครื่องสูงขึ้นสักพักแล้วเช็คด้วยกล้องอินฟราเรดหรือเลเซอร์จับอุณหภูมิก็ตาม จะเห็นว่าตรงกลางเครื่องแถบปุ่ม G, H, J เหนือชิปเซ็ตยังมีอุณหภูมิสูงสุดราว 36.9 องศาเซลเซียส ห่างออกไปเล็กน้อยแถบปุ่ม A, S, D หรือ Numpad ก็ยิ่งเย็นลงไปอีก แม้แต่ช่องระบายความร้อนยังมีอุณหภูมิสูงสุดแค่ 32~38 องศาเซลเซียสเท่านั้น ดังนั้นตัดกังวลเรื่องความร้อนหรืออาการ Throttle down แบบชิปเซ็ต x86 ทิ้งไปได้เลย
Full load – ด้านหน้าเครื่อง Full load – ด้านหลังเครื่อง
พอชิปเซ็ตไม่ร้อนมากพัดลมก็ไม่ต้องทำงานหนักและเสียงก็เบาตามจนเบากว่าเสียงพูดตามปกติเสียอีก จะเห็นว่าเครื่องวัดความดังเสียงขึ้นโชว์ว่าจะปล่อยเครื่องสแตนด์บายเอาไว้หรือจะเปิดโปรแกรมทำงานหนักๆ ก็ยังดังเพียง 47dB ซึ่งเป็นเสียงจากสภาพแวดล้อมเสียมากกว่า อย่างมากตอนพัดลมทำงานก็แค่ได้ยินเสียงแว่วมาเบาๆ เท่านั้นและดังขึ้นไปราว 50~52dB เท่านั้น นับเป็นโน๊ตบุ๊คที่เสียงพัดลมเบาสุดในปัจจุบันนี้
User Experience
หลังจาก Microsoft ประกาศโน๊ตบุ๊ค Copilot+ PC รับลูกชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon X Elite ไม่นาน ASUS Vivobook S 15 S5507QA ก็เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยในเวลาไม่นานและยังประมวลผลคำสั่ง AI ต่างๆ ได้ดี ไม่ว่าจะ Microsoft Copilot หรือแม้แต่ LLMs (Large Language Model) ก็สั่งการและตอบสนองได้ทันใจ อยากได้คำตอบหรืออยากสั่งให้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านั้นทำอะไรให้ก็พิมพ์ลงไปแล้วรอเพียงอึดใจเดียว มันก็ตอบสนองแทบจะในทันทีเพราะมี NPU พลังประมวลผล 45 TOPs ติดตั้งมาในตัวชิปเป็นใจความ
ผลดีต่อมาคือชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM ทั้งกินไฟน้อย ทำงานได้เร็วและไม่ร้อน ถ้าทำงานออฟฟิศเปิดเว็บไซต์หรือแก้ไขเอกสารจะแทบไม่ได้ยินเสียงพัดลม ASUS IceCool ทำงานเลยจนเสียงพูดปกติยังดังกว่าด้วยซ้ำ อย่างมากตอนรันโปรแกรมทำงาน 3D อาจจะพอได้ยินเสียงพัดลมทำงานอยู่ประปราย จึงไม่รบกวนหูเจ้าของหรือผู้อื่นแน่นอน และต่อให้ไม่เสียบปลั๊ก Vivobook S 15 S5507QA ก็ยังทำงานได้ดีจนบทบาทของอะแดปเตอร์แทบจะเหลือแค่เอาไว้ชาร์จตอนแบตเตอรี่เหลือน้อยเท่านั้น
ระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ก็เป็นจุดน่าประทับใจเป็นพิเศษ ถ้าใช้ทำงานออฟฟิศตามระยะเวลาทำงานตามปกติแล้ว แบตเตอรี่จะลดช้าและน้อยมากไม่ต่างกับสมาร์ทโฟนเลยจนจบวันยังมีไฟเหลือให้ใช้งานราว 50% อยู่เป็นระยะๆ จึงไม่ต้องพกอะแดปเตอร์หรือพาวเวอร์แบงค์เผื่อไว้ชาร์จ Vivobook S 15 เลยก็ยังได้ อย่างมากอาจเตรียมเผื่อไว้แค่ตอนต้องเปิดโปรแกรมตัดต่อวิดีโอหรือปั้นโมเดล 3D นิดหน่อยก็พอ และถ้าต่อเป็นเดสก์ท็อปพีซีตั้งโต๊ะก็ต่อหน้าจอเข้าพอร์ต USB 4.0 Gen 3 Type-C, HDMI ก็ทำงานในวันอยู่ออฟฟิศได้เลย
เรื่องความปลอดภัยของ ASUS Vivobook S 15 S5507QA ก็ได้กล้องหน้าอินฟราเรดไว้สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องติดตั้งมาคู่กับกล้องเว็บแคมเหมือนกับโน๊ตบุ๊คทำงานระดับพรีเมี่ยม เสริมด้วยฟังก์ชั่นหรี่แสงหน้าจอและกลับไปหน้า Log in โดยอัตโนมัติติดมาให้ซึ่งรักษาความปลอดภัยได้ดี แต่บางครั้งก็ไม่ทำงานทั้งนั่งทำงานอยู่หน้าคอมมานานกว่าชั่วโมงแล้ว อาจต้องรอการอัปเดตเฟิร์มแวร์จาก ASUS ให้แก้ปัญหานี้ได้ในอนาคต
ถึงจะดูดีน่าใช้ก็จริง แต่ ASUS Vivobook S 15 S5507QA ก็ยังต้องรอการอัพเดตและปรับแต่งโปรแกรมต่างๆ ให้ใช้งานกับชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM ได้ดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกินเวลาในช่วงแรกสักระยะและจะมีการอัปเดตแพทช์ตามมาอีกอย่างแน่นอน แม้จะมี Prism Emulator ก็ยังพอใช้แปลงโปรแกรมแบบ 32-bit (x86) ได้เท่านั้น ยังต้องรอทาง Microsoft จัดการให้รองรับ 64-bit (x64) ได้ในอนาคต รวมถึงเกมก็ต้องรอให้ Qualcomm จัดการพอร์ตเกมใหม่และ Optimize เกมที่มีอยู่ให้เล่นได้ดีขึ้น ถึงจะแสดงพลังออกมาได้เต็มประสิทธิภาพ อาจต้องให้เวลากับแต่ละบริษัทสัก 3~6 เดือนขึ้นไป ส่วนใครเป็นสิงห์ปืนไวจะรีบซื้อมาลองก่อนก็ใช้กับโปรแกรมทั่วไปได้ ไม่มีปัญหาแน่นอน
Conclusion & Award
ASUS Vivobook S 15 S5507QA เป็นคำตอบจากบรรดายักษ์แห่งวงการไอทีว่าจะมีโน๊ตบุ๊คชิปเซ็ตสถาปัตยกรรม ARM ออกมาให้เลือกซื้อหรือไม่? แล้วจะเทียบชั้นกับ Apple SoC ได้หรือเปล่า? ซึ่งผลลัพธ์ก็ค่อนข้างน่าประทับใจโดยเฉพาะคนที่ใช้งาน AI ไม่ว่าจะใช้บ้างหรือเป็นประจำก็เหมาะ แถมโปรแกรมทั่วไปก็เปิดใช้ได้ปกติและจะมีอีกหลายโปรแกรมถูกพอร์ตมาให้ใช้ได้อีกในอนาคตแน่นอน นับว่ามีอนาคตไปอีกไกลและอาจเป็นทางเลือกที่ 3 สำหรับผู้ใช้ได้แน่นอน
Award
Best Innovation
ชิปเซ็ต Snapdragon X Elite กับ Windows on ARM ใน ASUS Vivobook S 15 S5507QA นั้นเหมาะกับยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง ทั้งใช้งานกับ AI ได้ยอดเยี่ยมก็ยังรองรับโปรแกรมทั่วไปได้ด้วย Prism Emulator จึงพร้อมทำทุกงานอย่างแน่นอน
Best Battery Life
ระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ของ Vivobook S 15 ยาวนานร่วม 15 ชั่วโมง จนบอกลาอะแดปเตอร์กับพาวเวอร์แบงค์ไปได้เลย จะเอาไปพรีเซนต์งาน, พบลูกค้าหรือประชุมยาวๆ ก็ไม่ต้องกังวลสักนิด
Best Mobility
โน๊ตบุ๊คหน้าจอ 15.6 นิ้วทั่วไปจะหนักราว 1.6 กก. ขึ้นไป แต่ Vivobook S 15 S5507QA เบาเพียง 1.42 กก. บางเพียง 1.47 ซม. จึงพกพาง่ายไม่กินพื้นที่ในกระเป๋ามากนัก ดีต่อคนชีพจรลงเท้าแน่นอน