AMD Ryzen 9000 series แรงสะใจ AM5 เดิมใช้ได้ เพาเวอร์อัพแกนหลัก แคช แรม PCIe 5.0
AMD Ryzen 9000 series สถาปัตยกรรม Zen 5 มีกราฟิกใน RDNA2 ในตัว รองรับ DDR5 และ PCIe 5.0 ให้ Core/ Thread สูงสุด 16 core/ 32 thread ยังใช้งานบนซ็อกเก็ต AM5 เดิม เพิ่มเติมคือชิปเซ็ต AMD X870E แรงสุดติ่ง มีทั้ง USB 4.0, PCIe 5.0 และ AMD EXPO เน้นกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการ Performance และการปลดล็อคความเร็ว โดยมีค่า TDP/clockspeeds ได้สูง ถูกใจสายโอเวอร์คล็อกได้เป็นอย่างดี พร้อมชนกับคู่แข่งตัวท็อป Intel Core Gen14 K series กับกลุ่มตลาดที่มีทั้งเกมเมอร์ และคนทำงาน ซอฟต์แวร์เฉพาะทาง ไปจนถึงการทำงานด้าน AI เป็นส่วนหนึ่งของ Keynote ในงาน Computex 2024 ครั้งนี้
AMD Ryzen 9000 series สดใหม่ไฟแรง
เรียกว่าไม่ได้เกินจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้สำหรับซีพียู AMD Ryzen 9000 series รุ่นใหม่ ที่มีข้อมูลหลุดมาก่อนหน้านี้ และล่าสุดย้ำชัดกันอีกทีสำหรับข้อมูลในงาน Computex 2024 ที่ทาง Dr. Lisa Su ซึ่งเป็น AMD CEO ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งใน Key Note นอกเหนือจากเทคโนโลยี AI และผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Enterprise ซึ่งมีซีพียูอย่าง AMD EPYC รุ่นใหม่มาโชว์ตัวในงานนี้ด้วย โดยที่ซีพียู Ryzen 9000 ใหม่นี้ ถือว่าย้ำชัดอีกครั้งกับ AMD ที่ยังคงยืนหยัดกับซ็อกเก็ต AM5 ไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ผู้ใช้ยังมั่นใจได้ว่า ไม่ต้องเปลี่ยนเมนบอร์ดใหม่ แต่ถ้าอยากได้ใช้แบบครบเครื่องจริงๆ ก็แนะนำเมนบอร์ดชิปเซ็ตใหม่ AMD X870 ที่บรรดาผู้ผลิตรายต่างๆ พร้อมแล้วจะส่งลงตลาดให้ได้ใช้งานกัน
โดยข้อมูลของซีพียูรุ่นใหม่นี้ AMD Ryzen 9000 series จะใช้สถาปัตยกรรม Zen 5 รุนใหม่ ที่ได้รับการปรับปรุงจาก Zen 4 บน Ryzen 7000 series พอสมควร และช่วงเวลาที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการจะอยู่ในช่วงเดือน กรกฏาคม 2567 นี้ และลงตลาดพร้อมวางจำหน่ายในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยซีพียูรุ่นท็อปสุดเป็นรุ่น Ryzen 9 9950X ทำงานในแบบ 16 core/ 32 thread และบูสท์ได้สูงสุดถึง 5.7GHz โดยมีค่า TDP 170W เท่านั้น ส่วนรุ่นเล็กสุดจะเป็น AMD Ryzen 5 9600X ทำงานในแบบ 6 core/ 12 thread และบูสท์ได้ที่ 5.4GHz โดยมี L3-cache 32MB เริ่มต้น จัดได้ว่าเป็นแคชที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับซีพียูรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน
เมื่อดูจากตารางเปรียบเทียบของซีพียูในสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น Zen 3 ของ AMD Ryzen 5000 series, Zen 4 ของ Ryzen 7000 series และล่าสุด AMD Ryzen 9000 series ที่เป็น Zen 5 ความแตกต่างอาจจะไม่มากนัก ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น การมีกราฟิกมาในตัวบนซีพียูรุ่นใหม่ๆ การขยับจาก DDR4 มาเป็น DDR5 ของ Zen 3 และ Zen 4 และการเปลี่ยนซ็อกเก็ต แต่ถ้ามองกันลึกๆ แล้ว การเปลี่ยนมาเป็น Zen 5 ก็มีหลายอย่างที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกระบวนการผลิต ถูกเปลี่ยนมาเป็น TSMC’s N3 (3 nm) ถ้าเป็นซีพียูพีซี ส่วนบนโน๊ตบุ๊คจะยังเป็น 4nm นอกจากนี้ยังมีอัตราทรูพุตของข้อมูลที่มากกว่า เพราะไปป์ไลน์ที่กว้างขึ้น รวมถึง SIMD ส่งผลให้การประมวลผลทำได้รวดเร็วกว่าเดิม จากข้อมูลที่อ้างอิงคือ ผลการทดสอบ CINEBench และ Blender ให้ผลที่ดีและได้ประโยชน์จากชุดคำสั่งชอง AVX-512 ได้อีกด้วย และที่อาจจะฟังดูซับซ้อนขึ้นอีกเล็กน้อยก็คือ Zen 5 ยังทำงานในแบบ parallelism ทำให้การทำงานหลายๆ ชุดคำสั่งพร้อมกันในไปป์ไลน์ได้ง่ายกว่า
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีก 2 ช่องทางด้วยกัน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การเพิ่มลำดับของแคชให้เยอะขึ้น ทำให้แบนด์วิทธิ์ของ L2 ไปถึง L1 ที่กว้าง ซึ่งมีผลอย่างมากในการถ่ายโอนข้อมูลภายในแกนหลักของซีพียู แต่ละแกนทำได้รวดเร็ว และยังอ้างอิงไปถึงประสิทธิภาพในงาน AI ที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานที่ใช้ร่วมกับชุดคำสั่ง AVX-512 จะสามารถทำงานร่วมกับซีพียูรุ่นใหม่ได้ดีกว่า เพราะ AMD Zen 4 จะใช้เป็น SIMD 256 บิตเท่านั้น
แต่ใดๆ ก็ตาม ไม่ได้มีเพียงเรื่องของแบนด์วิทธิ์และความเร็วแกนหลัก รวมถึงชุดคำสั่งที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงสร้างภายในอีกหลายส่วน อย่างเช่น core complex dies แบบคู่หรือ CCDs ของแต่ละ Die อยู่ แทนการทำงานของ IOD ของซีพียูรุ่นก่อน ที่ไม่ต้องส่งข้อมูลผ่านการทำงานของ I/O และหน่วยความจำในการประมวลผลทุกครั้ง แต่ทำงานบน Die ที่มีอยู่ในแต่ละแกนหลักได้เลย แต่ Ryzen รุ่นใหม่ จะมีจำนวน CCD มากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ SKU และก็มีแนวโน้มว่าทาง AMD จะไม่ได้นำ IOD กลับมาใช้กับ Ryzen 9000 series แต่บางการทำงานอาจมีความคล้ายคลึงกันเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือ จะมีกราฟิก RDNA 2 CUs มาด้วย
Model | Core/ Thread | Base clock | Boost clock | L2 cache | L3 cache | TDP (Watts) |
Ryzen 9 9950X | 16C / 32T | 4.3GHz | 5.7GHz | 16 MB | 64 MB | 170W |
Ryzen 9 9900X | 12C / 24T | 4.4GHz | 5.6GHz | 12 MB | 64 MB | 120W |
Ryzen 7 9700X | 8C / 16T | 3.8GHz | 5.5GHz | 8 MB | 32 MB | 65W |
Ryzen 5 9600X | 6C / 12T | 3.9GHz | 5.4GHz | 6 MB | 32 MB | 65W |
โดยซีพียู AMD Ryzen 9000 series บนสถาปัตยกรรม Zen 5 นั้น จะเริ่มต้นด้วยซีพียูที่เป็น X-series ในช่วงแรกเปิดตัว 4 รุ่นคือ AMD Ryzen 9 5500X มาพร้อม 16 core/ 32 thread บูสท์ได้สูงสุด 5.7GHz และมีแคชรวมขนาดใหญ่ถึง 80MB แบ่งเป็น L3-cache 16MB และ TDP 170W ส่วนรุ่นรองลงมาจะเป็น Ryzen 9 9900X มีอยู่ 12 core และบูสท์สูงสุด 5.6GHz และมี L3-cache 120W โดยในงานนี้ทาง AMD ตั้งใจมาลุยกับคู่แข่งอย่าง Intel Core i9-14900K ที่เป็นรุ่นใหญ่อย่างเต็มรูปแบบ
เมนบอร์ดและชิปเซ็ตเก่ายังใช้ได้?
แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะสงสัยว่า จะยังคงใช้เมนบอร์ดเดิมได้หรือไม่ หรือจะมีเปลี่ยนซ็อกเก็ตรึเปล่า เรื่องนี้สบายใจได้ ถ้าคุณใช้งาน AMD AM5 ที่เคยใช้ร่วมกับซีพียู AMD Ryzen 7000 series เดิม เพราะ Ryzen 9000 series สามารถ Backward หรือเข้ากันได้กับเมนบอร์ดที่ใช้ชิปเซ็ต AMD 600 series ได้อย่างเต็มที่ อย่างที่ทาง AMD เคยได้พูดถึงอายุการใช้งานซ็อกเก็ต ที่จะยาวนานขึ้น แต่เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปัจจุบัน AMD ก็เตรียมชิปเซ็ตใหม่เอาไว้ให้กับผู้ใช้ ที่จะประกอบคอมใหม่ร่วมกับ Ryzen 9000 series ด้วยชิปเซ็ต AMD 800 series จำนวน 2 รุ่นในเบื้องต้น ประกอบด้วย AMD X870E และ X870 ซึ่ง “E” นี้ยังคงเป็น Extreme เน้นการปรับแต่ง เพิ่มศักยภาพและการโอเวอร์คล็อกเป็นหลัก
อย่างไรก็ดีเรื่องของรายละเอียดชิปเซ็ตอย่างไม่เป็นทางการ X870E และ X870 รองรับ PCIe 5.0 แล้วเต็มรูปแบบ และมีสล็อต M.2 PCIe 5.0 อย่างน้อย 1 สล็อต โดย PCI-Express Lanes จะได้อยู่ที่ 20 Lanes แบ่งเป็น 12+8 Lanes ซึ่งยังเป็นแบบเดียวกับ 600 series แต่จะมีเพิ่มมาเป็น USB4 เป็นไปได้ทั้งจากชิปเซ็ตและชิปแยก รองรับแรม DDR5 Quad-channel และ WiFi 7 เป็นที่เรียบร้อย รวมถึงการปรับแต่งโอเวอร์คล็อกได้อย่างเต็มที่ แต่ย้ำก่อนว่า ข้อมูลยังไม่ได้ถูกเคาะจาก Official เพราะถ้าดูจาก X870 ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า จะรองรับ PCIe สำหรับกราฟิกเป็นแบบ 4.0 ได้เช่นกัน แต่ที่หลายคนน่าจะสงสัยกันมากกว่าก็คือ ทำไมถึงกระโดดข้ามซีรีส์จาก 600 series ไปเป็น 800 series เลย แล้ว 700 series หายไปไหน?
Source: AMD