ในการบอกคุณลักษณะของสเปค CPU และ GPU นอกเหนือจากเรื่องรุ่น ซีรีส์ ความเร็ว จำนวนคอร์แล้ว อีกจุดที่มีอยู่ แต่อาจไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก ยกเว้นในกรณีของเครื่องเดสก์ท็อป และเกมมิ่งโน้ตบุ๊กก็คือเรื่องค่า TDP และ TGP ที่ส่งผลโดยตรงถึงการกินไฟ และความร้อนที่จะเกิดขึ้นในระบบ ซึ่งแน่นอนว่ามันมาพร้อมกับความแรงด้วยเช่นกัน ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่า TDP และ TGP คืออะไร มีอันไหนสำคัญกว่ากันหรือเปล่า
ค่า TDP
หลายคนอาจจะค่อนข้างคุ้นเคยกับคำว่า TDP มาบ้าง โดยมักจะมาควบคู่กับสเปคของ CPU ซึ่งคำว่า TDP นั้นย่อมาจาก Thermal Design Power เป็นค่าที่บ่งบอกถึงปริมาณพลังงานความร้อนที่ปล่อยออกมาขณะทำงาน มีหน่วยเป็นวัตต์ (W) ซึ่งพอจะใช้ประเมินคร่าว ๆ ได้ว่า CPU รุ่นนั้นกินไฟมากขนาดไหน และต้องออกแบบระบบระบายความร้อนอย่างไรถึงจะเหมาะสม เพราะความร้อนที่เกิดขึ้น ก็มาจากการพลังงานไฟฟ้าที่สูญเสียมาเป็นความร้อนขณะที่ CPU ทำงานนั่นเอง
ตัวอย่างของการระบุค่า TDP เช่น Intel Core i7-13700HX สำหรับโน้ตบุ๊ก มาพร้อมค่า Processor Base Power ขณะที่ทำงานด้วยความเร็วพื้นฐานที่ 55W และสูงสุด (Maximum Turbo Power) ที่ 157W ตัวนี้ก็คือช่วงค่า TDP ที่ชิปรุ่นนี้รองรับ โดยอินเทลให้คำจำกัดความของแต่ละค่าที่ระบุในหน้าสเปคไว้ดังนี้
- Processor Base Power (PBP) = ค่า TDP โดยเฉลี่ยตามเวลา ขณะที่ CPU ทำงานในระดับที่ซับซ้อน ด้วยความเร็วระดับพื้นฐานของตนเอง ในจุดอุณหภูมิที่ระบุในการทดสอบ
- Maximum Turbo Power (MTP เดิมคือ cTDP Up) = ค่า TDP ขณะที่ CPU ทำงานอยู่ระดับสูงสุด (Turbo Boost) อย่างต่อเนื่องเกิน 1 วินาที ภายใต้การควบคุมกระแสไฟ และ/หรือควบคุมอุณหภูมิ โดยอาจมีการเร่งประสิทธิภาพขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ด้วย (น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 วินาที)
- Minimum Assured Power (เดิมคือ cTDP Down) = ค่า TDP ที่เปิดให้ระบบสามารถเลือกใช้งานเองได้ เพื่อให้เหมาะสมกับประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานของระบบ ในกรณีที่จำเป็นต้องลดประสิทธิภาพการทำงานลง เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของระบบระบายความร้อน
ในขณะที่ฝั่ง AMD จะระบุไว้แค่ค่า Default TDP เท่านั้น อย่างในชิป AMD Ryzen 7 7700 ก็จะมีค่า TDP พื้นฐานอยู่ที่ 65W ซึ่งเป็นค่าสูงสุดอยู่แล้ว และเข้าใจง่ายกว่ามากด้วย
ทั้งนี้ ใช่ว่า CPU จะทำงานโดยมีค่า TDP คงที่อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากปกติแล้ว CPU จะมีการปรับระดับประสิทธิภาพให้เหมาะสมกับการทำงานอยู่แล้ว ถ้าโหลดงานน้อย ชิปก็ทำงานน้อย ส่งผลให้กินไฟน้อยลง เมื่อกินไฟน้อยลง ค่าความร้อนที่ปล่อยออกมาก็ต่ำลงมาตามกันด้วย และไม่ถึงกับค่า TDP ที่ระบุไว้ตามหน้าสเปคตลอดเวลา
ความสำคัญของค่า TDP
ในเมื่อค่า TDP มันเกี่ยวข้องกับความร้อนของ CPU โดยตรง ดังนั้นจึงเป็นค่าที่สำคัญมากสำหรับใช้ในการออกแบบระบบระบายความร้อนให้เหมาะสม อย่างถ้าในโน้ตบุ๊ก อันนี้คงไม่มีปัญหาเท่าไหร่ เพราะทางผู้ผลิตจะมีการออกแบบมาให้เหมาะสมอยู่แล้ว (ถ้าร้อนเกินไป ก็ลดความเร็ว CPU ลง) แต่จะมีผลเยอะหน่อยสำหรับเครื่องเดสก์ท็อปที่ผู้ใช้ต้องการเปลี่ยนฮีตซิงค์ หรือเปลี่ยนชุดน้ำระบายความร้อนของ CPU ซึ่งทางผู้ผลิตอุปกรณ์ระบายความร้อนเองก็มักจะมีการระบุไว้ที่สเปคของสินค้า ว่ารองรับการระบายความร้อนได้สูงสุดที่ค่า TDP ระดับไหน แต่อาจจะต้องเป็นรุ่นที่มีราคาสูง ที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานร่วมกับ CPU แรง ๆ ซักหน่อย เพราะว่าถ้าเป็นชุดระบายความร้อนในรุ่นมาตรฐาน มักจะสามารถใช้ร่วมกับ CPU ระดับ mainstream ลงมาได้ทั้งหมดอยู่แล้ว
ตัวอย่างของอุปกรณ์ระบายความร้อน CPU ก็เช่นใน Be Quiet Dark Rock 4 รุ่นยอดนิยม ก็จะมีบอกไว้ในส่วนของฟีเจอร์ผลิตภัณฑ์ว่ารองรับ CPU ที่มีค่า TDP ได้สูงสุดถึง 200W เป็นต้น ส่วนถ้าจะดูว่าฮีตซิงค์ หรือชุดน้ำที่เล็งไว้รองรับค่า TDP ได้ระดับไหน ก็ลองดูจากหน้าเว็บไซต์ของผู้ผลิตรุ่นนั้น ๆ แล้วลองดูคำว่า TDP หรือดูค่าที่มีหน่วยเป็น W ที่ไม่ใช่พวกค่า power consumption นะครับ โดยปกติแล้วค่าการรองรับ TDP มักจะเป็นเลขหลักร้อยขึ้นไป แต่เดี๋ยวนี้หลาย ๆ แบรนด์ก็ไม่ค่อยบอกกันเท่าไหร่ เพราะถือว่าสามารถใช้งานได้กับ CPU ทั่วไปในท้องตลาดได้แทบทั้งหมดอยู่แล้ว
ซึ่งถ้าเราเลือกอุปกรณ์ระบายความร้อนไม่เหมาะสมกับ CPU ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถใช้งาน CPU ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะเมื่อมันเร่งการทำงานไปถึงจุดหนึ่งแล้วพบว่าความร้อนสูงเกิน เนื่องจากการเลือกใช้ชุดระบายความร้อนที่ไม่เหมาะสม จึงระบายความร้อนออกได้ไม่ทัน CPU ก็จะปรับลดความเร็วลง เพื่อพยายามควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำลงมาอยู่ในระดับที่ทำงานต่อได้ ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถใช้งาน CPU ได้เต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นนั่นเอง
ค่า TGP
เป็นค่าที่มักถูกพูดถึงในแวดวงของเกมมิ่งโน้ตบุ๊กซะเป็นส่วนใหญ่ โดยถ้าให้เทียบแล้วมันก็คือค่า TDP ของ GPU ในการ์ดจอนั่นเองครับ ย่อมาจาก Total Graphics Power นั่นคือค่าพลังงานทั้งหมดที่ GPU รับจากระบบไปใช้ได้ โดยถ้าเป็นการ์ดจอรุ่นเดียวกัน แต่ค่า TGP ต่างกัน รุ่นที่มี TGP สูงกว่า จะมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่า เนื่องจากสามารถรับพลังงาน (ไฟฟ้า) ได้มาก ทำให้นำไปใช้ในการประมวลผลได้เต็มที่กว่าอีกรุ่น แต่ก็ส่งผลถึงความร้อนที่ปล่อยออกมาที่จะสูงขึ้นด้วย
ซึ่งสำหรับในเครื่องเดสก์ท็อปจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะการ์ดจอแต่ละใบก็จะมาพร้อมชุดฮีตซิงค์และพัดลมที่เหมาะสมกับประสิทธิภาพของตัวการ์ดเอง ส่วนพวกฮีตซิงค์ 3rd party และชุดระบายความร้อนด้วยน้ำสำหรับการ์ดจอ อันนี้ก็ออกแบบมาสำหรับการ์ดจอที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว จึงแทบไม่ต้องกังวลเรื่องการเลือกซื้อรุ่นที่เหมาะสมกับ TGP ของการ์ดจอเลย
แต่พอเป็นในโน้ตบุ๊ก สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สุดก็คือความร้อนที่เกิดจากการทำงานของชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายใน ที่หนัก ๆ เลยก็คือ CPU และ GPU ในขณะเดียวกันก็ต้องออกแบบเครื่อง ที่ต้องพยายามทำให้เครื่องบางและเบาจนอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถพกพาได้ และไม่อมความร้อนในเครื่องมากเกินไป เพราะจะทำให้อุปกรณ์ภายในเสื่อมสภาพเร็ว แม้จะเป็นกลุ่มเกมมิ่งโน้ตบุ๊กก็ตาม เราจึงได้เห็นทั้งผู้ผลิต CPU และ GPU พยายามออกชิปรุ่นที่ลดการใช้พลังงานลง มีค่า TDP/TGP ที่น้อยลง เพื่อให้ปลดปล่อยความร้อนได้น้อย ต่อเนื่องไปถึงการกินไฟที่ลดลงกว่ารุ่นปกติด้วย
โดยในฝั่งของ NVIDIA เอง ก็จะมีการระบุค่าเอาไว้เป็นช่วงกว้าง ๆ ในหัวข้อ GPU Subsystem Power ทำให้ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กสามารถนำไปใช้ประกอบในการออกแบบตัวเครื่องและระบบระบายความร้อนได้ ว่าจะให้สามารถรองรับค่า TGP ได้สูงสุดที่ระดับไหน
ในช่วงหลังมานี้ ผู้ผลิตเกมมิ่งโน้ตบุ๊กหลายรายก็เริ่มมีการระบุค่า TGP ของชิปกราฟิกในเครื่องมาให้แล้ว เพื่อใช้เป็นจุดขายว่าเกมมิ่งโน้ตบุ๊กเครื่องนี้ มีค่า TGP รวมถึงขนาดนี้เลยนะ แรงกว่าเครื่องรุ่นอื่นในท้องตลาดแน่นอน โดยเฉพาะรุ่นที่ไม่บอกค่า TGP หรือมีค่า TGP น้อยกว่า ตัวอย่างเช่นใน Lenovo Legion 5i Pro ด้านบนครับ ที่มีบอกเลยว่า TGP รวมสูงสุดของส่วนกราฟิกอยู่ที่ 140W
ตัวอย่างของความแตกต่างก็เช่น เกมมิ่งโน้ตบุ๊กรุ่น A อาจจะเน้นความบาง แต่ใช้การ์ดจอ RTX 4070 ก็อาจจะทำให้มีค่า TGP สูงสุดได้แค่ 80W ส่วนเกมมิ่งโน้ตบุ๊กรุ่น B ใช้ RTX 4070 เหมือนกัน แต่ไม่เน้นความบาง เน้นความแรงเป็นหลัก ผู้ผลิตก็สามารถเสริมระบบระบายความร้อนได้ดีกว่า ส่งผลให้อาจจะมีค่า TGP ออกมาสูงสุดที่ 100W ไปเลย ทำให้ประสิทธิภาพการ์ดจอของเครื่อง B สูงกว่าเครื่อง A ทั้ง ๆ ที่เป็นชิป RTX 4070 เหมือนกัน
จะซื้อโน้ตบุ๊กซักเครื่อง จำเป็นต้องดูค่า TGP หรือเปล่า?
ถ้าโดยทั่วไปแล้วก็ไม่จำเป็นขนาดนั้นครับ แถมในหน้าสเปคของโน้ตบุ๊กส่วนใหญ่ในตลาดยังแทบไม่บอกค่า TGP ไว้ด้วยซ้ำ ยกเว้นในกลุ่มของเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่ต้องการขายความแรงของการ์ดจอ และระบบระบายความร้อนในตัวจริง ๆ
สำหรับกรณีที่ต้องนำค่า TGP มาพิจารณาก่อนเลือกซื้อโน้ตบุ๊กเพื่อมาใช้งานด้านกราฟิกหนัก ๆ เช่น การเล่นเกม ก็คงจะเป็นตอนที่เรามีเกมมิ่งโน้ตบุ๊กในใจอยู่มากกว่า 1 รุ่น ที่สเปคใกล้เคียงกันมาก การ์ดจอตัวรุ่นเดียวกัน ถ้ารุ่นไหนที่มีค่า TGP สูงกว่า ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่าประสิทธิภาพของการ์ดจอเองก็น่าจะสูงกว่าด้วย รวมถึงระบบระบายความร้อนโดยรวมภายในเครื่อง ก็น่าจะสามารถทำงานได้ดีกว่า ทางผู้ผลิตจึงกล้าระบุค่า TGP ที่สูงกว่ารุ่นอื่น
TDP vs TGP เน้นอะไรมากกว่ากันดี?
สำหรับในโน้ตบุ๊ก อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าส่วนใหญ่ผู้ผลิตโน้ตบุ๊กจะออกแบบตัวเครื่อง และระบบระบายความร้อนมาให้เหมาะสมกับรุ่น ประสิทธิภาพ และราคาขายอยู่แล้ว ร้อยทั้งร้อยแทบจะข้ามเรื่อง TDP ไปเลย ส่วน TGP ก็จะมีเน้นอยู่บ้างในเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่เน้นความแรงของกราฟิกชิปเป็นจุดขาย
ในเครื่องเดสก์ท็อปก็จะกลับกันครับ เพราะค่า TGP ที่เป็นเรื่องของการ์ดจอนั้น โดยมากผู้ผลิตการ์ดจอก็จะออกแบบชุดฮีตซิงค์มาให้เหมาะสมอยู่แล้ว ที่น่าพิจารณามากกว่าคือเรื่องทิศทางลมในเคส ขนาดเคสว่ากว้างพอสำหรับการ์ดจอทั้งใบหรือเปล่า ถ้าสองอย่างนี้ผ่าน ก็ไม่น่ามีปัญหาเรื่องความร้อนของการ์ดจอแล้ว จะมีค่า TGP สูงขนาดไหนก็สบาย
ส่วนค่า TDP ของ CPU ในเครื่องเดสก์ท็อป ก็จะมีผลในกรณีที่เลือก CPU รุ่นสูง ๆ เช่นพวก Intel Core i7/i9 แบบ unlocked หรือ AMD Ryzen 7/9 รุ่นที่ลงท้ายด้วย X หรือ AMD Threadripper แล้วต้องหาฮีตซิงค์หรือชุดระบายความร้อนด้วยน้ำแบบ AIO มาใช้งานคู่กัน ที่อาจต้องเลือกรุ่นที่รองรับ TDP ได้สูง ๆ หน่อย เพื่อให้ CPU สามารถทำงานได้เต็มขีดความสามารถที่สุด แต่ถ้าใช้ CPU รุ่นกลาง ๆ ลงมา อันนี้แทบไม่ต้องกังวลเรื่อง TDP เลยครับ เพราะสามารถใช้ชุดระบายความร้อนได้แทบทุกรุ่น ทุกช่วงราคาที่มีในตลาดเลย ใช้ของที่ติดมาในกล่องก็ได้ (ถ้ามี)
สำหรับเนื้อหาในรูปแบบคลิป สามารถเข้าไปชมได้จากที่นี่เลย