Acer Aspire 3 AMD โน๊ตบุ๊คดีๆ ที่ไม่ต้องจ่ายแพง ตัวเต็งในกลุ่มราคาไม่เกิน 20,000 บาท!
เชื่อว่าผู้อ่านหลายๆ ท่านน่าจะเคยใช้โน๊ตบุ๊ค Acer โดยเฉพาะตระกูล Aspire ซึ่งราคาเป็นมิตรหาซื้อง่ายตามร้านขายคอมพิวเตอร์ชั้นนำต่างๆ และในปีนี้ Acer Aspire 3 AMD ทางบริษัทก็จัดการอัพเกรดเปลี่ยนซีพียูเป็น Ryzen 7000 Series รุ่นใหม่ล่าสุดซึ่งชิปเซ็ตใหม่นี้นอกจากทำงานได้เร็วเสถียรต่อเนื่องแล้ว พอประกบคู่กับชุดพัดลมระบายความร้อนของทาง Acer ซึ่งขยายขนาดตัวพัดลมให้ใหญ่ขึ้น 78% แล้ว ทางบริษัทก็เคลมว่าพัดลมใหม่นี้รับอุณหภูมิและระบายความร้อนได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่ต้องห่วงเลยว่าเครื่องจะร้อนเกินไปจนทำงานได้ช้าลง ยิ่งไปกว่านั้นทางบริษัทก็ติดตั้งพอร์ตมาให้ใช้งานครบเครื่องทั้ง USB-A, HDMI 2.1, USB-C Full Function และยังเชื่อมต่อ Wi-Fi 6E เวอร์ชั่นล่าสุดได้อีกด้วย
ขนาดตัวเครื่องต้องถือว่าใหญ่พอควร ด้วยจอ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD มี BlueLightShield ช่วยลดแสงสีฟ้าถนอมสายตาผู้ใช้ให้ทำงานได้สะดวก กล้องเว็บแคมรองรับ HDR มีชุด Numpad ครบเครื่องแต่น้ำหนักก็เบาเพียง 1.6 กิโลกรัม หนาสุดเพียง 18.9 มม. จึงพกพาง่ายใช้งานสะดวก และงานประกอบเครื่องก็แข็งแรงทีเดียว ด้านราคาของ Aspire 3 ก็ไม่แพงเกินไป เริ่มต้น 15,990 บาทและรุ่นสูงสุดราคาเพียง 18,990 บาทเท่านั้น หากใครมีงบประมาณ 20,000 บาทพอซื้อแล้วยังเอาเงินส่วนต่างไปซื้ออุปกรณ์อื่นๆ มาใช้คู่กับ Acer Aspire 3 AMD ได้อีกด้วย
NBS Verdicts
Acer Aspire 3 AMD ถูกอัพเดทซีพียูเป็น AMD Ryzen 7000 Series รุ่นใหม่ล่าสุด ใช้ทำงานเอกสารและเรียนได้สบายๆ ไหลลื่นไม่มีอาการหน่วงช้ากวนใจเลยแม้แต่น้อยและยังรองรับการถอดรหัสไฟล์วิดีโอแบบ AV1 ทำให้ดูสตรีมมิ่งความละเอียดสูงได้สบายๆ แม้แรมจะมีเพียง 8GB LPDDR5 ก็ยังรันโปรแกรมต่างๆ ได้รวดเร็ว อาจจะต้องคอยปิดโปรแกรมหรือแท็บเบราเซอร์ที่ไม่ใช้งานเป็นระยะๆ แค่นี้ก็ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา ด้านพอร์ตการเชื่อมต่อก็ทันสมัย ได้ USB-C Full Function นอกจากโอนไฟล์เข้าออกเครื่องได้ ยังชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery และต่อจอแยก DisplayPort ได้ พอรวมกับ HDMI 2.1 ก็สามารถต่อจอแยกได้พร้อมกัน 2 จอ แถมยังมีพอร์ตอื่นๆ อย่าง USB-A 3.2 และ Audio combo มีให้ใช้ครบถ้วนไม่อึดอัดเกินไป
ด้านแบตเตอรี่ความจุ 45Wh ใน Acer Aspire 3 AMD แม้จะดูกลางๆ ไม่มากไม่น้อยเกินไป โดยทั่วไปจะใช้งานได้ราว 6~8 ชั่วโมงไม่เกิน แต่เมื่อเป็น AMD Ryzen 7000 Series รุ่นใหม่รหัส U เพื่อโน๊ตบุ๊คบางเบาเน้นพกพา เมื่อติดตั้ง AMD Chipset Drivers เวอร์ชั่นล่าสุดแล้วตั้งค่าการทำงานใน AMD Software: Adrenalin Edition เป็นโหมด Power Saving แล้ว ก็ใช้งานต่อเนื่องได้นานสุดถึง 11~12 ชั่วโมง จัดว่าอยู่ได้นานน่าประทับใจมาก ไม่ต้องกังวลว่าแบตฯ จะหมดเครื่องดับระหว่างวันและยังชาร์จผ่านพอร์ต USB-C ได้ ก็เอาอแดปเตอร์ GaN กำลังชาร์จ 65 วัตต์กับสาย USB-C อีกเส้นต่อชาร์จได้ทันที ไม่ต้องพกอแดปเตอร์ของเครื่องติดกระเป๋าไปด้วยก็ได้ ช่วยลดน้ำหนักและปริมาณข้าวของในกระเป๋าลงไปได้ระดับหนึ่งเลย
อย่างไรก็ตาม จุดสังเกตของ Acer Aspire 3 AMD กลับไปเป็นเรื่องการอัพเกรดชิ้นส่วนภายในเครื่องแทน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางโรงงานจะมีช่องใส่ M.2 NVMe SSD ช่องหลักและเสริมติดตั้งมาให้อย่างละ 1 ช่อง แต่ในรุ่นนี้กลับเหลือแค่ SSD ช่องหลักเท่านั้นและแรมก็เป็นออนบอร์ดไม่มีช่อง SO-DIMM ติดตั้งมาให้ ส่วนของแรมถือว่าเข้าใจได้เพราะถ้าเป็นออนบอร์ดก็มักไม่มีช่อง SO-DIMM ติดตั้งมาด้วยอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้ทางบริษัทเสริมช่อง M.2 NVMe ตัวรองเข้ามาไม่ก็เป็น M.2 SATA ก็ได้ จะได้ใช้งานสะดวกขึ้น ในกรณีนี้แนะนำให้หา External SSD/HDD มาใช้เซฟงานแทนจะดีกว่าและใช้ SSD ในเครื่องติดตั้งโปรแกรมหรือโอนถ่ายไฟล์งานชั่วคราวก็พอแล้ว
ข้อสังเกตถัดมา คือ คีย์บอร์ดของ Acer Aspire 3 AMD จะไม่มีไฟ LED Backlit หากใครพิมพ์สัมผัสได้ก็ไม่มีปัญหามาก แต่ถ้าไม่คล่องอาจใช้งานในที่แสงน้อยไฟสลัวไม่ถนัด ซึ่งโน๊ตบุ๊คแบรนด์คู่แข่งก็มีฟีเจอร์นี้ติดมาให้เป็นมาตรฐานแทบทุกรุ่นแล้ว หากเป็นไปได้ก็หวังว่าทาง Acer จะใส่ฟีเจอร์นี้มาให้ในรุ่นย่อยหรือตัวไมเนอร์เชนจ์ปรับสเปคในอนาคตด้วยจะดีมาก
ข้อดีของ Acer Aspire 3 AMD
- บอดี้ตัวเครื่องแม้เป็นพลาสติกแต่ก็แข็งแรง งานประกอบเรียบร้อยแข็งแรงไว้ใจได้
- เมื่อกางหน้าจอแล้ว ก้านพลาสติกขอบล่างหน้าจอจะช่วยยกตัวเครื่องให้พิมพ์งานได้ถนัดขึ้น
- ราคาไม่แพงหาซื้อได้ง่าย เริ่มต้น 15,990 บาท ตัวท็อป 18,990 บาทเท่านั้น
- ได้ซีพียู AMD Ryzen 7000 Series รุ่นใหม่ล่าสุด ทำงานได้ดีและลื่นไหล
- ได้พอร์ต USB-C Full Function รองรับ Power Delivery และต่อจอแยก DisplayPort ด้วย
- ได้พอร์ต HDMI 2.1 มาใช้งาน ต่อหน้าจอแยกความละเอียดสูงได้และมีพอร์ตอื่นๆ ให้ใช้
- เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi 6E ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดได้ มีความเสถียรและรวดเร็ว
- น้ำหนักเครื่อง 1.6 กิโลกรัม หนา 18.9 มม. จัดว่าเบาและบางพกง่ายแม้จะมีขนาด 15.6 นิ้ว
- ระบบระบายความร้อนทำงานดีมาก แม้จะรันเครื่องเต็มที่แล้วก็ยังเย็นและทำงานเสถียรอยู่
- แบตเตอรี่ 45Wh ใช้งานต่อเนื่องได้ 11~12 ชั่วโมง ทำงานได้จบวันแน่นอน
ข้อสังเกตของ Acer Aspire 3 AMD
- อัพเกรดได้เฉพาะ M.2 NVMe SSD ภายในเครื่องเท่านั้น เพราะแรมเป็นแบบออนบอร์ด
- คีย์บอร์ดไม่มีไฟ LED Backlit อาจทำงานในที่แสงน้อยไฟสลัวได้ไม่ถนัดเท่าไหร่
รีวิว Acer Aspire 3 AMD
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
Acer Aspire 3 AMD รหัส A315-24P-R6XV เป็นโน๊ตบุ๊คบางเบารุ่นใหม่ซึ่งทางบริษัทได้อัพเกรดสเปคตัวเครื่องหลายส่วนให้ใช้ทำงานได้ดียยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
สเปคของ Acer Aspire 3 A315-24P-R6XV
CPU | AMD Ryzen 5 7520U แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 2.8~4.3GHz |
GPU | AMD Radeon 610M แบบ 2 คอร์ ความเร็ว 1,900MHz |
SSD | M.2 NVMe SSD 512GB |
RAM | 8GB LPDDR5 บัส 5500MHz |
Display | 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS |
Connectivity | USB-A 3.2 Gen 1 x 2, USB-C 3.2 Gen 2 Full Function x 1, HDMI 2.1, Audio combo x 1 Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.0 |
Software | Windows 11 Home |
Weight | 1.78 กิโลกรัม |
Price | 18,990 บาท ชมสเปคโดยละเอียดคลิ๊กที่นี่ |
นอกจากนี้ Acer Aspire 3 AMD ยังมีรุ่นเริ่มต้นรหัส A315-24P-R817 ที่ติดตั้งซีพียู AMD Ryzen 3 7320U ให้เลือกด้วยโดยมีรายละเอียดดังนี้
สเปคของ Acer Aspire 3 A315-24P-R817
CPU | AMD Ryzen 3 7320U แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 2.4~4.1GHz |
GPU | AMD Radeon 610M แบบ 2 คอร์ ความเร็ว 1,900MHz |
SSD | M.2 NVMe SSD 256GB |
RAM | 8GB LPDDR5 บัส 5500MHz |
Display | 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS |
Connectivity | USB-A 3.2 Gen 1 x 2, USB-C 3.2 Gen 2 Full Function x 1, HDMI 2.1, Audio combo x 1 Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.0 |
Software | Windows 11 Home |
Weight | 1.78 กิโลกรัม |
Price | 15,990 บาท ชมสเปคโดยละเอียดคลิ๊กที่นี่ |
Hardware & Design
ดีไซน์ของ Acer Aspire 3 AMD ในฐานะโน๊ตบุ๊คทำงานรุ่นเริ่มต้นของทางบริษัทจะเน้นความเรียบง่ายไม่หวือหวามาก ใช้บอดี้พลาสติกสีเงินตัดกับกรอบหน้าจอสีดำและขอบล่างตัวเครื่องจะตัดบอดี้เฉียงเอาไว้เล็กน้อยให้ใช้นิ้วกางเปิดหน้าจอได้สะดวก มีสติกเกอร์บอกรุ่นซีพียู, การ์ดจอออนบอร์ดและการรับประกันของทาง Acer ไว้ตรงที่วางข้อมือฝั่งซ้าย ฝั่งขวาเป็นสติ๊กเกอร์บอกฟีเจอร์เด่นของ Aspire 3 AMD ส่วนขอบบนเหนือชุดคีย์บอร์ดเป็นช่องระบายความร้อนขนาดไม่ใหญ่มาก เมื่อกางจอแล้วฝาหลังจะปิดซ่อนช่องนี้ไปโดยปริยาย ดูสวยเรียบร้อยขึ้น
ชุดก้านบานพับหน้าจอถูกติดตั้งไว้ส่วนขอบล่างบานหน้าจอโดยทำมุมฉากเอาไว้ ส่วนด้านในจะเป็นก้านเหล็กติดเข้ากับฐานหน้าจอภายในตัวเครื่อง มีความแข็งแรงกางหน้าจอได้อย่างมั่นคงไม่มีอาการบานพับจอสั่นพริ้วแม้แต่น้อย ถือได้ว่าทาง Acer ประกอบชุดบานพับมาได้ดีแต่เวลากางควรใช้มือสองข้างจับแล้วกางจอเปิดเครื่องจะดีกว่า เพราะเวลากางมือเดียวแล้วตัวเครื่องจะกระดกตามขึ้นมาเล็กน้อยก่อนโน้มลงกับพื้นโต๊ะ ดังนั้นใช้มือช่วยจับเครื่องตั้งแต่แรกจะดีสุด
หากสังเกตเวลากางหน้าจอแล้ว ขอบล่างฝาหลังจอ Acer Aspire 3 AMD จะมีก้านพลาสติกช่วยดันตัวเครื่องให้ยกขึ้นเล็กน้อยและป้องกันไม่ให้ขอบเครื่องรูดกับพื้นโต๊ะ ลดโอกาสเกิดรอยรูดเสียหายได้ระดับหนึ่งและทำให้แป้นคีย์บอร์ดเฉียงขึ้นเล็กน้อยพิมพ์งานได้ถนัดขึ้น สามารถกางหน้าจอได้กว้างสุดราว 120 องศา จะวางบนโต๊ะหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ปรับให้เข้ากับมุมสายตาผู้ใช้ได้ง่าย
ฝาหลังของ Acer Aspire 3 AMD จะเป็นฝาหลังเรียบๆ ใช้สีเดียวกับตัวเครื่องและติดเพลตโลโก้ Acer ไว้ขอบบนของฝาหลังเหมือนโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆ ของทางบริษัท ส่วนขอบล่างตรงข้ามกับโลโก้แบรนด์จะสกรีนคำว่า Aspire ตัวพิมพ์ใหญ่เอาไว้ ซึ่งดีไซน์นี้ได้ความสวยเรียบง่ายมีระดับเกินราคาไปพอควร
ฝาใต้ตัวเครื่องเป็นพลาสติกสีดำทำลวดลายกันลื่นเอาไว้ เวลาหยิบเครื่องติดตัวจะได้ความมั่นคงไม่หลุดมือง่ายๆ มีช่องระบายความร้อนเป็นแถบราง 3 แถวติดเอาไว้ส่วนครึ่งบนของตัวเครื่องและติดแถบยางกันลื่นเอาไว้ทั้ง 4 มุม ลดอาการลื่นเวลาวางเครื่องกับโต๊ะทำงาน ด้านน็อตสำหรับขันล็อคฝาใต้ตัวเครื่องเป็นหัวแฉก Philips Head ตามปกติ ใช้ไขควงทั่วไปขันเปิดฝาเครื่องได้ทันที
Screen & Speaker
หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ดีไซน์ให้ขอบหน้าจอสองฝั่งซ้ายขวาบางลงเพื่อเพิ่มพื้นที่การมองเห็น ขอบบนหน้าจอมีกล้องเว็บแคมความละเอียด HD รองรับ HDR และไมค์อีก 2 ตัวติดตั้งมาให้ ใช้ประชุมงานออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็วและขอบล่างจะติดเพลตโลโก้ Acer เอาไว้ด้วย ส่วนกรอบหน้าจอจะเป็นสีดำตัดกับบอดี้สีเงิน
พาเนล IPS ของ Acer Aspire 3 AMD มีคุณภาพดีพอสมควร มีองศาการมองเห็นกว้าง 178 องศา และไม่มีเงาสะท้อนทาบบนหน้าจอเลยแม้แต่น้อย ส่วนขอบเขตสีหน้าจอเมื่อวัดด้วยโปรกรม DisplayCal 3 และใช้เครื่อง Colorchecker ของ Calibrite วัดค่า Gamut coverage ซึ่งเป็นค่าขอบเขตสีจริงของหน้าจอนี้ได้ 57.6% sRGB, 40.4% Adobe RGB, 41.5% DCI-P3 ส่วน Gamut volume ซึ่งเป็นขอบเขตสีโดยรวมทั้งหมดของจอนี้สูงถึง 58.6% sRGB, 40.4% Adobe RGB, 41.5% DCI-P3 มีค่าความเที่ยงตรงสีหรือ Delta-E เฉลี่ย 0.13~1.28 ซึ่งขอบเขตสีหน้าจอแม้จะเที่ยงตรงแต่กว้างแค่ไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คราคาไม่เกิน 20,000 บาทหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน หากใช้แต่งภาพสำหรับอัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คได้ แต่ถ้าใช้ทำงานแนะนำให้ต่อจอแยกที่ขอบเขตสีกว้างกว่านี้ดีกว่า
ความสว่างหน้าจอเมื่อปรับความสว่าง 100% วัดได้ 266.65 cd/m2 ซึ่งสว่างพอใช้ทำงานในออฟฟิศหรือสำนักงานได้สบายๆ ไม่มีปัญหา อาจจะปรับความสว่างเอาไว้ราว 70% ก็สว่างพอใช้งานแแล้ว แต่ถ้ามีแสงแดดส่องสะท้อนหน้าจอยังพอปรับความสว่างสูงสุดเพื่อให้มองเห็นได้ชัดขึ้นได้ระดับหนึ่ง
ลำโพงของ Acer Aspire 3 AMD จะเป็นลำโพง 2 ตัวติดตั้งไว้ส่วนขอบตัวเครื่องสองฝั่ง หันดอกลำโพงลงพื้นโต๊ะและเมื่อปรับเสียงดังสุด 100% แล้ววัดด้วยเครื่องวัดเสียงจะได้ความดังสูงสุดราว 79~82dB โทนเสียงจะออกทาง Flat สเตจเสียงไม่กว้างมากและโทนเสียงเน้นทางเสียงนักร้องและเครื่องดนตรีแต่เบสไม่หนักแน่นเท่าไหร่ พอใช้ฟังเสียงประชุมงานหรือ Podcast ได้ระดับหนึ่ง ถ้าจะฟังเพลงแนะนำให้ต่อลำโพงแยกดีๆ สักเซ็ตไปเลยจะฟังเพลงได้อรรถรสกว่าอย่างแน่นอน
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ Acer Aspire 3 AMD เป็นคีย์บอร์ด Full-size มีชุด Numpad สำหรับพิมพ์ตัวเลขได้สะดวก เหมาะกับนักบัญชีและพนักงานออฟฟิศทุกคน แต่การวางเลย์เอ้าท์ของปุ่มจะเป็นขนาด 1U สมมาตรกันหมดแม้แต่ปุ่ม Enter ก็โดนย่อขนาดให้เล็กเท่ากับปุ่มตัวเลขปุ่มอื่นด้วย เวลาซื้อมาใช้งานใหม่ๆ อาจต้องปรับตัวสักนิดแต่ถ้าคุ้นชินก็ใช้งานได้ตามปกติ
ส่วนเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์อย่าง + หรือ – จะมีขนาดปกติ แต่ * และ / จะกลายเป็นขนาดเล็กเท่ากับปุ่ม F1~F12 แทน ถัดไปทางขวาจะเป็นปุ่ม Power ซึ่งอยู่ติดกัน โดยส่วนตัวผู้เขียนเองเจอปัญหาตอนทดลองใช้งานเครื่องนี้ใหม่ๆ จะเผลอไปกดโดนเป็นระยะๆ แล้วเผลอ Shut Down เครื่องโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าทาง Acer ควรแยกปุ่มนี้ออกไปเป็นปุ่มเฉพาะเลยจะดีที่สุด
Function Key นอกจากปุ่มที่อยู่ถัดจาก F12 มา จะเห็นว่าปุ่ม Home, End, Page Up/Down, Insert, Del ถูกเซ็ตรวมไว้กับปุ่มตัวเลข Numpad แทน ซึ่งมันจะเหมือนกับเลย์เอ้าท์ของคีย์บอร์ด Full-size แต่เชื่อว่าถ้าใครถนัดการเซ็ตปุ่มที่กล่าวไปเอาไว้กับปุ่มลูกศรก็อาจจะไม่คุ้นชินอย่างแน่นอน
ด้านจุดสังเกตของ Acer Aspire 3 AMD จะไม่มีไฟ LED Backlit ติดตั้งมาให้เหมือนโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน หากใครพิมพ์สัมผัสได้ก็ไม่มีปัญหาเรื่องนี้นัก แต่ถ้าใครพิมพ์ไม่คล่องอาจทำงานในที่แสงน้อยไม่ถนัด ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าฟีเจอร์นี้ควรติดตั้งมาเป็นมาตรฐานสำหรับโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้ได้แล้ว และคาดหวังว่าทาง Acer จะเพิ่มฟีเจอร์นี้เข้ามาให้ใช้งานในรุ่นย่อยอื่นๆ ของ Aspire 3 จะดีมาก
ด้าน Function Hotkey ของ Acer Aspire 3 AMD เองก็ถูกตั้งค่ารวมเอาไว้กับปุ่ม F1~F12 เช่นกัน โดยเป็นคำสั่งพื้นฐานต่างๆ แต่สังเกตว่าจะมีให้ใช้ถึงแค่ F10 เท่านั้น โดยคำสั่งทั้งหมดจะมีดังนี้
- F1~F3 – ปิด, ลดหรือเพิ่มเสียงลำโพง
- F4 – ปิดหรือเปิดไมค์
- F5~F6 – ลดหรือเพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F7 – ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
- F8 – ปุ่มล็อคตัวเครื่องให้กลับมาหน้า Log in
- F9 – Airplane Mode
- F10 – ปิดหรือเปิดทัชแพด
จุดสังเกตและเป็นจุดน่าเสียดายอยู่บ้าง คือทาง Acer ไม่ใส่ Function Hotkey มาให้กับปุ่ม F11~F12 แต่มีปุ่ม Snipping Tool แยกต่างหากจากปุ่ม Print Screen ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสองคำสั่งนี้สามารถเซ็ตรวมเอาไว้ด้วยกันได้ โดยตั้งค่าให้กด Fn ค้างไว้ก่อนก็ได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องทำปุ่มแยกเช่นนี้
ส่วนตัวผู้เขียนขอเสนอว่านอกจากเอา Snipping Tool ไปรวมกับ Print Screen แล้ว ตัวแป้นคีย์บอร์ดจะมีปุ่มให้ตั้งค่ารวมกับปุ่ม Fn ถึง 3 ปุ่ม หากจะให้ Aspire 3 AMD น่าใช้งานยิ่งขึ้น แนะนำให้ใส่คีย์ลัดเรียกโปรแกรม Calculator, Windows+Tab, หรือจะใส่คำสั่ง Settings ของ Windows เข้ามาก็ได้ ซึ่งมันจะดึงเสน่ห์ความน่าใช้และเสริมฟังก์ชั่นการเป็นโน๊ตบุ๊คทำงานให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น
ทัชแพดของ Acer Aspire 3 AMD ตัวนี้จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ รองรับ Gesture Control ครบถ้วนพร้อมใช้ทำงานได้ แต่ขนาดเช่นนี้ทำให้ขอบทั้งสองด้านอยู่ใต้สันมือทั้งสองฝั่งพอดีทำให้เวลาวางมือแล้วสันมือจะทาบลงตัวแป้นโดยปริยาย แต่ไม่เจอปัญหาเรื่องทัชแพดลั่นทำงานเองอย่างที่กังวลอย่างแน่นอน ถ้าไม่มั่นใจสามารถกด Fn+F10 เพื่อปิดทิ้งได้เช่นกัน
Connector / Thin & Weight
พอร์ตเชื่อมต่อของ Aspire 3 AMD ถูกติดตั้งเอาไว้สองฝั่งของตัวเครื่องโดยเน้นฝั่งซ้ายมือเป็นหลัก โดยมีพอร์ตและการเชื่อมต่อดังนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – ช่องอแดปเตอร์ของตัวเครื่อง, USB-C 3.2 Gen 2 Full Function รองรับ Power Delivery และ DisplayPort, HDMI 2.1, USB-A 3.2 Gen 1
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – Audio combo, USB-A 3.2 Gen 1, Kensington Lock
- การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.0
โดยรวมต้องถือว่าพอร์ตเชื่อมต่อมีให้ใช้งานค่อนข้างครบเครื่อง แม้จะไม่มี SD Card Reader แต่ก็ยังพอรับได้เนื่องจากราคาก็อยู่ในระดับที่ไม่แพง สามารถซื้อตัวอ่าน SD Card มาใช้งานเพิ่มได้ ส่วนข้อดีที่น่าพูดถึงอย่างมาก คือพอร์ต USB-C 3.2 Gen 2 Full Function ซึ่งแทบไม่มีโน๊ตบุ๊คราคาต่ำ 20,000 บาทรุ่นไหนติดตั้งมาให้เลย เมื่อ Acer ติดตั้งพอร์ตดังกล่าวให้ Acer Aspire 3 AMD แล้ว มันจึงกลายเป็นจุดแข็งของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ซึ่งผู้เขียนเองชื่นชอบมาก
Inside & Upgrade
ภายใน Aspire 3 AMD อัพเกรดได้เพียง M.2 NVMe SSD ที่ติดตั้งไว้ตรงมุมขวาล่างข้างแบตเตอรี่เท่านั้น รองรับ M.2 2280 ขนาดมาตรฐานที่หาซื้อได้ทั่วไปในปัจจุบัน มีแรมออนบอร์ด LPDDR5 ความจุ 8GB ใช้ชิปแรมของ SK Hynix 2 ชิ้น ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าทาง Acer น่าจะให้แรมมา 16GB เลยจะได้เปิดโปรแกรมพร้อมกันได้มากขึ้นไม่ต้องกังวลว่าความจุแรมจะมีไม่พอใช้งาน ถ้าให้ดียิ่งกว่านี้หวังว่าทาง Acer จะใส่กรอบโลหะป้องกันเม็ดแรมเสียหายเข้ามาด้วยจะดีที่สุด เผื่อเกิดอุบัติเหตุผู้ใช้ทำเครื่องตกกระแทกพื้นแล้วชิปจะได้ไม่เสียหาย
Performance & Software
ซีพียูของ Acer Aspire 3 AMD เป็น AMD Ryzen 5 7520U แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 2.8~4.3GHz สถาปัตยกรรม 6 nm รองรับชุดคำสั่งพื้นฐานสำหรับใช้งานครบถ้วน ค่า TDP 8~15 วัตต์ และหากอิงตามวิธีการอ่านชื่อซีพียู Ryzen 7000 Series จาก AMD แล้ว Ryzen 5 7520U จะเป็นซีพียูโมเดลปี 2023 กลุ่ม Ryzen 5 สถาปัตยกรรม Zen 2 รุ่นมาตรฐาน เพื่อโน๊ตบุ๊ค Premium Ultrathin แทนด้วยรหัส U มีแรมออนบอร์ดติดตั้งมาให้ 8GB LPDDR5 บัส 5500MHz สามารถรับส่งข้อมูลได้รวดเร็ว ตอบโจทย์ผู้ใช้ที่หาโน๊ตบุ๊คบางเบาทำงานดีสักเครื่องอย่างแน่นอน
การ์ดจอออนบอร์ดเป็น AMD Radeon 610M มีคอร์กราฟิค 2 คอร์ ความเร็ว 1,900MHz รองรับชุดคำสั่งต่างๆ ไม่ว่าจะ AV1 สำหรับถอดรหัสไฟล์วิดีโอความละเอียดสูงเวลาดูภาพยนตร์ผ่านบริการ Streaming จะดูได้อย่างไหลลื่น รองรับชุดคำสั่ง OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan รวมถึง Ray Tracing อีกด้วย
พาร์ทภายใน Acer Aspire 3 AMD เมื่อเช็คใน Device Manager จะเห็นว่ามีชิปรักษาความปลอดภัยอย่าง TPM 2.0, AMD PSP 10.0 ติดตั้งมาให้ครบถ้วน ใช้ชิป Wi-Fi PCIe รุ่น MediaTek MT7902 ใช้เชื่อมต่อ Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.0 ได้ โดยทั่วไปแล้วโน๊ตบุ๊คราคาไม่เกิน 20,000 บาทมักจะเป็น Wi-Fi 5 หรือ 6 เป็นหลัก แต่ Aspire 3 AMD ตัวนี้เลือกใช้เป็นชิป MediaTek ซึ่งรองรับ Wi-Fi 6E ได้ ทำให้มันเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้เสถียรขึ้น ช่วยให้ทำงานได้สะดวกรวดเร็วกว่าเดิม
M.2 NVMe SSD จากโรงงานเป็น Micron 2450 ความจุ 512GB ติดตั้ง Windows 11 Home มาให้จากโรงงาน เป็น SSD รุ่นยอดนิยมสำหรับโน๊ตบุ๊คหลายรุ่นในปัจจุบัน เมื่อทดสอบด้วย CrystalDiskMark 8 แล้ว ได้ความเร็ว Sequential Read 1,741.29 MB/s และ Sequential Write 1,697.08 MB/s ถือว่าค่อนข้างเร็วและใช้ทำงานได้ดีระดับหนึ่ง สามารถโหลดไฟล์เปิดโปรแกรมต่างๆ ได้ดีพอสมควรไม่มีการหน่วงช้ามากวนใจเลย
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ใช้หลายๆ คนอาจอยากอัพเกรด M.2 NVMe SSD ซึ่งถ้าให้ผู้เขียนแนะนำอาจจะหา Transcend MTE220S, WD Blue SN570, Samsung 980 อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 มาใส่แทนก็ได้ แล้วเอา Micron 2450 ไปทำเป็น External SSD แทนก็ได้ หรือไม่ผู้เขียนแนะนำว่าแทนที่จะถอดเปลี่ยน SSD อาจเปลี่ยนไปซื้อ External SSD/HDD แบบ USB-C มาใช้เซฟงานโอนไฟล์เข้าออกเครื่องแทนจะดีกว่า ถือว่าไดรฟ์ในเครื่องเอาไว้รัน Windows 11 กับโปรแกรมใช้งานและพักไฟล์ต่างๆ ไว้เผื่อใช้งานแล้วแบ็คอัพงานเก็บเอาไว้ในฮาร์ดดิสก์แยกจะดีที่สุด
ด้านการเล่นเกม AMD Radeon 610M จำนวน 2 คอร์ใน AMD Ryzen 5 7520U ตัวนี้ทำคะแนนเฉลี่ยใน 3DMark Time Spy ได้ 567 คะแนน แยกเป็น CPU score 3,526 คะแนน ส่วน Graphics score 494 คะแนน ซึ่งคะแนนระดับนี้ยังพอใช้เล่นเกม 8-bit หรือเปิด Android Emulator เล่นเกมมือถือได้บ้าง ส่วนเกมออนไลน์ ต้องขอแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ถ้าเล่น Valorant, DotA 2 ที่เน้นใช้ซีพียู (CPU intensive) จะปรับกราฟิค High แล้วเล่นได้ไหลลื่น ภาพสวยงามอย่างแน่นอน
สำหรับเกมเน้นใช้การ์ดจอ (GPU intensive) เช่น Genshin Impact พอปรับกราฟิค High แล้ว เฟรมเรทในเกมจะวิ่งอยู่ราว 24~28 Fps และถ้าเจอเอฟเฟคตอนใช้สกิลเมื่อไหร่ เฟรมเรทก็จะตกในบางจังหวะอีกด้วย ซึ่งถ้าเป็นเกมที่เน้นการ์ดจอเมื่อไหร่ก็แนะนำให้ปรับกราฟิคไว้ระดับ Low แล้วใช้ AMD Software: Adrenalin Edition ช่วยอีกชั้นหนึ่ง Acer Aspire 3 AMD ถึงจะพอเล่นเกมได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการ์ดจอออนบอร์ดอยู่แล้ว
การทดสอบเรนเดอร์โมเดล 3D CG ต่างๆ โดยรวมด้วย CINEBENCH R15 จะได้คะแนน OpenGL 59.37 fps และ CPU 854 cb ส่วน CINEBENCH R20 สำหรับทดสอบพลังประมวลผลของคอร์ซีพียูจะได้คะแนน CPU 2,009 pts ต้องถือว่าพลังการทำงานของ AMD Ryzen 5 7520U ใช้เปิดโมเดล 3D พรีวิวตัวอย่างภาพรวมไปถึงแต่งรูปในโปรแกรมประเภท Photoshop หรือทำภาพใน Lightroom ได้พอควร อาจจะใช้ทำภาพประกอบรายงานหรืออัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คก็ได้เช่นกัน
เมื่อทดสอบด้วย PCMark 10 เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม Acer Aspire 3 AMD จะทำคะแนนเฉลี่ยได้ 4,081 คะแนน หากดูแยกเป็นหมวดหมู่แล้วจะเห็นว่าโน๊ตบุ๊คนี้ใช้ทำงานทั่วไปอย่างประชุมงานออนไลน์, เปิดเว็บเบราเซอร์หรือโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมาใช้ได้รวดเร็ว รวมถึงใช้ทำงานเอกสารได้ดีไม่แพ้กัน แต่จุดสังเกตคือเรื่องงานกราฟิคแต่งภาพตัดต่อวิดีโอจะพอใช้แต่งภาพและเรนเดอร์โมเดล 3D, ตัดต่อคลิปสั้นได้บ้างเล็กน้อย
สำหรับผลคะแนน PCMark 10 นี้ ต้องถือว่า Acer Aspire 3 AMD จะเหมาะกับการใช้งานทั่วไป เปิดเว็บทำงาน, ทำรายงานทั้งพิมพ์งานรวมถึงแต่งภาพประกอบการนำเสนอก็ได้ รวมไปถึงใช้ดูหนังฟังเพลงก็ใช้ได้ดีทีเดียว ส่วนงานที่ Aspire 3 แม้ใช้ทำได้แต่ไม่ถนัดนักคืองานตัดต่อวิดีโอหรือเรนเดอร์ 3D CG ต่างๆ นั่นเอง
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ใน Aspire 3 AMD เป็นแบบลิเธียม ไอออน ความจุ Typical capacity 43Wh (3,831mAh) และแบบ Rated capacity 41.76Wh (3,713mAh) ด้วยกัน ซึ่งเทียบแล้วขนาดจะไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน โดยทาง Acer เคลมเอาไว้ว่าใช้งานได้นานราว 11~12 ชั่วโมงด้วยกัน
ด้านการทดสอบ ผู้เขียนได้ปรับความสว่างหน้าจอเอาไว้ 50%, เปิดเสียงลำโพง 10% และตั้งค่าโหมดการทำงานด้วย AMD Software: Adrenalin Edition โดยปรับ Graphics Profile เป็นโหมด Power Saving และใช้ Radeon Chill แทนการใช้โหมด Battery Saving ของ Windows 11 ใช้เบราเซอร์ Microsoft Edge เปิดดูคลิป YouTube ต่อเนื่อง 30 นาที จะเห็นว่าแบตเตอรี่ของ Acer Aspire 3 AMD จะใช้งานได้นานถึง 11 ชั่วโมง 12 นาที ซึ่งใช้งานได้นานมากใกล้เคียงกับผลการทดสอบจากทาง Acer เองเลยทีเดียว
กลับกันผู้เขียนทดลองใช้โหมด Battery Saving ของ Windows 11 แทน AMD Software: Adrenalin Edition แล้วตั้งค่าตัวเครื่องรวมทั้งใช้ Microsoft Edge ดู YouTube นาน 30 นาทีเท่ากัน ระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ 43Wh กลับลดลงเหลือราว 6~7 ชั่วโมงเท่านั้น จึงสรุปได้ว่าหากซีพียูในโน๊ตบุ๊คเครื่องไหนเป็น AMD Ryzen 7000 Series หรือรุ่นก่อนหน้าก็ตาม แนะนำให้ใช้โปรแกรมของทาง AMD ตั้งค่าตัวเครื่องแทน จะใช้งานด้วยแบตเตอรี่ได้นานกว่าอย่างแน่นอน
ชุดระบายความร้อนและพัดลมโบลวเวอร์ในเครื่อง จะเห็นว่าทาง Acer ติดตั้งฮีตไปป์มาเพียง 1 เส้น เดินจากตัวชิปซีพียูตรงมายังฮีตซิ้งค์แล้วระบายความร้อนออกจากเครื่องด้วยพัดลมโบลเวอร์ทั้งหมด 1 ตัว ซึ่งทางบริษัทเคลมว่าพัดลมนี้ถูกขยายหน้าสัมผัสชุดพัดลมให้ใหญ่กว่าเดิม 78% จึงรองรับอุณหภูมิในเครื่องได้ดีกว่าเดิม 17%
ด้านการทดสอบผู้เขียนได้เปิด CPUID HWMonitor เอาไว้แล้วรันโปรแกรม Benchmark ให้ Aspire 3 ทำงานเต็มที่ จะเห็นว่าอุณหภูมิของ Ryzen 5 7520U ในส่วนของตัวชิปกราฟิคซึ่งถูกติดตั้งรวมเอาไว้ในซีพียูจะมีอุณหภูมิเฉลี่ย 38 องศา โดยอุณหภูมิใช้งานจะอยู่ในช่วง 36~42 องศาเซลเซียส พอลองเอามือวางบนคีย์บอร์ดทดลองพิมพ์งานไปด้วยระหว่างที่รันโปรแกรมอยู่ก็ไม่มีอาการตัวเครื่องร้อนรบกวนมือเลยแม้แต่น้อย ส่วนเสียงพัดลมเมื่อใช้เครื่องวัดเสียงเช็คดูแล้วตัวเครื่องจับเสียงได้ดังสุดราว 55dB กล่าวได้ว่า Acer Aspire 3 AMD นั้นเสียงไม่ดังมากและค่อนข้างเย็นด้วย
User Experience
หลังจากได้ใช้ Acer Aspire 3 AMD ทำงานมาร่วมสัปดาห์ต้องถือว่าโน๊ตบุ๊คนี้มีจุดประทับใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะตัวเครื่องขนาดใหญ่ 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ต้องถือว่าขนาดเครื่องใหญ่ ใช้ทำงานได้สะดวกเพราะมีชุด Numpad ติดตั้งมาให้ จึงพิมพ์ตัวเลขได้ง่ายมาก แม้จะต้องปรับตัวกับปุ่ม Enter ตรงมุมล่างขวาของแป้นพิมพ์อยู่บ้างแต่พอคุ้นชินแล้วก็ใช้งานได้ถนัดมือทีเดียว เวลาจะพกเครื่องไปไหนมาไหนก็ไม่ลำบาก เพราะน้ำหนักเพียง 1.68 กิโลกรัม พอใส่กระเป๋าเป้ไปก็ไม่หนักมากเลย
ส่วนจุดประทับใจของ Aspire 3 AMD นี้ อย่างแรกคือพอร์ตเชื่อมต่อ ซึ่งนอกจากพอร์ตมาตรฐานซึ่งมีติดมาให้ทั้ง USB-A 3.2 และ Audio combo แล้ว ทางบริษัทยังให้ HDMI 2.1 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดต่อจอแยกความละเอียดสูงได้สบายๆ แต่ส่วนตัวขอแนะนำให้ต่อความละเอียดสูงสุดราว 2K~4K จะดีสุด ภาพจะลื่นไหลไม่กระตุกหรือภาพเกิดการหน่วงเลย นอกจากนี้ยังมี USB-C 3.2 Gen 2 Full Function ซึ่งใช้ต่อหน้าจอแยกแบบ DisplayPort และชาร์จแบตเตอรี่แบบ Power Delivery ได้ด้วย รวมแล้ว Aspire 3 AMD จึงต่อหน้าจอแยกได้ 2 จอพร้อมกันไม่พอ เวลาผู้เขียนพกเครื่องติดตัวไปทำงานตามร้านกาแฟก็ไม่ต้องพกอแดปเตอร์ของตัวเครื่องติดไปด้วย แต่ใช้อแดปเตอร์ GaN กำลังชาร์จ 65 วัตต์เสียบชาร์จเครื่องได้ทันทีจึงช่วยลดน้ำหนักและจำนวนอุปกรณ์ในกระเป๋าได้อีกชิ้น อันที่จริงถ้าตั้งค่าตัวเครื่องด้วย AMD Software: Adrenalin Edition ให้เป็นโหมด Power Saving แล้วก็ใช้งานได้ทั้งวันสบายๆ ไม่ต้องห่วงว่าแบตเตอรี่จะหมดระหว่างวันเลย
โดยเฉพาะตัวพอร์ต USB-C 3.2 Gen 2 Full Function นี้ ถือเป็นฟีเจอร์ที่แทบไม่มีโน๊ตบุ๊คราคาต่ำกว่า 20,000 บาทเครื่องไหนติดตั้งมาให้เลย ส่วนใหญ่จะเป็น USB-C แบบใช้โอนไฟล์เข้าออกเครื่องได้อย่างเดียว ส่วนแบบ Full Function มักพบในโน๊ตบุ๊คราคา 20,000~35,000 บาทขึ้นไป เมื่อทาง Acer ใส่พอร์ตนี้มาให้ก็เป็นเรื่องดีมาก เป็นการเซ็ตมาตรฐานพอร์ตของโน๊ตบุ๊คราคาต่ำหมื่นในปี 2023 ให้ดีขึ้นโดยปริยาย หากผู้ใช้คนไหนคิดจะซื้อโน๊ตบุ๊คราคาไม่เกิน 20,000 บาทเอาไว้ใช้สักเครื่อง ก็ขอแนะนำให้ดู Acer Aspire 3 AMD เครื่องนี้เอาไว้ได้เลย
ด้านประสิทธิภาพ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคิดว่า AMD Ryzen 5 7520U ที่เป็นซีพียูสถาปัตยกรรม AMD Zen 2 อาจจะแค่พอใช้งานได้ไม่น่าคาดหวังอะไร กลับกันผู้เขียนคิดว่ามันใช้ทำงานพื้นฐาน เช่น ใช้พิมพ์งาน, เปิดเบราเซอร์ท่องเว็บไซต์หรือทำงานผ่านเว็บแอพฯ หรือแม้แต่ดูหนังผ่านบริการสตรีมมิ่งต่างๆ ก็ทำได้ไหลลื่นดีทีเดียว แม้จะมี 4 คอร์ 8 เธรด ก็ตามแต่ก็มีมากพอให้ใช้ทำงานได้สบายๆ หากใครเป็นนักศึกษาทั้งที่เรียนอยู่หรือเพิ่งจบใหม่อยากได้โน๊ตบุ๊คไม่แพงมากก็ซื้อ Aspire 3 AMD นี้ไปใช้ได้เลย และราคาเริ่มต้นรุ่น Ryzen 3 7320U ก็ไม่แพงมาก เพียง 15,990 บาท หากอยากได้ Ryzen 5 7520U ก็เพิ่มเงินอีกเล็กน้อยเป็น 18,990 บาทเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม จุดสังเกตของ Acer Aspire 3 AMD อย่างการอัพเกรดเครื่องจะมีช่องต่อ M.2 NVMe SSD เพียงช่องหลักช่องเดียวไม่มีช่องเสริมไม่ว่าจะเป็น M.2 PCIe หรือจะ 2.5″ SATA III ติดตั้งมาด้วย ดังนั้นผู้เขียนอาจไม่แนะนำให้เปลี่ยน SSD ตัวหลักในเครื่องแต่หา External SSD/HDD มาใช้ควบคู่กันจะดีกว่า ส่วนแรมเป็นออนบอร์ดความจุ 8GB LPDDR5 บัส 5500MHz แม้จะมีความจุความเร็วสูงพอใช้ทำงานได้ดีระดับหนึ่ง แต่โปรแกรมต่างๆ ถูกอัพเดทให้มีฟีเจอร์มากขึ้นและเชื่อว่าผู้ใช้หลายๆ คนมักเปิดแท็บในเบราเซอร์พร้อมกัน 5~10 แท็บแน่นอน หากซื้อมันมาใช้งานอาจจะต้องหมั่นปิดแท็บที่ไม่ใช้ทิ้งบ้าง จะได้ไม่มีปัญหาอืดหน่วงระหว่างใช้งาน
เรื่องเล็กน้อยที่ต้องระวังเวลาใช้งาน คือ ปุ่ม Power ของ Acer Aspire 3 AMD ถูกติดตั้งรวมอยู่กับแป้นคีย์บอร์ด ดังนั้นตอนกดปุ่มเครื่องหมายตัวเลข โดยเฉพาะการคูณ (*) หรือกด Num Lock ต้องระวังจะกดโดนแล้วปิดเครื่องไปโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนหวังว่าทาง Acer จะปรับดีไซน์แยกปุ่ม Power ออกมาจากชุดคีย์บอร์ดจะดีกว่าและลดโอกาสกดพลาด ให้ดียิ่งกว่านี้ผู้เขียนก็หวังว่าทางบริษัทจะใส่ฟังก์ชั่นไฟ LED Backlit ติดคีย์บอร์ดมาให้ผู้ใช้ที่พิมพ์สัมผัสไม่ถนัดทำงานตอนมีแสงน้อยไฟสลัวได้ถนัดยิ่งขึ้น
Conclusion & Award
Acer Aspire 3 AMD เป็นโน๊ตบุ๊คที่เซ็ตมาตรฐานให้บรรดาโน๊ตบุ๊คทำงานราคาไม่เกิน 20,000 บาทของปี 2023 ได้เป็นอย่างดี นอกจากพอร์ตจะทันสมัย ได้ USB-C 3.2 Full Function, HDMI 2.1 และรองรับ Wi-Fi 6E อีกด้วย เรียกว่าพกคุณสมบัติของโน๊ตบุ๊คราคาเกิน 20,000 บาทมาให้แต่จ่ายแค่ 18,990 บาทเท่านั้น และยังได้ซีพียู AMD Ryzen 7000 Series รุ่นล่าสุดแถมยังน้ำหนักเบาเพียง 1.68 กิโลกรัม จึงพกเครื่องติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก และระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่เมื่อตั้งค่าด้วย AMD Software: Adrenalin Edition แล้วก็ใช้งานได้นาน 11~12 ชั่วโมงทีเดียว เรียกว่าใช้งานได้ทั้งวันสบายๆ
รวมแล้วต้องถือว่า Acer Aspire 3 AMD ไม่ว่าจะรุ่น Ryzen 3 หรือ Ryzen 5 ก็จัดว่าน่าใช้ทั้งคู่ เลือกซื้อไปใช้งานได้ตามงบประมาณในกระเป๋าได้เลยหรือจะเอาไปแนะนำเพื่อนใกล้ตัวให้ซื้อไปใช้งานก็ดี เชื่อว่าจะประทับใจกับประสิทธิภาพของ Ryzen 7000 Series อย่างแน่นอน
award
best features
Aspire 3 AMD ได้พอร์ต USB-C 3.2 Full Function, HDMI 2.1 และ Wi-Fi 6E รวมไว้ในเครื่องเดียว ซึ่งโน๊ตบุ๊คราคาไม่เกิน 20,000 บาทนั้นแทบไม่มีเครื่องไหนให้ฟีเจอร์ทั้ง 3 อย่าง มาในเครื่องเดียวเลย
best mobility
ปกติแล้วโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6 นิ้ว มักเป็นโน๊ตบุ๊คเครื่องใหญ่เทอะทะน้ำหนักมากในสายตาผู้ใช้หลายๆ คน แต่ Aspire 3 AMD ตัวนี้เบาเพียง 1.68 กิโลกรัมและหนาสุดเพียง 18.9 มม. เท่านั้น มันจึงพกติดตัวไปไหนมาไหนได้ง่ายมาก ตอบโจทย์ยุคที่ทำงานแบบไฮบริดได้เป็นอย่างดี
best battery life
เพียงเปิดโปรแกรม AMD Software: Adrenalin Edition แล้วเปิดโหมด Power Saving ก็ทำให้ Aspire 3 AMD จัดการพลังงานได้ดีขึ้น ใช้งานได้นาน 11~12 ชม. ทีเดียว สามารถใช้งานได้ทั้งวันอย่างแน่นอน