HP 205 Pro G4 AIO ราคาเป็นมิตร อัพเกรดได้ลำโพงดีเสียงกระหึ่มสะใจ!
สำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่ต้องการพีซีเข้าใจง่ายๆ อาจจะเอาไว้ทำงานออฟฟิศหรือเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกให้ลูกใช้เรียนหรือทำการบ้าน HP 205 Pro G4 เครื่องนี้ถือว่าเป็น All-In-One PC ที่น่าสนใจไม่แพ้พีซีเครื่องอื่นด้วยความเข้าใจง่าย ใช้งานสะดวกและสเปคสามารถทำงานทั่วไปอย่างงานเอกสารหรือเปิดดูหนังฟังเพลงต่างๆ ได้สบายๆ ด้วยซีพียู AMD Ryzen พร้อมติดตั้ง Windows 11 Home มาให้พร้อมใช้งานทันทีอีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อเป็น AIO ทาง HP เองก็มีประกันดูแลตัวเครื่องแบบ On-site Service ยาวนานถึง 3 ปี ดูแลถึงบ้าน ดูแลทั้งค่าแรงและชิ้นส่วนที่เสียหายอีกด้วย ดังนั้น ถ้าใครเน้นใช้งานทั่วไปก็ไม่ต้องกลุ้มใจเรื่องการดูแลตัวเครื่องเลย และบริการของทาง HP ก็ถือว่าทำได้ดีไว้ใจได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย
NBS Verdict
HP 205 Pro G4 ถือว่าเป็น AIO รุ่นเริ่มต้น เป็นพีซีเครื่องแรกสำหรับลูกหลานใช้เรียนออนไลน์หรือทำการบ้านก็ได้ไม่มีปัญหา นอกจากนี้ยังได้อุปกรณ์ติดเครื่องมาครบถ้วน หรือใครไม่ได้ใช้อะไรมาก เน้นเปิดคอมพิวเตอร์ดูหนังฟังเพลงเป็นหลัก ก็เหมาะกับเครื่องนี้เช่นกันเพราะกำลังขับของลำโพงจัดว่าน่าประทับใจไม่น้อย มิติเสียงอิ่มแน่นดูหนังฟังเพลงได้อรรถรสเป็นอย่างมากไม่ต้องต่อลำโพงแยกก็ดูหนังฟังเพลงได้เต็มอิ่มแน่นอน
นอกจากนี้ด้านสเปคจัดว่าเพียงพอใช้งานด้วยซีพียู AMD Ryzen 3 4300U แบบ 4 คอร์ 4 เธรด ซึ่งสามารถทำงานต่างๆ ได้สบายๆ นอกจากนี้ยังติดตั้ง Windows 11 Home มาให้พร้อมใช้งานและจากหน้าสเปค จะรองรับการอัพเกรด เพิ่ม SSD แบบ M.2 SATA และ เพิ่ม RAM ให้ตัวเครื่องสามารถทำงานได้ไหลลื่นกว่าเดิม รวมทั้งติดตั้งพอร์ตหลักๆ มาให้ค่อนข้างครบทีเดียว อาจจะขาด USB-C อยู่บ้างแต่ก็แลกกับการได้ไดรฟ์ DVD-RW มาเผื่อเปิดไฟล์ที่ไรท์เก็บเอาไว้ในแผ่นซีดีหรือดีวีดีแผ่นนั้นๆ ได้ด้วย
ในทางกลับกัน สเปคตั้งต้นที่ทาง HP เซ็ตอัพให้กับ AIO เครื่องนี้ค่อนข้างกั๊กและให้สเปคแค่เพียงพอรัน Windows 11 ได้เท่านั้นเพราะมีแรมเพียง 4GB และใช้ HDD เพียงลูกเดียวเท่านั้นในยุคที่ AIO หลายๆ รุ่นเปลี่ยนไปใช้ SSD แบบ M.2 SATA หรือ M.2 NVMe เป็นไดรฟ์ C:\ กันหมดแล้ว ดังนั้นถ้าต้องการเปิดโปรแกรมหรือรันงานสักอย่างจะกินเวลามากกว่าปกติ แม้จะมีพอร์ตสำหรับอัพเกรดฝังอยู่ในเครื่องก็ตาม แต่ในมุมของผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์ก็คงจะไม่กล้าแกะเอง หรือคนที่พอมีความสามารถก็ค่อนข้างอึดอัดใจว่าถ้าแกะแล้วชิ้นส่วนใดๆ อาจจะเสียหายได้ ดังนั้นทางที่ดีสุดคือควรเรียกผู้เชี่ยวชาญจากทาง HP มาอัพเกรดให้จะดีที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำเครื่องเสียหายได้อีกด้วย
ข้อดีของ HP 205 Pro G4
- ซีพียู AMD Ryzen 3 4300U มีกำลังประมวลผลดีระดับหนึ่ง ใช้ทำงานเอกสารได้ดี
- Webcam สามารถสไลด์เก็บหลังจอได้ ช่วยป้องกันการเจาะระบบเข้ามาขโมยใช้กล้อง
- ลำโพงติดเครื่องเสียงดังมาก เนื้อเสียงมีมิติเทียบชั้นลำโพงแยกดีๆ ชุดหนึ่ง
- หน้าจอขอบเขตสีกว้าง 97% sRGB และค่าเทียบความเที่ยงตรงสี Delta-E <2 แสดงสีสันหน้าจอได้แม่นยำ
- มีช่องอ่าน DVD-RW ติดตั้งมาให้ เผื่อกรณีต้องใช้สื่อที่เป็นแผ่น CD, DVD ทำงาน
- รองรับการอัพเกรดแรม SO-DIMM x 2 ช่องและมีช่อง M.2 SATA x 1 ช่องในเครื่อง
- ตัวเครื่องยังรักษาอุณหภูมิให้ไม่เกิน 70 องศาได้แม้จะรันโปรแกรมกินทรัพยากรมากอยู่
- ติดตั้ง 13-in-1 SD Card Reader มาไว้ใช้โอนไฟล์ได้ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์เสริม
- ได้ประกันดูแลตัวเครื่อง 3 ปี On-site service ช่วยดูแลเครื่องเมื่อมีปัญหาได้ยาวนาน
ข้อสังเกตของ HP 205 Pro G4
- ไดรฟ์ C:\ ของตัวเครื่องยังเป็นฮาร์ดดิสก์จานหมุนอยู่ ทั้งที่ควรเป็น SSD ได้แล้ว
- ช่อง SD Card Reader ซ่อนอยู่ขอบล่างหน้าจอถ้าไม่สังเกตก็หาไม่เจอ
- ถ้าต้องการเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์หรือเพิ่มแรม แนะนำให้ติดต่อช่างเพื่ออัพเกรด
รีวิว HP 205 Pro G4
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Mouse
- Connector
- Performance & Software
- Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
HP 205 Pro G4 เครื่องนี้เป็น AIO ที่รองรับการอัพเกรดสเปคตัวเครื่องเพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้น โดยทั่วไปเครื่องนี้จะเหมาะกับการทำงานออฟฟิศทั่วไปเป็นอย่างมาก ซึ่งสเปคจะเป็นดังนี้
สเปคของ HP 205 Pro G4
- CPU : AMD Ryzen 3 4300U แบบ 4 คอร์ 4 เธรด ความเร็ว 2.7-3.7 GHz
- GPU : AMD Radeon Graphics แบบ 5 คอร์
- HDD : HDD ความจุ 1TB 7200RPM
- รองรับการอัพเกรดเพิ่ม M.2 SATA x 1 ช่อง
- RAM : 4GB DDR4 บัส 3200 MHz
- รองรับการอัพเกรดเพิ่มแรม SO-DIMM x 2 ช่อง
- Display : 23.8 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS
- Ports : USB 2.0 x 2, USB 3.0 x 2, HDMI 1.4 x 1, Audio Combo x 1, 13-in-1 SD Card Reader x 1
- Wireless : Wi-Fi 5 มาตรฐาน 802.11ac รองรับ Bluetooth 5.0
- Webcam : กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ติดตั้งไมค์ Dual Array
- OS : Windows 11 Home
- Weight : 5.85 กิโลกรัม
- ประกัน 3 ปี On-site service
- Price : 16,750 บาท (HP Thailand)
Hardware & Design
ดีไซน์ของ HP 205 Pro G4 เน้นความเรียบง่าย ตัวเครื่องขนาด 23.8 นิ้ว ดีไซน์ให้กรอบหน้าจอ 3 ด้านบางพิเศษ สังเกตว่าไอคอนบนหน้าจอจะชิดขอบสามฝั่งและมีกรอบด้านล่างตัวเครื่องจะเป็นแผงเจาะรูประเอาไว้พร้อมติดโลโก้ HP สีเงินตรงกลางแผ่นประ เมื่อกดเปิดเครื่องจะมีไฟสีขาวติดขึ้นมาแสดงสถานะว่าตัวเครื่องเปิดขึ้นมาพร้อมทำงานแล้ว
ขาตั้งจะเป็นเหล็กเส้น 2 เส้น แข็งแรงพิเศษ ดัดโค้งเป็นทรงเหมือนดวงดาวเพื่อรับน้ำหนักเครื่อง 5.85 กิโลกรัมเอาไว้ ซึ่งข้อดีของขาตั้งหน้าจอแบบนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถเอาสายไฟของเมาส์และคีย์บอร์ดที่แถมมาให้ในเซ็ตลอดเข้าไปได้สะดวก จัดสายไฟให้เข้าที่ได้ง่ายๆ
ตัวขาตั้งก้านเหล็กรูปดาวของ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้ ถ้าสังเกตที่ช่องขาตั้งด้านใต้เครื่อง จะเห็นว่าทางบริษัทเว้นระยะเอาไว้เล็กน้อยเพื่อให้ปรับหน้าจอก้มมาด้านหน้าหรือเอนไปด้านหลังได้ โดยระยะอยู่ราว 80~100 องศา ทำให้ผู้ใช้สามารถปรับองศาการมองหน้าจอได้สะดวกขึ้น
ขอบบนตัวเครื่องจะเว้นช่องว่างเป็นแนวยาว เพื่อดึงลมเย็นเข้าและระบายอากาศร้อนในตัวเครื่องออกได้ ซึ่งดีไซน์นี้ถือว่าหลบสายตาของผู้ใช้ได้ดีไม่เป็นช่องหลังเครื่องเหมือน AIO บางรุ่น
ด้านหลังเครือ่งจะเป็นบอดี้พลาสติกผิวไม่เรียบพร้อมโลโก้ HP สีดำตรงกลางตัวเครื่อง ถัดมาด้านล่างเป็นชุดพอร์ตและฝั่งซ้ายมือจะเป็นช่อง DVD-RW และปุ่ม Power ที่ขอบล่างซ้ายมือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาจอจะเป็นด้านหลังฝั่งขวา) ส่วนความหนาตัวเครื่องจะเห็นว่าจากบนลงล่างจะเป็นแนวโค้งมาจนถึงกลางเครื่องที่กลายเป็นแนวตรงลงไปจนสุดขอบล่างเครื่อง และริมเครื่องสองฝั่งจะโค้งเข้าหาผู้ใช้ ช่วยให้กดปุ่มเปิดเครื่องและไดรฟ์ DVD-RW ได้สะดวก
แต่จุดสังเกตคือตัวเครื่องด้านหลังจะเป็นแบบเรียบ ไม่ได้เจาะช่องสำหรับรองรับ VESA Mount มาให้เหมือน AIO หลายๆ รุ่นในปัจจุบัน ทำให้ต่อเข้ากับแขนจับหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ดังนั้นรูปแบบการจัดโต๊ะทำงานก็จะจำกัดให้อยู่เฉพาะใช้ขาตั้งของตัวเครื่องเท่านั้น ซึ่งถ้าทาง HP จะออกรุ่นใหม่ก็แนะนำให้ดีไซน์ขาตั้งตัวเครื่องใหม่ให้รองรับ VESA Mount ด้วยจะดีกว่า
Screen & Speaker
หน้าจอของ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้มีขนาด 23.8 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS เป็นหน้าจอด้านกันแสงสะท้อนและขอบหน้าจอบาง สังเกตว่ากรอบหน้าจอทั้ง 3 มุมจะบางมากจนเกือบไม่มีกรอบหน้าจอเลย และมีขอบด้านล่างตัวเครื่องหนาอยู่ฝั่งเดียว เวลาทำงานหรือดูคอนเทนต์ต่างๆ บนหน้าจอจะกว้างและขอบหน้าจอไม่รบกวนสายตาอีกด้วย
ด้านขอบบนของหน้าจอจะมีกล้อง Webcam ติดตั้งเอาไว้พร้อมไมค์ Dual Array สำหรับประชุมหรือเรียนออนไลน์ได้ โดยตัวกล้องจะเป็นแบบสไลด์เก็บได้เมื่อไม่ต้องการใช้งานเป็นกลไกดึงเปิดดันปิดด้วยมือ ถ้าไม่ต้องการใช้งานก็กดเก็บกลับเข้าไปได้ช่วยป้องกันการถูกเจาะระบบเข้ามาใช้กล้อง Webcam ของเราโดยพละการได้อีกด้วย
ด้านขอบเขตสีของหน้าจอเมื่อวัดด้วย Spyder5Elite แล้ว ต้องถือว่าทาง HP เลือกใช้พาเนลหน้าจอคุณภาพดีทีเดียว โดยได้ 97% sRGB, 73% AdobeRGB, 73% DCI-P3 และค่าความเพี้ยนสีหรือ Delta-E อยู่ที่ 1.63 หรือน้อยกว่า 2 ช่วยการันตีว่าสีสันบนหน้าจอของ HP เครื่องนี้เที่ยงตรงและแสดงสีได้หลากหลายเฉดอีกด้วย
กลับกันความสว่างหน้าจอต้องถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อปรับความสว่างอยู่ที่ 100% แล้ว จะสว่าง 192.4 nits เท่านั้น หากเป็นโน๊ตบุ๊คสักเครื่องต้องถือว่าไม่ค่อยสว่าง แต่ในฐานะ AIO ที่มักจะวางเอาไว้ในห้องอาคารเป็นประจำอยู่แล้ว ก็จัดว่าไม่แย่นักและสว่างเพียงพอใช้งานอีกด้วย กลับกันพอแบ่งพื้นที่บนหน้าจอนี้เป็น 9 ช่องเพื่อวัดความสว่างเป็นโซนไป จะเห็นว่าพื้นที่หลายๆ ส่วนจะมีความสว่างลดลงเกิน 5% หลายจุดและกรอบกลางฝั่งซ้ายมือจะมีความสว่างลดลงมากสุดที่ 10% ทีเดียว หากจะใช้แต่งภาพอัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คก็ถือว่าพอใช้งานได้
สรุปผลคะแนนพาเนลหน้าจอแล้ว จะเห็นว่าจอของ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้ได้คะแนนเฉลี่ยที่ 3.5 เต็ม 5 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ ไล่เลี่ยกับ AIO ราคาคุ้มค่าหลายๆ รุ่นในปัจจุบันนี้ จุดเด่นของจอนี้ที่ได้คะแนนเต็มคือ Gamut, Contrast ที่ทำได้ 5 คะแนนเต็ม และถัดลงมาเป็น Color Accuracy ที่ได้ 4 คะแนน ด้านอื่นๆ จะไล่เลี่ยอยู่ที่ 3-3.5 คะแนนเท่านั้น
ลำโพงที่ติดตั้งมาให้ในตัวเครื่องมี 2 ดอก ปิดเอาไว้ด้วยขอบล่างของหน้าจอตัวเครื่องและขับเสียงออกด้านหน้าและมีช่องด้านล่างเจาะเว้นไว้เพิ่มเติมเพื่อให้ดอกลำโพงทำงานได้เต็มที่ ซึ่งเสียงที่ลำโพงคู่ดอกนี้ขับได้ต้องถือว่ายอดเยี่ยมทีเดียว ได้เสียงที่ดังกระหึ่มไม่แพ้ลำโพงแยกหลายๆ รุ่น ซึ่งจากที่ทดลองเปิดเพลงฟังแล้วแนะนำให้เปิดเสียงดังเพียง 50~70% ก็เพียงพอแล้ว ไม่ดังเกินไปจนหนวกหูผู้ใช้และคนรอบตัวเกินไป
ด้านเนื้อเสียงถือว่าสเตจเสียงกว้างกำลังดี ได้เสียงสเตอริโอฟังชัดเจน เครื่องดนตรีไม่เฟดและซัพพอร์ตเสียงนักร้องหลักได้เป็นอย่างดีและเสียงเบสหนักแน่นมีพลัง สามารถฟังเพลงแนว EDM ได้สบายๆ หลากหลายแนวไม่มีปัญหา ซึ่งผู้เขียนนับว่า HP 205 Pro G4 เครื่องนี้เป็น AIO ที่คุณภาพเสียงดีน่าประทับใจมากที่สุดรุ่นหนึ่งเท่าที่ได้ทดลองใช้งานและรีวิวมาเลย
Keyboard & Mouse
คีย์บอร์ดในเซ็ตที่แถมมาให้พร้อมตัวเครื่อง จะเป็นคีย์บอร์ด Rubberdome ขนาด Full-size ปกติที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านคอมพิวเตอร์ ไม่มีปุ่ม Function Hotkey ติดมาที่ปุ่ม F1-F12 เหมือน AIO หลายๆ รุ่นที่ได้รีวิวไปก่อนหน้านี้ อย่างมากก็มีแค่ปุ่มลัดสำหรับปิด, ลดและเพิ่มเสียงกับปุ่ม Sleep ติดตั้งมาให้เหนือปุ่มลูกศรเท่านั้น
อย่างมากคีย์บอร์ดนี้จะมีขาตั้งให้ปรับองศาคีย์บอร์ดให้เฉียงขึ้นได้หนึ่งองศาเท่านั้น โดยรวมๆ แล้วต้องถือว่าคีย์บอร์ดนี้ของ HP ดูค่อนข้างเรียบออกไปทางจืดชืดไปหน่อย เนื่องจากปัจจุบันนี้คีย์บอร์ดไม่ว่าจะเป็นแบบติดมากับโน๊ตบุ๊คหรือคีย์บอร์ดแยกก็มักเสริม Function Hotkey กับปุ่ม Fn มาให้ใช้งานได้สะดวกขึ้นแล้ว ไม่ได้ปล่อยว่างเอาไว้เช่นนี้ ซึ่งอาจจะดีกับผู้ใช้บางคนที่ชอบใช้คีย์บอร์ดแบบเดิมๆ แต่ในเมื่อมาถึงปี 2022 แล้ว คีย์บอร์ด AIO สักเครื่องหนึ่งก็ไม่น่าปล่อยให้โล่ง ไม่มีปุ่มลัดอะไรไว้อำนวยความสะดวกเช่นนี้
เมาส์ในเซ็ตก็ถือว่าเรียบง่ายไม่แพ้กันกับคีย์บอร์ด ใช้ดีไซน์พื้นฐานแบบ Ambidextrous จับถนัดทั้งสองมือสังเกตที่สันโค้งหลังเมาส์จะเห็นว่าไม่ค่อยโด่งสูง เหมาะกับการจับแบบ Palm Grip เป็นหลัก ถ้าใครเป็นคนนิ้วยาวจะจับแบบ Claw Grip ไม่สะดวกนัก แต่เนื่องจากน้ำหนักเบาเลยจับแบบ Fingertip Grip เอาปลายนิ้วจับแล้วเลื่อนเมาส์ไปมาได้สะดวกพอควร
อย่างไรก็ตามปุ่มบนเมาส์มีเพียง 3 ปุ่ม คือคลิกซ้ายขวาและกลาง ไม่มีปุ่ม Forward, Back ติดมาด้านข้างเมาส์ให้กดเวลาเปิด File Explorer หรือเปิดเบราเซอร์เข้าเว็บไซต์เลย ซึ่งทั้งสองปุ่มนี้จัดเป็นอีกสองปุ่มสำคัญในยุคที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตทำงานเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งทาง HP ควรเลือกเมาส์ที่แถมมาให้ในเซ็ตให้มีสองปุ่มนี้เพิ่มด้วยจะดีและช่วยผู้ใช้ทำงานได้สะดวกขึ้น
Connector
ชุดพอร์ตของ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้ จะแยกอยู่ 2 จุดด้วยกัน คือกรอบหลังหน้าจอที่มีพอร์ต Audio Combo, LAN RJ45, HDMI 1.4, ช่องเสียบปลั๊ก, USB 2.0 x 2, USB 3.0 x 2 ช่องด้วยกัน ถัดลงมาด้านใต้ช่องเสียบปลั๊กจะมี Kensington Lock สำหรับล็อคตัวเครื่องไว้กับโต๊ะเพื่อป้องกันการโจรกรรมได้
ส่วนพอร์ตที่แยกออกมาหนึ่งช่องเป็นพิเศษ คือ 13-in-1 SD Card Reader ที่ซ่อนอยู่ด้านใต้ขอบหน้าจอฝั่งขวามือ ซึ่งดีไซน์นี้ถึงจะสวยงามซ่อนได้เรียบร้อยก็ตามที แต่ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ใช้นักเพราะหายากพอควรตอนทดลองใช้งานใหม่ๆ ถ้าจะออกแบบให้เป็นมิตรกว่านี้แนะนำให้ย้ายไปอยู่ขอบข้างเครื่องจะดีกว่า
ส่วนจุดที่นึกไม่ถึงคือ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้ติดตั้งช่อง DVD-RW มาให้ใช้งานอีกหนึ่งช่อง โดยซ่อนอยู่ด้านหลังตัวเครื่องฝั่งขวามือเมื่อหันหน้าเข้าหน้าจอ ซึ่งไดรฟ์นี้ต้องถือว่าเป็นไดรฟ์ที่ไม่ค่อยได้ใช้งานมากนักแล้วในยุคที่ใช้ USB และ External Harddisk โอนไฟล์เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม บางบริษัทหรือหน่วยงานภาครัฐบางแห่งและสื่อการเรียนการสอนบางประเภทก็ยังใช้ไดรฟ์ดังกล่าวอยู่ ก็ต้องถือว่า HP AIO เครื่องนี้ยังออกแบบมารองรับกลุ่มผู้ใช้ได้กว้างขวางระดับหนึ่ง
Performance & Software
ซีพียูของ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้ติดตั้งเป็น AMD Ryzen 3 4300U แบบ 4 คอร์ 4 เธรด ความเร็ว 2.7-3.7 GHz เป็น AMD Zen 2 “Renoir” ขนาด 7 นาโนเมตร ผลิตโดย TSMC ประสิทธิภาพจัดว่าดีหายห่วง รองรับชุดคำสั่งพื้นฐานสำหรับใช้ทำงานกับโปรแกรมและระบบปฏิบัติการอย่างครบถ้วน ถ้าใช้ทำงานเอกสารหรือเรียนออนไลน์ทั่วไม่มีปัญหาแน่นอน
ด้านกราฟฟิคการ์ดเป็นจีพียูออนบอร์ดรุ่น AMD Radeon Graphics แบบ 5 คอร์ ความเร็ว 1400 MHz รองรับการเรนเดอร์ภาพและวิดีโอความละเอียดสูงขึ้นหน้าจอได้โดยไม่มีปัญหา รองรับชุดคำสั่ง OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan ครบถ้วน
แรมที่ติดตั้งมาให้ในเครื่องเป็น SO-DIMM จำนวน 1 แถว ความจุ 4GB DDR4 บัส 3200 MHz ชิปแรมผลิตโดย Samsung และตามสเปคแล้วผู้ใช้สามารถถอดเครื่องเพิ่มแรมได้อีก 1 แถวด้วย แต่อย่างไรก็ตาม นี่คือคอขวดแรกของ HP AIO เครื่องนี้ เพราะความจุ 4GB ในปัจจุบันถือว่าเป็นขั้นต่ำที่ระบบปฏิบัติการ Windows 11 ต้องการเพื่อใช้รันซอฟท์แวร์และโปรแกรมเบื้องหลังของตัวเครื่องด้วย ดังนั้นผู้เขียนแนะนำว่าถ้าซื้อมาควรอัพเกรดเป็น 8GB ขึ้นไปตั้งแต่เริ่มต้นเลยจะดีกว่า
ภายในเครื่องเมื่อดูจาก Device Manager แล้ว จะเห็นว่า HP AIO เครื่องนี้ใช้การ์ด Wi-Fi 5 ที่รองรับ Bluetooth 5.0 ของ Realtek รุ่น RTL88822CE ซึ่งหากเอาไว้ใช้งานทั่วไปจัดว่าไม่มีปัญหาอะไรนัก สามารถรับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว และติดตั้งชิป TPM 2.0 ซึ่งจำเป็นสำหรับ Windows 11 มาให้ครบถ้วนอีกด้วย
ฮาร์ดดิสก์ที่ติดตั้งเป็นไดรฟ์ C:\ ของตัวเครื่องเป็นของ Western Digital Blue ความจุ 1TB เมื่อวัดความเร็วด้วย HD Tune แล้วได้ความเร็วอ่านเขียนข้อมูลอยู่ที่ 2.9~185.6 MB/s ความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 122.7 MB/s จัดเป็นความเร็วมาตรฐานทั่วไปของฮาร์ดดิสก์รุ่นนี้อยู่แล้ว ถ้าใช้งานทั่วไปอย่างงานออฟฟิศหรือให้ลูกหลานเรียนออนไลน์ก็จัดว่าใช้งานได้ไม่มีปัญหา
แต่จากมุมมองของผู้เขียนถือว่าความเร็วอยู่ในระดับทั่วไปใช้งานได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าดูจากหน้าสเปคที่ทาง HP โชว์ไว้ที่หน้าเว็บไซต์ จะเห็นว่าตัวเครื่องนี้รองรับ M.2 SATA III x 1 ช่อง ซึ่ง AIO หลายรุ่นในปัจจุบันก็ติดตั้งระบบปฏิบัติการไว้ใน SSD กันหมดแล้วเพื่อให้บูตเครื่องโหลดโปรแกรมขึ้นมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว อย่างน้อยก็เร็วกว่าฮาร์ดดิสก์ทั่วไปราว 4-5 เท่าแล้ว ถ้าใครมีแผนซื้อ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้ไปทำงานออฟฟิศแนะนำให้อัพเกรดใส่ SSD แล้วย้าย Windows 11 Home ในเครื่องมาไดรฟ์นี้แล้วใช้ Western Digital Blue เป็นฮาร์ดดิสก์สำรองไฟล์งานต่างๆ ก็พอ
ด้าน M.2 SATA III ก็แนะนำให้ลองเริ่มต้นจาก WD Blue, WD Green ความจุราว 256~512GB เท่านี้ก็บูตเครื่องโหลดไฟล์หรือเปิดโปรแกรมได้อย่างรวดเร็วแตกต่างจากเดิมอย่างชัดเจนแล้ว
ด้านการทดสอบเรนเดอร์ภาพ 3D CG ด้วย CINEBENCH R15 ว่าประสิทธิภาพของ AMD Ryzen 3 4300U กับ AMD Radeon Graphics 5 คอร์ในตัวเครื่องสามารถเรนเดอร์งานได้ดีไหม ผลคือได้คะแนน OpenGL 36.81 fps และ CPU 530 cb ซึ่งอยู่ในระดับทั่วๆ ไปของซีพียูรุ่นเริ่มต้นเช่นนี้ กล่าวคือมันใช้แสดงผลภาพ 3D ได้ระดับหนึ่งแต่ไม่ถึงกับซีพียูระดับกลาง เช่น AMD Ryzen 5 หรือ Intel Core i5 ขึ้นไป ซึ่งกลุ่มนั้นพลังประมวลผลต่อคอร์จะสูงกว่า
ส่วน CINEBENCH R20 ที่ทดสอบเน้นพลังการประมวลผลของซีพียูอย่างเดียว ได้ 1270 pts เทียบคือพลังประมวลผลของตัวซีพียูจัดว่าไม่มีปัญหา กำลังต่อคอร์ถือว่าดีพอรองรับโปรแกรมที่กินพลังประมวลผลของซีพียูหนักๆ ได้อย่างแน่นอน
จากการทดสอบด้วย 3DMark Sky Diver ที่ใช้ทดสอบพีซีหรือโน๊ตบุ๊คที่ใช้การ์ดจอออนบอร์ด ได้ผลคะแนนรวมที่ 5,552 คะแนน แยกเป็นซีพียู 7,107 คะแนนและการ์ดจอออนบอร์ดที่ 5,384 คะแนน ซึ่งคะแนนอาจจะดูสูงแต่ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้ก็ไม่ได้ตอบโจทย์การเล่นเกมฟอร์มยักษ์เท่าตระกูล AMD Ryzen ตระกูล H ที่มีการ์ดจอออนบอร์ดในตัวเหมือนกัน
กล่าวคือ เมื่อนำไปทดสอบใช้งานจริงแล้วการ์ดจอออนบอร์ด AMD Radeon Graphics 5 คอร์ตัวนี้จะเหมาะกับเกมที่ทำด้วย Flash, Java หรือแอพฯ ส่งเสริมการเรียนรู้ทั่วไปสำหรับเด็กเล็กมากกว่า ดังนั้นผู้เขียนไม่แนะนำให้คาดหวังในแง่การเล่นเกมกับ HP AIO เครื่องนี้นัก
กลับกัน จุดที่พอคาดหวังกับ HP 205 Pro G4 ได้ระดับหนึ่งจากที่ผู้เขียนได้ทดสอบและใช้งานจริง คือการนำเครื่องไปทำงานออฟฟิศหรือเรียนออนไลน์ทั่วไปเสียมากกว่า โดยผลจาก PCMark 10 ทำคะแนนเฉลี่ยได้ที่ 3,245 คะแนน
หากใครได้ติดตามรีวิวมาอย่างต่อเนื่องอาจจะตั้งข้อสงสัยว่าเมื่อ HP AIO เครื่องนี้ที่ทำคะแนนได้เท่านี้จะดีหรือ? ในส่วนนี้ถ้ามองแยกคะแนนเป็นกลุ่มๆ จะเห็นว่าด้านการใช้งานทั่วไป เช่นการประชุมออนไลน์ เปิดโปรแกรมและแอพฯ ต่างๆ ขึ้นมาใช้งานในหมวด Essentials ทำได้ 5,284 คะแนน ไม่ยิ่งหย่อนกว่าส่วนของ Productivity ที่วัดการทำงานกับโปรแกรม Microsoft Word, Excel ที่ทำได้ 5,459 คะแนนเลย กลับกัน คะแนนในส่วนที่จัดว่าพอทำได้คืองาน Digital Content Creator หรืองานตัดต่อแต่งภาพและวิดีโอทำได้แค่ 3,217 คะแนน ซึ่งถือว่าน้อยสุดเป็นปกติอยู่แล้วหากพีซี, โน๊ตบุ๊คเครื่องนั้นๆ ไม่ได้มีการ์ดจอแยกติดตั้งมาให้ในตัว
หากให้จำกัดความว่า HP AIO เครื่องนี้จะเหมาะกับผู้ใช้กลุ่มไหนบ้าง ณ จุดนี้จะมี 2 กลุ่มหลัก แยกเป็นกลุ่มออฟฟิศที่ต้องการซื้อพีซีแบบสำเร็จรูปทดแทนพีซีเซ็ตเก่าทั้งหมด และอีกกลุ่มคือกลุ่มครอบครัวอย่างผู้ปกครองซื้อพีซีเครื่องแรกให้ลูกหลานเอาไว้ทำรายงานหรือเรียนออนไลน์ก็เหมาะกับ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้เช่นกัน
Heat & Noise
ความร้อนและอุณหภูมิตัวเครื่องจากที่ทดลองใช้ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้สักระยะ เวลาใช้งานปกติจะไม่มีเสียงรบกวนเวลาใช้งานเลยและตัวเครื่องก็เย็นแทบจะตลอดเวลาอีกด้วย อย่างมากเวลารันโปรแกรม Benchmark อยู่ ก็จะมีเสียงพัดลมโบลวเวอร์ภายในเครื่องดังขึ้นเล็กน้อยแค่พอแว่วๆ เท่านั้น ไม่ได้ดังรบกวนเวลาใช้งานนัก
ส่วนอุณหภูมิที่ CPUID HWMonitor จับได้ตอนผู้เขียนทดลองรัน 3DMark แล้ว อุณหภูมิของซีพียูจะอยู่ที่ 33~70 องศาเซลเซียส เฉลี่ยที่ 45 องศาเท่านั้น ต้องถือว่าทั้งตัวซีพียูและระบบระบายความร้อนที่ HP เซ็ตอัพมาให้ในเครื่องถือว่าทำออกมาได้ดีทีเดียว จะรันงานหนักๆ ก็ไม่ร้อนเกินไปอย่างแน่นอน
User Experience
กล่าวถึงประสบการณ์การใช้ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้แล้ว ในฐานะของ All-In-One PC เครื่องหนึ่งต้องถือว่าเป็นเครื่องที่ดีไซน์เรียบง่ายดูดีพอควร เหมาะกับการวางไว้ใช้ในสำนักงานอย่างไม่ต้องสงสัย สามารถปรับองศาก้มเงยของหน้าจอได้สะดวก ช่วยให้ผู้ใช้ที่มีส่วนสูงร่างกายแตกต่างกันสามารถใช้พีซีเครื่องนี้ทำงานได้เป็นอย่างดี และกล้อง Webcam พร้อมไมค์ Dual Array ที่ติดตั้งมาให้ใช้งานก็ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้านับในฐานะพีซีสำหรับใช้งานทั่วไป ต้องถือว่า HP AIO เครื่องนี้ทำหน้าที่ได้ดี
ถัดมา เรื่องลำโพงที่ผู้เขียนขอยกให้เป็นลำโพงที่เสียงดีสุดในหมู่ All-In-One PC ที่ได้ทดสอบและรีวิวมา ซึ่งเนื้อเสียงของลำโพงตัวนี้จัดว่าหนักแน่น ฟังเพลงดีมากจนไม่ต้องพึ่งลำโพงแยกเลยก็ได้ เนื้อเสียงจัดว่าน่าประทับใจและสเตจจัดว่ากว้างกำลังดีและเสียงไม่กลบกันเองและแรงปะทะของเบสจัดว่ามีพลังหนักแน่นทีเดียว ซึ่งจากที่ทดลองเปิดเพลงฟังแล้วผู้เขียนขอแนะนำให้ตั้งเสียงลำโพงให้ดังเพียง 50~70% ก็ดังฟังชัดเจนแล้ว หากเสียงดังกว่านี้อาจจะดังจนรบกวนคนใกล้ตัวหรือมีปัญหากับการได้ยินในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ผู้เขียนยังกังขาและอยากให้ HP นำไปปรับปรุง AIO ซีรี่ส์ใหม่ๆ ในอนาคตเพิ่มเติมด้วยมีอยู่สองส่วน ได้แก่ เรื่องเมาส์และคีย์บอร์ดที่แถมมาในกล่องปัจจุบันนี้ควรเปลี่ยนเป็นไร้สายที่เชื่อมต่อด้วย USB Wireless Dongle ร่วมกันเหมือนแบรนด์คู่แข่งได้แล้ว เหตุผลไม่ได้เป็นแค่เรื่องความสวยงามเท่านั้น แต่รวมถึงความสะดวกเวลาลากเมาส์ทำงานแล้วสายเมาส์จะไม่รั้งมือผู้ใช้เอา นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาเรื่องสายรกรุงรังด้านหลังเครื่องและต้องเสียเวลาเก็บสายไฟอีกด้วย
ประเด็นถัดมาคือสเปคของตัวเครื่องที่ให้มาเท่ากับสเปคขั้นต่ำที่ Microsoft กำหนดให้ Windows 11 เท่านั้น ซึ่งจุดนี้ผู้เขียนเห็นว่าทาง HP ออกทางกั๊กไปบ้างและอาจจะเป็นจุดอ่อนที่ถูกเปรียบกับแบรนด์คู่แข่งหลายๆ เจ้าที่ไดรฟ์ C:\ ของ AIO หลายๆ รุ่นจะเป็น SSD แล้ว ไม่ว่าจะเป็น M.2 SATA, M.2 NVMe ก็ตาม เพื่อให้บูตเครื่อง, โหลดไฟล์งานและเปิดโปรแกรมได้อย่างรวดเร็ว กลับกัน HP 205 Pro G4 เครื่องนี้ยังคงใช้ HDD จานหมุนปกติและมีแรมติดเครื่องเพียง 4GB เวลาใช้งานจริงจะเสียเวลารอให้เครื่องตอบสนองนานพอควร ทั้งตอนเปิดเครื่องและเรียกโปรแกรม เป็นคอขวดไปโดยปริยาย ซึ่งให้ดีอย่างน้อยก็น่าจะใส่ M.2 SATA ความจุ 256GB มาเป็นไดรฟ์ C:\ สักหน่อยจะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ยังดีที่ทาง HP ยังให้พอร์ต RAM แบบ SO-DIMM มา 2 ช่อง และช่อง SSD แบบ M.2 PCIe 3.0 x4 อีก 1 ช่อง ผู้ใช้จึงยังพอแกะเครื่องอัพเกรดได้บ้าง แต่ในแง่อัพเกรดเครื่องย้าย Windows ไป SSD ยังไง AIO ก็ยังไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ใช้ทั่วไปนักเพราะมีชิ้นส่วนที่ต้องแกะเยอะกว่าฝาหลังของโน๊ตบุ๊คหลายชิ้นทีเดียว ดังนั้นผู้เขียนแนะนำให้ซื้อ RAM, SSD มาเตรียมให้เรียบร้อยค่อยติดต่อช่างหรือยกเครื่องไปศูนย์บริการเพื่อให้ผู้ชำนาญการของ HP เป็นผู้จัดการเลยจะดีที่สุด
Conclusion & Award
โดยรวมแล้ว HP 205 Pro G4 เครื่องนี้ เป็น All-In-One PC ที่ผู้เขียนยกให้เป็นคอมพิวเตอร์ที่เหมาะกับผู้ใช้ที่หาพีซีเครื่องแรกให้คนใกล้ตัวหรือซื้อเอาไว้ให้ลูกหลานใช้เรียนออนไลน์ในช่วงที่โรงเรียนหลายๆ แห่งยังไม่เปิดให้เข้าเรียนตามปกติก็ได้ หรือจะเป็นเครื่องฟลีตซื้อปริมาณมากของออฟฟิศสำนักงานสักแห่งก็เป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากสเปคพื้นฐานออกมาดีในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะซีพียู AMD Ryzen 3 4300U พร้อมติดตั้ง Windows 11 Home มาให้พร้อมพอร์ตที่จำเป็นต้องใช้งานครบถ้วน
ด้านเสียงลำโพงติดเครื่องก็เป็นจุดเด่นจุดแข็งอีกจุดหนึ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบและยกให้เป็นลำโพงติด AIO ที่ดีสุดอีกรุ่นหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย ด้วยเนื้อเสียงที่ครบถ้วนและเบสที่มีแรงปะทะกำลังดี ฟังเพลงได้หลากหลายแนว ดูหนังก็ได้อารมณ์ ไม่ต้องพึ่งลำโพงแยกก็ใช้งานได้ดีมาก
อย่างไรก็ตาม จุดที่ผู้เขียนขอตั้งธงเอาไว้เล็กน้อยคือเรื่องสเปคที่ทำมาให้เพียงพอผ่านเกณฑ์ติดตั้ง Windows 11 เพียง RAM 4GB และฮาร์ดดิสก์ทั่วไปนั้นตอบสนองได้ไม่รวดเร็วพอและกินเวลาโหลดไฟล์นานในปี 2022 นี้ ผู้เขียนขอแนะนำว่าถ้าสั่งซื้อเครื่องเมื่อไหร่ ควรเลือกอัพเกรดเพิ่มแรมไปอย่างน้อย 8GB และให้ดีควรเพิ่ม SSD เข้าไปที่พอร์ต PCIe 3.0 x4 เพื่อรันเป็นไดรฟ์ C:\ สักหน่อย จะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน
award
best multimedia
ลำโพงของ HP 205 Pro G4 เครื่องนี้ จัดเป็นจุดเด่นที่น่าประทับใจที่สุดในหมู่ All-In-One PC ที่ผู้เขียนได้รีวิวมา เสียงดังกระหึ่มและเนื้อเสียงหนักแน่นมีมิติไม่แพ้ลำโพงแยกราคาแพงหลายๆ รุ่น ถ้าใครซื้อไว้เพื่อใช้งานทั่วไปและดูหนังฟังเพลงน่าจะชื่นชอบอย่างแน่นอน