Infinix INBOOK X2 โน๊ตบุ๊คบางเบาสเปคดีครบเครื่องแต่ราคาเป็นมิตรกับกระเป๋าเงิน
ก่อนหน้านี้เชื่อว่าหลายๆ คนรู้จัก Infinix INBOOK X1 โน๊ตบุ๊คเครื่องบางเบาเพื่อคนทำงานและราคาเข้าถึงง่าย ก็มี Infinix INBOOK X2 เปิดตัวมาเป็นภาคต่อที่ยังคงเรื่องสเปคต่อราคาที่คุ้มค่าไม่แพ้รุ่นก่อนหน้านี้ แต่ได้รับการอัพเดทหลายอย่างไม่ว่าจะดีไซน์ตัวเครื่องที่เพรียวบาง, น้ำหนักตัวเครื่องที่เบาลง, บอดี้อลูมิเนียมทั้งตัวและมีสีสันตัวเครื่องให้เลือกถึง 4 สี ได้แก่ สีเทา, เขียว, น้ำเงินและแดง ตามคอนเซปท์ “Light Up the Vivid World – จุดประกายโลกแห่งสีสัน” และได้ใช้ Windows 11 ตั้งแต่เริ่มใช้งานอีกด้วย
แม้จะเป็นโน๊ตบุ๊คราคาไม่แพงเข้าถึงง่ายแต่ก็เลือกใช้ชิ้นส่วนตัวเครื่องคุณภาพดี ไม่ว่าจะพาเนล IPS คุณภาพสูงที่ทาง Infinix เคลมขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB และลำโพง DTS Audio และติดตั้งพอร์ตจำเป็นมาให้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะ HDMI, USB-A, USB-C รวมไปถึง MicroSD Card Reader ที่ผู้ใช้หลายๆ คนยังต้องใช้อยู่ ถือว่าน่าสนใจทีเดียว
- Core i3 / RAM 4GB / SSD 256GB
- ไปตำกันได้ที่ : https://bit.ly/3o54FT9
NBS Verdict
Infinix INBOOK X2 ถือว่าเป็นโน๊ตบุ๊คภาคต่อจากรุ่นก่อนอย่าง INBOOK X1 ได้อย่างดี ทั้งบอดี้เครื่องที่เป็นอลูมิเนียมเลือกได้หลากหลายสี แข็งแรงสวยงามและใช้พาเนลหน้าจอ IPS คุณภาพดี ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB รวมทั้งลำโพง DTS Audio และมีพอร์ตที่จำเป็นต้องใช้งานติดตั้งมาให้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะพอร์ต USB-C ที่ติดตั้งมาให้ 2 ช่องโดยเฉพาะฝั่งซ้ายที่เป็นแบบ Full Function ใช้โอนไฟล์, ต่อหน้าจอแยกและชาร์จแบตเตอรี่ตามมาตรฐาน Power Delivery ได้ จัดว่าคุ้มค่าดีและไม่ค่อยพบในโน๊ตบุ๊คระดับราคาหมื่นต้นบ่อยๆ ด้วย
ส่วนฟีเจอร์ที่ไม่เหมือนใครของ INBOOK X2 คือดวงไฟคู่ Dual-Star light สำหรับส่องใบหน้าให้สว่างเวลาประชุมหรือเรียนออนไลน์แล้วไฟในห้องไม่สว่างก็กด Fn+Spacebar เปิดไฟเพิ่มความสว่างได้ทันที ด้านราคาที่ทาง Infinix ตั้งเอาไว้ให้รุ่นเริ่มต้นที่ 12,990 บาท จัดว่าราคาถูกและสเปคดี ได้ Intel Core i3 มาใช้งานก็ถือว่าไม่แพงและตอบโจทย์ผู้ใช้ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่หรือเพิ่งจบใหม่แล้วได้งานที่แรกก็ตัดสินใจซื้อมาใช้ได้ง่ายอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของ Infinix INBOOK X2 ที่ไม่ควรมองข้ามจะมีอยู่ 2 จุดหลักๆ คือเรื่องอุณหภูมิตัวเครื่องเวลารันการทำงานอย่างเต็มที่จะค่อนข้างร้อนแม้อุณหภูมิจะไม่ส่งขึ้นมาที่มือก็ตามแต่อาจจะมีปัญหาในระยะยาวได้ ซึ่งจะพบเป็นระยะๆ เมื่อใช้โปรแกรม 3D CG แต่ถ้าใช้งานเอกสารหรือเปิดเว็บไซต์จะไม่มีปัญหานี้แน่นอน และยังไม่มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือติดตั้งมาให้เพื่อความเป็นส่วนตัวและปลดล็อคตัวเครื่องได้สะดวกกว่าเดิม แต่เมื่อแลกกับราคาที่คุ้มค่าเช่นนี้ก็ยังถือว่าพอทำเนาแต่ถ้าเป็นไปได้ในรุ่นถัดไปผู้เขียนก็เสนอว่าควรติดเซนเซอร์นี้มาให้ใช้งานด้วยจะยิ่งทำให้เครื่องนี้น่าใช้ยิ่งกว่าเดิม
ข้อดีของ Infinix INBOOK X2
- ตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียม แข็งแรงและงานประกอบแน่นหนา เลือกได้ 4 สี
- มีดวงไฟคู่ Dual-Star light ติดตั้งมาให้คู่กับ Webcam เพื่อให้ใบหน้าสว่างขึ้นเวลาประชุมหรือเรียนออนไลน์
- หน้าจอขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB ความละเอียด Full HD ถือเป็นพาเนลคุณภาพสูง
- น้ำหนักตัวเครื่องเบาเพียง 1.2 กิโลกรัมเท่านั้น พกพาสะดวกไม่หนักเกินไป
- มีพอร์ต USB-C แบบ Full Function ใช้ชาร์จแบตเตอรี่, ต่อหน้าจอแยกและโอนไฟล์ได้
- มีพอร์ตที่จำเป็นต้องใช้งานไม่ว่าจะ HDMI, USB-A, MicroSD Card Reader ติดตั้งมาครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องซื้ออแดปเตอร์แยกเสมอไป
- ลำโพง DTS Audio ให้เสียงดีเกินระดับราคา มีมิติและฟังเพลงได้หลากหลายแนว
- ติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่สุดอย่าง Windows 11 Home มาให้ใช้ตั้งแต่เริ่มต้น
- ราคาเริ่มต้นเพียง 12,990 บาทแต่ได้รุ่น Intel Core i3 ถือว่าไม่แพงและสเปคคุ้มมาก
ข้อสังเกตของ Infinix INBOOK X2
- อุณหภูมิตอนเครื่องทำงานกับโปรแกรมกลุ่มตัดต่อวิดีโอหรือ 3D ค่อนข้างร้อน
- ไม่มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือติดตั้งมาให้ ต้องพิมพ์รหัสเพื่อปลดล็อคเครื่อง
รีวิว Infinix INBOOK X2
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery / Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Video Review
Specification
สเปคของ Infinix INBOOK X2 ถือว่ามีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ Intel Core i3 ที่ราคาเริ่มต้นเพียง 12,990 บาทไปจน Intel Core i7 และมีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย โดยสเปคจะเป็นดังนี้
- CPU เลือกได้ 3 รุ่น
- Intel Core i3-1005G1 แบบ 2 คอร์ 4 เธรด ความเร็ว 1.2-3.4 GHz
- Intel Core i5-1035G1 แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 1.0-3.6 GHz
- Intel Core i7-1065G7 แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 1.3-3.9 GHz
- GPU
- รุ่น Intel Core i3, i5 เป็น Intel UHD Graphics
- รุ่น Intel Core i7 เป็น Intel Iris Plus Graphics
- SSD : แบบ M.2 NVMe ความจุ 256-512GB
- RAM : ออนบอร์ด 8-16GB DDR4
- Display : 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS ขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB
- Ports : USB-C รองรับการชาร์จแบตฯ Power Delivery, ต่อหน้าจอแยก DisplayPort x 1, USB-C x 1, USB 3.0 x 2, HDMI 1.4 x 1, MicroSD Card Reader x 1, Audio Combo x 1
- Wireless : Wi-Fi 5 มาตรฐาน 802.11ac รองรับ Bluetooth 5.1
- Webcam : 720p HD Camera พร้อมดวงไฟคู่ Dual-Star light
- OS : Windows 11 Home, Microsoft Office
- Weight : 1.24 กิโลกรัม
- Price
- รุ่น Intel Core i3 ราคา 12,990 บาท (วางขายผ่านทาง JD Central เท่านั้น)
- รุ่น Intel Core i5 ราคา 18,990 บาท
- รุ่น Intel Core i7 ราคา 21,900 บาท (รุ่นที่ได้รับมาทดสอบ)
Hardware & Design
ดีไซน์ของ Infinix INBOOK X2 ถ้ามองเผินๆ จะเห็นว่าตัวเครื่องจะดูเรียบง่ายเหมือนโน๊ตบุ๊คทั่วไปในปัจจุบัน โดยกรอบหน้าจอจะเป็นพลาสติกสีดำด้านอย่างเดียว ส่วนบอดี้ส่วนอื่นจะเป็นอลูมิเนียมทั้งหมดและเป็นสีตามที่เลือก ได้แก่ สีเทา, เขียว, น้ำเงินและแดง ตามคอนเซปท์ “Light Up the Vivid World – จุดประกายโลกแห่งสีสัน” ที่ทาง Infinix จำกัดความไว้ให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้
ส่วนขอบล่างของฐานตัวเครื่องจะแตกต่างจากรุ่น INBOOK X1 โดยเปลี่ยนจากแบบปลายขอบหน้าจอยื่นออกเป็นฐานตัวเครื่องเว้าเข้าไปเล็กน้อยเพื่อให้ใช้นิ้วดึงเปิดหน้าจอขึ้นมาใช้งานได้โดยสะดวก และทาง Infinix ก็จัดการบาลานซ์นน้ำหนักตัวเครื่องได้ดี เมื่อกางหน้าจอแล้วฐานเครื่องไม่กระดกตามนิ้วขึ้นมา จัดว่าบาลานซ์น้ำหนักตัวเครื่องได้เป็นอย่างดี
ฝาหลังของ Infinix INBOOK X2 จะเป็นสีแบบทูโทน คือเป็นสีเดียวกันแต่แยกการปัดเงาอลูมิเนียม 2 แบบ คือปัดเงาที่ครึ่งบนให้สีเข้มกว่าครึ่งล่างที่เป็นแบบเดียวกับฐานเครื่องและสกรีนชื่อแบรนด์ Infinix ติดเอาไว้ที่ฝั่งขวาของฝาหลังเครื่องด้วย ดูสวยไม่ใหญ่จนสะดุดตาเกินไป
ด้านบานพับตัวเครื่องจะออกแบบให้อยู่เหนือช่องระบายความร้อน เวลากางหน้าจอแล้วจะไม่เห็นช่องระบายความร้อน มีแต่ฝาหลังตัวเครื่องอย่างเดียวทำให้ดูเรียบร้อยสวยงามและกางหน้าจอได้กว้างพอควร
โดยองศาหน้าจอที่กางได้กว้างสุดจะอยู่ราว 130 องศา สามารถกางหน้าจอให้เข้าองศาการมองเห็นได้ดี ไม่ว่าจะวางบนโต๊ะทำงานหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็มองเห็นหน้าจอได้สะดวกอย่างแน่นอน
ด้านใต้ของตัวเครื่องจะมีช่องระบายความร้อนอยู่ตรงกลางด้านบนเป็นแถบยาวเพื่อดึงอากาศเย็นเข้าไประบายความร้อนผ่านพัดลมโบลวเวอร์ตรงกลางหนึ่งตัว ส่วนช่องเล็กด้านข้างเครื่องทั้ง 2 ช่องเป็นลำโพงคู่จองตัวเครื่องและติดยางกันบอดี้ด้านใต้เครื่องสัมผัสกับพื้นโต๊ะที่วางโดยตรงเพื่อลดโอกาสเกิดรอยขนแมวบนตัวเครื่องทั้งหมด 4 จุด และขันน็อตล็อคฝาเครื่องเอาไว้ด้วยน็อตแฉก Philip head ขนาดเล็ก 11 ตัว ซึ่งแน่นหนาไม่หลุดง่ายอย่างแน่นอน
Screen & Speaker
หน้าจอของ Infinix INBOOK X2 จะมีขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด Full HD พาเนล IPS โดยทางผู้ผลิตเคลมขอบเขตสีกว้าง 100% sRGB ไว้ และออกแบบให้หน้าจอกรอบบางลง ทำให้เห็นเนื้อหาบนหน้าจอกว้างขึ้นและติดดวงไฟคู่ Dual-Star light เอาไว้ข้างกล้อง Webcam เวลาประชุมงานหรือเรียนออนไลน์แล้วห้องมืดไปก็สามารถกดเปิดไฟให้หน้าของเราสว่างขึ้นได้ นับเป็นฟีเจอร์ที่แหวกแนวและตอบโจทย์คนประชุมหรือเรียนออนไลน์ได้เป็นอย่างดี
ส่วนการทดสอบความกว้างของขอบเขตสีหน้าจอด้วย Spyder5Elite แล้วต้องถือว่าได้ผลที่ดีทีเดียว โดยได้ 91% sRGB, 71% AdobeRGB, 70% DCI-P3 และเมื่อเช็คเทียบความเที่ยงตรงของสีได้ผลคือค่า Delta-E อยู่ที่ 1.43 เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่า 2 เป็นการการันตีว่าสีสันบนหน้าจอเที่ยงตรงทีเดียว ซึ่งทั่วไปแล้วโน๊ตบุ๊คระดับราคาไม่เกินหรือใกล้เคียง 20,000 บาทต้นๆ จะได้พาเนลหน้าจอที่ขอบเขตสีไม่กว้างและเที่ยงตรงเท่าหน้าจอของ Infinix INBOOK X2 เครื่องนี้ ดังนั้นต้องถือว่าทาง Infinix เลือกพาเนลคุณภาพดีคุ้มเกินตัวมาติดตั้งให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เลย
ส่วนความสว่างหน้าจอเมื่อเปิดสว่างสุดจะได้อยู่ที่ 277.9 nits ถือว่าใกล้เคียงกับที่ผู้ผลิตเคลมไว้ที่ 300 nits จะนั่งทำงานในพื้นที่กลางแจ้งที่เฉลียงร้านกาแฟหรือริมหน้าต่างแล้วแสงแดดส่องหน้าจอก็นั่งทำงานได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าใช้งานในออฟฟิศในตัวอาคารแนะนำให้เปิดความสว่างเพียง 75% ก็เพียงพอแล้วเพราะได้ความสว่างระดับ 222.5 nits ก็นับว่าสว่างเพียงพอแล้ว
พอแบ่งความสว่างเป็นตาราง 9 ช่อง เพื่อเช็คอัตราส่วนความสว่างลดลง จะเห็นว่าพื้นที่ส่วนกลางและล่างของริมซ้ายและขอบล่างตรงกลางจะเป็น 3 ช่องที่ความสว่างลดลงสูงสุดที่ 11, 13, 18% ทีเดียว ซึ่งถ้าใครต้องการแต่งภาพเพื่ออัพโหลดขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์คแนะนำให้เลี่ยง 3 โซนนี้เพื่อไม่ให้เทียบสีแล้วเกิดโอกาสสีเพี้ยนหรือปรับความสว่างผิดพลาดได้ ส่วนพื้นที่อื่นสามารถใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา
สุดท้ายคะแนนสรุปของหน้าจอ Infinix INBOOK X2 เครื่องนี้ที่ Spyder5Elite วัดได้ อยู่ที่ 4 จาก 5 คะแนน โดยจุดเด่นที่สุดของหน้าจอนี้คือเรื่องค่า Contrast ที่ได้เต็ม 5 คะแนน และ Gamut, Color Uniformity, Color Accuracy จะทำได้ 4.5 จาก 5 คะแนน ซึ่งผลที่ผู้ใช้ทั่วไปจะรู้สึกได้ทันทีคือ สีสันความสวยงามของหน้าจอนี้จะโดดเด่นและสวยเป็นพิเศษอีกด้วย
ด้านลำโพง DTS Audio สองตัวที่ติดตั้งมาให้ด้านใต้ตัวเครื่องเป็นลำโพงแบบแถบยาว โดยตัวลำโพงจะแขวนเอาไว้กับก้านเหล็กและช่องขันน็อตและเนื้อเสียงเมื่อทดลองฟังเพลงแล้วต้องถือว่าเป็นลำโพงที่เสียงดังเพียงพอสำหรับห้องขนาด 28 ตร.ม. ได้สบายๆ และได้เนื้อเสียงที่ดีทีเดียวซึ่งเนื้อเสียงจะได้เสียงนักร้องดังชัดเจนไล่เลี่ยกับเสียงของเครื่องดนตรีและเสียงเบสมีน้ำหนักฟังชัด ฟังเพลงแนว EDM หรือร็อคก็ได้อารมณ์ดี ถือว่าเป็นลำโพงติดโน๊ตบุ๊คที่คุณภาพเสียงดีเกินตัวรุ่นหนึ่ง
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ Infinix INBOOK X2 จะเป็นคีย์บอร์ดแบบ 75% เมื่อเทียบกับคีย์บอร์ดขนาดปกติ มีปุ่ม Function ติดตั้งมาที่แถบฝั่งขวามือเป็นปุ่ม Home, Page Up, Page Down, End เพื่อให้กดเลื่อนหน้าเว็บไซต์หรือหน้ากระดาษขึ้นลงได้อย่างรวดเร็วและมีไฟ LED Backlit ติดตั้งมาให้ ช่วยให้พิมพ์งานในที่แสงน้อยได้สะดวกกว่าเดิม ส่วนสัมผัสการพิมพ์ถือว่าเป็นปุ่มที่ระยะกดสั้น ได้สัมผัสตอนพิมพ์ที่แน่นมั่นคงเหมาะกับคนที่ชอบพิมพ์งานด้วยแป้นคีย์บอร์ดโน๊ตบุ๊คมาก
ส่วนองค์ประกอบของฐานตัวเครื่องและคีย์บอร์ด จะเห็นว่าปุ่มลูกศรขึ้นและลงจะเป็นแบบปุ่มเต็มแยกครึ่งปุ่มเพื่อประหยัดพื้นที่, ปุ่มโลโก้ Windows สกรีนเป็นโลโก้ Windows 11 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นใหม่แล้ว ส่วนขอบบนเหนือคีย์บอร์ดฝั่งซ้าย ทาง Infinix ติดตั้งไฟ LED แสดงสถานะตัวเครื่องเอาไว้ทั้ง 3 ดวง ทำให้เจ้าของเครื่องได้เห็นสถานะการทำงานของตัวเครื่องตลอดเวลา และปุ่ม Power ของตัวเครื่องติดอยู่มุมบนขวาของตัวเครื่องแต่เป็นปุ่มธรรมดาไม่ได้รวมเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือเหมือนโน๊ตบุ๊คบางรุ่น ซึ่งผู้เขียนคิดว่าถ้าทาง Infinix เปิดตัว INBOOK รุ่นใหม่ถัดจากรุ่นนี้ แนะนำให้ติดตั้งเซนเซอร์นี้เพิ่มเข้ามาจะช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวและปลดล็อคเครื่องได้สะดวกขึ้น
ด้านปุ่ม F1-F12 ก็มีปุ่ม Function Hotkey ติดตั้งมาให้ ถ้ากดตรงๆ จะเป็นปุ่ม F1-F12 ตามปกติ ถ้ากด Fn ค้างเอาไว้ก่อนจะเป็น Function Hotkey โดยมีคำสั่งดังนี้
- F1-F2 – เพิ่มหรือลดเสียง
- F3 – ปรับความสว่างไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด
- F4 – ปุ่ม Project สำหรับตั้งค่าหน้าจอหลักและจอแยก
- F5-F7 – ปิด, เพิ่ม, ลดเสียงลำโพง
- F8 – ปิดหรือเปิดการทำงานทัชแพด
- F9 – ปุ่มปิดเปิดการทำงาน Wi-Fi คล้ายปุ่ม Airplane Mode
- F12 – ปุ่ม Print Screen
- Fn+Spacebar – คำสั่งเปิดปิดไฟ Dual-Star light
- Fn+Esc – สั่งโน๊ตบุ๊คเข้า Sleep Mode
สังเกตว่าทาง Infinix จะไม่ได้เซ็ต Function Hotkey มาให้ครบทุกปุ่มเหมือนแบรนด์โน๊ตบุ๊คชั้นนำหลายๆ แบรนด์ แต่ก็ยังให้ฟังก์ชั่นหลักๆ มาอย่างครบถ้วนระดับหนึ่ง แต่ส่วนตัวแนะนำว่ารุ่นต่อไปอาจจะแยกปุ่ม Print Screen ออกมาเป็นปุ่มหนึ่งโดยเฉพาะและรวมกับคำสั่งเรียก Snippint Tool แทนปุ่ม Scroll Lock, เพิ่มคำสั่งปิดการทำงานกล้อง Webcam กับไมโครโฟนมาให้กรณีไม่ต้องการใช้งานแทนจะดีกว่า
ทัชแพดที่ติดตั้งมาให้จะมีขนาดใหญ่ดีไซน์ซ่อนปุ่มคลิกและค่อนไปทางขวาจนอยู่ใต้สันมือพอดีและเวลาวางมือพิมพ์งานบนคีย์บอร์ดแนะนำให้ยกมือขึ้นเล็กน้อยด้วยเพื่อป้องกันอาการทัชแพดลั่นแล้วทำงานกะทันหันตอนไม่ตั้งใจด้วย แต่ถ้าใครต่อเมาส์แยกแล้วไม่ใช้งานทัชแพดก็กด Fn+F8 ปิดไปก็ได้ ตัวทัชแพดรองรับ Gesture Control ของ Windows ครบถ้วนดีแต่ตัวคลิกซ้ายขวาจัดว่าแข็งมากและกดจะมีเสียงดังเช่นเดียวกับปุ่ม Power เปิดเครื่อง ซึ่งจุดนี้ผู้เขียนคิดว่าทาง Infinix อาจจะปรับแต่งเพิ่มเติมให้ปุ่มคลิกเบาลงสักหน่อยจะใช้งานได้สะดวกสบายขึ้น
Connector / Thin & Weight
พอร์ตของ Infinix INBOOK X2 ต้องถือว่าให้มาแบบไม่กั๊กและจัดเต็มกว่าแบรนด์อื่นพอควร ซึ่งในระดับราคา 1-2 หมื่นบาทต้นนั้นหารุ่นที่จะมี USB-C ติดตั้งมาให้ค่อนข้างยากแต่เครื่องนี้ติดตั้งมาให้ 2 ช่องรวมถึงพอร์ตอื่นๆ อีกด้วย โดยมีพอร์ตดังนี้
- ฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ – HDMI 1.4, USB-A 3.0, USB-C แบบ Full Function รองรับการชาร์จแบตเตอรี่ด้วย Power Delivery, ต่อหน้าจอแยกแบบ DisplayPort และโอนไฟล์เข้าออกเครื่องได้
- ฝั่งขวาจากซ้ายมือ – MicroSD Card Reader, USB-C แบบโอนไฟล์อย่างเดียว, Audio Combo, USB-A 3.0, Kensington Lock
- การเชื่อมต่อไร้สาย – Wi-Fi 5 มาตรฐาน 802.11ac รองรับ Bluetooth 5.1
ในแง่ของพอร์ตที่ติดตั้งมาให้ ต้องถือว่าครบเครื่องและเยอะมากโดยไม่ตัดพอร์ตจำเป็นทิ้งเลย ซึ่งปกติแล้วโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่นเมื่อติดตั้งพอร์ต USB-C Full Function มาให้ 1-2 ช่องแล้ว มักจะตัดพอร์ตอื่นๆ ทิ้งเกือบหมดและติด USB-A 3.0 มาให้ 1-2 ช่องเท่านั้น แต่ Infinix กลับติดมาให้ครบถ้วน ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องไล่หา USB-C Multiport adapter มาต่อให้เสียเงินเพิ่มซื้อมาแล้วก็ต่อหน้าจอคอมพิวเตอร์ใช้งานได้เลย ถือว่าครบเครื่องมาก ส่วนมิติตัวเครื่องจะกว้าง 323.3 x ลึก 211.1 x หนา 14.8 มม. จัดว่าเป็นไซซ์ของโน๊ตบุ๊ค 14 นิ้วทั่วไป สามารถพกใส่กระเป๋าเป้ไปไหนมาไหนได้สะดวก ไม่ต้องใช้กระเป๋าใบใหญ่ก็ได้
น้ำหนักตัวเครื่อง เมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอลแล้วเฉพาะเครื่องหนัก 1.23 กิโลกรัม ส่วนหัวปลั๊กและสาย USB-C to C ที่แถมมาให้หนักแค่ 159 กรัม น้ำหนักสุทธิเมื่อพกอุปกรณ์ทุกชิ้นแล้วอยู่ที่ 1.39 กิโลกรัมเท่านั้น น้ำหนักสุทธิจัดว่าเบาเท่ากับน้ำหนักของโน๊ตบุ๊คบางเบาของแบรนด์ชั้นนำหลายๆ รุ่น ถ้าต้องการพกโน๊ตบุ๊คติดตัวไปทำงานหรือเรียนก็ไม่หนักเกินไปและยังเอาปลั๊กไปชาร์จแบตเตอรี่ให้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ด้วย
Inside & Upgrade
การเปิดฝาอัพเกรดตัวเครื่อง จะต้องใช้ไขควงหัวแฉก Philip head ขนาดเล็กขันน็อตทั้ง 11 ตัวก่อนแล้วนำการ์ดบางสอดไล่รอบขอบเครื่องเพื่อเปิดฝาออก โดยผู้เขียนแนะนำว่าเวลาขันน็อตควรแยกน็อตตัวยาวพิเศษที่ขันติดมุมบนขวาสุดออกมาเป็นพิเศษหนึ่งตัวจะได้ขันกลับได้ถูกช่อง และที่ต้องใส่ใจสักหน่อยเมื่อเปิดฝาแล้ว คือตัวลำโพง DTS Audio สามารถดึงถอดออกจากแกนที่ล็อคตัวมันเอาไว้ได้ด้วยมือเปล่า แนะนำว่าก่อนปิดฝาเครื่องกลับไปให้ดูชุดลำโพงให้เข้าที่ก่อนค่อยขันน็อตกลับด้วย
ด้านในเครื่องเมื่อเปิดฝามาแล้ว Infinix INBOOK X2 เองก็เหมือนกับโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่นที่อัพเกรดได้เฉพาะ M.2 NVMe SSD ที่ติดตั้งเอาไว้ชิ้นเดียว ส่วนแรมถูกบัดกรีติดมาแบบออนบอร์ดและปิดด้วยพลาสติกสีดำป้องกันไฟฟ้าสถิตย์ตลอดแนว ดังนั้นถ้าใครซื้อมาแล้ว SSD ไม่พอใช้ก็ยังพอถอดอัพเกรดเครื่องได้อยู่
Performance & Software
สเปคของ Infinix INBOOK X2 เครื่องนี้ จะมีรุ่นให้เลือกหลักๆ 3 รุ่นด้วยกันคือรุ่นเริ่มต้นที่เป็น Intel Core i3 รุ่นที่ 10 รุ่น Intel Core i3-1005G1 แบบ 2 คอร์ 4 เธรด ความเร็ว 1.2-3.4 GHz มาถึงตัวท็อปที่เป็นเครื่องทดสอบในบทความนี้ที่ใช้ซีพียู Intel Core i7-1065G7 แบบ 4 คอร์ 8 เธรด ความเร็ว 1.3-3.9 GHz ที่ประสิทธิภาพสูงแม้จะเก่าไป 1 รุ่นก็ตาม แต่ถ้าใช้ทำงานออฟฟิศ หรือเรียนออนไลน์ก็นับว่ายังทำงานได้ดีอย่างแน่นอนและรองรับชุดคำสั่งที่ต้องใช้กับโปรแกรมต่างๆ อย่างครบถ้วน
ด้านแรมออนบอร์ดที่ติดตั้งมาให้มีความจุ 8GB DDR4 ด้านความจุนับว่ามีเพียงพอใช้ทำงานเอกสาร, เข้าเว็บไซต์หรือจะใช้เรียนออนไลน์ก็ทำงานได้แน่นอน แต่อาจจะต้องระวังเรื่องปริมาณแท็บของเบราเซอร์และโปรแกรมที่เปิดใช้งานคู่กันสักนิดหน่อยก็ช่วยให้ใช้งานได้ไหลลื่นไม่เกิดอาการแรมเต็มหรือล้นจนต้องเอาข้อมูลไปพักเขียนใน SSD ด้วย
ในเมื่อเป็น Intel Core i7 รุ่นที่ 10 การ์ดจอออนบอร์ดที่ติดตั้งมาจะเป็น Intel Iris Plus Graphics รองรับการเรนเดอร์ภาพได้ดีระดับหนึ่ง รองรับ DirectX 12, OpenCL, OpenGL 4.6, DirectCompute, DirectML, Vulkan อย่างครบถ้วน แต่งานที่เหมาะกับการ์ดจอออนบอร์ดของ Intel จะเน้นไปทางงานตัดต่อแต่งภาพหรืออาจจะพอใช้ตัดต่อวิดีโอได้บ้างเล็กน้อย แค่กินเวลากว่าการ์ดจอแยกบ้าง แต่ไม่แนะนำให้นำไปเล่นเกมนัก ยกเว้นเกมที่ไม่กินทรัพยากรเครื่องเยอะอย่างเกมอินดี้หรือเกมมือถือที่นำมาเล่นในคอมพิวเตอร์กับเกมที่ทำจากโปรแกรม RPG Maker ถือว่ายังพอเล่นได้ระดับหนึ่ง
เมื่อเช็คชิ้นส่วนภายในเครื่องด้วย Device Manager แล้ว จะเห็นว่าชิ้นส่วนใน Infinix INBOOK X2 เครื่องนี้ติดตั้งชิ้นส่วนหลักๆ มาให้ครบถ้วนทั้งชิป TPM 2.0 ที่ Windows 11 จำเป็นต้องใช้งานเพื่อรักษาความปลอดภัยข้อมูล ติดตั้งการ์ด Wi-Fi 5 รุ่น Intel Wireless-AC 9461 รองรับการรับส่งข้อมูลแบบ MU-MIMO ทำให้รับส่งข้อมูลได้เร็วและเสถียร แต่สังเกตว่ายังไม่มี Biometric device เนื่องจากเครื่องนี้ไม่มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้าติดตั้งมาในเครื่อง แต่ทั้งหมดนี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับใช้ทำงานทั่วไป
ด้าน SSD แบบ M.2 NVMe ของ FORESEE ความจุ 512GB ที่ติดตั้งมาในเครื่องเป็นอินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ความจุ 512GB มีความเร็ว Sequential Read 2,500 MB/s และ Sequential Write 1,709 MB/s ในแง่ความเร็วแล้วต้องถือว่า SSD ของ FORESEE ตัวนี้เร็วไล่เลี่ยกับ WD Green SN350 480GB ดังนั้นพูดได้ว่า M.2 NVMe SSD ตัวนี้เร็วเพียงพอจะบูตโปรแกรม, โหลดไฟล์เข้าออกตัว SSD ได้อย่างรวดเร็วแน่นอน
ถ้าใครต้องการเปลี่ยนเป็นรุ่นที่ความเร็วสูงขึ้นอาจเปลี่ยนเป็น WD Blue SN570 500GB ที่อ่านเขียนข้อมูลได้เร็วและหาซื้อได้ง่ายหรือ Transcend 220S ที่เร็วไม่แพ้กันแต่ได้ความทนทานตอนเขียนอ่านข้อมูลสูงกว่าตัวนี้ก็ดีเช่นกัน
สำหรับทดสอบเรนเดอร์ 3D CG ด้วยโปรแกรม CINEBENCH R15 ที่ทดสอบโดยรวมทั้ง CPU, GPU จะได้ผลคะแนน OpenGL ที่ 66.39 fps และคะแนน CPU 718 cb ที่เป็นระดับคะแนนทั่วไปของซีพียู Intel รุ่นที่ 10 แล้ว และถ้าทดสอบเน้นกำลังการประมวลผลของ CPU ด้วย CINEBENCH R20 จะได้คะแนน CPU 1,594 pts ต้องถือว่าเป็นระดับคะแนนที่พอใช้งานกับโปรแกรม 3D CG ต่างๆ ได้ระดับหนึ่งแต่ไม่แนะนำระดับใช้ทำงานหลักนัก
ด้านการเล่นเกมเมื่อทดสอบ Infinix INBOOK X2 จะเห็นว่าผลคะแนนเฉลี่ยที่ทำได้ใน 3DMark Time Spy อยู่ที่ 693 คะแนนเท่านั้น เป็นการการันตีว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไม่เหมาะกับการนำมาเล่นเกมสามมิติในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์การใช้งานหลักของโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้อยู่แล้ว
เมื่อทดสอบด้วย PCMark 10 จะได้คะแนนรวม 4,005 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับที่ใช้ทำงานทั่วไปได้สบายๆ ถ้าดูแยกหมวดคะแนนกันจะเห็นว่า Infinix INBOOK X2 จะบูตโปรแกรมต่างๆ, ประชุมออนไลน์, เปิดเว็บเบราเซอร์หรือทำงานเอกสารได้อย่างแน่นอน แต่ส่วนที่แค่พอใช้งานได้แต่ไม่โดดเด่นจะเป็นงานประเภท Digital Content Creation หรือการตัดต่อแต่งภาพ ซึ่งคะแนนเฉพาะด้านระดับ 3,931 คะแนนนับว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้งานได้แต่ไม่โดดเด่นนัก
ผลทดสอบจาก Affinity Photo ซึ่งเป็นโปรแกรมตัดต่อภาพประเภทเดียวกับ Adobe Photoshop จะเห็นว่าคะแนน Vector กับ Raster ด้วย CPU อย่างเดียวสามารถใช้งานได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อใช้ Intel Iris Plus Graphics มาเรนเดอร์ภาพจัดว่าพอใช้ตัดต่อภาพในบางโอกาสได้อยู่บ้าง
Battery / Heat & Noise
แบตเตอรี่ของ Infinix INBOOK X2 เครื่องนี้ จะเป็นแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนขนาด 50Wh มีค่า Rated Capacity อยู่ที่ 4,330 mAh และ Typical Capacity อยู่ที่ 4,430 mAh ถือว่าให้ความจุมามากพอใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง ถือว่าเป็นความจุที่เยอะกว่าโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่นที่เคยทดสอบมาก่อนหน้านี้
ความจุ 50Wh ที่ทาง Infinix เคลมเอาไว้คือ สามารถใช้งานเข้าออกเว็บไซต์ต่างๆ ได้นาน 11 ชั่วโมงด้วยกัน แต่เมื่อทดสอบด้วยมาตรฐานของทางเว็บไซต์โดยลดความสว่างหน้าจอต่ำสุด, ปิดไฟ LED Backlit ทิ้ง, ลดเสียงลำโพงเหลือ 10% แล้วเปิด YouTube ดูคลิปยาว 30 นาทีด้วยเบราเซอร์ Microsoft Edge แล้ว โปรแกรม BatteryMon สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานสุด 7 ชั่วโมง 14 นาทีเท่านั้น
สำหรับระยะเวลาใช้งาน Infinix INBOOK X2 ถือว่าอยู่ได้เท่ากับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นในปัจจุบันเท่านั้น นับว่าค่อนข้างน้อยในฐานะเป็นโน๊ตบุ๊คเครื่องบางเบาเน้นใช้ทำงานเป็นหลัก แต่ก็ชดเชยว่าปลั๊กสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้มีขนาดเท่ากับปลั๊กสมาร์ทโฟนทำให้พกพาง่ายและเอามาชาร์จแบตเตอรี่คืนให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้สะดวกอยู่ ถือว่าชดเชยกันได้ระดับหนึ่ง
พัดลมโบลวเวอร์ระบายความร้อนในตัวเครื่องจะมีอยู่ 1 ตัวโดยติดตั้งไว้กลางเมนบอร์ดและเดินฮีตไปป์ 2 เส้นพาดจากซีพียูในเครื่องมาที่ฮีตซิ้งค์แล้วระบายความร้อนออกจากเครื่อง โดยมีขนาดเล็ก, เสียงเบาและไม่กินพื้นที่มากนัก
ด้านอุณหภูมิที่วัดด้วยโปรแกรม CPUID HWMonitor ขณะรันโปรแกรม Benchmark ทั้งสองตัวอย่าง 3DMark Time Spy และ PCMark 10 แล้ว จะเห็นว่าอุณหภูมิตัวเครื่องอยู่ที่ 40-100 องศาเซลเซียสทีเดียว ซึ่งถ้าดูจากมุมการทดสอบด้วยโปรแกรมแล้วจะเห็นว่าค่อนข้างร้อนมาก
แต่จากการใช้งานจริงแล้วผู้เขียนไม่พบปัญหาเรื่องความร้อนสูงเลยแม้จะเปิดเบราเซอร์, ทำงานเอกสารหรืออะไรก็ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ดังนั้นถ้าใครซื้อโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ไปทำงานก็ไม่ต้องกังวลก็ได้ และความร้อนที่ผู้เขียนลองจับทั่วตัวเครื่องแล้วมักจะไปกระจุกอยู่แค่ตรงส่วนพัดลมโบลเวอร์เหนือคีย์บอร์ดส่วนเดียวเท่านั้น ส่วนอื่นจะไม่ร้อนอย่างแน่นอน
User Experience
ในแง่การพก Infinix INBOOK X2 ไปใช้งานจริงแล้ว ต้องถือว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เป็นเครื่องที่น้ำหนักเบาพกพาง่ายและสเปคดีตอบโจทย์การทำงานออฟฟิศหรือเรียนออนไลน์ก็ใช้ได้เป็นอย่างดี ด้วย Intel Core รุ่นที่ 10 เองถ้าไม่นับเรื่องผลจากโปรแกรม Benchmark ก็ได้ประสิทธิภาพดีระดับหนึ่งอยู่แล้ว แม้จะเก่าลงไปรุ่นหนึ่งแล้วแต่ก็ยังใช้ทำงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดีไม่แพ้ซีพียู Intel รุ่นใหม่กว่าอย่างแน่นอน
ด้านน้ำหนัก 1.24 กิโลกรัม นั้นถือว่าพกพาไปไหนมาไหนได้ง่ายมาก จะใส่กระเป๋าเป้หรือกระเป๋าสะพายข้างก็สะดวก และจะเตรียมปลั๊กกำลังชาร์จ 45 วัตต์ของตัวเครื่องติดกระเป๋าไปก็หนักเพียง 1.39 กิโลกรัม เทียบคือเบาเท่าเครื่องของโน๊ตบุ๊ค Intel Evo แบบไม่รวมปลั๊กเท่านั้นเอง แต่ก็นำปลั๊กของตัวเครื่องไปชาร์จสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย ก็ช่วยลดปริมาณอุปกรณ์ในกระเป๋าไปได้ระดับหนึ่ง
นอกจากนี้พอร์ต USB-C Full Function ที่ต่อหน้าจอแยกแบบ DisplayPort กับชาร์จแบตเตอรี่คืนให้โน๊ตบุ๊คได้แบบ Power Delivery ด้านซ้ายของตัวเครื่องก็นับเป็นฟีเจอร์เด่นที่โน๊ตบุ๊คระดับราคา 1-2 หมื่นบาทต้นๆ ไม่มีติดตั้งมาให้ แต่หาได้ใน Infinix INBOOK X2 เครื่องนี้ และยังมีพอร์ตที่จำเป็นต้องใช้ไม่ว่าจะ HDMI, USB-A, MicroSD Card Reader ติดตั้งมาให้ไม่เหมือนกับโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่นที่เมื่อใส่พอร์ต USB-C Full Function แล้วจะตัดพอร์ตพื้นฐานต่างๆ ทิ้งไปจนต้องหาซื้อ USB-C Multiport Adapter มาใช้ แต่เครื่องนี้ไม่ต้องซื้อก็ใช้งานได้สะดวกสบาย
อย่างไรก็ตามถ้ายกเว้นเรื่องอุณหภูมิตัวเครื่องที่สูง 100 องศาเซลเซียสที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก ก็จะมีจุดที่ถ้าปรับปรุงเพิ่มเติมสองอย่างคือ Function Hotkey ที่ควร Mapping เพิ่มเล็กน้อยให้มีคำสั่งลัดเพิ่มเติมอีก 2-3 คำสั่ง และติดตั้งเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบรวมไว้กับปุ่ม Power ด้วย ก็จะใช้งานได้สะดวกและปลอดภัยขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนคาดหวังกับ Infinix INBOOK รุ่นถัดไปว่าจะปรับแต่งเพิ่มเติมตามที่ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ก็จะเป็นโน๊ตบุ๊คที่น่าสนใจมากระดับเทียบชั้นกับแบรนด์ชั้นนำเจ้าต่างๆ ได้อย่างแน่นอน
Conclusion & Award
โดยสรุปแล้ว Infinix INBOOK X2 เครื่องนี้เป็นโน๊ตบุ๊คบางเบาราคาไม่แพงจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่น่าสนใจมาก ด้วยราคาเริ่มต้นเพียง 12,990 บาท แต่ได้สเปคเริ่มต้น Intel Core i3 รุ่นที่ 10 รวมทั้งมีพอร์ต USB-C Full Function กับพอร์ตพื้นฐานต่างๆ มาอย่างครบถ้วน จัดเป็นจุดแข็งที่เหนือกว่าโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่นที่วางขายในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีไฟส่องสว่าง Dual-Star light อีก 2 ดวง ซึ่งหาไม่ได้ในโน๊ตบุ๊ครุ่นไหนและทำให้ใบหน้าของเราสว่างขึ้นเวลาประชุมหรือเรียนออนไลน์อีกด้วย
นอกจากนี้น้ำหนักเพียง 1.24-1.39 กิโลกรัม ก็จัดว่าเครื่องเบาสบายไหล่มาก สามารถพกเครื่องติดตัวไปทำงานที่ไหนก็ได้สบายๆ และปลั๊กก็มีขนาดเท่าปลั๊กสมาร์ทโฟนเท่านั้น จึงไม่กินที่ในกระเป๋าและยังเอาไปชาร์จแบตเตอรี่ให้สมาร์ทโฟนได้ เรียกว่าเป็นโน๊ตบุ๊คที่เหมาะกับผู้ใช้ยุคปัจจุบันที่มีอุปกรณ์หลายชิ้นอย่างแน่นอน รวมทั้งราคาเข้าถึงง่ายเช่นนี้ก็เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่หาโน๊ตบุ๊คราคาไม่แพงรวมไปถึงคนเรียนจบใหม่ที่หาโน๊ตบุ๊คไว้ทำงานในบริษัทที่มีนโยบาย BYOD (Bring Your Own Device) เอาไว้ใช้งาน
award
Best Design
การเลือกวัสดุประกอบตัวเครื่องเป็นอลูมิเนียมทั้งเครื่อง บางเบา แข็งแรงและเลือกได้ 4 สีด้วย ทำให้ผู้ใช้ที่เบื่อกับสีโน๊ตบุ๊คที่มีแต่ดำหรือขาวมีตัวเลือกมากกว่าเดิมและได้ความแข็งแรง นอกจากนี้ยังให้พอร์ตจำเป็นใช้งานมาครบถ้วนแม้จะติด USB-C Full Function มาแล้ว ถือเป็นจุดเด่นที่โน๊ตบุ๊คราคาหมื่นต้นหลายๆ แบรนด์ไม่มีให้แต่อยู่ใน Infinix INBOOK X2 เครื่องนี้
Best Mobility
น้ำหนักเครื่อง 1.24 กิโลกรัม และเมื่อรวมปลั๊กแล้วหนักแค่ 1.39 กิโลกรัมนั้น จัดเป็นน้ำหนักที่เบากว่าโน๊ตบุ๊คบางเบาหลายๆ รุ่นจากแบรนด์ชั้นนำ เวลาจะพกเครื่องไปเรียนหรือทำงานก็พกได้สบายมาก ถ้าใครหาซื้อโน๊ตบุ๊คบางเบาเอาไว้ใช้งานก็แนะนำให้ดูรุ่นนี้ไว้ใช้ได้เลย