Lenovo Yoga Slim 7 Carbon โน๊ตบุ๊คเบาได้ใจเพียง 1 กิโลฯ แต่สเปคดีไม่ควรมองข้าม
ในยุคที่โน๊ตบุ๊คบางเบาแต่สเปคดีพากันเปิดตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ที่ใช้ซีพียู AMD Ryzen รหัส U ที่เน้นการประหยัดพลังงานแต่ได้ประสิทธิภาพสูงก็นับเป็นโน๊ตบุ๊คประสิทธิภาพดีและไม่ควรมองข้าม เพราะทาง Lenovo ใส่ฟีเจอร์มาให้มากมายทั้งหน้าจอขอบเขตสีกว้างรองรับ Dolby Vision HDR ปรับค่า Refresh Rate ไปมาระหว่าง 60-90 Hz เพื่อความไหลลื่นบนหน้าจอได้และอัตราส่วนหน้าจอยังเป็น 16:10 ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มพื้นที่การมองเห็นด้านข้างมากขึ้น จัดว่าเหมาะกับการทำงานต่างๆ เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ Lenovo ก็เติมฟีเจอร์เอื้อการใช้งานมาให้อย่างครบเครื่อง ไม่ว่าจะระบบสแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องที่ทำงานร่วมกับ Windows Hello, ดีไซน์กางหน้าจอได้ราบ 180 องศา, รองรับ Rapid Charge Express ชาร์จ 15 นาทีใช้งานต่อเนื่องยได้ 3 ชั่วโมง รวมไปถึงลำโพง Dolby Atmos ช่วยให้มิติเสียงตอนโทรประชุมงานหรือดูหนังฟังเพลงได้อรรถรสยิ่งขึ้น นับว่า Lenovo ก็เก็บรายละเอียดและให้ฟีเจอร์มาครบทีเดียว
NBS Verdict
Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ถือว่าเป็นโน๊ตบุ๊คที่ทาง Lenovo เลือกสเปคและฟีเจอร์เพื่อการทำงานมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะซีพียู AMD Ryzen 5 รหัส U เพื่อการประหยัดพลังงาน, ให้แรมมา 16GB พร้อมระบบปฏิบัติการ Windows 11 Home และ Microsoft Office Home & Student 2021 ซึ่งสเปคระดับนี้สามารถเปิดมาทำงานได้เลยไม่ต้องเสียเงินหาซอฟท์แวร์เพิ่ม จัดว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมากไม่มีข้อกังขาในแง่ของซอฟท์แวร์เลย
ด้านฮาร์ดแวร์และการออกแบบ ต้องถือว่าทำได้ดีเหมือนกันเพราะหน้าจอ QHD+ พาเนล OLED ที่รองรับ Dolby Vision HDR นั้นมีขอบเขตสีกว้าง, สว่างและเทียบสีเที่ยงตรง ใช้ทำงานอาร์ตได้สบายๆ และตัวเครื่องยังเบาเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น ทำให้คนที่ต้องการพกโน๊ตบุ๊คติดตัวไปติดต่องานตามสถานที่ต่างๆ พกพาได้สะดวกสบาย นอกจากนี้ยังล็อคอินเข้าเครื่องได้ง่ายเพราะมีกล้อง IR Camera สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องได้ทันทีและรวดเร็วและพอร์ตก็เปลี่ยนมาเป็น USB-C รองรับการชาร์จ USB Power Delivery และต่อหน้าจอแยก DisplayPort ได้สบายๆ หรือถ้าหน้าจอตั้งโต๊ะของใครยังเป็น HDMI, VGA อยู่ ทาง Lenovo ก็ให้อแดปเตอร์แปลง USB-C เป็นพอร์ตอื่นๆ มาตั้งแต่แกะกล่อง ช่วยผู้ใช้ประหยัดเงินไม่ต้องรีบซื้อ USB-C Multiport Adapter อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม จากที่ผู้เขียนนำ Yoga Sliim 7 Carbon ไปใช้งานมาระยะหนึ่งยังพบปัญหาที่เป็นบั๊กเล็กๆ น้อยๆ และรายละเอียดบางส่วนที่ถ้าทาง Lenovo ปรับแต่งเพิ่มเติมจะช่วยให้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้สมบูรณ์แบบขึ้น คือสวิตช์เลื่อนปิดกล้องหน้าเมื่อสไลด์ปิดกล้องแล้วเมื่อสไลด์เปิดอีกครั้ง กลายเป็นว่ากล้องหน้าใช้งานได้อย่างเดียวแต่ IR Camera กลับไม่ทำงานจนต้องรีเซ็ตเครื่องถึงจะใช้งานได้ ส่วนพอร์ตด้านข้างตัวเครื่องแม้จะเป็น USB-C ที่ประสิทธิภาพสูง โอนไฟล์เข้าออกรวดเร็วและรองรับอุปกรณ์รุ่นใหม่ได้หลากหลายก็ตาม แต่เชื่อว่าผู้ใช้หลายๆ คนรวมถึงผู้เขียนเอง ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้ USB-A อยู่ อย่างน้อยๆ ก็อาจจะมีเมาส์สักตัวหรือ External Harddisk ด้วย ดังนั้นส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า USB-C ฝั่งขวามือที่ใช้โอนไฟล์อย่างเดียวอาจจะเปลี่ยนเป็น USB-A 3.2 Gen 2 ก็ได้ ให้ผู้ใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมได้สะดวกขึ้นก็จะยอดเยี่ยม
ข้อดีของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon
- ซีพียู AMD Ryzen 5 5600U มีประสิทธิภาพดี ทำงานออฟฟิศและแต่งภาพสะดวก
- ติดตั้งกล้องหน้า IR ให้ใช้สแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องได้สะดวกยิ่งขึ้น
- มีสวิตช์เปิดปิดกล้องหน้า เวลาไม่ต้องการใช้งานก็ล็อคไว้ไม่ให้คนอื่นแฮ็คเข้ามาได้
- หน้าจอ 14 นิ้ว ความละเอียดสูง QHD+ 2.8K มีขอบเขตสีกว้างทำงานอาร์ตได้ดี
- หน้าจอปรับค่า Refresh Rate ได้ตั้งแต่ 60-90 Hz ทำให้ภาพบนหน้าจอไหลลื่นขึ้น
- ขอบเขตสีหน้าจอกว้างและแม่นยำ มีความสว่างสมดุลย์ทั่วจอใช้ตัดต่อแต่งภาพได้ดี
- ติดตั้ง Windows 11 Home และ Microsoft Office Home & Student 2021 มาให้พร้อมใช้งานทันที ไม่ต้องซื้อซอฟท์แวร์เพิ่ม
- ตัวเครื่องสามารถกางหน้าจอได้ราบ 180 องศา ทำให้ปรับการใช้งานได้สะดวก
- ตัวเครื่องเบาเพียง 1.1 กิโลกรัม พกพาไปติดต่องานได้สะดวก
- พอร์ตด้านข้างเครื่องเป็น USB-C ทั้งหมด รองรับการชาร์จด้วย USB Power Delivery และต่อจอแยกเป็น DisplayPort ได้
- มีอแดปเตอร์แปลง USB-C เป็น USB-A, HDMI, VGA แถมมาให้
- ลำโพง Dolby Atmos คุณภาพเสียงดี ดูหนังฟังเพลงได้อรรถรส
- มีฟีเจอร์ Rapid Charge Express ชาร์จไว 15 นาทีใช้งานได้ 3 ชม. ช่วยให้โน๊ตบุ๊คพร้อมใช้งานในนาทีสำคัญ
ข้อสังเกตของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon
- สวิตช์ปิดการทำงานกล้องหน้ามีบั๊กกับกล้อง IR เมื่อสไลด์เปิดใช้กล้องอีกครั้งแล้วฟังก์ชั่นสแกนใบหน้าไม่ทำงาน ต้องรอ Lenovo ออกแพทช์อัพเดทเพิ่มเติม
- ตัวเครื่องมีแต่ USB-C ทำให้คนที่ต้องใช้พอร์ต USB-A ต้องบริหารการใช้พอร์ตดีๆ
- ไม่มีพอร์ต Micro SD Card reader ติดตั้งมาให้
รีวิว Lenovo Yoga Slim 7 Carbon
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector / Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery / Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
Lenovo Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้จัดว่าเป็นโน๊ตบุ๊คสายทำงานที่ Lenovo ให้ฟีเจอร์มาแบบครบเครื่องพร้อมทำงานออฟฟิศได้เป็นอย่างดี พกพาสะดวกเพราะน้ำหนักเพียง 1.1 กิโลกรัมเท่านั้นและให้ซอฟท์แวร์มาครบเครื่องอีกด้วย โดยมีรายละเอียดสเปคดังนี้
- CPU : AMD Ryzen 5 5600U แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็ว 2.3-4.2 GHz
- GPU : AMD Radeon Graphics 7 คอร์
- SSD : M.2 NVMe ความจุ 512GB
- RAM : ออนบอร์ด 16GB LPDDR4x บัส 4266 MHz
- Display : 14 นิ้ว ความละเอียด QHD+ พาเนล OLED, Refresh Rate 60-90 Hz
- Ports : USB-C x 3 มี 2 พอร์ตรองรับ USB-PD และ DisplayPort, ช่องหูฟัง 3.5 มม. มีอแดปเตอร์ต่อแยกเพิ่มพอร์ต USB-A 3.0, HDMI, VGA
- Wireless : Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.1
- Webcam : IR Camera รองรับการสแกนใบหน้า มีสวิตช์เปิดปิด Webcam
- OS : Windows 11 Home, Microsoft Office Home & Student 2021
- Weight : 1.1 กิโลกรัม
- Price : 38,990 บาท (JIB)
Hardware & Design
ดีไซน์ของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้ แม้จะดูเรียบง่ายและยึดแนวการออกแบบคล้ายกับซีรี่ส์ Yoga Slim หลายๆ รุ่นที่ Lenovo ทำ โดยตัวเครื่องจะมีขอบโค้งมนเหมือนขอบวงรีและส่วนของกล้อง Webcam จะยื่นออกมาเล็กน้อยให้ใช้นิ้วเดียวดึงเพื่อเปิดหน้าจอได้เลย และบาลานซ์น้ำหนักเครื่องได้สมดุลย์และตัวเครื่องไม่กระดกขึ้นมา ส่วนรายละเอียดเชิงลึกจะเห็นว่าทาง Lenovo เลือกใช้วัสดุคุณภาพอย่างคาร์บอนไฟเบอร์และแม็กเนเซี่ยมอัลลอยด์มาประกอบตัวเครื่อง ทำให้ตัวเครื่องทั้งเบาและแข็งแรง
ด้านฝาหลังจะยังคงความเรียบง่ายแต่เรียบหรู คือติดเพลตบอกซีรี่ส์ YOGA เอาไว้มุมบนซ้ายและ Lenovo ไว้มุมล่างขวาเน้นความเรียบง่ายดูดีไม่หวือหวาเกินไป ช่วยเสริมบุคลิคให้ผู้ใช้ที่ต้องพกเครื่องไปติดต่อลูกค้าดูดีและเรียบหรูขึ้น
ด้านใต้ตัวเครื่องจะมีแถบยางติดเอาไว้ 3 จุด คือแถบยาวขอบบนใกล้กับช่องระบายความร้อนและด้านล่างอีกสองฝั่ง ช่วยป้องกันตัวเครื่องรูดกับพื้นโต๊ะโดยตรง ติดสติกเกอร์ไว้ 3 จุด คือส่วนบอกสเปค, Windows และไกด์แนะนำการใช้สวิตช์สไลด์เปิดปิดการทำงานกล้องหน้า ทำให้ผู้ใช้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับตัวสไลด์นี้เข้าใจและใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น มีน็อตหัว Torx ทั้งหมด 5 ตัวขันล็อคตัวเครื่องเอาไว้
สำหรับบานพับของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon จะออกแบบให้หลบขอบตัวเครื่อง ให้กางหน้าจอได้ราบ 180 องศา ทำให้วางโน๊ตบุ๊คกับที่วางโน๊ตบุ๊คหรือกางหน้าจอให้เพื่อนร่วมงานเห็นเนื้อหาบนหน้าจอได้สะดวก ไม่ต้องหันเครื่องไปมาให้เสียเวลาอีกด้วย
Screen & Speaker
หน้าจอขนาด 14 นิ้วของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon จะมีความละเอียด QHD+ 2.8K (2880×1800 พิกเซล) พาเนล OLED ปรับค่า Refresh Rate ได้ระหว่าง 60-90 Hz เพื่อให้ภาพบนหน้าจอลื่นไหลยิ่งขึ้น อัตราส่วนหน้าจอ 16:10 รองรับ Dolby Vision ได้รับการรับรอง VESA DisplayHDR 500 True Black การันตีการแสดงผลสีดำบนหน้าจอว่าได้ความดำสนิทสมจริงและทางบริษัทเคลมขอบเขตสีบนหน้าจอเอาไว้ที่ 100% DCI-P3 รวมทั้งได้รับการการันตี TÜV LBL Eyesafe กับ Eye Comfort เพื่อคอนเฟิร์มว่าหน้าจอนี้ถนอมสายตาผู้ใช้ ใช้งานต่อเนื่องหลายชั่วโมงก็ไม่ทำร้ายสายตา
สำหรับอัตราส่วนหน้าจอ 16:10 ของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้มาจากการที่ Lenovo รีดขอบหน้าจอให้บางลงทั้ง 3 มุม ยกเว้นขอบล่างที่หนากว่าอีกสามด้านเล็กน้อยและเขียนคำว่า Carbon Edition เอาไว้ที่ริมฝั่งขวามือ ส่วนขอบบนหน้าจอส่วน Webcam จะเป็นติ่งสูงขึ้นเพื่อติดตั้งชุดกล้อง IR Camera เอาไว้ใช้สแกนใบหน้า แต่จุดแตกต่างเล็กน้อยคือปลายติ่งตรงสันขอบตัวเครื่องจะไม่ได้ยิงเลเซอร์สลักชื่อรุ่นเอาไว้เหมือน Lenovo Yoga Slim รุ่นอื่น เช่น Yoga Slim 7i Pro ที่มีรีวิวไปก่อนหน้านี้
สำหรับขอบเขตสีหน้าจอ เมื่อทดสอบด้วย Spyder5Elite เพื่อวัดขอบเขตสีและความเที่ยงตรงของขอบเขตสีหน้าจอ จะเห็นว่า Lenovo Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้มีขอบเขตสี 100% sRGB, 99% AdobeRGB และ 93% DCI-P3 ถือว่าเป็นขอบเขตสีหน้าจอที่กว้างเทียบชั้นโน๊ตบุ๊คเพื่อครีเอเตอร์เลยและค่าความแม่นยำสีสันบนหน้าจอ Delta-E ดีมาก โดยเฉลี่ยเพียง 0.88 เท่านั้น จัดว่าเป็นหน้าจอที่ขอบเขตสีกว้างและเที่ยงตรงพร้อมเอาไว้ทำงานอาร์ตเช่นการวาดภาพหรือแต่งรูปถ่ายจากกล้องได้เลย ดังนั้นถ้าใครทำงานเป็น AE ที่ต้องขายโปรเจคหรืองานอาร์ตเวิร์คต่างๆ ก็สามารถอ้างอิงสีสันบนหน้าจอได้เลยเพราะเที่ยงตรงมาก
ด้านความสว่างหน้าจอเมื่อปรับความสว่างไว้ 100% จะได้ความสว่าง 315.8 nits จัดว่าสว่างมากแต่จากการใช้งานจริงต้องถือว่าความสว่างนี้ไม่ได้บาดตานักและใช้งานได้สะดวกทีเดียว แต่เนื่องจากพาเนลหน้าจอของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon เป็น OLED ที่สว่างเป็นพิเศษ ถ้าใช้งานในออฟฟิศเป็นหลักแนะนำให้ปรับความสว่างราว 60-70% ก็เพียงพอ ถ้านั่งทำงานนอกอาคารค่อยปรับเป็น 100% เพื่อสู้แสงแดดก็ได้ และเมื่อแบ่งหน้าจอเป็นตาราง 9 ช่องเพื่อวัดความสว่างจะเห็นว่าหน้าจอนี้สว่างเสมอกันทั่วหน้าจอ มีอัตราความสว่างลดลงสูงสุดเพียง 1% ทำให้ไม่มีโซนไหนต้องระวังเป็นพิเศษเวลาแต่งภาพและไม่มีโซนไหนความสว่างลดลงเป็นพิเศษจนต้องขยับภาพถอยจากโซนนั้น สามารถใช้ทั้งหน้าจอแต่งภาพได้เลย
คะแนนหน้าจอของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon โดยองค์รวมแล้วจะได้คะแนนเฉลี่ยที่ 4.5 เต็ม 5 คะแนน ถ้าดูแยกตามการทดสอบ จะเห็นว่าคะแนนขอบเขตสีหรือ Gamut และ Contrast จะได้คะแนนเต็ม ลดหลั่นลงมาเป็น Tone Response, Luminance Uniformity, Color Uniformity, Color Accuracy ที่ทำได้ 4.5 เต็ม 5 คะแนน ต้องถือว่าหน้าจอของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้มีคุณภาพดีพร้อมทำงานอาร์ตได้สบายๆ
ด้านของการปรับค่า Refresh Rate หน้าจอนั้น โดยพื้นฐานจากโรงงานจะอยู่ที่ 60 Hz ส่วนถ้าใครอยากใช้งานระดับ 90 Hz สามารถกด Fn+R เพื่อปรับค่า Refresh Rate แล้วหน้าจอของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon จะโชว์ค่า Refresh Rate ขึ้นมาให้ดู ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการแสดงผลที่ 90 Hz ของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ก็ใช้งานได้ไหลลื่นดีระดับหนึ่ง ทำให้ภาพต่อเนื่องนวลตายิ่งกว่าเดิมแต่ใช้แบตเตอรี่มากขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น ดังนั้นถ้าใครใช้สมาร์ทโฟนที่หน้าจอมีค่า Refresh Rate สูงแล้วอยากให้โน๊ตบุ๊คแสดงผลได้ไหลลื่นเหมือนกันอาจจะปรับค่า Refresh Rate เพื่อใช้งานก็ได้
สำหรับลำโพงที่ติดตั้งมาให้จะเป็นแบบ Soundbar ตัวยาวและทาง Lenovo เจาะช่องเสียงออก 2 ชุด รวม 4 จุดด้วยกัน คือออกด้านบนเป็นแถบยาวที่ริมคีย์บอร์ด 2 ฝั่งและด้านใต้ตัวเครื่องโดยลอดออกด้านข้างแล้วเสียงลงพื้นโต๊ะสะท้อนขึ้นมาให้ผู้ใช้ได้ยิน
ในแง่มิติเสียง ต้องถือว่าสเตจของลำโพงนี้กว้างกำลังดี ได้เสียงครบทุกมิติและเบสดังชัดเจนไม่แห้งหรือบางเกินไปเหมือนโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่นที่ได้รีวิวมาก่อนหน้านี้ โดยลำโพงของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ถือว่าใช้ฟังเพลงได้ทุกแนวและเพียง EDM ก็ได้เบสแน่นฟังกำลังเพลินหูและเสียงค่อนข้างดัง ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนแนะนำว่าถ้าเปิดฟังเพลงในห้องนอนไม่เกิน 28 ตร.ม. อาจจะลดเสียงลำโพงลงเหลือ 70% ก็ดังเพียงพอแล้ว ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างประทับใจกับลำโพง Dolby Atmos ชุดนี้ทีเดียว
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon จะเป็นทรง Tenkeyless มีปุ่มหลักสำหรับใช้งานอยู่ครบถ้วนพร้อมกับปุ่มฟังก์ชั่นสำหรับใช้งานรวมเอาไว้ที่ปุ่ม F1-F12 เช่นเดียวกับโน๊ตบุ๊ครุ่นต่างๆ และมีไฟ LED Backlit ติดมาให้ใช้งาน สามารถกด Fn+Spacebar เพื่อปรับความสว่างของไฟได้ให้พิมพ์งานในที่แสงน้อยได้สะดวกขึ้น และจะเห็นว่าโลโก้ Windows บนคีย์บอร์ดเปลี่ยนจากแบบของ Windows 10 เป็น Windows 11 แล้ว เพื่อยืนยันว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ติดตั้ง Windows เวอร์ชั่นล่าสุดมาจากโรงงานเลย
นอกจากนี้ทาง Lenovo ก็จัดการ Mapping ปุ่มฟังก์ชั่นหลักๆ ที่ใช้งานเอาไว้ครบถ้วน และรวมเอา Page Up, Page Down เอาไว้ที่ลูกศรขึ้นลง และ Home, End ไว้ที่ลูกศรซ้ายขวา ซึ่งเป็นชุดปุ่มที่ใช้งานเป็นประจำ ทำให้ใช้คีย์บอร์ดทำงานได้สะดวกขึ้น ส่วนปุ่ม Esc จะรวมกับฟังก์ชั่น FnLock ให้กดสลับระหว่าง F1-F12 กับ Function Hot Key ได้ว่าถ้ากดปุ่มแล้วจะเป็นคำสั่งไหน โดยการตั้งค่าจากโรงงานเป็น Function Hot Key เหมือนกับโน๊ตบุ๊ค Lenovo หลายๆ รุ่น
ส่วนปุ่ม F1-F12 ที่รวมกับปุ่ม Function Hot Key จะมีดังนี้
- F1-F3 – ปิด, ลด, เพิ่มเสียง
- F4 – ปิดหรือเปิดไมโครโฟน
- F5-F6 – ลดหรือเพิ่มแสงสว่างหน้าจอ
- F7 – ปุ่ม Project สำหรับตั้งค่าหน้าจอหลักและหน้าจอเสริม
- F8 – Airplane Mode
- F9 – ปุ่มเรียก Windows Settings ขึ้นมาตั้งค่าตัวเครื่อง
- F10 – ปุ่ม Windows Lock ล็อคเครื่องเมื่อไม่ใช้งาน
- F11 – ปุ่ม Recent app ใช้เรียกโปรแกรมที่เปิดเอาไว้มาโชว์แบบเรียงหน้าต่าง
- F12 – ปุ่มเรียกโปรแกรมเครื่องคิดเลข
นอกจาก F1-F12 แล้ว ถัดมาจะมีปุ่ม Insert ที่รวมกับปุ่มเรียกโปรแกรม Lenovo Vantage และถ้าปิดเครื่องอยู่จะเป็นปุ่ม Novo Button สำหรับเรียกคำสั่งเซ็ตอัพตัวเครื่อง, ตั้งค่า BIOS หรือบูตคำสั่ง System Recovery ขึ้นมาใช้งานและรวมปุ่ม Print Screen ไว้กับ Snipping tool ไว้กดบันทึกภาพหน้าจอได้ด้วย ถือว่า Lenovo จัดการ Mapping ปุ่มให้ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ไว้ครบถ้วนพร้อมใช้ทำงานออฟฟิศได้อย่างครอบคลุม
แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนนั้นคิดว่าทาง Lenovo ก็ยังไม่ยอม Mapping ปุ่มล็อคการทำงาน Touchpad มาให้เหมือนกับแบรนด์อื่น ทำให้เวลานั่งพิมพ์งานแล้วต่อเมาส์แยกก็ไม่สามารถล็อคทัชแพดป้องกันปัญหาอุ้งมือแตะทัชแพดแล้วตัวแป้นทำงานกะทันหัน ซึ่งผู้เขียนหวังว่าโน๊ตบุ๊ครุ่นต่อๆ ไปของ Lenovo จะติดตั้ง Function Hot Key นี้มาให้ใช้งานด้วย จะเป็นแบบรวมเอาไว้กับปุ่มทั่วไปหรือติดมุมทัชแพดก็ได้
ส่วนทัชแพดของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้จะมีขนาดใหญ่พอควร รองรับ Gesture control ของ Windows 11 ครบถ้วน ตอบสนองได้รวดเร็วและซ่อนปุ่มคลิกซ้ายขวาเอาไว้ด้านใต้ตัวทัชแพด ซึ่งการวางตัวทัชแพดนั้นจะมีโอกาสที่อุ้งมือของผู้ใช้ไปโดนได้บ้างแต่ก็ไม่ถึงกับทำให้เกิดอาการเคอร์เซอร์เมาส์เลื่อนเองจนทำงานไม่สะดวก
Connector / Thin & Weight
ด้านพอร์ตเชื่อมต่อที่ติดมาด้านข้างตัวเครื่องทั้งสองฝั่งนั้น จะเห็นว่ามีแต่พอร์ต USB-C 3.2 Gen 2 เท่านั้น โดยแยกเป็นคู่ฝั่งซ้ายมือที่รองรับ DisplayPort 1.4 และ USB Power Deliery 3.0 และมีช่อง Audio Combo รองรับการหูฟังและไมโครโฟน ส่วนฝั่งขวามือจะเป็น USB-C 3.2 Gen 2 สำหรับโอนไฟล์เข้าออกเครื่อง, สวิตช์แบบสไลด์เพื่อปิดหรือเปิด Webcam และปุ่ม Power สำหรับกดเปิดเครื่องอีกหนึ่งปุ่ม
จะเห็นว่าพอร์ตของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon จะให้มาแต่ USB-C เท่านั้น ไม่มีพอร์ต USB-A สำหรับต่ออุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งถ้าใครต้องการต่อเมาส์หรือคีย์บอร์ดอาจจะใช้งานได้ลำบากสักหน่อยแต่อแดปเตอร์ USB-C Multiport adapter ในตอนนี้ก็ราคาถูกลงมากแล้ว อย่าง USB-C แยกเป็น USB-A จำนวน 3-4 ช่องก็สามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้นกว่าอดีตมาก ดังนั้นถ้าใครจะต่อเมาส์คีย์บอร์ด, External Harddisk อาจจะหาซื้อมาเพิ่มเป็นพิเศษนอกจากที่ Lenovo แถมมาในกล่องก็ได้เช่นกัน แต่ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าถ้า Lenovo ย้ายปุ่ม Power ไปรวมกับคีย์บอร์ดแล้วใส่ USB-A เข้ามาสักช่องก็น่าจะช่วยให้ผู้ใช้ต่ออุปกรณ์เสริมได้สะดวกขึ้นมาก
ในกล่องของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon จะมีอแดปเตอร์ USB-C แยกเป็น HDMI, VGA และ USB-A 3.0 แถมมาให้อีกชิ้นเพื่อให้ผู้ใช้ต่อกับ USB-C 3.2 Gen 2 ฝั่งซ้ายมือแล้วเชื่อมกับหน้าจอแยกและอุปกรณ์ที่ใช้ USB-A อีกชิ้นได้ด้วย ถือว่าทาง Lenovo ก็เตรียมอุปกรณ์เสริมสำหรับผู้ใช้ที่ต้องต่ออุปกรณ์เสริมได้ครบถ้วนระดับหนึ่งเลย
ส่วนมิติตัวเครื่องจะอยู่ที่ 14.9 x 313 x 215 มม. และจะเห็นว่าด้านหน้าของตัวเครื่องจะเห็นส่วนขอบจอยื่นของกล้อง Webcam ชัดเจนเพียงส่วนเดียว ส่วนด้านหลังซ่อนช่องระบายความร้อนเอาไว้ขอบด้านในโดยใช้ก้านบานพับหน้าจอปิดเอาไว้ ทำให้ตัวเครื่องดูเรียบร้อยไม่มีช่องระบายความร้อนโชว์ให้ดูไม่เรียบร้อย
ส่วนน้ำหนักเมื่อชั่งด้วยตาชั่งดิจิตอลแล้ว เฉพาะตัวเครื่องจะหนัก 1.08 กิโลกรัม ส่วนอแดปเตอร์และพอร์ตเสริมที่แถมมาด้วยอยู่ที่ 354 กรัม รวมสุทธิน้ำหนักทุกชิ้นอยู่ที่ 1.43 กิโลกรัม ต้องถือว่าน้ำหนักของตัวเครื่องอย่างเดียวนั้นเบามาก สามารถพกติดตัวไปไหนมาไหนได้ง่ายและอาจจะเตรียมอแดปเตอร์ USB-C เสริมไปอีกสักชิ้นก็เพียงพอแล้ว ส่วนของอแดปเตอร์อาจจะทิ้งเอาไว้ที่ออฟฟิศไว้ชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเครื่องกรณีนั่งทำงานทั้งวัน แต่ถ้าออกไปติดต่องานกับลูกค้าก็เตรียมปลั๊ก GaN ที่กำลังชาร์จเกิน 65 วัตต์กับสาย USB-C ไว้ชาร์จแบตเตอรี่ก็พอแล้ว
Inside & Upgrade
ภายในของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้จะมีน็อต Torx ขันล็อคเอาไว้ทั้งหมด 5 ตัว สามารถใช้ไขควงขันแล้วเอาการ์ดรูดที่ช่องว่างเพื่อเปิดได้เลย โดยผู้เขียนแนะนำให้เริ่มรูดจากมุมล่างของตัวเครื่องแล้วไล่ตามขอบไปเรื่อยๆ จากนั้นก็ดึงฝาล่างของตัวเครื่องเพื่อเปิดเครื่องได้เลย ส่วนวิธีการใส่กลับแนะนำให้เอาขอบล่างที่มีเขี้ยวล็อคเสียบเข้ากับตัวเครื่องก่อน ค่อยกดที่กรอบรอบตัวเครื่องจนสนิทแล้วขันน็อตกลับ
สังเกตว่าด้านในตัวเครื่องส่วนคานบานพับหน้าจอจะเป็นแบบแท่งเดียวแล้วปลายทั้งสองด้านจะมีชุดฐานบานพับด้านในเครื่องด้วย ทำให้เวลากางหน้าจอเครื่องออกมาเพื่อทำงานมั่นคงแข็งแรงใช้ได้ ไม่มีความหลวมหรือไม่มั่นคงแต่อย่างใด
เนื่องจาก Lenovo Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้เป็นโน๊ตบุ๊คบางเบาเป็นหลัก ทำให้มีส่วนที่ถอดอัพเกรดได้ค่อนข้างจำกัดพอควร คือจะถอดเปลี่ยนได้เฉพาะ SSD แบบ M.2 NVMe ของ Western Digital SN730 ความจุ 512GB ได้เพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ส่วนแรมเป็นแบบออนบอร์ดทำให้อัพเกรดไม่ได้ แต่ความจุ 16GB ก็ถือว่าเยอะเพียงพอใช้ทำงานออฟฟิศในปัจจุบันได้สบายๆ แล้ว
Performance & Software
Lenovo Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้เป็นตระกูล Yoga Slim ที่เน้นดีไซน์เรียบหรูที่ใช้ซีพียู AMD Ryzen 5 5600U แบบ 6 คอร์ 12 เธรด ความเร็ว 2.3-4.2 GHz สถาปัตยกรรม AMD Zen 3 คอร์ซีพียูผลิตโดย TSMC เป็น FinFET 7 นาโนเมตร ค่า TDP 15 วัตต์ รองรับชุดคำสั่งหลักๆ ในปัจจุบันครบถ้วน
แรมที่ติดตั้งมาในเครื่องเป็นแบบออนบอร์ดความจุ 16GB LPDDR4x บัส 4266 MHz เป็นแบบ Dual-channel ซึ่งความจุระดับนี้ถือว่าเยอะเพียงพอใช้งานกับโปรแกรมในปัจจุบันได้ทุกโปรแกรม
ด้านการ์ดจอเป็นออนบอร์ดที่ติดมากับซีพียู รุ่น AMD Radeon Graphics 7 คอร์ ความเร็ว 1800 MHz รองรับชุดคำสั่งที่ใช้งานเป็นประจำอย่าง OpenCL, DirectCompute, DirectML, Vulkan และ OpenGL 4.6 ครบถ้วน ซึ่งถ้าใช้ทำงานตัดต่อแต่งภาพก็สามารถจัดการได้เป็นอย่างดี และอาจจะพอเล่นเกม 8-bit ทั่วไปคลายเครียดได้บ้างเช่นกัน
ด้านชิ้นส่วนที่ติดตั้งมาใน Lenovo Yoga Slim 7 Carbon เมื่อดูใน Device Manager แล้วจะเห็นว่ามีครบเครื่องทั้งระบบสแกนใบหน้าในส่วนของ Biometric devices ใช้ชิป Realtek RT8852AE รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 6 มาตรฐาน 802.11ax ซึ่งสามารถจับสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้เสถียรและรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วและมี TPM 2.0 กับ AMD PSP 10.0 ติดตั้งมาเป็นพาร์ทด้านความปลอดภัยในเครื่อง จัดว่าครบถ้วนพร้อมใช้งานได้ดีแน่นอน
ส่วนปุ่มลัดสำหรับปรับโหมดการทำงานของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon จะใช้วิธีกด Fn+Q แล้วจะมีโลโก้ปรับโหมดแสดงขึ้นมาบนหน้าจอ โดยเครื่องหมายแบตเตอรี่กับใบไม้เป็นโหมด Battery Saver, รูปหน้าปัดเป็น Performance Mode และรูปวงกลมมีเครื่องหมายหิมะอยู่ตรงกลางคือทำงานในโหมดทั่วไป เน้นจัดการอุณหภูมิในตัวเครื่องให้เย็นตลอดเวลา
หากใช้งานปกติอาจจะปรับอยู่โหมดทั่วไปแล้วค่อยเปลี่ยนเข้า Battery saver เมื่อแบตเตอรี่เริ่มน้อยและงานหรือประชุมยังไม่เสร็จ ส่วน Performance Mode เหมาะจะกดตอนใช้โปรแกรมกินทรัพยากรเครื่องหนักๆ เช่นตัดต่อแต่งภาพ, เปิดเบราเซอร์หลายแท็บหรือเปิด Microsoft Excel ขนาดใหญ่ให้รันขึ้นมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
SSD แบบ M.2 NVMe ที่ติดตั้งมาในเครื่องเป็น Western Digital SN730 ความจุ 512GB เป็น SSD แบบ PCIe 3.0 x4 เทียบเคียงกับรุ่น WD Black SN750 ที่ขายแยกสำหรับอัพเกรดโน๊ตบุ๊คหรือเอาไปประกอบพีซี โดยความเร็วที่ผู้ผลิตเคลมไว้ที่หน้าเว็บไซต์ SN730 มีความเร็ว Sequential Read 3,400 MB/s และ Sequential Write 2,700 MB/s พอทดสอบด้วย CrystalDiskMark แล้วได้ความเร็ว Sequential Read 3,429 MB/s และ Sequential Write 2,716 MB/s ต้องถือว่าประสิทธิภาพเทียบเท่ากับที่เคลมเอาไว้ ซึ่งถ้าใช้ทำงานออฟฟิศทั่วไปต้องถือว่าประสิทธิภาพเหลือเฟือไม่ต้องอัพเกรดก็ได้
ด้านการทดสอบการเรนเดอร์ 3D CG ด้วย CINEBENCH R15 จะเห็นว่าคะแนน OpenGL ทำได้ 79.02 fps และคะแนนซีพียูอยู่ที่ 1193 cb ช่วยการันตีว่า AMD Ryzen 5 5600U ก็มีประสิทธิภาพสูงพอเปิดงานกราฟฟิคขึ้นมาโชว์ให้ลูกค้าดูได้อย่างแน่นอน ส่วน CINEBENCH R20 ที่เน้นทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูเป็นหลักทำคะแนน CPU ได้ 2799 pts จัดว่าแรงไม่น้อยหน้ากว่า Intel Core รุ่นที่ 11 อย่างแน่นอน
ด้านการทดสอบ 3D Mark Time Spy เพื่อวัดประสิทธิภาพว่า Lenovo Yoga Slim 7 Carbon สามารถเล่นเกม 3D ในปัจจุบันได้หรือไม่ ผลที่ได้คือคะแนนรวมจบที่ 1,266 คะแนน ถ้ามองแยกจะเห็นว่าคะแนน CPU score ทำได้ 5,521 คะแนนและ Graphics score อยู่ที่ 1,115 คะแนน ก็สามารถสรุปได้ว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ซีพียูมีประสิทธิภาพสูงทีเดียวแต่กราฟฟิคการ์ดออนบอร์ดสามารถใช้งานได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
จากการทดลองเล่นเกม Genshin Impact ด้วย Lenovo Yoga Slim 7 Carbon แล้วปรับกราฟฟิคระดับต่ำและล็อคเฟรมเรทเอาไว้ 30 fps ก็ถือว่าพอเล่นได้ระดับหนึ่งแต่เฟรมเรทจะเกาะกลุ่มอยู่ราว 23-25 fps และเอฟเฟคของสกิลก็ทำให้เฟรมเรทตกไปแตะ 19-20 fps ได้ด้วย ดังนั้นในแง่การทำงานตามปกติต้องถือว่าโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ทำงานได้ดีแต่ในแง่การเล่นเกมแนะนำให้เป็นเกมออนไลน์หรือเกม 8-bit แต่ก็ไม่แนะนำให้คาดหวังนัก เพราะไม่ตรงกับจุดประสงค์การใช้งาน
ด้านการทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark 10 ที่วัดประสิทธิภาพด้านการทำงานแง่ต่างๆ จะเห็นว่า Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ทำคะแนนได้สูง 5,438 คะแนน จัดว่าใช้ทำงานออฟฟิศต่างๆ ได้สบายๆ ไม่มีปัญหาและได้คะแนนเทียบชั้นโน๊ตบุ๊คบางเบาประสิทธิภาพสูงหลายๆ รุ่นทีเดียว
ถ้ามองแยกเป็นส่วนๆ จะเห็นว่าคะแนนในส่วน Essentials อย่างการเปิดแอพฯ, ประชุมออนไลน์หรือเปิดโปรแกรมเบราเซอร์สามารถทำคะแนนได้สูง 8,887 คะแนน ส่วน Productivity ที่วัดความเร็วตอนใช้โปรแกรมทำงานออฟฟิศอย่าง Word, Excel ทำได้สูง 8,768 คะแนน ส่วนที่คะแนนลดลงมาหน่อยคือ Digital Content Creation ที่วัดตอนใช้โน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ตัดต่อแต่งภาพ, เรนเดอร์และทำ 3D CG หรือตัดต่อวิดีโอจะทำได้ 5,602 คะแนน จึงสรุปได้ว่า Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้จะเหมาะกับการทำงานเอกสารและออฟฟิศรวมไปถึงงานประชุมเป็นหลักและพอใช้โปรแกรมแต่งภาพเช่น Lightroom, Photoshop ได้บ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงกับระดับโน๊ตบุ๊คที่มีการ์ดจอแยกที่จะทำงานส่วนนี้ได้ดีกว่า
สุดท้ายกับโปรแกรม Affinity Photo ที่เป็นโปรแกรมแบบเดียวกับ Adobe Photoshop เมื่อทดลองรัน Benchmark แล้ว จะเห็นว่ากำลังของซีพียูเมื่อใช้ทำงานกับไฟล์ Vector หรือจะ Raster จะทำได้ดีทีและการ์ดจอออนบอร์ดก็มีประสิทธิภาพพอใช้แต่งภาพได้ระดับหนึ่งด้วย
Battery / Heat & Noise
แบตเตอรี่ที่ติดตั้งมาใน Lenovo Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้ จะเป็นแบตเตอรี่แบบ 1 ก้อนใหญ่และมีก้อนเสริมเล็กด้านข้างซ้ายขวาอีกอย่างละก้อน มีความจุ Typical Capacity 7,900 mAh ส่วน Rated capacity อยู่ที่ 7,669 mAh ต้องถือว่าทาง Lenovo ติดตั้งแบตเตอรี่มาใหญ่และมีความจุเยอะ ใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงอย่างแน่นอน
และเมื่อทดสอบกับโปรแกรม BatteryMon ตามมาตรฐานของเว็บไซต์ คือลดความสว่างหน้าจอต่ำสุด, เปิดลำโพงดังเพียง 10%, ปิดไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด, เปิดโหมด Battery saver และใช้ Microsoft Edge ดู Youtube ต่อเนื่อง 30 นาที ได้ผลคือ Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้จะใช้งานต่อเนื่องได้นานสุดที่ 8 ชั่วโมง 21 นาที
ต้องถือว่าระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon อยู่นานระดับอยู่ได้ทั้งวัน แม้จะไม่เท่ากับซีพียู Intel ก็ตาม แต่ก็น้อยกว่าราว 1 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น แต่แลกกับพลังประมวลผลของซีพียูที่สูงน่าสนใจก็ถือว่าทดแทนกันได้อยู่
ระบบระบายความร้อนของ Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้ จะใช้พัดลมโบลวเวอร์กับฮีตไปป์อย่างละ 1 คู่เพื่อระบายความร้อนจาก AMD Ryzen 5 5600U โดยพัดลมโบลวเวอร์แต่ละตัวจะมีฮีตไปป์ฝั่งละเส้นพาดเข้าซีพียูเพื่อนำความร้อนไประบายออกที่ฮีตซิ้งค์แล้วเป่าออกด้านหลังตัวเครื่อง ก็ถือได้ว่าทาง Lenovo ติดระบบระบายความร้อนมาเผื่อให้ซีพียู AMD ตัวนี้ทำงานได้เต็มที่
เมื่อทดลองรันโปรแกรม Furmark ให้ซีพียูทำงานเต็มที่แล้วอุณหภูมิของซีพียูขึ้นไปสูงสุดแล้วเช็คด้วยโปรแกรม CPUID HWMonitor พบว่าอุณหภูมิของ Yoga Slim 7 Carbon อยู่ที่ 48-76 องศาเซลเซียสเท่านั้น ต้องถือว่าระบบระบายความร้อนของโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้สามารถจัดการอุณหภูมิได้เป็นอย่างดี ไม่ร้อนจนรบกวนระหว่างทำงานเลย ซึ่งจากที่นำเครื่องไปทดลองใช้งานตามปกติอย่างเข้าเว็บไซต์, เขียนงานโดยใช้เบราเซอร์ก็ไม่เจอปัญหาเรื่องความร้อนเลย สามารถวางมือพิมพ์งานต่อเนื่องได้สบายๆ
User Experience
จากที่ทดลองเอา Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ไปใช้งานจริง สิ่งแรกที่ผู้เขียนชอบโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้เป็นพิเศษ คือเรื่องน้ำหนักที่เบาเพียง 1 กิโลกรัมและตัวเครื่องบางทีเดียว ทำให้พกใส่กระเป๋าติดตัวไปไหนมาไหนได้ง่าย ยิ่งถ้าใครชอบใช้กระเป๋าแมสเซนเจอร์ก็เบาไหล่ไปมากและน้ำหนักไม่กดทับไหล่เกินไป ไม่มีปัญหาไหล่ทรุดตามมาภายหลัง และเพราะตัวเครื่องบางเลยไม่กินพื้นที่เยอะและกระเป๋าไม่ตุงจะพกตัวแปลงพอร์ต USB-C ที่แถมมาในกล่องไปก็ไม่มีปัญหาและพอร์ต USB-C ยังรองรับการชาร์จแบบ Power Delivery และต่อหน้าจอแยก DisplayPort ได้ ก็ใช้ปลั๊กมือถือหรือ GaN ที่กำลังชาร์จ 65 วัตต์ขึ้นไปกับสาย USB-C ชาร์จแบตเตอรี่คืนให้ตัวเครื่องได้เลย ทำให้มีพื้นที่ใส่ของใช้ชิ้นอื่นอย่างแท็บเล็ต, เมาส์หรือแม้แต่ External Harddisk ก็ได้
แต่แม้จะดูล้ำสมัยและจัดเต็มเท่าไหร่ แต่ผู้เขียนก็คิดว่าถ้ามีพอร์ต USB-A 3.2 Gen 2 ติดตั้งมาให้สักช่อง แทน USB-C ฝั่งขวามือที่ใช้โอนไฟล์เข้าออกเครื่องอย่างเดียวก็น่าจะดีกว่า เนื่องจากอุปกรณ์ในปัจจุบันหลายๆ ชิ้นยังใช้มาตรฐาน USB-A อยู่ ตัวอย่างเช่นเมาส์ไร้สายที่ใช้ USB-A Dongle, External Harddisk ที่ใช้ USB-A to Micro-B USB ฯลฯ ซึ่งแม้จะมีช่อง USB-A ติดมาให้ 1 พอร์ตที่ USB-C Hub ก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าน้อยและจำเป็นต้องบริหารการใช้งานพอร์ตอยู่บ้าง แต่ก็ยังพอหาซื้อ USB-A Hub มาต่อ USB-C ด้านขวามือแล้วแยกออกเป็น USB-A 3.0 หลายช่องแทนก็ได้เช่นกัน
ส่วนเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน ต้องถือว่า Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ที่ติดตั้ง AMD Ryzen 5 5600U กับ Western Digital SN730 ความจุ 512GB และแรม 16GB ออนบอร์ดสามารถทำงานออฟฟิศได้เป็นอย่างดีไม่มีปัญหา รวมทั้งใช้ตัดต่อแต่งภาพด้วยโปรแกรม Affinity Photo ได้ไหลลื่นไม่ต้องกังวลว่าเครื่องจะช้าหรือหน่วงเลย
ด้านความปลอดภัยเวลาใช้งาน ส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างชื่นชอบการปลดล็อคตัวเครื่องด้วยระบบ Biometric device อย่างกล้อง IR หรือที่สแกนลายนิ้วมือเป็นทุนเดิม เนื่องจากได้ความสะดวกและปลอดภัยไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่านก็ปลดล็อคเครื่องได้ทันที ซึ่งกล้องอินฟาเรดที่ติดตั้งมาให้ใช้สแกนใบหน้าร่วมกับฟีเจอร์ Windows Hello นั้นสามารถปลดล็อคเครื่องได้อย่างรวดเร็วเพียงแค่กางหน้าจอขึ้นมาแล้วกล้องก็จะเริ่มสแกนใบหน้าของเราแล้วปลดล็อคแทบจะในทันทีอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ว่าสวิตช์สไลด์ที่ปิดการทำงานกล้อง Webcam นั้นยังมีบั๊กอยู่ คือเมื่อสไลด์ปิดการทำงาน Webcam ไปแล้วจะสไลด์เปิดกล้อง Webcam อีกครั้ง กลายเป็นว่ากล้อง IR Camera ก็ไม่ทำงานจนต้องรีเซ็ตเครื่องถึงจะใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งคาดหวังว่าทาง Lenovo จะออกอัพเดทเฟิร์มแวร์มาจัดการปัญหานี้ในอนาคตด้วย
Conclusion & Award
หากมองข้ามจุดสังเกต 2 จุดของ Lenovo Yoga Slim 7 Carbon ที่ผู้เขียนกล่าวถึงในบทความนี้แล้ว ต้องถือว่าโน๊ตบุ๊คบางเบาเครื่องนี้น่าใช้งานเป็นอย่างมาก เพราะได้ทั้งสเปคที่แรงพอใช้ทำงานออฟฟิศได้ดี มีระบบสแกนใบหน้าปลดล็อคเครื่องได้สะดวกไม่ต้องพิมพ์รหัสผ่าน รวมทั้งให้พอร์ต USB-C ที่เป็นรุ่นใหม่ล่าสุดมาถึง 3 ช่อง ทำให้โอนไฟล์เข้าออกโน๊ตบุ๊คเครื่องนี้ได้สบายๆ และพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกด้วยน้ำหนักเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น และยังใช้งานต่อเนื่องได้หลายชั่วโมงอีกด้วย
ส่วนของซีพียู AMD Ryzen 5 5600U ที่มีให้ 6 คอร์ 12 เธรดนั้น ถือว่าเป็นซีพียูรุ่นประหยัดพลังงานที่ใช้งานได้นานสุดถึง 8 ชั่วโมง 21 นาที หรืออาจจะกล่าวได้ว่าใช้งานได้ทั้งวันโดยไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่ก็ได้ และยังทำงานออฟฟิศทั่วไปได้เป็นอย่างดีและมี Microsoft Office Home & Student 2021 ติดตั้งมาให้เสร็จสรรพพร้อมใช้ทำงานทันทีอีกด้วย
นอกจากนี้เรื่องหน้าจอ 14 นิ้วพาเนล OLED ที่ได้รับการรับรอง VESA DisplayHDR 500 True Black ว่าสามารถแสดงผลสีดำได้ดำสนิทและเป็นจอขอบเขตสีกว้างพร้อมใช้ทำงานตัดต่อแต่งภาพหรือจะใช้พรีเซนต์งานกับลูกค้าก็ได้ ถือว่า Lenovo ก็ใส่ใจกับหน้าจอของ Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้เป็นพิเศษ ถือเป็นจุดเด่นอีกส่วนที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งถ้าใครหาโน๊ตบุ๊คบางเบาเครื่องใหม่และอยากเปลี่ยนมาลองใช้ซีพียู AMD Ryzen เพื่อทำงานดูบ้างว่าประสิทธิภาพจะสูงเพียงไหน ต้องถือว่า Lenovo Yoga Slim 7 Carbon เครื่องนี้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก
award
best mobility
จุดเด่นอย่างแรกที่ห้ามมองข้ามของ Yoga Slim 7 Carbon คือ น้ำหนักเครื่องเบาเพียง 1 กิโลกรัมและมิติตัวเครื่องบางเบา ใส่กระเป๋าไปไหนมาไหนได้สะดวก ไม่ต้องใช้กระเป๋าเป้ใบใหญ่ก็ได้และยังพกอุปกรณ์เสริมหรือของใช้ชิ้นอื่นใส่กระเป๋าได้อีกด้วย จึงเหมาะกับรางวัล Best Mobility โดยไม่ต้องสงสัย
best graphic
Best Graphic ของ Yoga Slim 7 Carbon นั้นเป็นแง่ของพาเนล OLED ขอบเขตสีกว้างและได้รับการรับรอง VESA DisplayHDR 500 True Black และเมื่อวัดด้วย Spyder5Elite ก็ได้ค่า Delta-E <2 เป็นเครื่องการันตีว่าหน้าจอนี้สามารถแสดงผลเทียบสีได้อย่างแม่นยำอีกด้วย นับเป็นหน้าจอที่มีคุณภาพดีไม่ควรมองข้ามอีกรุ่น