จอคอมมือสอง เลือกแบบไหนดี 2021 วิธีสังเกต และตรวจสอบให้มั่นใจ ใช้งานได้ยาวนาน ประหยัดค่าใช้จ่าย ซื้อแล้วสบายใจ
จอคอมมือสอง ขึ้นชื่อว่าของมือสอง หลายคนก็อาจจะมีความกังวล ว่าจะใช้งานได้ทนหรือมีปัญหามาหรือไม่ ยิ่งอุปกรณ์บางอย่างที่เสียง่าย ถ้าไม่จำเป็นก็อยากจะได้ของใหม่มาใช้ แต่ติดเรื่องราคาที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะคนที่เล่นเกม ลงทุนไปกับคอมแรงๆ แล้ว ก็อยากได้จอเกมมิ่งใหญ่ สเปคดี มีรีเฟรชเรตสูงๆ มาใช้งานด้วย แต่เริ่มต้น 27″ ระดับที่มากกว่า 144Hz ราคาพุ่งไปเกือบ 8 พันบาทแล้ว ส่วนถ้าจอใหญ่กว่านั้น หรือรีเฟรชเรตสูงๆ เป็นจอเกมมิ่งหรือ Curved Monitor ก็ยิ่งต้องเพิ่มเงินไปอีก ทางเลือกอย่างจอมือสอง ก็ดูจะน่าสนใจ เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยช้ำมาก สามารถหาซื้อได้ง่าย เนื่องจากเวลานี้มีตัวเลือกและช่องทางซื้อขายอยู่มากมายทีเดียว
จอคอมมือสอง
- เลือกจอแบบไหนดี Flat หรือ Curved
- ขนาดหน้าจอสำคัญมั้ย
- ซื้อจอคอมมือสองที่ไหน
- เช็คประกันให้มั่นใจ
- เช็คหน้าจออย่างไรได้บ้าง
- ปุ่มตั้งค่า OSD settings
- เสียงจากลำโพง
- พอร์ตต่อพ่วง
- ไม่แน่ใจ ไม่ได้ลอง อย่าซื้อ
เลือกจอแบบไหนดี Flat หรือ Curved
หลายคนคุ้นเคยกับจอแบนหรือแบบ Flat ก็อาจจะลองใช้จอโค้ง แต่หลายคนก็ยังคงจบที่จอแบนเหมือนเดิม เพราะไม่อยากปรับตัว ปรับสายตาใหม่ ซึ่งในแง่ของการเลือกจอคอมมือ 2 เอามาใช้งาน ทั้ง 2 แบบนี้ ก็ยังคงมีความต่างกันอยู่ในแง่มุมต่างๆ โดยปกติคนที่ใช้จอใหญ่ ก็มักจะมีปัญหาเมื่อจะต้องกวาดสายตามองไปให้ทั่วจอได้ยาก โดยเฉพาะคนที่เล่นเกมแนว FPS หรือแอ็คชั่นชู๊ตติ้ง ที่ต้องจับสังเกตพื้นที่ได้ทั่วๆ บริเวณสมรภูมิ เพื่อให้เห็นศัตรูได้ง่ายขึ้น ยิ่งเป็นจอที่มีความละเอียดสูง เช่น 2K หรือ 4K ก็ยิ่ง ต้องใช้สายตามากขึ้น การที่เป็นจอโค้ง ที่โอบกระชับสายตาเข้ามา ก็ช่วยให้การมองเห็นได้ง่ายกว่าเดิม รวมถึงไม่ต้องถอยระยะออกห่างจากหน้าจอมากนัก เพียงแต่จอโค้ง Curved monitor นั้น ราคาจอใหม่ ก็จะค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับจอแบบ Flat หรือจอแบนในสเปคใกล้เคียงกัน ซึ่งหากเป็นจอมือสองนั้น ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายไปไม่น้อยเลยทีเดียว
แต่การเป็นจอแบนหรือ Flat นั้น ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม สำหรับคนที่จะเน้นไปใช้ในแง่ของการทำงานเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญต่อมุมมองในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแสงสี ที่มีความแม่นยำสูง และพื้นที่การใช้งานที่กว้างขวางมากกว่า อย่างไรก็ดีขึ้นอยู่กับผู้ใช้เอง ที่จะพิจารณาในข้อนี้ เพราะหลายคนใช้งานหลายอย่างบนจอตัวเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานและความบันเทิง ซึ่งจะให้น้ำหนักในส่วนใดเป็นหลัก เช่น ถ้าเน้นที่การเล่นเกม ก็อาจจะดูที่ขนาดของหน้าจอ ความละเอียด ฟีเจอร์ของจอภาพ เช่น อัตรารีเฟรชเรตที่สูง, มีเทคโนโลยี FreeSync, G-Sync, Black Stabilizer หรือจะเป็น HDR เป็นต้น แต่หากจะเน้นไปที่การทำงานเป็นหลัก ก็คงต้องให้น้ำหนักไปที่ คุณสมบัติเฉพาะ เช่น พาแนล IPS คุณภาพสูง มุมมองที่กว้าง มีเทคโนโลยีและขอบเขตสีที่แม่นยำ เช่น sRGB หรือ DCI-P3 ซึ่งมีตัวเลขที่สูง อย่างไรก็ดี ราคาของจอประเภทนี้ก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งหากได้มาในราคาที่เหมาะสม ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
ขนาดหน้าจอสำคัญมั้ย
เรื่องของขนาดจอภาพ ก็จะเป็นตัวกำหนดของราคาจอมือสองที่คุณจะซื้ออยู่ด้วยเช่นกัน แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม เพราะจอภาพใช้งานทั่วไปหน้าจอที่ใหญ่ระดับ 27″ ก็อาจจะราคาถูกกว่า จอภาพที่เล็กกว่า เช่น 24″ ที่เป็นจอเกมมิ่ง ฉะนั้นอาจจะต้องสังเกตดีๆ เมื่อจะเลือกซื้อ จอขนาดที่ใหญ่ ก็ช่วยให้การมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทัศนียภาพ หรือสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ซึ่งสำคัญมากต่อการเล่นเกมหรือดูหนัง เพราะจะได้พื้นที่ในการรับชมที่มากกว่า รวมถึงการมองเห็นตัวละครได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมในแนวใดก็ตาม เช่นเกม Action Shooting FPS ก็จะช่วยให้เห็นศัตรูจากระยะไกล การเล็งเป้าหมาย ก็ง่ายขึ้น หรือจะเป็นแนว MOBA ก็จะทำให้เห็นความสวยงามของเวทย์และความอลังการของฮีโร่ และแผนที่ในเกม หรือจะเป็นแนว RTS ก็ทำให้การเคลื่อนไหว มองเห็นสิ่งต่างๆ การทำ Quest ก็ง่ายขึ้น ยิ่งถ้าเป็นจอภาพที่มีความละเอียดสูง ก็จะทำให้ขอบเขตของสิ่งต่างๆ เหล่านี้กว้างขึ้นอีกด้วย
แต่ก็ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของผู้ใช้แต่ละคน เพราะการรับชมหรือการมองภาพนั้นไม่เหมือนกัน บางคนที่ชอบจอขนาดไม่กว้างเกินไป หรือมีพื้นที่ทำงานค่อนข้างจำกัด หรือไม่อยากจะขยับขยาย นั่งห่างจากหน้าจอเกินไปนัก การเลือกใช้หน้าจอระดับ 24″ ความละเอียด Full-HD 1080p ก็ดูจะเหมาะสม แต่ถ้าต้องการใช้ทำงานไปด้วย หน้าจอความละเอียดมากกว่า 2K 1440p ขึ้นไป ก็ช่วยให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น แต่ถ้าต้องการความละเอียดในการเล่นเกมสูงๆ รวมถึงมีสเปคคอมที่แรง และสามารถขับเคลื่อนหรือรีดเฟรมเรตได้สูงๆ มองเห็นรายละเอียดโดยรอบได้ชัดเจน ทางเลือกที่เป็นจอขนาดใหญ่กว่า 27″ บน Resolution ระดับ 4K ก็น่าสนใจไม่น้อย แต่ราคาก็จะสูงตามไปด้วย เช่นในปัจจุบัน จอขนาด 32″ ที่ความละเอียด 2K 144Hz เริ่มต้นที่ 10,000 บาท ซึ่งอาจจะหาจอที่เป็นมือสองได้ที่ราวๆ 7,xxx บาท เทียบได้กับจอ 27″ มือหนึ่ง ที่เป็นจอเกมมิ่งเลยทีเดียว ก็น่าสนใจเหมือนกัน
ซื้อจอคอมมือสองที่ไหน
แหล่งซื้อหาจอคอมมือสอง มีมากมาย ไม่ต่างจากการหาคอมมือสองที่เราเคยนำเสนอกันไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ มีทั้งแบบ Online ที่เรียกว่าหาซื้อกันได้บนหน้าร้านออนไลน์ Facebook หรือจะเป็น Kaidee และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละบุคคล ส่วนอีกแบบคือ แบบ Offline ซึ่งเป็นการเดินไปดูในห้างไอที หน้าร้าน ตู้ขายมือสอง หรือที่อื่นๆ ทั้งสองแบบนี้ มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร ในแง่ต่างๆ เพราะถ้าหากใครเคยซื้อขายของมือสอง ก็น่าจะพอทราบกันดีว่า มีรายละเอียดปลีกย่อยกันพอสมควร และมีข้อดีข้อเสียที่ต่างกันออกไป
ซื้อผ่านออนไลน์ | ซื้อที่หน้าร้าน | |
ความสะดวก | ดูรุ่นที่ชอบผ่านมือถือได้ | ต้องเดินหา |
เช็คสินค้า | เช็คได้ยาก | เช็คได้ง่าย เห็นตัวจริง |
ราคา | อาจได้ราคาถูก+ค่าส่ง | ราคาอาจสูง+มีต้นทุน |
ความเชื่อมั่น | อยู่ที่เครดิตคนขาย | มีหน้าร้าน เข้าถึงง่าย |
เครดิตคนขาย | เช็คเครดิตผู้ขายได้ในกลุ่ม | มีตัวตน หลักแหล่ง เช็คได้ |
รายละเอียดสินค้า | ดูจากรูปและข้อมูลประกอบ | ดูได้ละเอียดกว่า สัมผัส และทดลองได้ |
เปรียบเทียบ | ง่าย ดูจากเว็บไซต์และ Group อื่นๆ | ยาก ต้องเช็ครุ่นและซีรีส์ แล้วเปรียบเทียบในเว็บไซต์ |
รูปภาพและตัวจริง | ไม่ละเอียด ดูจากในภาพ | เห็นตัวจริง จับได้ ทดลองใช้ |
การรับประกัน | ประกันสินค้า + ประกันใจ | ประกันสินค้า + ประกันร้าน + ประกันใจ |
การจัดส่ง | ส่งพัสดุ ไม่ได้เช็คสภาพ ลุ้นระหว่างการขนส่ง ปลายทาง ต้องถ่ายหลักฐานเมื่อรับของ | ตรวจเช็คเสร็จ สภาพรับได้ จ่ายเงิน หิ้วกลับ |
ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม | ค่าเน็ต ค่าขนส่ง | ค่าเดินทาง ค่าอาหาร |
สินค้ามีปัญหา | ติดตามผู้ขาย ส่งกลับ ส่งซ่อม | หิ้วกลับไปที่ร้าน รอซ่อมหรือเปลี่ยน |
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 แบบนี้ อาจจะมีความต่างกันบ้างในบางแง่มุม แต่อย่าลืมว่า ความแตกต่างบางจุดนั้น อาจส่งผลต่อสิ่งที่คุณได้รับอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ว่าการซื้อแบบออนไลน์ จะช่วยให้คุณสะดวก ไม่ต้องออกไปเอง หรือสามารถหาข้อมูลและรุ่นอื่นๆ เปรียบเทียบได้ ต่างจากการต้องเดินไปดูตามตู้หรือหน้าร้านในห้างไอทีต่างๆ และยังจ่ายเงินออนไลน์ รอของมาส่งได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความมั่นใจ เพราะตั้งแต่ที่คุณติดต่อกับผู้ขาย เช็คเครดิตและการทำธุรกรรมออนไลน์ ไปจนถึงการขนส่ง มาถึงมือคุณและตรวจสอบการใช้งานอีกครั้งว่าสามารถใช้งานได้ปกติหรือสภาพเป็นไปตามรูปภาพ หรือที่ผู้ขายเสนอไว้หรือไม่ ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเช่นกัน หากทุกขั้นตอนที่ว่ามานี้ผ่านพ้นด้วยดี ได้รับสินค้าสภาพดี ถูกใจในราคาที่เหมาะสม ก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าโชคร้าย ไปเจอความผิดปกติในขั้นตอนใด เพียงแค่สิ่งเดียว เรื่องทั้งหมดก็จะดูเป็นปัญหาขึ้นทันที เช่น โอนเงินแล้วไม่ส่งของ ส่งของให้ล่าช้า หรือส่งของเสียหรือไม่ตรงปกมา ก็ต้องเสียเวลาในการติดตาม แก้ไขปัญหาเช่นกัน
แต่ก็ไม่ใช่บอกว่าการซื้อแบบออนไลน์ไม่ปลอดภัย ในกรณีที่เช็คเครดิตผู้ขายดีแล้ว การโอนเงินอาจผ่านทางแอดมินเพจได้ หรือที่เรียกว่าผ่านกลาง ก็ช่วยลดความเสี่ยงไปได้ระดับหนึ่ง สุดท้ายหากสินค้าไม่ได้อยู่ไกลจากคุณมากนัก พอที่จะเดินทางไปรับด้วยตัวเองได้ หรือไปลองใช้งาน เพื่อเช็คสภาพก่อนได้ ก็ยิ่งลดความเสี่ยงต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ไปได้มาก เหลือแค่เพียงคุณประคองจอนั้นให้กลับถึงบ้านโดยปลอดภัย และเสียบปลั๊กใช้งาน เล่นเกมกันต่อไปเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าถึงขั้นนี้แม้จะมีความเสี่ยง เพราะมีแค่ประกันใจ เพราะประกันตัวเครื่องอาจหมดไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ต่างไปจากเราเดินดูตามร้านหรือตามตู้มือสองมากนัก
เช็คประกันให้มั่นใจ
การรับประกันถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าของมือสองส่วนใหญ่ ไม่ประกันหมด ก็ถือว่าใกล้จะถึงอายุการรับประกัน ดังนั้นแล้วก็ควรจะต้องมีแผนสำรองเอาไว้ด้วย ไม่ใช่ว่าซื้อมาใช้ได้ 2-3 วัน แล้วพัง เปิดไม่ติดแบบนี้คงไม่ดีแน่นอน จึงต้องสอบถามและขอข้อมูลผู้ขายเอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อแบบออนไลน์หรือจากหน้าร้านขายมือสองก็ตาม สิ่งที่ควรจะต้องเช็คแรกๆ คือ การรับประกันใจ หรือประกันร้าน ในกรณีที่ประกันสินค้าหมดไปแล้ว และอยากจะให้ชัดเจนว่าไม่มีการหมกเม็ด เพื่อขายทิ้งนั่นเอง
ประกันปกติ: หรือที่เป็นประกันสินค้าจากดีลเลอร์หรือผู้จำหน่ายโดยตรง เป็นสิ่งที่ผู้ที่จะซื้อจอมือสอง ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ อย่างน้อยควรเหลือประกันไว้บ้าง สัก 1-3 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่า ยังใช้งานได้ต่อไป และจอนั้น ก็ไม่ได้เก่าเกินไป จนไม่เหลือประกัน ซึ่งจะหมายความว่าจอได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน กว่าจะถึงมือคุณ ซึ่งก็อาจจะทำให้ชิ้นส่วนบางอย่างเสื่อม หรือจะเสียหายได้ เมื่อใช้งานไปได้ไม่นาน จึงถือว่าหากเป็นจอ ควรเลือกที่ยังมีประกันพื้นฐานอยู่สักหน่อย
ประกันร้าน: เป็นการรับประกันการใช้งานจากทางร้านที่จำหน่าย จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของทางร้าน ซึ่งอาจจะคาดเดาได้ยาก บางร้านขายขาด เปิดใช้งานได้ ราคาโอเค จ่ายตังก็ยกไปได้เลย ไม่รับคืน ไม่รับซ่อม หรือบางร้านตรวจเช็คมาดีแล้ว และต้องการเก็บฐานลูกค้าสร้างเครดิต ก็อาจจะประกันร้านให้ 1-3 เดือน แล้วแต่ความเก่า มีปัญหากลับมาซ่อม
ประกันใจ: อาจจะเป็นทั้งผู้ขายออนไลน์ ที่เรียกว่าพ่อค้าหรือทางร้านก็อาจจะมี เป็นการประกันใจ ให้มั่นใจได้ว่า 7 วันนี้ ถ้าเสียเอากลับมาคืนได้ แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีเงื่อนไข หรือบางรายก็นับวันแบบไม่ตรงก็เยอะ โดยประกันใจนี้ ย้ำทุกครั้งว่าอย่ายึดจากลมปากผู้ขาย ให้เขียนมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยเลย แนบนามบัตรก็ได้ จะได้เชื่อมั่นได้ว่าไม่มีบิดพริ้ว หลายคนอาจจะเคยเสียน้ำตากับเคสแบบนี้เหมือนกัน
ลิงก์สำหรับการเช็คประกันของผู้จำหน่ายแต่ละค่าย
Synnex: https://www.synnex.co.th/th/service/check_warranty_expiry_date_2.aspx
Strek: http://checkwarranty.strek.co.th/
ARC: http://www.ascenti.co.th/check/
Advice: https://www.advice.co.th/services/waranty
JIB: https://www.jib.co.th/web/checkserial/warranty
เช็คหน้าจออย่างไรได้บ้าง
ซื้อจอคอม ก็ต้องเช็คหน้าจอให้ละเอียด และน่าจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่เราจะต้องทำ เพราะหากจอเสีย มีอาการที่เรียกว่า Dead, Bright หรือ Dot เราจะได้เลี่ยงหรือไม่ต้องไปเสี่ยงกับจอแบบนั้น เพราะเชื่อได้เลยว่าร้อยทั้งร้อย ผู้ใช้มักจะถูกสะกดสายตา ด้วยบรรดาจุดเหล่านี้ที่ขึ้นมาให้เห็น แต่จะทำอย่างไรที่เราจะมองเห็นได้ว่า มีจุดต่างๆ เหล่านี้ขึ้นหรือไม่บนจอที่เราจะซื้อ ให้เริ่มต้นด้วย การสังเกต
- ดูด้วยตาเปล่า: อาการเหล่านี้ เราจะพอสังเกตได้ เมื่อเกิดขึ้นมาบนหน้าจอ โดยจะเป็นจุดที่โดดเด่นขึ้นมาให้เห็น ต่างจากแสงสีบริเวณรอบๆ นั้น เช่น เป็นจุดสว่างสีเดียวหน้าจอสีดำ หรือเป็นจุดดำ บนหน้าจอขาว หรือสีอื่นๆ ซึ่งทำให้การแสดงผลผิดปกติไป และเมื่อเราใช้งานไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะเพิ่มขึ้นก็มีเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่ชอบเอามือไปลูบๆ ถูๆ ในจุดที่เป็น หากมีแค่จุดเดียว แล้วคุณรับได้ เพราะลดราคาลงมาเยอะ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเยอะมากจนทำให้เสียอรรถรสในการใช้งาน แนะนำว่าให้ผ่านไปก่อน
- ปิดไฟโดยรอบ: การปิดไฟรอบๆ แล้วเปิดจอให้สว่างก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่ทำให้เราจับสังเกตความผิดปกติของจอภาพได้เช่นกัน เพราะเมื่อไม่มีแสงตกกระทบบนหน้าจอ ก็ทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น ให้ลองส่องดีๆ ทุกขอบทุกมุม ก็จะช่วยให้คุณได้จอที่มีความผิดปกติน้อยที่สุด
- ใช้โปรแกรมช่วย: แนะนำหัวข้อนี้เลย ถ้าเป็นไปได้ อย่างที่ได้บอกไปคือ หากเป็นไปได้ เมื่อไปถึงร้านหรือที่นัดหมาย ควรจะต้องลองให้รู้ชัดกันไปเลย ก่อนจะจ่ายเงินแล้วหิ้วกลับบ้าน เพราะใช้เวลาไม่นาน และเตรียมสิ่งที่จำเป็นไปง่ายๆ เช่น แฟลชไดรฟ์หรือถ้าผู้ขาย ต่อคอม ต่ออินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว ก็ดาวน์โหลดโปรแกรมมาทดสอบได้ เช่น DPT หรือ Dead Pixel Test โปรแกรมนี้จะช่วยให้คุณเช็คความผิดปกติได้ละเอียด และไม่ต้องติดตั้งลงบนเครื่องด้วย เมื่อเปิดโปรแกรม จะเป็นการแสดงผลของสีต่างๆ ให้เปิดไล่ไปทีละสี และเช็คทีละจุด ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โปรแกรมนี้ช่วยให้เห็นได้อย่างชัดเจน
ส่วนอีกอาการ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็พอจะยอมรับได้ ถ้าไม่มีการเกินไปนักก็คือ อาการแสงลอด หรือบางอาจจะบอกว่าแสงรั่ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ขอบบางส่วนจะมีแสง LED ลอดออกมาสว่างชัดเจน ยิ่งในที่มืด และเปิดหน้าจอสีทึบๆ เช่น สีดำ ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่า แสงสว่างจะโดดเด่นออกมาในพื้นที่ของหน้าจอโดยรอบ ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย แต่จะรำคาญสายตา เวลาที่คุณจะดูฉากในหนังหรือเล่นเกมที่เป็นโทนมืด คุณจะเห็นแสงนี้ จนเข้ามาทำให้ฉากดูเปลี่ยนไป หรือบางทีก็ไปทำให้ภาพที่อยู่บริเวณขอบแสดงผลผิดเพี้ยนนั่นเอง
ปุ่มตั้งค่า OSD settings
ตรงจุดนี้ค่อนข้างสำคัญเช่นกัน เพราะจอที่ใช้งานส่วนใหญ่ ก็จะมีให้ปรับละเอียดขึ้น ยกเว้นจอคอมพื้นฐาน ซึ่งจะมีน้อยกว่าแบบที่เป็นจอเกมมิ่ง ที่ยังไงก็ยังต้องปรับแต่งเพื่อให้เข้ากับการเล่นเกมหรือการใช้งานในแต่ละแบบ หรืออย่างน้อย ใช้ในการปรับแสง สี และค่า Contrast ต่างๆ ได้ดีขึ้น ในกรณีที่มีซอฟต์แวร์ปรับควบคู่กันไปได้ ก็ยังพอใช้งานทดแทนกันได้ แต่ถ้าจอที่ไม่มีซอฟต์แวร์มาให้จะทำอย่างไร ควรจะต้องเช็คให้สามารถใช้งานได้ทุกฟังก์ชั่น
โดยปุ่มควบคุม OSD settings จะมีด้วยกัน 2 แบบหลักๆ คือ แบบที่เป็นปุ่มกด และแบบที่เป็นจอยสติ๊ก ซึ่งทั้ง 2 แบบก็ให้ความสะดวกสบายในการใช้งานได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าใครจะถนัดแบบไหนมากที่สุด
แบบปุ่มกด: แบบนี้จะมักจะมีมาให้ 4-5 ปุ่มด้วยกัน ใช้ในการกดเลือก ยกเลิก ย้อนกลับหรือกดขึ้น-ลง ตามแต่ละเมนู ซึ่งหลายคนก็อาจจะต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยกันพอสมควร เพราะบางทีอยู่ข้างหลังจอ ก็ต้องจำว่าปุ่มมีอยู่กี่ปุ่ม เลือกเมนู ฟังก์ชั่นอย่างไร แต่บางรุ่นก็อยู่ด้านใต้จอ ก็ใช้งานง่ายขึ้นอีกนิด วิธีเช็ค ก็ให้กดไล่ไปทีละปุ่ม ลองกดเลือก เปิด-ปิด หรือกดซ้ำๆ ดูว่า ใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ ซึ่งหากแนะนำคือ ไม่ควรเสียเลยสักปุ่มจะดีที่สุด เพราะทำงานสอดคล้องกัน
แบบจอยสติ๊ก: เป็นแบบปุ่มเดียว แต่ออกแบบมาในลักษณะของจอยสติ๊ก กดง่ายใช้สะดวก แต่ถ้าเจอกับคนมือหนัก ก็อาจจะเกิดปัญหาได้ การใช้งานค่อนข้างง่าย เพราะกดลงไป เป็นการเลือกเมนู เลื่อนขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา และกดอีกครั้ง เพื่อกำหนดการตั้งค่า และเนื่องจากเป็นแบบที่ใช้ปุ่มเดียว ก็ควรจะต้องตรวจเช็คให้ดี สามารถเลื่อนเมนูได้ตามปกติ ซึ่งถ้าเลื่อนไม่ได้ กดไม่ลง ก็อาจจะเกิดความเสียหาย ซ่อมได้ แต่ก็ใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายพอสมควร
เสียงจากลำโพง
ลำโพงในจอคอมมือสอง ถามว่าจำเป็นมั้ย? ก็อาจจะจำเป็นหรือไม่ก็ได้ เพราะบางคนก็ไม่ได้เสน่ห์หาในเสียงจากลำโพงวัตต์น้อยๆ แบบนี้ แต่มีให้ก็ดี อย่างน้อยก็ไม่เหงา จะเปิดหรือปิดในภายหลังก็ไม่เสียหาย ฟังจากลำโพงที่ต่อออกจาก USB หรือหูฟังที่ต่อแยกจากคอมโดยตรง อาจจะได้อรรถรสมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าเกมเมอร์ หรือคนที่ชอบดูหนัง คงไม่ได้ใส่ใจมากนัก อย่างไรก็ดี หากมีให้แล้ว ก็ตรวจเช็คเสียหน่อยว่า เสียงเปิด-ปิด เพิ่ม-ลดเสียงได้หรือไม่ หรือมีเสียงจี่ รบกวนระหว่างที่ใช้งานหรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องเช็คว่า เกิดจากสิ่งใด เพราะเอามาใช้แล้ว มีเสียงรบกวน คงน่ารำคาญไม่น้อย แต่ถ้าให้ความสำคัญ ยังถือว่าน้อยกว่าปุ่ม OSD และพอร์ตสัญญาณต่อพ่วง ที่มีบทบาทมากกว่า
พอร์ตสัญญาณต่อพ่วง
เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในจอคอมมือสอง เพราะถ้ามีพอร์ตแต่ใช้ไม่ได้ หรือพอร์ตเสีย สัญญาณต่อเข้ามาไม่ได้ ก็หมายความว่า ซื้อจอไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะแสดงผลจากแหล่งที่มาไม่ได้ จะซื้อมาทำไม? ดังนั้นแล้ว นอกจากเรื่องของการแสดงผล สัญญาณขาเข้าต่อเข้ากับพอร์ตนี้ก็สำคัญ ส่วนใหญ่จอในปัจจุบัน จะให้พอร์ตแสดงผลมา 2-3 รูปแบบคือ DVI, HDMI และ DisplayPort แต่ก็ยังมีจอหลายรุ่นที่มีพอร์ต D-Sub หรือ VGA มาให้ ซึ่งเป็นพอร์ตสีฟ้าๆ ใช้ต่อกับคอมรุ่นเก่า ให้สัญญาณเป็นแบบแอนาล็อก ซึ่งจะให้สัญญาณที่มีข้อจำกัดในการใช้งาน ต่างจากบรรดาพอร์ตรุ่นใหม่ๆ และที่บอกว่าพอร์ตเหล่านี้มีความจำเป็น และไม่ควรเสียไปสักพอร์ตเลยก็เพราะ
- ส่งสัญญาณภาพเข้าหน้าจอไม่ได้: อย่างที่บอกคือ หากมีพอร์ต แต่สัญญาณไม่เข้าก็มีแต่เสียกับเสีย เพราะนอกจากจะเสียเงินฟรีแล้ว ยังเสียอารมณ์ที่ใช้งานไม่ได้อีกด้วย ต้องเช็คให้ละเอียดเลยในจุดนี้
- ไม่สามารถใช้รีเฟรชเรตสูงสุดของจอได้: เพราะพอร์ตสัญญาณแต่ละแบบ แต่ละเวอร์ชั่น ก็จะมีขอบเขตในการแสดงผลหรืออัตรารีเฟรชเรตที่ต่างกันออกไป และส่วนใหญ่มักจะกำหนดมาให้ในสเปคเลยว่า หากต้องการใช้ Refresh Rate ระดับที่สูงกว่า 144Hz, 200Hz ขึ้นไป จะต้องต่อที่พอร์ตใด หากพอร์ตนั้นเสียก็หมายความว่า คุณจะไม่สามารถเล่นที่โหมดสูงสุดนั้นได้เลย ตัวอย่างเช่น
Display Port: 2560 x 1080(Up to 200Hz)
Type C: 2560 x 1080(Up to 200Hz)
HDMI: 2560 x 1080 (Up to 180Hz)
- ใช้งาน PIP หรือ PBP ไม่ได้: เพราะว่าจอบางรุ่นจะมาพร้อมฟีเจอร์พิเศษอย่าง Picture In Picture หรือใช้จอเดียว แต่ต่อสัญญาณจากคอมได้มากกว่า 1 ช่อง เช่น จะใช้คอมกับโน๊ตบุ๊ค ขึ้นจอแสดงผลเดียวกัน ก็ต้องมี HDMI1, HDMI2 เป็นต้น พอร์ตเสียก็ใช้งานไม่ได้ แม้จะไม่ค่อยได้ใช้ แต่ก็ดูแล้วไม่คุ้มค่าเงินที่จ่ายไปเท่าใดนัก
ไม่แน่ใจ ไม่ได้ลอง อย่าเพิ่งรีบซื้อ
มาดูภาพรวมกันดีกว่า อย่าว่าแต่เรื่องของจอคอมมือสองนี้เลย ที่คุณจะต้องใส่ใจในรายละเอียด เมื่อจะต้องเลือกซื้อ อุปกรณ์อื่นๆ ที่คุณใช้ในชีวิตประจำวันนี้ก็เช่นกัน เข้าใจว่าเป็นของมือสอง อาจจะเสียบ้างเล็กๆ น้อยๆ ในบางจุด แต่ก็ต้องไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในภายหลังจนคุณไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เพราะถ้าคุณไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่ได้ ก็แทบจะไม่เกิดประโยชน์อันใดที่จะซื้อมา ถึงจะได้ราคามาถูกเพียงใดก็ตาม เพราะฉะนั้นแล้ว ให้คิดเสมอว่า ต้องคุ้มค่ากับเงินที่คุณจ่ายออกไปมากที่สุด และตามข้อมูลที่บอกไปในบทความนี้ แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องที่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ก็น่าจะพอช่วยให้คุณเลือกจอคอมมือสองที่ถูกใจ ถูกเงิน และตรงกับการใช้งานของคุณมากที่สุด ขอให้โชคดีครับ