วันนี้เราได้มีโอกาสสัมผัสกับฮีตซิงก์หรือพัดลมระบายความร้อนใหม่ล่าสุดจาก DEEPCOOL AS500 ซึ่งเป็นอีกค่ายหนึ่ง ที่มีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของชุดระบายความร้อนทั้งแบบฮีตซิงก์ระบายความร้อนด้วยลม และในแบบชุดน้ำปิด AiO อยู่หลายรุ่นเลยทีเดียว
ความโดดเด่นของ AS500 ที่ได้รับมาทดสอบในครั้งนี้ จะเป็นฮีตซิงก์สำหรับเกมเมอร์หรือนักโอเวอร์คล็อกในระดับเริ่มต้น รวมไปถึงคนที่อยากได้ฮีตซิงก์สวยๆ ปรับแต่งได้ ติดตั้งง่าย และจบในตัวเดียว หรือคนที่อยากเปลี่ยนจากฮีตซิงก์ตัวเก่า ไม่ว่าจะเป็น Intel 1159, 1155 หรือ AMD FM2, AM2, AM3 ก็ยังไหว กับดีไซน์ที่ดูไม่เทอะทะ โครงสร้างอะลูมิเนียม พร้อมครีบระบายขนาดใหญ่ ใส่ฮีตไปป์จำนวนมากมาให้ และแสงไฟ LED ด้านบน ปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการ จุดเด่นอยู่ที่พัดลมขนาดใหญ่ ที่ออกแบบใบพัดลมมาเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อนได้ดีเพียงใด ต้องมาติดตามกันในการทดสอบ
Specification
Support
Intel LGA2066/2011-v3/2011/1200/1151/1150/1155
AMD AM4/AM3+/AM3/AM2+/AM2/FM2+/FM2/FM1
อุปกรณ์ที่มีมาในกล่อง
อุปกรณ์หลักๆ ที่มีมาให้ในกล่อง มีอยู่อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น
- เพลตหลังเมนบอร์ดทั้งของ Intel และ AMD
- ขาล็อคสำหรับ Intel และ AMD
- ตัวล็อคพัดลมเข้ากับฮีตซิงก์
- ซิลิโคนหลอดเล็ก
- น็อตยึดเข้ากับขาล็อคเพลตหลังและเมนบอร์ด
- สายต่อรีโมทสำหรับปรับแต่งแสงไฟ RGB และสายต่อ RGB Header
การออกแบบและฟีเจอร์
มาดูที่การออกแบบของฮีตซิงก์ในภาพรวมกันก่อน คงต้องบอกว่า AS500 นี้ ถูกออกแบบมาให้เป็นลักษณะของทาวเวอร์ เน้นความสูง ที่จะให้ความยาวท่อฮีตไปป์สูงขึ้นไป และมีครีบระบายความร้อนขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่มีความถี่มากขึ้น จำนวนครีบที่เพิ่มขึ้นไปตามความสูง ลักษณะนี้ทำให้พัดลมมีโอกาสที่จะกระจายความร้อนที่ครีบได้ไวขึ้น เพราะทางลมที่เป่าเข้าไปในพื้นที่ที่เล็กกว่า ทำให้ทั่วถึงได้มากกว่า และไม่จำเป็นจะต้องใช้พัดลมความเร็วสูง ดังนั้นจึงลดปัญหาเรื่องของเสียงรบกวนที่จะตามมา รวมไปถึงทำให้ลดปัญหาการติดขัดในพื้นที่ด้านข้าง เช่น แรมหรือภาคจ่ายไฟ เป็นต้น แต่สิ่งเดียวที่อาจจะต้องสังเกตก็คือ ความสูงอาจจะทำให้ไปแตะกับฝาเคสด้านข้างได้ กรณีที่เป็นเคสขนาดเล็กนั่นเอง อย่างไรแล้วอาจจะต้องเช็คเรื่องของพื้นที่ภายในเคสก่อนจะเลือกใช้
ฮีตซิงก์
ถ้าดูจากพื้นฐานของฮีตซิงก์แล้ว ก็จะเป็นแบบที่หลายคนคุ้นตากันดี กับรูปแบบของทาวเวอร์ ทรงตรงเป็นมิติที่สูงขึ้นไปราวๆ 16cm. พร้อมครีบระบายอากาศขนาดเล็กจำนวนมาก
ส่วนด้านข้าง จะสังเกตได้ว่าค่อนข้างจะบางกว่าในฮีตซิงก์ระดับเดียวกันหลายรุ่น ซึ่งจากที่ได้วัดความหนาเฉพาะของด้านข้าง ไม่รวมพัดลม อยู่ที่ราว 4.7cm เท่านั้น ความบางตรงจุดนี้ จะส่งผลดีต่อการติดตั้งอุปกรณ์ด้านข้าง เช่น แรม เพราะจะทำให้การติดตั้งง่ายขึ้น
ครีบระบายอากาศ
หากมองจากด้านหลัง จะเห็นครีบระบายอากาศแบบบางๆ ซึ่งมีมากประมาณ 50 ชิ้น เลยทีเดียว วัสดุเป็นอะลูมิเนียม เคลือบด้วยนิกเกิล ทำให้ดูเงางาม และมีส่วนช่วยในการระบายความร้อนได้ดียิ่งขึ้น พร้อมฮีตไปป์ทองแดงจำนวน 5 เส้น วิ่งผ่านหน้าสัมผัส ขึ้นไปจนสุดด้านบนของฮีตซิงก์ ซึ่งต้องถือว่า DEEPCOOL ออกแบบมาได้ดีทีเดียว สำหรับการวางฮีตไปป์จำนวนมาก บนพื้นที่บางๆ ของฮีตซิงก์เช่นนี้
ตรงกลางจะเป็นร่องเล็กๆ ตลอดความสูง เพื่อใช้เป็นตัวเกี่ยวสำหรับล็อคพัดลมให้ติดแน่นเข้ากับฮีตซิงก์ได้ดี ซึ่งตัวยึดจะเป็นโลหะเล็กๆ ซึ่งมีให้ 4 ตัว สำหรับการติดตั้งพัดลมได้ทั้ง 2 ด้านหรือพัดลม 2 ตัวนั่นเอง
ฐานและหน้าสัมผัส
จากมุมนี้ทำให้เราเห็นฮีตไปป์และหน้าสัมผัสได้ชัดขึ้น จากที่เห็นจะเป็นฮีตไปป์ 5 เส้นที่วิ่งผ่านหน้าฐานของฮีตซิงก์ และมีหน้าสัมผัส ที่เป็นทองแดงเคลือบนิกเกิล มีความเงางามปิดอยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่คุ้นตากันดี แต่ถ้าใครที่ชอบแบบฮีตไปป์มาเป็นหน้าสัมผัสกับซีพียูโดยตรง ก็อาจจะแปลกตาอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งผลที่ได้ก็ต้องมาทดสอบกันอีกครั้งหนึ่ง
หน้าสัมผัสก็มีความเงางามในระดับหนึ่ง เพราะได้รับการจัดเตรียมมาตามมาตรฐานแล้ว แต่ถ้าใครอยากจะได้แบบเงางาม ก็คงต้องไป Wrapping กันอีกรอบ เอาแบบสะท้อนเห็นหน้าเองก็ยังได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลาและฝีมือเพิ่มอีกเล็กน้อย ส่วนตัวล็อค ที่เป็นขาล็อคหลัก จะถูกติดมากับตัวฮีตซิงก์ให้พร้อมใช้ ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะลดขั้นตอนไปได้มาก และเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ได้ไม่น้อย
พัดลม
สำหรับพัดลมที่มีมาให้ในกล่อง จะมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น และเป็นพัดลมขนาด140 x 140mm หนาเพียง 25mm เท่านั้น จัดว่าเป็นแบบบาง ที่มีความเร็วรอบในการทำงานที่ 500 – 1200 รอบต่อนาที บวกลบนิดหน่อย กับค่าแรงลมประมาณ 70.81 CFM เสียงน้อยกว่า 29 เดซิเบล ซึ่งก็เป็นไปตามคาด โดยมีหัวต่อ 2 ส่วนมาให้คือ 4-pins สำหรับ Fan connector บนเมนบอร์ด และหัวต่อ 3-pins ที่ใช้สำหรับต่อกับหัวแปลงในการต่อเข้ากับ ARGB หรือ RGB Header รวมถึงรีโมท ที่ใช้ปรับแต่งแสงไฟอีกด้วย
มาดูที่ใบพัดลมกันใกล้ๆ นอกจากจะมีความถี่ของใบพัด ค่อนข้างเยอะแล้ว ส่วนโค้งของใบพัด ยังออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้มี Air flow มากขึ้น และเสียงรบกวนที่น้อยลง เมื่อผ่านไปยังครีบระบาย ก็จะไม่เกิดเสียงมากเกินไป ใช้งานได้แบบสบายๆ
หัวต่อที่มี 2 ส่วนด้วยกันคือ 4-pins สำหรับ Fan connector บนเมนบอร์ด และหัวต่อ 3-pins ที่ใช้สำหรับต่อกับหัวแปลงในการต่อเข้ากับ ARGB หรือ RGB Header
การติดตั้ง
ดูรายละเอียดของฮีตซิงก์ DEEPCOOL AS500 กันไปแล้ว มาดูการติดตั้งกันบ้างดีกว่า ว่ามีความยากง่ายเพียงใด โดยอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่อธิบายไปในข้างต้นนั้น จะถูกนำมาใช้แค่บางส่วนเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่า คุณใช้แพลตฟอร์มใด AMD หรือ Intel
สำหรับระบบที่นำมาใช้ในวันนี้เป็นเซ็ต AMD โดยมีซีพียู AMD Ryzen 5 3600 มาคู่กับเมนบอร์ด ASRock X470 SLI/ac พร้อมแรม DDR4 3200 16GB จาก HyperX
ขั้นแรกสำหรับคนที่ใช้ AMD ให้ถอดฮีตซิงก์เดิมออกก่อน แต่ไม่ต้องถอดเพลตหลัง ที่ติดอยู่ด้านหลังของเมนบอร์ดออกไป เพราะเราจะนำมาใช้ร่วมกับขาล็อคของฮีตซิงก์รุ่นนี้ได้เลย
ใช้น็อตที่เป็นฐาน หมุนเข้าไปกับเพลตหลัง เพื่อใช้ในการล็อคเพลตและเมนบอร์ด และจะมีน็อตเกลียว สำหรับวางขาล็อคในขั้นตอนต่อไป
เตรียมน็อตตัวเมีย ที่มีให้ในชุดจำนวน 4 ตัว เอาไว้ก่อน เมื่อวางขาล็อคลงบนน็อตเกลียวที่ใส่ไว้ก่อนหน้าแล้ว ก็ให้ไขตัวนี้ลงไป
ออกมา จะเป็นหน้าตาแบบนี้ วิธีการไข ให้วางขาล็อค โดยมีเกลียวหงายขึ้นมา เพื่อจะใช้ในการรองรับตัวล็อคที่มีอยู่บนฮีตซิงก์อีกที
จากนั้นให้เอาซิลิโคนที่มีมาให้ในกล่อง ทาให้ทั่วบริเวณหน้าสัมผัสของซีพียู ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการดึงความร้อนของซีพียูออกมาได้ดีขึ้น
และอย่าลืม ก่อนติดตั้งฮีตซิงก์ลงบนซีพียู ที่เราได้เตรียมขาล็อค พร้อมทาซิลิโคนเอาไว้แล้ว ให้แกะพลาสติกใสที่ปิดฐานออกด้วย สิ่งนี้สำคัญมากๆ เพราะถ้าไม่แกะออก ฮีตซิงก์จะไม่สามารถช่วยระบายความร้อนได้เลย ต้องระวังให้ดี!
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็เตรียมวางฮีตซิงก์ลงบนเมนบอร์ด สังเกตว่าเราถอดพัดลมออกก่อน เพื่อที่จะให้เราสามารถใช้ไขควงในการไขล็อคตัวยึดฮีตซิงก์เข้ากับฐานได้ง่ายกว่า พัดลมติดตั้งทีหลังได้ ไม่ยุ่งยาก
เมื่อวางลงไปในซ็อกเก็ตที่จัดเตรียมไว้ ก็ให้ไขล็อคทีละข้าง ควรมีไขควง 4 แฉก ที่ยาวหน่อย เนื่องจากฮีตซิงก์มีความสูงพอสมควร จะได้ติดตั้งง่ายขึ้น เมื่อลงล็อคทั้ง 2 ด้าน ไขยึดให้แน่นอีกครั้ง
จากนั้นจึงติดตั้งพัดลมระบายความร้อนเข้าไปกับฮีตซิงก์ และลองขยับ เพื่อตรวจเช็คว่าแน่นหนาดีหรือไม่ แล้วเสียบสายพัดลม 4-pins เข้ากับเมนบอร์ด CPU_Fan และ 3-pins เพื่อต่อเข้ากับสาย A-RGB ที่มีมาให้ในกล่อง ซึ่งการควบคุมหรือปรับลูกเล่นแสงสีนั้น จะขึ้นอยู่กับเมนบอร์ดแต่ละรุ่น โดยจะใช้ซอฟต์แวร์ที่มากับเมนบอร์ด ในการจัดการแสงสีเหล่านั้น แต่ถ้าเมนบอร์ดที่ใช้ไม่ได้สนับสนุนไฟ RGB ก็สามารถใช้รีโมตในการปรับแต่งแสงไฟได้เช่นกัน
เมื่อติดตั้งเรียบร้อย ก็จะเห็นได้ว่าแม้แต่เคสกลางๆ แบบ Mid-Tower ก็ยังใส่เข้าไปได้สบาย ที่ชอบเลยก็คือ ด้วยขนาดที่บางลง จึงเหลือพื้นที่บริเวณใกล้กับแรมมากขึ้น ทำให้พัดลมไม่ไปเบียดบังแรมมากนัก มีระยะห่างพอในการทำงานและระบายความร้อน
เมื่อเปิดเครื่องในเบื้องต้นระบบจะมีแสงไฟสีขาวขึ้นมาบริเวณด้านบนของฮีตซิงก์ ซึ่งหากคุณติดตั้งอคนเน็กเตอร์สำหรับ ARGB ไว้บนเมนบอร์ด และใช้ซอฟต์แวร์ที่รองรับ ไม่ว่าจะเป็น ASUS, ASRock, MSI หรือ Gigabyte หากตรวจพบ Detect เจออุปกรณ์ ก็จะสามารถปรับแต่งแสงสี RGB ได้ตามใจชอบ หรือถ้าใครไม่ได้ใช้ ก็อาจจะเลือกติดตั้งสายรีโมท เข้ากับสาย 3-pins จากฮีตซิงก์ แล้วปรับ + หรือ – ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งมีรูปแบบสีให้เลือกมากมาย เท่าที่ได้ลองก็เล่นได้หลายรูปแบบเลยทีเดียว
จุดที่น่าสังเกตเล็กน้อยก็คือ เรื่องของความสูงฮีตซิงก์ ที่อาจจะต้องเช็คดูให้ดี ซึ่งมองจากด้านข้างจะเห็นว่ามาแบบปริ่มๆ เลย พอปิดฝาข้างได้ เช็คความสูงให้ดีแนะนำว่าอย่างน้อยพื้นที่ภายในควรมีพื้นที่ความสูงมากกว่า 16cm เพื่อให้มีพื้นที่ได้แบบไม่ติดฝาข้างเกินไปนัก
ทดสอบการระบายความร้อน
มาดูในแง่ของการทดสอบกันบ้าง ด้วยการทดสอบแบบ Full load ด้วยโปรแกรม OCCT ในการทำงานซีพียู 100% เป็นเวลา 30 นาทีต่อเนื่อง กับอุณหภูมิห้อง 25-26 องศาเซลเซียส กับซีพียู Ryzen 5 3600 ทำงานแบบ 6 core/ 12 thread อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ราว 72 องศาเซลเซียสและลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 60-64 องศาเซลเซียส แบบที่เรียกว่าสบายๆ ส่วนช่วง idle อยู่ที่ประมาณ 32-36 องศาเซลเซียส เสียงรบกวนแทบไม่มี ส่วนความเร็วรอบปล่อยแบบ Auto ไม่ได้กำหนดให้พัดลมเร่งรอบเต็มพิกัดตลอด นั่นก็หมายความว่าหากการใช้งานทั่วไป ก็ทำได้สบายๆ ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เพราะโอกาสที่จะให้ซีพียูวิ่ง 100% ค่อนข้างจะน้อยมากๆ แต่ถ้ามีก็ยังอยู่ในระดับที่ AS500 นี้ควบคุมได้
ส่วนในการเล่นเกมก็อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นคือ พัดลมระบายความร้อน จาก DEEPCOOL รุ่นนี้ รับมือการโหลดการทำงานที่สูงได้บนกลุ่มซีพียูระดับเดียวกันในแบบ Full load ได้ไม่ยาก ดังนั้นการเล่นเกมที่ส่วนใหญ่เรียกพลังแค่ 50-70% เช่นเดียวกับใน Battlefield V ฮีตซิงก์ก็ยังแสดงประสิทธิภาพออกมาให้เห็นได้ ใช้งานได้อย่างมั่นใจ นิ่งๆ อยู่ที่ประมาณ 52-56 องศาเซลเซียส เท่านั้น
Conclusion
สำหรับพัดลมระบายความร้อนจาก DEEPCOOL รุ่นนี้ ต้องถือว่าเป็นอีกรุ่นที่มีการออกแบบมาได้ Friendly และเป็นกันเองกับผู้ใช้อย่างมาก ตามสไตล์ของ DEEPCOOL ที่มักจะมีให้พบเห็นอยู่เสมอ เช่นเดียวกับใน AiO หรือชุดน้ำปิดที่เป็น Cooling อย่างเช่น GAMMAXX ที่ทีมงานได้ทดสอบไปก่อนหน้านี้ ซึ่งให้ความ Simple เพื่อผู้ใช้ทำงานได้ง่าย ชิ้นส่วนไม่ต้องเยอะ บางอย่างแทบไม่ต้องดูคู่มือก็ได้ แต่ก็สามารถใช้งานได้ดี AS500 มีการออกแบบที่เน้นแนวสูง เพื่อเปิดให้ครีบระบายความร้อน สามารถสัมผัสกับอากาศเย็นจากพัดลมขนาดใหญ่ได้ดีขึ้น ใบพัดที่ปรับมาให้เข้ากับตัวฮีตซิงก์ได้ดี เสียงรบกวนน้อย แต่ก็ลดความร้อนได้ไม่ธรรมดา บนซีพียูระดับ 6 core/ 12 thread ที่วิ่งแบบ 100% Full load ในแง่การออกแบบและประสิทธิภาพ ตรงนี้ถือว่าได้คะแนนค่อนข้างดีเลย
อีกจุดหนึ่งที่คงจะต้องพูดถึงก็คือ แสงสี ARGB ที่ปรากฏอยู่บนฮีตซิงก์ ก็ต้องยอมรับว่า ค่อนข้างเข้าถึงเมนบอร์ดในแต่ละระดับ และยังมีตัวเลือก ในกรณีที่เมนบอร์ดไม่รองรับ เช่นการวางรีโมตขนาดกระทัดรัดเอาไว้ให้ แค่เชื่อมต่อสาย และปรับผ่านรีโมทนี้ คุณก็จะได้สีสันความสวยงามจากแสงไฟในแบบที่คุณต้องการได้แล้ว แม้จะไม่ได้ปรับแบบละเอียดยิบเหมือนกับบนซอฟต์แวร์ แต่ก็ต้องถือว่า คิดเผื่อล่วงหน้ามาให้ เอาใจคนงบน้อยได้เป็นอย่างดี ส่วนเรื่องราคาถ้าดูจาก ตปท จะราวๆ พันปลายๆ แต่มาบ้านเราก็อาจจะขยับเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขทำตลาด ส่วนตัวมองว่าสนนราคาราว 2 พันก็ยังน่าสนใจ เพราะเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ในแง่ของประสิทธิภาพและฟีเจอร์เช่นนี้ DEEPCOOL ก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าเล่นไม่เบาทีเดียว
จุดเด่น
- มีมิติที่บาง ไม่รบกวนพื้นที่ด้านข้าง
- ติดตั้งง่าย ชิ้นส่วนไม่เยอะ
- พัดลมบาง แต่ให้ปริมาณลมได้ดี
- เสียงรบกวนน้อย
- มีแสงไฟ ARGB สวยงาม ปรับแต่งได้
- ระบายความร้อนได้ดี สำหรับซีพียูระดับกลาง
ข้อสังเกต
- ค่อนข้างสูง อาจจะต้องเช็คระยะความกว้างของเคส
- การใช้งานไฟ ARGB ต้องดูที่ซอฟต์แวร์ของเมนบอร์ดเป็นหลัก
ราคา: ประมาณ 2,xxx บาท (ในต่างประเทศ)
ข้อมูลเพิ่มเติม: DEEPCOOL