Lenovo YOGA Slim 7 เป็นโน้ตบุ๊กในซีรีส์ YOGA ที่อาจจะแตกต่างจากที่เคยซักเล็กน้อย เนื่องจากเป็นรุ่นที่ออกแบบมาในสไตล์ฝาพับปกติ ไม่สามารถพลิกจอได้ถึงระดับ 360 องศา แต่ยังคงความครบครันทั้งในแง่ของความบางเบา พกพาสะดวก พร้อมกับประสิทธิภาพที่ลงตัวจากชิปประมวลผล AMD Ryzen 7 รุ่นใหม่ในสถาปัตยกรรม Renoir ที่โดดเด่นทั้งความสามารถ และการใช้พลังงานที่ดี
โดยในรุ่นที่เรารีวิวนี้ เลือกใช้ AMD Ryzen 7 4700U ผสานกับพลังกราฟิก AMD Radeon RX Vega 7 ที่แรงจนสามารถใช้เล่นเกมยอดฮิตในปัจจุบันได้โดยไม่ต้องพึ่งพลังจากการ์ดจอแยก แรมก็จัดเต็มมาให้ถึง 16 GB SSD 512 GB ความเร็วสูง หน้าจอ FHD ขนาด 14″ ที่ให้ค่าสีแม่นยำระดับ 100% sRGB จึงทำให้ YOGA Slim 7 เครื่องนี้เหมาะกับทั้งการใช้งานทั่วไป งานเอกสาร ไปจนถึงงานกราฟิกที่ต้องการความแม่นยำของสีในสเกล sRGB ได้สบาย ๆ
NBS Verdict
แม้ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊กรูปทรงปกติซึ่งสามารถกางหน้าจอออกได้ราว 180 องศาเท่านั้น แต่ Lenovo YOGA Slim 7 ก็ยังให้ความยืดหยุ่นในการใช้งานที่ดีด้วยความบางเบาของตัวเครื่อง ในขณะที่ได้หน้าจอที่ใหญ่ถึง 14″ ประสิทธิภาพก็ยอดเยี่ยม แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานระดับ 10 ชั่วโมง ทำให้ไม่ว่าจะงานประเภทใดก็สามารถจัดการได้อย่างราบรื่นด้วยพลังของชิป 8 คอร์ 8 เธรด หรือจะเล่นเกมโปรดก็ทำได้สบายจากพลังของกราฟิกในตัวอย่าง AMD RX Vega 7 ที่รองรับเกมยอดฮิตอย่างพวก PUBG, DOTA 2 ไปจนถึง Battlefield V ได้ด้วย
การเชื่อมต่อของ YOGA Slim 7 ก็ถือว่าครบครันมากสำหรับโน้ตบุ๊กที่เน้นความบางเบา เพราะมีให้มาทั้ง USB-A, USB-C, HDMI, ช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ส่วนการเชื่อมต่อไร้สายก็มี WiFi 802.11AX (WiFi 6) มาให้ด้วย ส่วนการชาร์จก็ทำได้ผ่านพอร์ต USB-C ที่รองรับฟังก์ชันการชาร์จแบบ USB-PD ด้วย เรียกว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับไลฟ์สไตล์ในยุคนี้ได้ดีมาก ตอบโจทย์ทั้งความสะดวกในการพก การใช้งานอุปกรณ์เสริมร่วมกับเครื่องอื่น รวมถึงความเร็วในการรับส่งข้อมูล/เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เรียกว่าซื้อรอบนี้ ใช้งานได้อีกยาว ๆ แน่นอน
จุดเด่น
- หน้าจอสวย ภาพคมชัดเต็มตา สีสันระดับ 100% sRGB ใช้ทำงานกราฟิกได้สบาย
- ให้แรมมา 16 GB เหลือเฟือสำหรับการใช้งานในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าได้เลย
- แบตเตอรี่ใช้งานจริงได้ราว 8-10 ชั่วโมง สูงสุดตามสเปคคือ 14 ชั่วโมง
- มีพอร์ต USB-C ให้มา 2 พอร์ต สามารถชาร์จไฟที่พอร์ตไหนก็ได้ และยังมี USB-A ขนาดเต็มให้อีก 2 พอร์ตด้วย
- น้ำหนักเบา จับถือสะดวก
- ประสิทธิภาพสูง เล่นเกมได้ แต่เครื่องไม่ร้อนมากนัก
- มี Windows 10 Home มาให้ พร้อมฟังก์ชัน Windows Hello สำหรับปลดล็อกจอด้วยการสแกนใบหน้า
ข้อสังเกต
- แม่เหล็กตรงฝาพับหน้าจอดูดแรงไปนิด ทำให้ต้องออกแรงในการเปิดจอขึ้นมาพอสมควร (ไม่สามารถใช้มือเดียวเปิดได้)
- รุ่นที่ใช้ชิป AMD (YOGA Slim 7) จะไม่มีจอสัมผัส
Specification
ส่วนของสเปคนั้น Lenovo YOGA Slim 7 รุ่นที่รีวิวมาพร้อมกับชิปประมวลผล AMD Ryzen 7 4700U ที่มี 8 คอร์ 8 เธรด ความเร็วพื้นฐาน 2.0 GHz สามารถเร่งความเร็วได้สูงสุด 4.1 GHz โดยจุดเด่นคือสถาปัตยกรรม Renoir ที่ได้รับการพัฒนาจากรุ่นก่อนหน้าพอสมควร ทั้งในด้านของประสิทธิภาพ และการจัดการพลังงานที่ทำได้ดี จนสามารถเปรียบเทียบกับชิปของอีกฝั่งได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ
แรมเป็น DDR4 แบบฝังบอร์ดให้มาถึง 16 GB ซึ่งเป็นความจุแรมที่แนะนำสำหรับโน้ตบุ๊กใช้งานระดับจริงจังในยุคนี้ มาพร้อมกับ SSD 512 GB PCIe ซึ่งถือว่าพอใช้งานได้แบบไม่อึดอัด ทั้งยังให้ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลที่ค่อนข้างสูง รองรับงานจำพวกการตัดต่อวิดีโอ หรืองานที่ต้องเข้าถึงข้อมูลปริมาณมากได้สบาย หน้าจอขนาด 14″ ในตัวเครื่องขนาด 13″ เท่านั้น ทำให้ได้ภาพที่เต็มตา ความละเอียดระดับ Full HD ซึ่งจัดว่าสมดุลกับทั้งด้านความสวยงามและการใช้พลังงานที่ไม่สูงเกินไป ที่น่าสนใจคือสามารถแสดงสีได้ระดับ 100% sRGB ด้วย เหมาะกับสายงานกราฟิกสื่อออนไลน์มาก ๆ จะติดก็แค่ในรุ่น AMD จะเป็นจอธรรมดา ต่างจากรุ่น Intel ที่บางโมเดลจะเป็นจอสัมผัสด้วย ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำงานบางอย่างได้
Lenovo YOGA Slim 7 รองรับการเชื่อมต่อไร้สาย WiFi 802.11ax (WiFi 6) ซึ่งเป็นมาตรฐาน WiFi ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยจุดเด่นในด้านความเร็ว ความเสถียรในการใช้งาน และแบนด์วิธที่สูงกว่ามาตรฐาน ac ซึ่งถ้าคุณต้องการโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงไว้ใช้งานได้นาน ๆ การเลือกเครื่องที่รองรับ WiFi 6 ด้วยก็ถือเป็นข้อที่ควรนำมาพิจารณาเหมือนกัน
ส่วนพอร์ตเชื่อมต่อก็มีมาทั้ง USB-C 2 ช่องที่ใช้ช่องไหนในการชาร์จก็ได้ นอกจากนี้ก็มี USB-A อีก 2 ช่อง รวมถึง HDMI ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มม. และก็มีช่อง MicroSD มาให้ด้วย
สำหรับรุ่นที่วางจำหน่ายในตอนนี้ Lenovo YOGA Slim 7 จะมีให้เลือกด้วยกันสองกลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มชิป AMD (YOGA Slim 7) และกลุ่ม Intel (YOGA Slim 7i) ดังนี้
- Ryzen 5 4500U / RX Vega 6 / DDR4 16 GB / SSD 512 GB ราคา 26,900 บาท
- Ryzen 7 4700U / RX Vega 7 / DDR4 16 GB / SSD 512 GB ราคา 29,900 บาท
- Core i5-1035G1 / GeForce MX350 / DDR4 16 GB / SSD 512 GB / จอสัมผัส ราคา 31,900 บาท
- Core i5-1035G1 / GeForce MX350 / DDR4 16 GB / SSD 512 GB ราคา 32,900 บาท
- Core i7-1065G7 / GeForce MX350 / DDR4 16 GB / SSD 1 TB / จอสัมผัส ราคา 32,900 บาท
โดยรุ่นที่รีวิวในบทความนี้จะเป็นรุ่นที่สอง ที่ใช้ชิป Ryzen 7 4700U ครับ ซึ่งจัดเป็นรุ่นที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับคนที่กำลังมองหาโน้ตบุ๊กใช้ทำงานในชีวิตประจำวัน ที่อาจต้องเจอกับงานที่ใช้พลังประมวลผลซักนิดนึง
Hardware / Design
Lenovo YOGA Slim 7 เป็นโน้ตบุ๊กขนาด 13″ รูปทรงปกติ วัสดุหลักของตัวเครื่องภายนอกจะเป็นอลูมิเนียมที่มีจุดเด่นในด้านน้ำหนักที่เบา แต่ยังคงความแข็งแกร่งไว้ได้อยู่ โดยเครื่องรีวิวนี้จะเป็นสีม่วงแบบไวน์องุ่น
ส่วนหน้าจอจะเป็นจอกระจก ซึ่งมีข้อจำกัดนิดนึงเมื่อใช้งานในที่ที่มีแสงเข้าจากด้านหลังตัวผู้ใช้งาน เพราะจะเกิดแสงสะท้อนอยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่มากจนเกินไป สีสันและความสว่างนั้นทำได้ดีมาก มุมมองก็กว้างตามแบบฉบับของพาเนล IPS ที่มีคุณภาพ รวม ๆ แล้วเป็นจอที่ใช้งานกราฟิกได้สบายมาก จะแต่งรูป ตัดต่อวิดีโอ หรือใช้ดูหนังก็ไม่มีปัญหา
ตรงบริเวณกึ่งกลางขอบจอด้านบน จะมีส่วนที่หนาขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งภายในก็จะมีทั้งกล้องหน้า กล้องอินฟราเรด และก็เซ็นเซอร์จับระยะห่าง เพื่อวัดตำแหน่งของตัวผู้ใช้งาน เพื่อนำไปเสริมการทำงานให้กับระบบ Windows Hello อีกที
ซึ่งการที่มีกล้องอินฟราเรดติดตั้งมาให้ด้วย ก็ทำให้ผู้ใช้สามารถปลดล็อกหน้าจอด้วยใบหน้าได้สะดวก ไม่ว่าจะกลางแจ้ง ในที่ทำงาน หรือจะในบริเวณที่มีแสงน้อยก็ตาม ทำให้ไม่ต้องคอยนั่งกรอกรหัสทุกครั้งให้วุ่นวาย โดยเฉพาะตอนที่มืออาจจะเปียกอยู่ หรือไม่สะดวกใช้คีย์บอร์ดก็ตาม
บริเวณที่รองมือ ฝั่งซ้ายจะมีสติกเกอร์ต่าง ๆ ติดอยู่ ทั้ง AMD Ryzen 7 4000 series, AMD Radeon Graphics รวมถึงสติกเกอร์รวมฟีเจอร์เด่นของ YOGA Slim 7 ส่วนใกล้ ๆ กันนั้นก็มีโลโก้ระบบเสียง Dolby Atmos มาให้ด้วย การันตีว่าเสียงที่ได้จะมีมิติที่ค่อนข้างสมจริง
ซึ่งลำโพงจะวางอยู่ขนาบสองข้างของคีย์บอร์ดเลย ให้เสียงแบบสเตอริโอที่ค่อนข้างมีมิติครบถ้วน ความดังของเสียงก็อยู่ในเกณฑ์โน้ตบุ๊กบางเบาทั่วไป เน้นเสียงโทนกลางเป็นปกติ พอใช้ฟังเพลงได้ประมาณหนึ่ง
บริเวณขอบจอด้านบน จุดที่หนาขึ้นเล็กน้อย จะมีสลักคำว่า YOGA 7 SERIES เอาไว้ด้วย ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ในการเปิดฝาจอขึ้นมา แต่ตรงนี้ต้องบอกเลยว่าแม่เหล็กที่ดูดฝาจอไว้นั้นค่อนข้างแรง ทำให้ไม่สามารถเปิดจอด้วยมือข้างเดียวได้ ต้องอาศัยมืออีกข้างในการจับตัวเครื่องส่วนล่างเอาไว้ด้วย
ฝาหลัง Lenovo YOGA Slim 7 ใช้เป็นแบบเรียบ ๆ มีโลโก้ YOGA อยู่ตรงมุมซ้ายบน ไม่มีไฟใด ๆ ให้ความเรียบหรูประมาณหนึ่ง
ส่วนด้านล่างก็จะเป็นฝาแบบชิ้นเดียว มีช่องดึงลมเข้าเป็นแนวยาว ส่วนยางรองเครื่อง มีด้วยกัน 3 ชิ้น แบ่งเป็น 2 ชิ้นสั้นและ 1 ชิ้นยาวด้านบน
ในการออกแบบลักษณะนี้ ถ้าต้องการหาแท่นรองโน้ตบุ๊กมาช่วยระบายความร้อน ก็แนะนำว่าควรหารุ่นที่มีพัดลมบริเวณกลาง ๆ เพื่อให้ใบพัดสามารถกวาดลมเข้าไปทางช่องดึงลมเข้าได้พอดี จะใช้พัดลมเล็กสองตัว หรือใช้พัดลมใหญ่ตัวเดียวก็ได้
การแกะฝาล่างก็ไม่ยากเลยครับ แค่ขันน็อตออก 7 ตัว ก็สามารถดึงฝาออกได้ทันที ภายในก็จะพบกับพัดลมระบายความร้อนสองตัว ช่วยกันแชร์ความร้อนออกจากท่อฮีตไปป์กลางออกไป ทำให้สามารถคุมความร้อนได้ดี ส่วน SSD เป็นแบบ M.2 ที่มีแผ่นสีเทาหุ้มไว้อยู่ สามารถถอดเปลี่ยนได้ตามใจชอบ ทั้งนี้ ไม่สามารถเพิ่มแรมได้นะครับ เพราะเป็นแบบชิปฝังบอร์ดมาแล้ว ส่วนแบตก็ให้มาเกือบ 4000 mAh (~60 Whr)
Connector / Thin And Weight
Lenovo YOGA Slim 7 ให้พอร์ตมาครอบคลุมการใช้งานทั่วไปได้ดี เริ่มที่ฝั่งซ้ายมีช่อง USB-C ที่รองรับมาตรฐาน USB 3.1 ทั้งสองช่อง สามารถใช้ชาร์จไฟได้ทั้งคู่ผ่านเทคโนโลยี Power Delivery และยังใช้ต่อจอนอกแบบ DisplayPort ได้ด้วย ใกล้ ๆ กันนั้นก็จะมีไฟ LED แสดงสถานะการชาร์จ มีพอร์ต HDMI ขนาดเต็ม และก็ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มม.
ฝั่งขวามีปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง ไฟแสดงสถานะการทำงาน ถัดมาเป็นช่อง USB-A 3.1 Gen 2 มาให้ข้างกัน 2 ช่อง และก็ช่องใส่ MicroSD ทำให้ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อแบบไหน ก็สามารถใช้งานร่วมกับ YOGA Slim 7 เครื่องนี้ได้แทบทั้งหมดเลย จะไปต่อพวก USB Hub อีกก็สบาย
ด้วยความที่ตัวเครื่องมีความบาง ทำให้ช่องระบายอากาศออกจะอยู่บริเวณขอบเครื่องที่อยู่ใต้จอ
Keyboard / Touchpad
คีย์บอร์ดเป็นแบบยอดนิยมบนโน้ตบุ๊ก คือใช้ปุ่ม F1-F12 เป็นปุ่มปรับฟังก์ชันต่าง ๆ ในเครื่องไปด้วยในตัว ส่วนขนาดของปุ่ม และสัมผัสในการกดนั้น Lenovo ทำได้ดีอยู่แล้วครับ ไม่ว่าจะนิ้วเล็กหรือใหญ่ขนาดไหนก็สามารถกดได้สะดวก ใช้แรงกดแบบพอดี ๆ พิมพ์งานได้สนุกเลย สามารถวางข้อมือบนแท่นวางได้โดยไม่พบอาการไฟดูด
ไฟ LED ใต้ปุ่มสามารถปรับได้ 3 ระดับคือ ปิด/สว่างระดับกลาง/สว่างมาก วิธีปรับก็ทำได้โดยการกดปุ่ม Fn ค้างไว้ แล้วกดปุ่ม spacebar เพื่อปรับระดับความสว่าง ซึ่งถ้าเป็นการใช้งานทั่ว ๆ ไป ปรับแค่ระดับกลางไว้ก็มองเห็นปุ่มได้สบายแล้ว แต่ในระหว่างใช้งาน อาจจะเจอแสงลอดจากใต้ปุ่มแถวบนอยู่เหมือนกันนะครับ ขึ้นอยู่กับมุมของการตั้งเครื่องและระดับสายตา
ทัชแพดมีขนาดมาตรฐาน สามารถลากเคอร์เซอร์ได้ทั่วจอ รองรับการสั่งงานแบบหลายนิ้วพร้อมกัน สามารถลาก gesture ได้ตามปกติ
Performance / Software
Lenovo YOGA Slim 7 มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home รวมถึงยังให้ Microsoft Office Home & Student 2019 ติดมากับเครื่อง สามารถใช้งานได้ฟรี เรียกได้ว่าเปิดเครื่องมา ก็พร้อมทำงานต่อได้เลย
โปรแกรม CPU-Z ก็สามารถแสดงรายละเอียดของชิป AMD Ryzen 7 4700U ได้ค่อนข้างครบครับ ระบุเลยว่าเป็นชิป 8 คอร์ 8 เธรด โดยมี GPU อย่าง Radeon RX Vega 7 ที่มี 7 คอร์ติดมาด้วย แรมเป็นแบบ DDR4 16 GB รองรับการใช้งานได้แบบไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะงานเอกสาร งานกราฟิก 2D/3D และน่าจะเป็นความจุแรมมาตรฐานไปได้อีกหลายปีเลย ถ้าวางแผนว่ากะจะซื้อโน้ตบุ๊กบางเบามาใช้ซัก 2-3 ปี แนะนำว่าเลือกรุ่นที่ให้แรมมา 16 GB ไปเลยจะดีกว่า (ถ้ามีงบ) เพราะข้อจำกัดในเรื่องที่ไม่สามารถเพิ่มแรมในภายหลังได้
ส่วน GPU ก็จะระบุมาเพียงแค่ AMD Radeon Graphics แต่ถ้าแยกตามรุ่นย่อยจริง ๆ จะเป็น RX Vega 7 นะครับ ซึ่งได้รับการยอมรับเรื่องประสิทธิภาพพอสมควรเลยว่าแรงกว่ากราฟิกประเภท iGPU หลายรุ่น แถมยังไปแตะ ๆ ระดับกราฟิกชิปแยกในโน้ตบุ๊กได้เลย ทำให้สามารถใช้งานกราฟิกหนัก ๆ เช่น การเล่นเกมได้ แถมเวลาที่ไม่ได้ทำงานหนัก ๆ ก็ยังประหยัดพลังงานอีกต่างหาก
ทดสอบประสิทธิภาพของ CPU ด้วย Cinebench R23 พบว่าตัว AMD Ryzen 7 4700U สามารถทำคะแนนทั้งส่วนของ Single core และ Multi core ได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับชิปในโน้ตบุ๊กด้วยกัน แถมในขณะที่ทดสอบ เครื่องก็ยังไม่ค่อยร้อนเท่าไหร่ด้วย แม้จะลองทดสอบแบบวนลูปก็ตาม
SSD PCIe 512 GB ที่ติดมาในเครื่องก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ใช้งานทั่วไปได้สบายมาก บูท Windows 10 ไว เปิดแอป เปิดไฟล์รวดเร็ว เท่าที่ผมลองใช้แต่งรูปจาก Lightroom ก็สามารถโหลดภาพจากคลังได้ทันใจดี ตอนเปิดเกมก็โหลดไวมาก
ผลทดสอบจาก PCMark 10 จัดอยู่ในระดับโน้ตบุ๊กใช้งานทั่วไป จะใช้ด้านเว็บ ด้านเอกสาร หรือจะด้านกราฟิกก็ตอบโจทย์ได้หมด
ส่วนการทดสอบด้านกราฟิกจาก 3DMark ก็ถือว่าทำได้ดีมากเมื่อเทียบกับกลุ่ม Office Laptop ด้วยกัน เนื่องจากการใช้กราฟิก RX Vega 7 ที่ทำคะแนนได้ค่อนข้างดีกว่า iGPU รุ่นอื่น ๆ
ทดลองเล่นเกมบน Lenovo YOGA Slim 7
เปิดด้วยเกม PUBG ตัวเต็ม โดยเท่าที่ผมลอง พบว่าถ้าปรับความละเอียด 1080p ปรับ render scale ซัก 70 และปรับกราฟิกโดยรวมอยู่ที่ระดับ Medium เฟรมเรตของภาพที่ได้จะอยู่ในช่วง 50-55 fps ซึ่งถือว่าโอเคเลยครับ สำหรับโน้ตบุ๊กบางเบาสายทำงาน ส่วนถ้าลองปรับกราฟิกเป็น Very low ก็จะได้เฟรมเพิ่มมาอีกนิดหน่อย แต่ถ้าปรับ render scale เต็ม 100 อันนี้เฟรมจะหายไปพอสมควรเลย
ลอง Battlefield V กันบ้าง อย่างในภาพด้านบนเป็นการปรับกราฟิกระดับ Very low ที่ 1080p ครับ เฟรมเรตได้อยู่ในช่วง 26-30 fps เท่านั้น ซึ่งเอาจริง ๆ ก็พอเล่นได้อยู่ ภาพสวยพอสมควร แต่อาจจะไม่เวิร์คเท่าไหร่ถ้าเล่นในโหมด multiplayer อาจจะต้องลดความละเอียดภาพลง
ส่วน Overwatch ปรับระดับ Medium นี่สบายเลยครับ เฟรมเรตทะลุ 60 fps เกือบตลอดเวลา
ปิดท้ายด้วยเกมกระแสแรงแห่งปีอย่าง Genshin Impact โดยค่าเริ่มต้นเกมจะปรับมาให้เต็ม 1080p กราฟิกโดยรวมอยู่ที่ระดับ Medium ซึ่งลองแล้วก็ได้เฟรมเรตอยู่ในระดับ 30 fps นิด ๆ
แน่นอนว่าโน้ตบุ๊กจาก Lenovo ย่อมมาพร้อมโปรแกรม Lenovo Vantage ที่เป็นเหมือนผู้ช่วยดูแลทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้กับตัวเครื่อง รวมถึงยังมีตัวปรับตั้งค่าการทำงานของฟังก์ชันต่าง ๆ มาให้ด้วย
สำหรับหน้า My Device จะเป็นศูนย์กลางแสดงสถานะของตัวเครื่อง เช่น เลขซีเรียลนัมเบอร์ ชิปประมวลผล แรม ความจุ SSD รวมถึงเรื่องการตรวจสอบอัพเดตตัว Windows และไดรเวอร์ด้วย
เข้ามาที่ My Device Settings หัวข้อ Power จะพบตัวตั้งค่าต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น
- Lenovo Vantage Toolbar ที่เป็นแถบลัดสำหรับปรับค่า เช่น การเปิด/ปิดไมค์ ได้จากแถบ Taskbar ของ Windows 10 เลย
- Intelligent Cooling ใช้สำหรับปรับการทำงานของพัดลมว่าจะให้เป่าเต็มที่ เป่าเบาแบบประหยัดแบต หรือจะเป็นแบบให้ระบบจัดการให้อัตโนมัติ
- Rapid Charge ฟังก์ชันชาร์จเร็ว
- Conservation Mode ระบบจะชาร์จแบตเพียง 55-60% เพื่อถนอมอายุการใช้งานแบต เหมาะสำหรับคนที่เสียบสายอะแดปเตอร์ตลอดเวลา
- Flip to boot ตั้งค่าให้เครื่องเปิดทันทีเมื่อเปิดฝาพับจอขึ้นมา
- Always on USB ตั้งค่าเปิดหรือปิดการชาร์จไฟของพอร์ต USB ให้กับอุปกรณ์อื่น แม้จะปิดคอมไปแล้ว
ส่วนการตั้งค่าเสียง ก็จะมีการปรับรูปแบบเสียงของ Dolby Audio ว่าจะให้เน้นเสียงโทนใด เช่น สำหรับดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม หรือเน้นเสียงสนทนา ส่วนด้านล่างก็จะมีตัวปรับไมโครโฟนด้วยเช่นกัน
ในหัวข้อ Display & Camera จะมีตัวปรับค่าเกี่ยวกับจอ เช่น โหมดถนอมสายตา เป็นต้น ส่วนที่เกี่ยวกับกล้องจะค่อนข้างน่าสนใจตรงที่มีฟังก์ชันปรับพื้นหลังเบลอมาให้ด้วย เหมาะกับคนที่ต้องใช้ในการประชุมออนไลน์จากที่บ้าน หรือนอกสถานที่ โดยระบบจะตรวจจับคนในภาพ แล้วตัดภาพพื้นหลังให้อัตโนมัติ ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะให้เบลอพื้นหลัง หรือเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น ๆ เช่น เปลี่ยนเป็นภาพการ์ตูน หรือเปลี่ยนเป็นภาพวาด
ซึ่งจากที่ผมลอง ถ้าอยู่ในที่มีแสงน้อย การตัดพื้นหลังจะแม่นยำอยู่ราว ๆ 80% ครับ ความเร็วในการตรวจจับก็จะลดลงจากที่ใช้ในที่มีแสงเพียงพออยู่เหมือนกัน
ด้านของหัวข้อ Input & Accessories จะมีเพียงแค่การปรับหน้าที่ของปุ่มแถวบน ว่าจะให้เป็นแถบปุ่มฟังก์ชัน หรือเป็นปุ่มตั้งค่าต่าง ๆ และก็มีตัวเปิด/ปิดไฟคีย์บอร์ดมาให้ด้วย
Battery / Heat / Noise
แบตเตอรี่ของ Lenovo YOGA Slim 7 ตามที่ระบุในหน้าสเปคพบว่าสามารถทดสอบได้นานราว 14 ชั่วโมง ส่วนที่ผมลองใช้งานด้วยตัวเองกับรูปแบบการทำงานพื้นฐาน เช่น เปิด Google Chrome อยู่เกือบ 10 แท็บ เปิด Line มีดู Youtube บ้างเป็นระยะ ๆ เปิดความสว่างหน้าจอระดับกลาง ๆ และเปิดไฟคีย์บอร์ดด้วย
ซึ่งระบบจะแจ้งว่าสามารถใช้ได้ราว 8-10 ชั่วโมง จัดว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานของผมในแต่ละวันครับ ส่วนการชาร์จ ก็สามารถชาร์จเข้าได้เร็วทันใจ (เปิดฟังก์ชัน Rapid Charge ไว้)
ทดสอบความร้อนด้วยการเร่งให้ CPU และ GPU ทำงานแบบเต็มกำลังพร้อม ๆ กัน อันนี้ต้องบอกว่า YOGA Slim 7 และ Ryzen 7 4700U นั้นทำออกมาได้ดีมาก สามารถคุมความร้อนได้ดี อย่างในภาพด้านบนเป็นการทดสอบในห้องพัดลมที่มีอากาศปกติ ผลคือความร้อนสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 76 องศาเท่านั้น
แต่ถ้าลองทดสอบในห้องแอร์ประมาณ 26 องศา อันนี้ยิ่งเย็นลงไปอีกครับ เพราะอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 69 องศาเท่านั้นเอง แถมชิปยังทำงานแบบ 100% เต็มตลอดเวลา และพัดลมก็ไม่ดังเท่าไหร่ด้วย
ส่วนในการใช้งานทั่วไป อุณหภูมิของ CPU จะอยู่ที่ประมาณ 40 องศากว่า ๆ ต้องยกความดีให้กับทั้งตัวชิป AMD Ryzen 7 4700U ที่ทั้งแรงและเย็น และก็พัดลมระบายความร้อนภายในที่มีมาให้ถึง 2 ตัว
Conclusion / Award
Lenovo YOGA Slim 7 คือโน้ตบุ๊กบางเบาสำหรับสายทำงานที่ครบเครื่องมากที่สุดรุ่นหนึ่ง ด้วยตัวเครื่องที่ทำออกมาได้กำลังพอดี ไม่ว่าจะเรื่องน้ำหนักราว 1.4 กิโลกรัม ความบางที่ช่วยให้สามารถพกได้สะดวก หน้าจอขนาด 14″ ที่ใหญ่เต็มตา ในขณะที่ฮาร์ดแวร์ภายในก็ให้มาเร็วแรงเหมาะกับการใช้งาน ด้วยพลังของ AMD Ryzen 7 4700U สถาปัตยกรรม Renoir ที่เด่นทั้งในเรื่องความแรงและการใช้พลังงานที่เหมาะสม ร่วมกับกราฟิกจาก AMD Radeon RX Vega 7 ที่เทียบชั้นกราฟิกแยกบางรุ่นได้สบาย พร้อมกับแรม DDR4 16 GB ที่เหลือเฟือสำหรับการใช้งานทุกรูปแบบในปัจจุบัน
ส่วนในการใช้งานจริง YOGA Slim 7 ก็เป็นโน้ตบุ๊กที่ตอบสนองการทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม เปิดเครื่อง เปิดโปรแกรมรวดเร็ว จอสวยใช้ทำงานสายกราฟิกได้สบาย แม้จะโหลดงานหนัก เครื่องก็ยังไม่ร้อนและทำงานได้เต็มประสิทธิภาพแทบจะตลอดเวลา แบตเตอรี่ก็สามารถใช้งานได้ยาวนาน และรองรับการเชื่อมต่อได้หลากหลายมาก ๆ ทั้งแบบมีสายและไร้สาย เรียกว่าถ้าต้องการโน้ตบุ๊กสำหรับใช้ทำงานซักเครื่องในงบ 30,000 บาท Lenovo YOGA Slim 7 สเปค Ryzen 7 4700U เครื่องนี้ลงตัวมาก ๆ ครับ
Award
โดยในครั้งนี้จะเป็นการเปรียบเทียบการให้รางวัลกับเครื่องในกลุ่มของโน๊ตบุ๊คบางเบาด้วยกัน ซึ่ง Lenovo YOGA Slim 7 ก็ได้รางวัลต่างๆ ดังนี้
Best Design
แม้ดีไซน์ภายนอกของ Lenovo YOGA Slim 7 จะดูเหมือนโน้ตบุ๊กทั่วไป แต่ที่จริงแล้วจะมีรายละเอียดต่าง ๆ ที่ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอที่ขอบบาง ทำให้สามารถใส่จอขนาด 14″ ลงมาในตัวเครื่องขนาดกะทัดรัดได้ การจัดวางพอร์ตต่าง ๆ ก็ทำได้ลงตัว เหมาะและสะดวกกับทุกการใช้งาน รวมถึงภายในที่ออกแบบมาให้มีพัดลมระบายอากาศ 2 จุด ช่วยให้การถ่ายเทความร้อนเป็นไปได้เต็มที่ ส่งผลถึงการทำงานของตัวชิปที่สามารถเร่งได้เต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น
Best Mobility
Lenovo YOGA Slim 7 เหมาะกับการเป็นโน้ตบุ๊กบางเบาประสิทธิภาพสูงที่สามารถพกไปใช้งานได้ในทุก ๆ ที่ ด้วยน้ำหนักราว 1.4 กิโลกรัม แต่ได้จอ 14″ ในตัวเครื่องที่ค่อนข้างกะทัดรัด และสามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้เกือบ 10 ชั่วโมงอีก เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่ได้จริง ต้องบอกว่า YOGA Slim 7 เครื่องนี้สมกับการเป็นโน้ตบุ๊กสำหรับคนทำงานที่ต้องการประสิทธิภาพสูงในทุกที่ทุกเวลาจริง ๆ