สำหรับมินิพีซีอย่าง Intel NUC ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ถูกพัฒนามาเพื่อเป็นพีซีขนาดเล็ก ใช้ไฟต่ำและการประหยัดพื้นที่ และเมื่อภาพของประสิทธิที่ปรากฏออกไป ก็ทำให้หลายคนมองว่า ประสิทธิภาพของ NUC นี้ ไม่ได้เล็กเหมือนกับขนาด แต่ยังสามารถไปต่อกับการทำงาน เล่นเกม รวมไปถึงการทำงานอื่นๆ ได้ แค่ต่อจอมอนิเตอร์ ก็พร้อมสำหรับใช้งาน จึงทำให้ล่าสุดมีการพัฒนาต่อยอด NUC ให้ก้าวไปถึงงานในด้าน ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับสูง และความสามารถด้านกราฟิก การสร้างคอนเทนต์ เช่นเดียวกับ NUC 9 Pro ล่าสุดที่นำมารีวิวในวันนี้
สำหรับ Intel NUC 9 Pro นี้ ที่เข้ามามีบทบาทต่อตลาดกราฟิก และเวิร์กสเตชั่นระดับโมบายก็ว่าได้ เพราะเป็นไซส์ที่เล็กพิเศษ ซึ่งเราอาจเห็นโมเดลของมินิพีซีนี้ ในบางค่ายยักษ์ใหญ่ ที่ส่งออกมาในกลุ่มของนักตัดต่อ และคนที่สร้างคอนเทนต์หรืองานกราฟิกนั่นเอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเลือกใช้สเปคแบบใด แต่สำหรับ NUC 9 Pro นี้ มาพร้อมขุมพลัง Intel Xeon E-2286M Processor และใช้กราฟิก nVIDIA Quadro P2200 เมื่อมองภาพรวมแล้ว จะเห็นกลุ่มเป้าหมายของผู้ใช้มินิพีซีนี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่ NUC 9 นี้ จะมีด้วยกัน 5 โมเดล ซึ่งจะมีทั้งซีพียู Intel Core i5 และ Core i7 โดยที่ NUC9VXQNX หรือ NUC 9 Pro รุ่นนี้ จะเป็นรุ่นเดียวที่ใช้ Intel Xeon จะต่างจากรุ่นอื่น ตรงที่ ไม่สนับสนุน Intel XMP ในการเพิ่มความเร็วรองรับแรมความเร็วสูง แต่ทดแทนด้วยการสนับสนุนแรม ECC รวมถึง Intel vPro และ Discrete TPM ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยทั้งสิ้น
- NUC9VXQNX
- Intel® Xeon® E-2286M Processor (16M Cache, 2.40 GHz) 8 core/ 16 thread
- Mobile Intel® CM246 Chipset
- Graphic Intel® UHD Graphics P630
- 2 x 16GB Kingston DDR4-2666 SO-DIMM
- 2x M.2 PCIe X4 slots PCH (NVMe/SATA)
- 1x M.2 PCIe X4 slot CPU (NVMe)
- 1TB Intel Optane Memory H10
- NVIDIA Quadro P2200 5 GB GDDR5X
- Intel Ethernet Connection I219-LM and i210-AT
- Intel Wireless-AX (Intel Wi-Fi 6 AX200)
- Bluetooth v5
- Intel vPro Technology
- size: 238 x 216 x 96mm
หน้าตาของแพ็คเกจ บอกไว้ก่อนว่า ที่ได้รับมานี้ เป็นเครื่องเดโม ซึ่งโมเดลที่ขายจริง น่าจะต่างไปจากนี้
หน้าตาของ NUC 9VXQNX รุ่นนี้ มาในโทนสีเทาเมทัลลิค ดูดีทีเดียว กับดีไซน์แปลกตา คล้ายกับ NUC รุ่นแรกๆ แต่มีความหนามากกว่า ส่วนด้านหน้าประกอบด้วย พอร์ต USB, Card reader และปุ่มเพาเวอร์ โดยมีสติ๊กเกอร์ Intel Xeon อันเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องนี้
ด้านข้างเป็นแผงตะแกรง เพื่อช่วยในการระบายความร้อน ทำให้พอมองเห็นชิ้นส่วนด้านในแบบลางๆ แต่ที่น่าสนใจคือ มาพร้อมที่กรองฝุ่นด้วย
ส่วนด้านหลังจะเป็นจุด I/O และจุดต่อไฟเลี้ยง โดยเครื่องนี้จะเป็นแบบต่อไฟตรง ไม่ต้องใช้อแดปเตอร์แต่อย่างใด
ด้านหลังเครื่องแบบเต็มๆ ก็มีพอร์ตอยู่ด้วยกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น USB 3.0, Type-C, Gigabit LAN และ HDMI รวมถึงพอร์ตแสดงผลจากกราฟิกการ์ด ที่มีทั้ง HDMI และ DisplayPort รองรับการต่อพ่วงแบบมัลติมอนิเตอร์
NUC 9 รุ่นนี้ สามารถวางได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน เนื่องจากพัดลมระบายความร้อนจะอยู่ด้านบน จึงวางแบบใดก็ได้ ตามสถานารณ์
ฝาด้านบนเมื่อแกะออกมา จะมองเห็นพัดลม 2 ตัว ขนาดประมาณ 60mm ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่การต่อไฟ แบบใช้หน้าสัมผัสที่เดินมาจากตัวเคส ไม่ต้องต่อสายให้เกะกะแต่อย่างใด
เมื่อเปิดฝาด้านบนออกมา ก็จะเห็นโมดูล 2 ชิ้นหลักๆ คือ โมดูลที่เป็นชุดซีพียู แรมและ SSD ซึ่งเป็นตัวหลัก อีกส่วนหนึ่งจะเป็นกราฟิกการ์ด ที่ติดตั้งอยู่ข้างๆ กัน
หน้าสัมผัสที่เป็นตัวขับเคลื่อนพัดลมระบายความร้อน แค่กดลงไปที่ตัวเคสให้ตรงล็อค พัดลมก็ทำงานได้แล้ว
ด้านใน NUC 9 รุ่นนี้ ก็จะดูแน่นๆ หน่อย เพราะใช้พื้นที่ได้เต็ม และคุ้มค่ามากทีเดียว
เมื่อแกะฝาเคสด้านหลัง ก็จะมองเห็นหลังเมนบอร์ดที่ติดตั้งอยู่บนสล็อต PCI-Express ชิ้นนี้จะเป็นขิ้นหลักในการติดตั้ง ชิปเซ็ต ซีพียู แรมและ SSD
มองดูแล้วเหมือนกับมีกราฟิกการ์ดติดตั้งอยู่อีกใบ ซึ่งตามจริงแล้วเป็นโมดูลหลักของ NUC รุ่นนี้
ส่วนเมื่อหันมาอีกด้าน เราจะเห็นกราฟิกการ์ด ติดตั้งอยู่บนสล็อต PCI-Express เช่นกัน โดยเป็น nVIDIA Quadro เลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีบรรดาสายไฟชุดที่เอาไว้รอการติดตั้งร่วมกับกราฟิกการ์ดรุ่นอื่นมาให้อีกด้วย แต่พื้นที่บอกได้เลยว่า ต้องเป็นการ์ดสล็อตเดี่ยว หรือ 2 สล็อตไม่เกิน และไม่ควรยาวเกิน xxcm
เห็นกราฟิกการ์ดแล้ว ไม่แปลกใจที่ทำไมถึงยัดลงเคส NUC รุ่นนี้ได้ เพราะตัวเล็กจริง สล็อตเดียวเท่านั้น
เมื่อดึงตัวการ์ดออกมาแล้ว จึงจะเห็นโมดูลที่เป็นการ์ดหลัก ซึ่งเป็นหัวใจของ NUC รุ่นนี้ สกรีนในเบื้องต้นว่าเป็น Intel Xeon มาด้วย
กราฟิกการ์ดที่ติดตั้งมานี้ nVIDIA Quadro P2200 เป็นการ์ดในแบบ Single slot หรือสล็อตเดี่ยว ไม่กินพื้นที่ภายใน อยู่ในกลุ่มของการ์ดทำงานสายกราฟิก โมเดล และ 3D ใส่ CUDA core 1280 หน่วย สูงกว่าในรุ่น P2000 เดิม และใช้ GDDR5X 5GB แบนด์วิทธิ์สูงขึ้น ใช้พลังงานน้อยลง ไม่ต้องต่อไฟเลี้ยง
ทดสอบประสิทธิภาพ
มาดูรายละเอียดของอุปกรณ์แต่ละชิ้น ผ่านทางซอฟต์แวร์ CPU-z ซีพียู Xeon E-2286M ความเร็วพื้นฐาน 2.40GHz แต่ถ้าดูรายละเอียดของซีพียูรุ่นนี้ จะบูสท์ได้ถึง 5.0GHz ทำงานในแบบ 8 core/ 16 thread มาพร้อมกับเมนบอร์ดชิปเซ็ต Intel® CM246 Chipset สนับสนุน PCI-Express x16 สูงสุด
แรมติดตั้งมาให้ถึง 32GB ซึ่งเท่าที่ดูในรายละเอียดจะเป็นแบบ ออนบอร์ดมาเลย ความเร็วอยู่ที่ DDR4 2666
ส่วนกราฟิกการ์ดนั้น nVIDIA Quadro P2200 มาพร้อม GDDR5X 5GB โดยในการทดสอบบน CPU-Z นั้น ความเร็ว Single thread ถือว่าใกล้เคียงกับ i9-9900KF ส่วน Multi-thread นั้นน้อยกว่าพอสมควร แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากความเร็วสัญญาณนาฬิกาที่ต่างกันระดับ GHz
ข้อมูลที่เป็นรายละเอียดในเบื้องต้น ซึ่งปรากฏใน AIDA64 โปรแกรมตรวจเช็คฮาร์ดแวร์ที่ได้รับความนิยม รายละเอียดของซีพียู เมนบอร์ด และแรมตรงกัน เช่นเดียวกับกราฟิกการ์ด Quadro P2200
มาดูการทดสอบบน CINEBench R20 ตัวเลขค่อนข้างดีทีเดียว ในแง่ของการเราเดอร์กราฟิก เหนือกว่าซีพียูในกลุ่มพื้นฐาน แต่ก็ยังตามซีพียู Xeon ในกลุ่ม E7 พอสมควร
การทดสอบ SSD ด้วย CrystalDiskMark ความเร็วในการทำงานอยู่ที่ 1,556MB/s (Read) และ 1,326MB/s (Write)
ผลการทดสอบด้วย Geekbench 5.2.0 ในส่วนของ Single-core 1300 และ Multi-core 7972
สามารถแยกย่อยตัวเลขในการทดสอบได้ดังนี้
ในแง่ของการทดสอบด้วย OpenCL ซึ่งเป็นการทดสอบประสิทธิภาพที่เน้นไปทางกราฟิก ด้วยการทำงานเชิงซอฟต์แวร์ ซึ่งใช้ Unified Shaders ในการทำงาน ตัวเลขอยู่ที่ 33,050
มาในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพกับการเรนเดอร์กราฟิก ด้วยโปรแกรม Specviewperf ซึ่งเป็นการจำลองให้ระบบเรนเดอร์ออปเจกต์ที่เป็นชิ้นงานกราฟิกหลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็น 3dsMax, Maya, Catia และอื่นๆ แล้วออกมาเป็นคะแนน
มาดูในการทดสอบด้านอุณหภูมิกันบ้าง มาลองดูกันว่า เมื่อระบบทำงานเต็มกำลัง ภายในเคสเล็กๆ แบบนี้ จะสามารถระบายความร้อนได้ดีเพียงใด ในการทดสอบด้วย CPU Burner ในแบบ idle อุณหภูมิอยู่ที่ 47-54 องศาเซลเซียส กับการทำงานประมาณ 3%
ส่วนเมื่อทดสอบด้วยการรันแบบ Full load คือให้ทุกคอร์ทำงานแบบ 100% ซีพียูรุ่นนี้มีค่า TDP 45W เท่านั้น ทำให้ความร้อนไปแตะที่ราว 76-79 องศาเซลเซียส เท่านั้นเอง ฉะนั้นถ้าใช้งานในห้องปรับอากาศระดับ 25 องศาเซลเซียส ก็ทำงานได้
สุดท้ายเรามาเพิ่มการทดสอบด้วย X264 กับการทดสอบความสามารถในการเข้ารหัสวีดีโอในแบบ Full-HD ตัวเลขอยู่ที่ 22,398KB/s โดยประมาณ บนอัตราเฟรมเรต 48.19fps
และเมื่อเทียบกราฟความสามารถในการเข้ารหัสของซีพียู Xeon บน NUC 9 Pro รุ่นนี้ จะเห็นว่าแซงหน้าบรรดา Xeon ในรุ่นเก่าๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเฟรมเรตที่ต่างกันระดับ 10fps++ เลยทีเดียว
Conclusion
ในภาพรวมการใช้งานของ Intel NUC 9 Pro รุ่นนี้ ต้องถือว่าประสิทธิภาพ ไม่ได้เล็กเหมือนกับขนาด เพราะเมื่อดูจากสเปคพื้นฐานที่เตรียมมาให้ ไม่ว่าจะเป็นซีพียู Intel Xeon ที่เป็นซีพียูระดับเวิร์กสเตชั่น บวกกับกราฟิกการ์ด nVIDIA Quadro P2200 แม้ว่าจะไม่ได้เป็นซีรีส์ใหญ่ ในรุ่นพี่ท็อปๆ แต่ก็สามารถยัดลงมาในแพลตฟอร์มเล็กๆ ได้อย่างง่ายดาย รวมถึงแรม DDR4 32GB นั่นก็หมายถึงการรองรับแอพพลิเคชั่นระดับมืออาชีพได้ไม่ยาก และภายในยังพอมีพื้นที่สำหรับการอัพเกรดได้พอสมควร ส่วนในแง่ของประสิทธิภาพ ในการทำงานด้านกราฟิก 3 มิติ รวมถึงการเรนเดอร์ภาพในงาน 3D ที่ปรากฏอยู่ใน Specviewperf หรือ CINEBENCH ก็พอจะเป็นตัวแทน ในการบอกเล่นระดับความสามารถในด้านนี้ได้เป็นอย่างดี มาถึงคำถาม NUC 9 Pro ขนาดเล็กแบบนี้ เหมาะกับใคร? คำตอบน่าจะอยู่ที่กลุ่มที่ต้องการพีซีประสิทธิภาพสูง รองรับการใช้งานซอฟต์แวร์เฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นงานกราฟิก 3D หรือ Video Editing ที่เรียกใช้ทรัพยากรในหลายส่วน พร้อมๆ กัน แต่ต้องให้เสถียรภาพและฟีเจอร์ที่เหนือกว่าซีพียูและกราฟิกพื้นฐานทั่วไป ไม่ได้เน้นที่การเล่นเกม แต่เป็นกลุ่มที่สร้างสรรค์งานมากกว่า อีกทั้งเหมาะกับในสำนักงาน หรือกลุ่มที่ใช้ในการพรีเซนเทชั่น เพราะขนาดเล็กมากๆ เรียกว่า พกพาไปใช้งานในที่ต่างๆ ได้อย่างสบาย อาทิ วิศวกรโรงงาน หรือจะเป็น Sale Engineer รวมถึงสายตัดต่อ ที่พกคอมแรงๆ ไปใช้งานนอกสถานที่ได้สะดวกยิ่งขึ้นนั่นเอง
จุดเด่น
-ขนาดเล็ก กระทัดรัด ติดตั้งง่าย ไม่เปลืองพื้นที่
-ประสิทธิภาพค่อนข้างดี ในแง่การทำงานและประมวลล
-ให้แรม DDR4 2666 มากถึง 32GB
-กราฟิกการ์ด nVIDIA Quadro P2200 ให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี
ข้อสังเกต
-การอัพเกรด อาจจะต้องเช็คข้อมูลให้ละเอียด เพราะมีพื้นที่จำกัด
-ควรตั้งในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้ดี
ราคา: ประมาณ 1,700USD หรือราว 56,000 บาท (ในต่างประเทศ)
ข้อมูลเพิ่มเติม: Intel NUC 9 Pro