Connect with us

Hi, what are you looking for?

Accessories review

Review – DockCase เคสหนังสำหรับ MacBook Pro ที่มีพอร์ตเชื่อมต่อสุดครบครัน พร้อมแนะนำการเลือกซื้อ Hub USB-C

นับตั้งแต่ Apple เปิดตัว MacBook รุ่นหน้าจอ 12″ ซึ่งมาพร้อมพอร์ตเชื่อมต่อหลักๆ แค่ USB-C อย่างเดียวเข้ามา แนวโน้มของการออกแบบโน๊ตบุ๊คกลุ่มเครื่องบางเบาก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการตัดพอร์ตเชื่อมต่อออก เหลือไว้แต่เพียงพอร์ตที่จำเป็น

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 21

นับตั้งแต่ Apple เปิดตัว MacBook รุ่นหน้าจอ 12″ ซึ่งมาพร้อมพอร์ตเชื่อมต่อหลักๆ แค่ USB-C อย่างเดียวเข้ามา แนวโน้มของการออกแบบโน๊ตบุ๊คกลุ่มเครื่องบางเบาก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการตัดพอร์ตเชื่อมต่อออก เหลือไว้แต่เพียงพอร์ตที่จำเป็น และสามารถแปลงเป็นพอร์ตอื่นๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้น Apple ก็มาตอกย้ำปรัชญาดังกล่าวเข้าไปอีก ด้วยการเปิดตัว MacBook Pro ดีไซน์ใหม่ในปี 2016 ที่ตัดพอร์ตทุกอย่างทิ้ง เหลือแต่เพียง USB-C จำนวน 2-4 ช่องแล้วแต่รุ่น บวกกับช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้ทั้งตลาดและผู้ใช้งาน (ที่ซื้อ MacBook Pro รุ่นใหม่) ต้องปรับตัวไปตามๆ กัน หนึ่งในนั้นก็คือการใช้งานอะแดปเตอร์ตัวแปลงพอร์ตนั่นเอง

Advertisement

แต่ด้วยการที่จะซื้อตัวแปลงจาก USB-C ไปเป็นพอร์ตใดพอร์ตหนึ่งทีละอันๆ มันก็เป็นการสิ้นเปลืองทั้งค่าใช้จ่าย และสิ้นเปลืองพื้นที่จัดเก็บ เราเลยได้เห็นตัวแปลงพอร์ตในรูปแบบของพวก USB-C แปลงเป็นหลายๆ พอร์ตได้ในอุปกรณ์ชิ้นเดียว ซึ่งก็อาศัยจากคุณสมบัติของ USB-C ของ MacBook Pro ที่รองรับเทคโนโลยี Thunderbolt 3 ด้วย ทำให้สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์หลายๆ ชิ้นเข้ามายังตัวเครื่องผ่านทาง USB-C เพียงช่องเดียวได้

นั่นทำให้ในปัจจุบัน เราจึงได้เห็นอุปกรณ์เสริมจำพวกฮับ USB-C ออกมาหลากหลายมากขึ้น ที่พบเห็นได้บ่อยๆ ก็อย่างเช่น

Review Innergie USB C Adapter NotebookSPEC 011

1. ตัวแปลงแบบเป็นสาย USB-C to Hub

เป็นแบบที่พบเห็นได้มากที่สุด เนื่องจากข้อดีของมันคือ กระบวนการออกแบบไม่ซับซ้อน ราคาจึงไม่สูงเท่าแบบอื่นๆ รวมถึงเวลาใช้งานจริงก็ไม่ต้องกังวลด้วยว่าตัวอุปกรณ์จะไปเบียด USB-C ช่องอื่น เพราะการเชื่อมต่อกับเครื่องมันใช้พื้นที่แค่หัว USB-C หัวเดียวเท่านั้นเอง แต่ข้อจำกัดของมันก็คือ ผู้ใช้อาจต้องกังวลเรื่องการหักงอภายในสาย รวมถึงการพกพาก็อาจจะไม่สะดวก เวลาใช้งานก็อาจจะดูไม่ค่อยเป็นระเบียบเท่าไหร่

hyperdrive

2. ตัวแปลงแบบเป็น Hub แนบติดกับเครื่อง

ลักษณะการทำงานของฮับแบบนี้ก็เหมือนกับแบบข้างต้นครับ แต่เป็นการย่อส่วนเอาหัว USB-C ไปอยู่ติดกับแผงวงจรเลย ทำให้เวลาใช้งาน ตัวอุปกรณ์จะแนบติดไปกับ MacBook ซึ่งตัวแปลงแบบนี้ข้อดีของมันก็คือความสะดวกสบายในการพกพา หน้าตาก็ดูดี ให้ความสมาร์ทในการใช้งาน แต่ข้อจำกัดก็เป็นเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าแบบมีสาย รวมถึงขณะใช้งาน มันจะไปปิด USB-C อีกพอร์ตข้างๆ กันไปเลย

ซึ่งจากข้อจำกัดในเรื่องของการบังอีกพอร์ตนั้น ทำให้เวลาเลือกซื้อ ต้องสังเกตซักหน่อยครับ ว่าฮับแบบแนบเครื่องที่จะซื้อนั้นเป็นแบบที่ต้องใช้ USB-C กี่พอร์ต เพราะถ้าเป็นฮับที่ออกแบบมาสำหรับ MacBook Pro จะเป็นแบบที่ใช้ 2 พอร์ตในการทำงาน ส่วนที่เป็นพอร์ตเดียว จะเป็นรุ่นที่ทำมาสำหรับ MacBook 12″ เท่านั้น

dock

3. ต้วแปลงแบบเป็น Dock ประกอบกับเครื่อง

สำหรับตัวแปลงในลักษณะนี้ มักจะเป็นฮับที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับโน๊ตบุ๊คแบบเจาะจงรุ่นมาเลยซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะมันต้องถูกออกแบบมาให้ประกอบใช้งานกันได้แบบพอดีตัวมากๆ ทำให้แทบจะไม่สามารถนำโน๊ตบุ๊ครุ่นอื่นมาใช้งานร่วมกันได้เลย หรือหากใช้ได้ ก็อาจจะไม่พอดีตัว หรือใช้งานบางฟีเจอร์ไม่ได้ เป็นต้น ข้อดีของฮับแบบนี้ก็คือ ความมั่นคง แข็งแรง ความครบครันมากๆ ของพอร์ตเชื่อมต่อ รวมถึงอาจมีฟีเจอร์เสริมที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับเครื่องนั้นๆ ด้วย

 

การเลือกซื้อฮับ USB-C สำหรับ MacBook Pro

1) ต้องใช้พอร์ตใดบ้าง?

ข้อนี้นับว่าสำคัญมากๆ เพราะก่อนจะตัดสินใจซื้อ ผู้ใช้เองก็ต้องทราบความต้องการของตนเองอยู่แล้วว่าต้องใช้งานพอร์ตใดบ้าง ซึ่งหลักๆ แล้วก็หนีไม่พ้นช่อง USB แบบปกติ รวมถึงอาจจะมี HDMI และช่องเสียบสายแลนก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานส่วนบุคคล ส่วนถ้าใครที่ต้องหิ้วออกไปนำเสนองานบ่อยๆ ก็อาจจะมองหาฮับที่มีช่อง VGA เผื่อไว้ด้วยก็จะเป็นการดี ส่วนช่างกล้องทั้งหลาย ก็คงต้องหาตัวแปลงให้สามารถเสียบการ์ดหน่วยความจำได้ หรือถ้าหากมีเครื่องอ่านการ์ดแบบที่ใช้กับช่อง USB อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นก็ได้ครับ ขอแค่ตัวแปลง USB-C เป็น USB-A ปกติก็เหลือเฟือแล้ว

2) คุณสมบัติของตัวพอร์ต

นอกเหนือจากประเภทของพอร์ตที่ต้องใช้แล้ว คุณสมบัติของตัวพอร์ตก็สำคัญมากๆ เช่น USB ที่ตัวฮับนั้นเป็น USB 3.0 ทั้งหมดหรือไม่ หรือมี USB 2.0 ปนมาด้วย หรือเป็น USB 3.1 มาแล้ว รวมถึงช่อง USB-C ที่อาจจะมีมาให้นั้น เป็นแบบแค่รับส่งข้อมูลอย่างเดียว หรือเป็นแบบที่สามารถจ่ายไฟไปยัง MacBook Pro ได้ด้วย ซึ่งถ้าทำได้ ก็จะช่วยให้การใช้งานจริงสะดวกมากขึ้น เพราะผู้ใช้สามารถเสียบสายชาร์จเข้ากับฮับ แล้วต่อฮับเข้า MacBook Pro ซึ่งระหว่างใช้งาน ก็จะเปรียบเสมือนว่าเสียบสายชาร์จอยู่ด้วยในตัว รวมถึงถ้าหากผู้ที่ต้องการใช้คุณสมบัติของ Thunderbolt 3 ก็ต้องมองหาฮับที่ใช้ช่อง USB-C ที่รองรับ Thunderbolt 3 ด้วยเช่นกัน

ส่วนอีกข้อที่อาจจะต้องพิจารณากันซักหน่อยก็คือแบนด์วิธโดยรวมของตัวฮับที่จะไปเชื่อมต่อกับ MacBook Pro เพราะถ้ายิ่งได้แบนด์วิธที่สูง ก็จะทำให้การเชื่อมต่อ รับส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ที่นำมาต่อพ่วงไปยังคอมพิวเตอร์เป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบนด์วิธของช่อง HDMI ที่ถ้าหากต้องการนำเครื่องไปต่อกับจอความละเอียดสูงเกิน 4K ขึ้นไป รวมถึงจอที่ Hz สูงกว่าระดับปกติ ก็ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของช่อง HDMI และแบนด์วิธโดยรวมของตัวฮับดีๆ ตั้งแต่ก่อนซื้อเลย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายมักจะระบุไว้อยู่แล้ว เพราะถ้าหากฮับที่นำมาใช้ มีสเปคของแบนด์วิธไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็อาจจะทำให้การใช้งานไม่ราบรื่น หรืออาจจะไม่สามารถใช้งานได้เลยก็เป็นไปได้

3) เลือกซื้อแบบที่เหมาะกับการใช้งาน

ข้อนี้ก็คือต้องประเมินรูปแบบการใช้งานของตนเองครับ ว่าปกติแล้วจะใช้งานในรูปแบบใดบ้าง หากต้องพกออกไปใช้งานข้างนอกบ่อยๆ การลงทุนกับฮับแบบแนบติดตัวเครื่องก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะสะดวกกับการพกพามากกว่า ช่องเชื่อมต่อส่วนใหญ่ก็ให้มาครบครัน ส่วนถ้าไม่ได้พกไปนอกสถานที่มากมายนัก การใช้ฮับแบบสายแยกก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ด้วยค่าตัวที่ย่อมเยากว่า หาซื้อง่าย รวมถึงยังช่วยลดความเสี่ยงในด้านความร้อนสะสมของตัวฮับ ซึ่งอาจส่งผลในระยะยาวกับ MacBook Pro ของคุณได้ (การเอาแหล่งความร้อนออกให้ห่างตัวเครื่อง ยังไงๆ มันก็ดีกว่าการเอามาแนบติดกับตัวเครื่องอยู่แล้ว) ส่วนแบบ dock นั้น จะเหมาะกับการวางไว้กับโต๊ะทำงานเป็นหลัก

dockcase

ซึ่งนอกเหนือจากการแนะนำประเภทและการเลือกซื้อฮับสำหรับ MacBook Pro ในข้างต้นแล้ว NotebookSPEC เราก็มีฮับอีกแบบมารีวิวให้ชมกันครับ นั่นคือฮับที่ประกอบร่างมากับซองหนัง ซึ่งมีชื่อว่า DockCase นี่เอง

สำหรับตัว DockCase นี้ แรกเริ่มกำเนิดมาจากโปรเจ็กท์ระดมทุนในเว็บไซต์ Kickstarter ซึ่งผมร่วมลงขันไปด้วย และก็ได้รับของภายในกำหนดเวลาคือตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เว็บไซต์ของโปรเจ็กท์

เว็บไซต์ DockCase อย่างเป็นทางการ

ซึ่งจำนวนเงินลงขันขั้นต่ำที่จะได้รับ DockCase สำหรับ MacBook Pro 13″ ด้วยตั้งแต่ช่วงเปิดระดมทุนนั้นอยู่ที่ $69 แต่ตัวผมเข้าไปไม่ทันแต่แรก เลยต้องลงขันไปที่ $79 (ประมาณ 2,600 บาท) โดยราคาที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ตั้งใจจะขายจริงภายหลังจะอยู่ที่ $129 (ประมาณ 4,200 บาท) ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์ก็จะมีการแบ่งว่าเป็นสำหรับ MacBook รุ่นใดบ้าง ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไป แต่ที่แน่นอนคือรูปทรงนั้นออกแบบมาสำหรับใช้งานกับ MacBook เท่านั้น ได้แก่

  • MacBook 12″ ทุกรุ่น
  • MacBook Pro 13″ และ 15″ โฉมใหม่ ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นไป (รุ่นที่มีเฉพาะช่อง USB-C ไม่รวมโฉมเก่า)

ส่วนสีก็มีให้เลือกด้วยกัน 4 สีครับ ส่วนตัวผมเลือกสีดำมา

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 1

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 3หน้าตาของ DockCase ดูทั่วไปก็คือซองหนังสำหรับใส่โน๊ตบุ๊คตามปกติเลย สำหรับตัวหนังเอง ทางผู้ผลิตให้ข้อมูลว่าเป็นหนังประเภทไมโครไฟเบอร์ ซึ่งเป็นหนังสังเคราะห์ประเภทหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ตกแต่งภายในรถยนต์ (ในกรณีที่ตกแต่งด้วยหนังสังเคราะห์) โดยมันมีคุณสมบัติในด้านของผิวสัมผัสที่ดี นิ่ม น้ำไม่ซึมแต่ก็เด่นในด้านของความคงทนต่อทั้งการฉีกขาดและรอยขีดข่วนได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน

ตรงส่วนฝาปิดซองนั้น จะมีแม่เหล็กชิ้นเล็กฝังอยู่ เอาไว้ใช้สำหรับให้ฝาปิดสนิทกับตัวซองมากขึ้น แต่แรงดูดก็ไม่เยอะมากครับ เวลาถือไว้ก็ระมัดระวังไว้ซักหน่อยก็ดีเหมือนกัน

ส่วนขนาดและน้ำหนักซอง DockCase ก็ตามนี้ครับ

DockCase สำหรับ MacBook Pro 13″

  • 350 x 240 x 14.1 มิลลิเมตร
  • 333.5 กรัม

DockCase สำหรับ MacBook Pro 15″

  • 400 x 270 x 14.7 มิลลิเมตร
  • 397 กรัม

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 7

ซูมให้เห็นผิวของหนังสังเคราะห์กับด้ายเย็บกันหน่อย เนื้องานโดยรวมจัดว่าทำได้ค่อนข้างประณีตระดับหนึ่งเลย

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 10

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 16

เมื่อเปิดฝาออกมา ถ้าหากใส่ MacBook เอาไว้อยู่ ก็จะมีบางส่วนของเครื่องเผยออกมา ทำให้าสามารถหยิบเครื่องเพื่อดึงออกมาได้ง่าย เนื้อภายในของซอง DockCase จะเป็นผ้ากำมะหยี่เนื้อละเอียด ซึ่งตัวผ้าเองนั้นไม่ทำให้เกิดรอยขีดข่วนกับตัวเครื่อง แต่ทางที่ดีก่อนจะเก็บเครื่องลงซองก็ควรจะทำความสะอาดก่อนซักนิด เพื่อป้องกันเม็ดฝุ่นติดไปกับเครื่อง แล้วเข้าไปเกาะกำเนื้อผ้าภายในซอง ที่อาจทำให้เกิดรอยกับตัวเครื่องได้ครับ

ฝั่งริมขวาในของซอง DockCase จะเป็นช่องพิเศษทำไว้สำหรับเก็บสาย USB-C to USB-C ที่ให้มาในชุดจำหน่ายซึ่งถ้าใส่สายลงไป ซองก็จะฟิตกับ MacBook พอดี อย่างในภาพก็เป็น MacBook Pro 13″ รุ่นปี 2016 นะครับ แต่ที่ตัวซองเผยอขึ้นนิดหนึ่งก็เป็นเพราะผมเปิดฝาขึ้นมา ส่วนด้านข้างคือฟิตพอดี แต่ก็อยู่ในระดับที่สามารถดึงเครื่องออกมาได้ไม่ยากนัก

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 11

สาย USB-C to USB-C ที่ให้มานั้น ใช้สำหรับเชื่อมต่อระหว่างซอง DockCase เข้ากับ MacBook โดยให้มาเป็นสายแบน ความยาวประมาณ 22 เซนติเมตร

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 13

ส่วนขอบด้านล่างของซองจะเป็นแถบอลูมิเนียมอัลลอย อันเป็นตำแหน่งของฮับรวมพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ที่มีคุณสมบัติดังนี้

  • LAN รองรับได้สูงสุดที่ระดับ Gigabit
  • HDMI รองรับได้สูงสุดที่ระดับ 4K/30Hz หรือ 1080P/60Hz
  • USB-C รองรับการจ่ายไฟไปยัง MacBook Pro ได้สูงสุด 100W (เชื่อมต่อข้อมูลก็ได้เช่นกัน)
  • USB-C 3.1 Gen 1 รองรับความเร็วการเชื่อมต่อสูงสุด 5 Gbps
  • 3x USB 3.0 ความเร็วสูงสุด 5 Gbps
  • ช่องอ่าน MicroSD และ SD รองรับ SD-XC, SD, MMC, RS-MMC และ SD-HC

ในแง่ของการเชื่อมต่อ ต้องบอกว่าค่อนข้างครบครันสำหรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันเลยทีเดียว เหมาะกับการพกพาออกไปเพื่อใช้งานชั่วคราวนอกสถานที่มากๆ ครับ เพราะช่องเชื่อมต่อที่จำเป็นต้องใช้บ่อยอย่าง USB 3.0 ปกติก็ให้มาถึง 3 ช่องเต็มๆ มีช่องอ่านการ์ดหน่วยความจำได้อีก ที่สำคัญคือมีช่อง USB-C ที่ใช้จ่ายไฟให้ MacBook ได้ด้วย วิธีใช้ก็ไม่ยากครับ แค่เอาสายชาร์จจากอะแดปเตอร์ของ MacBook มาเสียบที่ช่องนี้ แล้วก็เสียบสายเชื่อมระหว่าง DockCase เข้าไปยัง MacBook ของเรา เพียงเท่านี้ระบบก็จะจัดการเรื่องการจ่ายไฟให้โดยอัตโนมัติ

แต่จะมีที่น่าเสียดายที่ช่อง USB-C 3.1 เป็นแค่ Gen 1 เท่านั้น แต่ก็พอเข้าใจได้ครับ เพราะว่ามันต้องไปแชร์แบนด์วิธรวมจากอุปกรณ์อื่นๆ บนตัวฮับที่ต่อตรงเข้ากับ MacBook ผ่าน USB-C แค่พอร์ตเดียวเท่านั้น จึงต้องมีการจำกัดคุณสมบัติของช่องเชื่อมต่อทุกช่องให้สมดุลกันด้วย ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดของตัวแปลงพอร์ตที่เป็นลักษณะของฮับอยู่แล้ว

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 14

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 15

ดูหน้าตาพอร์ตกันชัดๆ ครับ จะมีสกรีนระบุไว้เลยว่าพอร์ตไหนรองรับอะไรบ้างแบบคร่าวๆ สำหรับช่องเสียบการ์ด SD นั้น เวลาใช้งานจริง ตัวการ์ดจะโผล่เลยออกมาประมาณครึ่งใบ และไม่มีกลไกในการล็อคตัวการ์ดแต่อย่างใดนะครับ ก็ต้องระวังกันซักนิดนึง ส่วนช่อง MicroSD นั้นสามารถดันการ์ดเข้าไปได้จนสุด แถมมีกลไกล็อคตัวการ์ดให้ด้วย

นอกจากนี้ หากสังเกตเรื่องพื้นที่ว่างระหว่างแต่ละพอร์ต จะพบว่ามันค่อนข้างกว้างดีมาก ทำให้ปัญหาเรื่องหัวเชื่อมต่อของพอร์ตมาบังช่องเชื่อมต่อลดน้อยลงไปมาก ซึ่งส่วนตัวผมไม่เจอเลยครับ

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 17

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 19

เวลาจะใช้งาน ก็ให้นำสาย USB-C to USB-C มาเสียบเข้ากับช่องด้านข้างตัวซอง ซึ่งแยกออกมาอย่างชัดเจน ส่วนปลายอีกข้างก็ไปเสียบเข้ากับ MacBook ได้เลยครับ เมื่อเสียบแล้ว จะมีไฟสีเขียวติดขึ้นมาตรงบริเวณช่อง LAN ด้วย แต่ตัวช่องจะไม่มีกลไกล็อคหัวสาย LAN นะครับ

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 21

ส่วนในการใช้งานจริง DockCase สามารถทำงานได้ตามที่ผู้ผลิตประกาศไว้ครับ รองรับการเชื่อมต่อได้จำนวนมากพร้อมๆ กัน สามารถใช้งาน External HDD ได้อย่างไหลลื่น ช่อง USB-C ที่สามารถชาร์จไฟได้ก็ทำงานได้ปกติดี แต่ถ้าอุปกรณ์ที่นำมาใช้งานเป็นประเภทที่ต้องกินไฟเยอะๆ พร้อมกัน ก็จะพบปัญหาว่าอุปกรณ์บางชิ้นไม่สามารถใช้งานได้ อย่างที่ผมเจอก็คือไม่สามารถใช้ External HDD 2 ลูกพร้อมกันได้ จากนั้นมันก็ทำให้เม้าส์กับคีย์บอร์ดแยกที่ต่อผ่าน USB ก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน คาดว่าน่าจะเป็นเพราะไฟไม่พอ ประกอบกับแบนด์วิธโดยรวมเต็มด้วย

สำหรับการชาร์จมือถือ จากในภาพก็จะเห็นว่าไฟออกอยู่ที่ประมาณ 4.7V 0.44A เท่านั้น ก็พอชาร์จได้แบบช้าๆ ครับ ดูแล้วเหมาะกับการชาร์จอุปกรณ์อื่นๆ อย่างพวก smart watch หรือพวกสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพที่ใช้ไฟชาร์จไม่สูงมากจะดีกว่า

ทั้งหมดนี้ทำให้โดยรวมแล้ว DockCase เป็นหนึ่งในแก็ดเจ็ตที่เหมาะสำหรับผู้ใช้ MacBook รุ่นใหม่ๆ ที่ต้องพกเครื่องออกไปทำงานข้างนอก แล้วไม่ต้องการแบกอุปกรณ์จำพวกตัวแปลงพอร์ตเชื่อมต่อไปด้วย เพราะช่องเชื่อมต่อหลักๆ แทบทุกรูปแบบมารวมอยู่ที่ซองหนังสำหรับบรรจุตัวเครื่องอยู่แล้ว

Review DockCase for MacBook Pro NotebookSPEC 20171209 4

ข้อดี

  • สะดวกสบายในการใช้งาน ทำให้ไม่ต้องพกพาตัวแปลงพอร์ตออกไปด้วย
  • พอร์ตเชื่อมต่อครบครัน คุณสมบัติของแต่ละพอร์ตก็จัดว่าอยู่ในระดับที่ใช้งานได้ราบรื่น
  • ดีไซน์ดูเรียบหรู วัสดุที่ใช้มีคุณภาพ

ข้อสังเกต

  • หาซื้อยากในช่วงแรก และไม่ทราบว่าจะมีผู้นำมาจำหน่ายในไทยหรือไม่
  • เหมาะกับการใช้งานร่วมกับ MacBook เป็นหลัก
  • เมื่อใช้งานไปซักพัก ตัวแผงวงจรจะร้อนแบบอุ่นๆ รวมถึงถ้าหากวางเครื่องไว้บนซองนานๆ ตัวเครื่องก็จะร้อนด้วย
Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Accessories review

ถ้าคุณเป็นครีเอเตอร์ Lexar Portable SSD SL400 คือไอเท็มสำคัญควรมีติดกระเป๋า! ในวงการหน่วยความจำแล้ว Lexar ก็เป็นผู้ผลิตหน่วยความจำระดับโลกซึ่งมีสินค้าหลากหลายแบบให้เลือกใช้ เช่น Lexar Portable SSD SL400 สำหรับครีเอเตอร์ยุคใหม่เจ้าของ iPhone 15 Pro และ 16 Pro Series ได้ถ่ายคลิปเก็บไอเดียสร้างสรรค์ไว้ทำงานต่อได้หรือพกคู่มือถือ Android...

Buyer's Guide

ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าตอนนี้เกมมือถือก็ได้รับความนิยมมากไม่แพ้แพลตฟอร์มอื่น แถมยังเล่นได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา ยิ่งถ้ามีถุงนิ้วเล่นเกมเอาไว้สวมนิ้วหัวแม่มือสักนิดไม่ให้หน้าจอเปื้อนความมันจากนิ้วแล้วรูดจอได้สะดวกขึ้น ก็เล่นเกมยิงอย่าง PUBG หรือ Call of Duty Mobile ได้ง่าย ถ้ารักเกม RPG อย่าง Genshin Impact ก็เล่นได้อย่างเพลิดเพลินแล้ว แถมราคาก็ไม่แพงแค่หลักสิบถึงร้อยบาทเท่านั้นแต่เพิ่มอรรถรสเวลาเล่นเกมได้หลายเท่าไม่พอ ยังลดรอยนิ้วมือติดบนหน้าจอไม่ต้องมานั่งเช็ดทำความสะอาดภายหลังได้อีกด้วย ว่าด้วยถุงนิ้วเล่นเกมมือถือ ซื้อมาใช้จะดีไหม? ถุงนิ้วสำหรับเล่นเกมดีไซน์ให้ขนาดพอสวมนิ้วหัวแม่มือพอดี ทำให้รูดหน้าจอมือถือได้ลื่นขึ้นแล้วความมันจากนิ้วไม่ติดหน้าจอ ดีไซน์ของถุงนิ้วจะมีทั้งแบบเป็นปลอกสวมนิ้วหัวแม่มือหรือเป็นถุงมือสวมถึงข้อมือให้เลือกตามสะดวก...

Mac Corner

ขึ้นชื่อว่าเป็นไอโฟนเป็นใครอยากได้ ว่าด้วยราคาเครื่องจะจ่ายเงินสดรอบเดียวก็ยังได้แต่ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะต้องใช้เงินก้อนเมื่อไหร่ หลายคนจึงเลือกวิธีผ่อนไอโฟนทีละงวดไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ 10 ถึง 30 เดือนก็มี ตามที่ร้านค้ากับธนาคารเจ้าของบัตรจะทำข้อตกลงกันไว้ ทำให้ลูกค้าได้เปลี่ยนมือถือเครื่องใหม่ได้ง่ายขึ้น และยังไม่รวมแคมเปญอื่นๆ จาก Apple กับตัวแทนจำหน่ายแต่ละเจ้าเอามาเป็นจุดจูงใจเพิ่มเติมอีกด้วย ข้อดีของการจ่ายเงินผ่อน นอกจากไม่ต้องลงเงินก้อนครั้งเดียวแต่เฉลี่ยจ่ายไปเรื่อยๆ จนครบได้แล้ว ยังมีเครื่องมือทางการเงินอีกหลายอย่างเข้ามาช่วยแบ่งเบาผู้ใช้ได้อีกมาก ไม่ว่าจะใช้แต้มในบัตรเครดิตหักลดราคาเครื่องก่อนผ่อนชำระได้, กดส่งโค้ดเอาแต้มกับเงินคืนไว้ใช้ในโอกาสอื่นได้ไม่พอ ในยุคนี้บางร้านค้ายังให้ผ่อนด้วยบัตรประชาชนใบเดียวได้อีก เป็นทางเลือกเพื่อคนไม่มีบัตรเครดิตแต่มีเงินในกระเป๋าแบ่งจ่ายค่าเครื่องได้สะดวกไม่แพ้กันAdvertisement ผ่อนไอโฟนวิธีไหนได้บ้าง? ปัจจุบันสามารถผ่อนมือถือได้หลายวิธี...

Mac Corner

พอ Apple เปิดตัว iPhone 16 Series เปิดตัว iPhone 15 ราคาก็ถูกลงตามกลไกการตลาด หลีกทางให้สินค้ารุ่นใหม่และเคลียร์สต็อกสินค้าเก่าไปด้วย ถึงจะตกรุ่นแล้วแต่ถ้าเป็นผู้ใช้ทั่วไปเน้น Social network, ถ่ายวิดีโอเก็บภาพความทรงจำและเล่นเกมบ้าง ไม่เน้น Apple Intelligence (AI) ตามสมัยนิยมเอาความแรงตัวชิปเซ็ตเข้าว่า ก็พูดได้ว่าราคาไอโฟน 15 ตอนนี้ก็คุ้มดีแล้วใช้เป็นมือถือเครื่องหลักไปได้อีกหลายปีก่อนจะหมดรอบการอัปเดต iOS...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก