หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา Gartner (บริษัทวิจัยตลาดชื่อดัง) เผยยอดขายพีซีในไตรมาสล่าสุด (2/2017) ซึ่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับแชมป์ เมื่อ HP สามารถแซงขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 รายใหม่ของโลกพีซีได้สำเร็จ หลังจากที่ปล่อยให้ lenovo ยึดเบอร์ 1 มาเป็นเวลานานถึง 5 ปีได้ ซึ่งก่อนหน้าที่ Lenovo จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 HP เองก็เคยครองเบอร์ 1 อยู่นานมาก
โดยยอดขายของ HP ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาขยับขึ้นมาอีกเล็กน้อยที่ 3.3% แม้จะไม่มากแต่ส่งผลให้ HP ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นเบอร์ 1 เพิ่มมาเป็น 20.8% ในขณะที่ Lenovo ยอดขายเป็นจำนวนเครื่องตกลงอีก 8.4% ทำให้ส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือ 19.9% แม้จะต่างกันแค่ 0.9% แต่ดูจากเทรนแล้วก็เป็นเรื่องยากที่ Lenovo จะกลับมาเป็นที่ 1 ได้เร็วๆนี้ เพราะเทรนของ Lenovo มีแต่ที่ยอดขายจะตกลง ขณะที่ HP กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ว่าทำไมละ
หากย้อนกลับไปปี 2011 ผู้ที่เป็นเบอร์ 1 ของตลาดโลกก็คือ HP เองนี่ละ จึงไม่ต้องแปลกใจในการกลับมาเป็นเบอร์ 1 อีกครั้ง ณ ปี 2011 HP เคยนำเหนือคู่แข่งถึงราวๆ 4-5% แต่หลังจากปี 2012 เป็นต้นมากลับเสียแชมป์ให้ Lenovo และ HP ก็มีแต่ยอดขายย่ำแย่ลงไป จนต้องเกิดการผ่าตัดใหญ่เมื่อหลายปีก่อน ด้วยการแยกบริษัทเป็น HPI ที่เน้นตลาด Consumer โดยจะทำตลาดในกลุ่มของพีซีและปริ้นเตอร์เป็นหลัก และ HPE ที่เน้นในตลาด Enterprise ในกลุ่มสินค้า Server และ Workstation ซึ่งหลังจากแยกบริษัทออกมายอดขายก็ดีวันดีคืน ถึงขนาดไปซื้อกลุ่มธุรกิจปริ้นเตอร์ของ Samsung มาเสริมทัพได้อีกด้วย
โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มสินค้าของ HP เองก็ได้มีการยกเครื่องครั้งใหม่ โดยการเน้นดีไซน์ที่สวยงามมากขึ้น สเปคที่คุ้มค่าไม่แพ้แบรนด์คู่แข่ง สินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งถอดจอภาพได้ พับได้ 360 องศา หรือไปจนถึงการเน้นตลาดเกมเมอร์มากขึ้นจากเดิมที่ HP แทบไม่เคยมีการทำตลาดกลุ่มนี้เลย โดยการปลุกผีที่ HP ซื้อมาเก็บไว้เมื่อนานมากแล้วอย่าง VooDoo ที่รีแบรนด์ใหม่เป็น Omen by HP เพื่อเน้นตลาดกลุ่มเกมโดยเฉพาะแม้ปีแรกอาจจะยังสะดุดลุยตลาดได้ไม่เต็มตัวด้วยราคาที่ยังสูงอยู่มาก แต่เมื่อถึงรุ่นที่ 2 พร้อม Core i Gen 6 ถือเป็นรุ่นสร้างชื่อเลยก็ว่าได้ ทั้งการออกแบบที่เน้นโทนสีในแบบคอเกม และที่สำคัญคือสเปคราคาที่สามารถจับต้องได้ง่าย จนเป็นโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งที่ขายดีที่สุดของปี 2016 เลยก็ว่าได้ (หลายๆแบรนด์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน) และในส่วนของ Desktop PC เองก็จัดว่าขายดีขึ้นมามากเหมือนกัน
นอกจากนั้นภายใน HP เองก็มีการปรับทัพครั้งใหญ่ เอาเฉพาะในไทยและในอาเซียนที่พอรู้คือการดึงคนจากแบรนด์คู่แข่งโดยเฉพาะทีม Lenovo และอีกหลายๆแบรนด์เพื่อผลัดกันยอดขายให้ดีในแบบที่ Lenovo เคยประสบความสำเร็จ การอัดฉีดเงินมาร์เก็ตติ้ง ปรับปรุงเรื่องของเซอร์วิสอย่างในบ้านเราที่รู้จักกันดีก็คือ HP smart friend ทีม Call Center ที่พร้อมช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง และศูนย์บริการที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก จึงไม่ต้องแปลกในที่ HP จะมียอดขายเพิ่มขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย
มาถึง Lenovo ที่มีการปรับยุทธศาสตร์ของบริษัทใหม่ ไม่เน้นยอดขายเป็นจำนวนเครื่อง แต่หันไปเน้นที่กำไรต่อเครื่องมากขึ้น จากเดิมที่เน้นจำนวนเครื่องที่ขายมากกว่ากำไร (บางรุ่นที่ราคาถูกมากกำไรแค่หลักร้อยเท่านั้น) สังเกตุได้จากสินค้า Lenovo หลายๆรุ่นที่มีการปรับรูปลักษณ์เพื่อเน้นราคาขายที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และยังเน้นความหลากหลายของสินค้ามากกว่าโฟกัสยอดขายเป็นรุ่นๆไป อีกทั้งประเทศบ้านเกิดอย่างจีนก็ไม่ได้เป็นที่พึ่งพาได้อีกต่อไป เพราะมีทั้งแบรนด์ใหม่ๆเกิดขึ้นมา หรือแบรนด์ชื่อดังสามารถเข้าไปทำตลาดในจีนได้มากขึ้น คนจีนมีตัวเลือกหลากหลายไม่จำเป็นต้องซื้อแค่ Lenovo อีกต่อไป
ทีมภายใน Lenovo เองก็มีปัญหาไม่น้อยจากทั้งนโยบายภายในที่เป็นผลมาจากการทุ่มตลาดเพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 1 ด้วยการที่เน้นยอดขาย ทำให้บุคลากรต่างเหนื่อยล้า และเป็นผลให้ถูกแบรนด์อื่นๆดึงตัวไป การบริการงานในแบบแบรนด์จีนที่บริษัทแม่มักจะเข้ามาล้วงลูกโดยไม่คิดถึงวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ ทำให้เกิดการบริหารงานที่ประสบปัญหามากยิ่งขึ้น บริการหลังการขายเองก็ยังตามคู่แข่งอยู่ ถึงแม้ Lenovo ยังมีสินค้าดีๆ ราคาโดนๆ แต่มันก็ยังไม่เพียงพอที่จะรักษาเบอร์ 1 ไว้ได้
ส่วนแบรด์อื่นๆนั้น อันดับสาม Dell ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 15.6%, อันดับสี่ Apple 6.9%, อันดับห้า Asus 6.6% และ อันดับหก Acer ส่วนแบ่ง 6.3% ซึ่งมองรวมๆได้คราวๆว่า Dell ยังคงเส้นคงวาเป็นแบรนด์ที่ยังคงติดท๊อป 3 มาตลอด ซึ่งหลักๆ Dell ขายดีในกลุ่ม Enterprise เป็นหลัก และในตลาด Consumer บางส่วน แต่ที่น่าแปลกใจคือ Apple ที่ไปๆมากๆกลับขายดีกว่า ASUS และ Acer เสียอีก ซึ่งต้องยอมรับว่า Apple นั้นเปิดตัว Macbook ใหม่ด้วย จุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร พร้อมนวัตกรรมที่อัดแน่น แต่เบอร์รองละ
ASUS จากที่เคยจะขึ้นไปเบอร์ 3 ในตลาดโลกได้ และเกือบขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 ในบ้านเรา แต่สุดท้ายอยู่ดีๆก็เกิดสะดุดขาตัวเองล้มไปเล็กน้อยโดยกลุ่มตลาดที่หายไปคือโน๊ตบุ๊คราคาประหยัดระดับ 20,000 บาท ลงไปที่มีน้อยลง แต่มาเน้นในตลาด Ultrabook อย่าง Zenbook และ ROG Gaming มากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถทำจำนวนยอดขายมากๆได้ เพราะมีราคาสูง ทำให้ยอดขายไม่ได้เยอะอย่างที่ควร (แต่ก็มาเน้นการทำกำไรต่อเครื่องแทน)
Acer เบอร์ 5 ในตลาดโลก และเบอร์ 1 อมตะในบ้านเรา ที่ไม่ว่าผ่านร้อนหนาวมาเท่าไร ก็ยังครองเบอร์ 1 ในบ้านเราได้ ด้วยการเน้นขายโน๊ตบุ๊คราคาคุ้มค่า และเป็นแบรนด์ที่ยังแข่งแกร่งในต่างจังหวัด ศูนย์บริการที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดแบรนด์หนึ่งในบ้านเรา แต่ก็อยู่ในช่วงที่ยอดขายอยู่ในเทรนที่ลดลงและไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร ที่แม้จะยังมีโน๊ตบุ๊คสเปคแรงราคาคุ้ม หรือ Predator ที่เข้ามาทำตลาดกลุ่มเกมเมอร์ แต่ก็ยังยากเพราะมาเจ้าตลาดอย่าง MSI ASUS อยู่ อีกทั้งต้องยอมรับว่าไม่ใช่แบรนด์แรกที่คนรุ่นใหม่จะเลือกถ้าไม่ใช่ราคาถูกหรือสเปคแรงคุ้มค่าจริงๆ
มองตลาดครึ่งหลังปีนี้เชื่อว่า HP จะยังคงรักษาแชมป์ได้อีกไปจนถึงปีหน้าแน่นอน ด้วยสินค้าใหม่ๆที่น่าสนใจโดยเฉพาะ Omen ตัวใหม่ที่กำหนดการวางจำหน่ายในช่วงสิงหาคมนี้ นอกจากนั้นก็ยังมีรุ่นใหม่ๆอีกเพียบที่จ่อรออยู่ ส่วน Lenovo ก็น่าจะรักษาเบอร์ 2 ได้อยู่แต่แซงขึ้นเบอร์ 1 ได้ยาก จากนโยบายที่เน้นกำไรมากกว่าอยู่นิต และไปจับกลุ่ม IoT หรือนวัตกรรมอื่นๆมากกว่าแค่การผลิต PC ส่วนแบรนด์อื่นๆน่าจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่แทนที่จำเน้นจำนวนยอดขาย มาเน้นที่กำไรต่อตัวมากกว่า จากปัญหาที่ยอดขายพีซีตกลงเพราะผู้บริโภคไปเน้นที่สมาร์ทโฟนมากกว่าที่จะซื้อพีซีเครื่องใหม่