ในช่วงเวลาปัจจุบันนี้หากเรากล่าวถึงอุตสาหกรรมทางด้านอุปกรณ์เคลื่อนที่แล้วนั้นคู่แข่งที่เห็นกันอย่างชัดเจนคงหนีไม่พ้น Apple และ Samsung ที่ต่างฝ่ายต่างก็มีความพยายามที่จะแย่งพื้นที่สื่อไปเป็นของตัวเองตลอดเวลา ถึงแม้ว่า Samsung จะเป็นผู้นำในตลาดด้วยยอดขายที่มากกว่ามากแต่ทว่าด้วยความล้มเหลวของ Galaxy S5 สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นปี 2014 ที่ผ่านมานั้นก็ทำให้ Apple กลับมาตีกลับไปได้หลายคุมเลยทีเดียวครับ
อย่างไรก็ตามถึงแม้หลายๆ คนจะมองกันว่าอุตสาหกรรมอุปกรณ์เคลื่อนที่ในปัจจุบันนั้นเป็นการแข่งขันของแค่ 2 บริษัทดังกล่าวเท่านั้นแต่ทว่า CEO ของบริษัท Cyanogen อย่าง Kirt McMaster กลับมีแนวความคิดที่แตกต่างออกไปครับ โดย McMaster ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Business Insider ในช่วงไม่นานที่ผ่านมานี้ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะถึงขั้นสร้างความล้มเหลวให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Samsung ได้เลยทีเดียวครับ
Kirt McMaster ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัท Cyanogen
สำหรับท่านใดที่ไม่รู้จักบริษัท Cyanogen นั้นผมขอกล่าวถึงปูมหลังของบริษัท Cyanogen ให้ได้ทราบกันก่อนสักเล็กน้อยครับ โดยในตอนแรกนั้น Cyanogen เป็นเพียงชื่อของกลุ่มคนที่มีความสนใจในการพัฒนา Rom ระบบปฏิบัติการ Android ออกมาสำหรับเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้ได้นำไปใช้งานกัน แต่ด้วยความที่ Rom ของทาง Cyanogen นั้นสามารถทำออกมาได้อย่างดีมากๆ(ถ้าเทียบกับ Rom อื่นหรือแม้แต่กระทั่ง Rom ของบริษัทเจ้าของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเอง) ทำให้ชื่อของ Cyanogen นั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางครับ
Rom ของ Cyanogen ที่ใช้ชื่อว่า CyanogenMod นั้นโด่งดังมากจนกระทั่งผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่าง OnePlus ได้จ้างให้ทางบริษัท Cyanogen ทำการพัฒนา Rom ออกมาให้กับสมาร์ทโฟนรุ่น OnePlus One โดยตรง ซึ่งตัว Rom นั้นสามารถรีดประสิทธิภาพของตัวเครื่องออกมาได้เป็นอย่างดี จนทำให้ OnePlus One นั้นเป็นสมาร์ทโฟนที่เป็นที่นิยมและเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในปี 2014 (แต่ว่าด้วยการขายที่อยู่ในวงจำกัดทำให้มีผู้ได้ใช้งาน OnePlus One จริงไม่มากเท่าไรนักครับ)
อย่างไรก็ตามแต่ด้วยความที่ว่าตัวบริษัท Cyanogen ทำแค่การผลิตส่วนของซอฟต์แวร์และบริการออกมาเท่านั้น ทำให้ Rom อย่าง CyanogenMod นั้นไม่ได้เป็นที่รู้จักสำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการของการเล่น Rom สักเท่าไร ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือถ้าคุณไปถามคนที่ใช้สมาร์ทโฟนของ Apple อาจจะได้คำตอบกลับมาว่าไม่รู้จัก CyanogenMod หรือแม้แต่กระทั่งผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Android เองก็อาจจะไม่รู้จักครับ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวในปี 2015 นี้ทางบริษัท Cyanogen จึงได้พยายามทำการตลาดในเชิงรุกมากขึ้น โดยการขยายวงกว้างให้ Rom ในชื่อ CyanogenMod ได้เป็นที่รู้จักสำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน(รวมไปถึงผู้ผลิต) ทั่วโลก แถมทาง Cyanogen ยังได้ร่วมเป็นคู่ค้ากับทาง Qualcomm บริษัทผู้ผลิตชิปเซ็ทสำหรับสมาร์ทโฟนชื่อดังในซีรีส์ Snapdragon อีกด้วยต่างหาก ซึ่งนั่นทำให้แผนการรุกตลาดทั่วโลกของทาง Cyanogen นั้นเป็นไปได้มากขึ้นครับ(เนื่องจากว่าทั่วโลกต่างก็มีสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซ็ทของทาง Qualcomm วางขายอยู่นั่นเองครับ)
เป้าหมายของทาง Cyanogen นั้นดูเหมือนจะสร้างปัญหาให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์แบบโปรแกรมเมอร์นิดหน่อยครับ เหตุผลก็คือว่าถ้าหากสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นหันไปใช้ CyanogenMod เป็น Rom ทั้งหมด ราคาของสมาร์ทโฟนก็จะถูกลงเพราะบริษัทผู้ผลิตไม่มีความจำเป็นจะต้องไปจ้างโปรแกรมเมอร์เพื่อที่จะเข้ามาพัฒนา Rom เป็นของตัวเองอีก ทว่าเรื่องนี้ก็คงจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นง่ายๆ ครับ เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงนั่นหมายความว่าสมาร์ทโฟนแต่ละยี่ห้อจะแทบไม่มีความแตกต่างกันทางด้านซอฟต์แวร์เลยครับ
McMaster มีความคิดว่าการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนราคาถูกในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานั้นอาจจะทำให้บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Samsung หรือแม้แต่กระทั่ง Apple เองมีปัญหาที่จะพยายามอยู่ในตำแหน่งผู้นำในตลาดครับ เขายังมีความคิดอีกว่าในตลาดนั้นยังมีช่องว่างที่เปิดให้กับระบบปฏิบัติการอื่นๆ สามารถที่จะเข้ามาเอาชนะ iOS ของทาง Apple หรือ Android ของทาง Google ได้ครับ
ทั้งนี้ McMaster ยังมีแนวคิดอีกหลายๆ อย่างที่น่าสนใจจากคำตอบของเขาที่ให้กับทาง Business Insider ครับ ลองไปดูกันดีกว่าครับว่าความคิดของเขาจะเป็นเช่นไร และในอนาคตจะเป็นไปตามที่ McMaster กล่าวไว้หรือไม่
คำถามจาก Business Insider: ช่วยบอกเราเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุผลที่ว่าทำไมคุณถึงได้ร่วมงานกับ Qualcomm จากสิ่งที่คุณพูดไปในตอนแรกว่าซอฟต์แวร์ของคุณจะไปอยู่บนสมาร์ทโฟนมากเครื่องขึ้นกว่าเดิมหน่อยครับ
คำตอบจาก McMaster: เราได้เห็นการทำสมาร์ทโฟนให้วุ่นวายและการตลาดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นจากทาง Samsung และผู้ผลิตรายอื่นๆ ออกมากันอย่างมากมายแล้วครับไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดหน้าจอจาก 3 นิ้วไปเป็น 4 นิ้ว หรือเปลี่ยนไปเป็น 5 นิ้วในปัจจุบันซึ่งทาง Samsung และผู้ผลิตรายอื่นๆ นั้นก็ทำสำเร็จในส่วนนี้ไปแล้ว แถมในปัจจุบันนี้ผู้ใช้ยังสามารถที่จะหาสมาร์ทโฟนที่มีขนาดหน้าจอ 5 นิ้ว ในราคาเพียง $140 หรือประมาณ 4,620 บาทได้อีกด้วย(หรืออาจจะถูกกว่านั้น)
ในครั้งแรกสุดนั้นเราได้เห็นการป่วนตลาดด้วยการเปลี่ยนจากฟีเจอร์โฟนให้กลายเป็นสมาร์ทโฟน หลังจากนั้นสิ่งที่สองที่เราเห็นก็คือในส่วนของการสร้าง App Store และตามมาด้วย from factor เราได้เห็นว่า Samsung และ Android นั้นสามารถที่จะสร้างระบบนิเวศของตัวเองขึ้นมาจนเอาชนะทางด้าน from factor ไปได้อย่างงดงามแถมยังเป็นการป่วนตลาดที่ลามไปทั่วโลกเลยทีเดียว จากนั้นเอง Apple ก็ตามมาติดๆ ด้วยการปล่อย iPhone 6 Plus ที่มีหน้าจอขนาดใหญ่ออกมาป่วนตลาดอีกครั้ง ดังนั้นการป่วนตลาดครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปคงหนีไม่พ้นการป่วนทางด้านฮาร์ดแวร์โดยการสร้างความหลายหลายที่เหมือนกันขึ้นมาครับ
ด้วยเหตุดังกล่าวในข้างต้นนั้นจากนี้อีก 3 – 5 ปีต่อไปการป่วนตลาดในรูปแบบนี้จะสร้างให้เกิดการกระทบกระเทือนครั้งใหญ่ขึ้นในตลาดอย่างแน่นอน(อาจจะเป็นการกระทบต่อตลาดที่ใหญ่ที่สุดบนโลกนี้ด้วยซ้ำไป) ซึ่งผลกระทบกับตลาดในระดับใหญ่ขนาดนี้จะทำให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นสามารถที่จะทำการเปิดตัวในตลาดโลกได้อย่างไม่ยากเย็นครับ
Xiaomi CEO Lei Jun
จริงๆ แล้วเราก็ได้เริ่มเห็นกันแล้วว่าผู้ผลิตในท้องถิ่นอย่าง Xiaomi ที่มีต้นกำเนิดมาจากในประเทศจีนนั้นสามารถที่จะก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 ของผู้ผลิตที่สามารถแย่งส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนโลกไปได้ หรืออย่าง Micromax ผู้ผลิตท้องถิ่นจากประเทศอินเดียก็สามารถที่จะก้าวขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 10 ของตลาด ซึ่งโมเดลที่เราเห็นกันของผู้ผลิตระดับท้องถิ่นที่สามารถก้าวเข้ามาสู่ตลาดโลกได้นั้นก็คือมีผลิตภัณฑ์ในระดับที่ดีแต่ราคาถูกและสามารถขายได้ในปริมาณมากนั่นเองครับ
หากคุณลองสังเกตดีๆ แล้วจะเห็นว่าผู้ผลิตท้องถิ่นเลือกที่จะใช้องค์ประกอบภายในของเครื่องจากบริษัทที่มีประสิทธิภาพตัวอย่างเช่น Qualcomm ที่เราเป็นคู่ค้าอยู่ และยังมี MediaTek ที่มาแรงไม่แพ้กัน ดังนั้นแล้วการที่ Cyanogen สามารถที่จะทำการปรับแต่งซอฟต์แวร์ให้รองรับและรีดประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟนราคาถูกได้นั้นย่อมมีความเป็นต่อในตลาดมากกว่าการที่จะหันไปให้ผู้ใช้เลือกซื้อสมาร์ทโฟนราคาแพงๆ ที่ระดับ $600 หรือประมาณ 19,800 บาทขึ้นไป แต่ทว่ามากับซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รีดเอาประสิทธิภาพของเครื่องออกมาอย่างสูงสุดครับ
“หากจะว่าไปแล้วผมคิดว่าผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดตอนนี้อย่าง Samsung กำลังจะกลายเป็น Nokia รุ่นใหม่ในช่วง 5 ปีข้างหน้าที่จะถึงนี้ ซึ่งนั่นหมายถึง Samsung เองจะถูกล้มจากตำแหน่งผู้นำ โดยส่วนตัวผมเองแล้วคิดว่า Apple ก็จะมีปัญหาเหมือนกันเพราะทาง Apple เองก็ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่มีราคาอยู่ในระดับถูกจนทำให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถที่จะเข้าถึงได้ทุกกลุ่มครับ”
คำถามจาก Business Insider: อย่างนั้นก็หมายความว่าคุณคิดว่า Samsung จะล้มภายในระยะเวลา 5 ปีนี้ใช่ไหมครับ
คำตอบจาก McMaster: ผมคิดว่าบางทีมันอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคาดคิดไว้ซะด้วยซ้ำไปครับ ลองดูตัวอย่างที่ชัดเจนอย่าง Research In Motion (RIM : ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน BlackBerry) สิครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา และลองมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Nokia ผู้ซึ่งเคยเป็นอันดับหนึ่งในตลาดมานานหลายปี ผมจะชี้ให้ชัดๆ จากความจริงที่ว่าเมื่อฤดูร้อนในปีที่ผ่านมานั้น Micromax สามารถที่จะทำยอดขายได้ดีกว่า Samsung แล้วในประเทศอินเดียซึ่งนั่นกินเวลาเพียงแค่ 8 เดือนเท่านั้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพียงแค่ตลาดในประเทศเดียวเท่านั้นนะครับ แต่ถ้าเรามองไปในระดับโลกแล้วหล่ะก็เราจะเห็นได้ว่าผู้ผลิตในท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคเริ่มที่จะทำส่วนแบ่งในตลาดไปได้มากกว่าบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ เช่น Blu Products ในละตินอเมริกา หรือ Cherry Mobile ในฟิลิปปินส์ ที่ต่างก็มียอดส่วนแบ่งในตลาดท้องถิ่นของภูมิภาคตัวเองกันมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าบริษัทผู้ผลิตในท้องถิ่นมักจะเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ในท้องถิ่นตัวเองมากกว่าบริษัทข้ามชาติครับ แถมพวกเขานั้นก็เดินเกมได้เร็วกว่าบริษัทข้ามชาติมากเลยในท้องถิ่นของตัวเองครับ
คำถามจาก Business Insider: ในอดีตคุณเคยพูดกับทาง The Wall Street Journal เอาไว้ว่าคุณอยากจะนำเอา Android ออกมาจาก Google คุณช่วยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมหน่อยได้ไหมครับ
คำตอบจาก McMaster: มันไม่มีอะไรเหลือมากที่เราจะเอา Android ออกมาจากทาง Google ได้แล้วในตอนนี้ครับ ณ ปัจจุบันนี้ Android นั้นมีผู้ใช้มากมายทั่วโลกถึงพันลานคนเลยทีเดียว และมันอาจจะเติบโตได้มากขึ้นต่อไปขยายเป็นฐานผู้ใช้ถึง 5 พันล้านคนในเวลาเพียงไม่กี่ปี ด้วยขนาดของตลาดขนาดนี้ผมบอกได้คำเดียวครับว่าไม่เคยเห็นอัตราการเติบโตของระบบที่ทั้งเร็วและกระจายไปอย่างกว้างขวางแถมยิ่งใหญ่ขนาดนี้มาก่อน
จากอัตรการเติบโตนี้มันมีความหมายว่าในจำนวนผู้ใช้กว่า 5 พันล้านคนที่ Android จะสามารถขยายได้ในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ไปนั้นอาจจะมี 2 – 3 ส่วนของระบบปฏิบัติการ Android ที่สามารถจะเข้ามาเป็นจุดสำคัญในการสร้างฐานผู้ใช้งาน(เนื่องจากว่า Android เป็นระบบปฏิบัติการเปิดที่ใครก็สามารถนำไปดัดแปลงให้อยู่ในรูปแบบของตัวเองได้) อย่างน้อยแค่ 2-3 ร้อยล้านผู้ใช้ก็ถือว่ามากมายแล้วอย่างเช่นที่ Xiaomi สามารถที่จะทำอยู่ได้ในตอนนี้(กับ MIUI ระบบปฏิบัติการ Android ที่ทาง Xiaomi นำไปพัฒนาต่อยอด)
นั่นหมายความว่าการที่ Cyanogen สามารถที่จะแย่งฐานลูกค้าจาก Google มาใช้ CyanogenMod ได้สัก 2 – 3 ร้อยล้านราย(ซึ่งบนตัว Rom ก็จะมีบริการของ Cyanogen ที่สามารถทำเงินได้) เราก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้วครับ แต่ถ้าระบบปฏิบัติการของเราสามารถที่จะแย่งผู้ใช้มาได้มากกว่านั้นเราก็สามารถที่จะทำการสร้างธุรกิจที่มีความแตกต่างและน่าสนใจให้กับระบบของเราได้มากขึ้น หากให้พูดตามความคิดผมอย่างซื่อตรงแล้วผมคิดว่าการที่ Android เป็นระบบปฏิบัติการเปิดนั้นทำให้มันสามารถที่จะสร้างฐานผู้ใช้ได้มากขนาดนี้ แต่ทว่า Android นั้นก็ไม่ได้เปิดมากพอที่จะให้ผู้พัฒนาสร้างนวัตกรรมเสริมได้ครับ
คำถามจาก Business Insider: คุณบอกว่า Android เป็นระบบปฏิบัติการเปิด แต่ทว่าคุณกลับบอกว่ามันไม่ได้เปิดมากพอ ทำไมคุณถึงพูดเช่นนั้นครับ
คำตอบจาก McMaster: เราพยายามสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดจาก Android ครับซึ่งนั่นจะทำให้เราสามารถที่ทำการเพิ่มบริการจากผู้ใช้รายอื่น(ซึ่งในที่นี้ก็คือของทาง Cyanogen เองหรือผู้ให้บริการอื่นๆ) เข้าไปได้ ทว่าอย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ Android นั้นก็เป็นเปลือกสำหรับบริการของ Google ที่ขาดไม่ได้(เหมือนกับ iOS ที่เป็นเปลือกของบริการของทาง Apple เช่นเดียวกัน) บริการอื่นๆ นั้นอาจจะมาในรูปแบบของโมเดลแบบแอปพลิเคชันเป็นต้นครับ
ตัวอย่างเช่น Facebook นั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง Facebook Phone หรือ Amazon ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง Amazon Phone เป็นของตัวเอง เพียงแค่พวกเขาติดต่อทาง Cyanogen มาพวกเขาก็สามารถที่จะนำเอาบริการของพวกเขามาขึ้นบน CyanogenMod ได้อย่างไม่ยากเย็น แต่กับ Google เองแล้วนั้นหากคุณใช้งานระบบเช่น Google Now แล้วค้นหาคำว่า “Play X song” สิ่งที่คุณจะได้กลับมาก็คือการลิ้งค์ไปที่ Google Play Music ซึ่งเป็นบริการซื้อเพลงของทาง Google ครับ
จริงๆ แล้วตัวอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะกับทาง Google เท่านั้น แม้แต่ iOS หรือ Windows Phone เองก็เป็นเช่นเดียวกัน แต่ถ้ากลับมาเป็นทาง Cyanogen แล้ว เราอาจจะทำการใส่บริการอื่นๆ ของผู้ผลิตรายที่ 3 เช่นหากอยากฟังเพลงก็ต้องฟังผ่าน Spotify เป็นต้นครับ โดยการปรับแต่งในรูปแบบนี้เราสามารถที่จะทำได้ในระดับ kernel เลยทีเดียวครับ
Theme packs ที่วางจำหน่ายอยู่บน CyanogenMod ซึ่งเป็นบริการที่สามารถทำเงินให้กับทาง Cyanogen ได้
คำถามจาก Business Insider: ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วแพลตฟอร์มที่คุณสร้างจะเป็นเป้าหมายใหญ่ในการล้ม Android ใช่หรือไม่ครับ
คำตอบจาก McMaster: ทั้งใช่ และ ไม่ใช่ครับ พวกเราต่างก็รักในบริการของทาง Google และตัวผมเองก็ยังคงใช้งานบริการของทาง Google อยู่ เราหวังว่าผู้ใช้ CyanogenMod ของเราจะยังคงใช้บริการของ Google อยู่ต่อไป สิ่งที่เราพูดไปก็คือบนแพลตฟอร์มของเรานั้นจะเปิดกว้างมากกว่าเพื่อให้ผู้ใช้มีทางเลือกที่เพิ่มขึ้น และสามารถที่จะทำการเลือกในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้จริงๆ เช่นผู้ใช้อยากจะเลือกใช้ Google Maps หรือ Nokia Here ก็ขึ้นอยู่กับตัวของผู้ใช้เป็นต้นครับ
เรารักบริการของ Google ครับ และเราก็ชอบที่จะร่วมงานกับคนใน Google ด้วย โดยเราหวังว่าเราจะได้ร่วมทำงานกับ Google ต่อไป เราคิดว่าด้วยจำนวนปริมาณผู้ใช้ Android 5 พันล้านรายนั้นเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ของทาง Google และเราคิดว่าจะมีอย่างน้องสัก 2 – 3 ร้อยล้านรายที่เลือกมาใช้บริการจากเรา และ Google ก็ควรที่จะสนับสนุนพวกเราต่อไปครับ
ทั้งนี้นี่ก็คือความเห็นทั้งหมดของ Kirt McMaster ผู้ดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัท Cyanogen ซึ่งทำให้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Android หลายต่อหลายรุ่นที่ผู้ผลิตตัวจริงทิ้งการอัพเกรดไปแล้วยังคงได้ใช้ระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ๆ ของ Google อยู่เรื่อยๆ เรื่องในอนาคตนั้นจะเป็นอย่างที่ McMaster กล่าวไว้หรือไม่นั้นคงจะต้องคอยดูกันต่อไปครับ และคุณๆ หล่ะครับคิดว่าใน 5 ปีต่อจากนี้ไป Samsung และ Apple จะอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่จริงๆ หรือไม่ครับ
ที่มา : businessinsider