เรื่องของชิปเซ็ตที่หลายๆ คนที่ประกอบคอมพิวเตอร์นั้นอาจจะมองข้ามไปบ้างเวลาประกอบคอมพิวเตอร์เพราะอาจนึกว่าชิปเซ็ตเป็นเพียงแค่เรื่องเล็กน้อยแต่จริงๆ แล้วเรื่องของชิปเซ็ตนั้นมีความสำคัญมากทีเดียวเกี่ยวกับการควบคุมชิ้นส่วนต่างๆ บนเมนบอร์ดให้ทำงานได้เข้ากันโดยเฉพาะ APU หรือ Accelerated Processing Unit จาก AMD ที่เป็นซีพียูรุ่นใหม่ที่นำกราฟิกการ์ด AMD Radeon มาประกอบเข้ากับซีพียูเพื่อให้ประสิทธิภาพการประมวลผลกราฟิกทำได้ดีกว่าเดิมจะมีชิปเซ็ตอะไรบ้างแล้วมีจุดเด่นอะไรบ้าง ครั้งนี้ทางทีมงานมีข้อมูลเกี่ยวกับชิปเซ็ตของ APU มาฝากกัน
สำหรับชิปเซ็ตของ APU นั้นจะแบ่งออกเป็นสามรุ่นได้แก่ A55, A75 และ A85X เป็นอีกรุ่นสูงสุดในกลุ่มชิปเซ็ตของ APU จาก AMD เพื่อรองรับซีพียูทั้งหมด 4 รุ่นด้วยกันคือ AMD APU A4, A6, A8 และ A10 ที่เป็นรุ่นที่ให้ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีที่สุด โดยข้อแตกต่างของชิปเซ็ตแต่ละรุ่นคือเรื่องของการเชื่อมต่อหน้าจอที่สองและการรองรับ USB 3.0 แบบ Native Support คือรองรับโดยตัวเองไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อให้ทำงานกับ USB 3.0 ได้ดีขึ้น
ภายในกลุ่มซ็อคเก็ต FM2 ที่เป็นซ็อตเก็ตเวอร์ชั่นล่าสุดจาก AMD นั้นจะรองรับซีพียู AMD APU ที่มีรหัสรุ่นตามหลังเป็นหมายเลข 5xxx และ 6xxx ซึ่งนับตั้งแต่รุ่น AMD APU A6-5400K ขึ้นไปจะเป็นซ็อตเก็ต FM2 ทั้งหมดแล้ว และรหัส 3xxx นั้นจะอยู่ในกลุ่มซ็อคเก็ต FM1 ที่ไม่สามารถนำมาใช้กับซ็อคเก็ตรุ่นใหม่ได้อีกด้วย ซึ่งจากในภาพด้านบนจะเห็นได้ว่าซีพียูรุ่น A6, A8 นั้นจะเหมาะสมกับชิปเซ็ต A75 ที่สุด แต่ A10 ก็สามารถใช้ได้แต่จะใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่านั้น
โดยภาพรวมของชิปเซ็ตทั้งสามรุ่นก็จะเป็นอย่างที่ภาพด้านบนแสดงให้เห็นนั่นเอง โดยส่วนของ FIS-Based Switching นั้นคือตัวบ่งชี้ว่าเมนบอร์ดนี้จะรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ผ่าน SATA Port ได้มากกว่าหนึ่งชิ้นหรือไม่ ซึ่งจะเห็นว่าชิปเซ็ต A55 จะไม่รองรับแต่ข้อดีคือราคาไม่แพงและเหมาะกับการนำไปประกอบเป็นคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในสำนักงาน ส่วนของ FIS-Based Switching นั้นจะรองรับตั้งแต่ชิปเซ็ต A75 เป็นต้นไป และส่วนของรายละเอียดของชิปเซ็ตรุ่นต่างๆ นั้นจะแยกย่อยได้ดังนี้
A55
ชิปเซ็ต A55 ที่เป็นชิปเซ็ตรุ่นพื้นฐานของ APU นั้นเป็นชิปเซ็ตที่รองรับการเชื่อมต่อผ่านพอร์ต SATA ความเร็ว 3 Gb/s รวมทั้งรองรับพอร์ต VGA เพียง 1 ช่องเท่านั้น ไม่รองรับ FIS-Based Switching และไม่ใช่ Native USB 3.0 ซึ่งชิปเซ็ตนี้มักจะพบเจอในเมนบอร์ดรุ่นทั่วไปที่มีราคาไม่แพงนักเพื่อเน้นใช้งานทั่วไปไม่ได้นำไปเล่นเกม เช่นงานเอกสารหรือใช้ท่องอินเตอร์เน็ตทั่วไปเท่านั้น
เวลาเลือกซื้อเมนบอร์ดแล้วเราจะสังเกตได้จากรหัสที่เขียนเอาไว้ด้านหน้ากล่องบรรจุภัณฑ์ว่าเมนบอร์ดรุ่นนั้นๆ ประกอบชิปเซ็ตใดมาให้ โดยเมนบอร์ดจาก ASRock รุ่นนี้จะติดตั้งชิปเซ็ต A55 จาก AMD มาให้นั่นเอง
A75
ชิปเซ็ตระดับกลางของตระกูล APU ที่รองรับการทำงานได้มากกว่าชิปเซ็ต A55 หลายอย่าง ไม่ว่าจะรองรับ FIS-Based Switching, USB 3.0 Native Support ที่รองรับถึง 4 พอร์ตด้วยกัน และเชื่อมต่อผ่านพอร์ต SATA ได้ที่ความเร็ว 6 Gb/s อีกด้วย ซึ่งชิปเซ็ตรุ่นนี้ทาง AMD วางตลาดเอาไว้รองรับกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปที่เน้นการใช้งานด้านความบันเทิงเช่นดูหนังฟังเพลงและเล่นเกมได้ดีในระดับหนึ่งทีเดียว ซึ่งชิปเซ็ต A75 นี้จะเหมาะกับซีพียู AMD APU A6 กับ A8 ที่สุด
ด้านหน้าของกล่องก็จะมีรหัส A75 เขียนเอาไว้แสดงชิปเซ็ตของเมนบอร์ด ซึ่งถ้าเมนบอร์ดไหนเขียนรหัสดังกล่าวเอาไว้แสดงว่าชิปเซ็ตที่ติดตั้งมาให้เป็น A75 อย่างแน่นอน
A85X
สุดท้ายสำหรับชิปเซ็ตรุ่นที่ดีที่สุดสำหรับ APU รหัสชิปเซ็ต A85X ที่เพิ่มประสิทธิภาพขึ้นมาจาก A75 นอกจากจะเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่อผ่านพอร์ต SATA จาก 6 Gb/s เป็น 8 Gb/s แล้ว ยังรองรับการทำ CrossFireX ระหว่างการ์ดจอแยกที่นำมาติดตั้งกับการ์ดจอออนบอร์ดของตัว APU เองและถ้าใครชอบโอเวอร์คล็อค (Overclock) ล่ะก็ชิปเซ็ตนี้ก็รองรับอีกด้วย ซึ่งซีพียูที่นำมาโอเวอร์คล็อคได้นั้นสังเกตได้จากรหัส ?K? ที่ติดอยู่ท้ายชื่อรุ่น ตัวอย่างเฃ่น AMD APU A10-6800K, AMD APU A10-5800K เป็นต้น ซึ่ง APU เหล่านี้จะได้รับการปลดล็อคตัวคูณสำหรับโอเวอร์คล็อคมาให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่างผังการทำงานของชิปเซ็ต A85X
ในเมื่อเป็นชิปเซ็ตรุ่นที่ดีที่สุดแล้วก็จะมีฟีเจอร์ดีๆ ติดตั้งมาให้หลายอย่างทีเดียวโดยจะสังเกตได้จากหน้ากล่องว่าจะมีรหัสชิปเซ็ต A85X เขียนเอาไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย ซึ่งเกมเมอร์คนไหนที่ต้องการประหยัดงบประมาณด้วย AMD APU A10-6800K ล่ะก็แนะนำให้เจาะจงเลือกใช้เมนบอร์ดที่ติดตั้งชิปเซ็ต A85X นี้เพื่อให้ซีพียูแสดงประสิทธิภาพออกมาได้ดีที่สุด
แม้จะเป็นเรื่องของรายละเอียดเล็กน้อยที่ใครหลายๆ คนอาจจะมองข้ามไปบ้างเวลาประกอบคอมฯ มาใช้งาน แต่เรื่องของชิปเซ็ตนี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมากที่ไม่ควรมองข้ามและควรศึกษาให้เข้าใจเพื่อความเหมาะสมเวลาเลือกใช้มาประกอบคอมพิวเตอร์ของเรา