หลังจากเปิดตัว ultrabook อย่างตระกูล IdeaPad U300 ไปแล้ว Lenovo ยังส่ง IdeaPad U400 ลงสู่ตลาดอีก แต่ต้องขอบอกว่า มันไม่ใช่ ultrabook นะครับ เพราะ Lenovo ได้จัดเอาไว้ในกลุ่มของ notebook บางเบาแค่นั้นเอง อันหนึ่งก็เนื่องด้วยมันมาพร้อมจอขนาด 14 นิ้วที่ไม่เข้ากับมาตรฐาน ultrabook ที่กำหนดขึ้นโดย Intel เราจึงพอมองได้ว่า Lenovo IdeaPad U400 นี้ดูจะมาเป็นรุ่นที่ออกแบบมาสำหรับคนที่อยากได้เครื่องดีไซน์เดียวกันกับ ultrabook แต่ต้องการจอที่ใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย เอาเป็นว่าเราไปทำความรู้จักกับมันคร่าวๆก่อนเลยดีกว่าครับ โดยเนื้อหาและภาพในรีวิวนี้มาจากรีวิวของต่างประเทศซึ่งเราได้นำมาเรียบเรียงใหม่ และถ้าเราได้เครื่องจริงมาเมื่อไร รับรองว่าได้จับมาทำรีวิวแน่นอน
ถ้ากล่าวถึงตระกูล IdeaPad ของ Lenovo ก็แน่นอนว่ามันถูกจัดอยู่ในกลุ่ม notebook ใช้งานทั่วไปไล่ตั้งแต่ราคาไม่สูงมากไปยันหลายหมื่น โดยมีจุดเด่นที่รูปร่างหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่รุ่นแรกๆ เรียกได้ว่าเห็นผ่านๆก็รู้เลยว่ามาจากแบรนด์ใด แต่พอมาถึง Lenovo IdeaPad U400 เครื่องนี้ จัดได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร โดยเฉพาะส่วนสันเครื่องที่เน้นความบางลงมา มีขอบคล้ายๆสันหนังสือ ช่วยให้สามารถพกพาได้สะดวก หยิบจับหิ้วไปได้ง่ายดายยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังคงไว้ในเรื่องของสเปกที่คุ้มค่าพอตัวซึ่งเป็นจุดยืนของ Lenovo มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ถ้าให้มองดูจากหน้าตาภายนอก ก็นับว่า Lenovo IdeaPad U400 เครื่องนี้เหมาะกับทุกเพศทุกวัย เด็กใช้ได้ ผู้ใหญ่ใช้ดี ดีไซน์มาแบบกลางๆ ดูไม่ซีเรียสหรือดูขี้เล่นมากเกินไป พกไปไหนมาไหนได้ไม่อายใครแน่นอน
ต่อมาเรามาดูสเปกของ Lenovo IdeaPad U400 เครื่องที่ผ่านการเทสกันบ้างว่ามีอะไรน่าสนใจหรือไม่
- Intel Core i5-2430M ความเร็ว 2.4 GHz
- RAM 6 GB
- HDD 750 GB 5400 RPM
- Intel HD Graphics 3000 และ AMD Radeon HD 6470M w/ 1 GB Memory
- จอกระจก 14 นิ้ว ความละเอียด 1366 x 768
- Battery 4 cell ความจุ 54 Wh สามารถใช้งานได้ราว 7 ชั่วโมง
- มี DVD Writer (แบบ slot-loading)
- USB 3.0 / USB 2.0 / HDMI / LAN / Headphone and Mic
*** รุ่นที่วางขายจริงจะมีสเปกเริ่มต้นที่ต่ำกว่านี้เล็กน้อย ***
ถ้ามาพูดถึงสเปกที่อยู่ในเครื่องทดสอบ ก็ต้องบอกว่ามันอยู่ในระดับของ notebook ทั่วไปนี่เอง แต่มีจุดเด่นในเรื่องความสะดวกในการพกพาที่เหนือกว่า แบตเตอรี่ก็สามารถใช้งานได้ยาวนาน ทั้งยังมีการ์ดจอให้พอเล่นเกมได้นิดๆหน่อยๆอีกด้วย เรียกได้ว่า Lenovo IdeaPad U400 เครื่องนี้เหมาะแก่การใช้เป็นเครื่องทำงานเป็นอย่างยิ่ง
ตัวเครื่องของ Lenovo IdeaPad U400 นี้มีรูปร่างและวัสดุที่ใช้ที่เหมือนกับ Lenovo IdeaPad U300 ที่เป็น ultrabook ทุกประการ แต่จุดที่ต่างอย่างเห็นได้ชัดก็คือขนาดจอที่ใหญ่กว่า ซึ่งส่งผลให้มีน้ำหนักมากกว่า โดยมีน้ำหนักอยู่ที่ราวๆ 1.98 Kg หนักกว่า U300 และ U300s ที่มีน้ำหนักที่ 1.58 Kg และ 1.34 Kg ตามลำดับ ส่วนความหนาของเครื่องก็พบว่าหนากว่า ultrabook ด้วยเช่นกัน นั่นคือ 22.6 mm แต่ทั้งนี้ก็ถือว่าบางกว่า notebook ทั่วไปอยู่นิดนึง ตัวเรื่องของรูปร่างของเครื่องถูกออกแบบมาให้มีความราบเรียบเสมอเท่ากันหมดดูคล้ายหนังสือ วัสดุที่ใช้จะเป็นอะลูมิเนียมสีเทาขัดทราย ซึ่งช่วยระบายความร้อนออกมาจากในเครื่องได้ดี ส่วนฝาหลังอาจจะเป็นรอยเนื่องจากการขีดข่วนง่ายซักนิด รวมไปถึงรอยนิ้วมือที่อาจปรากฏให้เห็นได้ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความรู้สึกที่ได้จากการสัมผัสต้องบอกได้ว่าดีทีเดียว
ขอบของจอก็มีแถบยางโดยรอบ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ต่างกับ notebook ทั่วไปแบรนด์อื่นๆที่มักมียางมาให้เป็นจุดๆเท่านั้น แต่นี่ให้มาเป็นเส้นยาวรอบจอเลยทีเดียว ประโยชน์ของมันก็คือช่วยซับแรงกระแทกที่กดลงมาบนฝา อีกทั้งช่วยป้องกันมิให้จอไปสัมผัสกับปุ่ม keyboard โดยตรงอีกด้วย อีกทั้งทำให้เวลาพับจอลงมาขอบทุกด้านจะเรียบเสมอเท่ากันหมดดูสวยงาม
ส่วนของ keyboard แน่นอนว่าต้องมาแบบ chiclet ตัวปุ่มนั้นมีรูปร่างเช่นเดียวกับใน notebook หลายๆรุ่นของ Lenovo ความห่างของปุ่มกำลังพอดีๆ ความเด้งของปุ่มก็เหนือกว่าเครื่องอื่นๆที่ใช้ chiclet พอสมควร ทั้งนี้ปุ่มไม่มีไฟ Backlit นะครับ
ต่อมาก็ดูกันที่ touchpad ซึ่งมีดีไซน์เหมือนกับใน U300 นั่นคือเป็นแผ่นชิ้นเดียววางลึกลงไปจากตัวเครื่อง ตัวปุ่มคลิกซ้าย/ขวาก็อยู่บนแผ่นเดียวกันด้วย และความที่มันไม่มีปุ่มแยกออกไป อาจจะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้งานเล็กน้อยถ้ายังไม่ชิน
ปุ่มเปิด/ปิดเครื่องมีลักษณะกลมเงางามอยู่ที่มุมบนซ้ายของเครื่อง โดยปุ่มนั้นจะฝังอยู่ในตัวทำให้ไม่มีส่วนนูนออกมา ส่วนไฟแสดงสถานะการทำงานต่างๆของเครื่องนั้นถูกย้ายไปอยู่ทางสันด้านหน้าของเครื่อง แต่ไม่ได้มีลักษณะเป็นดวงไฟกลมๆเหมือนเครื่องทั่วไป แต่จะแสดงขึ้นมาเป็นรูปที่สร้างขึ้นมาจากจุดที่ทำตำแหน่งไว้ เหมือนกับใน Lenovo IdeaPad U300 ที่เป็น ultrabook ช่วยเพิ่มความเก๋ไก๋และดูทันสมัยขึ้นอีกด้วย
ด้านล่างของเครื่องเป็นฝาชิ้นเดียวกันทั้งหมด เหมือนกับในตัวของ U300 ที่เป็น ultrabook ทำให้การอัพเกรดเครื่องเช่นเพิ่มแรมหรือ HDD ต้องเปิด keyboard ขึ้นมา ดังนั้นใครกะจะอัพเกรดเครื่องภายหลังก็อาจทำได้ลำบากกว่าในเครื่องรุ่นปกติเล็กน้อย ข้างใต้มีการสกรีนโลโก้ของทั้ง Intel และ Windows 7 มาด้วย ก็แสดงว่ามันต้องมี Windows 7 แท้มาให้ด้วยอย่างแน่นอน ส่วนยางรองมุมทั้ง 4 มุมนั้นก็หนาแน่นใช้ได้เลยทีเดียว
ส่วนทางด้านสันเครื่องทั้งด้านหน้าและด้านหลังก็ไม่ได้มีพอร์ตเชื่อมต่ออันใดทั้งสิ้น จะมีก็แต่ด้านหน้าที่มุมซ้ายจะมีแถบแสดงสถานะการทำงานของเครื่องก็เท่านั้น ส่วนด้านข้างเริ่มจากด้านขวาของเครื่อง (รูปที่ 3) ก็จะมีช่องเสียบหูฟังและไมค์รวมมาเป็นช่องเดียวกัน, USB 2.0 จำนวน 2 พอร์ต, HDMI, DVD Writer แบบ slot-loading ปิดท้ายด้วยช่องเสียบสาย adapter ที่อยู่มุมสุดของเครื่อง
ฝั่งซ้ายของเครื่อง (รูปที่ 4) ริมซ้ายสุดเป็นปุ่ม Recovery ที่ตามปกติจะอยู่เหนือ keyboard แต่คราวนี้เปลี่ยนมาอยู่ด้านข้างแทน ถัดมาก็ช่องระบายอากาศ, LAN และ USB 3.0 มาอีก 1 พอร์ตด้วยกัน
ก็ต้องขอตัดจบพรีวิว Lenovo IdeaPad U400 เครื่องนี้ไปก่อนนะครับ ส่วนในเรื่องของประสบการณ์การใช้งานที่ละเอียดกว่านี้ รวมไปถึงผลเทสจากโปรแกรมต่างๆ เอาไว้ให้ Notebookspec เราได้เครื่องมารีวิวเมื่อไร เราจัดเต็มแน่นอน ถือซะว่าบทความนี้เป็นพรีวิวเรียกน้ำย่อยไปก่อนแล้วกันนะครับ รับรองว่าไม่นานนี้ได้เจอตัวจริงแน่นอน !!!