ปลายปีนี้มีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแท็บเล็ตชิ้นหนี่งที่ได้รับการจับตามองมากเป็นพิเศษ นั่นคือ ASUS Eee Pad Transformer Prime เนื่องด้วยมันมาพร้อมกับชิปประมวลผลรุ่นล่าสุดอย่าง NVIDIA Tegra 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ NVIDIA เคยกล่าวไว้ว่ามันมีประสิทธิภาพสูงกว่าชิปรุ่นเก่ามากมายหลายเท่า อีกทั้งยังเป็นชิปประมวลผลในกลุ่ม mobile รุ่นแรกที่มีคอร์ในการประมวลผลถึง 4 คอร์ (รายละเอียดเพิ่มเติม) ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของปีนี้ไปอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นทาง Notebookspec เราจึงหยิบรีวิวจากต่างประเทศ (Anandtech) มาเรียบเรียงและหยิบเฉพาะส่วนที่สำคัญมาให้แฟนๆทุกท่านได้อ่านกันครับ เราไปเริ่มกันเลยดีกว่า
เริ่มเปิดมาด้วยการเทียบสเปกกับแท็บเล็ตตัวอื่นๆในตลาดก่อนเลย ไล่จากความบางที่เทียบแล้วบางที่สุดในบรรดาทั้ง 4 รุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันบางกว่า-เบากว่า iPad 2 อยู่พอประมาณ ส่วนจอก็มาในระดับ 10.1 นิ้ว ความละเอียด 1280 x 800 ที่ถือว่าเป็นขนาดสามัญของแท็บเล็ตในสมัยนี้ไปแล้ว หน่วยความจำภายในตัวก็เริ่มต้นรุ่นเล็กสุดที่ 32 GB ด้วยกัน แต่มาในราคาไล่ๆกันกับ iPad 2 และ Samsung Galaxy Tab 10.1 ทำให้ ASUS Eee Pad Transformer Prime เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ นอกนั้นก็เป็นจุดที่เราพูดถึงไปแล้ว นั่นคือชิปประมวลผลตัวแรงอย่าง NVIDIA Tegra 3 ที่มาพร้อมความเร็ว 1.3 GHz ซึ่งความเร็วนี้ยังเป็นแค่ความเร็วต่ำสุดนะครับ ดังนั้นเราน่าจะได้เห็นเครื่องที่มีความเร็วสูงกว่านี้ในอนาคตแน่ๆ แต่น่าเสียดายที่ระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งมาเป็น Android เวอร์ชัน 3.2 (Honeycomb) น่าจะให้มาเป็น Android 4.0 (Ice Cream Sandwich) ซะเลย รับรองว่าได้ใจไปอีกเยอะ แต่ไม่ต้องห่วงในเรื่องนี้ เพราะทาง ASUS รับรองแล้วว่าจะมีการอัพเดตให้ในอนาคตแน่ๆ ไม่นานเกินรอ
ตัวเครื่องของ ASUS Eee Pad Transformer Prime นั้นทำมาจากวัสดุสองประเภทคืออะลูมิเนียมที่ใช้เป็นบอดี้หลัก และกระจกซึ่งทำเป็นจออย่างที่เราทราบๆกัน การดีไซน์โดยรวมนั้นดูคล้ายคลึงกับ ultrabook ของ ASUS เองอย่าง ASUS Zenbook มาก ซึ่งคาดว่าน่าจะออกแบบในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ทางผู้รีวิวให้ความเห็นว่าจอของ ASUS Eee Pad Transformer Prime นั้นดีที่สุดในหมู่จอของแท็บเล็ตเครื่องอื่นๆเลยทีเดียว แม้แต่จะเทียบกับ iPad 2 ก็ตาม ส่วนปุ่มต่างๆของเครื่องก็จะมีกระจายอยู่ เช่น ปุ่มเปิด/ปิดและล็อกหน้าจอจะอยู่ที่มุมบนซ้ายของเครื่องในแนวนอน ส่วนปุ่มเพิ่ม-ลดเสียงอยู่ทางฝั่งซ้ายของเครื่องใกล้ๆกับปุ่มเปิด/ปิดนั่นเอง ซึ่งใกล้ๆกับปุ่มเพิ่ม-ลดเสียงนั้นจะมีช่อง micro HDMI และช่องเสียบ micro SD อยู่ด้วย และถ้าพูดถึงบรรดาปุ่มที่ใช้ในการควบคุมการทำงานอย่างปุ่ม back, home และ menu นั้น จะเป็นปุ่มแบบสัมผัสบนจอทัชสกรีนครับ ทำให้บนฝั่งจอของเครื่องจะไม่มีปุ่มใดๆ มีที่สะดุดเล็กน้อยก็คือกล้องถ่ายรูปด้านหน้าเท่านั้น
ฝาหลังแน่นอนว่าต้องทำมาจากอะลูมิเนียมที่มีการขัดลายเหมือนกับใน Zenbook ทำให้ดูหรูหรามากทีเดียว ซึ่งด้านหลังนี้มีส่วนที่สำคัญอย่างลำโพงอยู่ด้วย โดยจะอยู่ทางด้านล่างริมสองฝั่งซ้ายขวา ใกล้ๆกับฝั่งขวายังมีช่องเสียบหูฟังขนาด 1/8? (3.17 mm) ซึ่งเสียงที่ได้จากลำโพงนั้นจัดได้ว่าดีในระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับแท็บเล็ตตัวอื่นๆ แต่ถ้าใช้งานในที่ที่มีเสียงรบกวนมากอาจจะทำให้ไม่ได้อรรถรสเต็มที่นัก
ส่วนล่างของตัวเครื่องจะมีช่องสำหรับเชื่อมต่อกับ docking อยู่ ถ้าใครห่วงว่าเวลาต่อกับ docking แล้วมันหลุดง่ายหรือเปล่า เรื่องนี้ไม่ต้องห่วงเลยครับ เพราะในกลไกการล็อกตัวเครื่องสองชั้นนั้นแข็งแรงดีทีเดียว? ส่วนใครที่สนใจจะเชื่อมต่อกับ docking นั้น จะต้องซื้อเพิ่มนะครับ ราคาในต่างประเทศอยู่ที่ $149 (ประมาณ 4,700 บาท) ด้วยกัน
โดยตัว docking นั้นหลักๆเลยก็จะมีคีย์บอร์ดและทัชแพดที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน ทำให้มันกลายเป็นกึ่งๆ ultrabook เลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังมีช่อง SD card reader และพอร์ต USB มาให้อีก 1 ช่อง และยังไม่หมดแค่นั้น !! เพราะมันยังมีแบตเตอรี่ความจุ 22Wh มาในตัวอีก ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นแบตให้เวลาเชื่อมต่อกับแท่นแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมันยังสามารถทำหน้าที่เป็นตัวชาร์จไฟให้กับตัว ASUS Eee Pad Transformer Prime ได้อีกต่างหาก เท่ากับว่าเรามีแบตเสริมอีกก้อนให้เราได้อุ่นใจในระหว่างการใช้งานอีกด้วย
ส่วน soft keyboard ในเครื่องก็มีขนาดของปุ่มกำลังดี กดง่ายทีเดียว
จับเทียบกันระหว่าง ASUS Eee Pad Transformer Prime (ซ้าย) กับ ASUS Eee Pad Transformer รุ่นเก่า (ขวา) โดยจุดที่ต่างกันชัดเจนก็อย่างเช่นสีของตัวเครื่อง อย่างฝาหลังที่รุ่นใหม่ดูจะไฮโซกว่าพอตัว, กล้องที่ในรุ่นใหม่จะมีแฟลช LED มาช่วยในการถ่ายรูปในที่ที่มีแสงน้อยอีก และเรื่องของความบางของเครื่องที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อเปรียบมวยในด้านของจอภาพ ก็จะเห็นความต่างที่ค่อนข้างชัดเจนระหว่างจอ IPS ใน Transformer รุ่นเก่า (ซ้าย)? กับ ASUS Eee Pad Transformer Prime (ขวา) ที่ใช้จอ Super IPS+ ซึ่งมีความสว่าง และความคมชัดของภาพและสีที่สูงกว่าจอแบบเก่ามากพอสมควร
เมื่อเทียบกับ iPad 2 ก็ให้ผลออกมาเช่นเดียวกัน ทั้งนี้จากในการทดสอบก็พบว่าทั้งในด้านของความสว่างของสีขาว, ความมืดของสีดำและค่าการตัดกันของสี (Contrast) ก็พบว่า ASUS Eee Pad Transformer Prime สามารถทำได้ดีในทั้ง 3 การทดสอบ เหนือกว่าแท็บเล็ตหลายๆรุ่นในตลาดพอสมควรเลย มุมมองของจอก็กว้างใช้ได้ ส่วนเรื่องคราบรอยนิ้วมือก็ยังคงมีอยู่บ้าง แต่น้อยกว่ารุ่นเก่าลงไปมาก อีกทั้งคราวนี้ ASUS แถมผ้า micro fiber มาไว้สำหรับเช็ดจออีกด้วย
ต่อมามาดูภาพที่ได้จากการถ่ายรูปด้วยกล้องหลังกันบ้าง เริ่มที่ภาพแรกจาก Eee Pad Transformer รุ่นเก่า
และตามมาด้วยภาพจาก ASUS Eee Pad Transformer Prime ครับ
จะเห็นความแตกต่างของโทนสีอย่างชัดเจนทีเดียว รวมไปถึงน้ำหนักของแสงที่ Prime จะทำได้ดีกว่า ภาพดูมีมิติมากกว่าเก่ามาก ใครที่ชอบถ่ายรูปน่าจะสมใจเลย
อีกชุดหนึ่ง เริ่มด้วย Transformer รุ่นเก่าก่อนเช่นเคย
ส่วนภาพที่สองก็ตามมาด้วยภาพจาก Prime ครับ ต่างกันชัดเจนทีเดียว