อาชญากรรมไซเบอร์และการฉ้อโกงทางออนไลน์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมทั่วโลกมานาน ส่งผลให้ธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากการใช้ชีวิตผ่านโลกดิจิทัลมากขึ้น ข้อมูลจากองค์กร Identity Theft Resource Center (ITRC) ระบุว่าครึ่งแรกของปี 2567 มีการละเมิดข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานออนไลน์เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต หรือ Phishing (ฟิชชิง) ถือเป็นวิธีพื้นฐานที่สุดของการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ซึ่งในแต่ละวันมีอีเมล Phishing ประมาณ 3.4 พันล้านฉบับถูกส่งออกไปยังผู้รับสาร
ในทุก ๆ วันเหล่าอาชญากรออนไลน์จะตั้งเป้าโจมตีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยพยายามเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินด้วยวิธีต่าง ๆ ที่ (ดูเหมือนจะ) น่าเชื่อถือและเชี่ยวชาญซึ่งทำให้ผู้ใช้งานจำเป็นต้องระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นเพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อของกลเม็ดเหล่านี้ อย่างไรก็ตามเพื่อให้ทุกคนสามารถป้องกันตัวเองจากภัยดิจิทัล Booking.com จึงแชร์ทริคง่าย ๆ เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกคน ดังนี้
ข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นสิ่งอ่อนไหว
หากต้องแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงิน ผู้ใช้งานควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ากำลังใช้เว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคคนอื่น ๆ โดยการมองหาตัวบ่งชี้ (Indicators) ที่เชื่อถือได้ เช่น สัญลักษณ์แม่กุญแจ (Padlock Symbol) บนแถบที่อยู่ของเบราว์เซอร์ซึ่งเป็นตัวระบุว่าเว็บไซต์มีเทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูลส่วนตัวที่ปลอดภัย (Secure Sockets Layer: SSL) หรือค้นหาเว็บไซต์ผ่านกูเกิลเพื่อตรวจสอบความผิดปกติ และปฏิบัติตามคำเตือนของเบราว์เซอร์หากเว็บไซต์นั้นเป็นอันตราย
คงความสงสัยและตั้งคำถามอยู่เสมอ
อาชญากรไซเบอร์มักใช้ประโยชน์จากความไว้วางใจของเหยื่อ ดังนั้นเมื่อมีคำขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ผู้ใช้งานควรดำเนินการด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันการหลอกลวงที่อาจเกิดขึ้น อาชญากรเหล่านั้นอาจแอบอ้างว่ามาจากองค์กรหรือบุคคลที่เชื่อถือได้ผ่านเทคนิคต่าง ๆ เช่น วิศวกรรมสังคม (Social Engineering) หรือ สถานการณ์ที่มีการหลอกลวงให้ผู้ใช้เว็บทำสิ่งที่ไม่ปลอดภัยทางออนไลน์คือการหลอกโน้มน้าวใจให้เหยื่อหลงเชื่อ เพื่อเข้าถึงข้อมูลหรือบัญชีของเป้าหมายผ่านวิธีการทางจิตวิทยาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหมายรวมถึงการฟิชชิง (Phishing) ที่ใช้กลอุบายแตกต่างกันตามสถานการณ์ของเหยื่อ เพื่อพยายามหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หากเกิดกรณีเช่นนี้ ผู้ใช้งานควรติดต่อองค์กรหรือบุคคลที่ติดต่อเข้ามาผ่านช่องทางที่เป็นทางการเพื่อความปลอดภัย อีกทั้งควรสงสัยและตั้งคำถามกับอีเมลที่มาพร้อมกับลิงก์หรือไฟล์แนบที่มีคำขอให้ผู้รับลงชื่อเข้าใช้ (Log in) และใส่ข้อมูลส่วนตัวว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
รู้ทันสัญญาณอันตราย
ผู้ใช้งานควรทําความคุ้นเคยกับกลลวงบางอย่างที่อาชญากรไซเบอร์นิยมใช้ โดยมีวิธีสังเกตง่าย ๆ เช่น การส่งอีเมล ข้อความ และโทรศัพท์เข้ามาโดยใช้คำพูดที่เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการโอนเงิน พร้อมกับข่มขู่หากไม่มีการตอบกลับจากผู้ใช้งานว่าอาจส่งผลทางการเงินหรือเกิดการยกเลิกการเดินทาง ข้อสังเกตอีกหนึ่งข้อยังรวมไปถึงการสะกดคำหรือใช้ไวยากรณ์ที่ไม่ถูกต้อง และการใช้ภาษาหลาย ๆ ภาษาในอีเมลเดียวกัน เป็นต้น
ปกป้องเงินให้ปลอดภัย
ผู้ใช้งานควรตรวจสอบนโยบายของที่พัก รวมถึงนโยบายการชําระเงิน ค่ามัดจําความเสียหายและค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมก่อนทําการจองอย่างละเอียด หากได้รับคําขอให้ชําระเงินอย่างเร่งด่วน เช่น จำเป็นต้องโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อป้องกันไม่ให้การจองถูกยกเลิก หรือที่พักยืนยันที่จะสื่อสารและให้ชำระเงินบนแพลตฟอร์มของบุคคลที่สาม Booking.com แนะนำว่าอย่าทำธุรกรรมและควรติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าที่เกี่ยวข้องเพื่อขอคำแนะนำ ทั้งนี้การทําธุรกรรมการเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการชําระเงินหรือการเปลี่ยนแปลงการจอง จะต้องไม่ชําระเงินด้วยบัตรของขวัญหรือขอรายละเอียดบัตรเครดิตผ่านทางโทรศัพท์ ข้อความ และอีเมล
##