Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

เจาะจุดเด่น AMD Ryzen 8000 Series แต่ละซีรีส์ย่อยในโน้ตบุ๊ก

ก็เปิดตัวและวางขายมาได้ซักพักหนึ่งแล้ว สำหรับ CPU AMD Ryzen 8000 Series ที่ออกแบบมาเพื่อโน้ตบุ๊กและอุปกรณ์พกพาที่ต้องการทั้งเรื่องประสิทธิภาพ และการจัดการพลังงานที่ดี เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับพลังในการทำงานที่ยอดเยี่ยมควบคู่กับการใช้แบตเตอรี่ได้ยาวนาน แต่เวลาจะเลือกซื้อโน้ตบุ๊ก AMD เชื่อว่าบางท่านก็คงเกิดข้อสงสัยว่าจะเลือก Ryzen รุ่นไหนดี ในเมื่อมีทั้ง Ryzen 3 Ryzen 5 Ryzen 7 ไปจนถึง Ryzen 9 ในบทความนี้เราจะมาดูจุดเด่นของแต่ละโมเดล รวมถึงจุดเด่นที่มีร่วมกัน เพื่อจะได้เลือก CPU ให้ตรงกับงานที่สุด

AMD Ryzen 8000

Advertisement

เริ่มแรกเราจะมาดูจุดเด่นร่วมของ AMD Ryzen 8000 สำหรับโน้ตบุ๊กกันก่อนว่ามีอะไรที่แทบทุกโมเดลย่อยจะได้ใช้กันบ้าง

1) สถาปัตยกรรม Zen 4

CPU ในตระกูล AMD Ryzen 8000 series สำหรับโน้ตบุ๊กทุกรุ่นจะมาพร้อมกับคอร์ที่ใช้สถาปัตยกรรม Zen 4 โค้ดเนมว่า Hawk Point เป็นหลัก ต่างจากในซีรีส์ 7000 ที่ยังมี Zen 2, 3 และ 3+ อยู่ ซึ่งจุดเด่นของ Zen 4 เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้ามีดังนี้

  • ระดับสถาปัตยกรรมเฉพาะส่วนของคอร์ที่เล็กลงมาเหลือ 4nm แบบเต็มตัวทุกรุ่น ทำให้ภาพรวมในแง่ของประสิทธิภาพที่ได้ต่อพลังงาน การจัดการความร้อนทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ได้ CPU ที่ทำงานได้ดีขึ้น แต่ใช้ไฟน้อยลง ช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ได้
  • มีการเพิ่มจำนวน IPC (อัตราการประมวลผลคำสั่งต่อสัญญาณนาฬิกา) เมื่อเทียบกับ Zen 3 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงกว่าเดิม
  • เพิ่มจำนวนแคช L2 ต่อคอร์เป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับ Zen 3 ทำให้แต่ละคอร์จะมีแคช L2 ขนาด 1 MB (จากเดิม 512 KB) ซึ่งส่งผลถึงความเร็วในการประมวลผลของ CPU เพราะจะสามารถทำงานได้ต่อเนื่องกว่า ไม่ต้องรอโหลดข้อมูล/คำสั่งจากแรมบ่อย ๆ
  • ปรับปรุงกระบวนการทำงานภายใน เช่น การคาดเดาข้อมูลที่จะใช้ในลำดับถัดไป (branch prediction) การโหลดและจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม

จะเห็นว่าสถาปัตยกรรมคอร์แบบ Zen 4 จะเป็นรุ่นที่ใช้เทคโนโลยีใหม่กว่าเดิม และเป็นมาตรฐานหลักของแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันที่จะอยู่ไปได้อีกหลายปี ดังนั้นถ้าเลือกซื้อโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป AMD สถาปัตยกรรม Zen 4 ก็น่าจะทำให้สามารถใช้งานเครื่องได้แบบลื่น ๆ ได้นานตามที่ต้องการเลย

Kingston DDR5 19

 

2) รองรับ DDR5 และ PCIe 4.0 เป็นพื้นฐานในทุกรุ่น

ในยุคของ AMD Ryzen 7000 series จะพบว่ายังมีความสับสนอยู่บ้าง เพราะ CPU บางรุ่นก็จับคู่กับแรม DDR4 เท่านั้น บางรุ่นก็ใช้กับแรม DDR5 ที่เป็นมาตรฐานล่าสุด ซึ่งสาเหตุหลักก็เนื่องมาจากสถาปัตยกรรมคอร์ที่กล่าวถึงไปในข้างต้นนั่นเอง แต่มาใน AMD Ryzen 8000 series ต้องบอกว่าปัญหานี้ได้หมดไปแล้ว เพราะ CPU ทุกรุ่นที่ออกมาในขณะนี้จะเป็น Zen 4 ที่รองรับแรม DDR5 เป็นหลัก และการเชื่อมต่อกับโปรโตคอล PCIe 4.0 เป็นพื้นฐานทั้งหมด

ข้อดีของการใช้แรม DDR5 ที่เห็นได้ชัดคือความเร็วในการทำงานที่สูงขึ้นกว่าแรม DDR4 แทบจะเป็นเท่าตัว บวกกับการใช้ไฟที่ต่ำกว่า ส่งผลให้ระบบสามารถเข้าถึงและบันทึกข้อมูลลงในแรมได้เร็วมาก โดยที่ใช้พลังงานได้คุ้มค่ายิ่งกว่าเดิม อีกจุดที่น่าจะเห็นมากขึ้นในอนาคตคือความจุแรมต่อแผงที่สูงขึ้น ทำให้เราน่าจะได้เห็นโน้ตบุ๊กที่ปริมาณแรมเยอะขึ้นกว่าในปัจจุบัน เชื่อว่าโน้ตบุ๊กแรม 16 GB น่าจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในอีกซักปีสองปีนี้ (ซักที)

ส่วน PCIe 4.0 ก็เป็นมาตรฐานที่อยู่ในท้องตลาดมาได้ซักระยะหนึ่งแล้ว แต่ใน CPU AMD ตระกูล Ryzen 8000 ได้ขยับมาใช้ PCIe 4.0 เป็นหลักในทุกรุ่นย่อยแบบเต็มตัว ช่วยลดความสับสนสำหรับผู้ที่ต้องการเลือกซื้อโน้ตบุ๊กโดยเน้นสเปคของจุดนี้ เช่นอาจจะนำไปใช้งานกับ eGPU หรือต่ออุปกรณ์เข้ากับพอร์ตเชื่อมต่อที่ทำงานผ่านโปรโตคอล PCIe โดยข้อดีที่ชัดเจนมากเมื่อเทียบกับรุ่นเก่าอย่าง PCIe 3.0 ก็คือความเร็วที่สูงขึ้นจากแบนด์วิธที่กว้างขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลให้สามารถรับส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ PCIe เช่น GPU กับ CPU/RAM/SSD ทำได้เร็วขึ้น และน่าจะเห็นผลได้ชัดในอนาคต ในตอนที่การ์ดจอมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

rdna3 graphic

3) กราฟิกในตัวที่ใช้สถาปัตยกรรม RDNA 3

หากพูดถึงกราฟิกการ์ดใน CPU หรือที่มักใช้คำย่อกันว่า iGPU ชื่อของ AMD ต้องถูกกล่าวถึงว่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านประสิทธิภาพของสายนี้แน่นอน โดยเฉพาะในยุคสถาปัตยกรรม RDNA ที่ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นใน CPU สำหรับคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป โน้ตบุ๊ก เครื่องเล่นเกมพกพา ไปจนถึงเครื่องเกมคอนโซลตัวแรงรุ่นล่าสุดอย่าง PlayStation 5 และ Xbox Series X|S ที่สามารถเล่นเกมบนจอเฟรมเรตสูงผ่านเทคโนโลยีเสริมต่าง ๆ รวมถึงยังได้ภาพที่มี ray tracing ได้โดยไม่ต้องใช้ชิป GPU ในแบบการ์ดจอแยกด้วย

สำหรับในกลุ่มของ CPU AMD Ryzen 8000 ที่ออกแบบมาเพื่อโน้ตบุ๊กในขณะนี้ ก็จะมาพร้อมกราฟิกแบบ iGPU ที่ใช้สถาปัตยกรรม RDNA 3 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดในทุกรุ่นย่อย โดยมีจุดเด่นกว่ารุ่นก่อนหน้าดังนี้

  • ปรับปรุงตัวช่วยการคำนวณ ray tracing ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มากสุดถึง 50%
  • เพิ่มความเร็วในการเข้าถึงแคชและติดต่อกันภายในชิปด้วย AMD Infinity Cache 2nd gen
  • เข้าถึงข้อมูลในแรมได้เร็วกว่าเดิม
  • ปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพต่อวัตต์ที่ดีขึ้น สูงสุดถึง 50%

ซึ่งจากในข้อสุดท้ายเราจะเห็นชัดสุดก็คือกับกลุ่มเครื่องเล่นเกมพกพา เช่น ASUS ROG Ally และ Lenovo Legion Go ที่ใช้ชิป AMD Ryzen Z1 series ซึ่งตัว iGPU ก็จะเป็น Radeon 780M ที่ในการใช้เล่นเกมจริงก็สามารถเล่นเกมระดับ AAA บนจอของเครื่องได้เป็นชั่วโมง จากการตั้งค่าที่เหมาะสม ส่วนใน CPU ตระกูล Ryzen 8000 ก็จะมีการวางสเปคของ iGPU ที่แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มตลาดอีกทีนึง

Screenshot 2024 05 20 at 2.18.37 PM

4) AMD Ryzen AI

ยุคนี้จะไม่เน้นเรื่อง AI คงเป็นไปไม่ได้ โดยองค์ประกอบที่จะทำให้ระบบ AI ทำงานได้ดี นอกเหนือจากโมเดล AI ที่ผ่านการฝึกฝน เรียนรู้มาเป็นอย่างดีแล้ว ตัวฮาร์ดแวร์เครื่องที่ใช้งานเอง หากมีส่วนที่เชี่ยวชาญในการประมวลผลลักษณะนี้โดยเฉพาะ ก็จะยิ่งช่วยให้ระบบ AI สามารถปลดปล่อยศักยภาพได้ดียิ่งขึ้น และไม่ไปลดทอนประสิทธิภาพการประมวลผลหลักของ CPU ที่ต้องมีไว้จัดการงานต่าง ๆ ที่ก็มีเยอะอยู่แล้วด้วย

ซึ่งในชิป AMD Ryzen 8000 series ก็จะมีการใส่ NPU สำหรับประมวลผลงานเชิง AI และ machine learning ต่าง ๆ โดยเฉพาะมาให้ในเกือบทุกรุ่นย่อย ที่เฉพาะตัว NPU ก็มีประสิทธิภาพการประมวลผลได้สูงสุด 16 TOPS (16 ล้านล้านคำสั่งต่อวินาที) และเมื่อรวมกับพลังของ CPU เองก็สามารถประมวลผลได้สูงสุดถึง 39 TOPS เลยทีเดียว ซึ่งพลังนี้จะเปิดให้นักพัฒนาระบบและแอปพลิเคชันสาย AI สามารถเรียกใช้ได้ เพื่อให้ระบบหรือแอปของตนสามารถทำงานบนเครื่องของผู้ใช้งานได้อย่างราบรื่น เร็วกว่าที่เคย โดยเฉพาะกับงานที่ต้องอาศัยพลังของ AI ในเครื่องเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น การตัดภาพพื้นหลังขณะวิดีโอคอล การช่วยตัดเสียงรบกวนขณะที่พูดใส่ไมโครโฟน รวมถึงระบบที่ช่วยจูนระดับประสิทธิภาพเครื่อง ปรับรอบพัดลมให้เหมาะสมกับการทำงานในขณะนั้นแบบอัตโนมัติ เป็นต้น และเราน่าจะได้เห็นการนำมาใช้งานด้านอื่นอีกมากในอนาคต อาทิกลุ่มของ generative AI

Screenshot 2024 05 19 at 2.53.49 PM

กลับมาที่ในชิป AMD Ryzen ตระกูล 8000 สำหรับโน้ตบุ๊ก ตัวของเทคโนโลยี AI จะใช้ชื่อเรียกว่า AMD Ryzen AI ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าสู่ยุค AI PC ได้แบบเต็มตัว อย่างในตอนนี้ก็จะมีตัวอย่างการใช้งานที่นำ AI มาช่วยงาน ได้แก่

  • ช่วยปรับเฟรมภาพขณะใช้กล้องเว็บแคม ให้ผู้พูดอยู่บริเวณกึ่งกลางเฟรมเสมอ แม้ผู้พูดจะเดินไปมาก็ตาม
  • ช่วยปรับให้ดวงตาผู้พูดมองมาที่กล้องตลอดเวลา แม้จริง ๆ แล้วจะมีการเหลือบมองไปทางอื่น ทำให้เสมือนว่ากำลังมองตาอีกฝ่ายอยู่เสมอ
  • ปรับภาพพื้นหลังขณะวิดีโอคอล โดยช่วยให้สามารถตัดพื้นหลังจริงออกได้เนียนตา และมีการเกลี่ยความเบลอให้ดูเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น

และเราน่าจะได้เห็นแอปพลิเคชันต่าง ๆ มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาทิการใช้แต่งภาพ ช่วยตัดต่อ ใส่ซับในวิดีโอ การเป็นตัวช่วยในการเขียนโค้ดโปรแกรม การใช้สร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ซึ่งถ้า CPU มี NPU สำหรับการคำนวณด้าน AI โดยเฉพาะอยู่ ก็จะได้ประโยชน์จากฟีเจอร์เหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ โดยแทบไม่กระทบกับการใช้งานทั่วไปเลย ดังนั้นถ้าหากต้องการซื้อโน้ตบุ๊กเพื่อทำงานเหล่านี้ การมองหาโน้ตบุ๊กที่ใช้ CPU AMD Ryzen 8000 ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี

ทั้ง 4 ข้อนี้ก็คือจุดเด่นหลักที่ CPU ในตระกูล Ryzen 8000 มีให้ใช้งานเกือบทุกรุ่นย่อย คราวนี้เรามาดูกันครับว่า Ryzen 3, 5, 7 และ 9 แต่ละโมเดลมีจุดเด่นอย่างไร เหมาะกับงานแบบไหนบ้าง

Screenshot 2024 05 20 at 2.20.13 PM

AMD Ryzen 3

ในตอนนี้จะมีเพียงแค่รุ่นเดียวที่มีเปิดตัวออกมา นั่นคือ AMD Ryzen 3 8440U ที่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีโน้ตบุ๊กรุ่นไหนที่ขายในไทยที่ใช้ CPU รุ่นนี้เลยก็ตาม แต่ก็น่าติดตามว่าจะเข้ามาขายเมื่อไหร่ เพราะถ้าเข้ามาจะกลายเป็นโน้ตบุ๊ก AMD Ryzen 3 รุ่นแรกที่ใช้คอร์ตระกูล Zen 4 ในไทยทันที โดยจุดเด่นที่น่าสนใจก็คือตัว CPU จะมี 4 คอร์ 8 เธรด โดยมีคอร์สองประเภทแบ่งเป็น คอร์ Zen 4 จำนวน 1 คอร์และแบบ Zen 4c จำนวน 3 คอร์ ซึ่งสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคอร์ Zen 4c ได้ที่นี่ หากให้สรุปสั้น ๆ ก็คือเป็นคอร์ที่มีความสามารถเหมือนกับ Zen 4 แทบทุกประการ แต่ประสิทธิภาพจะน้อยกว่ากันลงมานิดหน่อย จุดประสงค์เพื่อใช้ประมวลผลงานเบา ๆ และลดการใช้พลังงานของทั้ง CPU ลง

จุดเด่นที่น่าสนใจข้อต่อมาก็คือรองรับ และสนับสนุนเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ใหม่ ๆ หลายด้าน ได้แก่

  • รองรับแรม DDR5 และ LPDDR5X สูงสุด 256 GB
  • รองรับ PCIe 4.0
  • รองรับ USB 4, 3.2 Gen 2 (รวม 3.x ทั้งหมด) และ 2.0
  • มี codec สำหรับเข้าและถอดรหัสไฟล์มีเดียครบครัน อาทิ H.264, H.265 และ AV1

ส่วนพลังกราฟิกในตัวก็จะมาจาก AMD Radeon 740M สถาปัตยกรรม RDNA 3 ที่มี 4 compute unit (CU) รองรับ DirectX 12, DisplayPort 2.1 และ HDMI 2.1 ทำให้สามารถต่อภาพออกจอในปัจจุบันได้ทั้งภาพปกติและภาพ HDR ความละเอียดสูงสุดถึงระดับ 8K 60Hz ด้านของประสิทธิภาพด้านกราฟิกโดยรวมก็น่าจะอยู่ในระดับที่เล่นเกมกราฟิกไม่ซับซ้อนมากนักได้

เหมาะกับงานแบบไหนบ้าง?

AMD Ryzen 3 8000 series จะเหมาะกับการใช้งานพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ใช้เล่นเน็ต ดูคลิป ดูสตรีมมิ่ง ไปจนถึงใช้ทำงานเอกสารทั่วไป ใช้ประกอบการทำงานต่าง ๆ ก็ไม่มีปัญหา ส่วนในการเล่นเกมอาจจะใช้เล่นเกมที่กราฟิกไม่สูงมาก รวมถึงเกมที่อาจจะออกมาแล้วหลายปีหน่อย หรือถ้าใครเป็นสายเล่นเกมเก่าผ่านโปรแกรม emulator ต่าง ๆ CPU และ iGPU ตัวนี้ตอบโจทย์ได้สบายมาก

Screenshot 2024 05 20 at 2.21.03 PM

AMD Ryzen 5

ขยับมาที่ Ryzen 5 ที่เป็นซีรีส์ระดับกลางของฝั่ง AMD Ryzen กันบ้าง ในขณะนี้มีเปิดตัวออกมาด้วยกัน 4 รุ่นย่อย ได้แก่

AMD Ryzen 5 8540U

  • 6 คอร์ (2x Zen 4 + 4x Zen 4c) 12 เธรด
  • ความเร็ว base 3.2 GHz / max boost 4.9 GHz
  • TDP 28W / cTDP 15-30W
  • AMD Radeon 740M

AMD Ryzen 5 8640U (ยังไม่มีในโน้ตบุ๊กที่ขายในไทย)

  • 6 คอร์ 12 เธรด
  • ความเร็ว base 3.5 GHz / max boost 4.9 GHz
  • TDP 28W / cTDP 15-30W
  • AMD Radeon 760M
  • มี AMD Ryzen AI ประสิทธิภาพรวมสูงสุด 31 TOPS
  •  

AMD Ryzen 5 8640HS

  • 6 คอร์ 12 เธรด
  • ความเร็ว base 3.5 GHz / max boost 4.9 GHz
  • TDP 28W / cTDP 20-30W
  • มี Precision Boost Overdrive (PBO)
  • AMD Radeon 760M
  • มี AMD Ryzen AI ประสิทธิภาพรวมสูงสุด 31 TOPS

AMD Ryzen 5 8645HS

  • 6 คอร์ 12 เธรด
  • ความเร็ว base 4.3 GHz / max boost 5 GHz
  • TDP 45W / cTDP 35-54W
  • มี Precision Boost Overdrive (PBO)
  • AMD Radeon 760M
  • มี AMD Ryzen AI ประสิทธิภาพรวมสูงสุด 31 TOPS
  •  

Screenshot 2024 05 20 at 2.25.47 PM

จากทั้งสี่รุ่นด้านบน จะเห็นภาพค่อนข้างชัดว่าแต่ละรุ่นได้รับการออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้งานลักษณะใด อย่างตัวของ R5 8540U ก็จะเป็นรุ่นที่ขยับจาก R3 8440U ขึ้นมาในแง่ของจำนวนคอร์ที่เพิ่มประเภทละ 1 คอร์ ส่งผลให้จำนวนเธรดก็เพิ่มขึ้นตามด้วย ซึ่งจะเหมาะกับการใช้งานทั่วไปที่ต้องเปิดหลายโปรแกรมพร้อมกัน เช่น เปิดไฟล์เอกสารเพื่อทำงาน ในขณะเดียวกันก็เปิดเว็บเบราเซอร์เพื่อหาข้อมูล เปิดคลิป YouTube ทิ้งไว้ รวมถึงอาจจะมีเปิดแอปแชทและโปรแกรมเบื้องหลังอื่น ๆ ทำงานไปด้วยอีก กรณีที่มีคอร์เยอะขึ้นก็จะช่วยให้แต่ละโปรแกรมสามารถทำงานพร้อมกันได้ราบรื่น สลับโปรแกรมไปมาก็ไม่สะดุด แต่จะมีข้อสังเกตนิดนึงคือในชิปจะไม่มี NPU มาให้ใช้งาน AMD Ryzen AI นะ

กลุ่มต่อมาคือสองรุ่นกลางอย่าง R5 8640U และ R5 8640HS ที่ออกแบบมาเป็นรุ่นสำหรับโน้ตบุ๊กระดับกลาง ใช้งานทั่วไปได้ลื่น โดยในตอนนี้ในไทยจะมีเฉพาะตัวหลังเท่านั้นที่มีให้เลือกซื้อในโน้ตบุ๊กช่วงราคาเริ่มต้นราว 20,000 กว่าบาทอยู่บ้าง จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้โน้ตบุ๊กแบบไม่เสียบสายชาร์จ เช่นการพกเครื่องไปใช้นอกสถานที่ เพราะด้วยตัว CPU ที่มีค่า TDP ต่ำกว่าในอีกสองรุ่นด้านล่างนี้

และ Ryzen 5 รุ่นสุดท้ายของซีรีส์ 8000 ในขณะนี้ก็คือ R5 8645HS ที่เริ่มมีวางจำหน่ายในตลาดบ้างแล้ว ซึ่งช่วงราคาก็ค่อนข้างทับซ้อนกับโน้ตบุ๊กที่ใช้ R5 8640HS ซะด้วย แต่ตัวนี้จะได้ความเร็วที่สูงกว่า อันเนื่องมาจากตัว CPU ได้รับการออกแบบมาให้มีค่า TDP สูงกว่า จึงเหมาะกับการใช้งานหลากหลายประเภทมาก ตั้งแต่การใช้งานระดับเริ่มต้นไปจนถึงการใช้แต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอ เล่นเกมได้แบบสบาย ๆ ซึ่งถ้าต้องการเน้นด้านประสิทธิภาพ ตัวของ R5 8645HS เรียกว่าเป็นรุ่นสุดคุ้มได้เลย

เหมาะกับงานแบบไหนบ้าง?

AMD Ryzen 5 8000 series จะเป็น CPU กลุ่มที่เหมาะกับโน้ตบุ๊กที่ยืดหยุ่นในการใช้งานหลากหลายรูปแบบ ด้วยจำนวนคอร์ที่ให้มา 6 คอร์ 12 เธรด ซึ่งจัดว่าเพียงพอมาก ๆ สำหรับการใช้งานตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงการเล่นเกมระดับ AAA หรือใช้งานประมวลผลที่ค่อนข้างหนักในบางโอกาส ดังนั้นถ้าหากมีงบซื้อโน้ตบุ๊กราว 20,000 บาทขึ้นไป แนะนำว่าควรมองหารุ่นที่ใช้ AMD Ryzen 5 เป็นพื้นไว้ก่อน แล้วถ้ายิ่งเลือก Series 8000 ได้ยิ่งดี เพราะจะได้ความสามารถที่ดีขึ้น ประสิทธิภาพต่อวัตต์ก็สูงกว่ารุ่นก่อนหน้า รวมถึงยังมีเทคโนโลยี AMD Ryzen AI ที่น่าจะมีอนาคตอีกไกลด้วย

Screenshot 2024 05 20 at 2.26.54 PM

 

AMD Ryzen 7

ต่อมาที่ซีรีส์ AMD Ryzen 7 8000 จะมีออกมาด้วยกัน 3 รุ่น ทุกรุ่นมาพร้อมคอร์ Zen 4 จำนวน 8 คอร์เท่ากันทั้งหมด แต่จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน จุดที่น่าสนใจมีดังนี้

AMD Ryzen 7 8840U

  • ความเร็ว 3.3 GHz บูสท์ได้สูงสุด 5.1 GHz
  • TDP 28W / cTDP 15-30W
  • AMD Radeon 780M
  • มี AMD Ryzen AI ประสิทธิภาพรวมสูงสุด 38 TOPS

AMD Ryzen 7 8840HS

  • ความเร็ว 3.3 GHz บูสท์ได้สูงสุด 5.1 GHz
  • TDP 28W / cTDP 20-30W
  • มี Precision Boost Overdrive (PBO)
  • AMD Radeon 780M
  • มี AMD Ryzen AI ประสิทธิภาพรวมสูงสุด 38 TOPS

AMD Ryzen 7 8845HS

  • ความเร็ว 3.8 GHz บูสท์ได้สูงสุด 5.1 GHz
  • TDP 45W / cTDP 35-54W
  • มี Precision Boost Overdrive (PBO)
  • AMD Radeon 780M
  • มี AMD Ryzen AI ประสิทธิภาพรวมสูงสุด 38 TOPS

ภาพรวมของ AMD Ryzen 7 8000 ทั้งสามรุ่นก็จะคล้ายกับใน Ryzen 5 คือรุ่นเริ่มต้นสุดจะเป็นตัวที่ขยับขึ้นมาจากรุ่นเริ่มต้นของ R5 คือเปลี่ยนมาเป็นคอร์ Zen 4 ล้วน จำนวนคอร์เพิ่มขึ้นโดยที่มีช่วงค่า TDP เท่าเดิม และมีการปรับมาใช้กราฟิกในตัวเป็น AMD Radeon 780M ซึ่งเป็นรุ่นท็อปสำหรับสาย iGPU ใน APU จาก AMD ในขณะนี้ โดยจะมากับโน้ตบุ๊กที่ราคาเกือบ ๆ 30,000 บาท

Screenshot 2024 05 20 at 2.30.55 PM

ถัดมารุ่นกลางอย่าง R7 8840HS ก็จะมีการปรับภายในให้เป็นไปตามการวางซีรีส์ลงท้าย HS คือเน้นเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นจากการอนุญาตให้ CPU ปรับระดับได้ยืดหยุ่นกว่าจากค่า TDP ที่มีช่วงกว้างกว่า รวมถึงมีฟังก์ชัน Precision Boost Overdrive (PBO) ที่ระบบสามารถปรับระดับการใช้พลังงานให้ต่ำลง แต่ได้ประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีความร้อนออกมาน้อยลงตามไปด้วย จึงทำให้เป็น CPU ที่เหมาะกับการใช้งานหลากหลาย ครบเครื่องมาก ๆ รุ่นหนึ่งเลย มักจะถูกใส่มากับโน้ตบุ๊กสายครีเอเตอร์ เกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่ราคาตั้งแต่ 40,000 บาทขึ้นไป รวมถึงโน้ตบุ๊กที่เน้นความบางเบา แต่ได้ประสิทธิภาพสูง

แต่ถ้ายังต้องการความแรงขึ้นไปอีกระดับก็ต้องเป็น R7 8845HS ที่ปรับค่า base clock เป็น 3.8 GHz สูงขึ้นจาก R7 8840HS ราว 15% และแน่นอนว่ามากับการออกแบบชิปที่รองรับค่า TDP ที่สูงขึ้นเพื่อให้สามารถทำงานที่ความเร็วสูงกว่าได้ ตัวนี้จะเหมาะกับงานประมวลผลหนัก ๆ หรือใช้เล่นเกมพร้อมกับการสตรีมก็ยังไหว แต่อาจจะต้องปรับค่าบิตเรต ค่ากราฟิกที่ลดหลั่นลงมาหน่อย และที่แน่นอนคือทุกรุ่นมาพร้อมกับ AMD Ryzen AI ด้วย

เหมาะกับงานแบบไหนบ้าง?

AMD Ryzen 7 8000 series เป็น CPU ที่ออกแบบมาเพื่อเน้นประสิทธิภาพแบบเต็ม ๆ ทั้งด้วยความเร็วคล็อกที่สูง และจำนวนคอร์ที่เป็นคอร์ Zen 4 ถึง 8 คอร์เต็ม ๆ ร่วมกับพลังกราฟิกในตัวจาก AMD Radeon 780M ด้วย จึงเหมาะกับการใช้งานที่ต้องมีการประมวลผลหนัก ๆ เช่น การเรนเดอร์งาน การคำนวณสูตรที่ซับซ้อน การสตรีมคอนเทนต์ความละเอียดสูงระดับ 4K HDR ขึ้นไป รวมถึงการใช้งานที่ต้องอาศัยคอร์จำนวนมากแบ่งกันไปทำงาน อาทิ งาน virtualization ที่จำเป็นต้องแบ่งคอร์ออกไปให้แต่ละ environment เป็นต้น

ซึ่งนอกเหนือจากจะมีการจับคู่ AMD Ryzen 7 8000 กับชิปการ์ดจอแยกแล้ว ตอนนี้ก็เริ่มมีโน้ตบุ๊กที่ใช้ iGPU อย่างเดียวออกมาด้วย ส่งผลให้สามารถเน้นอัดสเปคส่วนอื่นเพื่อทดแทนการ์ดจอแยกได้อีก ทำให้ผู้ซื้อมีตัวเลือกมากขึ้น เช่นถ้าหากต้องการซื้อเกมมิ่งโน้ตบุ๊กแรง ๆ ก็เลือกรุ่นที่มีการ์ดจอแยกไป แต่ถ้าต้องการซื้อเครื่องมาใช้ทำงาน เน้นงานประมวลผลเป็นหลัก ก็เลือกรุ่นที่มีเฉพาะการ์ดจอของ CPU (ออนบอร์ด) แทนก็ได้ เพราะได้ความแรงของ CPU เท่า ๆ กัน แต่อาจจะได้สเปคส่วนอื่นที่ดีกว่า เช่นหน้าจอที่สวยกว่า หรือปรับรูปแบบจอได้หลากหลายกว่า เป็นต้น

Screenshot 2024 05 20 at 2.31.36 PM

AMD Ryzen 9

ปิดท้ายที่ AMD Ryzen 9 8000 สำหรับโน้ตบุ๊กที่ยังมีออกมาเพียงรุ่นเดียวคือ AMD Ryzen 9 8945HS มาพร้อมกับสเปคระดับท็อปสุดสำหรับรุ่นที่ลงท้ายด้วย HS ดังนี้

  • 8 คอร์ 16 เธรด
  • ความเร็ว 4 GHz บูสท์ได้สูงสุดเป็น 5.2 GHz
  • TDP 45W / cTDP 35-54W
  • มี PBO
  • มี AMD EXPO สำหรับช่วยโอเวอร์คล็อกแรม
  • มี Curve Optimizer Voltage Offsets ช่วยในการปรับลดไฟเลี้ยง เพื่อลดความร้อนลง
  • AMD Radeon 780M
  • มี AMD Ryzen AI ประสิทธิภาพรวมสูงสุด 39 TOPS

แม้ว่าจะมี 8 คอร์ 16 เธรดเหมือนกับ Ryzen 7 ก็ตาม แต่ R9 8945HS มาพร้อมกับความเร็วคล็อกที่สูงกว่า รวมถึงมีฟังก์ชันเสริมเกี่ยวกับการการปรับไฟ การโอเวอร์คล็อก การปรับจูนประสิทธิภาพ CPU มาให้ด้วย ทำให้เป็นชิปที่เหมาะกับการทำงานที่ต้องใช้ศักยภาพขั้นสูงสุดสำหรับสายโน้ตบุ๊ก AMD ในขณะนี้ โดยที่ยังสามารถควบคุมความร้อนได้ดี ทำให้สามารถใช้งานหนักติดต่อกันนาน ๆ ได้แบบไม่ต้องกังวล

ซึ่งสำหรับโน้ตบุ๊กที่มีขายในไทยที่ใช้ CPU AMD Ryzen 9 8945HS เกือบทั้งหมดก็จะออกแบบมาเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊ก โดยจับคู่มากับการ์ดจอแยกระดับกลางค่อนบน หน้าจอที่สีสันสวยงาม รีเฟรชเรตสูง เพื่อทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยม ควบคู่ไปกับความแรงของเครื่อง

เหมาะกับงานแบบไหนบ้าง?

AMD Ryzen 9 8000 series เป็น CPU ระดับท็อปสุดสำหรับสายเครื่องใช้งานทั่วไปของ AMD ทำให้ไม่ว่าจะงานไหนก็สามารถรับมือได้สบาย ไล่ตั้งแต่การใช้เล่นเกมปรับกราฟิกระดับสูง การเล่นเกมพร้อมกับสตรีมออนไลน์ การใช้สร้างสรรค์คอนเทนต์ ตัดต่อ งานออกแบบ ไปจนถึงใช้งานทั่วไปก็ทำได้ทั้งหมด ในขณะนี้ก็จะมีอยู่ในกลุ่มโน้ตบุ๊กราคาประมาณ 50,000 กลาง ๆ ขึ้นไป นอกจากนี้ยังมี AMD Ryzen AI อีก ซึ่งน่าจะเหมาะกับคนทำงานสายนี้มาก เพราะโปรแกรมสายมีเดียทั้งหลายก็มีการนำ AI เข้ามาใช้งานเพิ่มมากขึ้นในแทบจะทุกการอัปเดตเวอร์ชันครั้งใหญ่เลย

Screenshot 2024 05 20 at 2.36.26 PM

ปิดท้าย – AMD Ryzen 8000 Series สำหรับโน้ตบุ๊ก

ในตอนนี้ โน้ตบุ๊กที่ใช้ CPU AMD Ryzen 8000 Series ก็เริ่มมีทำตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ หากเป็น ณ ปัจจุบันก็จะเริ่มที่ Ryzen 5 เป็นหลัก ซึ่งเป็น CPU รุ่นที่กำลังเหมาะสมสำหรับการใช้งานทั่วไป เพราะสเปค ความสามารถนั้นครอบคลุมการใช้งานในยุคนี้ได้แบบสบาย ๆ ด้วยคอร์ในตระกูล Zen 4 จำนวน 6 คอร์ กราฟิกในตัวก็มีประสิทธิภาพในการใช้งานระดับนึง สามารถใช้เล่นเกมที่กราฟิกไม่สูงมากนักได้ ที่สำคัญคือรองรับฮาร์ดแวร์เทคโนโลยีใหม่ ๆ และยังรองรับเทคโนโลยี AMD Ryzen AI ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในอนาคตอีกด้วย

ส่วนถ้าต้องการประสิทธิภาพที่สูงขึ้น รวมถึงใช้ในการเล่นเกมกราฟิกสูงหน่อย แนะนำว่าควรเลือกเป็นโน้ตบุ๊กที่ใช้ AMD Ryzen 7 ในซีรีส์ 8000 เนื่องจากมีการพัฒนาประสิทธิภาพต่อวัตต์ให้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า กราฟิกในตัวก็แรงใช้ได้เลย

หรือถ้ามีงบซักราว ๆ 60,000 บาทแล้วอยากได้โน้ตบุ๊ก AMD ที่แรงแบบขั้นสุดก็สามารถขยับไปหาโน้ตบุ๊กที่ใช้ AMD Ryzen 9 8945HS ได้เลย เพราะเป็น CPU รุ่นที่มีการอัดเทคโนโลยีสำหรับช่วยปรับจูนระบบไฟ ทำให้ยังได้ประสิทธิภาพที่สูงอยู่ แต่มีการกินไฟและความร้อนน้อยลง เหมาะกับการใช้เล่นเกม+สตรีม ใช้งานประมวลผลหนัก ๆ แม้จะเป็นนอกสถานที่ก็ตาม

สำหรับข้อมูลสเปค CPU AMD Ryzen 8000 Series ของโน้ตบุ๊กแบบละเอียด สามารถคลิกเข้าไปดูได้ที่หน้าเว็บไซต์ของ AMD ได้เลย

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

รีวิว MSI

MSI Stealth A16 AI+ ครีเอเตอร์โน๊ตบุ๊คเล่นเกมได้ ดีไซน์เรียบหรูและแรงด้วยพลัง AMD Ryzen AI ทำได้ทุกงานเล็กใหญ่!! นอกจาก MSI Titan กับ MSI Raider สองพี่น้องตัวแรงขวัญใจเกมเมอร์แล้ว ฝั่งครีเอเตอร์หน้าตาเรียบหรูซ่อนความแรงก็มี MSI Stealth A16 AI+ ให้ครีเอเตอร์หาซื้อเอาไว้ทำงานกราฟิคตั้งแต่แต่งภาพและตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงก็ได้ ปั้นโมเดล...

Special Story

ถ้านับในช่วงหลัง ๆ มา ชิปกราฟิกแบบ iGPU ที่อยู่ใน CPU โน้ตบุ๊กของ AMD ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนทำให้มีประสิทธิภาพสูงถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะกับการใช้เล่นเกมที่ข้ามกำแพงจากในอดีตกราฟิกแบบ iGPU มักจะทำได้อย่างมากก็เป็นเกมออนไลน์ เกมเก่าที่มีอายุนานพอสมควรแล้ว กลายมาเป็นสามารถเล่นเกมระดับ AAA และเกมใหม่ล่าสุดได้ ซึ่งปัจจุบันก็เดินทางมาถึง AMD Radeon 800M series ที่มาพร้อมกับชิป AMD...

Special Story

ปีนี้นับเป็นปีที่ซีพียูโน้ตบุ๊กของ AMD มีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด และมีความน่าสนใจในด้านประสิทธิภาพที่สูงขึ้นโดยที่ยังคุมการใช้พลังงานและความร้อนได้ดี ทำให้เราได้เห็นการนำซีพียู AMD ไปใช้ทั้งในโน้ตบุ๊กทำงานทั่วไป เกมมิ่งโน้ตบุ๊กตั้งแต่สเปคระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับท็อป รวมถึงในกลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพาด้วย แต่ที่จะเด่นชัดสุดคงหนีไม่พ้นชิปรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีโค้ดเนมว่า AMD Strix Point หรือในชื่อที่ใช้จริงนั่นคือ AMD Ryzen AI 300 series นั่นเอง

Special Story

สำหรับการเล่นเกม แน่นอนว่าพลังประมวลผลกราฟิกจาก GPU คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงระดับประสิทธิภาพว่าจะสามารถเรนเดอร์ภาพออกมาได้สวย เฟรมเรตสูง ความหน่วงต่ำขนาดไหน ทำงานร่วมกับ CPU และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ในเครื่อง ซึ่งถ้าทั้งระบบสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้เหล่าผู้ผลิตเองก็มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพลังกราฟิก โดยที่ยังลดภาระของฮาร์ดแวร์ลงด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ AFMF 2 เทคโนโลยีล่าสุดจาก AMD นั่นเอง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก