MSI Thin 15 B12U ใหม่ทั้งชื่อและดีไซน์ สเปคและราคาเข้าถึงง่าย พกสะดวกเช่นเดิม!
ขึ้นชื่อว่าเป็น MSI Thin Series อย่าง MSI Thin 15 B12U แล้ว ก็ต้องคิดถึงโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งน้ำหนัก 1.86 กก. ซึ่งเป็นจุดขายประจำรุ่นมาตั้งแต่ก่อน ซึ่งน้ำหนักเพียงเท่านี้ตอบโจทย์ผู้ใช้หลากหลายแบบที่รู้ว่าโน๊ตบุ๊คบางเบามีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ แต่เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คทั่วไปก็หนักจนพกยากถ้าจะให้น้ำหนักเบาด้วยก็แพงเกินไปจนทำใจซื้อลำบากเช่นกัน
ด้วยความที่ MSI วางตำแหน่งให้ Thin 15 B12U เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คราคาเข้าถึงง่ายน้ำหนักเบาจึงเกาได้ตรงจุดคันในใจของผู้ใช้ที่ตั้งโจทย์นี้ไว้ แม้สเปคจะยังเป็น Intel 12th Generation และ 13th Generation แต่ก็จับคู่กับจีพียู NVIDIA GeForce RTX Series หลากหลายรุ่นตั้งแต่ RTX 2050 เพื่อผู้ใช้ทั่วไปเน้นใช้ทำงานแต่ยังเล่นเกมออนไลน์ได้บ้าง หรือขยับเป็น RTX 3050 แบบในรีวิวฉบับนี้ก็ยังแรงพอเล่นเกมชั้นนำได้ระดับหนึ่งไปจน RTX 4050 หากจะใช้เรนเดอร์กราฟิค 3D และตัดต่อวิดีโอได้ดียิ่งขึ้น ราคาก็ยังอยู่ในช่วง 30,000 บาทเท่านั้น ทำให้ใครที่คิดหาโน๊ตบุ๊คใหม่มาใช้ตัดสินใจได้ไม่ยาก
ข้อดีต่างๆ ก็ยังยกจาก MSI Thin รุ่นก่อนมาไม่ว่าจะ Matrix Display มีพอร์ต HDMI กับ USB-C ไว้ให้ต่อหน้าจอแยกได้ 2 จอพร้อมกัน, เชื่อมต่อ Wi-Fi 6E ได้แล้ว ยังหยิบยืมโทนสีฟ้าและปุ่ม WASD แบบใสจากพี่น้องร่วมค่ายอย่าง MSI Cyborg มาใช้เพิ่มความสวยงามถูกใจใครๆ แน่นอน นอกจากนี้ลำโพงยังรองรับ DTS Audio พร้อมติดตั้งซอฟท์แวร์มาให้ปรับจูน EQ ได้ตามชอบและยังเสริม MSI AI Engine เข้ามาช่วยเปลี่ยนโปรไฟล์โดยอัตโนมัติตามแต่ละโปรแกรมอีกด้วย จึงไม่จำเป็นต้องเปิด MSI Center มากดเปลี่ยนเองก็ได้ ปล่อยให้ Thin 15 B12U จัดการเองได้ทันที
NBS Verdicts
แม้ว่า MSI Thin 15 B12U จะยังคงใช้สเปคเหมือนรุ่นก่อน เป็นซีพียู Intel 12th Generation ก็จริง แต่พลังการประมวลผลก็ยังดีพอทำได้ทุกงานและเล่นได้ทุกเกมหรือจะเพิ่มเงินไป Intel 13th Generation ก็ได้ แต่ในฝั่งจีพียูก็มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นตั้งแต่รุ่นเล็กอย่าง GeForce RTX 2050 ไปจนรุ่นสูงสุดอย่าง GeForce RTX 4050 ได้ด้วยซ้ำ ถ้าจะซื้อมาใช้ก็พร้อมทำตั้งแต่งานเอกสาร, ตัดต่อแต่งภาพและวิดีโอไปจนเล่นเกมชั้นนำได้ระดับหนึ่งแถมราคายังไม่เกิน 30,000 บาท จึงประหยัดเงินในกระเป๋าเอาไว้อัปเกรดเพิ่มหน่วยความจำเข้าไปได้อีก
จุดแข็งอย่างน้ำหนัก 1.86 กก. ก็ยังคงได้ใจใครหลายๆ คน ถ้าเทียบแล้วก็ยังไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คทำงานหน้าจอ 15.6~16 นิ้วในปัจจุบัน ซึ่งตอนพกไปใช้งานจริงก็ไม่หนักมากแค่ใส่กระเป๋าเป้ไปก็พอ แต่ขอแนะนำให้เผื่อพื้นที่ในกระเป๋าไว้ให้ใส่อะแดปเตอร์ประจำรุ่นสักหน่อยจะได้ตัดกังวลเรื่องแบตเตอรี่ได้ กลับกันก็ยังหวังให้ MSI อัปเกรดพอร์ต USB-C 3.2 Gen1 DisplayPort เป็น Thunderbolt 4 หรือ USB 4 Type-C ก็ได้ เจ้าของเครื่องจะได้เปลี่ยนมาพกอะแดปเตอร์ GaN 100 วัตต์ แทนได้ ลดน้ำหนักไปได้อีกพอควร
แม้จะเป็น MSI Thin 15 B12U รุ่นประหยัดการ์ดจอ NVIDIA GeForce RTX 3050 ราคา 22,990 บาทก็จริงแต่ก็ยังใช้เล่นเกมชั้นนำได้ ขอแค่เพิ่ม RAM ไป 16GB DDR4 เพียงหกร้อยกว่าบาทก็ดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่เพราะ VRAM ของจีพียูมีเพียง 4GB จึงปรับกราฟิคได้ระดับ High เท่านั้น อาจจะเปิด NVIDIA DLSS Quality เสริมก็ยังได้ ให้ดีไม่ควรเปิดพวก Shadow, Water Quality หรือ Tessellation เกินจำเป็น แม้จะได้ภาพสวยขึ้นแต่ก็ทิ้งภาระให้การ์ดจอไปโดยปริยาย
ส่วนจุดน่าเสียดายคืออินเทอร์เฟสของฮาร์ดดิสก์ยังเป็น M.2 NVMe กับ 2.5″ SATA III SSD ไม่ใช่ NVMe คู่ตามสมัยนิยมก็ยังใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาและยังหาซื้อสะดวก แต่ถ้าปรับตามสมัยนิยมในรุ่นถัดไปก็จะดีกว่า นอกจากนี้ในฐานะรุ่นใหม่ก็อยากให้ทางบริษัทอัปเกรดพอร์ต USB-C จากรองรับแค่ DisplayPort ให้เป็น Full Function ให้ชาร์จไฟด้วยอะแดปเตอร์ GaN ได้จะดีมาก ช่วยลดน้ำหนักและปริมาณข้าวของในกระเป๋าลงไปได้ระดับหนึ่งด้วย
ข้อดีของ MSI Thin 15 B12U
- ดีไซน์ตัวเครื่องสวยเรียบง่ายไม่หวือหวา ได้ปุ่ม WASD แบบโปร่งใสสวยไม่เหมือนใคร
- ได้พอร์ต USB-C 3.2 Gen1 DisplayPort ต่อหน้าจอแยกพร้อม HDMI ได้รวม 2 หน้าจอ
- พอร์ต USB-A เป็น 3.2 Gen1 ทั้ง 3 ช่องแล้ว ต่อโอนไฟล์และอุปกรณ์เสริมรับส่งข้อมูลได้เร็ว
- เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วและเสถียรด้วย Wi-Fi 6E รองรับ Bluetooth 5.3
- เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คน้ำหนักเบาเพียง 1.86 กิโลกรัม พกพาง่ายไม่หนักเกินไป
- อัปเกรดเพิ่มความจุ RAM ได้สูงสุด 64GB DDR4 เพิ่มหน่วยความจำได้เยอะ
- ลำโพงรองรับ DTS Audio ได้เสียงมีมิติฟังเพลงและดูหนังได้อรรถรส
- มีโหมด MSI AI Engine ปรับโหมดการให้ตัวเครื่องได้โดยอัตโนมัติ
- ระบบระบายความร้อน Cooler Boost ระบายความร้อนได้ดี ใช้ทำงานหรือเล่นเกมก็ไม่ร้อนเกิน
- แยกช่อง Mic-in และ Headphone-out มาให้ จึงต่อหูฟังกับไมค์ได้ไม่แย่งพอร์ตกัน
- บรรทัด F1~F12 มี Function Hotkey เสริมเข้ามาให้ใช้งานมากกว่ารุ่นก่อนแล้ว
ข้อสังเกตของ MSI Thin 15 B12U
- RAM ติดเครื่องมีความจุ 8GB DDR4 แนะนำให้อัปเกรดเป็น 16GB ตั้งแต่ต้นดีกว่า
- ยังเป็นพอร์ต USB-C DisplayPort อยู่ ถ้าเป็น Full Function จะดีมาก
รีวิว MSI Thin 15 B12U
- Specification
- Hardware & Design
- Screen & Speaker
- Keyboard & Touchpad
- Connector, Thin & Weight
- Inside & Upgrade
- Performance & Software
- Battery & Heat & Noise
- User Experience
- Conclusion & Award
Specification
เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คน้ำหนักเบาราคาเป็นมิตรอย่าง MSI Thin 15 B12U รุ่นใหม่ประจำปี 2024 นี้ ถูกปรับแต่งดีไซน์ให้สวยงามเรียบร้อยกว่าเดิมและคงฟีเจอร์น่าใช้ไว้ให้ครบถ้วนและมีรุ่นย่อยให้เลือกถึง 7 รุ่น ตามงบประมาณและการใช้งาน แบ่งเป็น Intel 12th Generation และ 13th Generation ดังนี้
รุ่นและสเปค | MSI Thin 15 B12UCX-1428TH | MSI Thin 15 B12UC-1426TH (เครื่องรีวิว) | MSI Thin 15 B12VE-1424TH | MSI Thin 15 B12VE-1896TH |
CPU | Intel Core i5-12450H | Intel Core i5-12450H | Intel Core i5-12450H | Intel Core i7-12650H |
GPU | NVIDIA GeForce RTX 2050 | NVIDIA GeForce RTX 3050 | NVIDIA GeForce RTX 4050 | NVIDIA GeForce RTX 4050 |
SSD | M.2 NVMe SSD 512GB อัปเกรดเพิ่ม 2.5″ SATA III SSD*1 | M.2 NVMe SSD 512GB อัปเกรดเพิ่ม 2.5″ SATA III SSD*1 | M.2 NVMe SSD 512GB อัปเกรดเพิ่ม 2.5″ SATA III SSD*1 | M.2 NVMe SSD 512GB อัปเกรดเพิ่ม 2.5″ SATA III SSD*1 |
RAM | 8GB DDR4 บัส 3200MHz อัปเกรดได้ถึง 64GB DDR4 | 8GB DDR4 บัส 3200MHz อัปเกรดได้ถึง 64GB DDR4 | 16GB DDR4 บัส 3200MHz อัปเกรดได้ถึง 64GB DDR4 | 16GB DDR4 บัส 3200MHz อัปเกรดได้ถึง 64GB DDR4 |
Software | Windows 11 Home | Windows 11 Home | Windows 11 Home | Windows 11 Home |
Display | 15.6″ FHD IPS Refresh Rate 144Hz | 15.6″ FHD IPS Refresh Rate 144Hz | 15.6″ FHD IPS Refresh Rate 144Hz | 15.6″ FHD IPS Refresh Rate 144Hz |
Connectivity | USB-A 3.2 Gen1*3 USB-C 3.2 Gen1 DisplayPort*1 HDMI รองรับ 4K 30Hz*1 LAN*1 Mic-in*1 Headphone-out*1 Wi-Fi 6E Bluetooth 5.3 | USB-A 3.2 Gen1*3 USB-C 3.2 Gen1 DisplayPort*1 HDMI รองรับ 4K 30Hz*1 LAN*1 Mic-in*1 Headphone-out*1 Wi-Fi 6E Bluetooth 5.3 | USB-A 3.2 Gen1*3 USB-C 3.2 Gen1 DisplayPort*1 HDMI รองรับ 4K 30Hz*1 LAN*1 Mic-in*1 Headphone-out*1 Wi-Fi 6E Bluetooth 5.3 | USB-A 3.2 Gen1*3 USB-C 3.2 Gen1 DisplayPort*1 HDMI รองรับ 4K 30Hz*1 LAN*1 Mic-in*1 Headphone-out*1 Wi-Fi 6E Bluetooth 5.3 |
Weight | 1.86 กก. | 1.86 กก. | 1.86 กก. | 1.86 กก. |
Price (บาท) | 19,990 | 22,990 | 30,490 | 29,990 |
รุ่นและสเปค | MSI Thin 15 B13UCX-1610TH | MSI Thin 15 B13UC-1609TH | MSI Thin 15 B13VE-1608TH |
CPU | Intel Core i5-13420H | Intel Core i5-13420H | Intel Core i5-13420H |
GPU | NVIDIA GeForce RTX 2050 | NVIDIA GeForce RTX 3050 | NVIDIA GeForce RTX 4050 |
SSD | M.2 NVMe SSD 512GB อัปเกรดเพิ่ม 2.5″ SATA III SSD*1 | M.2 NVMe SSD 512GB อัปเกรดเพิ่ม 2.5″ SATA III SSD*1 | M.2 NVMe SSD 512GB อัปเกรดเพิ่ม 2.5″ SATA III SSD*1 |
RAM | 8GB DDR4 บัส 3200MHz อัปเกรดได้ถึง 64GB DDR4 | 8GB DDR4 บัส 3200MHz อัปเกรดได้ถึง 64GB DDR4 | 16GB DDR4 บัส 3200MHz อัปเกรดได้ถึง 64GB DDR4 |
Software | Windows 11 Home | Windows 11 Home | Windows 11 Home |
Display | 15.6″ FHD IPS Refresh Rate 144Hz | 15.6″ FHD IPS Refresh Rate 144Hz | 15.6″ FHD IPS Refresh Rate 144Hz |
Connectivity | USB-A 3.2 Gen1*3 USB-C 3.2 Gen1 DisplayPort*1 HDMI รองรับ 4K 30Hz*1 LAN*1 Mic-in*1 Headphone-out*1 Wi-Fi 6E Bluetooth 5.3 | USB-A 3.2 Gen1*3 USB-C 3.2 Gen1 DisplayPort*1 HDMI รองรับ 4K 30Hz*1 LAN*1 Mic-in*1 Headphone-out*1 Wi-Fi 6E Bluetooth 5.3 | USB-A 3.2 Gen1*3 USB-C 3.2 Gen1 DisplayPort*1 HDMI รองรับ 4K 30Hz*1 LAN*1 Mic-in*1 Headphone-out*1 Wi-Fi 6E Bluetooth 5.3 |
Weight | 1.86 กก. | 1.86 กก. | 1.86 กก. |
Price (บาท) | 20,990 | 24,990 | 29,990 |
Hardware & Design
ดีไซน์ของ MSI Thin 15 B12U ถ้าเทียบกับรุ่นก่อนจะยังคงองค์ประกอบหลักเอาไว้ตามเดิมหลายส่วน ทั้งขอบเครื่องตัดเฉียงและคงลายเส้นตรงขอบหน้าเครื่อง ตัดบอดี้ใต้แป้นทัชแพดเฉียงเล็กน้อยให้กางหน้าจอได้ง่ายและแยกปุ่ม Power ออกจากชุดปุ่มบนคีย์บอร์ด ตัวปุ่มจะค่อนข้างแข็งลดโอกาสกดพลาดแล้วเผลอปิดเครื่องโดยไม่ตั้งใจ
สังเกตจะเห็นว่าสีสันของ MSI Thin ไม่ใช่ตัวเครื่องสีดำกับคีย์บอร์ดไฟสีแดงแล้ว แต่กลายเป็นเครื่องสีเทา Cosmos Gray กับคีย์บอร์ดไฟสีฟ้า ถ้าทำบอดี้ด้านล่างเป็นกึ่งโปร่งแสงก็กลายเป็นแฝด MSI Cyborg ไปโดยปริยาย เป็นความแปลกใหม่ของซีรี่ส์นี้จนผู้ใช้บางคนอาจจำสลับกันได้บ้าง
บานพับหน้าจอเป็นแบบมีสันตรงกลางเป็นแถบยาวแล้วยึดขาบานพับไว้ตรงริมสันด้วยฐานเหล็กภายใน ยึดเอาไว้แข็งรงทนทานไม่กระพือง่ายๆ สามารถกางจอได้กว้างราว 120 องศา จึงวางบนโต๊ะทำงานตามปกติหรือแท่นวางโน๊ตบุ๊คก็ปรับองศาหน้าจอให้มองเห็นได้ชัดเจนดี
ฝาหลังสี Cosmos Gray เน้นแต่สีพื้นเรียบง่ายไม่มีลวดลายใดๆ ยกเว้นยิงเลเซอร์โลโก้ MSI Gaming Dragon เอาไว้ตรงกลางค่อนบนเพียงจุดเดียว ดูสะอาดเรียบร้อยคล้ายกับโน๊ตบุ๊คทำงานทั่วไปหยิบออกมาใช้แล้วไม่ดึงดูดสายตา ถัดลงมาจะเห็นพอร์ต HDMI ตรงกลางและช่องระบายความร้อนริมขวาเท่านั้น
ฝาใต้เครื่อง Thin 15 B12U มีช่องระบายความสร้อนขนาดเล็กสำหรับนำลมเข้าไปพัดลมโบลว์เวอร์และฮีตไปป์ของชุด Cooler Boost ได้ สังเกตลายเส้นจะเห็นเป็นเครื่องหมายกากบาทจากปลายสามเหลี่ยมสองชิ้นหันเข้าหากันรวมถึงแถบยางกันลื่นทรงสามเหลี่ยมแยกเป็นคู่เล็กส่วนบนและคู่ใหญ่ด้านล่าง ช่วยยกเครื่องขึ้นลดรอยขนแมวและกันลื่นเวลาใช้งาน ขันล็อคไว้ด้วยน็อต Philips Head หัวแฉกมาตรฐาน 12 ดอก จึงนำไขควงทั่วไปในบ้านมาขันเปิดฝาได้ทันที
สังเกตว่าน็อตตัวขวาเหนือลำโพงในภาพขวาจะมีช่องเล็กๆ พร้อมโลโก้รูปแบตเตอรี่พอให้เอาเข็มจิ้มซิมหรือเข็มเย็บผ้าแทงเข้าไปได้ ซึ่งมันคือปุ่ม EC Reset (Embedded Controller Reset) ไว้รีเซ็ตฮาร์ดแวร์ทั้งหมดของโน๊ตบุ๊คกลับไปสู่ค่าตั้งต้น (Default state) ควรกดเวลาใช้งานไปแล้วฮาร์ดแวร์เกิดทำงานผิดพลาดหรือเสียหาย แต่มีขั้นตอนใช้งานอยู่เล็กน้อยดังนี้
- สั่ง Shut down โน๊ตบุ๊คให้เรียบร้อยและถอดสายอะแดปเตอร์ออกจากเครื่อง
- พลิกเครื่องแล้วเอาเข็มจิ้มซิมแทงเข้าช่องนี้ค้างไว้ 30 วินาที
- พลิกเครื่องขึ้น เสียบอะแดปเตอร์เข้าเครื่องแล้วกดเปิดเครื่องใช้งานอีกครั้ง
ปุ่ม EC Reset แนะนำให้กดยามจำเป็นกรณีสุดท้ายเท่านั้น เมื่อกดแล้วจะกดปุ่ม Power จะไม่เปิดเครื่องตามปกติต้องต่ออะแดปเตอร์ก่อนเสมอ การกด EC Reset จะให้ผลเหมือนกับการถอดแบตเตอรี่ออกจากเครื่องแล้วปล่อยเอาไว้ 15 นาที
Screen & Speaker
หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด Full HD (1920*1080) พิกเซล พาเนล IPS ของ MSI Thin 15 B12U มีค่า Refresh Rate 144Hz ดีไซน์ขอบข้างหน้าจอสองฝั่งให้บางลงเพื่อเพิ่มพื้นที่แสดงผล แต่สันด้านบนจะยังหนาเท่ารุ่นก่อนเพื่อติดตั้งกล้องเว็บแคมกับไมโครโฟนไว้ประชุมงานออนไลน์ได้ ทรงของบานหน้าจอจะคล้ายจั่วบ้านและขอบล่างจะหนาขึ้นเพื่อติดตั้งชุดสายไฟและชุดพาเนลหน้าจอ ด้านหน้าสลักโลโก้ตัวอักษร MSI เอาไว้ตรงกลาง
สิ่งที่พบตอนทดลองใช้งาน คือพาเนล IPS ของจอนี้ไม่ค่อยสว่างมาก ถึงจะปรับความสว่าง 100% แต่ก็สว่างราว 70~80% ของรุ่นอื่นในเครือ อาจพอใช้งานในอาคารได้แต่ยังไม่มากพอจะสู้แสงแดดเวลาพกไปทำงานนอกสถานที่หรือโดนแสงส่องกระทบนัก ถ้าเป็นไปได้อยากให้หน้าจอของโมเดลปีหน้าสว่างกว่านี้อีกนิด จะได้ปรับความสว่างสู้แสงแดดได้ดีขึ้น
ลำโพงคู่กำลังขับดอกละ 2 วัตต์ถูกปรับจูนเสียงให้ใช้งานกับซอฟท์แวร์ DTS Audio ได้ พอปรับ Volume ไป 100% แล้วจะดังถึง 83~85dB เนื้อเสียงเวลาดูภาพยนตร์มีพลังและเสียงดังฟังชัดได้ยินเสียงทุ้มระดับหนึ่ง เปิดฟังเพลงจะได้รายละเอียดดีพอควร เสียงเครื่องดนตรีไม่กลบเสียงนักร้องนำและมีเบสซัพพอร์ตเสียงเพิ่มอรรถรสระดับหนึ่ง แค่แรงปะทะน้อยพอฟังเพลงได้หลากหลายแนว ได้แก่ ป็อป, ร็อค, แจ๊ส และคลาสสิค แต่ถ้าเน้นเบสแนะนำให้ต่อลำโพงแยกจะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ลำโพงนี้ก็มีซอฟท์แวร์ DTS Audio เอาไว้ปรับแต่งเสียงได้ มีค่า Preset จากโรงงาน 3 แบบคือ Music, Movies, Games และโหมด Custom Audio ไว้ปรับแต่ง Equalizer ได้ 5 Bar แยกเป็น 100Hz / 300Hz / 1kHz / 3kHz / 10kHz ให้เปลี่ยนโทนเสียงได้ตามชอบ
Keyboard & Touchpad
คีย์บอร์ดของ MSI Thin 15 B12U เป็นขนาด Tenkeyless เหมือนรุ่นก่อนและวางเลย์เอ้าท์แบบเดิมพร้อมไฟ LED Backlit สีฟ้าให้พิมพ์งานในที่แสงน้อยได้สะดวกขึ้น เปลี่ยนปุ่ม WASD ให้เป็นพลาสติกใสสกรีนตัวอักษรไว้ด้านบนเหมือนโน๊ตบุ๊คเกมมิ่งในเครือ หากมองเผินๆ จะดูคล้ายกับ MSI Cyborg อยู่บ้าง
Function Key บนคีย์บอร์ดยังอยู่ฝั่งริมขวาถัดจนปุ่ม Enter เหมือนเดิม ไล่จากข้างบนลงมาเป็น Delete และ Insert, Home, Page Up, Page Down, End ส่วนปุ่ม Print Screen จะอยู่ถัดจากปุ่ม F12 ไม่รวมคีย์เรียก Snipping Tool เอาไว้ ปุ่มสำหรับเกมมิ่งจะรวมอยู่กับปุ่มลูกศร 4 ทิศ เช่นปุ่ม Media Play/Pause, ปรับรอบพัดลมระบายความร้อนและเปิดเป้าเล็ง Crosshair ค้างไว้บนหน้าจอได้
ขนาดของแต่ละปุ่มยังกว้างเท่ารุ่นก่อน แต่ลดขนาดปุ่ม Grave Accent (`) ลงไปให้เหลือครึ่งเดียวจากปกติและขยายปุ่ม Ctrl ซ้ายให้กว้างขึ้นเป็น 1.25U ส่วนปุ่ม Ctrl ขวาถูกเปลี่ยนเป็น Copilot button ไว้เรียก Microsoft AI แทน ให้เข้ากับปัจจุบันซึ่ง AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น
หากจำกันได้ MSI Thin รุ่นก่อนจะมี Function Hotkeys ให้ใช้ไม่กี่ปุ่มเท่านั้นและไม่มีปุ่มสลับเลเยอร์ไป Function F1~F12 ตามปกติอีกด้วย แต่รุ่นนี้ถูกปรับปรุงใหม่เพิ่ม Fn Lock ไว้กับปุ่ม Esc พร้อมคีย์ลัดตั้งค่าตัวเครื่องด้วย ได้แก่
- F1~F3: ปิด, ลดและเพิ่มเสียงลำโพง
- F4: ล็อคแป้นทัชแพด
- F5: ปิดไมโครโฟน
- F6: ปิดไม่ใช้งาน Bluetooth
- F7: ปุ่มตั้งค่าตัวเครื่องเร่งด่วน ได้แก่ MSI AI Engine, Extreme Performance, Balanced, Silent, Super Battery
- F8: ปรับความสว่างไฟ LED Backlit ของคีย์บอร์ด ทำงานแบบ Toggle ปรับลดความสว่างลงไปจนดับสนิทแล้วกดซ้ำจะปรับให้สว่างสูงสุด
- F9~F10: ลดและเพิ่มความสว่างหน้าจอ
- F11: ปุ่ม Project ตั้งค่าหน้าจอหลักและเสริม
สังเกตว่าปุ่ม F12 จะไม่มีคีย์ลัดเสริมมาให้ก็จริง แต่ถ้าเทียบกับ MSI Thin รุ่นก่อนแล้วถือว่าทางบริษัทก็ใส่ใจ MSI Thin 15 B12U มากขึ้นและยังช่วยให้ผู้ใช้ตั้งค่าเครื่องได้สะดวกกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ตามถ้าใส่คำสั่ง Windows Lock ไว้ตรง F12 ด้วยจะสมบูรณ์แบบ
ทัชแพดของ MSI Thin 15 B12U ยังคงมีขนาดเล็กและวางตัวอยู่ระยะพอดีกับแป้น Spacebar กินพื้นที่เข้าไปเกือบครึ่งปุ่ม Backslash (\) แต่พอวางมือใช้งานแล้วสันมือจะทาบริมแป้นพอดี แต่ตอนพิมพ์งานก็ไม่ค่อยเจออาการทัชแพดลั่นบ่อยนัก ถ้าไม่มั่นใจก็กดปุ่ม Fn+F4 ล็อคแป้นทิ้งได้
Connector, Thin & Weight
พอร์ตของ MSI Thin 15 B12U จะเน้นอยู่ด้านข้างเครื่องทั้งสองฝั่งเป็นหลักและมีพอร์ต HDMI ติดตั้งแยกเฉพาะอยู่ด้านหลังเครื่อง ส่วนพอร์ตถอดเข้าออกบ่อยจะอยู่ด้านข้างทั้งสองฝั่งโดยมีพอร์ตดังนี้
- พอร์ตฝั่งซ้ายจากซ้ายมือ: DC-in, USB-A 3.2 Gen1
- พอร์ตฝั่งขวาจากซ้ายมือ: Headphone-out, Mic-in, USB-A 3.2 Gen1*2, USB-C 3.2 Gen1 รองรับการต่อหน้าจอ DisplayPort, LAN, Kensington Lock
- การเชื่อมต่อไร้สาย: Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax รองรับ Bluetooth 5.3
เทียบกับรุ่นก่อนแล้ว Thin 15 B12U จะยังคงตำแหน่งของพอร์ตทั้งหมดไว้ตามเดิม ไม่ได้หักช่องไหนทิ้งไป ถ้าใช้งานตามปกติก็มีมากเพียงพอใช้แล้ว แต่ในเมื่อพอร์ต HDMI ถูกติดตั้งไว้ด้านหลังเช่นนี้ ก็อยากเสนอให้ย้ายพอร์ต DC-in, LAN ไปไว้คู่กันเพราะมักต่อทิ้งเอาไว้ไม่ถอดเข้าออกบ่อยๆ แล้วเพิ่มพอร์ตอื่น เช่น SD Card Reader หรือ USB-A 3.2 Gen1 เข้ามาอีกสักช่องก็จะดีมาก
ในหน้าสเปคเคลมไว้ว่า MSI Thin 15 B12U มีน้ำหนัก 1.89 กก. พอชั่งน้ำหนักแล้วได้ 1.81 กก. เบากว่าในหน้าสเปคเล็กน้อยจึงพกสะดวก แม้จะรวมอะแดปเตอร์ DC กำลังไฟ 120 วัตต์เข้าไปอีก 508 กรัม ยังหนักแค่ 2.32 กก. จึงพกใส่กระเป๋าเป้ขนาด 15.6 นิ้ว ไปไหนมาไหนได้สบายๆ หรือขยับไป 17.3 นิ้ว จะเหมาะกับคนพกอุปกรณ์ติดตัวเยอะ จะได้มีพื้นที่ใส่อุปกรณ์เสริมเข้าไปได้อีกระดับหนึ่ง
Inside & Upgrade
วิธีเปิดฝาอัปเกรด MSI Thin 15 B12U นับว่าง่ายพอควรเพียงขันน็อต Philips Head ทั้ง 12 ตัวออกแล้วใช้การ์ดแข็งหรือปิ๊กกีตาร์กรีดไล่ขอบตัวเครื่อง เริ่มจากลำโพงฝั่งเดียวกับพัดลมโบลว์เวอร์ลงไปทางลำโพงตามกรอบล่างตัวเครื่องก่อน จึงไปรูดตรงขอบบนแถบพอร์ต HDMI ก็จะเปิดฝาได้ทันที เวลาใส่กลับให้ทำกลับกันโดยเอาฝาเกี่ยวพอร์ต Mic-in, Headphone-out ให้เข้าร่องพอดีก่อนแล้วกดไล่กรอบไปจนปิดสนิทค่อยขันน็อตจะปิดได้พอดี
ดูจากเมนบอร์ดจะเห็นว่ามีช่องอัปเกรดอยู่พอควร มีช่อง RAM SO-DIMM สองช่องหันหน้าเข้าหากันรองรับความจุมากสุด 64GB DDR4 มี M.2 NVMe SSD อยู่ 1 ช่อง ถัดลงมาเป็น SATA III Interface ไว้ใส่ SSD 2.5″ เข้าไปได้ พิจารณาแล้วเหมือนกับ MSI Thin รุ่นก่อนไม่มีผิด พอเทียบกับซีรี่ส์อื่นในเครือที่ใส่อินเทอร์เฟสเป็น M.2 NVMe PCIe 4.0×4 แล้ว ก็อยากให้ทางบริษัทเปลี่ยนอินเทอร์เฟสให้ทันสมัยเทียบกับรุ่นอื่นในเครือได้สักหน่อยก็จะดีมาก
Performance & Software
ซีพียู Intel Core i5-12450H ใน MSI Thin 15 B12U แม้จะเปิดตัวมาสักพักแล้ว แต่ก็มีคอร์เธรดให้ใช้ 8 คอร์ 12 เธรด แยกเป็น 4 Performance-cores กับ 4 Efficient-cores มีความเร็วสูงสุด 4.4GHz มีค่า TDP ตั้งต้น 45 วัตต์ รองรับชุดคำสั่งพื้นฐานครบถ้วนจึงใช้ทำงานและเล่นเกมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
RAM ของเครื่องรีวิวมีความจุ 8GB DDR4 บัส 3200MHz ผลิตโดย Samsung มีค่า CL22-22-22-52-74 ซึ่งพอใช้เปิดเครื่องและทำงานเบาๆ ได้เท่านั้น ถ้าจะใช้เล่นเกมและทำงานจริงจังแนะนำให้เพิ่มความจุเป็น 16GB ก่อนเริ่มใช้จะทำงานได้รวดเร็วขึ้นมาก
จีพียู NVIDIA GeForce RTX 3050 มีแรมการ์ดจอ 4GB GDDR6 ค่า TGP 45 วัตต์ มี CUDA Cores 2,048 Unified ไว้ใช้เรนเดอร์ประมวลผลกราฟิค รองรับชุดคำสั่ง DirectX 12, Resizable BAR, Dynamic Boost, OpenCL, OpenGL 4.6, CUDA, DirectCompute, DirectML, Vulkan, Ray Tracing และ PhysX ครบถ้วน แม้จะมีค่า TGP น้อยให้อุณหภูมิไม่สูงเกินไปก็จริง แต่ก็ใช้งานได้ดีทีเดียว
ชิ้นส่วนใน MSI Thin 15 B12U นอกจากชิป TPM 2.0 สำหรับรักษาความปลอดภัยข้อมูลภายในเครื่องร่วมกับระบบ Windows Hello แล้ว ก็มีชิป LAN Realtek PCIe GbE ไว้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตร่วมกับ Wi-Fi PCIe Card รุ่น Intel AX211 ให้รองรับ Wi-Fi 6E มาตรฐาน 802.11ax และ Bluetooth 5.3 ได้ในตัว มีแบนด์วิธ 160MHz จับคลื่น Wi-Fi 6GHz / 5GHz / 2.4GHz ได้หมด รองรับ MU-MIMO, OFDMA, Intel vPro ครบถ้วน
M.2 NVMe SSD ความจุ 512GB จากโรงงานเป็นรุ่น Samsung PM9B1 ตามสเปคเป็นอินเทอร์เฟส PCIe 4.0×4 พอทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8 แล้ว ได้ผลดังนี้
สเปค | Read (MB/s) | Write (MB/s) |
สเปคโรงงาน | 3,500 | 2,500 |
Sequential | 3,614.36 | 2,526.09 |
RND4K | 587.8 | 412.08 |
ความเร็วเขียนอ่านข้อมูลของ SSD จัดว่าดีตรงตามหน้าสเปค แต่ถ้าเอามาเล่นเกมอาจจะมีความจุไม่พอใช้สักหน่อย แต่อินเทอร์เฟสเป็น PCIe 4.0×4 ดังนั้นจะอัปเกรดเป็น Samsung 990 PRO, Transcend MTE250S หรือ WD Black SN850X หรือหา 2.5″ SATA III SSD ความจุ 1TB มาใส่เพิ่มไว้ติดตั้งเกมก็ได้
ในการทดสอบนี้ได้เพิ่ม RAM เข้าไปเป็น 16GB DDR4 ให้เพียงพอใช้งานได้รอบด้านยิ่งขึ้น
หากนำ MSI Thin 15 B12U มาเล่นเกมชั้นนำในปัจจุบันก็ยังแรงพอเล่นได้แน่นอน ผลคะแนนเฉลี่ยจาก 3DMark Time Spy ทำได้ 4,564 คะแนน แยกเป็น CPU score 7,071 คะแนน Graphics score 4,296 คะแนน กล่าวคือเล่นเกมชั้นนำบนความละเอียด Full HD ปรับกราฟิคระดับ High ขึ้นไปแล้วยังได้เฟรมเรทเกิน 30 Fps แน่นอน แล้วจะเปิด NVIDIA DLSS ระดับ Quality เสริมก็ได้เฟรมเรทเพิ่มไปอีกพอควร
DLSS Quality
การทดสอบเล่นเกมชั้นนำในปัจจุบันโดยปรับกราฟิคสูงสุดทั้งหมดและไม่เปิด NVIDIA DLSS จะเห็นว่า NVIDIA GeForce RTX 3050 ก็ทำเฟรมเรทเฉลี่ยได้เกิน 30 Fps แทบทุกเกม อาจยกเว้น Cyberpunk 2077 ซึ่งกินกำลังของซีพียูและจีพียูมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะได้เฟรมเรทเฉลี่ยน้อยลง 1 Fps เหลือ 29 Fps ส่วน Forza Horizon 5 ในการทดสอบเป็นค่า Preset Extreme แล้วปรับ Texture ต่างๆ เพิ่มเข้าไปจนสุดทุกอย่างยกเว้น Ray Tracing ที่ปล่อยไว้ตาม Preset จะได้เฟรมเรท 31 Fps ซึ่งตัวเกมก็แนะนำให้ลด Preset ลงมาระดับ High จะเล่นได้ดีกว่าและทำเฟรมเรทได้ดี
ถ้าเปิด NVIDIA DLSS Quality เสริมโดยไม่ใช้ Frame Generation จะเห็นว่าเฟรมเรทเฉลี่ยของทั้ง 4 เกมทำได้ดีขึ้นมากถึง 8~11 Fps ช่วยให้ปรับกราฟิคในเกมได้สวยงามขึ้นแล้วเฟรมเรทยังสูงพอเล่นได้อย่างแน่นอน แต่แนะนำให้เล่นบนจอ 1080p ปรับกราฟิคกลุ่ม Tessellation, Shadow, Volumetric Light, Water Quality ไว้ระดับ Low~Medium และไม่เปิด Ray Tracing จะดีกว่า
ถ้าจะซื้อมาทำงานตั้งแต่พิมพ์เอกสารไปจนกราฟิค 3D หรือตัดต่อคลิปหรือเขียนโปรแกรม MSI Thin 15 B12U ก็ทำได้ จากการทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark 10 ไว้จำลองการทำงานจะได้คะแนนเฉลี่ย 5,716 คะแนน ดีพอใช้ทำงานออฟฟิศได้ทุกแบบและครีเอเตอร์มือใหม่จะซื้อไปทำงานก็ได้ โดยเฉพาะงานปั้นโมเดล 3D จีพียู GeForce RTX 3050 เองก็รันไหวแน่นอน
ด้านการทดสอบเรนเดอร์งานกราฟิค 3D ด้วยโปรแกรมตระกูล CINEBENCH ก็ทำคะแนนได้ค่อนข้างดี พอให้นักศึกษาใช้เรนเดอร์งานกราฟิคส่งอาจารย์หรือครีเอเตอร์มือใหม่ใช้ปั้นผลงานก็ได้ โดยผลคะแนนในแต่ละเวอร์ชั่นจะได้ผลดังนี้
- R23 – ใช้ทดสอบพลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก มีความละเอียดและแม่นยำสูง ได้คะแนน Multi Core 9,385 pts และ Single Core อีก 1,531 pts
- R20 – ใช้ทดสอบกำลังประมวลผลของซีพียูเป็นหลัก ได้คะแนน CPU 3,988 pts
สรุปแล้ว MSI Thin 15 B12U นั้นสามารถใช้ทำงานกราฟิคตั้งแต่ตัดต่อแต่งภาพหรือวิดีโอไปจนปั้นโมเดล 3D ในโปรแกรม Blender ก็ได้ด้วยพลังของ CUDA Cores ในจีพียูและซีพียู Intel 12th Generation ก็ยังทำงานได้ค่อนข้างดีไม่แพ้ชิปเซ็ตรุ่นใหม่ๆ เลย
โปรแกรมคู่โน๊ตบุ๊ค MSI ทุกเครื่องอย่าง MSI Center นอกจากใช้ตั้งโหมดตัวเครื่องได้แล้ว ก็ยังใช้อัปเดตเฟิร์มแวร์ตัวเครื่อง, ตรวจหาข้อบกพร่องของฮาร์แวร์ไปจนสแกนหา Wi-Fi ที่คลื่นดีสุดเพื่อเชื่อมต่อได้แถมยังดูคลื่น dBm และประเภทได้ด้วยว่าเป็น 2.4GHz / 5GHz แถมในเฟิร์มแวร์เวอร์ชั่นนี้ก็มี MSI AI Engine เพิ่มเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนโหมดตัวเครื่องให้เหมาะกับแต่ละโปรแกรมได้โดยอัตโนมัติ
ส่วนลูกเล่นเสริมอย่าง MSI Companion จะเป็นส่วนต่อเสริมเข้าไปใน Xbox Game Bar (Win+G) ถ้าเปิดใช้งานใน MSI Center เสร็จแล้ว จะมีกรอบแยกเฉพาะออกมาอีกช่อง นอกจากใช้ปรับโหมดเครื่อง, เพิ่มลดเสียงได้ จะมีส่วนเสริมอย่าง Mouse sensitivity ปรับความช้า-เร็วของเมาส์และมีฟังก์ชั่นเสริมเข้ามาอีก 3 อย่าง
- Switch : สลับระหว่างปุ่ม Windows และ Fn จะได้ไม่กดพลาดเวลาเล่นเกม
- Touchpad : ปิดเปิดการทำงานทัชแพด
- Windows Keys : ปิดเปิดการทำงานปุ่ม Windows
แม้จะไม่ได้ติดมาบนคีย์บอร์ดเหมือนกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คแบรนด์อื่นก็จริง แต่ก็ยังมีฟังก์ชั่นให้ปรับแต่งได้บ้าง ซึ่งมีประโยชน์และช่วยให้เล่นเกมได้สะดวกขึ้นพอควร ดังนั้นถ้าซื้อ MSI Thin 15 B12U มาแล้ว ก็เข้ามาเปิดใช้ฟังก์ชั่น Companion ด้วย
Battery & Heat & Noise
แบตเตอรี่ภายใน MSI Thin 15 B12U จะไม่มีการเขียนสเปคหรือความจุเอาไว้บนตัวเหมือนกับรุ่นก่อน แต่จากหน้าสเปคแล้วจะเป็นแบบ 3-Cell ความจุ 52.4Whr เทียบกับเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คราคาประหยัดในปัจจุบันที่เริ่มเพิ่มปริมาณแบตเตอรี่ไป 60Whr แล้วก็หวังว่ารุ่นถัดไปหรือโมเดลย่อยในปีนี้ทางบริษัทจะเพิ่มความจุให้รุ่นนี้อีกสักนิดก็ดี
ระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่เมื่อทดสอบตามมาตรฐานโดยเปิดความสว่างหน้าจอ 50% และลดเสียงลำโพงเหลือ 10% เปิดโหมด MSI Super Battery แล้วใช้ Microsoft Edge ดูคลิปใน YouTube นาน 30 นาทีแล้ว พบว่าแบตเตอรี่ 52.4Whr พอจ่ายไฟให้เจ้าของเครื่องใช้งานได้นานสุด 3 ชั่วโมง 26 นาที นานพอให้ใช้งานได้จนจบการประชุมยาวระดับ Town hall หรือเลคเชอร์สักคลาสได้แน่นอน แต่ถ้าให้อุ่นใจขึ้นจะเตรียมอะแดปเตอร์ใส่กระเป๋าเผื่อไว้ก็ดี
กลับกัน หากทางบริษัทอัปเกรดพอร์ต USB-C ให้เป็น Full Function ใช้อะแดปเตอร์ GaN กำลังชาร์จ 65~100 วัตต์ ต่อชาร์จไฟเพิ่มได้จะดีมาก เจ้าของก็เอาอะแดปเตอร์ประจำเครื่องวางติดโต๊ะได้เลย ช่วยลดน้ำหนักและจำนวนอุปกรณ์ภายในกระเป๋าให้น้อยลงเข้ากับชื่อซีรี่ส์ให้ Thin ตั้งแต่ตัวเครื่องจนอุปกรณ์กับขนาดกระเป๋าให้เบาสบายแบบรอบด้าน
ระบบระบายความร้อนภายใน MSI Thin 15 B12U เป็น MSI Cooler Boost แบบปรับปรุงใหม่ มีพัดลมโบลว์เวอร์ 1 ตัว สำหรับระบายความร้อนจากฮีตไปป์ 3 เส้นจากซีพียูและจีพียูเป่าออกไปทางด้านหลังและข้างเครื่อง เวลาใช้ทำงานเอกสารตามปกติเสียงพัดลมจะไม่ดังรบกวนผู้ใช้มากนักแต่ก็กดเร่งรอบให้ระบายความร้อนได้
อุณหภูมิภายในเครื่องหลังจากรันโปรแกรม Benchmark แล้ววัดด้วยโปรแกรม CPUID HWMonitor จะเห็นว่าชุด Cooler Boost ก็ระบายความร้อนได้ค่อนข้างดีแม้อุณหภูมิซีพียูจะสูงจนเห็นตัวแดงก็จริงแต่ก็อยู่ไม่นานมากเพียง 1~2 วินาทีก็ลดลงมาอยู่ในระดับ 80~90 องศาเซลเซียสแทบจะทันที สำหรับแต่ละชิ้นส่วนจะมีอุณหภูมิดังนี้
ชิ้นส่วน/อุณหภูมิ | อุณหภูมิต่ำสุด (เซลเซียส) | อุณหภูมิสูงสุด (เซลเซียส) |
Mainboard | 41 | 97 |
CPU (Package) | 36 | 96 |
GPU | 37.7 | 63.6 |
Idle temp Benchmark temp
ถ้าวัดบนตัว MSI Thin 15 B12U ก็นับว่าเครื่องเย็นพอวางมือใช้งานได้แน่นอน จากกล้องอินฟาเรดจะเห็นว่าอุณหภูมิตอนปล่อยเครื่องไว้ในห้องแอร์อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส พื้นผิวจะมีอุณหภูมิราว 32~34 องศาเซลเซียสเท่านั้น แม้จะรันโปรแกรม Benchmark แล้ว ตัวเครื่องบริเวณเหนือคีย์บอร์ดฝั่งซ้ายบนก็ยังร้อนเพียง 35~36 องศาเซลเซียส ดังนั้นจะเล่นเกมหรือรันโปรแกรมกราฟิค 3D ก็ยังใช้งานได้
เสียงพัดลมจากด้านหน้าเวลาใช้งานหนัก เสียงพัดลมจากด้านข้างเวลาใช้งานหนัก
เสียงพัดลมโบลว์เวอร์ของชุดระบายความร้อน Cooler Boost เวลาใช้งานตามปกติ เปิดดูคลิปในเว็บไซต์หรือทำงานเอกสารเสียงพัดลมจะเบาเพียง 50dB แต่ถ้าเล่นเกมหรือทำงาน 3D พอวัดเสียงจากด้านหน้าเครื่องเหมือนนั่งใช้งานตามปกติแล้วจะดังราว 60dB วัดจากช่องระบายความร้อนจะดัง 68dB ซึ่งพอได้ยินชัดเจนแต่ยังไม่เกิน 70dB จึงไม่เป็นอันตรายต่อโสตประสาทของมนุษย์
User Experience
แม้ MSI Thin 15 B12U นี้จะเป็นเวอร์ชั่นปรับแต่งดีไซน์จากดำแดงในปีก่อนมาเป็นโทนสีเทา Cosmos Grey และไฟสีฟ้าคล้ายกับ MSI Cyborg Series แต่ไม่ได้เปลี่ยนสเปคเพิ่มอะไรเป็นพิเศษก็จริง แต่ก็ยังทำราคาถูกลงมาให้ผู้ใช้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น เริ่มต้นเพียง 19,990 บาท หรือขยับมาเป็นรุ่นในบทความก็เพิ่มอีกเล็กน้อยเป็น 22,990 บาท หรือขยับไปจนรุ่นสูงสุดก็ยังไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งราคาเพียงเท่านี้ก็เข้ามาทาบรุ่นสู้กับโน๊ตบุ๊คทำงานติดการ์ดจอแยกได้โดยตรง
จุดขายอย่างน้ำหนัก 1.8 กก. นอกจากจะเบาสบายไหล่พกติดตัวไปไหนมาไหนได้สบายแล้ว พอรวมอะแดปเตอร์เข้าไปก็หนักแค่ 2.3 กก. เท่ากับน้ำหนักตัวเครื่องเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค หากนับเฉพาะเครื่อง Thin 15 B12U ก็ไล่เลี่ยกับโน๊ตบุ๊คทั่วไปซึ่งหนัก 1.6~1.8 กก. ยืนพื้นอยู่แล้ว แต่ได้เปรียบว่ารุ่นนี้ได้ซีพียู Intel 12th Generation H-Series มีการ์ดจอแยก GeForce RTX 3050 ติดมาด้วยไม่ใช่มีแต่การ์ดจอออนบอร์ด (iGPU) อย่างเดียว ดังนั้นเจ้า Thin 15 จึงทำงานดีกว่าอย่างชัดเจน
หลังจากใช้ Thin 15 B12U แทนโน๊ตบุ๊คบางเบาเครื่องหลักมาร่วมสัปดาห์ ถ้ายกยอดว่าต้องแบกน้ำหนักคอมเพิ่มอีกหน่อยจนรู้สึกย้อนวันวานกลับไปแบกโน๊ตบุ๊คเครื่องแรกสมัยเรียนแล้ว สิ่งที่ได้คืนมานับว่าคุ้มค่ามาก ทั้งทำงานได้รวดเร็วเปิดโปรแกรมไวทันใจ เรนเดอร์งานในโปรแกรม Adobe Lightroom ให้เสร็จได้เร็วกว่าเครื่องส่วนตัวมากและยังเปิดเล่นเกมได้นิดหน่อยเป็นส่วนเสริมก็นับว่าน่าพอใจ ไม่ว่าจะเกมออนไลน์จาก HoYoverse ไปจน The Sims 4 หรือแม้แต่ Cyberpunk 2077 ก็ยังไหว
แม้กำลังประมวลผลจะดีแต่สเปค 2 รุ่นเริ่มต้นจากโรงงาน การ์ดจอ GeForce RTX 2050 หรือ RTX 3050 ยังมี RAM เพียง 8GB DDR4 เท่านั้น ขอแนะนำให้เตรียมเงินเผื่อไว้ 700 บาทจ่ายอัปเกรดเพิ่มไป 16GB ตั้งแต่ต้นจะดีช่วยให้ใช้งานได้ดีขึ้น แล้วจะเพิ่ม 2.5″ SATA III SSD เข้าไปอีกสัก 1TB ไว้เก็บงานหรือติดตั้งเกมสักหน่อยก็ดีเช่นกัน
แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็หวังว่าทางบริษัทจะอัปเกรดพอร์ต USB-C จาก DisplayPort Alt. mode ให้เป็น Full Function ไปเลยจะดีกว่า จะรองรับ Power Delivery 100 วัตต์ ก็ไม่มีปัญหา จะได้วางอะแดปเตอร์ติดไว้กับโต๊ะประจำตัวแล้วเปลี่ยนไปพกอะแดปเตอร์ GaN ลดน้ำหนักและปริมาณข้าวของในกระเป๋าลงไปได้อีกพอควร ช่วยให้เจ้าของเครื่องพกง่ายสะดวกสบายขึ้นมาก
Conclusion & Award
ถ้าโน๊ตบุ๊คบางเบาไม่ตอบโจทย์เพราะงานในทุกวันกินพลังเครื่องมากจนอยากหาเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คราคาดีๆ สักเครื่องไว้ใช้ MSI Thin 15 B12U นับเป็นตัวเลือกที่ดีแถมราคาหลักสองหมื่นบาทต้นก็เกาะกลุ่มกับโน๊ตบุ๊คทั่วไป เป็นอีกตัวเลือกสำหรับคนที่คิดว่าโน๊ตบุ๊คทั่วไปหรือรุ่นบางเบาไม่ตอบโจทย์จะหันมาหาเจ้า Thin 15 แทนก็น่าจะถูกใจอย่างแน่นอน ขอแค่เตรียมเงินอัปเกรดไว้สักนิดกับกระเป๋าดีๆ สักใบ มันก็พร้อมไปกับคุณทุกงานแล้ว
Award
Best Mobility
ปกติเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คจะหนัก 2.3~2.5 กก. แต่ MSI Thin 15 B12U ยังคงรักษาความเบาเอาไว้ 1.86 กก. เท่ารุ่นก่อน ดังนั้นจะซื้อมาตั้งโต๊ะหรือพกใส่กระเป๋าเป้ไปไหนก็ไม่มีปัญหา
Best Value
ราคาของ MSI Thin 15 B12U ทั้งซีรี่ส์ทำราคาน่าสนใจมาก มีให้เลือกตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นราคาเพียง 20,000 บาท ไปถึงรุ่นสูงสุดยังไม่เกิน 30,000 บาท ทำให้คนที่เคยใช้งานโน๊ตบุ๊คทั่วไปแล้วสเปคยังไม่ดีพอใช้มีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้นอีก