Connect with us

Hi, what are you looking for?

CONTENT

ทำไม CPU รุ่นใหม่ถึงแรงขึ้น แต่กินไฟน้อยกว่ารุ่นเก่า

ในการเปิดตัว CPU รุ่นใหม่แต่ละครั้ง สิ่งที่ผู้ผลิตมักให้ความสำคัญในการนำเสนอก็เช่น ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ความสามารถที่เพิ่มขึ้น รองรับการทำงานด้านมัลติมีเดียได้ดีกว่าที่เคย และที่สำคัญคืออัตราการใช้พลังงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า ทำให้ชิปประมวลผลรุ่นใหม่ ๆ มักจะแรงขึ้น แต่กินไฟน้อยลง เมื่อเทียบกับชิปรุ่นเก่าในระดับเดียวกัน ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ทำไม CPU รุ่นใหม่ถึงแรงขึ้น แต่กินไฟน้อยกว่ารุ่นเก่า

Advertisement

สำหรับการวัดการกินไฟ การใช้พลังงานของชิปประมวลผล โดยส่วนใหญ่แล้วจะอ้างอิงจากค่า TDP จากทางผู้ผลิตเป็นหลัก สำหรับผู้ที่สงสัยว่าค่า TDP คืออะไร สามารถไปอ่านได้จากบทความนี้ครับ ก่อนอื่น เรามาดูให้เห็นภาพก่อน ว่า CPU รุ่นใหม่นี้แรงขึ้น แต่กินไฟน้อยลงอย่างไร

Screenshot 2023 07 17 at 9.37.11 AM

จากในภาพด้านบน เทียบเฉพาะเส้นสีฟ้าอ่อนของ Intel Core i9-12900HK และสีน้ำเงินเข้มกว่าของ Intel Core i9-11980HK ซึ่งทั้งสองจัดเป็นชิปในระดับใกล้เคียงกัน แต่มีการปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมการผลิตขนานใหญ่ จะเห็นว่าที่ระดับการใช้พลังงานเท่ากัน เปอร์เซ็นต์ของประสิทธิภาพของชิป Gen 12 จะสูงกว่า Gen 11 อย่างเห็นได้ชัด เช่นที่จุด 45W ตัวชิป i9-11980HK จะมีประสิทธิภาพสัมพัทธ์ที่ 100% ในขณะที่ i9-12900HK นั้นอยู่ที่ประมาณ 125% แล้ว ณ จุดที่ใช้กำลังไฟฟ้าเท่ากัน

ซึ่งการที่ประสิทธิภาพต่อการใช้พลังงานที่ดีกว่า ย่อมส่งผลกับการทำงานจริงด้วยเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือทำให้โน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ ๆ แรงขึ้น ทำงานได้เร็วกว่ารุ่นเก่า แถมยังประหยัดพลังงานกว่าด้วย ทำให้ผู้ผลิตสามารถเลือกชิปรุ่นสูง ๆ มาใส่ได้ง่ายขึ้น ทำให้เราได้เห็นเหล่าเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่มีตัวเครื่องบางเบามากขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับสาเหตุที่ชิปประมวลผลรุ่นใหม่แรงขึ้น แต่กินไฟน้อยลง มีดังนี้

การปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมการผลิต CPU

ทั้งฝั่ง Intel และ AMD ที่เป็นสองผู้เล่นใหญ่ในตลาดชิปประมวลผลสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ต่างก็มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงสถาปัตยกรรมการผลิตชิป (architecture) อยู่เสมอ และมักจะมีการนำสถาปัตยกรรมใหม่มาใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเองในทุก ๆ รอบ 1-2 ปี (หรืออาจนานกว่านั้นในช่วงที่ผ่านมา) ซึ่งโดยหลักแล้วทางผู้ผลิตจะอาศัยการปรับปรุงกระบวนการผลิตสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) เพื่อทำให้ทรานซิสเตอร์ภายใน CPU มีขนาดเล็กลง เมื่อมีขนาดเล็กลง ตัวแพ็คเกจของชิปก็สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้มากขึ้น เมื่อมีทรานซิสเตอร์ในชิปมากขึ้น ก็จะทำให้มีความสามารถในการประมวลผลเพิ่มขึ้นด้วย

ซึ่งในเชิงการตลาดที่คุ้นเคยกันมา ผู้ผลิตแต่ละรายจะมีการระบุระดับสถาปัตยกรรมเป็นตัวเลข มีหน่วยเป็นนาโนเมตร (nm) ยิ่งตัวเลขน้อย ก็จะเป็นสถาปัตยกรรมที่ใหม่กว่าขึ้นมาเรื่อย ๆ ตัวเลขที่หลายท่านอาจจะเคยเห็นผ่านตาบ่อย ๆ ก็เช่น 90nm และ 65nm ในยุค Pentium 4 กับ AMD Athlon 64 รวมถึง 22nm ในยุค Intel Core i ที่ใช้โค้ดเนม Ivy Bridge เป็นต้น ส่วนในปัจจุบันเราก็มาอยู่ในยุค 10nm 7nm และ 5nm กันแล้ว และกำลังจะก้าวไปสู่ยุค 2nm ในไม่ช้า สำหรับในอนาคต ก็จะมีการเปลี่ยนหน่วยมาเป็นระดับอังสตรอม ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กกว่านาโนเมตรถึง 10 เท่าตัว

แต่อย่างไรก็ตาม การระบุ nm ของผู้ผลิตแต่ละราย ชิปแต่ละรุ่นอาจมีความแตกต่างกันออกไป จากที่เมื่อก่อนมักใช้สื่อถึงขนาดทรานซิสเตอร์แต่ละโหนด แต่ในปัจจุบัน บางทีก็สื่อถึงระยะห่างระหว่างเกต (gate) และหน้าสัมผัสโลหะที่เป็นโครงสร้างภายในของทรานซิสเตอร์ จึงทำให้ในตอนนี้แทบจะไม่สามารถนำตัวเลข nm มาเทียบกันโดยตรง เพื่อวัดว่าเทคโนโลยีของใครล้ำกว่ากันได้แล้ว รวมถึงอาจต้องดูหมายเหตุ ดูข้อมูลเชิงเทคนิคประกอบว่าตัวเลข nm ในแต่ละจุดนั้นสื่อถึงอะไร

ZEN4 chiplet 1200x385 1

ส่วนในแง่ที่ว่าทำไมทรานซิสเตอร์ที่มีขนาดเล็กลง จึงทำให้ชิปกินไฟน้อยลงตามกันมานั้น สาเหตุหลัก ๆ มีดังนี้

1. การที่ทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็กลง ทำให้สามารถวางทรานซิสเตอร์ให้อยู่ชิดกันได้มากขึ้น ช่วยลดปริมาณกระแสไฟที่สูญเสียระหว่างการเดินทางข้ามระหว่างทรานซิสเตอร์ไปมา และเมื่อมีการสูญเสียไฟฟ้าที่น้อย ก็เท่ากับระบบไม่ต้องดึงไฟเพิ่มเพื่อมาชดเชยส่วนที่เสียไปมากเท่ากับรุ่นก่อนหน้า

2. เมื่อทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็ก ทำให้มีความจุไฟฟ้าที่ลดลงด้วย (แต่อาศัยชดเชยด้วยปริมาณทรานซิสเตอร์ที่มากขึ้นแทน) ซึ่งการที่ความจุลดลง ทำให้การประจุไฟเข้าทรานซิสเตอร์ และการคลายประจุออก จะใช้พลังงานน้อยกว่าการใช้ทรานซิสเตอร์ขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีการสูญเสียกำลังไฟฟ้าลงลงไปด้วย

3. ทรานซิสเตอร์ขนาดเล็ก สามารถเปลี่ยนสถานะของสวิตช์เพื่อเปิดหรือปิดวงจรในตัวได้ง่ายกว่าทรานซิสเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งการเปลี่ยนสถานะได้เร็ว ทำให้ชิปประมวลผลสามารถทำงานได้เร็วกว่า งานเสร็จเร็วขึ้น ส่งผลให้มีการใช้พลังงานที่ต่ำกว่า

4. การใช้ทรานซิสเตอร์ขนาดเล็กที่กินไฟน้อยกว่า ช่วยให้ CPU สามารถทำงานได้ที่ไฟต่ำลงกว่ารุ่นก่อนหน้า

5. ปรับปรุงวัสดุที่ใช้ในการผลิตทรานซิสเตอร์ เช่น การเปลี่ยนมาใช้ High-K Metal Gate (HKMG) ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันการสูญเสียของกระแสไฟฟ้าได้ ทำให้สามารถนำไฟไปใช้ได้เต็มศักยภาพกว่า จึงกินไฟน้อยลง

สรุปคือ

ทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็กลง กินไฟน้อยลง ใส่ใน CPU ได้มากขึ้น เลยประสิทธิภาพดีขึ้น ใช้ไฟน้อยกว่าเดิม

newsroom intel 13th gen mobile p series multiple die 3.jpg.rendition.intel .web .1920.1080

การปรับปรุงรูปแบบการทำงาน และชุดคำสั่ง

นอกเหนือจากด้านฮาร์ดแวร์ภายในของชิปประมวลผลที่มีการพัฒนาขึ้นแล้ว ด้านกระบวนการทำงานก็มีการปรับปรุงอยู่เสมอด้วยเช่นกัน เช่น

  • ปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบไปป์ไลน์ ให้สามารถรองรับงานพร้อมกันได้มากขึ้น กระจายงานได้เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละคอร์ แต่ละเธรด
  • ปรับปรุงวิธีการเข้าถึงข้อมูลในแคชให้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงปรับปรุงการคาดเดา และวิธีการดึงข้อมูลจาก SSD มายังแคช เพื่อลดปัญหาการไม่พบข้อมูลที่ต้องการในแคช (cache miss) จนทำให้ระบบต้องไปดึงข้อมูลจาก SSD มาบ่อย ๆ ซึ่งการต้องไปดึงมาหลายครั้ง ก็เสียทั้งเวลาและพลังงานไปตามกัน
  • เพิ่มชุดคำสั่งใหม่ให้รองรับกับงานเฉพาะทางได้ดีขึ้น เช่น ชุดคำสั่งที่ทำงานด้านมีเดีย ชุดคำสั่งด้านความปลอดภัย เพื่อลดโหลดการทำงานของส่วนประมวลผลหลักลง
  • เพิ่มโมดูลที่ทำงานเฉพาะทางแบบเจาะจง เช่น โมดูลด้าน neural network ที่ดูแลงานด้าน AI โมดูลด้านการประมวลผลภาพถ่าย เป็นต้น

ทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์หลักก็คือลดภาระงานของส่วนประมวลผลหลักใน CPU โดยแบ่งงานบางส่วนไปให้โมดูลที่ได้รับการออกแบบมาเฉพาะทางกว่า ทำงานได้เร็วกว่าจัดการแทน และลดเวลาในการประมวลผลโดยรวมให้สั้นลง ซึ่งการที่ชิปประมวลผลใช้เวลาในการทำงานน้อยลง ก็ช่วยให้มีการใช้พลังงานที่ลดลงด้วยเช่นกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมชิปประมวลผลรุ่นใหม่ถึงทำงานได้เร็ว ทำงานได้หลายอย่างพร้อมกัน แถมยังกินไฟน้อยกว่าด้วย

m1 chip unified memory architecture speed

นอกจากนี้ยังมีการนำชิปแรมมาติดตั้งรวมอยู่ในแพ็คเกจเดียวกับ CPU อย่างในชิปตระกูล M ของ Apple และเมื่อประกอบกับโมดูลอื่น ๆ ที่นำมาติดตั้งด้วยกันเรียกรวมเป็น System-on-Chip (SoC) เพื่อทำให้ชิปประมวลผลสามารถเข้าถึงข้อมูลในแรมได้เร็วที่สุด ซึ่งก็เช่นเดียวกัน ยิ่งใช้เวลาในการเข้าถึงข้อมูลสั้นเท่าไหร่ ระบบก็ทำงานได้เร็วขึ้นเท่านั้น ทำให้ได้ประสิทธิภาพที่สูง และการกินไฟที่น้อยลงด้วยเช่นกัน

สรุปคือ

เพิ่มส่วนที่ทำงานเฉพาะทางเข้ามา แบ่งโหลด CPU ออกไป งานเลยเสร็จเร็วขึ้น ใช้ไฟน้อยลง

มีการปรับปรุงด้านสถานะของการ sleep และ idle ใหม่

ปกติแล้ว CPU จะไม่ได้ทำงานแบบเต็มศักยภาพ 100% ตลอดเวลา แต่จะมีการปรับระดับการทำงานให้เหมาะสมกับความจำเป็น เช่นถ้าเป็นการเปิดเครื่องให้สแตนด์บายทิ้งไว้ ชิปประมวลผลอาจจะทำงานแค่ไม่เกิน 10% ก็ได้ ขึ้นอยู่กับ process เบื้องหลังที่ทำงานอยู่ หรือถ้าเป็นชิปประมวลผลแบบใหม่ ๆ เช่นของ Intel ใน Gen 12 และ 13 ที่มีการแบ่งประเภทคอร์เป็นคอร์ประสิทธิภาพสูง (performance core หรือ P-Core) กับคอร์ที่ใช้ทำงานทั่วไป เน้นประสิทธิภาพต่อพลังงานที่สูง (efficiency core หรือ E-Core) โดยในการทำงานปกติ งานที่ไม่ต้องใช้พลังงานประมวลผลที่สูง ก็จะใช้งาน E-Core เป็นหลัก ซึ่งมีพลังที่เพียงพออยู่แล้ว ส่วนถ้าต้องใช้งานที่หนักขึ้น เช่น การเล่นเกม การเรนเดอร์ การคำนวณที่ซับซ้อน ก็จะส่งงานไปให้ P-Core ทำแทน เมื่อทำเสร็จก็ปรับสถานะไปเป็น idle ที่ช่วยลดการกินไฟโดยรวมของระบบลง แต่ยังได้ประสิทธิภาพที่เหมาะกับการทำงานขณะนั้นอยู่

นอกจากการเปิดใช้งานจำนวนและประเภทคอร์เท่าที่จำเป็นแล้ว ชิปประมวลผลยังสามารถปรับระดับความเร็วให้เหมาะสม ซึ่งก็จะสัมพันธ์กับระดับแรงดันไฟได้ด้วย ซึ่งในฝั่ง Intel จะใช้ชื่อเทคโนโลยีว่า SpeedStep ส่วนฝั่ง AMD ก็คือ Cool’n’Quiet

newsroom intel 13th gen p series closeup 5.jpg.rendition.intel .web .1920.1080

ส่วนเรื่อง state การทำงานที่สัมพันธ์กับการใช้พลังงานของ CPU จะใช้ชื่อเรียกว่า C-state ตามมาตรฐาน ACPI อย่างในชิป Intel Gen 13 จะรองรับระดับสถานะการทำงานของคอร์ได้ถึง 6 ระดับคือ C0, C1, C1E, C6, C8 และ C10 ที่แต่ละระดับก็จะมีรูปแบบการทำงาน และการใช้พลังงานที่ต่างกัน สรุปคร่าว ๆ ดังนี้

  • C0 – ทำงานตามปกติ
  • C1 – หยุดการประมวลผลของคอร์ไว้แบบอัตโนมัติ (AutoHalt)
  • C1E – ตัวคอร์ยังจัดว่าอยู่ใน state C1 แต่ปรับความเร็วและลดแรงดันไฟลงระดับต่ำสุดที่ยังทำงานได้
  • C6 ,C8 และ C10 – ย้ายข้อมูลจากแคชระดับ L1 และ L2 ไปไว้ใน L3 ที่ทุกคอร์แชร์ใช้งานร่วมกัน แล้วบันทึกสถานะการทำงานลงใน SRAM จากนั้นจึงลดแรงดันไฟของคอร์นั้นลง โดยอาจลดจนเหลือ 0V เพื่อปิดการทำงานของคอร์นั้นไปเลย ขึ้นอยู่กับความลึกของ state

นอกจากนี้ก็ยังมีการแบ่ง state ของแพ็คเกจต่าง ๆ ที่อยู่ในชิปประมวลผล (Package C-state) และก็ state ของระบบอีก ซึ่งเมื่อผสมผสานกัน ก็ทำให้ระบบสามารถจัดการด้านการใช้พลังงานได้ละเอียดมากขึ้น อย่างในตารางด้านล่างนี้

Screenshot 2023 07 17 at 1.53.56 PM

G-state นั้นคือสถานะของคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ ส่วน S-state เป็นสถานะการลดการใช้พลังงานลง (sleep state) ถ้าจะให้เข้าใจง่ายก็คือระดับขั้นของการหลับก็ว่าได้ ซึ่งเมื่อจับนำมาแมตช์กับ C-state ของชิปประมวลผลก็จะทำให้ระบบมีทางเลือกในการปรับระดับการทำงาน และระดับการกินไฟได้หลากหลายกว่าที่ผ่านมา ที่อาจไม่ได้มีการแบ่งให้ละเอียดเท่าในปัจจุบัน จึงทำให้สามารถปรับระดับความเร็ว และการใช้พลังงานได้ละเอียด และตรงกับที่ต้องการมากขึ้น หากต้องการอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถคลิกเข้าไปดาวน์โหลดไฟล์ datasheet จาก Intel ได้เลยครับ

สรุปคือ

ปรับปรุง state ของชิปและระบบให้หลากหลายขึ้น รองรับการปรับความเร็ว และลดการใช้ไฟลงได้ตามต้องการกว่าที่เคย

ระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ที่สนับสนุน CPU ได้ดีขึ้น

นอกจากตัวชิปเองที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอยู่เสมอแล้ว ฝั่งของระบบปฏิบัติการเองก็ได้รับการออกแบบให้สนับสนุนการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในชิปประมวลผลด้วยเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดสุดก็คือช่วงยุคเปลี่ยนผ่านจากชิปที่มีคอร์เดียว แต่มี Hyper-Threading ช่วยเสริม มาเป็นยุคที่มีมากกว่า 1 คอร์แบบเต็มตัว ซึ่งตัว OS และซอฟต์แวร์ในช่วงแรกนั้นยังไม่รองรับการทำงานแบบเต็มที่ โดยเฉพาะเกม ที่บางครั้งก็ส่งงานไปหนักอยู่ที่คอร์ใดคอร์หนึ่ง ส่วนที่เหลือก็แทบไม่มีงานให้ประมวลผลเลย เราจึงเห็นว่าประสิทธิภาพของระบบมันไม่สูงขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

Screenshot 2023 07 17 155024

แต่หลังจากนั้น ฝั่งผู้ผลิต OS โดยเฉพาะรายใหญ่อย่าง Microsoft ก็ออกแบบ OS ให้รองรับการทำงานแบบหลายคอร์มากขึ้น โดยเฉพาะระบบการกระจายงานให้เหมาะสม แบบที่เห็นได้ชัดก็คือตั้งแต่หลังยุค Windows Vista ขึ้นมา ที่มีการปรับจูน ปรับแต่งระบบให้รับมือกับชิปที่มีหลายคอร์ได้ดีขึ้นกว่าสมัย Windows XP แต่ก็มาพร้อมการใช้ทรัพยากรที่สูงแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะมาเริ่มลงตัวในยุค Windows 7

ซึ่งเมื่อ OS และชิปประมวลผลสามารถช่วยกันจัดการแบ่งงาน แบ่งโหลดไปยังแต่ละคอร์ได้เหมาะสม ก็ทำให้สามารถทำงานให้เสร็จได้เร็วขึ้น ใช้พลังงานโดยรวมน้อยลงด้วย ดังนั้น สำหรับการใช้งานทั่วไป ที่ไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมเฉพาะทาง จึงควรเลือกใช้ OS รุ่นล่าสุด ที่มีการอัปเดตอย่างสม่ำเสมอเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ฮาร์ดแวร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบไปพร้อมกัน

สรุปคือ

OS รุ่นใหม่ ๆ มีการออกแบบให้สนับสนุนการทำงานแบบหลายคอร์ของชิปรุ่นใหม่ได้ดีขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพสูง งานเสร็จเร็ว กินไฟโดยรวมลดลง

ซึ่งเมื่อประกอบกันทั้งหมด จึงเป็นสาเหตุให้ชิปประมวลผลรุ่นใหม่ ๆ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แรงกว่าเดิม พร้อมกับการใช้พลังงานที่ต่ำกว่า ซึ่งการใช้ไฟที่ต่ำกว่า ยังส่งผลถึงความร้อนที่ปล่อยออกมาระหว่างการทำงานที่ลดลงด้วย ในปัจจุบันเราจึงได้เห็นโน้ตบุ๊กเครื่องบางเบา มาพร้อมชิปประสิทธิภาพสูง มีจำนวนคอร์ที่เยอะขึ้น แถมยังใช้แบตเตอรี่ได้ยาวนานหลายชั่วโมงอีกด้วย ส่วนในฝั่งของเครื่องเดสก์ท็อป ที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องความร้อนที่ลดลง จนสามารถจับใส่เคสขนาดเล็กได้ ทั้งยังรองรับการโอเวอร์คล็อกได้ดีขึ้น และง่ายกว่าที่เคยมีมา

 

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Notebook Review

Gigabyte G6X 9KG ตัวแรงรุ่นใหม่เอาใจเกมเมอร์ขั้นสุด ดุดันทรงพลังไม่ถึงครึ่งแสน!! เกมเมอร์หลายคนอาจติดภาพ Gigabyte ว่าเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์คอมชั้นนำของโลก แต่ฝั่งเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คก็ถือว่าเด็ดดวงไม่แพ้กัน เช่น Gigabyte G6X 9KG ซึ่งเป็นภาคต่อของ Gigabyte G5 MD ซึ่งยืนพื้นราคาไว้ดีเท่าเดิมโดยจับคู่ซีพียู Intel รุ่นที่ 13 กับการ์ดจอ NVIDIA GeForce...

PR-News

บริษัท อินเทล คอร์ปอเรชั่น ประกาศแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายขาย การตลาด และการสื่อสาร (Sales, Marketing and Communications Group: SMG) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก-ญี่ปุ่น (APJ) และภูมิภาคอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของอินเทล สำหรับภูมิภาค APJ อินเทลได้ประกาศแต่งตั้ง นายฮานส์ ฉวง (Hans Chuang) ขึ้นดำรงตำแหน่ง...

Buyer's Guide

โน๊ตบุ๊คเล่นเกมรุ่นใหม่ก็มา รุ่นเก่าสเปคเด็ดก็มี ถ้าใครอยากเปลี่ยนเครื่องอยู่นาทีนี้มีรุ่นน่าโดนให้เลือกเพียบ! จะปี 2024 นี้หรือปีไหนโน๊ตบุ๊คเล่นเกมก็ยังคงเป็นตัวเลือกขวัญใจใครหลายคนเพราะประสิทธิภาพดี ทรงพลังเหลือเฟือไม่ว่าจะงานเบาๆ ทำเอกสารไปจนตัดต่อคลิปและงาน 3D ก็ไหว เล่นเกมก็ได้สบายๆ ยิ่ง 2~3 ปีมานี้ พอเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ซีพียูกับจีพียู็ยิ่งทรงพลังก็ทำให้เกมเมอร์และครีเอเตอร์ที่ไม่อยากเสียเวลาประกอบพีซีให้วุ่นวายเลือกตัดปัญหาทั้งหมดโดยซื้อโน๊ตบุ๊คเล่นเกมสเปคแรงมาใช้แทน แถมได้เปรียบว่าพกพาสะดวกหยิบไปทำงานได้ กลับบ้านต่อหน้าจอแยกก็เล่นเกมชั้นนำได้ดีพอตัว นอกจากสเปคแล้ว ในปี 2024 ที่ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น หลายแบรนด์ก็เสริม AI...

รีวิว Asus

ASUS ZenBook 14 OLED UM3406H พรีเมี่ยมโน๊ตบุ๊คพร้อมพลัง Ryzen AI ทำงานได้ เนียนเล่นเกมลื่นอีก!! ถ้าจะซื้อโน๊ตบุ๊กสักเครื่อง ก็จะมีทางเลือกแค่เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหนาหนักแต่แรงทรงพลังหรือเป็นกลุ่มโน๊ตบุ๊คบางเบาเช่นเดียวกับ ASUS Zenbook 14 OLED UM3406H ทว่ามันจะไม่ติดข้อจำกัดเดิมว่าเล่นเกมไม่ไหวอีกต่อไปด้วยพลังของซีพียู AMD Ryzen 8000 Series พร้อม Ryzen...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก