โน้ตบุ๊กหลายรุ่นในปัจจุบัน มักมาพร้อมพอร์ต USB-C ที่สามารถชาร์จไฟให้กับแบตเตอรี่ของเครื่องได้ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความสะดวกในการใช้งานแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้ในการเลือกซื้ออะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กมาใช้งานด้วยตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งในตอนนี้ เทคโนโลยีด้านฝั่งอะแดปเตอร์เองก็มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของความเร็ว ความยืดหยุ่นในการชาร์จ ไปจนถึงการทำให้ขนาดเล็กลง ถ่ายเทความร้อนได้ดีขึ้น เป็นต้น
ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่าถ้าจะซื้ออะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กเอง มาใช้กับเครื่องที่รองรับการชาร์จผ่านพอร์ต USB-C ได้ ควรจะพิจารณาในเรื่องใดบ้าง รวมถึงเทคโนโลยี GaN และ PD หรือ USB-PD ที่ผู้ผลิตมักเขียนไว้ในหน้าสเปคและการโฆษณานี่มันคืออะไร ควรต้องมีหรือเปล่า
GaN คืออะไร?
GaN ย่อมาจาก Gallium Nitride (แกลเลียม ไนไตรด์) เป็นชื่อของสารกึ่งตัวนำ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตชิป IC โดยมีข้อดีที่เหนือกว่าวัสดุเดิมที่ผลิตโดยใช้ซิลิคอนเป็นส่วนประกอบหลักในหลาย ๆ ด้าน อาทิ
- มีประสิทธิภาพ และอัตราการแปลงพลังงานไฟฟ้าที่ดีกว่า เนื่องจากตัววัสดุมีความต้านทานต่อแรงดันไฟฟ้าที่ต่ำกว่าซิลิคอน โดยจากในการทดสอบเชิงวิชาการ พบว่าอะแดปเตอร์ GaN สามารถแปลงไฟจาก 48V เหลือ 12V ได้โดยมีประสิทธิภาพขณะพีคสูงสุดถึง 96.3% และขณะฟูลโหลดสูงถึง 93.8%
- มีความร้อนในขณะทำงานที่ต่ำกว่า
- จากทั้งสองข้อข้างต้น ทำให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กลง ส่วนหนึ่งคือไม่จำเป็นต้องมีชุดระบายความร้อนขนาดใหญ่ ต้นทุนโดยรวมถูกลงด้วย
ด้วยคุณสมบัติที่เด่น ๆ ในด้านของการแปลงพลังงานไฟฟ้า ประสิทธิภาพที่สูง การสูญเสียพลังงาน และการปล่อยความร้อนที่ต่ำ จึงทำให้ GaN ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับหลายอุปกรณ์ในกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่
- งาน Data center – ใช้ใน UPS และ power supply ที่ติดตั้งกับตู้แร็ค
- ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในยานพาหนะ – ระบบชาร์จไฟแบบออนบอร์ด, ตัวแปลงไฟ DC/DC, ระบบ LIDAR รวมถึงระบบชาร์จไร้สายด้วย
- อุปกรณ์สำหรับผู้บริโภคทั่วไป – อะแดปเตอร์แปลงและชาร์จจากไฟ AC, power supply รวมถึงแอมป์คลาส D สำหรับระบบเครื่องเสียงที่ต้องใช้ไฟปริมาณมาก และยังช่วยลด jitter ในระบบเครื่องเสียงได้ด้วย
- งานที่เกี่ยวกับพลังงาน – ระบบจัดเก็บพลังงาน และระบบแปลงไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์
- งานภาคอุตสาหกรรม – ตัวขับเคลื่อนมอเตอร์, อินเวอร์เตอร์, ปั๊ม, หุ่นยนต์และโดรน
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใกล้ตัวที่สุดที่นำ GaN มาใช้งานก็คือพวกอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊ก อะแดปเตอร์ชาร์จมือถือที่เริ่มมีราคาจับต้องได้ง่ายขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยในยุคแรกเริ่มก็จะรองรับการจ่ายไฟหลักสิบวัตต์เท่านั้น ซึ่งเพียงพอสำหรับการชาร์จสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และแก็ดเจ็ตต่าง ๆ ได้ดี แต่มาในช่วงหลังนี้ เราได้พบกับอะแดปเตอร์ GaN ที่สามารถจ่ายไฟได้หลักร้อยวัตต์ ทำให้สามารถใช้เป็นอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กได้สบาย แถมยังสามารถใช้กับเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่กินไฟมากบางรุ่นได้เลยด้วยซ้ำ จึงทำให้ GaN เป็นเทคโนโลยีที่จะมองข้ามไม่ได้เลย สำหรับการเลือกซื้ออะแดปเตอร์ชาร์จไฟในปัจจุบัน
โดยในช่วงที่ผ่านมาอะแดปเตอร์ชาร์จไฟที่ใช้ GaN ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ จนล่าสุดมาอยู่ที่เวอร์ชัน GaN5 Pro ที่หลัก ๆ แล้วจะเป็นการปรับปรุงบอร์ดชาร์จ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการชาร์จให้สูงขึ้น มีความร้อนจากการสูญเสียในการแปลงพลังงานน้อยลง และใช้พื้นที่ในการจัดวางอุปกรณ์ที่น้อยกว่าเดิม
USB-PD หรือ PD คืออะไร?
แต่ก่อน เวลาเราจะเลือกซื้อมือถือหรืออะแดปเตอร์ชาร์จไฟ ชื่อเทคโนโลยีการชาร์จเร็วมักจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการพิจารณา เพราะมือถือแต่ละแบรนด์ ชิปแต่ละผู้ผลิต มักจะรองรับมาตรฐานการชาร์จเร็วของตนเองเป็นหลัก เช่น มือถือที่ใช้ชิปจาก Qualcomm ก็มักจะรองรับการชาร์จเร็วมาตรฐาน QuickCharge ของ Qualcomm เองเป็นหลัก ส่วนมือถือชิป MediaTek ก็จะมี Pump Express
สำหรับฝั่งผู้ผลิตมือถือเอง บางแบรนด์ก็จะมีเทคโนโลยีของตนเอง เช่น VOOC ของ OPPO และเทคโนโลยี FCP ของ Huawei เป็นต้น ทำให้เวลาจะเลือกซื้ออะแดปเตอร์ชาร์จเองจะค่อนข้างยากนิดนึง เพราะนอกจากจะต้องพิจารณาเรื่องเทคโนโลยีที่รองรับดี ๆ แล้ว บางทียังต้องระวังอะแดปเตอร์เลียนแบบอีก เลยทำให้เกิดการซื้อผิด ซื้อมาแล้วชาร์จเร็วไม่ได้ ซื้อมาแล้วไม่ขึ้น Super Fast เป็นต้น
จึงทำให้ทาง USB-IF ที่เป็นองค์กรจัดการมาตรฐานทางเทคนิคเกี่ยวกับพอร์ต USB ได้พัฒนามาตรฐานการจ่ายไฟ การชาร์จเร็วผ่านพอร์ต USB-C ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางให้ผู้ผลิตสามารถนำไปใช้ได้ โดยใช้ชื่อว่า USB Power Delivery หรือเรียกย่อ ๆ ว่า USB PD หรือถ้าย่อลงไปอีกก็เหลือแค่ PD และในปัจจุบัน อุปกรณ์ USB-C ที่รองรับการชาร์จเร็ว และอุปกรณ์เสริม เช่น สายชาร์จ อะแดปเตอร์ พาวเวอร์แบงค์จำนวนมากในท้องตลาด ก็รองรับ USB PD กันแทบทั้งหมดแล้ว ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเลือกซื้ออุปกรณ์ได้ง่ายขึ้นกว่าที่เคย และทางผู้ผลิตก็ประหยัดต้นทุนลงด้วยเช่นกัน
วิธีการทำงานของ USB PD
โดยหลักเลย USB PD คือโปรโตคอล ซึ่งเปรียบเสมือนภาษากลางในการสื่อสารกันระหว่างสองอุปกรณ์ ที่จะเปิดให้คุยกันเองว่าแต่ละฝั่งมีความสามารถในการจ่ายและรับไฟได้อย่างไรบ้าง ทั้งส่วนของกระแส (I หน่วยเป็นแอมป์) แรงดัน (V หน่วยเป็นโวลต์) และกำลังไฟฟ้า (P หน่วยเป็นวัตต์) เพื่อหาจุดลงตัวที่ทั้งสองฝั่งมีร่วมกัน และจัดการเรื่องการจ่ายไฟให้เหมาะสมที่สุดในแต่ละสถานการณ์
ตัวอย่างเช่น ถ้าอุปกรณ์ A รองรับการชาร์จเร็วได้สูงสุด 15V 3A และคุยกับอะแดปเตอร์ที่รองรับ 15V 3A เท่ากัน แรกเริ่มสุดก่อนที่จะคุยกันจบ ตัวอะแดปเตอร์จะเลือกจ่ายไฟในระดับที่ปลอดภัยก่อน นั่นคือที่ 5V 0.5A หรือ 5V 0.9A พอคุยกันเสร็จ ก็จะจ่ายไฟเข้าไปตามระดับที่กำหนด แต่พอเมื่อชาร์จแบตได้ซัก 80% แล้ว ตัวอุปกรณ์ A อาจจะมีฟังก์ชันปรับลดอัตราการชาร์จไฟลง เพื่อถนอมแบต ก็จะคุยกับอะแดปเตอร์อีกที ว่ารอบนี้ขอแค่ 5V 1A พอ อะแดปเตอร์ก็จะปรับลดไฟลงตามที่อุปกรณ์สั่งมา
โดยเมื่อปี 2018 ทาง USB IF ได้ประกาศมาตรฐาน USB PD revision 3.0 ออกมา ซึ่งมีการเพิ่มฟีเจอร์ Programmable Power Supply (PPS) เข้ามาในช่วงการจ่ายไฟระดับมาตรฐานด้วย เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการจ่ายไฟ ทำให้ระบบสามารถปรับแต่งการจ่ายกำลังไฟได้ละเอียดถึงระดับ 0.02V ในขณะที่กำลังชาร์จไฟอยู่
เมื่อช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา ทาง USB-IF ได้ประกาศอัปเดตมาตรฐานล่าสุดของ USB PD เป็น Revision 3.1 พร้อมกับมาตรฐาน USB-C Release 2.1 ซึ่งจุดที่น่าสนใจก็เช่น
- เพิ่มโหมด Extended Power Range (EPR) รองรับกำลังไฟสูงสุดถึง 240W รวมถึงรองรับแรงดันไฟฟ้าที่ระดับ 28V (140W), 36V (180W) และ 48V (240W) ที่กระแสไฟ 5A
- เพิ่มโหมด Adjustable voltage supply (AVS) เข้ามาใน EPR ด้วย ให้อุปกรณ์สามารถขอเพิ่มแรงดันไฟในระดับ 0.1V ได้ คล้ายกับ PPS แต่จะทำงานในช่วง EPR ที่การจ่ายไฟระดับ 15V, 28V, 36V และ 48V เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายไฟให้สูง และควบคุมอุณหภูมิให้ได้เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เพิ่มเติมอีกนิด สำหรับการใช้งาน USB PD มาตรฐานล่าสุดที่จ่ายไฟได้ 240W นี้ นอกจากอุปกรณ์ทั้งสองฝั่งที่ต้องรองรับแล้ว สายก็จะต้องเป็นแบบที่ผ่านการรับรองว่ารองรับ EPR ด้วยเช่นกัน โดยอาจจะมีระบุว่า EPR Mode Capable หรือระบุไว้เลยว่ารองรับ USB Power Delivery Specifications 3.1 เนื่องจากจะต้องมีการออกแบบสายที่พิเศษยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการช็อตระหว่างขั้นตอนการพูดคุยของสองอุปกรณ์ และการช็อตที่อาจเกิดขึ้นตอนถอดสายออกจากอุปกรณ์ด้วย
สำหรับอะแดปเตอร์ชาร์จ USB PD ที่มีขายทั่วไปในปัจจุบัน ก็จะมีให้เลือกอย่างหลากหลาย ตามระดับกำลังไฟสูงสุดที่รองรับ เช่น 20W 33W 65W 100W 120W เป็นต้น รวมถึงตามพอร์ตชาร์จที่ให้มาด้วย ซึ่งทุกรุ่นจะต้องมี USB-C มาอย่างน้อย 1 ช่อง และก็จะเป็นช่องที่รองรับการจ่ายไฟได้สูงสุดด้วยเช่นกัน สนนราคาเริ่มต้นก็ไม่แพงมากด้วย ทำให้ USB PD กลายเป็นมาตรฐานที่ตอบโจทย์การใช้งานมือถือ โน้ตบุ๊กในยุคปัจจุบันมาก ๆ เพราะทำให้สามารถลงทุนซื้ออะแดปเตอร์ชิ้นเดียว เพื่อนำมาใช้ชาร์จได้กับแทบทุกอุปกรณ์ที่มีเลย เหมาะสำหรับคนที่ต้องเดินทางบ่อย ๆ แทนที่จะต้องพกหัวชาร์จมือถือ อะแดปเตอร์โน้ตบุ๊ก สายชาร์จแยกกันให้วุ่นวาย ก็เปลี่ยนมาซื้ออะแดปเตอร์ USB PD ที่จ่ายไฟได้เพียงพอเพียงชิ้นเดียวจบเลย
USB PD + GaN = อะแดปเตอร์ที่ลงตัว
ในเมื่อ USB PD เป็นมาตรฐานกลางที่ควบคุมเรื่องการจ่ายไฟได้อย่างยืดหยุ่น และจ่ายไฟได้กำลังที่สูงมาก และ GaN ก็เป็นเทคโนโลยีเชิงวัสดุที่ให้ประสิทธิภาพในการแปลงไฟ การถ่ายเทความร้อนที่ดี และใช้พื้นที่ในการวางอุปกรณ์น้อยกว่า ทำให้เมื่อจับทั้งสองมารวมกัน เราจึงได้อะแดปเตอร์ชาร์จไฟที่มีขนาดเล็ก แต่จ่ายไฟได้กำลังสูง และมีความร้อนระหว่างการทำงานที่น้อยด้วย ซึ่งลงตัวมากกับไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งานยุคใหม่ ที่มักมีอุปกรณ์มากกว่าหนึ่งชิ้น และอาจต้องพกอะแดปเตอร์ไปไหนมาไหน รวมถึงคนที่ทำงานแบบไฮบริดและ WFA
อย่างในภาพด้านบน เป็นอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊ก/มือถือที่จ่ายไฟได้สูงสุด 65W รองรับ USB PD 3.0 และ GaN ในตัว จะสังเกตได้ว่ามันมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กทั่วไปที่เราคุ้นเคย จึงทำให้อะแดปเตอร์แนวนี้กำลังเป็นที่นิยมสำหรับคนที่ใช้โน้ตบุ๊กรุ่นไม่เก่ามากนัก ที่ตัวเครื่องรองรับการชาร์จผ่านพอร์ต USB-C
การเลือกอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กแบบ USB-C ที่มี USB PD และ GaN
สำหรับการเลือกซื้ออะแดปเตอร์กลุ่มนี้ในปี 2023 มีจุดที่ต้องพิจารณาหลัก ๆ อยู่สองสามข้อ ดังนี้
1) มาตรฐานที่รองรับ และกำลังไฟ
แน่นอนว่าจะต้องเลือกอะแดปเตอร์ USB-C ที่ระบุว่ารองรับ USB PD ไว้ก่อนเป็นอันดับแรก ถัดมาก็ดูเรื่องของกำลังไฟว่าสามารถจ่ายได้สูงสุดเท่าไหร่ ส่วนเทคโนโลยี GaN อันนี้จะมีปัจจัยเรื่องราคาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะถ้าเทียบอะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟได้สูงสุดเท่ากัน ตัวที่มี GaN ด้วย มักจะมีราคาสูงกว่า หรือจะมีกรณีที่ราคาใกล้เคียงกัน แต่ตัวที่มี GaN ก็อาจจะให้พอร์ตชาร์จมาน้อยกว่า เป็นต้น
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งานด้วย ว่าต้องการอะแดปเตอร์น้ำหนักเบาขนาดไหน ต้องพกพาบ่อยหรือเปล่า ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มนี้ ก็แนะนำว่าลงทุนซื้อรุ่นที่มี GaN ด้วยเลยจะดีกว่า เพราะน้ำหนัก และขนาดมันต่างกันพอสมควรทีเดียว เมื่อเทียบในกลุ่มอะแดปเตอร์ที่จ่ายไฟได้เท่า ๆ กัน
สำหรับการเลือกอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊ก ก็ต้องดูก่อนว่าอะแดปเตอร์เดิมที่แถมมากับเครื่อง สามารถจ่ายไฟได้สูงสุดเท่าไหร่ (ดูจาก W ของหัวข้อ Output เป็นหลัก ส่วน V กับ A ใช้ดูเสริมก็ได้) จากนั้นก็เลือกซื้อตามเลยครับ โดยจะซื้อให้ W เท่ากัน หรือมากกว่าก็ได้ยิ่งดี
ตัวอย่างในภาพข้างบน ตรงหัวข้อ OUTPUT ของอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กเครื่องนี้ระบุไว้ว่าสามารถจ่ายไฟได้สูงสุด 20V 16.5A คิดเป็น 330W ดังนั้นถ้าจะหาอะแดปเตอร์ USB PD+GaN มาใช้ ก็ควรจะเลือกรุ่นที่จ่ายไฟได้สูงสุดตั้งแต่ 330W ขึ้นไป (ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี แต่ขอยกภาพนี้มาเป็นตัวอย่าง เพราะเห็นข้อมูลการจ่ายไฟของอะแดปเตอร์ได้แบบชัดเจนที่สุด)
แต่ก็จะมีอะแดปเตอร์บางส่วนที่ระบุไว้ไม่ครบถ้วนเท่าไหร่ บอกแค่ค่า V กับ A ในกรณีนี้สามารถนำสองค่านี้มาคูณกันได้เลย ซึ่งจะได้ออกมาเป็นค่า W ทันทีครับ ตัวอย่างก็เช่น 20V x 16.5A = 330W พอดีเช่นกัน ตามสูตรการหาค่ากำลังไฟฟ้า P = VI (กำลังไฟฟ้า = แรงดันไฟฟ้า x กระแสไฟฟ้า)
หรือถ้าตัวอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กไม่ได้บอกแบบละเอียดมากนัก เชื่อว่าอย่างน้อยก็ต้องมีบอกกำลังไฟไว้ว่าจ่ายได้สูงสุดกี่วัตต์ เช่นในภาพนี้ก็บอกไว้ว่า 96W แบบนี้ก็ง่ายเลย สามารถหาซื้ออะแดปเตอร์ 100W มาใช้ได้ทันที ราคาเริ่มต้นก็จะอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทนิด ๆ ส่วนถ้าเป็น 65W แบบ GaN ก็จะอยู่ที่ครึ่งพันเป็นต้นไป
แต่ที่สำคัญสุดเลยคือต้องดูว่าโน้ตบุ๊กที่ใช้งาน สามารถชาร์จแบตผ่านพอร์ต USB-C ของเครื่องได้หรือไม่ ซึ่งวิธีการดูแบบง่ายที่สุดก็เช่น
- ถ้าอะแดปเตอร์ที่แถมมากับเครื่องเป็นแบบชาร์จกับพอร์ต USB-C อยู่แล้ว แสดงว่าใช้ได้แน่นอน โดยมากแล้วมักจะเป็นในกลุ่มโน้ตบุ๊กเน้นดีไซน์บางเบา กินไฟระดับกลาง ๆ
- ถ้ามีสัญลักษณ์รูปแท่งแบตเตอรี่อยู่ใกล้ ๆ พอร์ต USB-C แสดงว่าพอร์ตนั้นรองรับ USB PD
- ถ้ามีสัญลักษณ์รูปสายฟ้าอยู่ใกล้ ๆ พอร์ต USB-C แสดงว่าพอร์ตนั้นรองรับ Thunderbolt และ USB PD ด้วย
- เช็คจากคู่มือ หรือบนหน้าเว็บไซต์ของผู้ผลิต โดยถ้าจะให้ดี คือควรหาให้ตรงตามรหัสรุ่นย่อยแบบเป๊ะ ๆ จะดีที่สุด
- สุดท้าย คือทดลองเอาอะแดปเตอร์ชาร์จและสาย USB-C มาเสียบกับพอร์ตที่เครื่องเลย ถ้าไฟเข้าก็คือรองรับ แต่ไม่ค่อยแนะนำวิธีนี้เท่าไหร่ครับ และตามปกติมันจะต้องมีข้อมูลระบุซักข้อใดข้อหนึ่ง จากในสามข้อแรกอยู่แล้ว
2) กำลังไฟที่จ่ายได้ต่อพอร์ต
ข้อนี้จะเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเมื่อเลือกซื้ออะแดปเตอร์แบบที่มีพอร์ตชาร์จในตัวหลายช่อง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว เลขกำลังไฟสูงสุดที่ระบุ จะเป็นกำลังไฟสูงสุดของอะแดปเตอร์ตัวนั้น ถ้ามี 2 พอร์ตและใช้งานพร้อมกัน ก็จะแชร์กำลังไฟไป
ตัวอย่างเช่น อะแดปเตอร์ 65W ด้านบนมี 2 พอร์ต ถ้าเสียบสายชาร์จแค่ช่องเดียว ก็จะสามารถจ่ายไฟผ่านช่องนั้นได้ 65W เต็ม ๆ แต่ถ้าเสียบพร้อมกันสองช่องเลย ระบบก็จะแบ่งไฟไปที่ช่องบน 45W ช่องล่าง 20W ซึ่งก็รวมกันเป็น 65W ตามเดิม ตามความสามารถสูงสุดของอะแดปเตอร์ชิ้นนั้น ๆ
ทำให้เวลาจะเลือกซื้อ โดยเฉพาะการเลือกอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กแบบที่มีหลายพอร์ตในตัว เราจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมด้วยว่าแต่ละช่องจะมีการแชร์กำลังไฟไปเท่าไหร่ ถ้าต้องการชาร์จโน้ตบุ๊ก เราสามารถเสียบชาร์จอุปกรณ์อื่นไปพร้อมกันได้หรือเปล่าและเสียบได้กี่ช่อง ซึ่งถ้าเราจำเป็นต้องเสียบสายเพื่อชาร์จพร้อมกันมากกว่า 1 ช่องจริง ๆ การเลือกซื้ออะแดปเตอร์ที่กำลังไฟเท่าของเดิมคงจะไม่พอ ต้องขยับไปหาอะแดปเตอร์ USB PD/GaN ที่จ่ายไฟได้สูงกว่าเดิม เช่น ถ้าอะแดปเตอร์เดิมของโน้ตบุ๊กเป็นแบบ 65W ทีนี้พอจะซื้ออันใหม่ แล้วจำเป็นต้องเสียบชาร์จแท็บเล็ตและมือถือพร้อมกันด้วย อาจจะต้องไปเลือกรุ่นที่จ่ายไฟได้ถึงระดับ 100W ขึ้นไปแทน เพื่อให้สามารถจ่ายไฟให้กับทุกอุปกรณ์พร้อมกันได้เพียงพอ
ซึ่งในตอนนี้ทางผู้ผลิตและผู้ขายก็มักมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่ดีขึ้นมาก บางรายมีภาพประกอบให้ดูเลย ว่าถ้าเสียบช่องเดียวจ่ายไฟได้เท่าไหร่ เสียบสองช่อง แต่ละช่องได้เท่าไหร่บ้าง หรือถ้าเสียบทุกช่องพร้อมกันหมด จะแบ่งไฟออกมาเป็นรูปแบบไหน ซึ่งช่วยให้สามารถเลือกและตัดสินใจได้ง่ายขึ้นมากทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่ควรรู้เลยคือ อุปกรณ์ของเรากินไฟขณะชาร์จสูงสุดเท่าไหร่บ้าง ซึ่งปกติก็สามารถดูได้จากอะแดปเตอร์ที่แถมมากับแต่ละเครื่อง หรือทางเว็บไซต์ของผู้ผลิต
3) ฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย
ในการเลือกซื้ออะแดปเตอร์โน้ตบุ๊ก รวมถึงอะแดปเตอร์ USB-PD/GaN ปัจจัยด้านความปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเช่นกัน เพราะการจ่ายไฟที่วัตต์ แรงดัน กระแสสูง ๆ ย่อมมีความเสี่ยงอันตรายที่สูงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ที่ได้รับการพูดถึงบ่อย ๆ ก็เช่น
- ฟังก์ชันป้องกันการจ่ายแรงดันไฟสูงเกิน (overvoltage)
- ฟังก์ชันป้องกันการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงเกิน (overcurrent)
- ฟังก์ชันป้องกันการลัดวงจร (short-circuit)
- ฟังก์ชันป้องกันอุณหภูมิสูงเกินไป
- การออกแบบและเลือกวัสดุที่ป้องกันการลามของไฟ
ซึ่งถ้าเป็นอะแดปเตอร์ของแท้จากผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน ส่วนใหญ่ก็จะมีการระบุฟังก์ชันด้านความปลอดภัยมาให้อยู่แล้ว
การมาถึงของฟังก์ชัน USB PD และเทคโนโลยี GaN ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถหาซื้ออะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กสำรอง หรือใช้ร่วมกับอะแดปเตอร์ที่แถมมากับเครื่องได้ง่ายขึ้นมาก ต่างจากเมื่อก่อนที่มักจะต้องเลือกให้ตรงยี่ห้อ ตรงรุ่นแบบ 100% ถึงจะใช้ได้ หรือไม่ก็ซื้อแบบที่แถมหัวต่อมาสารพัดรูปแบบ ที่สุดท้ายเราก็ใช้แค่แบบเดียวที่ตรงกับเครื่องเท่านั้นเอง ประกอบกับตอนนี้ อะแดปเตอร์ USB PD/GaN เองก็มีราคาที่จับต้องง่ายมากขึ้น แนะนำว่าลองดูก็ดีครับ สำหรับคนที่กำลังมองหาอะแดปเตอร์โน้ตบุ๊กใหม่ในปี 2023 อย่างน้อย ๆ ก็คือควรเป็นแบบ USB PD เป็นหลักไว้ก่อน ส่วน GaN ก็ขึ้นอยู่กับงบที่มี และความจำเป็นในการพกพาได้เลย