Lexar LPAH100 ฮีตซิ้งค์ดีๆ ยืดอายุ SSD ให้นานขึ้น!
แม้ M.2 NVMe SSD ไม่มีฮีตซิ้งค์ก็ใช้งานได้แต่หลายๆ คนก็ห่วงเรื่องความร้อนตอนใช้งานอยู่ดีและยิ่งถ้าเอาไปใส่เครื่องเกมคอนโซลก็ต้องมีซิ้งค์ด้วย ซึ่ง Lexar LPAH100 ฮีตซิ้งค์ SSD ขนาด M.2 2280 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกับราคาไม่แรงมากแค่ 299~350 บาท ก็หาซื้อมาใช้ได้แล้วและได้อุปกรณ์มาครบเซ็ตพร้อมประกอบใส่เครื่องที่ต้องการได้ทันที ยิ่งถ้าใครใช้คอมพิวเตอร์ทำงานหรือเล่นเกมหลายชั่วโมงต่อวันล่ะก็ การติดฮีตซิ้งค์ให้ M.2 NVMe SSD สักหน่อยนอกจากช่วยลดอุณหภูมิระบายความร้อนให้ตัวชิปเพื่อเพิ่มความเร็ว Sequential Read, Sequential Write ได้แล้ว ยังถนอมอายุตัวชิปไม่ให้ร้อนเกินไปจน NAND Chip เสียหายหรือเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควรอีกด้วย
NBS Verdicts
ฮีตซิ้งค์ SSD จาก Lexar รุ่น LPAH100 ถือเป็นฮีตซิ้งค์สำหรับ M.2 NVMe SSD น่าใช้ไม่ว่าจะเกมเมอร์หรือผู้ใช้ทั่วไปก็ควรมีเอาไว้ แม้หลายๆ คนจะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีก็ได้คอมก็ไม่พังอย่างแน่นอน แต่ถ้ามีก็ยิ่งดีเพราะมันช่วยระบายความร้อนจากชิป NAND Flash ได้ดีมากและลดอุณหภูมิลงไปได้หลายองศา ช่วยยืดอายุชิป SSD ให้ยาวขึ้นอีกหรือจะซื้อไปใช้กับ M.2 NVMe สำหรับเครื่องคอนโซลก็ได้ นอกจากจะระบายความร้อนได้ดียังทำให้เมนบอร์ดดูดีมีความเกมมิ่งเพิ่มขึ้นด้วย แต่จากการทดลองใช้งานและประกอบเข้าเคสคอมดูแล้ว ขอแนะนำให้หาไขควงหัวแม่เหล็กมาใช้ขันน็อตล็อคซิ้งค์จะดีกว่าเพราะหัวน็อตมีขนาดเล็กและอาจตกหายได้ง่ายๆ ถ้าหัวไขควงเป็นแม่เหล็กจะทำงานได้ง่ายขึ้น
ข้อดีของ Lexar LPAH100
- ราคาเพียง 299~350 บาท ก็อัพเกรดให้ M.2 NVMe SSD มีซิ้งค์เท่ารุ่นราคาแพงได้
- อุปกรณ์สำหรับประกอบและอัพเกรดให้มาครบเครื่องพร้อมใช้งานทั้งซิ้งค์และซิลิโคน
- ระบายความร้อนจาก M.2 NVMe SSD ได้ดีมาก ตัวไดรฟ์เย็นลงอย่างเห็นได้ชัด
- ประกอบใช้งานกับเครื่องเกมคอนโซลหรือเกมมิ่งพีซีได้ทั้งคู่ ขนาดพอดีพร้อมใช้งาน
ข้อสังเกตของ Lexar LPAH100
- น็อตของซิ้งค์มีขนาดเล็กและอาจตกหายได้ แนะนำให้หาไขควงหัวแม่เหล็กมาใช้งานจะดีสุด
หัวข้อรีวิว
Specification
รายละเอียดของซิ้งค์ SSD Lexar รุ่น LPAH100 มีรายละเอียดดังนี้
มิติตัวซิ้งค์และน้ำหนัก | 74.5 x 23.80 x 10 มม. น้ำหนัก 45 กรัม |
วัสดุ | อลูมิเนียมอัลลอยด์ |
ขนาดของ SSD ที่แนะนำ | M.2 2280 |
การรับประกัน | 3 ปี |
ราคา | 299~350 บาท |
Unbox&Assemble
กล่องฮีตซิ้งค์ Lexar รุ่นนี้หากเปิดดูข้อมูลหน้าเว็บไซต์ของผู้ผลิตโดยตรง จะเห็นว่าซิ้งนี้ถูกประกอบมาคู่กับ SSD รุ่น Lexar NM800PRO ซึ่งมีความจุตั้งแต่ 512GB~2TB ให้เลือกซื้อและมีขายแยกเป็นซิ้งค์อย่างเดียวด้วย ตัวกล่องมีสีดำด้านหน้ามีรูปสินค้าส่วนด้านหลังเป็นคุณสมบัติของฮีตซิ้งค์โดยเฉพาะ ว่าสเปคเป็นอย่างไรและมีภาพแนะนำการประกอบตัว M.2 NVMe SSD เข้ากับซิงค์ด้วย จะเห็นว่า Lexar แนะนำให้ประกบซิลิโคนแบบแซนด์วิชเข้ากับตัว SSD ทั้งสองด้านก่อนค่อยประกบเข้าซิ้งค์
เมื่อเปิดกล่องแล้วจะเห็นตัวซิ้งค์อยู่ด้านบนพอยกฐานโฟมขึ้นจะมีซองใส่ซิลิโคนแผ่น (Silicone Thermal Pad) 4 แผ่นพร้อมปิดพลาสติกเอาไว้กับไขควงเล็กอีกตัวหนึ่งใส่มาให้ใช้ประกอบเข้ากับ SSD ได้ทันที เรียกว่าแกะกล่องก็พร้อมประกอบเลย แต่เนื่องจากเป็นไขควงทั่วไปไม่ได้เป็นหัวแม่เหล็ก ดังนั้นถ้าจะใช้ขอแนะนำให้เอากล่อง Lexar มารองไว้กันน็อตตกหายจะดีกว่า
วิธีการประกอบตัว M.2 NVMe SSD เข้ากับตัวซิ้งค์แบบแซนด์วิชที่ง่ายสุด แนะนำให้ดูท้ายของตัว M.2 NVMe ด้วยว่าหันด้านเว้าตรงกับด้านเว้าของตัวซิ้งค์หรือไม่ ค่อยเอาซิลิโคนรองซิ้งค์ส่วนล่างแล้วตามด้วย SSD ตัวที่ต้องการและปิดด้วยซิลิโคนอีกชั้น ร่องน็อตระหว่างซิ้งค์ประกบตัวบนกับปีกข้างจะเสมอกันพอดีค่อยขันน็อตใส่เข้าไป ส่วนวิธีขันน็อตง่ายที่สุดแนะนำให้ขันแบบไขว้ทะแยงมุมกันก่อนเพื่อความแข็งแรงไม่หลุดง่ายแล้วค่อยขันด้านที่เหลือเข้าไปให้หมดก็จะใส่ได้แน่นพอดีไม่หลุดง่ายแน่นอน
Test
การทดสอบอุณหภูมิซิ้งค์ Lexar รุ่น LPAH100 จะใช้ Patroit P300 ความจุ 1TB เป็น M.2 NVMe SSD ตัวทดสอบ ซึ่งผู้เขียนจะแบ่งเป็นรอบไม่ติดตั้งซิ้งค์และตอนติดตั้งซิ้งค์เข้าไปแล้ว โดยอุณหภูมิใช้งานตามปกติของ SSD ตัวนี้ตามหน้าสเปคระบุไว้ที่ 0~70 องศาเซลเซียสจะดีที่สุด
ครั้งแรกผู้เขียนทดสอบโดยไม่ใส่ซิ้งค์ Lexar LPAH100 เข้าไป จะเห็นว่าอุณหภูมิตอนไม่ได้ใช้งานไดรฟ์ที่วัดด้วยโปรแกรม CrystalDiskInfo จะยืนพื้นอยู่ที่ 33 องศา เมื่อใช้ CrystalDiskMark 8 ทดสอบ SSD จนเสร็จจะเห็นว่าอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 48 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอุ่นขึ้นมาระดับหนึ่งแต่ก็อยู่ในระดับที่พอใช้งานได้
หลังจากใส่ซิ้งค์ Lexar แล้วทดสอบอีกครั้งจะเห็นว่าอุณหภูมิตอนใช้งานตามปกติลดลงจาก 33 เหลือ 28 องศาเซลเซียสและพอรันโปรแกรม CrystalDiskMark 8 อีกครั้งจนเสร็จ อุณหภูมิของ SSD ก็ยังสูงสุดแค่ 38 องศาเซลเซียสเท่านั้น ถือว่าเย็นลงอย่างมีนัยยะสำคัญและถ้าเทียบเป็นช่วงต่อช่วงจะเป็นดังนี้
สถานการณ์ / อุณหภูมิ (เซลเซียส) | อุณหภูมิตอนไม่ได้ใช้งาน | อุณหภูมิหลังรัน CrystalDiskMark 8 |
ไม่ใส่ซิ้งค์ Lexar | 33 | 48 |
ใส่ซิ้งค์ Lexar | 28 | 38 |
ความแตกต่าง | 5 องศาเซลเซียส | 10 องศาเซลเซียส |
จะเห็นว่าอุณหภูมิตอนใส่และไม่ใส่ซิ้งค์ Lexar นั้น ห่างกันช่วง 5~10 องศา เลยทีเดียวและยังไม่รวมเวลาใช้ทำงานหรือเล่นเกมต่อเนื่องหลายชั่วโมงแล้วเกิดความร้อนสะสมก็จะยิ่งเห็นว่าฮีตซิ้งค์สำหรับ SSD สักตัวจะช่วยถนอมยืดอายุให้แผ่นชิป NAND Flash ให้ใช้งานต่อไปได้อีกหลายปีและถ้าใครจะเพิ่มความจุให้เครื่อง PlayStation 5 ของเราแต่ไม่อยากลงทุนซื้อ M.2 NVMe SSD ตัวแพงมีซิ้งค์จากโรงงาน ก็ซื้อรุ่นที่ใช้กับเครื่อง PS5 ได้แล้วซื้อซิ้งค์ Lexar แยกมาติดเพิ่มก็ประหยัดเงินไปได้มากอย่างแน่นอน
Summary
แม้ผู้ใช้หลายๆ คนอาจจะคิดว่าฮีตซิ้งค์ SSD นั้นเป็นของจำเป็นสำหรับคนอยากเพิ่มความจุให้ PS5 เท่านั้นก็ตาม แต่ถ้าใครมีพีซีสเปคแรงและใช้ M.2 NVMe SSD ติดตั้งเกมหรือเก็บไฟล์ทำงานบ่อยๆ ก็ควรซื้อมาติดเอาไว้เพื่อลดอุณหภูมิของ SSD ให้ทำงานได้เต็มที่และทำให้ตัวชิปเก็บข้อมูลไม่ร้อนเกินไป ช่วยยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้นอีกด้วย
สำหรับราคา ณ ตอนนี้ ทาง Lexar Thailand ได้วางจำหน่ายฮีตซิ้งค์ SSD ตัวนี้บนหน้าร้านอย่างเป็นทางการแล้วกับราคาเพียง 285 บาทเท่านั้นทั้ง Lazada และ Shopee ซึ่งถูกกว่าราคาจากร้านค้าชั้นนำที่วางขายอยู่ ณ ตอนนี้ที่ 350 บาทอย่างแน่นอน ถ้าใครตั้งใจจะซื้อมาใช้งานอยู่แล้วก็ซื้อมาใช้ได้เลยและจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน