Lexar E10 กล่อง SSD น่ามีติดกระเป๋าเอาไว้ใช้สักตัว!
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้หลายคนอาจจะหลงลืม แต่มีเอาไว้ก็มีประโยชน์มากอย่างกล่อง SSD นั้น ช่วยให้ผู้ที่อยากย้าย Windows จาก SSD เก่าไปใหม่นั้น ก็มี Lexar E10 เป็นกล่อง SSD ประสิทธิภาพดีอีกรุ่นให้ผู้ใช้ได้เลือกซื้อและราคาก็ย่อมเยาว์เพียง 940 บาทเท่านั้น ภายในกล่องก็มีอุปกรณ์เสริมครบครันพร้อมใช้งาน แค่เอา M.2 NVMe หรือ M.2 SATA SSD ที่มีมาใส่ก็ใช้งานได้เลย และชื่อชั้นของแบรนด์ Lexar ที่สั่งสมมานาน 20 ปี ก็ถือว่าไว้ใจชื่อชั้นแบรนด์นี้ได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญสินค้ากลุ่มเมมโมรี่ที่มีสินค้าใน Portfolio ของทางบริษัทหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะแฟลชไดรฟ์ความเร็วสูงพร้อมเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ, เมมโมรี่การ์ด, Card Reader, RAM และ M.2 NVMe SSD ก็มีเช่นกัน
ข้อดีของ Lexar E10 นอกจากบอดี้แข็งแรงและมีซิลิโคนสำหรับสวมป้องกันตัวไดรฟ์แถมมาให้ ยังได้สายเชื่อมต่อ USB-C to C และ USB-C to A กับไขควงมาพร้อมใช้ เอา SSD ตัวที่ต้องการใช้งานไม่ว่าจะ NVMe หรือ SATA SSD มาใส่เพื่อใช้งานได้เลยและยังรับส่งข้อมูลได้เร็วถึง 10Gbps เทียบชั้น External SSD ราคาครึ่งหมื่นหลายๆ รุ่นได้สบายๆ แถมยังรองรับความจุสูงสุด 2TB อีกด้วย ใครคิดจะหากล่อง SSD (SSD Enclosure) ดีๆ เอาไว้โอนไฟล์เข้าออกไดรฟ์, เซฟงาน, แบ็คอัพคอม ก็น่ามีติดตัวเอาไว้สักชิ้นมาก
NBS Verdicts
หากใครหากล่อง SSD เอาไว้ใช้งาน ไม่ว่าจะเอาไว้แปลง M.2 NVMe SSD ลูกเก่าเอาไว้เซฟงานหรือใช้ย้าย Windows จาก SSD ลูกเก่าไปลูกใหม่ Lexar E10 ตัวนี้จัดว่าน่าสนใจมาก ได้ตัวเคสอลูมิเนียมและเคสซิลิโคนเอาไว้ใส่ป้องกันความเสียหายแล้ว ยังได้สาย USB มาครบถ้วน ต่อใช้งานได้ทั้ง Windows และ macOS ครบถ้วน แถมยังเป็นแบบ Plug & Play ต่อคอมแล้วใช้งานได้เลยไม่ต้องลงไดรเวอร์เพิ่มให้วุ่นวายอีกด้วย
ข้อดีของการมีกล่อง SSD เอาไว้ใช้ นอกจากใช้ทำคอมได้แล้ว ยังเอาไว้ใช้เป็น External SSD ก็ได้ แค่ซื้อ M.2 NVMe SSD หรือ M.2 SATA มาใส่ไดรฟ์ก็พร้อมใช้งานแล้ว และถ้าไดรฟ์เริ่มเต็มก็ถอดเปลี่ยนเอา SSD ตัวอื่นมาใส่เซฟงานได้ทันที และถ้าใครต้องการพกกล่อง Lexar E10 ไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องกลัว เพราะมันแข็งแรงทนทานรองรับแรงกระแทกได้ 1500G จะใส่กระเป๋าไปเที่ยวหรือไปทำงานก็ได้ จะปัดโดนแล้วตกกระแทกพื้นก็ไม่ส่งผลให้ SSD ในตัวกล่องเสียหายอย่างแน่นอน แถมยังโอนถ่ายข้อมูลได้เร็ว 10Gbps จึงหา SSD 1TB ราคาพันบาทต้นๆ เอามาเซฟงานได้เลย
ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ จากที่ทดลองใช้งาน มีแค่เรื่องช่องใส่สาย USB ของตัวเคส แม้จะมีให้เก็บสายได้สะดวกก็ตาม แต่ตอนใช้งานจริงผู้เขียนพบว่าหัวสลักเลื่อนเอาสายเข้าออกนั้นจะถอดออกดึงเข้าได้ค่อนข้างยากอยู่บ้าง ต้องใช้เล็บสะกิดดันให้มันเลื่อนออกมาระดับหนึ่งถึงจะดึงมันออกมาใช้งานได้ ถือเป็นข้อสังเกตหนึ่งที่ผู้เขียนพบเวลาเอาไดรฟ์ตัวนี้มาใช้งาน และไขควงที่แถมมาแม้จะใช้งานได้แต่หัวแฉกจะเล็กไม่สมกับขนาดร่องน็อตเท่าไหร่ พอใช้ในยามจำเป็นได้แต่น่าหาไขควงหัวใหญ่พอดีมาขันจะถอดใส่ SSD ได้ง่ายกว่ามาก
ข้อดีของ Lexar E10
- กล่อง SSD ทำจากอลูมิเนียมแข็งแรงทนทาน รับแรงกระแทกได้ถึง 1500G
- มีเคสซิลิโคนแถมมาให้ซับแรงกระแทกอีกชั้น ช่วยเสริมความปลอดภัยได้
- รองรับ M.2 SATA, M.2 NVMe ได้ 4 ขนาดยอดนิยม ตั้งแต่ 2230/2242/2260/2280
- รองรับ M.2 SSD ทั้ง M Key และ B&M Key จึงใส่ SSD ได้แทบทุกรุ่นในปัจจุบัน
- รองรับ SSD ความจุสูงสุดถึง 2TB เอาไว้ทำเป็น External SSD ได้สบายๆ
- อินเตอร์เฟสรับส่งข้อมูลเป็น USB-C 3.2 Gen 2 รับส่งข้อมูลได้เร็ว
- ทำงานแบบ Plug & Play ต่อคอมพิวเตอร์ใช้งานได้เลยไม่ต้องลงไดรเวอร์เพิ่ม
- ถอดถาดใส่ SSD ออกจากเคสได้ง่าย เพียงกดปุ่มท้ายเคสแล้วดันเพียงครั้งเดียว
- มีสาย USB กับไขควงแถมมาให้ในกล่องครบถ้วน นำไปใส่ SSD ใช้งานได้ทันที
- รับส่งข้อมูลได้เร็ว 10Gbps เทียบเท่า External SSD ดีๆ หลายรุ่นในปัจจุบัน
ข้อสังเกตของ Lexar E10
- หัวสลักเลื่อนสาย USB ออกจากช่องเคสเก็บสายดีแต่เลื่อนออกมาใช้ไม่ถนัดนัก
- ไขควงที่แถมมาให้มีหัวแฉกเล็กไปไม่พอดีกับหัวน็อตในตัวกล่อง SSD แต่พอใช้ยามจำเป็นได้
รีวิว Lexar E10
Specification
Lexar E10 จัดเป็นกล่อง M.2 SSD จากแบรนด์ชั้นนำผู้ผลิตอุปกรณ์ประเภทที่เก็บข้อมูล บอดี้เป็นอลูมิเนียมพร้อมเคสซิลิโคนและมีสายเชื่อมต่อแถมมาให้ครบถ้วนพร้อมใช้งาน โดยสเปคมีรายละเอียดดังนี้
สเปคของ Lexar E10
Interface&Speed | USB 3.2 Gen 2 ความเร็ว 6~10Gbps |
Supported SSD | M Key, B&M Key ไซซ์ 2230/2242/2260/2280 |
Max Capacity | 2TB |
Price | 940 บาท (PS Link Lazada) |
Unboxing & Design
บรรจุภัณฑ์ของ Lexar หน้ากล่องจะสกรีนรูปตัวกล่อง SSD E10 เอาไว้พร้อมบอกความเร็วรับส่งข้อมูลสูงสุด 10Gbps ไว้หน้ากล่องพร้อมประเภท SSD ที่รองรับว่าสามารถใส่ M.2 NVMe หรือ M.2 SATA ไว้ใช้งานก็ได้ทั้งคู่ มีภาพอธิบายวิธีการประกอบใส่ SSD และอุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง ด้านข้อมูลอื่นๆ ถูกสกรีนไว้ข้างหลังกล่องผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้ใช้ได้อ่านเพื่อรับทราบก่อนใช้งาน แต่อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์ของกล่อง SSD E10 นั้นค่อนข้างแข็งและแกะยาก แนะนำให้ดึงเปิดจากท้ายกล่องจะเปิดง่ายกว่า
เมื่อเปิดออกมาแล้ว กล่อง SSD E10 จะถูกสวมเคสซิลิโคนมาให้จากโรงงาน สามารถถอดแยกจากกันได้หากไม่ต้องการ ส่วนอุปกรณ์เสริมอื่นๆ จะมีสาย USB-C to A, USB-C to C และไขควงหัวแฉก Philips Head แถมมาให้อย่างละชิ้น ให้ผู้ใช้สามารถใช้งาน M.2 NVMe / SATA ได้ทันทีโดยไม่ต้องหาไขควงตัวอื่นมาใช้ด้วยให้เสียเวลามาก แต่อย่างไรก็ตาม ไขควงในกล่องมีหัวแฉกเล็กกว่าร่องน็อตยึด SSD ภายในกล่องเล็กน้อย พอไขเพื่อปลดน็อตได้แต่ถ้าเลือกได้แนะนำให้หาไขควงที่หัวใหญ่กว่านี้มาขันจะง่ายกว่า
สาย USB-C to A และ USB-C to C ทั้งสองเส้นเป็นหัวยางทั้งสองฝั่งและมีตุ่มสลักเอาไว้ดึงสายเข้าออกช่องเก็บสาย USB ของเคสได้ มีความยาวราว 10 เซนติเมตร รองรับความเร็ว USB-A 3.2 Gen 2 ตัวสายเป็นสายถักแข็งแรงมาก ไม่ต้องห่วงว่าใช้ไปนานๆ แล้วสายจะหักในอย่างแน่นอนและยังมีให้ 2 แบบ ไว้ต่อกับคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้อย่างแน่นอน
ตัว Lexar E10 เมื่อถอดเคสออกมาแล้ว ตัวกล่องจะเป็นอลูมิเนียมสีเงินอมฟ้าติดโลโก้ Lexar เอาไว้ ทำลวดลายเป็นเส้นแนวตั้ง 6 เส้น ด้านหลังไม่มีลวดลายแต่สกรีนเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมไว้ และตัดร่องสำหรับสไลด์สาย USB เข้าออกช่องเก็บได้ง่ายๆ อยู่คู่กับช่อง USB-C 3.2 Gen 2 และไฟ LED สีขาวแสดงสถานะการทำงานของตัวกล่อง SSD ส่วนท้ายตัวเคสจะแบ่งพื้นที่เอาไว้ 70/30 โดยฝั่งที่มีจุด 3 จุดติดอยู่จะเป็นปุ่มสปริงเอาไว้ดันให้ตัวถาด SSD ด้านในหลุดออกจากตัวเคสได้
เมื่อถอดออกมาแล้ว Lexar E10 จะใช้ถาด SSD แบบพลาสติกเป็นฐานให้ติดแผ่นวงจรสำหรับใส่ M.2 NVMe / SATA SSD โดยถาดด้านหลังฝั่งเดียวกับร่องใส่สาย USB เป็นชุดวงจรกับชิปคอนโทรลเลอร์สำหรับคุมการทำงานของตัวกล่องและ SSD ในเคส เว้นระยะจากตัวเคสพลาสติกเล็กน้อยไม่ให้กระแทกเข้ากับตัวเคสอลูมิเนียม ลดโอกาสเกิดความเสียหายได้
อีกด้านมีหัวอินเตอร์เฟสแบบ 4 ขีด รองรับทั้ง M Key และ B&M Key จึงใส่ M.2 NVMe / SATA ได้ทั้งคู่กับร่องใส่น็อตที่ฐานแผ่นปริ้นท์เอาไว้ใส่น็อตฐานตัวเมียสำหรับปรับระยะให้พอดีกับ SSD ที่ใช้งานแล้วเอาน็อตตัวผู้ขันล็อค SSD ให้เข้าที่ได้ โดยน็อตตัวเมียใช้นิ้วหมุนออกจากฐานได้เลยแต่ตัวผู้ต้องใช้ไขควงขันเข้าและออกแต่ยังพอจ่อหัวน็อตหน้ารูแล้วหมุนนำร่องได้ รองรับขนาดยอดนิยม ได้แก่ M.2 2230/2242/2260/2280 ครบถ้วน สามารถหาซื้อ M.2 SSD รุ่นที่ต้องการมาใส่กล่องใช้งานได้เลย
Testing
ในการทดสอบ ผู้เขียนจะใช้ Patriot P300 ความจุ 1TB เป็น M.2 NVMe SSD อินเตอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ขนาด M.2 2280 มีความเร็วอ่านเขียนข้อมูล Sequential Read 2,100 MB/s และ Sequential Write 1,650 MB/s ทนทานต่อการเขียนไฟล์เข้าออกไดรฟ์ได้ 480 TBW จะเห็นว่าตอนใส่ไดรฟ์เข้าไปในกล่อง Lexar E10 แล้วจะมีขนาดพอดีกับช่องน็อตตัวสุดท้าย แล้วสามารถสไลด์ปิดกล่องได้เลย
จากการทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark 8 จะเห็นว่าแม้ Patriot P300 ความจุ 1TB จะเขียนอ่านข้อมูลได้เร็วพอสมควรก็ตาม แต่อินเตอร์เฟสของกล่อง SSD E10 นี้ ทำความเร็ว Sequential Read ได้ 910.01 MB/s และ Sequential Write ได้ 927.60 MB/s เนื่องจากตัวกล่องสามารถรับส่งข้อมูลได้เพียง 10Gbps เท่านั้น แต่ความเร็วนี้ก็ถือว่าเทียบชั้นกับ External SSD คุณภาพสูงราคา 5~6,000 บาท หลายๆ รุ่นในท้องตลาดได้แล้ว หากไม่เกี่ยงเรื่องซอฟท์แวร์แบ็คอัพงานหรือเข้ารหัสป้องกันข้อมูลใน SSD แล้ว วิธีซื้อ M.2 NVMe SSD มาใส่กล่องเพื่อเซฟงานก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีและประหยัดเงิน และกรณีถ้า SSD ในตัวเกิดเสียหายก็ไม่ต้องทิ้งทั้งไดรฟ์ แค่เปลี่ยนใส่อันใหม่ก็ทำงานต่อได้แล้ว
User Experience
Lexar E10 เป็นอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นที่ควรมีติดโต๊ะติดกระเป๋าสายไอทีหลายๆ คน มีประโยชน์หลายแบบทั้งทำเป็น External SSD เอาไว้เซฟงานเก็บไฟล์สำคัญไว้ใช้งานก็ได้และยังรับส่งข้อมูลได้เร็ว 10Gbps ด้วยพอร์ต USB 3.2 Gen 2 เท่ากับ External SSD สำเร็จรูปหลายๆ รุ่นได้สบายๆ ซึ่งไดรฟ์ที่มีความเร็วเท่ากันแล้วราคาถูกสุดก็เริ่ม 3,990 บาทแล้ว แต่กล่องนี้ค่าตัวกล่องแค่ 940 บาท สมมติว่าซื้อ Seagate Barracuda Q5 ความจุ 1TB ความเร็ว Sequential Read 2,400 MB/s และ Sequential Write 1,800 MB/s ราคา 2,190 บาท มาใช้ก็จ่ายแค่ 3,130 บาท ประหยัดไป 860 บาท ไม่รวมการใช้งานระยะยาวว่าถ้าไปซื้อ M.2 NVMe SSD 1TB ตัวที่ 2, 3 มาเพิ่ม ก็เอาใส่ Lexar E10 ตัวนี้สลับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ แถมยังรองรับความจุสูงสุด 2TB อีกด้วยจึงน่าจะตอบโจทย์คนที่มีงานเยอะๆ อย่างแน่นอน ขอแค่หาที่เก็บ SSD เหล่านี้สักนิดก็ช่วยได้มากแล้ว
ในกรณีจำเป็นก็เอากล่อง SSD ไปใช้ Clone Windows จาก SSD ตัวเก่าไปใส่ตัวใหม่เพื่อใช้งานต่อได้ทันที ไม่ต้องล้างเครื่องลง Windows ใหม่ให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็นและยังทำงานได้เร็วยิ่งกว่าเดิมด้วย และยังมีสาย USB-A to C, USB-C to C แถมมาให้ใช้ จึงเอาไปต่อเข้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ อย่างแท็บเล็ต, สมาร์ทโฟนหรือโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆ ที่มีพอร์ต USB-C ได้สะดวกและมีประโยชน์มากกว่าที่คิดอย่างแน่นอน และถ้าใครชอบเผลอทำข้าวของตกบ่อยๆ ก็ไม่ต้องกลัวเพราะ Lexar E10 ทนแรงกระแทกได้มากถึง 1500G จะปัดกล่อง SSD ตัวนี้ตกจากโต๊ะทำงานบ้างก็ไม่ต้องกลัวว่า SSD ในกล่องเสียหาย เพราะผู้เขียนได้ทดลองทำตกจากโต๊ะ UTESPELARE ของ IKEA สูงราว 70 ซม. ก็ยังหยิบมาต่อคอมพิวเตอร์ใช้งานต่อได้ตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยิ่งใส่เคสซิลิโคนยิ่งปลอดภัยแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเลื่อนเอาสาย USB ออกจากช่องใส่ของตัวเคสนั้นทำได้ค่อนข้างยากเพราะตัวสลักเลื่อนแทบจะพอดีกับตัวรางสไลด์เลย เวลาหยิบออกมาใช้งานอาจต้องเอาเล็บดันมันออกหรือใช้กุญแจบ้านช่วยดันสักนิดจะดึงออกมาใช้งานได้ง่ายขึ้น แต่ตอนเก็บไม่มีปัญหาอะไรนัก
Summary
ถ้ามองหากล่อง SSD เอาไว้ใช้งานสักตัว ไม่ว่าจะทำเป็น External SSD หรือเผื่อเอาไว้ใช้ Clone Windows จาก SSD ตัวเก่าไปตัวใหม่อยู่ล่ะก็ Lexar E10 นี้จัดว่าน่าสนใจมาก เพราะนอกจากแข็งแรงทนทานไม่เสียหายง่าย ใส่ SSD ได้ทุกขนาดในปัจจุบันและยังเร็วถึง 10Gbps เทียบชั้น External SSD ราคาแพงๆ หลายรุ่นในปัจจุบันได้สบายๆ แค่ลงทุนเพียง 940 บาทก็ซื้อเอาไว้ใช้ได้ยาวและอเนกประสงค์กว่าที่คิดอย่างแน่นอน