Connect with us

Hi, what are you looking for?

Buyer's Guide

ซื้ออะไรดี เกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค หรือคอมประกอบ จัดสเปคคอม งบ 30,000 แบบไหนคุ้ม

ซื้ออะไรดี เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คกับประกอบคอมใหม่ ในงบ 30,000 บาท เน้นแรง สเปคจัดเต็ม หรือจะเน้นพกพา

ซื้ออะไรดี

ซื้ออะไรดี? พีซีหรือโน๊ตบุ๊คเป็นคำถามที่หลายคนยังคาใจมาตลอด โดยเฉพาะคนที่ผ่านช่วงเวลาวิกฤต COVID ที่ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เพราะก่อนหน้านี้ บางคนจากที่ต้องใช้งานพีซีที่ออฟฟิศ ก็ต้องหาคอมมาใช้ทำงานที่บ้านแทน แต่บางครั้งด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้การใช้คอมตั้งโต๊ะอาจไม่ตอบโจทย์ หรือไม่สะดวกเหมือนกับการใช้โน๊ตบุ๊ค แต่บางทีเลือกโน๊ตบุ๊คไป ก็ไม่ให้ความแรงเท่ากับการใช้พีซี ยิ่งในช่วงหลังมานี้ ตลาดการ์ดจอก็คึกคักมากขึ้น เพราะคนขุดเหมืองซบเซา ก็ทำให้หลายคนประกอบคอมได้ในราคาที่ถูกลงกว่าช่วงปลายปีที่แล้วหลายพันหลายหมื่นบาท เพราะฉะนั้นมาถึงตอนนี้ หลายคนก็น่าจะลังเลแล้วว่า ควรจะเลือกประกอบคอมใหม่ สำหรับการเล่นเกมดี หรือจะเลือกเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คที่มีราคาน่าใช้มากขึ้น


ซื้ออะไรดี พีซีหรือโน๊ตบุ๊ค 2022

ดูจากชีวิตประจำวัน

สิ่งแรกที่ผมอยากให้คุณได้พิจารณาก่อนจะตัดสินใจซื้ออะไรดีก็คือ การใช้งานคอมในชีวิตประจำวันของคุณว่าเป็นอย่างไร ตัวอย่างก็เช่น

Advertisement
ซื้ออะไรดี

เล่นเกมแนวไหน: ตรงนี้สำคัญไม่น้อยเลย เพราะถ้าเป็นเกมทั่วไป ไม่เน้นสเปคมาก โน๊ตบุ๊คเกมมิ่งระดับเริ่มต้น ก็ตอบโจทย์ได้แล้ว แต่ถ้าเป็นเกม AAA หรือใช้ทรัพยากรเยอะมาก โดยเฉพาะกราฟิกการ์ด อย่างที่หลายคนได้ทราบกันคือ แม้ว่าจะเป็นกราฟิกในซีรีส์เดียวกัน แต่กราฟิกบนเดสก์ทอป ให้ประสิทธิภาพได้ดีกว่า ด้วยสเปคที่มีมากกว่า และไม่มีข้อจำกัดในด้าน TDP นั่นเอง ถ้าคุณให้น้ำหนักในการเล่นเกม ที่ต้องแรง และลื่นไหล พีซีเดสก์ทอปคือทางเลือกของคุณ แต่ถ้าเกมทั่วไป แค่ไม่ต่ำไปกว่า 30fps ให้กระตุกจนน่ารำคาญ เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเริ่มต้น ก็คุ้มค่าน่าใช้ ตัวอย่างจากตารางด้านล่างนี้

RTX 3050 mobileRTX 3050
CUDA20482560
Memory clock7121750
Memory size4GB GDDR68GB GDDR6
Memory speed12Gbps14Gbps
Memory Bus128-bit128-bit
Bandwidth192GB/s224GB/s
TMUs 6480
Tensor core6480
RT core1620
Pixel Rate33.82 GPixel/s56.86 GPixel/s
Texture Rate67.65 GTexel/s142.2 GTexel/s
ซื้ออะไรดี

เวลาในการเล่นเกมในแต่ละวัน: ตรงนี้ก็มีผลอย่างมากในการเลือกใช้ เพราะคุณอาจจะใช้เวลากับการเล่นเกมที่ยาวนาน จอโน๊ตบุ๊คขนาด 15.6″ หรือ 17.3″ ก็อาจจะกว้างพอต่อการเล่น แต่ถ้าคุณไม่อยากจะเพ่งหรืออยากเห็นตัวละครได้ชัดกว่า หรืออยากจะเห็นรายละเอียดในเกมที่มากขึ้น เกมมิ่งพีซีกับจอขนาดใหญ่ 24″ ขึ้นไป ก็ช่วยให้คุณเพลิดเพลินได้สบายตามากกว่า

พื้นที่ใช้สอยกับการติดตั้ง: หากคุณมีพื้นที่เล่นเกมจำกัด หรือต้องจัดสรรใช้งานร่วมกับคนอื่น เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสะดวก ง่าย จบในตัว อย่างดีก็อาจจะเพิ่มคีย์บอร์ดเมาส์ ซึ่งไม่ใช้พื้นที่มากนัก แต่ถ้าคุณชอบจัดโต๊ะคอม แต่งจัดเต็ม มีลำโพงเสริมและ Accessories อื่นๆ เกมมิ่งพีซีตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้

ซื้ออะไรดี

มีอุปกรณ์ต่อพ่วงเยอะ: โดยพื้นฐานพีซีให้พอร์ตมาใช้งานได้เต็มที่ มีข้อจำกัดน้อย แม้จะเป็นเมนบอร์ดระดับเริ่มต้น ก็ยังมีพอร์ต USB มาอย่างน้อยก็ 4 พอร์ต และยัง LAN RJ-45, Audio และอื่นๆ จะมีเพิ่มอีกแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับราคาและซีรีส์ของเมนบอร์ด ทำให้บางคนที่ใช้งานโดยรวม ไม่อึดอัดนัก และไม่ต้องเจอปัญหาที่จะต้องแชร์พอร์ตร่วมกัน หรือเสียบอุปกรณ์ไม่ได้ เพราะเบียดกันเกินไป แต่ถ้าคุณใช้แค่เมาส์ คีย์บอร์ด หูฟัง และไมโครโฟน หรือมีทางออกกับการใช้เมาส์ คีย์บอร์ดไร้สาย ผ่าน Receiver ร่วมกัน หรือซื้อ USB adaptor มาใช้ โน๊ตบุ๊คมีพอร์ตน้อย ก็ไม่ใช่ปัญหา


ซีพียูโมบายและซีพียูเดสก์ทอป

ซีพียู ในอดีตหลายคนอาจมองว่าซีพียูเดสก์ทอปจะได้เปรียบ ในแง่ของประสิทธิภาพที่เหนือกว่าซีพียูโมบาย แต่ในปัจจุบัน ข้อจำกัดที่เป็นช่องว่างระหว่างซีพียูทั้ง 2 แบบนี้ ก็ดูจะแคบลง ตัวอย่างเช่น

ซื้ออะไรดี
ที่มา: Intel

จากสเปคในเบื้องต้น ซีพียูโน๊ตบุ๊คตัวท็อปอย่าง Intel Core i9-12900HX ทำงานในแบบ 16 core/ 24 thread และ Cache L3 อยู่ที่ 30MB ความเร็ว Base clock P-core อยู่ที่ 2.3GHz เท่านั้น และ Boost P-core ไปได้ที่ 5GHz

ซื้ออะไรดี
ที่มา: Intel

แต่ถ้าเป็นซีพียู Intel Core i9-12900K ทำงานในแบบ 16 core/ 24 thread เช่นเดียวกัน และ Cache L3 อยู่ที่ 30MB ส่วนความเร็วสัญญาณนาฬิกา Base clock P-core สูงถึง 3.2GHz และ Boost P-core ไปได้ที่ 5.10GHz

โดยซีพียูทั้ง 2 แบบนี้ ต่างกันในแง่ของ TDP หรือ Thermal Design Power ซึ่งเป็นค่าการใช้พลังงาน ที่มีผลต่อเรื่องของความร้อนโดยตรง Base และมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานอยู่ด้วยเช่นกัน อาทิ Core i9-12900HX, Base power 55W และ Max. สุดที่ 157W เท่านั้น ซึ่งก็เหมาะกับชุดระบายความร้อนบนโน๊ตบุ๊ค ที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการเหมือนกับบนเดสก์ทอปพีซี แต่ซีพียูเดสก์ทอป Core i9-12900K Base power 125W และ Max. สุดที่ 241W เลยทีเดียว ซีพียูโน๊ตบุ๊คใช้พลังงานน้อยกว่า ซึ่งจะเหมาะกับชุดระบายความร้อนที่มีพื้นที่จำกัด ส่วนซีพียูพีซี ใช้พลังงานมากกว่า แต่ก็เพิ่มศักยภาพให้กับการทำงานด้วยเช่นกัน

ซื้ออะไรดี
ที่มา: arstechnica.com

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ซีพียูโมบาย หรือซีพียูโน๊ตบุ๊ค มีให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย ไม่แพ้ซีพียูเดสก์ทอป ตัวอย่างของซีพียู Intel ก็มีทั้ง U series ที่เน้นประหยัดพลังงาน ใช้ได้นาน P series ที่ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกับการใช้พลังงานที่ดี แล้วยังมี H และ HX series ที่เน้นความแรงมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มสัญญาณนาฬิกาที่มากกว่าปกติ ทั้งหมดก็จะมาพร้อมกราฟิกในตัวอีกด้วย นี่คือ จุดเด่นของซีพียูโมบาย ที่นอกเหนือจากการใช้พลังงานที่ต่ำกว่าซีพียูบนพีซี

ส่วนซีพียูพีซีนั้น ก็จะประกอบไปด้วย ซีพียูในรุ่นพื้นฐาน ที่ไม่มีรหัสต่อท้าย เช่น Intel Core i5-13600, และรุ่นที่ไม่มีกราฟิกในตัว ซึ่งจะลงท้ายด้วย “F” ส่วนถ้าเป็นซีพียูฮาร์ดคอร์เกมเมอร์ ก็จะต่อท้ายด้วย “K” (Unlocked) รองรับการโอเวอร์คล็อกได้ ส่วนที่เป็น “KF” ก็จะเป็นแบบ “K” series แต่ไม่มีกราฟิกในตัวมาให้นั่นเอง จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะต่างกันแค่ มีกราฟิกกับไม่มีกราฟิก และรุ่นโอเวอร์คล็อกเท่านั้น ความหลากหลายจะน้อยกว่าที่เป็นโมบาย

อัพเกรดได้มั้ย

การอัพเกรด ค่อนข้างชัดเจนว่า โน๊ตบุ๊คเอง แม้จะมีความคล่องตัว แต่ก็มีข้อจำกัดในหลายๆ ด้านเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

ซื้ออะไรดี

ซีพียู: หากเป็นโน๊ตบุ๊คส่วนใหญ่ก็จะติดตั้งมาบนเมนบอร์ดอยู่แล้ว การเปลี่ยนทำได้ยาก ต่างจากการถอดจากซ็อกเก็ตบนเมนบอร์ดพีซี หรืออัพเกรดได้ แต่ซีพียูที่จะนำมาเปลี่ยนกับค่าใช้จ่ายก็แพง ไม่คุ้มค่านัก

ซื้ออะไรดี

แรม: ถ้าเป็นโน๊ตบุ๊คใช้งานทั่วไป ก็มักจะมีไม่สล็อตให้อัพเกรด บางรุ่นเป็นแรมฝังบอร์ดมาเลย หรือบางรุ่นก็จะมีสล็อตเพิ่มเข้ามาให้ จะมีแต่ที่เป็นเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คเท่านั้น ที่ส่วนใหญ่ จะให้สล็อตแรม มาถึง 2 สล็อตด้วยกัน และพื้นฐานในการอัพเกรดจะได้สูงสุดประมาณ 32GB แต่จะมีบางรุ่นที่ได้ถึง 64GB แต่ก็มักจะเป็นโน๊ตบุ๊คระดับไฮเอนด์

เมนบอร์ด: พีซีมีสล็อตเพิ่มเติม ให้เพิ่มการ์ดต่อพ่วงได้อีก อย่างน้อย 1-2 สล็อต อาจจะใส่เป็น Capture card หรือ Thunderbolt, USB-C card เป็นต้น

ซื้ออะไรดี

การ์ดจอ: โน๊ตบุ๊คก็ฝังบอร์ดมาเช่นกัน การอัพเกรดก็แทบจะทำไม่ได้ เช่นเดียวกับซีพียู แต่ปัจจุบันก็ยังพอมีทางออกอยู่บ้าง เช่น การใช้การ์ดจอต่อภายนอกหรือ e-GPU ที่เป็น Box ใส่การ์ดจอต่อภายนอก ซึ่งใช้การ์ดจอพีซีปกติได้เลย เพียงแต่ข้อจำกัดจะอยู่ที่ โน๊ตบุ๊คที่คุณใช้จะต้องมีพอร์ต Thunderbolt รวมถึงการซื้อ Box สำหรับ e-GPU ไม่ได้ถูกราคาใกล้หลักหมื่น ส่วนเลือกการ์ดจอแรงแค่ไหน ราคาก็จะสูงตามไปด้วย นั่นก็ทำให้สายเกม เลือกซื้อเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คตัวแรงๆ ไปเลย จะได้จบในทีเดียว และค่าใช้จ่ายถูกกว่า

ซื้ออะไรดี

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ กราฟิก GPU บนโน๊ตบุ๊คนั้น จะมีให้ 2 แบบคือ รุ่นปกติ และรุ่นประหยัดพลังงาน เช่น nVIDIA GeForce ในซีรีส์ของ Max-Q ที่จะถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้พลังงานอยู่ด้วย โดยจะดรอปความเร็วและฟีเจอร์บางส่วนลงจากรุ่นปกติ เพื่อให้โน๊ตบุ๊คในกลุ่มบางเบาหรือกึ่งทำงาน ที่ต้องการการ์ดจอแยกได้สามารถพกพาและใช้งานได้ดียิ่งขึ้น

ชุดระบายความร้อน: บนพีซีเดสก์ทอปเปลี่ยนได้ จะเป็นซิงก์ลม ชุดน้ำเปิดหรือ Liquid cooling ก็ตามสะดวก แล้วแต่พื้นที่จะเอื้ออำนวย

ซื้ออะไรดี

สีสันแสงไฟ: เดสก์ทอปพีซี มีให้เลือกเพิ่มเติมได้อย่างง่ายดาย จะเป็นพัดลม RGB, ชุดน้ำปิดแสงสีสวยงาม หรือจะเป็นไฟแต่งเคสและอื่นๆ ก็ทำได้ ส่วนจะปรับแต่งได้มั้ย ก็ขึ้นอยู่กับเมนบอร์ดและซอฟต์แวร์จะเอื้ออำนวย ส่วนโน๊ตบุ๊คก็มีอยู่บ้าง เช่น แสงไฟที่ฐาน หรือโลโก้ หรือจะเป็นไฟจาก Cover ในบางรุ่น และคีย์บอร์ด RGB แต่ก็มักจะอยู่ในโน๊ตบุ๊ครุ่นที่ราคาสูงๆ เช่น ASUS Zephyrus, HP OMEN หรือจะเป็น Acer PREDATOR TRITON เป็นต้น

ซื้ออะไรดี

พอร์ตต่อพ่วง: ถ้าเป็นเดสก์ทอปพีซี ก็มีข้อดีคือ พอร์ตมีให้เยอะ USB อย่างน้อยๆ ก็ 4 ช่อง ยังไม่รวมที่ต่อ Front panel ด้านหน้าอีก 1-2 พอร์ต ช่องต่อระบบเสียง เลือกแยกแชนแนลไว้รอเลย หรือช่อง RJ-45 ที่มีแน่ๆ แต่โน๊ตบุ๊คก็ต้องลุ้น สิ่งหนึ่งที่โน๊ตบุ๊คมักมีมาให้ แต่ผู้ใช้พีซีต้องซื้อเพิ่มก็คือ Memory card reader นั่นเอง

ถ้ามองความต่างในรูปแบบนี้ ถ้าถามว่าซื้ออะไรดี หลายคนก็จะคิดว่า เดสก์ทอปพีซีดูได้เปรียบกว่าเยอะ แต่ก็อย่าลืมว่า แม้ว่าโน๊ตบุ๊คจะมีข้อจำกัดในการอัพเกรด แต่ก็มีความได้เปรียบอยู่บ้างเช่นกัน อย่างเช่น

ซื้ออะไรดี

โน๊ตบุ๊คมาพร้อมแบตในตัว: ทำให้ใช้งานได้แม้จะไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ ถ้าเปรียบกับพีซี ก็หมายความว่า พีซีจะต้องมีเครื่องสำรองไฟอยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเข้ามา เช่น UPS ระดับ 1000 VA รับโหลดที่ 500W ซึ่งเป็นเกมมิ่งพีซีพื้นฐาน เริ่มต้นประมาณ 2,000 บาท แต่ถ้าอยากให้สำรองไฟเพิ่มเติมได้ ใช้งานได้ต่อเนื่อง เครื่องไม่ดับและยังเล่นเกมได้ ราคาก็จะไปอยู่ที่หลักพันปลายๆ หรือหมื่นบาทขึ้นไป

แม้ว่าโน๊ตบุ๊คจะมีแบตมาในตัว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเล่นเกมได้ไหลๆ เป็นเวลานาน เพราะถ้าโน๊ตบุ๊คไม่เสียบสายชาร์จ ความเร็วและประสิทธิภาพต่างๆ ก็จะลดลง รวมถึงแสงไฟ ความสว่างหน้าจอ ไม่นานก็เครื่องดับเช่นกัน อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาว่าซื้ออะไรดี

ซื้ออะไรดี

การเชื่อมต่อ WiFi และ Bluetooth: เมนบอร์ดบางรุ่น อาจจะติดตั้งมาให้ในตัว แต่ส่วนใหญ่จะอยู่บนเมนบอร์ดที่ราคาค่อนข้างสูง หรือถ้าไม่มีมาให้ ก็ต้องซื้อบรรดาการ์ด WiFi หรือ Bluetooth adaptor มาติดตั้งเสริม หากจะต้องใช้งาน WiFi ซึ่งค่าใช้จ่ายก็หลักร้อยหรือพันต้นๆ แล้วแต่ประสิทธิภาพ

ระบบปฏิบัติการ: โน๊ตบุ๊คส่วนใหญ่จะมีระบบปฏิบัติการมาให้แล้วเกือบทั้งสิ้น แล้วแต่ว่าจะเป็น Windows 10 หรือ Windows 11 ซึ่งตรงนี้จะได้เปรียบกว่าคอมประกอบ ที่จะต้องซื้อเพิ่มอย่างน้อยๆ ก็ 4 พันบาทขึ้นไป แล้วแต่เวอร์ชั่น ส่วนถ้าใครจะมองว่า ผมใช้แบบนั้นแบบนี้ก็ได้ ไม่เห็นต้องซื้อแพงๆ ตรงนี้ผมไม่ขอออกความเห็นครับ


เกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค

ทีนี้มาดูเรื่องของราคาก่อนซื้ออะไรดี สเปคของเกมมิ่งพีซี เกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค ในงบ 30,000 บาท ในท้องตลาดกันดีกว่า ว่าคุณจะได้สเปคอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่าง เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คสัก 4-5 รุ่น ที่น่าสนใจ

ซื้ออะไรดี

Lenovo IdeaPad Gaming 3 15ACH6

  • AMD Ryzen 5 5600H
  • DDR4 3200 8GB
  • 512GB M.2 PCIe
  • GeForce RTX 3050Ti
  • 15.6″ Full-HD
  • Windows 11 Home
  • ราคา 28,990 บาท

ซื้ออะไรดี

Acer Aspire 7 A715

  • Intel Core i5-1240p
  • DDR4 3200 8GB
  • 512GB M.2 PCIe
  • GeForce GTX1650
  • 15.6″ Full-HD
  • Windows 11 Home
  • ราคา 29,900 บาท

ซื้ออะไรดี

MSI GF63 Thin 11UC

  • Intel Core i5-11400H
  • DDR4 3200 8GB
  • 512GB M.2 PCIe
  • GeForce RTX3050
  • 15.6″ Full-HD
  • Windows 11 Home
  • ราคา 26,900 บาท

ซื้ออะไรดี

ASUS TUF Gaming A15 FA506ICB

  • AMD Ryzen 7 4800H
  • DDR4 3200 8GB
  • 512GB M.2 PCIe
  • GeForce RTX3050
  • 15.6″ Full-HD
  • Windows 11 Home
  • ราคา 28,990 บาท

ซื้ออะไรดี

HP Victus Gaming 15

  • AMD Ryzen 5 5600H
  • DDR4 3200 8GB
  • 512GB M.2 PCIe
  • Radeon RX6500M
  • 15.6″ Full-HD
  • Windows 11 Home
  • ราคา 27,990 บาท

เกมมิ่งพีซี

ได้เห็นสเปคของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คกันไปแล้ว คราวนี้มาดูเกมมิ่งพีซีในงบ 30,000 บาทนี้บ้าง ว่าจะได้สเปคอะไรบ้าง ซื้ออะไรดี เราจัดให้มีทั้ง Intel และ AMD ด้วยการลองจัดสเปคคอมในระบบจัดสเปคใหม่ NBS ของเรา กับอินเทอร์เฟสใหม่ เลือกอุปกรณ์ก็ง่าย ใช้สะดวกขึ้นเยอะ ไม่ว่าจะเป็น ซีพียู เมนบอร์ด แรม การ์ดจอ เราลิงก์กับทางหน้าร้านออนไลน์ มีให้ได้เลือกกันอย่างจุใจ และราคาก็ซิงก์กับร้าน มีการอัพเดตอยู่ตลอด ใครที่เคยเจอกับปัญหาราคาไม่ค่อยตรงกับหน้าร้านอยู่บ้าง ตรงนี้เราปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว ลองไปใช้งานกันได้เลยครับ หรือจะลองจัดสเปคแบบง่ายๆ สำหรับคนที่อยากได้สเปคคอมในงบ 30,000 บาทกัน

ซื้ออะไรดี

สเปค Intel 30,000 บาท

  • ซีพียู Intel Core i5-12400F
  • เมนบอร์ด GIGABYTE B660M Gaming D4
  • แรม TEAMGROUP T-Force DDR4 3200 16GB
  • Storage MSI Spatium M390 500GB
  • กราฟิกการ์ด ASUS GeForce RTX3050 TUF
  • เพาเวอร์ซัพพลาย Siverstone ST70F 700W
  • เคส Montech X2 Mesh
  • ราคารวม 30,940 บาท
ซื้ออะไรดี

สเปค AMD 30,000 บาท

  • ซีพียู AMD Ryzen 5 5500
  • เมนบอร์ด ASRock B550M-HDV
  • แรม ADATA DDR4 3200 16GB
  • Storage Kingston NV2 500GB
  • กราฟิกการ์ด Sapphire Radeon RX6650XT
  • เพาเวอร์ซัพพลาย CM MWE 650W
  • เคส Antec NX291
  • ราคารวม 31,270 บาท
ซื้ออะไรดี

สเปค 30,000 บาท รวมจอคอม

  • ซีพียู Intel Core i3-12100F
  • เมนบอร์ด ASRock H610M-HDV
  • แรม Corsair Vengeance LPX DDR4 3200 8GB
  • Storage WD Black SN770 500GB
  • กราฟิกการ์ด Galax GeForce RTX3050
  • เพาเวอร์ซัพพลาย CM Elite V4 600W
  • เคส Gamdias Argus E4
  • จอคอม Samsung LF24T350 24″
  • ราคารวม 29,390 บาท

สรุปแล้วซื้ออะไรดี?

เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คคอมประกอบ
ประสิทธิภาพมีข้อจำกัดด้านการใช้พลังงานให้ฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพสูง
ความคล่องตัวสะดวก จบในตัว พกพาได้เคลื่อนย้ายลำบาก แม้จะมีไซส์เล็ก
อัพเกรดเพิ่มเติมได้บางส่วน บางรุ่นไม่ได้มีให้เพิ่มเติมได้ แม้จะเป็นเมนบอร์ดรุ่นประหยัด
อุปกรณ์ต่อพ่วงมีจำกัด ด้วยขนาดของบอดี้มีพอร์ตให้เลือกใช้จำนวนมาก
การใช้พื้นที่ใช้พื้นที่น้อย ติดตั้งสะดวกต้องการพื้นที่บนโต๊ะเยอะ สำหรับจอและเคส
ความสะดวกมีจอ ทัชแพด คีย์บอร์ดในตัว พร้อมใช้ต้องต่อ เมาส์ คีย์บอร์ดและจอ เพื่อใช้งาน
การใช้พลังงานมีแบตในตัว ไม่ต้องเสียบปลั๊กดึงปลั๊ก ดับทันที ต้องมีเครื่องสำรองไฟ
ระบบปฏิบัติการมีมาให้ในตัวพร้อมใช้ต้องซื้อมาติดตั้งเพิ่ม ยกเว้นคอมสำเร็จรูป
การรับประกันรับประกันทั้งตัวเครื่องประกันรายชิ้น ยกเว้นคอมสำเร็จรูป
เลือกฮาร์ดแวร์ค่อนข้างยาก เปลี่ยนได้บางชิ้นเลือกได้ตามสะดวก ตามแบบที่ชื่นชอบ

สุดท้ายนี้เราลองมาหาข้อสรุปกันครับว่า จะซื้ออะไรดีจะเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คก็ดี แต่พีซีประกอบก็น่าสนใจ อาจจะลองใช้ข้อมูลที่เรานำเสนอมาเหล่านี้ เป็นข้อพิจารณาในเบื้อวต้นดูก็ได้ โดยเฉพาะคนที่อาจจะมีงบประมาณสูงกว่า 30,000 บาท ที่เป็นเกณฑ์ราคาที่หลายๆ คนมักจะตั้งเอาไว้ เพราะยิ่งงบประมาณสูงขึ้น ข้อจำกัดต่างๆ ที่ว่ามา ก็จะลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกมมิ่งโน๊ตบุ๊คหลายๆ รุ่น ก็แทบจะตอบโจทย์คนที่ใช้งานพีซีได้เลยทีเดียว ทั้งสเปค ประสิทธิภาพ และความคล่องตัว รวมถึงการอัพเกรด

ส่วนถ้าคุณมีงบประมาณจำกัด หรือไม่ถนัดกับการที่จะต้องไปเดินร้าน ไม่มีข้อมูลหรือพื้นความรู้ด้านฮาร์ดแวร์มากนัก โน๊ตบุ๊คจะมีราคาค่อนข้างตายตัวอยู่แล้ว สเปคกับราคาไปในทางเดียวกัน ไม่หลากหลายมาก ก็เป็นทางออกที่น่าสนใจ อีกทั้งเปิดเครื่อง ทำตามขั้นตอนไป ก็พร้อมใช้ได้เลย ไม่วุ่นวาย และยังมีประกันทั้งตัวเครื่อง มีปัญหาก็โทรแจ้งหรือยกเข้าศูนย์ได้ทันที แต่ถ้าเป็นพีซีประกอบ คุณอาจจะต้องไล่เช็คฮาร์ดแวร์ และแก้ปัญหาเองได้บ้าง รวมถึงประกันจะแยกรายชิ้น ต้องพอทราบว่า ชิ้นใดกี่ปี และประกันของอะไร หรือไม่ก็ต้องยกไปร้านที่ซื้อ อาจจะไม่สะดวกนัก

แต่ข้อดีของคอมประกอบ ก็คือการเลือกฮาร์ดแวร์ได้ตามใจ จะราคาประหยัด หรือจัดบางอย่างแพงๆ ก็มีให้เลือก ชุดระบายความร้อน หรือแสงไฟ RGB ก็เพิ่มความสวยงามได้เต็มที่ แค่คุณมีพื้นฐานฮาร์ดแวร์อยู่บ้าง หรือร้านที่ชำนาญบอกรายละเอียดให้คุณได้ครบ หรืองบประมาณคุณไม่ได้บีบคั้นเกินไปนัก ก็จัดได้อย่างคุ้มค่า สวยงามและถูกใจ

อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้ อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามทีว่า ซื้ออะไรดี เกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค vs คอมประกอบ ในครั้งนี้ แล้วคุณคิดอย่างไรกับคอมทั้ง 2 แบบนี้ ก็แสดงความคิดเห็นมาให้เพื่อนๆ ได้ตัดสินใจกันกันได้เลยครับ

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Buyer's Guide

เล่นเกมด้วย Intel Core Ultra 5 245K กับ 7 เกมยอดนิยมบนการ์ดจอบนซีพียู Intel ไหวมั้ย ลื่นรึเปล่า? Intel Core Ultra 5 245K เป็นซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งปล่อยลงสู่ตลาดในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องความแรงและประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งด้านการประมวลผล หรือปัจจุบันก็มีเรื่องของ...

PC Zone

Thermaltake The Tower 300 Limestone Edition สวยล้ำ ประกอบง่าย ระบายอากาศดี พัดลม ARGB กระจกเทมเปอร์โชว์ได้ทุกด้าน Thermaltake The Tower 300 Limestone Edition อีกหนึ่งเคสคอมในรูปแบบของมินิทาวเวอร์ บนรูปแบบ mATX form factor ในแบบแนวตั้ง...

Special Story

ปีนี้นับเป็นปีที่ซีพียูโน้ตบุ๊กของ AMD มีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด และมีความน่าสนใจในด้านประสิทธิภาพที่สูงขึ้นโดยที่ยังคุมการใช้พลังงานและความร้อนได้ดี ทำให้เราได้เห็นการนำซีพียู AMD ไปใช้ทั้งในโน้ตบุ๊กทำงานทั่วไป เกมมิ่งโน้ตบุ๊กตั้งแต่สเปคระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับท็อป รวมถึงในกลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพาด้วย แต่ที่จะเด่นชัดสุดคงหนีไม่พ้นชิปรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีโค้ดเนมว่า AMD Strix Point หรือในชื่อที่ใช้จริงนั่นคือ AMD Ryzen AI 300 series นั่นเอง

รีวิว MSI

ถ้าคิดว่าเกมมิ่งโน๊ตบุ๊คจะต้องใหญ่และหนัก เชิญพบกับไลท์เวทหมัดหนักอย่าง MSI Cyborg 14 A13V ข้อดีของเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค ก็ต้องยกให้เรื่องสเปคแรงพอจะทำงานได้ดีเล่นเกมได้ลื่นแต่ก็แลกกับน้ำหนักตัวระดับ 2 กก. ขึ้นไป แต่ก็มี MSI Cyborg 14 A13V รุ่นย่อขนาดจาก Cyborg 15 เดิมให้เครื่องเล็กลงนิดน้ำหนักเบาลงหน่อย ฉีกกฏเดิมว่าถ้าอยากแรงก็ต้องหนักกลายเป็นว่าไม่ต้องหนักสเปคก็แรงได้ ภายในตัวเครื่องขนาด 14 นิ้ว...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก