Connect with us

Hi, what are you looking for?

รีวิว Asus

ASUS Vivobook 16 รีวิวโน๊ตบุ๊คจอกว้าง กาง 180 ทำงานเช็คหุ้น ดูหนังก็ปัง! พลัง Ryzen 5

ASUS Vivobook 16 จอกว้าง พอร์ตเยอะ ทำงานหรือบันเทิงก็ลงตัว ฟีเจอร์ครบ Ryzen 5 แค่ 22,990.-

ASUS Vivobook D1603Q cov6

ASUS Vivobook 16 การที่มีเครื่องมือช่วยให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหา การเลือกโน๊ตบุ๊คสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายก็เช่นกัน ASUS Vivobook เป็นไลน์โน๊ตบุ๊คกลุ่มไลฟ์สไตล์ ซึ่งเวลานี้มีให้เลือกหลากหลายรุ่น เช่นเดียวกับ ASUS Vivobook 16 ที่เรานำมาให้ชมกันในวันนี้ ก็น่าสนใจไม่น้อย ด้วยหน้าจอขนาดใหญ่ 16″ ความละเอียด 1920×1200 ในแบบ 16:10 กางออกได้ 180 องศา เพื่อแชร์ไดเดียเด็ดๆ ของคุณให้คนอื่นๆ ได้ชม ยกขุมพลังซีพียู AMD Ryzen 5 5600H ที่ถือว่าเป็นซีรีส์ของเกมมิ่งมาให้ผู้ใช้ได้ทำงานต่างๆ ลื่นไหลมากขึ้น เพิ่มเทคโนโลยีการระบายความร้อนมาเป็นพิเศษ ลดเสียงรบกวน จุดเด่นอยู่ที่การออกแบบและใช้วัสดุแข็งแรง น้ำหนักเบาแม้จะเป็นโน๊ตบุ๊คที่มีจอใหญ่ก็ตาม และเคลือบสารป้องกันแบคทีเรียมาด้วย กล้องเว็บแคมที่ให้ความเป็นส่วนตัว ปิดการใช้งานได้ด้วยปลายนิ้ว และคีย์บอร์ด ErgoSense ให้มุมการกดที่เข้ากับสรีระ การกดที่นุ่มนวล และตอบสนองได้ดี เพิ่มความเร้าใจด้วยระบบเสียง ASUS SonicMaster เช่นเดียวกับพอร์ตต่อพ่วงที่มีให้อย่างครบครัน และการเชื่อมต่อไร้สายอีกมากมาย พร้อมระบบปฏิบัติการ Windows 11 Home ในตัว และการรับประกัน 2 ปี กับราคาเริ่มต้นที่ 21,990 บาท


จุดเด่น

Advertisement
  • ให้พื้นที่แสดงผลขนาดใหญ่ 16″
  • กางหน้าจอได้ 180 องศา
  • ให้ซีพียูระดับเกมมิ่ง AMD Ryzen 5 5600H
  • มีสล็อตอัพเกรดแรมเพิ่ม
  • ขอบจอบางมาก มี Privacy shutter มาให้
  • มีพอร์ต USB Type-C มาให้
  • กราฟิกพอเล่นเกมพื้นฐานได้ในระดับ 30-40fps
  • แบตค่อนข้างอึด 50Whr ใช้ได้ราวๆ 8-9 ชั่วโมง

ข้อสังเกต

  • ถ้ามีพอร์ต LAN RJ-45 เพิ่มมาให้ก็น่าจะดี

ASUS Vivobook 16 D1603


Specification

ASUS Vivobook 16รายละเอียดผลิตภัณฑ์
สีQuiet Blue
ระบบปฏิบัติการWindows 11 Home – ASUS recommends Windows 11 Pro for business
โปรเซสเซอร์AMD Ryzen™ 5 5600H Mobile Processor (6-core/12-thread, 19MB cache, up to 4.2 GHz max boost)
กราฟิกAMD Radeon™ Vega 7 Graphics
จอภาพ16.0-inch, WUXGA (1920 x 1200) 16:10, IPS-level Panel, 300nits, 45% NTSC color gamut for non-OLED, Anti-glare display, Screen-to-body ratio86 %
หน่วยความจำ8GB DDR4 on board
ตัวจัดเก็บข้อมูล512GB M.2 NVMe™ PCIe® 3.0 SSD
ช่องเสียบ1x DDR4 SO-DIMM slot
การเชื่อมต่อ1 x USB 2.0 Type-A
1x USB 3.2 Gen 1 Type-C
2 x USB 3.2 รุ่น 1 Type-A
1 x Micro HDMI 1.4
1x 3.5mm Combo Audio Jack
คีย์บอร์ดและทัชแพดChiclet Keyboard with Num-key, 1.4mm Key-travel, Touchpad
กล้อง720p HD camera
With privacy shutter
เสียงSonicMaster
with Cortana and Alexa voice-recognition support
การเชื่อมต่อไร้สายWi-Fi 6(802.11ax) (Dual band) 2*2 + Bluetooth 5
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 50WHrs, 3S1P, 3 ก้อน
พาวเวอร์ซัพพลายø4.5, 90W AC Adapter, Output: 19V DC, 4.74A, 90W, Input: 100~240V AC 50/60Hz universal
น้ำหนัก1.88 kg
ขนาด (กxยxส)35.84 x 24.77 x 1.99 ~ 1.99 cm
แอปที่มาพร้อมเครื่องMyASUS
คุณสมบัติ MyASUSSystem diagnosis
Battery health charging
Fan Profile
Splendid
Function key lock
WiFi SmartConnect
Link to MyASUS
TaskFirst
Live update
ASUS Intelligent Performance Technology
AI Noise Canceling
Microsoft Officeรวม Office Home และ Student 2021
Military GradeUS MIL-STD 810H military-grade standard
Regulatory Compliance
Energy star
ความปลอดภัยBIOS Booting User Password Protection
Trusted Platform Module (Firmware TPM)
BIOS setup user password
ภายในกล่องBackpack
ราคา22,990 บาท

ข้อมูลเพิ่มเติม: ASUS


Hardware / Design

ASUS Vivobook 16

ASUS Vivobook 16 D1603Q รุ่นนี้ มาในโทนสีที่เรียกว่า Quiet Blue ซึ่งเรียกว่าแทบจะเป็นสีประจำรุ่นก็ว่าได้ รวมไปถึงโน๊ตบุ๊คกลุ่มธุรกิจ อย่างเช่น ExpertBook ในหลายๆ รุ่น ซึ่งถือว่าค่อนข้างโดดเด่น และดูจะเข้ากันได้ในทุกโอกาส ไม่ว่าจะใช้งานในออฟฟิศ ออกไปนั่งร้านกาแฟ หรือจะไปพบลูกค้านอกสถานที่ ส่วนตัวค่อนข้างชอบสีนี้ เพราะเห็นเป็นรอยนิ้วมือได้ยาก และดูสุขุมเลยทีเดียว เช่นเดียวกับบอดี้ ที่ยังคงความกระทัดรัดเอาไว้ แม้ว่าจะอยู่ในแนวของโน๊ตบุ๊ค 16″ ก็ตาม

ASUS Vivobook 16

โคงสร้างหลักแข็งแรง Cover ยังคงเป็นแบบ ABS แต่จะไม่ได้เป็นซอฟต์ทัชแบบเดียวกับใน Zephyrus แต่เรื่องของสีสัน จะดูเป็นแบบสีด้าน ไม่มันเงา ไม่ต้องกลัวเรื่องริ้วรอยมากนัก ส่วนบอดี้หลักจะมีทั้งเป็นโลหะในบางส่วน ทำให้สัมผัสแข็งแรง และให้ความยืดหยุ่นพอสมควร มีการลบเหลี่ยมมุม เพื่อให้บอดี้ดูมีความบางและเล็กลงอีกด้วย สังเกตได้จากขอบด้านข้างทั้ง 4 ด้าน รวมถึงด้านใต้ของพอร์ตทั้ง 2 ด้าน

ASUS Vivobook 16

กรอบบานของหน้าจอบางเป็นพิเศษ ในส่วนนี้ ASUS เคลมว่าให้สัดส่วนพื้นที่หน้าจอแสดงผลมากถึง 86% เมื่อเทียบกับบอดี้ทั้งหมด ซึ่งดูแล้วเป็นผลดีสำหรับผู้ใช้ทั้งในงานเอกสาร ท่องเว็บหรือจะเน้นความบันเทิง เพราะไม่มีเรื่องของขอบหนาๆ มาทำให้เสียอรรถรสและยังมีส่วนทำให้บอดี้โดยรวมเล็กลงอีกด้วย

ASUS Vivobook D1603Q 36

มาพร้อมกล้องเว็บแคมความละเอียด HD พร้อมไมโครโฟน แต่ไม่รองรับการล็อคอินด้วยใบหน้าผ่านทาง Windows Hello พร้อมที่ปิดกล้อง privacy shutter โดยมีไมโครโฟน และมีไมโครโฟน ASUS AI Noise-Canceling ปรับระดับการตัดเสียงรบกวนที่จะแทรกเข้ามาขณะใช้งานได้หลายรูปแบบ ร่วมกับเทคโนโลยี Ai

ASUS Vivobook 16

คีย์บอร์ด ASUS ErgoSense ในแบบ Full-size จัดเต็ม ถูกวางไว้จนเกือบเต็มพื้นที่กับปุ่มขนาดใหญ่ กดพิมพ์ได้ง่าย ดูสบายตากับฟอนต์ที่คมชัด และวางฟังก์ชั่นต่างๆ รวมถึงฮอตคีย์ให้ใช้งานอีกเพียบ ไม่ว่จะเป็นการเปิด-ปิดฟังก์ชั่น เพิ่มลดระดับเสียง แสงสว่าง รวมถึงมี Numberpad มาให้พร้อมใช้ จะขาดไปบ้างก็น่าจะเป็นเรื่องแสงไฟ Backlit แต่ก็ดูแล้วไม่ใช่เรื่องที่น่าซีเรียสมากนักกับการใช้งานในแต่ละวัน

ASUS Vivobook 16

ASUS Vivobook 16 มีพอร์ตต่อพ่วงให้มาตามมาตรฐาน และน่าจะเยอะมากพอต่อการใช้งานในแต่ละวัน โดยมี USB Type-A ให้ถึง 3 พอร์ตด้วยกัน และเพิ่ม USB-C มาด้วย แต่เน้นที่การถ่ายโอนข้อมูลเป็นหลัก รวมถึง HDMI นอกนี้ ยังรองรับการเชื่อมต่อไร้สาย WiFi 6 ax และ Bluetooth ซึ่งเรียกว่าพร้อมสำหรับการเชื่อมต่อในเกือบทุกรูปแบบ

ASUS Vivobook 16

บานพับหน้าจอแข็งแรงและโดดเด่นในเรื่องของการกางออกได้ถึง 180 องศา ด้วยการออกแบบที่เรียกว่า lay-flat hinge เพื่อการแชร์ข้อมูลให้กับคนอื่นรอบข้างได้ดูพร้อมๆ กัน ซึ่งตรงกับแนวคอนเซปต์ของทาง ASUS ในการใช้งานในสำนักงานหรือจะเป็นด้านความบันเทิงภายในบ้านก็ตาม นอกเหนือจากหน้าจอในแบบ IPS ให้มุมมองกว้างขึ้น และจอขนาดใหญ่ การกางได้แบบนี้เป็นผลดีต่อการใช้งานมากขึ้น

ASUS Vivobook 16

ปุ่ม Enter ที่ใส่โลโก้ในแบบดั้งเดิมที่ทาง ASUS ออกแบบไว้ ซึ่งในความหมายจะคล้ายๆ ว่า เมื่อคุณพร้อม ก็กด Enter เพื่อเข้าสู่การทำงานกันดีกว่า หรือคล้ายเป็นการยืนยันว่า มั่นใจก็กดปุ่ม Enter เพื่อจบงานของคุณกันเถอะ ประมาณนี้

ASUS Vivobook 16

ฝาปิดด้านใต้เป็นโครงโลหะซ่อนอยู่กับบอดี้ที่เป็น ABS เจาะช่องดูดอากาศเย็นด้านใต้เครื่อง และปิดบางจุดเอาไว้ เพื่อเป็นการบังคับทิศทางลม และป้องกันชิ้นส่วนด้านใน เป็นช่องลมที่เรียบง่าย ต่างจากใน TUF Gaming และมีแถบยางที่เป็น Feet ยกตัวโน๊ตบุ๊คให้สูงขึ้นเล็กน้อย

ASUS Vivobook 16

ภายในจัดมาแบบหลวมๆ ไม่ได้แน่นจนเกินไป มีลักษณะการวางองค์ประกอบบางอย่างให้ทำงานได้ดีมากขึ้น และมีสล็อตแรมสำหรับการอัพเกรดได้ โดยทาง ASUS ใช้ระบบระบายความร้อนที่เรียกว่า IceCool technology ที่มาพร้อมใบพัดขนาดเล็ก เสียงรบกวนต่ำ และมีช่องระบายลมร้อนออก บริเวณด้านข้างซ้ายของโน๊ตบุ๊คอีกด้วย

ASUS Vivobook 16

อแดปเตอร์ชาร์จไฟให้มาไซส์ใหญ่แบบเดียวกับบน ASUS Vivobook 15 แต่ขยับมาเป็น 90W 4.74A ถือว่าตอบโจทย์ในการใช้งานได้ดีทีเดียว และขนาดเล็กกระทัดรัดประมาณฝ่ามือเท่านั้น น้ำหนักแค่ 300g จัดว่าเบาและสะดวกต่อการพกพาไม่น้อย สายไฟเป็นแบบยางเคลือบ ทนการพับงอได้ดี ความยาวประมาณ 1.50m

ASUS Vivobook 16

บอดี้โดยรวมถือว่าค่อนข้างลงตัว มิติอยู่ที่ประมาณ 35.84 x 24.77 และน้ำหนักเฉพาะตัวเครื่องราวๆ 1.8Kg เท่านั้น


Keyboard / Touchpad

ASUS Vivobook 16

ชุดคีย์บอร์ดมาในแบบ Chiclet Island ที่แยกส่วนและมีระยะห่างกันกำลังดี เหมาะทั้งสายพิมพ์งานยาวๆ แบบสัมผัส หรือผู้ใช้ทั่วไป ให้แรงกดไม่ลึกมากนัก มีการสะท้อนพอเหมาะ ซึ่งจะคล้ายๆ กันเกือบทั้งหมดในสายทำงานอย่าง Vivobook แต่จะกดลึกกว่า Zephyrus เล็กน้อย ขณะที่มีการตอบสนอง ปุ่มมาในแบบ Full-size ซึ่งมี NumberPad มาในตัว แต่จะไม่มีแสงไฟ Backlit มาให้

ASUS Vivobook 16

ปุ่มคีย์บอร์ดมีความน่าใช้ ใครที่เป็นคนที่พิมพ์แล้วต้องมองแป้นพิมพ์น่าจะชื่นชอบไม่น้อย นั่นก็เพราะตัวฟอนต์ที่ทำออกมาใหญ่ มองเห็นได้ชัดเจน วางเลย์เอาท์ได้ลงตัว ปุ่ม Tab และ Accent อาจจะเล็กไปนิด แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ใช้งานได้ง่าย

ASUS Vivobook 16

ปุ่ม Spacebar ตรงกลาง ไม่ยาวนัก แต่ก็ใช้งานได้สะดวกเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณใช้พิมพ์เป็นหลัก เพื่อให้การจัดวางปุ่ม Ctrl และ Alt ได้ใกล้มือยิ่งขึ้น

ASUS Vivobook 16

ส่วนทาง NumberPad ที่ประกอบไปด้วยปุ่มตัวเลขต่างๆ มี โดยยกแถบของ -, + เอาไว้ด้านบน และบรรดาเครื่องหมายพิเศษต่างๆ ส่วนตัวรู้สึกติดนิดหน่อยตรงปุ่ม Arrow ด้านล่าง ที่มีให้แบบครึ่งปุ่มเท่านั้น เล็กไปนิดนึง

จะเห็นว่าตรงปุ่ม Enter ค่อนข้างจะโดดเด่น เพราะมีการใส่ลายเส้นอารมณ์แบบป้าย Slate เวลาที่ถ่ายหนังเข้าไปด้วย ประมาณว่า กดสิ รออะไร เราจะได้เริ่มลุยงานกันเลย น่าจะประมาณนี้ โดยตัวปุ่มเกือบจะไปเชื่อมกับปุ่ม ฃ และ ฅ ทำให้มีพื้นที่ปุ่มมากขึ้นอีกนิด กดได้แม่นขึ้น

ASUS Vivobook 16

ASUS Vivobook 16 วางส่วนฮอตคีย์ที่อยู่ด้านบนก็เรียกว่ามีให้เกือบครบ หากต้องการใช้ปุ่ม F1-F12 แบบตรงไปตรงมา ไม่ต้องกด Fn สามารถเปิด ไม่อยากกด Fn ค้าง สามารถกดเลือก Hotkey priority mode ได้ ด้วยการกด Fn+Esc สลับปุ่ม Function Hotkey กับ F1-F12 ตามปกติ ซึ่งเมื่อกดสลับแล้วบนหน้าจอจะมีหน้าต่างแสดงการสลับการทำงานระหว่างปุ่ม F1-F12 หรือ Function Hotkey แสดงขึ้นมาบนหน้าจอให้เราได้ทราบอีกด้วย ทีนี้ก็จะกดที่ฮอตคีย์ได้ทันที ไม่ต้องกดพร้อมปุ่ม Fn

ASUS Vivobook D1603Q 49 1

ส่วนปุ่มฮอตคีย์นั้น ประกอบด้วย เปิด-ปิดเสียง, เพิ่ม-ลดเสียง, เพิ่ม-ลดแสงสว่างหน้าจอ, เปิด-ปิดทัชแพด, ต่อสัญญาณจอภายนอก, ไมโครโฟน, กล้องเว็บแคม, เรียกใช้ MyASUS และ จับภาพหน้าจอ

ASUS Vivobook 16

ทัชแพดขนาดใหญ่ประมาณ 8.5 x 13cm ถือว่ากว้างขวางทีเดียว หากเทียบกับโน๊ตบุ๊ค 13.3″ ที่ใช้อยู่ ต่างกันอยู่พอสมควร ซ่อนปุ่มกดซ้าย-ขวาเอาไว้ และใช้ Multi-Gesture ได้อีกด้วย เรียกว่าเอาใจสายท่องเน็ต ดูหนังและการเรียนออนไลน์ได้ดีทีเดียว

สติ๊กเกอร์มีอยู่เป็นปกติบนโน๊ตบุ๊ครุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน ASUS Vivobook 16 รุ่นนี้ก็เช่นกัน นอกจากพื้นที่วางมือขนาดใหญ่แล้ว ก็ยังมีบรรดาสติ๊กเกอร์อย่าง AMD Ryzen 5, Perfect Warranty, และ Office Home and Student มาให้คุณได้ใช้ ไม่ต้องไปซื้อเพิ่ม รวมถึงอธิบายฟีเจอร์ที่มีอยู่มากมายบนโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ อาทิ กางได้ 180 องศา, มี Ai Noise cancelling หรือจะเป็น MyASUS, Physical webcam privacy เป็นต้น


Screen / Speaker

ASUS Vivobook 16

จอแสดงผลของ ASUS Vivobook 16 รุ่นนี้ มาในไซส์ที่ใหญ่กว่าปกติ อยู่ที่ระดับ 16″ พื้นที่การทำงานมากขึ้นกว่าเดิม และเป็น Ratio หรือสัดส่วนแบบ 16:10 ให้พื้นที่แนวยาวที่มากขึ้น ด้วยความเป็นจอใหญ่ และขอบจอที่บางมาก จึงทำให้มีพื้นที่การแสดงผลที่มากขึ้น

ASUS Vivobook 16 ให้อารมณ์ในการดูหนัง หรือต้องเปิดไฟล์ภาพ และการพรีเซนเทชั่น จึงดูอิ่มเต็มตา คือเรื่องการให้ความสำคัญของ ASUS ในเรื่อง Screen-to-Body บอกได้เลยว่า ทำให้ ASUS ดูน่าสนใจมากขึ้นในหลายๆ รุ่น และหน้าจอแบบนี้ ทำให้การแบ่งหรือ Split Window รวมถึงการใช้ประชุมออนไลน์ มองเห็นสมาขิกได้จำนวนมากและชัดกว่าเดิม โดยเฉพาะคุณครู ที่ต้องดูลูกศิษย์ขณะที่สอนงาน บอกเลยว่าน่าจะชอบเป็นพิเศษ

ASUS Vivobook 16

ขอบด้านล่างยังถือว่าค่อนข้างบาง เพราะมีพื้นที่กรอบอยู่เล็กน้อย กว้างราว 1.5cm เท่านั้น ซึ่งทำให้ตัวจอมีมิติกว้างขึ้น และดูไม่เกะกะสายตา พร้อมโลโก้ ASUS Vivobook สีขาวบนพื้นสีดำ

ASUS Vivobook 16
Webcam1
Physical Webcam Shield

กล้องเว็บแคมนี้ให้ความละเอียด 720p HD ที่ให้ความคมชัดในระดับหนึ่ง มาพร้อมกับ Privacy shutter ในแบบที่คุณใช้เลื่อนเปิด-ปิดหน้ากล้องได้ด้วยตัวเอง ใช้ก็เปิด ไม่ใช้ก็ปิด เป็นการป้องกันตัวเอง ในแง่ของการมีโทรจันหรือไวรัสที่ใช้ช่องทางเข้าถึงกล้องของเราได้ไม่ง่าย รวมถึงคนที่มักจะเผลอลืมปิดกล้องหลังประชุม หรือออนไลน์ทำงานอยู่

Webcam 1

ส่วนคุณภาพของกล้องเว็บแคม ก็เป็นไปตามตัวอย่างนี้ ความคมชัดอยู่ในระดับมาตรฐาน เรื่องแสงสีพอใช้ได้ แต่ถ้าคุณเซ็ตห้องหรือวางไฟ ให้มีความสว่างที่หน้าบ้าง ก็จะทำให้ดูสวยเนียนขึ้นได้อีกเยอะ เหมาะกับการประชุมหรือการเรียน หรือคุณจะใช้ในการนำเสนองานก็พอใช้ได้เช่นกัน

สำหรับไฮไลต์อย่างหนึ่งของโน๊ตบุ๊ค ASUS Vivobook 16 รุ่นนี้อยู่ที่ฟีเจอร์ 180° lay-flat hinge ที่สามารถกางหน้าจอออก 180 องศา มาพร้อมบานพับที่แข็งแรง โดยตัวจอที่กางออกนี้ เหมาะกับใช้ในโอกาสต่างๆ ได้มากมาย และถ้าจะให้ดี มีฟังก์ชั่นกลับภาพหน้าจอให้ได้เลย สำหรับแชร์ภาพให้คนตรงข้ามได้เห็น หรือแบ่งปันให้ดูกันได้หลายๆ คนก็คงจะดีไม่น้อย

ตัวอย่างภาพของเกม การสตรีมและการเล่นเกม เรารวมเอามาไว้ให้ได้ชมกัน ในส่วนของเกม ไม่มีติดขัด ยิ่งเป็นเกมสีสันสดใส เอฟเฟกต์อลังการอย่าง DOTA2, Overwatch, Apex หรือจะเป็นเกมอย่าง Diablo ก็ให้ภาพที่สวยงาม เพียงแต่ว่าในบางเกม ไม่สามารถอัพความละเอียด หรือเพิ่มความสวยงามเยอะๆ ได้ ตามสเปคของระบบ ส่วนการชมวีดีโอ ถือว่าทั้งรายละเอียดและความไหลเนียนของภาพ ทำได้ดี ดูได้เพลินตา และเมื่อเราลองปรับ HDR enable บน Windows ภาพที่ใด้ดูกลมกลืนมากขึ้น แม้จะไม่ได้ถูกวาง Certified ด้าน HDR มา แต่ Vivobook 16 นี้มีพื้นฐานของพาแนลมาดีพอสมควร เพราะให้ความต่างในการแสดงผลได้มากขึ้น แม้จะไม่ได้สดใสแบบ HDR OLED แต่ถ้ามาดูพื้นฐานของจอบนโน๊ตบุ๊คราคาประมาณ 22,990 บาทนี้แล้ว จัดว่าเกินคาด

ASUS Vivobook 16

บน Display Properties บอกข้อมูลของ Resolution เป็น 1920 x 1200 ในแบบ Native อาจจะทำให้ดูฟอนต์ใหญ่อยู่บ้าง แต่สามารถปรับ Scale ให้เหมาะกับความชอบของคุณได้เลย

Display CAL 1 2

ในแง่ของสีสันและความสดใส รวมถึงความแม่นยำของค่าสี ที่จะนำมาใช้งานนั้น แนะนำว่า ถ้าใช้งานในห้องปกติ ปรับความสว่าง 60-70% ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว หรือถ้าชอบแนวสว่างชัดๆ ไปเลย ก็เพิ่มอีกเล็กน้อยตามสะดวก โดยใช้ฮอตคีย์ F4, F5 ส่วนในแง่ของความแม่นยำ เราใช้โปรแกรม DisplayCAL กับอุปกรณ์ทดสอบหลักอย่าง ColorChecker มาทดสอบ ซึ่งผลที่ได้เป็นดังนี้ครับ ค่า Gamut อยู่ที่ราวๆ 60% อยู่ในเกณฑ์พื้นฐานของจอโน๊ตบุ๊คทำงาน ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องปกติ หากเป็นในกลุ่ม Vivobook 15 ที่เป็น OLED หรือ Zephyrus ตัวเกมมิ่ง ก็จะทำได้ดีกว่า แต่อย่าลืมว่าราคาก็จะดีดเพิ่มขึ้นไป ส่วนถ้ามีความจำเป็นจะต้องทำงานเกี่ยวข้องกับด้านภาพและสีเพิ่ม ให้มองจอทำงาน ที่ต่อแยกเพิ่มดูจะเหมาะสมมากกว่า

แต่อีกค่าหนึ่งดูน่าสนใจเช่นกัน นั่นคือ ค่าความสว่าง ที่จอนี้ทำได้เมื่อเปิดสุด 100% ให้ผลทดสอบได้ถึง 361cd/m2 ซึ่งเหมาะสำหรับการทำงานในที่ที่แสงน้อย หรือมีแสงรอบข้างค่อนข้างมาก หรือคนที่ใช้งานนอกสถานที่บ่อย แต่กรณีที่ใช้ในสำนักงาน ปรับในระดับ 60-70% ที่มีแสงไฟรอบข้างเพียงพอ ก็มองเห็นได้ชัดแล้วครับ


Connector / Thin and Weight

ASUS Vivobook 16

ส่วนฝั่งทางด้านซ้ายของโน๊ตบุ๊คนั้น จะมีเพียง USB 2.0 Type-A มาเพียงพอร์ตเดียวเท่านั้น แต่ใช้พื้นที่ว่างอีกส่วนหนึ่ง มาเป็นช่องระบายความร้อน ถือว่าเป็นไอเดียที่ดี การแยกฝั่งการใช้งานแบบนี้ เป็นผลดีหลายอย่าง ตั้งแต่การจัดระเบียบการต่อพ่วงอุปกรณ์ได้แล้ว ยังง่ายต่อการใช้ ไม่ต้องเกะกะอีกด้วย

ASUS Vivobook 16

โดยส่วนตัวการมี USB-C มาให้ก็จะเป็นการดีอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าได้เพิ่มฟังก์ชั่้น ที่นอกเหนือจากการถ่ายโอนข้อมูล ก็จะเป็นผลดีต่อผู้ใช้มากกว่าเดิม แม้ว่าการเติม Thunderbolt 4 เข้ามา อาจจะเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะอาจจะทำให้ราคาขึ้นไปเกินกว่า 25K ดังนั้นการเพิ่มบทบาทของ USB-C ก็ดูจะน่าสนใจไม่น้อย อย่างไรก็ดีหากผู้ใช้ไม่ได้ซีเรียส ก็อย่าลืมว่ายังมี HDMI ที่แสดงผลไปยังจอภายนอกได้อีกด้วย ก็พอจะตอบโจทย์ในด้านนี้ได้

ASUS Vivobook 16

ส่วนในเรื่องมิติและความบาง ASUS เคลมเอาไว้ว่า 1.99cm ก็เป็นเรื่องปกตินะของโน๊ตบุ๊คในระดับ 15.6″ หรือ 16″ แบบนี้ โดยเฉพาะการวัดในจุดที่หนาสุด เพราะอย่าลืมว่าโน๊ตบุ๊คจะต้องมีโครงสร้างส่วนหนึ่ง ในการรับภาระโดยรวมเช่นกัน ดังนั้นก็ต้องเพิ่มความแข็งแรง และส่วนตัวก็มองว่าไม่ได้เป็นปัญหา หากจะใส่เข้าไปในกระเป๋าเป้หรือใช้สะพายข้าง เพราะยังมีพื้นที่มากพอในการจัดวางสิ่งต่างๆ ได้ ไม่อึดอัดจนเกินไป

Weight 1
Weight 3

และน้ำหนักที่ได้ อยู่ที่ประมาณ 1.87Kg ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับที่เคลมเอาไว้ในเว็บไซต์ของ ASUS อยู่ที่ 1.88Kg เมื่อรวมกับแอดปเตอร์ขนาดเล็กๆ น้ำหนักประมาณ 300 กรัม ก็ทำให้โน๊ตบุ๊คจอใหญ่ๆ แบบนี้ หนักประมาณ 2.1Kg เท่านั้น ยังอยู่ในเกณฑ์ของการพกพาได้ และอยู่ในระดับเดียวกับโน๊ตบุ๊ค 15.6″ อีกด้วย จะใส่กระเป๋าเป้เดินทาง ก็ยังพอไหว จะเป็นชายร่างใหญ่หรือสุภาพสตรีที่ยกบ้าง วางบ้าง แวะหาลูกค้าทำงาน และวางในรถยนต์ก็ไม่เกะกะ


Inside / Upgrade

ASUS Vivobook 16

มาดูที่ด้านหลังหรือด้านใต้ของโน๊ตบุ๊ค ASUS Vivobook 16 นี้กันก่อนจะไปแกะ เพื่อดูด้านในและการอัพเกรด สำหรับคนที่อยากจะลองทำด้วยตัวเอง สามารถใช้ไขควง 4 แฉกในการแกะได้ มีน็อตประมาณ 13 ตัวด้วยกัน ไขง่ายมาก ส่วนการแกะฝาปิดนั้น อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังเล็กน้อย

ASUS Vivobook 16

เมื่อเปิดฝาออกมา จะเห็นด้านในเป็นเช่นนี้ โดยจะเป็นโครงที่มีชิ้นส่วนปกป้องอุปกรณ์ด้านในอยู่พอสมควร เช่น ขาล็อคน็อต, SSD module รวมถึงตะแกรงกรองฝุ่นในจุดที่เป็นพัดลม

ASUS Vivobook 16

ภายในของ ASUS Vivobook 16 เมื่อเปิดฝาออกมาทั้งหมดแล้ว ภายในเราจะได้เห็นเมนบอร์ดในไซส์ขนาดมาตรฐาน ซึ่งใช้พื้นที่ประมาณ 1/3 ของพื้นที่ทั้งหมดภายใน สำหรับการจัดวางชุดระบายความร้อน แม้จะเป็นแบบพัดลมเดียว และใช้ฮีตไปป์ทองแดงจำนวน 2 เส้น วิ่งคู่กันจากฮีตซิงก์ของซีพียู ผ่านมายังช่องพัดลม และไปยังครีบระบายความร้อน และให้พัดลมที่ดูดลมเย็นเข้ามา เป่าออกไปทางด้านข้างซ้าย และทาง ASUS ใช้เทคโนโลยี IceCool Thermal ช่วยในการระบายความร้อน

ASUS Vivobook 16

ใบพัดลมเป็นแบบ 87 ใบขนาดเล็กมากๆ และยังเป็น Liquid-crystal polymer ซึ่งถือว่าเป็นผลดี เพราะทำให้มีความแข็งแรง และเสียงรบกวนน้อย ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานทั้งในด้านของการเล่นเกม ดูหนังต่อเนื่องหรือในช่วงที่โหลดซีพียูหนักๆ ได้ดีพอสมควร

ASUS Vivobook 16

ช่องที่เป็นทิศทางลมออกอีกช่องหนึ่ง ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลัง หรือใต้หน้าจอ เบี่ยงไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย ช่วยให้การระบายอากาศทำได้คล่องตัวขึ้น

ASUS Vivobook 16

มาว่ากันที่การอัพเกรดกันบ้าง โดยพื้นฐาน ASUS Vivobook จะมาพร้อมกับแรมออนบอร์ด เช่นเดียวกัน รุ่นนี้มีมาให้ 8GB DDR4 แล้ว และยังมีสล็อตแรมเพิ่มให้อีก 1 สล็อต DDR4 SO-DIMM สำหรับการอัพเกรดอีกด้วย โดยเพิ่มได้อีกอย่างน้อย 24GB เมื่อรวมกับของเดิม

ASUS Vivobook 16

และอีกช่องหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ เดิมทาง ASUS ติดตั้ง SSD ในแบบ M.2 NVMe PCIe 3.0 x4 มาแล้ว 1 ตัว ความจุ 512GB ก็สามารถเพิ่มความจุ ด้วยการเปลี่ยนเป็น SSD ในรูปแบบเดียวกัน จะเพิ่มความจุหรือความเร็ว ก็ดูได้ตามความเหมาะสม ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัว ถ้าคุณเป็นคนที่มีข้อมูลเยอะมาก ใช้โปรแกรมค่อนข้างหลากหลาย การเพิ่มเป็น SSD 1TB ก็ดูน่าสนใจ เพราะราคาเวลานี้ก็ถูกลงมาก 1TB ราคาเริ่มต้นประมาณ 3 พันบาทเท่านั้น

ASUS Vivobook 16

แบตเตอรี่ที่ให้มาเป็นแบบ 3-cell 50Whr ซึ่งอยู่ในเกณฑ์กลางๆ เมื่อเทียบกับโน๊ตบุ๊คในขนาด 15.6″ หรือ 16″ ที่มีอยู่ในท้องตลาด เรื่องของระยะเวลาในการทำงาน สามารถเข้าไปดูในส่วนของการทดสอบ Battery / Heat / Noise กันได้เลยครับ

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ บริเวณที่เป็นบานพับทาง ASUS ออกแบบมาเป็นแนวยาวตลอดทั้งบอดี้ และมีจุดยึดที่แข็งแรงพอสมควร ทำให้พอมั่นใจได้ว่า จะใช้ไปได้แบบยาวๆ เมื่อต้องเปิด-ปิดๆ อยู่บ่อยครั้ง ยิ่งคนที่ต้องเดินทางบ่อย น่าจะให้ความสำคัญในจุดนี้ด้วยเช่นกัน


Performance / Software

ASUS Vivobook 16

มาสู่โหมดการทดสอบ เริ่มที่ CPUz กับการรายงานข้อมูลฮาร์ดแวร์ โดยแจ้งเป็นซีพียู AMD Ryzen 5 5600H ได้อย่างถูกต้อง ทำงานในแบบ 6 core/ 12 thread มีแคช L3 มากถึง 16MB ส่วนอินเทอร์เฟสการเชื่อมต่อเป็น PCI-Express 4.0 x16 แล้วนะ

ASUS Vivobook 16

แรมที่ติดตั้งมาเป็นแบบ DDR4 3200 ความจุ 8GB สามารถอัพเกรดเพิ่มเติมจากสล็อตที่มีมาให้บนเมนบอร์ดได้ แนะนำว่าถ้าคุณไม่ได้ติดเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก หรือต้องการประสิทธิภาพในงานที่มีการใช้ทรัพยากรเยอะ เช่น โปรแกรมแต่งภาพ เปิดไฟล์ขนาดใหญ่ หรือตัดต่อวีดีโอเบื้องต้น เพิ่มอีกสัก 16GB ก็จะเห็นศักยภาพที่ทำได้ดีมากขึ้น รวมถึงการเล่นเกมก็มีส่วนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

CPUz4

และกราฟิกที่มีมาพร้อมซีพียู AMD Ryzen 5 รุ่นนี้ เป็นรุ่น Radeon Vega Graphic ที่ถือว่าเป็นอีกเลเวลหนึ่งที่ช่วยให้การเล่นเกมหรือทำงานด้านวีดีโอได้ดียิ่งขึ้น โดยระบบจะจัดการเรื่อง Cache หรือ VRAM ให้อัตโนมัติ ผลที่ได้ในการเล่นเกมเป็นอย่างไร ดูได้จากการทดสอบครับ

CPUz5

เราลองทดสอบระดับประสิทธิภาพ ASUS Vivobook 16 เมื่อเทียบกับซีพียูที่เป็นอดีตตัวแรงของเหล่าเกมเมอร์อย่าง AMD Ryzen 7 2700X เรื่องของ Single-Thread นั้น Ryzen 5 5600H สามารถกระชากลูกเลี้ยงหลบไปยิงได้ไม่ยาก ส่วน Multi-Thread ก็ทำได้สูสีเลยทีเดียว เป็นรองอยู่เล็กน้อย แต่ย้ำว่า Ryzen 7 2700X นั้นเป็นซีพียู PC ที่มีค่า TDP สูงกว่าและมี Core/ Thread ที่มากกว่านะ

ASUS Vivobook 16

ระบบ Storage เป็น SSD จากทาง Micron 2210 เท่าที่เช็คฮาร์ดแวร์จะเป็นแบบ 3D NAND QLC เป็น SSD สำหรับกลุ่มเอนด์ยูสเซอร์ เริ่มต้นกับการใช้งานที่มีประสิทธิภาพตอบโจทย์การใช้ในชีวิตประจำวันได้ดีพอสมควร ร่วมกับอินเทอร์เฟส PCIe 3.0 x4 ซึ่งความเร็วในการอ่านอยู่ที่ประมาณ 2,200MB/s และเขียนที่ 1,100MB/s

ASUS Vivobook 16

ในการทดสอบด้วยโปรแกรม PCMark10 ทำคะแนนโดยรวมอยู่ที่ 5,642 คะแนน โดยมีคะแนนในส่วนของ Essentials และ Productivity ทำได้ค่อนข้างดี เกือบถึง 10,000 คะแนน

ASUS Vivobook 16

ส่วนการทดสอบ 3DMark กับกราฟิก Radeon Vega ที่ติดตั้งมาบนซีพียู ซึ่งยังคงทำคะแนนได้ดีพอสมควรในหลายการทดสอบ ซึ่งเชื่อว่าถ้าติดตั้งแรมเพิ่มเติมเข้าไป น่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ASUS Vivobook 16

ผลการทดสอบกับ CINEBench ในเวอร์ชั่นต่างๆ ด้วยซีพียูในระดับ 6 core/ 12 thread ก็จัดว่าตอบสนองการใช้งานได้ดีในระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับซีพียูในระดับเดียวกัน

ASUS Vivobook 16

การทดสอบด้วยเกม 3 มิติ เพื่อให้เห็นประสิทธิภาพในการเล่นเกม ด้วยกราฟิก AMD Radeon Vega นี้ ก็ถือว่าให้คุณเล่นเกมในแนวต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ทรัพยากรมากจนเกินไป หรือแทบจะไม่ต้องพึ่งพึงความสามารถของการ์ดจอแยก โดยเกมอย่าง DOTA2 ในโหมด Fastest ให้เฟรมเรตได้สูงถึง 80fps และเฉลี่ยอยู่ที่ราว 60fps ได้นิ่งๆ แม้ภาพจะไม่สวยงามหรูหรา แต่คุณยังคงได้เห็นเอฟเฟกต์และความลื่นไหลได้

ASUS Vivobook 16

โดยที่ในเกม Overwatch ก็ถือว่าทำตัวเลขเฟรมเรตออกมาได้ดีเช่นกัน โดยการตั้งค่าจะอยู่ที่ Low สามารถเล่นได้ในเฟรมเรตเฉลี่ยที่ 70fps ลื่นไหลสบายตา และสุดท้ายกับเกมที่โหดขึ้นมาอีกนิด อย่าง PUBG ที่ตั้งเอาไว้ในแบบ Very Low เล่นได้บนเฟรมเรตเฉลี่ยประมาณ 30-35fps. ก็จัดว่าพอเล่นได้ แต่ถ้าลด View Distance ลงอีกหน่อย ก็จะได้ถึง 40fps เลยทีเดียว


Battery / Heat / Noise

ASUS Vivobook 16

แบตเตอรี่ที่ติดตั้งมาให้บน ASUS Vivobook 16 รุ่นนี้เป็นแบบ 3-cell, 50Whr ในการทดสอบ ด้วยการใช้โปรแกรม BatteryMon และตั้งค่าการทดสอบด้วยเงื่อนไข ที่อยู่ในสมมติฐานด้วยการจำลองใช้งานแบบประหยัดแบต ในการทดสอบ Video Playback กับระดับเสียง 20% และความสว่างประมาณ 25% สตรีมมิ่ง Youtube ต่อเนื่อง และค่า Power Options ในโหมด Balanced ให้ระยะการทำงานได้เกือบ 9 ชั่งโมงเลยทีเดียว นับว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจพอสมควร ต้องถือว่าช่วยให้ผู้ใช้สามารถนำโน๊ตบุ๊คไปใช้งานข้างนอกได้เกือบๆ ครึ่งวัน เมื่อชาร์จแบตจนเต็ม และเราเพิ่มการทดสอบการชาร์จ โน๊ตบุ๊คสามารถชาร์จไฟที่ระดับ 30% ในเวลาประมาณ 20 นาทีเท่านั้น ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี

Battmon

มาทดสอบในด้านของอุณหภูมิขณะทำงานกันบ้าง จากที่ใช้โปรแกรม Furmark ในโหมด CPU Burner เพื่อให้ซีพียูทำงานในแบบ 100% Full-load ในห้องควบคุมอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส เพื่อจำลองการทำงาน เมื่ออยู่ในสภาวะที่ทำให้ซีพียูทำงานเต็มกำลัง บนความเร็วสัญญาณนาฬิกาประมาณ 4.0GHz ผลที่ได้คือ อุณหภูมิขึ้นไปสูงสุดประมาณ 94 องศาเซลเซียส และลงมาอยู่ที่ 84 องศาเซลเซียสแบบนิ่งๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มาจากความสามารถของระบบระบายความร้อน ASUS IceCool พัดลมตัวเดียวก็เอาอยู่

Temp 1

หากมองในความเป็นจริงแล้ว มีการทำงานไม่มากนัก ที่จะรีดพลังของซีพียูไปในระดับนั้น เพราะโปรแกรมส่วนใหญ่จะเรียกใช้ประมาณ 30-40% เท่านั้น ดังนั้นความร้อนที่จะเกิดขึ้นจริง ก็อยู่ที่ราวๆ 50-70 องศาเซลเซียสเท่านั้น


Conclusion / Award

ในภาพรวมของ ASUS Vivobook 16 รุ่นนี้ ผมมองเห็นความโดดเด่นในการถ่ายทอดเรื่องราวของโน๊ตบุ๊คที่มีจอขนาดใหญ่ ซึ่งดูเข้ากับชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ได้มากกว่า ถ้าไม่นับเรื่องของของการพกพาสำหรับบางคน ด้วยจอขนาด 16″ 1920×1200 นี้ ช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในงานและความบันเทิงได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรที่ต้องการพรีวิวงานให้กับลูกค้า หรือจะเป็นคุณครูที่ใช้พื้นที่ในการนำเสนอแก่นักเรียน หรือการเรียนออนไลน์ รวมถึงผู้ใช้ตามบ้าน ที่มีพี่น้องลูกหลาน ให้มาใช้งานร่วมกันได้ แบ่งปันความบันเทิงให้กับคนในครอบครัว หรือจะนั่งดูหนัง สตรีมมิ่งกับเพื่อนๆ ไปจนถึงเหล่ายูทูปเบอร์ที่พอจะใช้ในการตัดต่อวีดีโอเบาๆ กับการพรีวิวภาพได้กว้างกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้คือจุดเด่นที่น่าสนใจ

ในแง่ของประสิทธิภาพ ถือได้ว่า AMD Ryzen 5 5600H นี้ ตอบสนองกับแอพพลิเคชั่นในด้านต่างๆ ได้ดี รวมถึงผลทดสอบต่างๆ ที่ออกมา ก็น่าพึงพอใจ เรียกว่างานบ้าน ไปจนถึงงานสำนักงาน สอบผ่านในทุกจุด และยังเติมความสนุกในการเล่นเกมได้ดีพอสมควร แม้จะไม่ใช่เป้าหมายหลักก็ตาม ด้วยกราฟิกที่มากับซีพียู AMD รุ่นนี้ ก็เรียกว่าเน้นงานทั่วไป มากกว่า อย่างไรก็ดีเรายังได้เห็นเฟรมเรตสวยๆ จากเกมต่างๆ มาให้สัมผัส และเป็นการเล่นเกมในโหมด Full-HD อีกด้วย เช่นเดียวกับในเรื่องของเสียงก็ยังให้ความสนุกสนาน และเต็มอิ่มไปกับการชมภาพยนตร์ได้อีกด้วย

เช่นเดียวกับพอร์ตต่อพ่วงมีมาให้เยอะพอสมควร โดยเฉพาะพอร์ตสำคัญๆ เช่น USB Type-C หรือ HDMI จะขาดก็เพียงเล็กๆ น้อยๆ ถ้ามองในแง่การใช้งานพอร์ต USB Type-A ก็จัดมาให้อีก 3 พอร์ต ก็เรียกว่าใช้งานได้เยอะแล้ว แต่น่าเสียดายที่ทาง ASUS ไม่ได้ติดตั้งแสงไฟ Backlit มาบนคีย์บอร์ด ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลต์ของโน๊ตบุ๊ครุ่นนี้ โดยเฉพาะปุ่มคีย์ใช้งานง่าย กดสะดวก และยังมีฮอตคีย์มาให้อีกเพียบ แต่โดยปกติ ถ้าคุณเป็นคนที่วางมือ หยุดพักไม่ได้สนใจกับการใช้งานในที่มืดๆ หรือจะต้องทำงานในช่วงเวลาแสงน้อย ก็แทบจะไม่ได้จำเป็นเลย

ด้านการอัพเกรดอย่างน้อยๆ คุณเติมแรมเพิ่มได้ รวมถึงเปลี่ยน SSD ในแบบ M.2 ได้ ก็จัดว่าคุ้มค่าแล้ว ยังไม่รวมการมี Windows 11 Home และ Office Student 2021 มาด้วย รวมถึงการรับประกัน 2 ปี ในราคาแค่ 21,990 บาท เท่านั้น

Award

award new value

ด้วยความเป็นโน๊ตบุ๊คในราคาแค่ 2 หมื่นต้นๆ เท่านั้น แต่ ASUS จัดเตรียมองค์ประกอบมาให้ใช้งานครบครัน ว่ากันตั้งแต่ซีพียูที่ขยับมาเป็นแบบเกมมิ่งโน๊ตบุ๊ค มีพื้นฐานของระบบที่รองรับการอัพเกรด และหน้าจอขนาดใหญ่ รวมไปถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่มอบให้กับผู้ใช้ หน้าจอใหญ่ อัพเกรดได้ พร้อม Windows 11 Home และ Office มาด้วย ราคานี้ถือว่าทำได้คุ้มค่าน่าใช้เลยทีเดียว ตอบโจทย์การใช้งานในหลายๆ ด้าน ได้อย่างลงตัว

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Special Story

ถ้านับในช่วงหลัง ๆ มา ชิปกราฟิกแบบ iGPU ที่อยู่ใน CPU โน้ตบุ๊กของ AMD ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนทำให้มีประสิทธิภาพสูงถึงระดับที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะกับการใช้เล่นเกมที่ข้ามกำแพงจากในอดีตกราฟิกแบบ iGPU มักจะทำได้อย่างมากก็เป็นเกมออนไลน์ เกมเก่าที่มีอายุนานพอสมควรแล้ว กลายมาเป็นสามารถเล่นเกมระดับ AAA และเกมใหม่ล่าสุดได้ ซึ่งปัจจุบันก็เดินทางมาถึง AMD Radeon 800M series ที่มาพร้อมกับชิป AMD...

Special Story

ปีนี้นับเป็นปีที่ซีพียูโน้ตบุ๊กของ AMD มีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด และมีความน่าสนใจในด้านประสิทธิภาพที่สูงขึ้นโดยที่ยังคุมการใช้พลังงานและความร้อนได้ดี ทำให้เราได้เห็นการนำซีพียู AMD ไปใช้ทั้งในโน้ตบุ๊กทำงานทั่วไป เกมมิ่งโน้ตบุ๊กตั้งแต่สเปคระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับท็อป รวมถึงในกลุ่มเครื่องเกมพีซีพกพาด้วย แต่ที่จะเด่นชัดสุดคงหนีไม่พ้นชิปรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีโค้ดเนมว่า AMD Strix Point หรือในชื่อที่ใช้จริงนั่นคือ AMD Ryzen AI 300 series นั่นเอง

Special Story

สำหรับการเล่นเกม แน่นอนว่าพลังประมวลผลกราฟิกจาก GPU คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงระดับประสิทธิภาพว่าจะสามารถเรนเดอร์ภาพออกมาได้สวย เฟรมเรตสูง ความหน่วงต่ำขนาดไหน ทำงานร่วมกับ CPU และฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ในเครื่อง ซึ่งถ้าทั้งระบบสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ก็จะช่วยยกระดับประสบการณ์การเล่นเกมให้ดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้เหล่าผู้ผลิตเองก็มีเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพลังกราฟิก โดยที่ยังลดภาระของฮาร์ดแวร์ลงด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ AFMF 2 เทคโนโลยีล่าสุดจาก AMD นั่นเอง

Buyer's Guide

คอม All in One 7 รุ่นเด็ด จอใหญ่ ดีไซน์สวย สเปคดี ซีพียูแรง แรม 16GB พร้อม Windows 11 เน้นทำงานและความบันเทิง คอม All in One หรือ ออลอินวันพีซี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการพีซีที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับคอมตั้งโต๊ะ แต่ประหยัดไฟและประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก