บก.ปอศ. รายงาน พบกรณีพนักงานภายในองค์กรอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายผ่านโปรแกรมเชื่อมต่อเดสก์ท็อปจากระยะไกล รวมถึงช่วงที่นักออกแบบมืออาชีพทำงานจากที่บ้าน
“นี่เป็นครั้งแรกของกรณีการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายแบบแฝง หรือ Ghost Piracy ภายในองค์กร” พ.ต.อ.ไกรวิศท์ แสนทวีสุข ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าว พร้อมชี้แจงว่า องค์กรดังกล่าวใช้งานซอฟต์แวร์สำหรับการออกแบบที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) ในการผลิตคอนเทนต์ให้กับบริษัทวิดีโอสตรีมมิงระดับโลก “เมื่อเจ้าหน้าที่ฯเข้าตรวจตามหมายค้น เราพบว่าพนักงานบริษัทที่กำลังทำงานที่บ้าน ได้ใช้งานซอฟต์แวร์ออโตเดสก์ (Autodesk) ที่ติดตั้งในคอมพิวเตอร์ของสำนักงานในเวอร์ชันที่ถูกแฮกผ่านโปรแกรมเชื่อมต่อเดสก์ท็อปจากระยะไกล ซึ่งในปัจจุบันเราเชื่อว่ากรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากพนักงานจำนวนมากยังคงทำงานจากที่บ้าน”
การจับกุมในครั้งนี้เป็นผลมาจากการแจ้งเบาะแสของพนักงานในบริษัท องค์กรดังกล่าวมีคอมพิวเตอร์จำนวน 20 เครื่องในสำนักงาน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว มีคอมพิวเตอร์กว่า 15 เครื่องที่ใช้ซอฟต์แวร์ออโตเดสก์ มายา (Autodesk Maya) โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) ในการผลิตเทคนิคพิเศษ หรือ สเปเชียล เอฟเฟค ให้แก่ภาพยนตร์และแอนิเมชัน รวมมูลค่าซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) สูงกว่า 5 ล้านบาท
ข้อมูลจาก บก.ปอศ. แสดงให้เห็นว่า การดำเนินคดีต่อองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) มีจำนวนลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะดำเนินคดีเพิ่มขึ้นเมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย โดยมีองค์กรหลายแห่งในอุตสาหกรรมวิศวกรรรม การออกแบบ และการผลิตแอนิเมชัน ถูกตั้งข้อสงสัยว่ากำลังใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์)
ในปีพ.ศ. 2564 บก.ปอศ. ได้รายงานถึงการจับกุมองค์กรจำนวน 52 แห่งในอุตสาหกรรมวิศวกรรม การออกแบบ การก่อสร้าง และการผลิตแอนิเมชันที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย โดยมีจำนวนซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) ที่ถูกจับรวมกว่า 299 โปรแกรม
จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2565 นี้ บก.ปอศ. รายงานการจับกุมองค์กรจำนวน 53 แห่งในอุตสาหกรรมวิศวกรรม การออกแบบ การก่อสร้าง และการผลิตแอนิเมชัน โดยมีจำนวนซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายที่ถูกจับรวมกว่า 346 โปรแกรมซึ่งใช้ในการออกแบบสำหรับงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดย บก.ปอศ. คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการจับกุมองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) อีก 50 แห่งภายในปีนี้
ประมาณร้อยละ 80 ขององค์กรที่ถูกจับกุมโดย บก.ปอศ. ไม่ได้เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) และได้ละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างชัดเจน ซึ่งการละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นคดีอาญา ส่วนอีกร้อยละ 20 ขององค์กรที่ถูกจับกุม มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) ที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งหมายถึงองค์กรเหล่านี้มีจำนวนซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์เพียงไม่กี่ไลเซนส์ และมีซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายอีกหลายสำเนา