ปัจจุบันการ์ดจอในโน๊ตบุ๊คเริ่มมีหลากหลายรุ่นมากขึ้น บางครั้งอาจทำให้คนที่เลือกซื้อโน๊ตบุ๊คสักเครื่องสับสน คิดว่าการ์ดจอนี้มีประสิทธิภาพสูงเมื่อมองแค่เพียงตัวเลข บางครั้งบางยี่ห้อก็ตั้งชื่อการ์ดจอคล้ายกันเสียเหลือเกิน วันนี้เราจะมาดูกันว่า การ์ดจอไหนเป็นการ์ดจอออนบอร์ดบ้าง โดยในแต่ละยุคจะมีความแตกต่างกันไป จะมีการเพิ่มความสามารถขึ้น ในปัจจุบันการ์ดจอออนบอร์ดนี้มีความสามารถเทียบเท่าการ์ดจอแยกรุ่นกลาง ๆ และรองรับการใช้งาน DirectX 11 ได้เลยทีเดียว
ประเภทของการ์ดจอ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. Integrated graphics card หรือที่เรียกกันติดปากว่า ?การ์ดจอออนบอร์ด? ถูกออกแบบมาให้ใช้งานแสดงผลทั่วไปได้โดยประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับเมนบอร์ดและชิปเซต ต้องหยิบยืมทรัพยากรมาใช้ เช่น แรมของเครื่องมาใช้เป็นแรมของการ์ดจอ ทั้งยังมี core ในการประมวลผลที่ไม่ได้รวดเร็วนัก
2. Dedicated graphics card เรียกกันบ่อย ๆ ว่า ?การ์ดจอแยก? หมายถึง การ์ดจอที่มีการทำงานแยกออกมาเป็นของตัวเองทั้งหน่วยประมวลผลการ์ดจอและแรมของการ์ดจอ ทำให้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับระดับของการ์ดจอแยก ปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตการ์ดจอแยกนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 บริษัท คือ ATI และ NVIDIA
ลักษณะการทำงานของการ์ดจอ
หลักการทำงานพื้นฐานของการ์ดแสดงผลจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อโปรแกรมต่าง ๆ ส่งข้อมูลมาประมวลผลที่ซีพียู เมื่อซีพียูประมวลผลเสร็จแล้ว ก็จะส่งข้อมูลมาที่การ์ดแสดงผลเพื่อที่จะนำมาแสดงผลบนจอภาพ จากนั้นการ์ดแสดงผลก็จะส่งข้อมูลนี้มาที่จอภาพ จะเห็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการส่งถ่ายข้อมูล ดังนี้
- Graphics Processor เป็นหน่วยประมวลผลของการ์ดจอ ความเร็วหน่วยประมวลผลขึ้นอยู่กับผู้ผลิต ถ้าเป็น Intel ชิปเซตจะมีผลในส่วนนี้ ส่วนถ้าเป็น ATI หรือ NVIDIA จะมีหน่วยประมวลผลการ์ดจอเป็นของตัวเอง
- Memory เป็นหน่วยความจำของการ์ดแสดงผลที่เรียกกันว่า VRAM นั่นเอง การ์ดจอออนบอร์ดนี้จะขึ้นอยู่กับ RAM Bus ของเครื่อง
- Graphics BIOS มีในการ์ดจอแยก จะเป็นตัวเก็บข้อมูลพื้นฐานของการ์ดจอเพื่อให้สามารถเข้ากันกับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้
- Digital-to-Analog Converter (DAC) เป็นตัวที่ช่วยจัดการระหว่าง VRAM กับจอแสดงผล ในปัจจุบัน DAC หรือ RAMDAC มีความเร็วสูงจนเกินพอ เราจึงไม่ค่อยพูดถึงส่วนนี้กัน
การ์ดจอออนบอร์ดกับการ์ดจอแยกแตกต่างกันอย่างไร ?
เราจะเห็นได้ว่าโดยหลัก ๆ แล้ว GPU และ VRAM จะมีผลต่อประสิทธิภาพการ์ดจอโดยตรง ปกติแล้วการ์ดจอออนบอร์ดจะมีประสิทธิภาพของ GPU และ VRAM ด้อยกว่าการ์ดจอแยก เพราะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแสดงผลสูง ๆ เพียงแค่ทำให้พอแสดงผลภาพ 2 มิติหรือ 3 มิติได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แน่นอนว่าประสิทธิภาพต้องได้การ์ดจอแยกไปเต็ม ๆ
จะรู้ได้อย่างไรว่าการ์ดจอไหนออนบอร์ด ?
1. ดูที่ยี่ห้อ ที่เห็นกันเกลื่อนก็คือ Intel ที่มีการ์ดจอออนบอร์ดให้มาพร้อมสำหรับผู้ที่ใช้งานทั่วไป เช่น ดูหนัง ฟังเพลง บางครั้ง ATI หรือ NVIDIA ก็ทำการ์ดจอออนบอร์ดออกมาเหมือนกัน ซึ่งจะเป็นรุ่น low-end สำหรับโน๊ตบุ๊คราคาประหยัดในยุคก่อน
2. ดูที่ชื่อรุ่น นอกเหนือจาก intel แล้ว อีกสองยี่ห้อที่เราจะสับสนกันมากนั่นก็คือ ATI และ NVIDIA ที่ผลิตการ์ดจอแยกออกมา แต่ดันมีการ์ดจอออนบอร์ดแฝงออกมาด้วย ซึ่งเราอาจเรียกการ์ดจอออนบอร์ดนี้เป็นการ์ดจออยู่ในระดับ Low-end โดยส่วนใหญ่แล้วรุ่นของการ์ดจอสองค่ายนี้จะประกอบไปด้วยเลข 4 หลัก ไม่ก็ 3 หลัก เช่น ATI Mobility Radeon HD4650 โดยที่หลักพันจะบ่งบอก series ใหญ่ รองลงมาคือหลักร้อยจะบ่งบอกระดับของการ์ดจอ หลักสิบจะบอกความแรงที่แตกต่างกันเล็กน้อย, nVidia Geforce GT210M หลักร้อยจะบ่งบอกระดับ series ใหญ่ รองลงมาคือหลักสิบจะบอกถึงระดับการ์ดจอ และหลักหน่วยจะบอกความแรงที่ต่างกันเล็กน้อยตามรูปแบบเดียวกัน
ดังนั้น เราจะสังเกตเห็นได้ว่า การ์ดจอออนบอร์ดจะเป็นรุ่นการ์ดจอที่ :
ถ้าเป็น 4 หลักจะเป็นเพียงหลักร้อยไม่เกิน 2 ร้อย หรือเลขหลัก 100 ต้น ๆ ที่ใกล้จะหาร 1,000 ลงตัว หรือสามารถหาร 1,000 ได้ลงตัว
ถ้าเป็น 3 หลักจะเป็นเลขหลักสิบต้น ๆ ที่ใกล้จะหาร 100 ได้ลงตัว ตัวอย่างเช่น
ATI
- Radeon HD4870 (High-End)
- Radeon HD4850 (High-End)
- Radeon HD4670 (Mid-High)
- Radeon HD4650 (Mid-High)
- Radeon HD4570 (Mid-Low)
- Radeon HD4350 (Mid-Low)
- Radeon HD4330 (Mid-Low)
- Radeon HD4270 (Low-End)
- Radeon HD4250 (Low-End)
- Radeon HD4200 (Low-End)
- Radeon HD4100 (Low-End)
- Radeon HD4225 (Low-End)
3. ดูที่ Memory Speed การ์ดจอออนบอร์ดจะไม่มีแรมเป็นของตัวเอง ทำให้ไม่มีการเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับความเร็วของแรมการ์ดจอ (Memory Speed) ในการตรวจสอบ Memory speed จำเป็นต้องใช้โปรแกรมตรวจสอบหรือหาข้อมูลจากในเว็บไซต์
ถ้าหากยังไม่แน่ใจว่าตัวไหนเป็นออนบอร์ด เรามาดูไปพร้อมกันว่ามีตัวไหนและยี่ห้ออะไรกันบ้าง
INTEL
เป็นการ์ดจอออนบอร์ดที่ติดมาพร้อม CPU Core i 2nd generation ล่าสุด โดยผลทดสอบแสดงให้เห็นว่ามีความแรงเทียบเท่าการ์ดจอแยกรุ่นกลาง ๆ เลยทั้งยังรองรับถึง DirectX 10.1 เรียกได้ว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งการ์ดจอแยกก็สามารถที่จะใช้งานดูหนังความละเอียดสูงหรือเล่นเกมไม่หนักมากได้อย่างสบาย ได้แก่
- Intel HD Graphics 3000
- Intel HD Graphics 2000
เป็นการ์ดจอออนบอร์ดในตระกูล Intel core 2 duo ที่เป็นชิปเซ็ต Mobile Intel? 945 , 965 , 4 Series Express Chipset Family และเป็นการ์ดจอของเน็ตบุ๊ก
- Graphics Media Accelerator (GMA) 4700MHD (4 series)
- Graphics Media Accelerator (GMA) 4500MHD (4 series)
- Graphics Media Accelerator (GMA) 4500M (4 series)
- Graphics Media Accelerator (GMA) 3150 (netbook)
- Graphics Media Accelerator (GMA) X3100 (965 series)
- Graphics Media Accelerator (GMA) 950 (945 series)
- Graphics Media Accelerator (GMA) 900 (915 series)
- Graphics Media Accelerator (GMA) 600 (netbook)
- Graphics Media Accelerator (GMA) 500 (netbook)
AMD
เป็นการ์ดจอออนบอร์ดที่มาใหม่ล่าสุดช่วงปลายปี 2010 เกิดจากการรวมตัวกันของ AMD กับ ATI กลายร่างมาเป็น AMD Fusion ที่มาพร้อมกับ CPU ตระกูล E-Series , C-Series และกำลังเป็นที่พูดคุยกันตลอดต้นปี 2011 ว่าจะมาท้าชนกับ HD3000 , HD2000 ของ Intel ทั้งยังรองรับ DirectX 11 อีกด้วย
- AMD Radeon HD 6310
- AMD Radeon HD 6250
ATI
เป็นการ์ดจอที่เห็นกันค่อนข้างบ่อยในช่วงปี 2005-2008 และอาจมีสับสนกันบ้างเนื่องจากชื่อจะคล้าย ๆ กับของ Intel และการ์ดจอแยกของ ATI เอง เชื่อว่าหลายคนน่าจะซื้อพลาดกันมาบ้าง ลองมาดูรายชื่อกัน
- Radeon HD 4270
- Radeon HD 4250
- Radeon HD 4200
- Radeon HD 4100
- Radeon HD 4225
- Radeon HD 3200
- Mobility Radeon HD 3400
- Radeon HD 3100
- Radeon Xpress X1270
- Radeon Xpress X1250
- Radeon Xpress X1200
- Radeon Xpress 1250
- Radeon Xpress 1150
- Radeon Xpress 200M
- Radeon Xpress 1100
NVIDIA
เป็นการ์ดจอออนบอร์ดของ NVIDIA ที่อาจเรียกว่าอยู่ในระดับ Low-End ก็ได้ ที่ทำออกมาเพื่ออย่างน้อยก็มีประสิทธิภาพดีกว่าการ์ดจอออนบอร์ดของ Intel ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเทียบกับ ATI แล้วจะไม่ค่อยได้เห็นการ์ดจอออนบอร์ดของ NVIDIA สักเท่าไหร่ จนปัจจุบัน NVIDIA แทบจะไม่ทำออกมาแล้ว
- GeForce G 205M
- GeForce G 102M
- GeForce 9400M (G)
- GeForce 9100M G
- GeForce 8200M G
- GeForce 7190M
- GeForce 7150M
- GeForce 7000M
- GeForce Go 6150
- GeForce Go 6100
สุดท้ายนี้เราจะเห็นได้ว่า การ์ดจอออนบอร์ดบางค่ายยังคงมีอยู่และบางค่ายก็แทบจะไม่ได้ทำออกสู่ท้องตลาดในปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้ก้าวไกลจนเรียกได้ว่าออนบอร์ดบางรุ่นแรงกว่าการ์ดจอแยกระดับกลางบางตัวเสียอีก แต่รู้เอาไว้จะได้ไม่เสียใจภายหลัง หากใครชอบซื้อโน๊ตบุ๊คมือสอง ก็ควรจะมีความรู้เอาไว้สักนิด สำหรับวันนี้สวัสดีครับ