Connect with us

Hi, what are you looking for?

Buyer's Guide

หูฟังเกมมิ่ง 2021 ซื้อถูกหรือแพง เลือกแบบไหนดี เล่นเกม ดูหนัง ต่างกันอย่างไร?

หูฟังเกมมิ่ง 5 ความต่างของหูฟังหลักร้อยและหลายพัน ซื้อแบบไหนคุ้ม น่าใช้กว่ากัน

Gaming headset cov2

หูฟังเกมมิ่ง หลายคนถามมากันเยอะ ว่าหูฟังเล่นเกมราคาถูก กับหูฟังแพงนั้น ต่างกันอย่างไร จำเป็นมั้ยต้องซื้อหูฟังเกมมิ่งตัวแพงๆ ไปเลยทีเดียว หรือใช้แค่หูฟังราคาประหยัดๆ หลักร้อยจะดีกว่า บทความนี้จะมีทางออกมาให้กับคุณได้ตัดสินใจ ว่าจะเลือกแบบใด เพราะมีเงื่อนไขในหลายจุดให้คุณได้ขบคิดกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดีไซน์ วัสดุ ฟังก์ชั่น ลูกเล่น เทคโนโลยี และอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่นำมาใช้ในการเปรียบเทียบและพิจารณาในการใช้งาน เพื่อให้คุณพอวิเคราะห์หาหูฟังที่เหมาะกับการเล่นเกม หรือใช้ในชีวิตประจำวันของคุณได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

หูฟังเกมมิ่ง

  1. การออกแบบ
  2. เรื่องของเสียง
  3. ไมโครโฟน
  4. ฟีเจอร์พิเศษ
  5. ซอฟต์แวร์และการสนับสนุน
  6. Conclusion

1.การออกแบบ

ในเรื่องของการออกแบบและสไตล์ ข้อนี้อาจจะบอกได้ยาก เพราะหูฟังราคาประหยัดหลายรุ่น ก็ออกแบบมาได้ทันสมัยเลยทีเดียว ทั้งในแง่ของรูปทรงและสีสัน แต่จะมีบางจุดที่แตกต่างอยู่บ้าง นั่นคือการออกแบบ รายละเอียดและวัสดุ รวมถึงฟังก์ชั่นบางส่วน ที่อาจจะถูกเพิ่มเติมเข้ามาให้กับผู้ใช้งานมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากเรื่องของความสวยงาม

Advertisement
หูฟังเกมมิ่ง

ดีไซน์: ความสวยงาม ข้อนี้ไม่ว่าหูฟังถูกหรือแพง ก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใช้เอง เพราะบางทีความสวยงาม ก็ไม่ได้มีมาตรวัดที่ชัดเจน อยู่ที่ใครชอบแบบไหน แต่ก็จะมีเรื่องของวัสดุและเส้นสาย นำมาประกอบการพิจารณา แม้วัสดุคล้ายๆ กัน แต่หูฟังราคาแพง มักจะเก็บรายละเอียดได้ดี ตั้งแต่ภายนอก ถึงภายใน สังเกตได้จากในจุดที่เป็นข้อต่อ สาย และครอบหูฟัง ไปจนถึง Ear cushion ที่รุ่นแพงๆ มักจะทำออกมาได้ดีทีเดียว

หูฟังเกมมิ่ง

วัสดุ: หูฟังเกมมิ่งส่วนใหญ่ ก็จะเน้นเรื่องของพลาสติกเป็นหลัก เพราะน้ำหนักเบา มีผลต่อเกมเมอร์ที่เล่นเกมนานๆ ไม่อึดอัด โดยเฉพาะครอบหูฟัง ซึ่งแนบชิดกับศีรษะของเรามากที่สุด เพื่อให้การเคลื่อนไหวได้คล่องตัวมากขึ้น ข้อนี้หูฟังที่ราคาค่อนข้างสูง ก็มักจะใส่รายละเอียดในการออกแบบ เพื่อให้เบาและใส่สบาย แต่ก็แข็งแรง เช่น เสริมอะลูมิเนียมในบางจุด รวมไปถึงสายสัญญาณ ด้วยเช่นกัน รุ่นที่ราคาสูง อาจจะมีฟังก์ชั่นถอดสายได้ ไม่ดูวุ่นวายเวลาเก็บ รวมถึงสายถักที่หุ้มเอาไว้ มีความทนทานต่อการขูดขีด กรณีที่ต้องดึงสายไปมาระหว่างหูฟังกับเคส

หูฟังเกมมิ่ง

โครงสร้าง: ความแข็งแรงของบอดี้หูฟัง โดยพื้นฐานก็มีด้วยกันทั้งถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับวัสดุ เพื่อความเบาสบายของผู้ใช้ บางรุ่นมาพร้อมโครงสร้างอะลูมิเนียม และโลหะในบางจุด ซึ่งจะได้เปรียบในแง่ความแข็งแรง รองรับการบิดงอได้เยอะกว่า เพื่อให้กระชับกับศีรษะได้ดี น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้มากนัก ข้อนี้ถือว่าอยู่ที่ความพึงพอใจของผู้ใช้ ว่าลองใส่ดูแล้ว รู้สึกอย่างไร ส่วนหูฟังราคาประหยัด อาจจะให้ความรู้สึกที่ไม่ต่างกันมากในแง่ของน้ำหนัก แต่จะมีบางจุดเท่านั้น ที่อาจ เช่น จุดหมุน ข้อต่อ และการปรับเลื่อน จะเป็นตัวบอกถึงงานที่ละเอียดต่างกัน

หูฟังเกมมิ่ง

Ear cushion: หูฟังเกมมิ่ง มีทั้งแบบ ฟองน้ำ เมมโมรีโฟม หุ้มด้วยผ้า หรือว่าหนัง PVC ซึ่งหูฟังราคาแพง แต่ปัจจุบัน ถ้าไม่ได้เป็นในกลุ่มราคาประหยัดหลักพันต้นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเมมโมรีโฟมกันหมดแล้ว และหุ้มด้วยหนัง จุดต่างคือ การตัดเย็บ และทำให้เข้ารูป รวมถึงความหนาของเมมโมรีโฟม บางรุ่นหุ้มด้วยวัสดุแบบหนัง PU จุดเด่นอยู่ที่การตัดเย็บ ทำออกมาได้นุ่มนวล เหมาะกับการเล่นเกมแบบยาวๆ แต่ถ้าใครไม่ชอบแนวนี้ ก็ยังมีที่เป็นหุ้มผ้ากำมะหยี่ มาสำรองไว้ให้ สะดวกแบบไหน ก็เลือกใช้งานได้ตามชอบ และบางรุ่นยังมีโลโก้ L/R บอกทิศทาง ซ้าย/ขวา ไว้อย่างชัดเจนที่ด้านใน

หูฟังเกมมิ่ง

ครอบหูฟัง Earcup: เป็นจุดที่ค่อนข้างมีความหลากหลาย เพราะจะรุ่นถูกหรือแพง ของแต่ละค่าย ก็จะออกแบบมาให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่สิ่งที่ถูกเติมเข้ามาให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด ก็คือ ฟังก์ชั่นที่จับใส่เข้ามาด้วย เช่น การปรับระดับเสียง, ปุ่มเปิด-ปิดเสียงไมค์, การปรับ Balance Game-Chat และแสงไฟ RGB บางรุ่นอาจจะมีให้แค่ปรับระดับเสียง หรือรุ่นประหยัดหน่อย ก็อาจจะไม่มีให้เลย แต่ใช้การปรับจากคีย์บอร์ดหรือบนสายแทน แต่ถ้าหูฟังเกมมิ่งที่ราคาสูงขึ้นมาหน่อย ก็มักจะมีมาให้เกือบครบ ส่วนหนึ่งเพราะเน้นในแง่ของความคล่องตัวเป็นหลัก ไม่ต้องเสียเวลาไปกดปรับตรงจุดอื่น แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้เองด้วย บางทีการกดที่คีย์บอร์ด หรือใช้ Hot key ก็สะดวกเหมือนกัน

หูฟังเกมมิ่ง

ตัวอย่างเช่น Logitech G PRO X Wireless จัดเป็นหูฟังไร้สายตัวท็อป ที่เหมาะกับเกมเมอร์และแคสเตอร์ เพราะนอกจากดีไซน์ของคอลเลคชั่นนี้ จะดูสวยสะดุดตา เวลาที่แคสสตรีมแล้ว ยังเน้นการสวมใส่ที่สบาย และน้ำหนักเบา Logitech G PRO X รุ่นนี้เบาเพียง 370 กรัมเท่านั้น โครงสร้างเป็นอะลูมิเนียมและพลาสติก ให้ความยืดหยุ่น ครอบหูเมมโมรีโฟม หุ้มด้วยหนัง PU กระชับใบหูได้ดี และตัดเสียงรบกวนภายนอก ไดรเวอร์ Pro-G 50mm ที่ให้ปุ่มควบคุมการทำงาน อยู่ทางหูฟังด้านซ้ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เปิด-ปิดไมโครโฟน, ปรับระดับเสียง, เปิด-ปิดหูฟัง และพอร์ต USB-C สำหรับชาร์จไฟ รวมถึงไฟสถานะ เมื่อมีการเชื่อมต่อ โดยที่มีพรีเซ็ตให้ปรับแต่งได้ ผ่านทางซอฟต์แวร์ G-Hub และฟีเจอร์อย่าง BlueVoice รองรับ DTS Headphone X 2.0 รองรับระบบเสียง Surround 7.1


2.เรื่องของเสียง

หูฟังเกมมิ่ง

สิ่งที่เห็นได้ค่อนข้างชัด ในแง่ของเสียงบนหูฟังเล่นเกมราคาแพงๆ มักจะให้ฟีเจอร์พิเศษ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องไดรเวอร์ ย่านความถี่ ที่ได้รับการปรับจูนมาสำหรับการเล่นเกม มากกว่าหูฟังที่ใช้งานแบบทั่วไป และสิ่งสำคัญคือ การบอกทิศทางของเสียงได้แม่นยำ ที่มีผลต่อการเล่นเกมแนว FPS ในปัจจุบัน เพราะจะสามารถบอกทิศทางการเคลื่อนไหวของศัตรูได้ชัดเจน รวมถึงสร้างอรรถรสในการเล่นมากขึ้น แม้ในบางเกมจะไม่ได้ออกแบบระบบเสียง Surround sound มาให้ แต่การมีไว้ ก็ช่วยให้การเล่น รวมถึงการชมภาพยนตร์สนุกสนานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น DTS-X Headphone, 7,1 surround หรือจะเป็นเทคโนโลยีของแต่ละค่ายที่ทำออกมา ซึ่งถ้าเป็นหูฟังราคาประหยัดส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรองรับระบบเสียงแบบนี้มากนัก

หูฟังเกมมิ่ง

ไดรเวอร์ คุณภาพของไดรเวอร์ ก็มีส่วนสำคัญ เพราะมีผลต่อคุณภาพของเสียงอยู่ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่มีผลมากขึ้น นั่นคือการออกแบบโครงสร้างของไดรเวอร์ เช่น วัสดุ แม่เหล็ก ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้เกมเมอร์บางคนก็ยังให้ความสำคัญเรื่องของสเตจเสียงหรือความกว้างของย่านความถี่เสียง Dynamic-Range ที่จะให้รายละเอียดเสียงได้ครบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเสียงกลาง และต่ำ เพื่อให้ได้เอฟเฟกต์ที่หนักแน่น ตื่นเต้น แต่บางคนก็ชื่นชอบเสียงความถี่สูง เพื่อให้เก็บรายละเอียดของสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ผู้เล่นบางคนอาจมองว่า แทบไม่ได้มีความสำคัญมากนัก เพราะการเล่นมีการเคลื่อนไหวและสมาธิอยู่ในเนื้อหาของเกม จะเป็นเสียงกระจกแตก กระสุนปืนยิงเฉียดมาใกล้หรือ รถถังกำลังเคลื่อนที่ ไม่มีผลเท่า ได้ยินเสียงฝีเท้าศัตรู ที่วิ่งเข้ามาใกล้ หรือการร่ายเวทย์ใหญ่ ใกล้ตัวมากกว่า ตรงนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เรียกว่าถ้าอยากจะสัมผัสฟิลลิ่งแบบนี้ ก็อาจจะต้องจ่ายเยอะหน่อย

หูฟังเกมมิ่ง

การรองรับระบบเสียง: การสนับสนุนระบบเสียงรอบทิศทาง เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเกมเมอร์ ที่ต้องการจริงจังกับการเล่นเกม รวมถึงการชมภาพยนตร์ ที่จะให้อรรถรสในการรับชมสมจริงมากยิ่งขึ้น หูฟังพื้นฐานราคาประหยัดส่วนใหญ่ จะเป็นแบบ 2.1-channel แต่ในหูฟังราคาสูงๆ มักจะให้ฟีเจอร์ระบบเสียงรอบทิศทางมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น DTS Headphone X 2.0 โดยเฉพาะการเล่นเกมในระดับ AAA ยิ่งตอบโจทย์ได้มาก นอกจากนี้ยังมี THX Spatial Audio ก็เป็นอีกหนึ่งแบบที่ถูกนำมาใช้ในหูฟังรุ่นใหม่ จุดเด่นอยู่ที่มิติเสียงที่มีความสมจริง ให้เอฟเฟกต์ที่โดดเด่น หรือจะเป็น Quantum Surround จากค่าย JBL ที่ให้ความแม่นยำของเสียงได้ดี มีมิติโทนสูงต่ำที่ชัด รวมถึงระบบ Head Tracking ที่จะติดตามการหันซ้าย-ขวาของผู้ใช้ ทำให้เสียงมาในมิติที่สมจริง เหมาะกับสายเกม VR อีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีของ Immerse และค่ายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ถ้าจะมาสายเกม ที่เล่นแบบจริงจัง เน้นบันเทิงแบบสมจริง ก็อาจจะต้องจ่ายเพิ่มเป็นตัวกลางๆ หรือหูฟังตัวท็อป ก็จะได้ลูกเล่นที่ดีมากขึ้น


3.ไมโครโฟน

หูฟังเกมมิ่ง

เปิด-ปิดไมค์ หูฟังราคาสูงๆ หลายรุ่น มักจะมาพร้อมลูกเล่นที่เกี่ยวข้องกับไมโครโฟนหลายรูปแบบ เช่น ไมค์ถอดออกได้ ข้อดีคือ ไม่เกะกะ กรณีที่ดูหนังหรือเน้นการฟังเป็นหลัก รวมถึงการพกพาทำได้สะดวก หรือบางรุ่นอาจจะซ่อนได้ เช่น ดึงออกมา แล้วดันใส่เข้าไป เพื่อเก็บ ซึ่งเป็นแบบที่ดีทีเดียว เพราะไม่ต้องพกพาไปหลายๆ ชิ้น หลายๆ คนมักจะชอบแบบนี้ หรือจะเป็นแบบพับเก็บแบบ Flip up หรือกางออกมาเพื่อใช้งาน และพับกลับ เพื่อปิดเสียง (Mute) แต่ถ้าเป็นหูฟังทั่วไป หรือหูฟังแบบประหยัด มักจะเป็นแบบติดตาย บางรุ่นอาจจะพับงอ เพื่อให้ใกล้กับปาก แต่บางรุ่นก็พับไม่ได้เลย นอกจากนี้หูฟังราคาสูงๆ ก็มักจะเพิ่มปุ่มเปิด-ปิดไมค์มาบนหูฟังอีกด้วย

หูฟังเกมมิ่ง

คุณภาพเสียในการสนทนา อาจจะใกล้เคียงกัน เพราะมีทั้งแบบ Omni Direction หรือจะเป็นแบบ ทางเดียว แต่สิ่งที่ต่างก็คือ ไมโครโฟนบนหูฟังเกมมิ่งราคาสูงๆ หลายรุ่น มักมาพร้อมฟีเจอร์ที่เรียกว่า Chat Game Balance Dial ปรับเสียงเน้นเสียงสนทนาหรือเสียงเกม หรือบางทีก็เรียกว่า Side Tone ที่ช่วยปรับระดับเสียงให้เราได้ยินเสียงตัวเองได้ชัดขึ้น และควบคุมเสียงในการพูดได้ดีกว่า เพราะไม่ต้องตะโกนให้เสียงรบกวนคนอื่นจนเกินไป เหมาะกับคอเกมสายแชตหรือเกมที่เล่นเป็นปาร์ตี้ รวมไปถึงเกมแนว Battle Royal ที่ไม่ได้เล่นคนเดียว เพื่อตอบโจทย์การเล่นเป็นทีม เช่น Warzone, CS:GO, DOTA2 หรือจะเป็น Valorant ก็ตาม

ฟีเจอร์ BlueVoice: สำหรับ Blue VO!CE นี้ เป็นรูปแบบการกรองเสียงในแบบเรียลไทม์ เพื่อลดเสียงรบกวน และทำให้เสียงมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะกับหลายคนที่ต้องการจะเป็นนักสร้างคอนเทนต์ สายสตรีมและเกมแคสเตอร์ทำให้ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น และที่สำคัญยังปรับแต่งเสียงในรูปแบบที่ต้องการได้ จะให้ทุ้มนุ่มลึก หรือจะเลียนแบบบรรดาแคสเตอร์ หรือจะใช้ปรับโทนเสียงก็ได้เช่นกัน ซึ่งหูฟังราคาประหยัดจะไม่ค่อยมีฟีเจอร์เหล่านี้มาให้


4.ฟีเจอร์พิเศษ

หูฟังเกมมิ่ง

เรื่องความสวยงามจากแสงไฟบนหูฟัง ส่วนใหญ่ในสายเกมมิ่ง ก็มักจะมีให้ แม้ว่าคนใส่เอง จะมองไม่เห็นก็ตาม แต่ก็ดูเท่เมื่ออยู่ศีรษะของเรา ไม่ว่าจะหูฟังแบบถูกหรือแพง ก็มีด้วยกันทั้งนั้น แต่ความต่างนั้นอยู่ที่ ส่วนใหญ่หูฟังแพงๆ จะให้ผู้ใช้เลือกปรับแสงสีเองได้ในแบบ RGB จะเลือกเป็นแบบโพรไฟล์ หรือปรับยิบย่อย ลงในรายละเอียด เช่น รุ่นนี้ ที่ปรับได้ตั้งแต่ โลโก้ วงแหวน บางรุ่นปรับแสงที่ไมโครโฟนก็ยังได้ จะต่างจากหูฟังราคาประหยัด ที่เป็นไฟนิ่งๆ หรือปรับไฟได้จากปุ่ม แต่ไม่ได้มีเอฟเฟกต์หรือการเลือกปรับตามใจได้มากนัก

เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อ: สำหรับหูฟังไร้สาย ก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจไม่แพ้กัน เพราะบางคนใช้หูฟังตัวเดียว แต่ครอบจักรวาล ว่ากันตั้งแต่ พีซี เล่นเกมคอนโซล โน๊ตบุ๊ค ไปจนเกมมือถือ เพราะฉะนั้นการเชื่อมต่อแบบไร้สาย น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด โดยสิ่งแรกที่ต้องมีคือ การเชื่อมต่อได้ทั้ง WiFi และ Bluetooth ซึ่งอาจจะหาได้ไม่ง่ายนัก สำหรับหูฟังในราคาประหยัด แต่อาจจะต้องเริ่มที่ระดับกลางๆ ประมาณ 3 พันบาท นอกจากนี้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อ ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน เพราะผู้ผลิตหลายค่ายหันมาให้ความสนใจ นอกจากจะส่งผลดีต่อคุณภาพสัญญาณ และเสถียรภาพที่นิ่งมากขึ้น ก็ยังมีส่วนต่อการจัดการระบบพลังงานได้มากขึ้นอีกด้วย นั่นหมายถึงการใช้งานที่ยาวนานกว่าหูฟังแบบพื้นฐานทั่วไป ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี LIGHTSPEED ของทาง Logitech เป็นต้น

หูฟังเกมมิ่ง

และสิ่งที่ตามมาของหูฟังไร้สายก็คือ แบตเตอรี่ที่อึดและใช้งานได้นาน โดยเฉพาะหูฟังที่ราคาสูง มักจะให้ระยะการใช้งาน หรือการเล่นเกมได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มฟีเจอร์ในเรื่องของการชาร์จ เช่น รองรับการชาร์จเร็ว หรือการชาร์จแบบไร้สายมาให้ ตัวอย่างเช่น HyperX Cloud Flight S หูฟังเกมมิ่งรองรับการเชื่อมต่อไร้สาย WiFi 2.4GHz และแบตที่ใช้ได้นานถึง 30 ชั่วโมง สนับสนุนการชาร์จไร้สาย ร่วมกับอุปกรณ์ Qi-certified อย่างเช่น HyperX ChargePlay Base ที่คุณแทบไม่ต้องไปกังวลกับการต่อสายชาร์จหูฟังรุ่นนี้เพียงอย่างเดียว แต่วางบนแท่นชาร์จแบบไร้สาย แปปเดียวก็เล่นต่อได้แล้ว


5.ซอฟต์แวร์และการสนับสนุน

หูฟังเกมมิ่ง

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งในการเลือกหูฟังที่ราคาสูงหน่อยก็คือ การมีซอฟต์แวร์สนับสนุน เพื่อให้การใช้งานคล่องตัวขึ้น ตัวอย่างเช่น HyperX ngenuity, Logitech G-Hub, JBL QuantumEngine เป็นต้น แล้วถ้าถามว่าจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง จากการสนับสนุนนี้ ตอบได้เลยว่าเยอะและคุ้มค่า เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของการปรับแต่งฟีเจอร์ต่างๆ เช่น ระบบเสียง การปรับจูนหรือการปรับระดับเสียง EQ เท่านั้น แต่หลายรุ่น ยังใช้ในการอัพเดตเฟิร์มแวร์ และไดรเวอร์ รวมไปถึงการปรับแต่งแสงไฟ RGB ได้อย่างละเอียดและจัดเก็บเป็นโพรไฟล์ได้อีกด้วย ซึ่งหูฟังราคาประหยัด อาจจะมีบ้างในบางรุ่น แต่ด้วยการที่ไม่ได้มีฟีเจอร์ที่ต้องปรับแต่งอะไรมาก ก็เลยไม่ต้องมีซอฟต์แวร์เฉพาะก็ได้ เรื่องเสียงก็ใช้ปรับใน Windows ได้เช่นกัน


Conclusion

Gaming Headset 2021

ทั้ง 5 ข้อนี้ คือความต่างของหูฟังเกมมิ่ง ราคาถูกและแพง ที่รวบรวมข้อมูลมาให้ อาจจะตกหล่นบ้างในรายละเอียดของเทคโนโลยี แต่ก็เชื่อว่าอยู่ในพื้นฐานของเกมเมอร์ที่ใช้งานกันอยู่ทุกวัน อย่างไรแล้วก็เลือกให้ถูกกับจริตของคุณ ทั้งในเรื่องการสวมใส่ เสียงคมชัดเร้าใจ เคลื่อนไหวสะดวก ฟีเจอร์บางอย่างถ้าคุณคลิ๊ก ก็ซื้อได้เลย แต่ถ้าไม่ได้ตรงกับความต้องการของคุณมองที่ตัวเลือกก็ได้ เพราะตัดฟังก์ชั่นบางอย่างไป ประหยัดเงินได้ไม่น้อยเลยครับ อย่างไรก็ดี แนะนำเลยว่า ก่อนจะซื้อ น่าจะมีเวลาไปลองเล่น หรือจับใช้ ฟังเสียงบ้าง ตามหน้าร้านหรือจุดที่มีให้คุณได้ทดลอง เพราะของแบบนี้ แม้สเปคจะใกล้กัน แต่ก็อาจจะมีบางอย่างที่ตรงกับความต้องการ หรือลูกเล่นบางอย่างที่คุณไม่สนใจก็เป็นได้ รวมไปถึงการสวมใส่ที่สบาย เพราะเมื่อซื้อมาแล้วก็ไม่ควรจะติดขัดอะไร จนทำให้คุณใช้งานได้ไม่คุ้ม สุดท้ายนี้ ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะลองที่ไหนดี ก็แนะนำว่างาน Commart ที่เตรียมจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน พฤศจิกายน 2564 นี้ ก็เป็นอีกงานหนึ่ง ซึ่งรวมเอาบรรดาผู้จำหน่ายเกมมิ่งเกียร์รายต่างๆ ไปรวมกัน และส่วนใหญ่ก็ให้คุณได้สามารถทดลอง สวมใส่ และสอบถามข้อมูลกันได้อย่างเต็มที่ ถ้ามีโอกาสก็ขอให้ไปลองใช้งานกันก่อนจะตัดสินใจ แถมยังมีราคาโปรโมชั่น และของพรีเมียมอีกเพียบ ฝากเอาไว้ครับสำหรับบทความนี้ ขอบคุณมากที่ติดตามกันครับ

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

Accessories review

Sony WF-1000XM5 ภาคต่อหูฟังขั้นเทพ เสริมสุดยอดประสบการณ์ฟังเพลงให้เหนือชั้น!! ผ่านไป 2 ปี หลังจาก Sony ส่ง Sony WF-1000XM4 หูฟังที่ขึ้นชื่อเรื่องฟังเพลงดีตัดเสียงได้เยี่ยม ปีนี้ก็เป็นเวลาของรุ่นใหม่อย่าง Sony WF-1000XM5 ซึ่งหูฟัง True Wireless ตัวใหม่นี้ แม้บางคนเห็นสเปคกับดีไซน์หลายๆ อย่างแล้วอาจรู้สึกไม่อยากอัพเดทเป็นรุ่นใหม่ก็จริง แต่ทางบริษัทก็ไม่กั๊กสเปคหรือย้อมของเก่ามาขายอย่างแน่นอน เริ่มจากไดรเวอร์ก็อัพเดทจากรุ่นก่อนเป็น...

Buyer's Guide

หูฟังไร้สายเล่นเกม 8 รุ่นงบ 3,000 บาท ใส่สบาย แบตอึด เสียงคมชัด Surround ตัดเสียงรบกวนปี 2023 รุ่นไหนโดน หูฟังไร้สายสำหรับคอเกมที่จัดมาให้เป็นแนวทางทั้ง 8 รุ่นในปี 2023 นี้ รวมมาให้ทั้งในเรื่องของราคาที่จับต้องได้ และมีดีไซน์ไม่ธรรมดา จะช่วยเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกมแนว Action, MOBA หรือ...

CONTENT

หูฟัง Bluetooth ไร้สายพร้อมสายคล้องแบบนี้บอกเลย ถูกใจสายออกกำลังกายแน่นอน! หูฟัง Bluetooth ไร้สายนอกจากดีไซน์ยอดนิยมอย่าง True Wireless ที่ผู้ผลิตแต่ละบริษัทใส่ใจพัฒนาแล้วเปิดตัวโมเดลใหม่ๆ เป็นประจำ แต่หูฟัง TWS ก็มีข้อเสียใหญ่หลวงอยู่ คือ ถ้าใครเป็นคนขี้ลืมแล้วทำหายสักข้างก็ใช้งานไม่ได้แล้วเจ้าหูฟังตัวโปรดก็ต้องไปลงเอยในถังขยะอุปกรณ์ไอที หรือวางทับกระดาษทิ้งไว้ให้เสียอารมณ์ หรือดีหน่อยใช้ AirPods ก็ยังไปซื้อแยกข้างมาใช้ได้บ้าง ดังนั้นถ้าใครเจอปัญหาหรือห่วงว่าจะเกิดปัญหานี้ หูฟัง Bluetooth ไร้สายแบบมีสายคล้องคอ...

Buyer's Guide

อยากฟังเพลงให้ฟิน ตอนนี้ต้องมีหูฟังบลูทูธเด็ดๆ ติดกระเป๋าเอาไว้สักตัวแล้วแหละ! หูฟังบลูทูธเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนามาหลายปีแล้วตั้งแต่ใช้ต่อมือถือคุยโทรศัพท์ทั่วไป พัฒนาจนมีสายคล้องคอแบบ Neckband ที่สายออกกำลังกายชื่นชอบเพราะถอดหูฟังก์ไม่หล่นหายเพราะสายช่วยรั้งตัวสายหูฟังไว้ จนกระทั่งเทคโนโลยีการย่อชิ้นส่วนก้าวหน้าเป็นอย่างมากก็ทำให้หูฟังบลูทูธแบบ True Wireless ก็ถือกำเนิดขึ้นในโลกในที่สุด สำหรับหูฟังบลูทูธแบบ True Wireless หลายคนอาจคิดว่า Apple AirPods เป็น TWS รุ่นแรกของโลก ซึ่งผิดถนัดเพราะ AirPods รุ่นแรกเปิดตัวเมื่อปี 2016...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก