แรม DDR5 ของ Corsair สเปคดีขึ้นกว่า DDR4 คนละเรื่อง
นอกจากเกมมิ่งเกียร์ Corsair ก็มีชื่อเสียงมายาวนานตั้งแต่ยุค COASt (Cache On a Stick) สำหรับซีพียู Intel มาตั้งแต่ปี 1994 แล้ว และในยุคแรม DDR5 กำลังจะขายอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ ทางบริษัทก็เผยสเปคออกมาว่าเมื่อเทียบประสิทธิภาพต่อโมดูลของแรมแล้ว DDR5 นั้นจะมีความจุและประมวลผลได้เร็วยิ่งขึ้น และกินพลังงานน้อยลงกว่า DDR4 อย่างชัดเจน และความจุของแรมก็เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
Corsair เผย แรม DDR5 ทำงานเร็วขึ้น ความจุมากกว่าเดิมหลายเท่า
คอร์แซร์ได้เผยสเปคว่าประสิทธิภาพ, ความเร็วและความจุของแรม DDR5 นั้น จะดีขึ้นกว่ายุค DDR4 ถึง 2 เท่า นอกจากนี้ความจุของแรมต่อแถวยังเพิ่มไปได้มากสุดถึง 128GB ความเร็วบัสสูงสุด 6400 MHz และ bandwidth ก็เพิ่มขึ้นเป็น 51 GBps เทียบกับ DDR4 ที่ทำความจุต่อแถวสูงสุด 32GB บัส 3200 MHz และ bandwidth ได้เพียง 26 GBps ส่วนความหนาแน่นต่อ die ก็เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ DDR4 ทำได้เพียง 16-bit ส่วน DDR5 เพิ่มเป็น 64-bit มากกว่าเดิมถึง 4 เท่า และลดการใช้พลังงานลงจาก 1.2V เหลือ 1.1V เท่านั้น
สำหรับข้อดีของแรมที่เร็วและความจุมากขึ้นนั้น ทางคอร์แซร์ให้เหตุผลว่าถ้า Memory bus ในพีซีแล้วมีซีพียูหลายคอร์ทำงานร่วมกันแล้ว ยิ่งทำให้พีซีทำงานสายครีเอเตอร์และการสตรีมมิ่งทุกรูปแบบดียิ่งกว่าเดิมอย่างชัดเจน
ส่วนเรื่องวันวางจำหน่ายตัวแรม DDR5 นั้น ทางบริษัทยังไม่เผยออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ VideoCardz เผยว่าซีพียูกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้ใช้แรมยุคใหม่นี้ น่าจะเป็น Intel Alder Lake-S ซึ่งเป็นซีพียูที่รองรับแรมรุ่นใหม่และก็ต้องรอฮาร์ดแวร์ชิ้นอื่น ๆ โดยเฉพาะเมนบอร์ดที่ต้องมีช่องใส่แรมรุ่นใหม่นี้ด้วยเช่นกัน แต่ถึงหน้าสเปคจะเขียนว่าความเร็วของ DDR5 จะสูงถึง 6400 MHz ก็ตาม แต่ VideoCardz เผยว่าข้อมูล XMP Profile ของ Intel Alder Lake นั้นคาดว่าจะทำได้ราว 4800 MHz เท่านั้น และคาดว่ารุ่นต่อ ๆ ไปจาก Alder Lake ถึงจะได้ความเร็วสูงกว่านี้
แรม DDR5 ถูกออกแบบให้แยกโมดูลแรมเป็น 2 แชนแนลในตัว ปรับแต่งให้ค่าความหน่วง (Latency) เวลาสื่อสารระหว่าง IC บนแรมแต่ละตัวลดลง ทำให้ซีพียู access เข้ามาใช้พื้นที่ว่างในแรมได้เร็วกว่า DDR4 ที่ต้องรอให้ memory refresh ตัวเองเพื่อให้มีพื้นที่ว่างชุดใหม่ ซีพียูถึงจะ access เข้ามาใช้พื้นที่ว่างได้ ทำให้ DDR4 ใช้เวลาทำงานมากกว่า DDR5 อย่างชัดเจน
ข้อดีอีกอย่างของแรม DDR5 คือเพิ่ม ECC module เข้ามาบน die ของแรมเพื่อลดข้อผิดพลาดในการทำงาน ทำให้ IC บนแรมทำงานที่ความเร็วสูงยิ่งกว่าเดิม แต่ ECC ของผู้ใช้ทั่วไปนี้จะไม่ได้เป็นเวอร์ชั่นเต็มเหมือนที่ติดตั้งไว้ในแรมเวอร์ชั่นผลิตเพื่อใช้งานกับโปรแกรมด้านองค์กรหรือใช้ในการทำงานวิจัย (enterprise/research) เป็นหลัก
ที่มา : Corsair Official Website, VideoCardz