Connect with us

Hi, what are you looking for?

Buyer's Guide

7 เคล็ดลับเลือก Notebook มือสอง ฉบับง่าย ๆ ได้ของดีกลับบ้าน

“จะซื้อ Notebook ใหม่ทั้งทีก็ซื้อมือหนึ่งไปเลย” น่าจะเป็นความคิดหลักในใจใครหลาย ๆ คน แต่ถ้างบประมาณไม่เอื้อ การเลือก Notebook มือสองมาใช้งานสักเครื่องก็เป็นวิธีประหยัดเงินในกระเป๋าได้ดี แต่ก็ไม่ควรจิ้มเลือกแบบขอไปทีไม่อย่างนั้นก็อาจจะได้เครื่องสภาพไม่ดีกลับบ้านมาให้ช้ำใจเล่นได้

ส่วนข้อโต้แย้งว่าผมไม่เลือกซื้อมือสองเพราะดูของไม่เป็นแถมไม่รู้ว่าต้องเช็คอะไรบ้างแล้วจะยากหรือเปล่า? ในบทความนี้ผู้เขียนได้รวบรวมวิธีการเช็คด้วยตัวเองฉบับง่าย ๆ มาให้ผู้อ่านได้ทำตามด้วย

Advertisement
Notebook มือสอง

เตรียมตัวจากบ้านก่อนไปซื้อ Notebook มือสอง

การเตรียมตัวให้พร้อมทั้งหาข้อมูลและเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นเอาไว้ใช้เป็นหัวใจสำคัญก่อนออกไปเลือกซื้อสินค้ามือสองใหม่ ๆ สักชิ้นมาเป็นของตัวเอง สำหรับ Notebook สักเครื่องนั้นถ้าเราเข้าใจพื้นฐานการเลือกซื้อสักนิดก็จะทำได้ไม่ยากแน่นอน

สำหรับเช็คลิสท์ง่าย ๆ ให้ผู้อ่านได้ทำตามมีดังนี้

1. หาข้อมูลและเช็คโปรแกรมว่าต้องใช้ Notebook สเปคไหน

เราซื้อ Notebook มาเพราะต้องใช้โปรแกรมทำงาน ดังนั้นการเริ่มเช็คว่าโปรแกรมเจ้าประจำในเครื่องเราใช้สเปคเครื่องระดับไหนเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเริ่มหาข้อมูลเป็นอย่างแรก โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่างเป็น Adobe Photoshop ซึ่งผู้ใช้หลายคนจำเป็นต้องใช้ว่าต้องใช้เครื่องสเปคไหนตามตารางสเปคด้านล่างนี้

Adobe Photoshopขั้นต่ำสเปคแนะนำ
ซีพียูIntel หรือ AMD แบบ 64 bit, รองรับชุดคำสั่ง SSE 4.2 มีความเร็วสูงกว่า 2 GHz ขึ้นไป
ระบบปฏิบัติการWindows 10 (64 bit) อัพเดท 1809 หรือใหม่กว่า
แรม8GB16GB
กราฟิกการ์ดรองรับ DirectX 12 มีแรมการ์ดจอ 2GB ขึ้นไปรองรับ DirectX 12 มีแรมการ์ดจอ 4GB ขึ้นไป
ความละเอียดหน้าจอ1280×800 พิกเซล1920×1080 พิกเซล
ฮาร์ดดิสก์HDD 4 GB ขึ้นไปSSD 4 GB ขึ้นไป
อินเตอร์เน็ต

อินเตอร์เน็ตเพื่อ Activate program และเข้าใช้บริการออนไลน์ของ Adobe

2. เช็คราคากับข้อมูลของ notebook รุ่นนั้น

ปัจจัยสำคัญอย่างเรื่องราคาว่าเงินในกระเป๋าเราพอซื้อหรือไม่ แล้วราคาเครื่องสูงใกล้เคียงกับ Notebook มือหนึ่งหรือเปล่า จึงควรสำรวจตลาดก่อนว่า Notebook รุ่นนั้นมีคนขายกี่คน ราคาเฉลี่ยราวกี่บาท เพื่อให้มีตัวเปรียบเทียบ

เมื่อรู้ราคาขายมือสองแล้วควรเช็คราคามือหนึ่งด้วยว่าตอน Notebook รุ่นนั้นเปิดตัวมาขายราคากี่บาท ให้ทราบเรทเสื่อมของเครื่องรุ่นนั้น ๆ ว่าถ้าราคามือหนึ่งกับมือสองแตกต่างกันมากเกินไปอาจสันนิษฐานได้ว่าเครื่องรุ่นนั้นอาจจะมีปัญหาซ่อนอยู่ก็เป็นไปได้ โดยราคามือหนึ่งผู้อ่านสามารถตรวจสอบได้กับระบบค้นหา Notebook ของ Notebookspec เพื่อดูราคาและช่วงที่ Notebook รุ่นนั้นเริ่มวางจำหน่ายได้ด้วย

find laptop
คลิกหรือพิมพ์หารุ่นในใจดูนะ

สำหรับความเก่าของ Notebook แต่ละรุ่น ผู้เขียนแนะนำให้ถือเกณฑ์โดยอิงจากซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวของ Intel และ AMD และนับย้อนรุ่นกลับไปไม่ควรเกิน 5 รุ่น จะพอคาดหวังประสิทธิภาพและระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่ได้อยู่

ตัวอย่างเช่น ถ้าปัจจุบันนี้ Intel ติดตั้งซีพียูรุ่นที่ 11 เช่น Intel Core i7-1185G7 ไว้ใน Notebook รุ่นใหม่แล้ว ซีพียูรุ่นเก่าสุดที่ยังน่าใช้คือ Intel รุ่นที่ 6 เช่น Intel Core i7-6700HQ เป็นต้น โดยรหัสและรุ่นของซีพียู Intel สามารถเช็คได้ที่ลิ้งก์นี้

ในส่วนของซีพียู AMD อาจจะเช็ครุ่นได้ลำบากอยู่บ้าง เนื่องจากหน้าเว็บไซต์ของ AMD จะแสดงเพียงซีรี่ส์ Ryzen Mobile เท่านั้น จึงต้องเปลี่ยนไปเช็คจาก Wikipedia แทน

3. เตรียมอุปกรณ์ต่อพ่วงใส่กระเป๋าไปด้วย

Notebook ทุกเครื่องมีพอร์ตเชื่อมต่อต่าง ๆ ติดตั้งเอาไว้ให้ผู้ใช้ทำงานได้สะดวกขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าเจ้าของเก่าใช้งานเครื่องอย่างไรบ้าง ดังนั้นการมีอุปกรณ์เชื่อมต่ออย่างเช่น MicroSD Card, แฟลชไดรฟ์ทั้งแบบ USB Type-A, Type-C, สายหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรและเม้าส์เตรียมเอาไว้ในกระเป๋าจะช่วยให้เราเช็คได้ว่าพอร์ตต่าง ๆ ยังทำงานได้สมบูรณ์หรือไม่ ส่วน HDMI อาจต้องหายืมหน้าจอเสริมแบบพกพาจากคนใกล้ตัวมาใช้ชั่วคราวหรือไปใช้บริการ Co-working space ที่มีหน้าจอทีวีแทน



ASUS ZenScreen MB16AC Portable USB หน้าจอเสริมพกพาได้จาก ASUS

ส่วนตัวผู้เขียนจะมีแฟลชไดรฟ์หรือ External Harddisk ติดตัวเอาไว้เสมอเมื่อไปซื้อ Notebook มือสองกับเพื่อน พร้อมใส่โปรแกรมทดสอบและเช็คสเปคของเครื่องตัวอย่างเช่น CPU-Z, GPU-Z เอาไว้ ส่วน Cinebench จะเลือกต่อ Wi-Fi ของ Notebook เครื่องนั้นแล้วดาวน์โหลดผ่าน Microsoft Store เพื่อนำมาทดสอบการเรนเดอร์กับความร้อนของตัวเครื่องว่าถ้ารันโปรแกรมกินทรัพยากรหนัก ๆ แล้ว Notebook เครื่องนั้นยังทำงานได้ตามปกติหรือไม่

ส่วนการทดสอบฮาร์ดดิสก์แบบ SSD ขอแนะนำให้โหลด SSD Life ส่วนฮาร์ดดิสก์แบบปกติใช้โปรแกรม HD Tune สำหรับตรวจสอบว่าฮาร์ดดิสก์ลูกนั้นยังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ส่วนตัวผู้เขียนจะมีไฟล์วิดีโอขนาด 1-2GB เพื่อทดสอบโอนไฟล์จากแฟลชไดรฟ์เข้าสู่เครื่องด้วยว่ายังโอนไฟล์ได้ตามปกติหรือเปล่า

kingston

แฟลชไดรฟ์ทั้งแบบ Type-A, Type-C ใส่กระเป๋ารอไว้เลย

วิธีเช็คตัวเครื่อง Notebook มือสองที่หมายตาไว้

หลังจากเตรียมตัวและเลือก Notebook เครื่องใหม่พร้อมต่อรองราคากับผู้ซื้อเสร็จแล้ว วิธีการซื้อนั้นผู้เขียนขอแนะนำให้นัดเจอกับผู้ขายเพื่อตรวจสอบตัวเครื่องทุกครั้ง เพราะวิธีส่งพัสดุมาให้เราจะไม่มีโอกาสเช็คสภาพเครื่องและมีโอกาสถูกโกงได้ ทำให้เสียทั้งความรู้สึกรวมทั้งต้องไปแจ้งความไว้ด้วย

ดังนั้นควรนัดเจอผู้ขายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ร้านกาแฟหรือ Co-working space ให้มีเวลาเช็คสภาพ Notebook เครื่องนั้น ๆ โดยละเอียดพร้อมทั้งใช้รันโปรแกรมทดสอบในแฟลชไดรฟ์ของเราได้อีกด้วย

apple 1851464 1920

Photo: https://coffeegeek.tv/

4. ถามผู้ขายเรื่องใบเสร็จกับประกันตัวเครื่อง

ใบเสร็จเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ควรถามกับผู้ขายเพื่อป้องกันการรับของโจรและช่วยยืนยันด้วยว่า Notebook เครื่องนี้ซื้อมาโดยถูกกฏหมาย โดยในใบเสร็จจะบอกถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของ Notebook เครื่องนั้นว่าเป็นแบรนด์ใด รุ่นไหน สเปคอะไรบ้าง รวมทั้งระบุระยะเวลารับประกันจากศูนย์ของยี่ห้อนั้น ๆ พร้อมวันซื้อเครื่อง ทำให้เราประมาณเวลาได้ว่าเหลือเวลารับประกันอีกนานเท่าไหร่ ซึ่งถ้าไม่มีก็อาจจะต้องประกันใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายแทน

หาก Notebook เครื่องนั้นยังมีประกันติดเครื่องอยู่จะเช็คได้ด้วย Serial number ของเครื่องตามวิธีการที่แต่ละแบรนด์รองรับ ซึ่งทางเว็บไซต์เคยทำบทความเช็คระยะประกัน Notebook แต่ละแบรนด์เอาไว้แล้วสามารถอ่านได้ที่นี่

invoice 3739354 1920

แต่ถ้าไม่มีใบเสร็จก็ควรให้เจ้าของเครื่องทดลองล็อคอินเครื่องให้เราดูว่าเป็นเครื่องของเขาจริงหรือไม่ ถ้าล็อคอินได้ก็ช่วยให้เราสบายใจไประดับหนึ่งว่า Notebook นี้เป็นของเขาจริง ๆ

5. เช็คสภาพตัวเครื่องโดยละเอียด

สภาพรอบตัวเครื่องของ Notebook เครื่องนั้น ๆ จะช่วยบอกใบ้เราว่าเจ้าของคนล่าสุดนี้ไม่ได้บอกปัญหาอะไรกับเราบ้าง ซึ่งรอยขีดข่วนและรอยขนแมวรอบ ๆ เครื่องอาจเกิดจากการใช้งานทั่วไปและอาจไม่ได้ส่งผลอะไรกับตัวเครื่องมากนัก โดยจุดที่ควรใส่ใจจะมีดังนี้

IMG 20210106 165611 scaled

ถ้ามีร่องรอยแบบในวงสีแดง ให้สันนิษฐานว่า Notebook มือสองเครื่องใหม่ของเราโดนแกะมาก่อน

  1. รอยกระแทกหรือแตกบริเวณขอบหน้าจอ หากเราพบรอยดังกล่าวในส่วนนี้อาจสันนิษฐานได้ว่าตัวจออาจเกิดความเสียหายได้ เป็นไปได้ว่าเมื่อเปิดแล้วตัวหน้าจอด้านในกรอบจอจะเลื่อนไปไม่อยู่ในแนวเดียวกับกรอบหรือเลวร้ายกว่านั้นก็คือเกิด dead pixel และพาเนลเสียหายเป็นแถบยาวได้
  2. คราบชากาแฟบริเวณคีย์บอร์ด หากพบก็เป็นไปได้ว่าเมนบอร์ดด้านในเครื่องจะถูกน้ำเข้าซึ่งทำให้ชิ้นส่วนไฟฟ้าด้านในเสียหายบางส่วนได้
  3. ฝาปิดใต้ตัวเครื่อง ให้เช็คว่าตามขอบหรือจุกยางและรูน็อตว่ามีร่องรอยความเสียหายหรือเปล่า จะทำให้เรารู้ว่าเจ้าของเครื่องเก่ามีการถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนหรืออัพเกรดภายในเครื่องหรือไม่
  4. บานพับหน้าจอ ให้ทดลองดึงบานพับเปิดและปิดดูสัก 2-3 ครั้งว่าสามารถเปิดปิดได้ปกติหรือไม่ ถ้าตัวบานเปิดได้ยากหรือมีการยกเผยอตัวนั่นหมายความว่าตัวคานบานพับเกิดความเสียหาย
  5. หน้าจอ ให้เปิดเครื่องและเข้าเบราเซอร์เพื่อทดสอบการแสดงสีบนหน้าจอว่ายังแสดงสีได้ดีไม่มีรอยด่างหรือ dead pixel ติดอยู่บนหน้าจอ โดยเช็คได้โดยเว็บไซต์ LEDR
  6. คีย์บอร์ด ให้ดูว่ามีปุ่มเสียหรือไม่ เพราะปุ่มบนคีย์บอร์ด Notebook ไม่สามารถถอดเปลี่ยนแยกปุ่มได้ต้องยกเปลี่ยนทั้งแผงและมีราคาแพงด้วย ส่วนการทดสอบพิมพ์ให้ทดลองกดทีละปุ่มบนเว็บไซต์ Keyboard Checker ว่าแต่ละปุ่มขึ้นเป็นสีเขียวหรือเปล่าก่อนจะทดลองพิมพ์จริงกับโปรแกรมในเครื่องเช่น Notepad, Wordpad เป็นต้น
  7. ทัชแพดและปุ่มเม้าส์เช่น TrackPoint ถึงหลายคนจะต่อเม้าส์แยกก็ตามก็ให้ทดสอบลากนิ้วไปมาให้ทั่วทั้งผืนและลองคลิ๊กซ้ายขวาดูด้วยว่ายังทำงานตามปกติหรือไม่ และถ้ามีชิ้นส่วนพิเศษเช่น TrackPoint ก็ควรทดสอบด้วย
  8. พอร์ตต่าง ๆ ให้ใช้อุปกรณ์ต่อพ่วงที่เตรียมมาเสียบเช็คว่าทุกพอร์ตสามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่
  9. ทดสอบเชื่อมต่อไร้สายด้วย Wi-Fi และ Bluetooth ว่าสามารถเชื่อมต่อได้ตามปกติและทำงานได้เสถียรหรือไม่ โดย Wi-Fi จะไม่เกิดอาการหาสัญญาณไม่เจอและยังเปิดหน้าเว็บไซต์ได้ตามปกติ ส่วน Bluetooth จะต้องสามารถสั่ง Pair กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาจทดสอบกับหูฟัง True Wireless ของเราก็ได้เช่นกัน
  10. แบตเตอรี่ของตัวเครื่อง สามารถทดสอบได้ด้วยการทดลองใช้สัก 5-10 นาทีดูก่อน ว่าแบตเตอรี่ลดเร็วผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งเช็คได้ด้วยโปรแกรม BatterMon เช่นกัน โดยที่หน้าแรกสุดจะมีกรอบแสดงรายละเอียดของแบตเตอรี่ในเครื่องให้เราเห็นด้วย
  11. ฮาร์ดดิสก์และเสียงพัดลม โดยปัญหานี้อาจเกิดกับ Notebook รุ่นใช้ฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุน โดยปกติฮาร์ดดิสก์จะทำงานแล้วไม่มีเสียงดังออกมารบกวน ถ้ามีเสียงผิดปกติควรระวังเพราะอาจต้องเปลี่ยน ส่วน SSD เช็คด้วยโปรแกรมเช่น SSD Life ที่เตรียมไว้ในแฟลชไดรฟ์ ด้านพัดลมให้ทดลองจับและอังตามช่องระบายความร้อนดูว่ายังมีลมหรือไม่และถ้าไม่มีเสียงแปลกประหลาดจึงให้ผ่านไป
  12. ทดสอบ Webcam โดยเปิดที่แอพฯ ที่มาพร้อม Windows 10 เช่น Camera ว่ายังทำงานได้ตามปกติหรือไม่
  13. ลำโพงและช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร ฟังก์ชั่นเรื่องเสียงผู้เขียนแนะนำให้ทดลองเปิดหนังดูผ่านลำโพงก่อนและทดลองเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรที่เตรียมมาเพื่อทดลองฟังว่าอุปกรณ์ทั้งสองชิ้นนี้ยังทำงานได้ตามปกติหรือไม่
  14. ทดสอบความร้อนของเครื่อง ให้โหลดโปรแกรม Cinebench จาก Microsoft Store มาติดตั้งและทดสอบรันเครื่องว่าเมื่อพัดลมทำงานเต็มที่แล้ว ให้ลองสัมผัสตัวเครื่องว่าเกิดความร้อนมากหรือไม่และพัดลมทำงานหนักหรือเปล่า 
laptop 1864126 1920

TrackPoint เป็นปุ่มสีแดงใช้แทนเม้าส์ได้ เป็นเอกลักษณ์ของ IBM/Lenovo ThinkPad

6. ใช้คำสั่งเช็ค Windows ที่ติดตั้งมาในเครื่อง

โปรแกรมและระบบปฏิบัติการภายในเครื่องนั้น หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าไม่มีวิธีเช็ค แต่จริง ๆ แล้วถ้ารู้วิธีก็สามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ โดยคำสั่งต่าง ๆ ที่ควรพิมพ์เช็คใน Notebook มือสองมีดังนี้

  • เช็คว่า Windows ในเครื่องเป็นของแท้หรือไม่ – ให้กดปุ่ม Windows+R เพื่อเปิดคำสั่ง Run ขึ้นมาแล้วพิมพ์คำว่า slmgr.vbs /dli (ระหว่าง vbs กับ / ให้เว้นวรรคหนึ่งครั้ง) เครื่องแสดงว่า Windows นี้เป็นของแท้หรือไม่ ถ้าเป็นของแท้จะมีคำว่า Licensed แบบในภาพข้างล่าง
windows 10 check

(ขอเซนเซอร์ส่วน Partial Product Key เพื่อความปลอดภัย)

  • วิธีเช็ค Windows แท้แบบไม่ต้องเปิดคำสั่ง Run – ให้กดปุ่ม Windows และพิมพ์คำว่า Settings แล้วกดคำว่า Update & security และเช็คส่วน Activation โดยถ้าโชว์ประโยคว่า “Windows is activated with a digital license” แสดงว่าเป็น Windows แท้
  • ตรวจสอบ DirectX – กดปุ่ม Windows และพิมพ์คำว่า dxdiag แล้วกดตกลง Windows จะแสดงหน้าต่างนี้ให้เราเช็คเวอร์ชั่นของ DirectX กับสเปคโดยรวมของตัวเครื่องทั้งซีพียู, แรมได้ ส่วนแท็บ Display ด้านบนจะแสดงรุ่นการ์ดจอในเครื่องนั้น
  • กด Ctrl+Alt+Del เพื่อเปิด Task Manager ขึ้นมา หากเป็นหน้าจอเล็กแบบย่อ ให้คลิกตรง More details ด้านล่างแล้วเลือกแท็บ Performance ว่าในซีพียูและแรมถูกใช้งานผิดปกติหรือไม่ โดยปกติคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้เปิดโปรแกรมใด ๆ เลย ซีพียูจะทำงานไม่ควรเกิน 15% และแรมไม่ควรใช้งานเกินครึ่งหนึ่งของแรมทั้งหมดในเครื่อง
taskmgr
7. ก่อนจ่ายเงิน ถ้าผู้ขายลง windows เองควรขอชุดติดตั้งมาด้วย

หากการซื้อขายนี้ผู้ขายซื้อ Windows 10 แบบ OEM มาติดตั้งเองให้ขอคีย์และกล่องโปรแกรมมาด้วย เวลาเครื่องของเรามีปัญหาใช้งานไม่ได้แล้วต้องติดตั้ง Windows ใหม่ จะได้ใช้แผ่นหรือ USB Windows 10 กับคีย์ของเครื่องเพื่อติดตั้งใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ ยกเว้นถ้า Notebook เครื่องนั้นติดตั้ง Windows 10 มาจากโรงงานสามารถข้ามข้อนี้ได้ โดยสังเกตที่ตัวเครื่องจะมีสติกเกอร์โลโก้ Windows แบบในภาพด้านล่างติดอยู่จุดหนึ่งบนตัวเครื่อง

สำหรับการติดตั้ง Windows 10 เวอร์ชั่นละเมิดลิขสิทธิ์และใช้การ Crack เพื่อให้ใช้งานได้ ผู้เขียนไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจเกิดช่องโหว่และอัพเดทแพทช์ใหม่ไม่ได้อีกด้วย

IMG 20210106 173908 scaled

เมื่อได้ Notebook มือสองเครื่องใหม่สภาพน่าพอใจมาแล้ว ผู้เขียนแนะนำให้ทำ Factory Reset เพื่อล้างเครื่องและการตั้งค่าต่าง ๆ ที่ติดมาจากเจ้าของเก่าทิ้งด้วย โดย Windows 10 จะมีฟีเจอร์นี้ให้ใช้ด้วย แต่ระยะเวลาการรีเซ็ตเครื่องจะทำเสร็จช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของ Notebook เครื่องนั้น ๆ

วิธีการให้กดปุ่ม Windows แล้วพิมพ์คำว่า Settings > Update & Security ที่แถบซ้ายของหน้าต่างให้เลือกคำว่า Recovery ที่บรรทัด Reset this PC ให้กดที่คำว่า Get started แบบภาพด้านล่าง ระบบจะถามว่าต้องการให้ Windows เก็บไฟล์เอาไว้หรือไม่หรือลบทิ้ง ให้กด Remove evertthing เพื่อลบทุกสิ่งทิ้ง Windows จะเริ่มล้างเครื่องและกลับไปใช้ค่าตั้งต้นของระบบแต่ไม่ลบอัพเดทใหม่ ๆ ทิ้ง ทำให้ Notebook มือสองเครื่องใหม่ของเราทำงานได้เร็วเหมือนใหม่อีกครั้ง

Capture

ทั้ง 7 ขั้นตอนจากผู้เขียนนั้นเป็นวิธีที่ผู้อ่านสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง อาจพึ่งการสังเกตอาการตัวเครื่องบ้างจะยากง่ายก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน ส่วนผู้อ่านที่เป็นมือใหม่เรื่องการเลือกซื้อ Notebook มือสองก็อาจจะพาเพื่อนที่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ไปช่วยกันดูช่วยกันสังเกตก็เป็นวิธีที่ดีเหมือนกัน เพื่อให้ Notebook ของเรามีสภาพที่สมบูรณ์ใกล้เคียงกับการซื้อมือหนึ่งจากร้านที่สุด

เวลาจ่ายเงินซื้อสินค้า ผู้เขียนไม่แนะนำให้พกเงินสดติดตัวไปทีละมาก ๆ และเปลี่ยนไปจ่ายด้วยวิธีการโอนเงินผ่าน QR Code หรือ PromptPay แทน ช่วยให้ซื้อขายสะดวกยิ่งขึ้นแถมไม่ต้องเสียเวลานั่งนับเงินล่อตาล่อใจมิจฉาชีพ แถมยังช่วยลดการเสี่ยงเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้อีกด้วย

Photo : https://coffeegeek.tv/

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

CONTENT

5 ซีพียูประกอบคอมรุ่นใหม่ ที่เกมเมอร์ตัวจริงไม่ควรพลาด สำหรับการเล่นเกมในปี 2024 คุ้มค่า ราคาดี รีดพลังการ์ดจอรุ่นใหม่ได้เต็มที่ แม้ว่าจะผ่านช่วงงาน Commart ไปแล้ว แต่เชื่อว่าหลายท่านยังมีแผนจะประกอบคอม ไว้ใช้เล่นเกมช่วงหยุดยาวอย่างช่วงสงกรานต์กันอยู่บ้างแน่ ๆ ซึ่งการเล่นเกม นอกจากการ์ดจอที่เป็นปัจจัยหลักแล้ว CPU เองก็มีผลไม่แพ้กัน ดังจะเห็นจากชิปหลายรุ่นที่มีผลทดสอบออกมาว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการเล่นเกมอย่างเห็นได้ชัด ในบทความนี้เราจะมาแนะนำ CPU เล่นเกมที่น่าซื้อในช่วงต้นปี 2024 กัน...

Buyer's Guide

ซีพียู มือสองปี 2024 มีรุ่นใดน่าใช้บ้าง ซื้อที่ไหน วิธีเช็คซีพียู อัพเกรดอย่างไรให้คุ้มค่า ซีพียู มือสองในปี 2024 นี้ หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่ายังน่าใช้อยู่หรือไม่ มีรุ่นใดที่น่าสนใจสำหรับการประกอบคอมใหม่ หรือคอมมือ 2 จะคุ้มค่าอยู่หรือเปล่า ซึ่งในปัจจุบันของมือสองยังคงเป็นที่ต้องการ และมีการซื้อขายกันเป็นตลาดใหญ่ ทั้งแบบออนไลน์และหน้าร้าน เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการประกอบคอมใหม่ได้ไม่น้อยเลย ยิ่งซีพียูรุ่นสูง ก็ยิ่งมีส่วนต่างค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจึงมีหลายคนเลือกหาซีพียูราคาประหยัด ที่เป็นมือสองมาใช้กัน...

Tips & Tricks

เมาส์ไร้สาย ใช้ไม่ได้ แก้ใน 8 ขั้นตอน เช็คให้ดี ไม่ต้องเสียเงินซื้อใหม่ เชื่อมต่อไม่ได้ เมาส์ไร้สาย ใช้ไม่ได้ 8 วิธีตรวจเช็คแก้ไขให้ใช้ได้แบบประหยัด แม้ว่าทุกวันนี้เมาส์รุ่นธรรมดาราคาแค่หลักร้อย แต่หลายคนก็มองว่าถ้าซ่อมหรือพอแก้ไขได้ ก็ช่วยประหยัดเงินไปได้เยอะ ส่วนแนวทางแก้ไขก็พอมี ตั้งแต่การตรวจเช็คทั่วไป จนถึงการแกะซ่อม อยู่กับว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพราะบางครั้งเกิดจากการเชื่อมต่อทั่วไป หรือความผิดปกติของชุดถ่านหรือแบตเตอรี่ ก็ยังพอหาเปลี่ยนได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของวงจร ชิ้นส่วนบางชิ้นที่เสียหายไปแล้ว...

Buyer's Guide

เพาเวอร์ซัพพลายปี 2023 เลือกแบบไหนคุ้ม จ่ายไฟดี ประหยัดไฟ ประกอบคอมเล่นเกมแรงๆ เพาเวอร์ซัพพลายสำหรับคอมในปี 2023 นี้ ยังถือเป็นอุปกรณ์สำคัญ ทำหน้าที่แปลงไฟและจ่ายไฟให้กับชิ้นส่วนต่างๆ บนเมนบอร์ด เช่นซีพียู แรม การ์ดจอ เรียกว่าถ้าไม่มี คอมก็ใช้ไม่ได้ แต่ด้วยความที่เป็นระบบไฟ ต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง จึงทำให้หลายคนปวดหัวกับการเลือกใช้ เพราะดูยุ่งยาก บางคนเลือกที่ราคา แต่บางคนก็เน้นที่การจ่ายไฟ หรือบางคนชอบดีไซน์...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก