มีหลายคนสอบถามแอดมาว่า เจอปัญหาความร้อนของซีพียู ซึ่งเป็นบ่อยเมื่อเล่นเกมหรือใช้ทำงานหนักๆ เช่น กำลังแต่งภาพหรือตัดต่อวีดีโออยู่ แบบนี้จะทำอย่างไรดี เพราะบางทีเสียงพัดลมดัง กลัวว่าเครื่องจะพังไปซะก่อน โดยส่วนใหญ่ก็จะใช้งานฮีตซิงก์เดิมจากโรงงาน เรียกว่าติดมาในกล่องซีพียูนั่นเอง แบบนี้ต้องเปลี่ยนไปใช้ชุดน้ำดีมั้ย หรือจะเลือกซื้อฮีตซิงก์ใหม่ดี? คำถามนี้ค่อนข้างเจอกันได้บ่อย สำหรับคนที่ซื้อคอมประกอบตัวแรงๆ มา แต่ต้องการที่จะค้นหาทางออกให้กับเรื่องของ ลดความร้อน นี้
คงต้องบอกว่า ชุดน้ำปิด หรือบางค่ายเรียก All-in-One Cooling ปัจจุบันออกแบบได้สวยงาม และไม่เทอะทะ เหมือนกับในอดีต ในแง่ของรูปลักษณ์เวลานี้ชุดน้ำปิดน่าจะได้ใจใครหลายคนไปแล้ว เพราะนอกจากจะมีขนาดที่เล็กลง ปั้มน้ำหรือบล็อคน้ำ ก็ยังมีลูกเล่น ทั้งแสงไฟธรรมดา และไฟ RGB แถมบางรุ่นก็ยังปรับแต่งแสงไฟได้เอง ผ่านทางซอฟต์แวร์อีกด้วย ท่อน้ำ ก็มาพร้อมกับสายถักทนทาน และพัดลมหลายค่ายก็จัดมาเป็นพิเศษ ตั้งแต่รุ่นล่างๆ เน้นให้แรงลมที่ดี สำหรับระบายความร้อนในจุดที่เป็น Radiator และเสียงยังเงียบอีกด้วย ไม่ต้องไปทนกับเสียงหวีดหวิวของแรงลมที่ปะทะเข้ากับฮีตซิงก์ขนาดเล็กโดยตรง เมื่อทำงานแบบ Full load เมื่อดูจากภาพ เมื่อเทียบกับพัดลม Stock ของซีพียูที่มีมาให้ในกล่อง เรียกว่าขนาดแทบจะพอกันกับปั้มน้ำเลยทีเดียว
ชุดน้ำปิดก็ดูเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนที่อยากได้โซลูชั่นในการระบายความร้อนซีพียู เพราะในปัจจุบันติดตั้งง่าย บางรุ่นแทบไม่ต้องถอดเมนบอร์ดออกมาก่อนเลยด้วยซ้ำ เรียกว่าไม่ต่างไปจากซื้อฮีตซิงก์มาติดตั้งใหม่ รวมถึงราคาก็ไม่ได้แพงไปกว่าฮีตซิงก์ดีๆ สักรุ่น อย่างไรก็ดี การจัดพื้นที่และการวางหม้อน้ำหรือ Radiator และการจัดเรื่องทิศทางของลม รวมถึงพื้นที่ภายในเคส และความทนทาน ก็ทำให้บางคนคิดหนักเลยทีเดียวในการเลือกใช้ วันนี้แอดได้มีโอกาสรับชุดน้ำปิดมารุ่นหนึ่งจาก DEEPCOOL GAMMAXX L120 ก็เลยขอนำมาเปรียบเทียบให้ดูกันว่า ชุดน้ำปิด 1 ตอน 120mm ในปัจจุบัน จะตอบโจทย์การใช้งาน ทั้งในแง่ของการติดตั้ง จัดวาง ความสวยงาม ลดความร้อน ได้ดีกว่าฮีตซิงก์เดิมๆ ในกล่องมากน้อยเพียงใด
แพ็คเกจของชุดน้ำที่นำมาใช้ในการทดสอบจากทาง DEEPCOOL GAMMAXX L120 v2
ขนาดเมื่อเทียบกับฮีตซิงก์ Stock ของทาง AMD ที่มาพร้อมกับซีพียู Ryzen 5 3600
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ
- AMD Ryzen 5 3600
- ASRock B450M Steel Legend
- KREVV CRAS X DDR4 3200 16GB
- Maxtor Z1 SSD 480GB
- GALAX GTX 1660 SUPER
- PSU 600W
- AMD Wraith Stealth
- DEEPCOOL GAMMAXX L120 v2
อุปกรณ์และชิ้นส่วน
เมื่อเปิดกล่อง DEEPCOOL GAMMAXX L120 v2 ออกมา ก็จะบรรดาอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ อัดแน่นมาในกล่องเลยทีเดียว
สำหรับชุดน้ำปิด ชิ้นส่วนอุปกรณ์ ก็มักจะเยอะเป็นปกติ เพราะชิ้นส่วนเหล่านี้ จะสามารถรองรับซ็อกเก็ตต่างๆ ได้ครอบคลุม ซึ่งถือว่าเป็นข้อดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนแพ้เรื่องจุกจิก จะไม่ค่อยอยากเข้ามาสู่วงการ อย่างไรก็ดีสำหรับรุ่นที่ได้รับมาทดสอบนี้ ก็ไม้ได้เยอะจนปวดหัว ใช้จริงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น
ชิ้นส่วนหลัก ประกอบด้วย ปั้มน้ำ พร้อมกับ Radiator หรือหม้อน้ำ และพัดลม มีเท่านี้จริงๆ
Radiator ขนาด 120mm เป็นแบบอะลูมิเนียม ขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถติดตั้งในเคสขนาดเล็กได้สบาย
พัดลมขนาด 120mm พร้อมไฟ RGB ในตัว 500-1800rpm โดยประมาณ ให้เสียงที่น้อยกว่า 30dBA ซึ่งเป็นแบบ Hydro Bearing
ปั้มน้ำมาพร้อมกับความเร็วรอบที่สูงถึง 2400rpm เสียงรบกวนแทบไม่มี มาพร้อมกับแสงไฟ RGB เช่นกัน สามารถเชื่อมโยงเข้ากับซอฟต์แวร์เมนบอร์ดค่ายต่างๆ ได้ ในการปรับแต่งแสงสี
หน้าสัมผัสทองแดงขนาดใหญ่ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่บนซีพียูได้อย่างเต็มที่
การติดตั้ง
ทาซิลิโคนลงบนซีพียู เช่นเดียวกับการติดตั้งฮีตซิงก์แบบเดิม แต่ถ้าบนซิงก์ Stock จะมีเป็น Thermal Pad มาให้ ก็ประกบลงไปได้เลย แต่สำหรับชุดน้ำ จะแยกซิลิโคนมาให้ ถนัดหยด ป้าย ทา แบบไหนก็ตามสะดวก ลดความร้อน ได้
สำหรับชุดน้ำปิดรุ่นนี้ ติดตั้งไม่ยาก สามารถใช้เพลตหลังเดิมของเมนบอร์ดได้เลย จากนั้นใช้น็อตยึดให้แน่นหนา ทั้ง 4 มุม
นำขาล็อคของ AMD มาติดเข้ากับตัวบล็อคหรือปั้มน้ำ สามารถดูตามคู่มือได้ ไม่ซับซ้อนมากนัก
เสร็จแล้วติดตั้งปั้มน้ำลงเมนบอร์ด ให้ขาล็อคตรงกับหมุดที่วางไว้ในตอนแรกทั้ง 4 ด้าน
ไขน็อตยึดให้ครบทุกจุด โดยไขให้เป็นมุมทะแยง เพื่อให้ตัวล็อคแน่นหนา ไขให้พออยู่ เมื่อยึดครบทุกด้านแล้ว จึงไขให้แน่นพอตึงมือทุกจุด
เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ให้ลองเช็คดูว่า โยกคลอนหรือแนบกับซีพียูหรือไม่ ซึ่งถ้าทำตามขั้นตอนถูกต้อง ปั้มน้ำก็จะแนบไปกับซีพียูเพื่อ ลดความร้อน อย่างเต็มที่
จากนั้นนำมาติดตั้งลงในเคส ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของเคสและการวาง Radiator ของผู้ใช้ ว่าจะให้อยู่ในจุดใด ด้านบน หรือด้านหลัง อยู่ที่ความสะดวกของแต่ละบุคคล ที่ทีมงานทดสอบนี้ ติดด้านหลังแทนพัดลมหลังเคส สะดวกที่สุด หน้าตาที่ได้ ก็จะเป็นประมาณนี้
เมื่อติดตั้งพัดลม Radiator และปั้มน้ำเสร็จสิ้น อย่าลืมต่อสายไฟเลี้ยงพัดลมและปั้มน้ำ พร้อมกับสายต่อ RGB ตามจุดต่างๆ ให้ครบ โดยจะมีสายจากปั้มน้ำและพัดลม พร้อมกับสายเชื่อมทั้งสองเข้าด้วยกัน
เมื่อต่อสายไฟและสายสัญญาณ RGB เรียบร้อย หากต่อถูกต้อง แสงไฟจะปรากฏให้เห็น และถ้าเมนบอร์ดรองรับ RGB และมีซอฟต์แวร์สำหรับการปรับแต่ง ก็สามารถใช้ซอฟต์แวร์เมนบอร์ด เป็นตัวจัดการเรื่องไฟ RGB ได้ทันที
ประสิทธิภาพในการระบายความร้อน เมื่อเทียบกับฮีตซิงก์ Stock
ผลที่ได้ในการทดสอบ idle mode: ชุดน้ำปิด DEEPCOOL มีตัวเลขอุณหภูมิในโหมด idle สูงสุดที่ 55 องศาเซลเซียส แต่ฮีตซิงก์ Stock จาก AMD Wraith Stealth ที่มากับกล่อง Max. ที่ 67 องศาเซลเซียส เลยทีเดียว
ส่วนในการทดสอบ Full load ด้วยการใช้โปรแกรม OCCT ในการทรมานซีพียู AMD Ryzen 5 3600 แบบ 100% ทุก คอร์/เธรด ชุดน้ำปิด DEEPCOOL ลดความร้อน ในโหมด Full load เหลือเพียง 72 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่ AMD Wraith Stealth ที่มากับกล่อง Max. วิ่งไปสูงสุดที่ 91 องศาเซลเซียส
Conclusion
ในแง่ของการออกแบบ คงต้องบอกว่าชุดน้ำปิดรุ่นใหม่ๆ นอกจากจะออกแบบได้สวยงามน่าใช้กว่าในอดีต ยังมีขนาดที่เล็กลง และกระชับมากขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ดูไม่วุ่นวาย แม้จะมากกว่าซิงก์พื้นฐานที่มากับซีพียู แต่ก็ไม่เยอะมากจนน่ากังวล หลายชิ้นก็สามารถใช้ร่วมกันหลายซ็อกเก็ตได้ วัสดุแข็งแรง โดยเฉพาะใน DEEPCOOL GAMMAXX L120 v2 รุ่นนี้ นอกจากจะให้ความสวยงามด้วยแสงไฟ RGB มาบนปั้มน้ำและพัดลม Radiator แล้ว วัสดุและงานประกอบยังดูแข็งแรงเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นท่อน้ำ ข้อต่อ และชิ้นส่วนที่เป็นจุดสำคัญ ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานได้แบบยาวๆ ที่สำคัญประสิทธิภาพในการระบายความร้อน ยังถือว่าอยู่ในระดับที่น่าประทับใจ จากผลทดสอบด้วยการ Burn CPU ในระดับ 100% ต่อเนื่อง ยังลดความร้อนให้กับซีพียูได้แบบอุ่นใจ ด้วยความร้อน Full load เพียง 71 องศาเซลเซียสเท่านั้น เมื่อทดสอบในการเล่นเกม ที่ไม่ได้เรียกพลังของซีพียูเกินไปกว่า 70-80% จึงสบายใจได้เลยว่าสามารถ ลดความร้อน ให้กับซีพียูและคอมอย่างแน่นอน ในแง่ของสีสันความสวยงามของไฟ RGB ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณใช้เมนบอร์ดรุ่นไหน และรองรับซอฟต์แวร์ปรับแต่ง RGB ด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้ามีพอร์ตเชื่อมต่อ RGB บนเมนบอร์ดให้เห็น ก็แสดงว่าคุณสามารถใช้งานได้อย่างแน่นอน ด้วยสนนราคาค่าตัวกับหลักพันปลายๆ เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการระบายความร้อน ที่ดีกว่าซิงก์พื้นฐาน อยู่ไม่น้อยทีเดียว
จุดเด่น
- ระบายความร้อนได้ดีกว่าซิงก์พื้นฐานพอสมควร
- มาพร้อมไฟ RGB ปรับแต่งได้
- ทำงานเงียบ เสียงรบกวนน้อยมาก
ข้อสังเกต
- มีขั้นตอนการติดตั้งพอสมควร
ราคา: ประมาณ 1,990 บาท
ติดต่อ: Banana