สำหรับแบรนด์ Thermaltake ในงาน Computex 2019 รอบนี้ ก็นับเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่นำผลิตภัณฑ์มาแสดงแบบจัดเต็มครบทุกไลน์กันเลยก็ว่าได้ครับ ไล่ตั้งแต่เคส ชุดระบายความร้อน คีย์บอร์ด เมาส์ หูฟัง แถมรอบนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของแรม RGB อีกด้วย ซึ่งในบทความนี้จะเป็นการพาทัวร์บูท Thermaltake ที่จัดขึ้นในงาน Computex 2019 ณ ประเทศไต้หวันครับว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
บูท Thermaltake ตั้งอยู่ตรงแถวทางเข้าฮอลล์ที่จัดงานเลย ขนาดของบูทบอกเลยว่าใหญ่มาก ๆ สมกับที่มีไลน์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสุด ๆ
กลุ่มแรกที่จะมาดูกันก็เป็น power supply แบบดิจิตอลครับ โดยมีมาโชว์ด้วยกันสองตัวคือ Thermaltake Toughpower GF1 ARGB ที่โดดเด่นทั้งในแง่ของความสวยงามจากไฟ RGB ของพัดลม ARGB Riing Duo Fan คาปาซิเตอร์จากญี่ปุ่น พร้อมระยะเวลาการรับประกันยาวนานถึง 10 ปี
ส่วนอีกรุ่นก็คือ Thermaltake Toughpower PF1 ARGB ซึ่งมาพร้อมรุ่นที่จ่ายไฟได้สูงสุดถึง 1200W เหมาะสำหรับเครื่องสเปคระดับท็อปสุด ๆ ทั้งยังเพียบพร้อมด้วยความสวยงามและความทนทาน
ต่อมาก็เป็นกลุ่มของเคสสไตล์เรียบหรูครับ ทุกรุ่นมาพร้อมกับกระจก Tempered glass ด้วย
ฝั่งของพัดลมระบายอากาศก็จะมีตัวเด่นเป็น Thermaltake Riing Trio 12/14 RGB Radiator Fan TT Premium Edition ที่เป็นพัดลมสำหรับแผงชุดน้ำระบายความร้อน ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีค่าแรงดันลมที่สูง เพื่อช่วยให้การระบายความร้อนออกจากแผงรังผึ้งเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
อีกรุ่นก็คือ Thermaltake Riing Trio 20 RGB Case Fan TT Premium Edition ที่เป็นพัดลมสำหรับติดตั้งในเคส ซึ่งจะมีใบพัดลมสูงถึง 11 ใบ ช่วยให้การระบายลมมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม
หนึ่งในไฮไลท์ของบูท Thermaltake ในงาน Computex 2019 รอบนี้ก็คือแรม Thermaltake WaterRam RGB ที่มีการติดตั้งชุดระบายความร้อนด้วยน้ำติดมากับแผงแรมเลย ลดความวุ่นวายในการตามหาชุดน้ำที่เหมาะกับแรมสำหรับคนที่ต้องการประสิทธิภาพขั้นสูงสุด ติดตั้งมาพร้อมกับไฟ RGB ที่สามารถปรับแต่งรูปแบบของไฟผ่านซอฟต์แวร์ และรองรับกับระบบที่ช่วยในการซิงค์ไฟของเมนบอร์ดยี่ห้อต่าง ๆ ได้ด้วย
ส่วนตัวแรมเองก็จะเป็นแรม DDR4 มีให้เลือกทั้งรุ่นความเร็ว 3200 MHz และ 3600 MHz ชิป Hynix C-die รองรับ Intel XMP 2.0 ครับ
ส่วนแรมของ Thermaltake อีกรุ่นก็คือ Thermaltake TOUGHRAM RGB ที่เป็นแรม+ฮีตซิงค์ตามปกติ แต่ละแผงมีไฟ RGB 10 จุด รองรับการปรับแต่งจากซอฟต์แวร์ของ Thermaltake และรองรับระบบซิงค์ของเมนบอร์ดด้วยเช่นกัน ในแง่ของประสิทธิภาพก็จัดเต็มด้านความเร็วด้วยตัวเลือกที่มีทั้ง DDR4-3000 MHz / DDR4-3200 MHz และ DDR4-3600 MHz
โซลูชันสำหรับระบบระบายความร้อนด้วยน้ำแบบเปิดของ Thermaltake ต้องถือว่าครบครันเลยครับ นับตั้งแต่บล็อกน้ำ CPU บล็อก GPU ท่อ ข้อต่อ หม้อน้ำ น้ำยา ไปจนถึงแผงรังผึ้ง
หรือถ้าใครอยากแต่งคอมที่ใช้ชุดระบายความร้อนด้วยน้ำให้สวยเนียน ดูเรียบแต่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ Thermaltake ก็มีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของแผง Distro plate ด้วยเช่นกันครับ เห็นแล้วผมนี่อยากได้มาซักชุดเลย
ส่วนคนที่อยากติดตั้งชุดระบายความร้อนด้วยน้ำแบบเปิดเองนั้น Thermaltake ก็จะมีชุดแบบออลอินวันให้เลือกซื้อด้วยครับ ช่วยลดความยุ่งยากในการเลือกซื้ออุปกรณ์ไปได้มากทีเดียว รวมถึงยังมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ปรับแต่งที่รับประกันได้เลยว่าสามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ได้อย่างแน่นอน
เข้ามาถึงอุปกรณ์เกมมิ่งของ Thermaltake กันบ้างครับ เริ่มจากคีย์บอร์ดแมคคานิคัลกันก่อน โดยมีมาโชว์ด้วยกันสองรุ่นคือ Thermaltake Level 20 RGB ที่ใช้สวิทช์ Razer Green และ Thermaltake Level 20 GT RGB ที่มีตัวเลือกของสวิทช์ทั้ง Razer Green, Cherry MX Blue และ Cherry MX Silver
เรื่องงานประกอบก็ยังคงหนักแน่นในสไตล์ของ Thermaltake เช่นเคย
ส่วนด้านล่างนี้ก็จะเป็นชุดคอมโบคีย์บอร์ด+เมาส์ Tt eSPORTS Commander Pro และ Commander Elite RGB ที่มาพร้อมกับฟังก์ชันสำหรับคอเกม ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการปรับแต่งไฟ RGB ปุ่มกดรองรับ key rollover เป็นต้น
ส่วนของเมาส์ในแต่ละชุดคอมโบก็จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยครับ แต่ทั้งคู่มาพร้อมกับสวิทช์ปุ่มกดและเซ็นเซอร์เกรดสำหรับเกมมิ่งเลย เพื่อการตอบสนองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ด้านของแผ่นรองเมาส์ก็จะมี Thermaltake Level 20 RGB Extend Gaming Mouse Pad ที่มีไฟ RGB อยู่ตรงขอบ พร้อมรองรับระบบการปรับแต่งและซิงค์ไฟทั้ง TT RGB Plus และ Razer Chroma พื้นผิวได้รับการออกแบบให้เน้นความแม่นยำในการใช้งาน ส่วนด้านล่างก็จะเป็นยางเพื่อป้องกันการลื่นขณะใช้งานด้วย
เกมมิ่งเมาส์ที่น่าสนใจในบูทก็เช่น Tt eSPORTS Neros RGB ที่เป็นเกมมิ่งเมาส์แบบออปติคอล มีค่า DPI สูงสุดที่ 3200 DPI ปรับแต่งไฟ RGB ผ่านซอฟต์แวร์ได้ รูปทรงจับถนัดมือมาก ๆ
อีกรุ่นก็คือ Tt eSPORTS Black X RGB ที่จะมีไฟ RGB มาด้วยกัน 2 โซน เลือกใช้สวิทช์ Omron รองรับการคลิกได้ถึง 20 ล้านครั้ง มีค่า DPI สูงสุดถึง 7200 DPI
ด้านของหูฟังก็จะมีหนึ่งในตัวเด่นเป็น Thermaltake H1 RGB 7.1 ที่มาพร้อม DAC ระดับไฮไฟเพื่อคุณภาพของเสียงที่ยอดเยี่ยม ผสานกับไดรเวอร์ใหม่ มีไฟ RGB ที่ด้านข้าง และที่สำคัญคือมีระบบจำลองเสียง 7.1 รอบทิศทางมาในตัวด้วย
อุปกรณ์เสริมอีกชิ้นที่น่าสนใจก็คือแท่นวางหูฟัง Thermaltake E1 RGB ที่มีการตกแต่งด้วยไฟ RGB รองรับการปรับแต่งและซิงค์ผ่านซอฟค์แวร์ ด้านข้างมีช่อง USB 3.0 มาให้สองพอร์ต และยังมีช่อง 3.5 มม. เพิ่มให้ด้วย ตัวบอดี้ทำมาจากอลูมิเนียมเป็นหลัก มียางรองที่ฐานของตัวแท่นเพื่อให้สามารถยึดติดกับพื้นโต๊ะได้ดีขึ้น ที่สำคัญคือสามารถใช้งานร่วมกับหูฟังรุ่นไหนก็ได้ครับ
หูฟังเกมมิ่งอีกรุ่นก็คือ Tt eSPORTS Shock V2 ที่เลือกใช้ไดรเวอร์ขนาด 50 มม. ที่มาพร้อมระบบบูสท์เสียงเบส ระบบช่วยตัดเสียงรบกวนของไมค์ และยังสามารถพับตัวหูฟังเพื่อให้สะดวกแก่การพกพาได้ด้วย
ส่วนด้านล่างนี้ก็จะเป็นเซ็ตคอมพิวเตอร์ที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์รุ่นพิเศษ MIKU Edition ทั้งส่วนของเคส พัดลมระบายความร้อน คีย์บอร์ด เมาส์ แผ่นรองเมาส์ หูฟัง และเก้าอี้เกมมิ่ง เรียกได้ว่าใครที่ชื่นชอบตัวละคร Hatsune Miku น่าจะถูกใจสิ่งนี้กันแน่นอน
สำหรับสเปคเครื่องที่ใช้ตั้งโชว์ก็ตามด้านบนนี้เลยครับ มีของใหม่ของแรงอยู่พอสมควรเลย
กลุ่มของอะแดปเตอร์พกพาสำหรับใช้ชาร์จโน๊ตบุ๊คก็มีด้วยเช่นกันครับ โดยจะใช้ชื่อแบรนด์ว่า Luxa2 ที่มีตัวเลือกหลากหลายตามความต้องการของอุปกรณ์ ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะแบ่งตามกำลังไฟครับ เริ่มที่ 60W, 65W ไปจนถึง 90W ซึ่งก็เหมาะสมกับโน๊ตบุ๊คทั่วไปในท้องตลาดครับ โดยจะมีทั้งแบบที่เป็นพอร์ต USB-A + USB-C และแบบอะแดปเตอร์ปกติที่มีหัวชาร์จแถมมาให้ในชุดอย่างครบครัน
เรียกได้ว่าน่าจะครบครันกับหัวชาร์จของโน๊ตบุ๊คแต่ละรุ่นในตลาดตอนนี้แน่นอน
ปิดท้ายด้วยแกลเลอรี่ภาพด้านล่างนี้แล้วกันครับ ที่เป็นส่วนของการโชว์เคสจากบรรดา modder หลากหลายประเทศทั่วโลกที่ใช้เคส Thermaltake เป็นฐานในการม็อด แน่นอนว่ามีเคสจาก modder ชาวไทยอีกด้วย จะเป็นเคสไหน และแต่ละเคสจะสวยขนาดไหน กดคลิกซ้าย-ขวาชมกันได้เลย
งเป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในบูท Thermaltake ที่รอบนี้จัดเต็มกันในหลายซีรีส์มาก ๆ นับตั้งแต่อุปกรณ์ภายในเคส ไล่มาจนถึงอุปกรณ์เสริมสำหรับการเล่นเกม รวมถึงเคสม็อดสวย ๆ แหวกแนวอีกเพียบ เห็นแล้วโดนใจตัวไหน ก็มาคอมเมนท์กันได้เลย