Connect with us

Hi, what are you looking for?

Mac Corner

เปรียบเทียบ MacBook และ PC Notebook

คำถามโลกแตกคำถามนึง ที่ผมมักจะต้องเจออยู่เป็นระยะ แล้วก็ลำบากใจอยู่เสมอ หากผู้ยิงคำถามต้องการคำตอบแบบฟันธง

Advertisement

ที่ ว่าลำบากใจก็เพราะว่าโดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าคอมพิวเตอร์ก็คือเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่เราจะนำมาใช้ทำงาน ซึ่งงานที่ว่านั้นก็มีปัจจัยที่แตกต่างหลากหลายกันไป ตามแต่การนำไปใช้งานของแต่ละคน มันไม่ใช่กีฬายกน้ำหนักนะครับ ที่จะได้เรียกมายกกันทีละคน ใครยกผ่านกรรมการกดเขียว ใครยกไม่ผ่าน แขนไม่นิ่ง กรรมการกดแดง แล้วใครหมดแรงให้ตะโกนสู้โว้ย เรียกพลัง มันไม่ใช่แบบนั้นสิครับ จึงเป็นเรื่องหนักใจเวลาที่ต้องมีอันต้องนึกถึงประเด็นนี้

อย่างไรก็ตามด้วยความที่ถูกวางไว้ให้เป็นที่พึ่งทางใจ สำหรับผู้สนใจจะใช้ Mac ประจำออฟฟิช คำถามดังกล่าวก็จะวนเวียนมาหาผมอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพี่ๆน้องๆ ที่กำลังจะตัดสินใจซื้อ Laptop ไว้ใช้งานกันซักเครื่อง และจะถี่มากเลยเวลามีงานมหกรรมแสดงสินค้าคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย

ความแตกต่างเบื้องต้นอันแรกที่เราสัมผัสได้ก่อนสิ่งอื่นใดเลยก็คือ ?ราคา? หลายคน ณ ปัจจุบันที่นั่งพิมพ์เรื่องนี้อยู่ MacBook 13 นิ้วรุ่นถูกสุดอยู่ที่ราคา 35,900 ในสังคมคอมพิวเตอร์ที่เราได้รับการปลูกฝังการเปรียบเทียบคอมพิวเตอร์ ด้วยการนำเอา Spec มาเทียบ Spec กันดุ้นๆ ไม่แปลกอะไรที่ MacBook จะถูกมองว่าราคาแพง ทั้งนี้ทั้งนั้นนั่นคือรุ่นที่ถูกที่สุด แต่หากมองที่รุ่นที่ทำตลาดราคาสูงขึ้นมาอีกสักหน่อย ผมกลับพบว่า MacBook ไม่ได้แพงกว่ารุ่นอื่นเท่าไรนัก ในทางกลับกันกลับมีราคาและ Spec ที่ดีกว่าบางยี่ห้อเสียอีก (ข้อมูลจากการเปรียบเทียบ Laptop ราคา 59,900 – 60,000 บาท จากฐานข้อมูลของ Notebookspec) พิมพ์อย่างนี้ไม่ใช่ว่า MacBook Spec ด้อยกว่ารุ่นอื่นยี่ห้ออื่นอะไรนักหนานะครับ Spec ในระดับดีเลยละ จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็เรื่องของราคาหากเทียบกับบาง Brand แล้วราคาก็ทำให้เกิดความลังเลได้ แต่อย่างไรก็ดีในประเด็นอื่นๆ ถ้าพิจารณากันดีๆ มีหลายส่วนที่ MacBook ดีกว่ามาก เพียงแต่ถ้ายังใช้มุมมองเดิมๆ ในการพิจารณาความคุ้มค่า ก็อาจจะทำให้เรามองข้ามอะไรเหล่านั้นไปอย่างน่าเสียดาย ครั้งนี้ก็อยากเสริมให้มองถึงในจุดอื่นๆดังกล่าวเหล่านั้นกันครับ

มีแต่คู่แข่งรอบทิศทาง
ไม่รู้ใครเคยเจอเหมือนผมรึเปล่า แต่บ่อยครั้งอยู่เหมือนกันที่เวลามีการเปรียบเทียบระหว่าง MacBook กับ PC Notebook มันจะมีเรื่องชวนขำอยู่อย่างนึง คือน้องที่ออฟฟิชผมซึ่งแกเป็นเซียน PC Notebook มักจะยกเครื่องรุ่นนั้น ยี่ห้อนี้มาเทียบกับ MacBook ในมุมนึง แล้วพอพูดถึงอีกมุมนึงก็จะยกอีกรุ่นอีกยี่ห้อนึงมาเปรียบ คุยกันไปคุยกันมาจนจบ ก็ตีขลุมว่า MacBook ด้อยกว่าในทุกๆด้าน แต่พอถามย้อนกลับไปว่าแล้วที่ยกมาหลายๆด้านนี่ ตกลงจะเอารุ่นไหน ยี่ห้อไหนเป็นตัวหลัก พอพูดถึงประเด็น Graphic Accelerator ก็ยกเอายี่ห้อนี้มาเทียบ แล้วพอเราพูดถึงประเด็นเรื่องหน้าตาผลิตภัณฑ์ ก็ไปยกอีกยี่ห้อมาเทียบ พอยกเรื่องความแข็งแรงทนทาน ก็ไปเอาอีกยี่ห้อมาเทียบ กลายเป็นว่า MacBook รุ่นเดียว ต้องกรำศึกทุกทิศรอบด้านกับ Notebook ในฝันที่รวมเอาข้อดีของทุกยี่ห้อมาเปรียบเทียบกันเลยทีเดียว ก็ขำๆ ดีครับเรื่องทำนองนี้เจอบ่อย

อันที่จริงผมเองไม่ค่อยชอบจะเปรียบเทียบ พวก Spec คอมพิวเตอร์ทำนองนี้สักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเปรียบเทียบดังกล่าวนะครับ สมัยเรียนอยู่ ยุคที่ยังไปเดินห้างไอทีชื่อดัง แล้วเลือกส่วนประกอบนั้น ส่วนประกอบนี้มาประกอบ PC เอง ก็มีมุมมองทำนองนั้นอยู่เหมือนกัน แต่ผ่านไปหลายปี ประสบการณ์การใช้งานคอมพิวเตอร์มาหลายรุ่นหลายยี่ห้อ ทำให้ต้องนำเอาปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย มีหลายอย่างที่เราไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ด้วย Spec ต่อ Spec เพียงลำพัง โดยเฉพาะเรื่อง Product Design อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมว่าเซียนคอมพิวเตอร์บ้านเราหลายท่าน มักจะมองข้ามกันไป อาจจะเป็นเพราะว่าส่วนใหญ่ผู้ที่สนใจทางด้านคอมพิวเตอร์ ก็จะสนใจทางด้านเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์เป็นหลัก มีความรู้เพียงด้านนี้เป็นหลัก ขาดความเข้าใจ และมุมมองในแง่ของการออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงเกิดเป็นมุมมองตื้นๆ ที่มองกันเพียงแค่ว่า MacBook รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ ของ Apple มีแค่ความสวยงาม เพียงอย่างเดียว

ไม่ใช่แค่ Design
มีหลายคนที่มอง MacBook (แน่นอนรวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นของ Apple ด้วย) ว่ามีดีที่สวยอย่างเดียว ความสวยดังกล่าวแลกมาด้วยราคาที่สูง มองด้วยทัศนคติเหมือนว่าเป็นสินค้าแฟชั่น ซึ่งก็ปฎิเสธไม่ได้เลยครับว่าเรื่อง Design นั้นโดยมาตรฐานมุมมองของคนโดยทั่วๆแทบจะทั้งหมด ต่างก็ยอมรับกันเป็นเสียงเดียวว่ามันสวยจริงๆ แต่ที่มาพร้อมกับความสวยต่างๆ กลับแฝงไปด้วยความหมายอย่างที่มีหลายคนไม่เข้าใจ อย่างเช่นการปรับมาใช้ขอบสีดำในเครื่อง Mac รุ่นใหม่ๆ ก็ช่วยทำให้ความรู้สึกว่าพื้นที่ในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่การออกแบบที่ทำให้ไม่มีขอบรอยต่อระหว่างพื้นที่แสดงผล กับขอบรอบข้าง ก็ช่วยลดความรู้สึกรบกวนสายตาขณะใช้งานได้อีกด้วย ในขณะที่การพยายามนำเทคโนโลยีการผลิตโครงภายนอกของเครื่อง แบบใหม่ที่เรียกว่า Unibody ไม่เพียงแต่ทำให้ตัวเครื่องสวยงาม และดูดีมากเท่านั้น แต่ยังทำให้ได้มาซึ่งความแข็งแรงอย่างมากเพิ่มมาอีกด้วย


แม้แต่การเปิดปิดฝาที่มีการออกแบบมาให้ไม่มีการใช้งานสลัก แต่เป็นการใช้แม่เหล็กเป็นตัวดูด ทำให้การปิดเปิดฝาเครื่องทำได้สะดวกรวดเร็ว และไม่มีปัญหาเรื่องการติดขัดของกลไกการล็อคในระยะยาว
หรืออย่างแป้นพิมพ์ที่ถูกออกแบบมาให้บางและเบา ในขณะเดียวกันก็มีการนำเอา ตัวตรวจจับแสงมาใช้เพื่อทำให้แป้นพิมพ์เรืองแสงขึ้นมาอัตโนมัติ เวลาที่เราไปใช้งานในที่มืด ทำให้เราสามารถมองเห็นแป้นพิมพ์ได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่เรื่องตำแหน่งการถ่วงน้ำหนักในตัวเครื่อง ถ้าใครเคยใช้จะรู้สึกเลยว่า มันมีความมั่นคงในการวางใช้งานในลักษณะต่างๆได้ดีมาก ไม่เบาจนทำให้เครื่องลอยขึ้นเรื่อยๆให้รู้สึกรำคาญ จุดที่น้ำหนักถ่วงลงจะมีความสมดุลย์เหมาะกับการใช้งานจริงๆ

Adapter สำหรับเสียบชาร์จไฟของ MacBook เป็นอีกเรื่องนึงที่ได้รับคำชื่นชมจากหลายๆคน กันมานาน ตัวสายชาร์จมีหัวต่อที่เรียกว่า MagSafe ที่สามารถหลุดออกจากตัวเครื่องได้ทันที หากเราเผลอไปโดน ไปเหยียบ ไปดึง ตรงตัวสายไฟเข้า ทำให้ตัวเครื่องไม่หล่นโครมตามลงมาด้วย เรื่องนี้ใครไม่เจอเข้ากับตัวไม่รู้หรอกครับ คำว่าน้ำตาตกเป็นยังไง เสียบๆชาร์จอยู่ อยู่ดีๆพวกเดินมาจากไหนไม่รู้ ไม่ดูตาม้าตาเรือ ชนสายเรา ลำพังสายไม่เท่าไหร่ แต่มันลากเอาเครื่อง Notebook เราหล่นพื้นด้วยนี่สิครับ ต่อให้ยังใช้งานอยู่ สภาพไม่บุบสลายอะไรมาก แต่ใครจะไปรู้ว่าข้างในมันเกิดอะไรขึ้นแล้วบ้าง แก้วที่มันร้าวซักวันก็คงจะแตก ยังไงอย่างงั้น หัวต่อ MagSafe ขึ้นชื่อมากในการป้องการเหตุร้ายทำนองนี้ ผมเองเคยเจอมากับตัวแล้วอย่างน้อยสามครั้ง ยอมรับเลยว่าในส่วนนี้เขาออกแบบมาได้ดีจริงๆ

หรืออย่าง Track pad ของ MacBook ก็แตกต่างกับ Track pad ของ Notebook ยี่ห้ออื่นๆ มีการออกแบบให้ไม่มีปุ่ม เพื่อเพิ่มพื้นที่การใช้งาน ทำให้การเคลื่อนนิ้วไปมาสำหรับทำงานทำได้สะดวกขึ้น แล้วออกแบบให้ทั้งแป้นสามารถกดเพื่อใช้งานสำหรับการคลิกได้ด้วย เท่านั้นไม่พอ หลายคนอาจจะเคยเจอกับความเชื่อเก่าๆที่ว่าเม้าส์ Mac มีปุ่มเดียว นั่นเก่าไปแล้วครับ หลายปีมาแล้วที่เม้าส์ของ Mac มีปุ่มสารพัดปุ่มให้กด สำหรับ Track pad ใหม่นี้แม้จะไม่มีหน้าตาของปุ่มให้เห็น แต่สามารถกำหนดใช้งานได้ทั้งคลิกซ้ายและคลิกขวาได้ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าในแต่ละส่วนรายละเอียดนั้นผ่านกระบวนการคิดและออกแบบมา เพื่อแก้ไขปัญหา ที่มักจะพบในการอยู่บ่อยๆ อย่างประณีตลงรายละเอียด

น่าเสียดาย ที่ทัศนคติการมองคุณค่าอะไรสักอย่างของหลายคนในบ้านเรา มองกันแค่ผิวเผินอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าของการออกแบบผลิตภัณฑ์ในแง่อื่นๆ เห็นว่ามันเรียบสวย ก็คิดว่ามีดีแค่นั้น พาลคิดไปอีกว่าคนที่ใช้ MacBook มองแค่ภายนอก ผมกลับคิดว่าคนที่เลือกใช้ MacBook หลายๆคน ที่เข้าใจถึงรายละเอียดในจุดต่างๆ เหล่านั้นเสียอีก เป็นคนละเอียดและให้น้ำหนักในการตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์มากไปกว่ามองแต่ตัวเลข Spec เพียงอย่างเดียว

คุณภาพที่ต่างกัน
ไม่เพียงแต่เรื่อง การออกแบบข้างต้น ในเรื่องของคุณภาพของลงรายละเอียดแล้วก็มีหลายอย่างที่แตกต่างกัน อย่างเช่นเรื่องของการแสดงผล หน้าจอขนาด 13.3? เหมือนกันแต่ว่า MacBook ใช้เทคโนโลยี back-lit ซึ่งทำให้มีความสว่างในการแสดงผลดีขึ้นสว่างพร้อมทำงานทันทีที่เริ่มใช้งาน ไม่ต้องมีระยะเวลาการวอร์มอัพ ในขณะเดียวกันก็ใช้พื้นที่น้อยว่าหลอดแบบอื่น ขณะเดียวกันความโดดเด่นในเรื่องของการแสดงสีที่คมชัด ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่หลายคนให้การยอมรับกันมาโดยตลอด


ส่วน Trackpad ไม่เพียงการออกแบบจะทำให้ได้พื้นที่การใช้งานมากขึ้นดังที่กล่าวถึงไปแล้ว ข้างต้น แต่ยังมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆอย่าง Multi-touch มาให้ใช้งานได้ด้วย ณ ปัจจุบันมีการใช้งานได้ในบางส่วนของระบบ เฉพาะในส่วนที่ Apple พัฒนาเท่านั้น เช่น Safari หรือ iPhoto แต่ในอนาคตเชื่อได้ว่าแทบจะทุกโปรแกรมใน Mac OS X จะมีการนำเอา Multi-touch เข้ามาใช้งานเพิ่มเติม

Pages: 1 2

Click to comment
Advertisement

บทความน่าสนใจ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก