เป็นประจำทุกปีก็ว่าได้ครับสำหรับการจัดอันดับแบรนด์ผู้ผลิตโน๊ตบุ๊คหรือ PC ยอดเยี่ยมที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ตามที่คุณต้องการ ในวันนี้เราขอนำเสนอ 10 อันดับแบรนด์ Gaming Notebook ประจำปี 2018 ของทาง engadget ให้ทุกท่านได้รับทราบกันบ้างว่าจะมีแบรนด์ในใจคุณติดอันดับหรือไม่ ว่าแล้วก็ไปดูทั้ง 10 อันดับกันก่อนเลยดีกว่าครับว่าแบรนด์ไหนจะอยู่ที่อันดับใดบ้าง
อย่างไรก็ตามแต่แล้วนั้นด้วยความที่เป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมแน่นอนว่าเรื่องของสเปคนั้นผู้ผลิตต่างก็ต้องงั้นเอาสเปคสุดแรงมาให้ผู้ใช้กันอยู่แล้ว ดังนั้นหากจะว่าไปแล้วสเปคจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าสนใจในการนำมาใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินเท่าไรนัก โดยทาง engadget ได้เลือกเกณฑ์ในการให้คะแนนมาทั้งหมด 6 เกณฑ์ประกอบไปด้วยดีไซน์, หน้าจอ, นวัตกรรม, การรับประกัน, ซอฟต์แวร์เสริมที่แถมมาให้และคะแนนรีวิวโดยรวมของโน๊ตบุ๊คเพื่อการเล่นเกมทั้งหมดของแบรนด์นั้น ตามมาดูกันครับว่าทาง engadget มีเหตุผลใดถึงให้คะแนนในเกณฑ์แต่ละอย่างกันบ้างครับ
1. MSI (84/100)
เริ่มกันที่อันดับที่ 1 กับ MSI ที่ในปีที่ผ่านมานั้นเรียกได้ว่ามาแรงมากจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่มีตัวเลือกให้นักเล่นเกมได้เลือกซื้อกันหลากหลายตามงบประมาณที่มี แถมโน๊ตบุ๊คเหล่านั้นก็ครอบคุมความต้องการเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นโน๊ตบุ๊คขนาดบางอย่าง GS65 Stealth Thin หรือจะเป็น GE63 Raider RGB ฯลฯ ซึ่งโน๊ตบุ๊คเกือบทั้งหมดนั้นเรียกได้ว่าได้รับคะแนนรีวิวในระดับที่ดีเอามากๆ จุดเด่นที่พลาดไม่ได้เลยก็คือเรื่องของซอฟต์แวร์ที่ MSI นั้นให้ซอฟต์แวร์ในการปรับแต่งต่างๆ ที่ดีมากๆ จนได้คะแนน 10 เต็มไปในเกณฑ์นี้ครับ
2. Acer (80/100)
สำหรับ Acer นั้นถึงแม้ว่าคะแนนในส่วนของการรีวิวรวมและซอฟต์แวร์จะไม่ได้ดีอะไรเท่าไรนัก แต่ทว่าก็ปฎิเสธไม่ได้เลยครับว่าดีไซน์ของตัวเครื่องและนวัตกรรมของโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมของ Acer นั้นดีมากๆ ตัวอย่างเช่น Predator 21 X ที่นอกเหนือจากการมาพร้อมกับหน้าจอแบบโค้งขนาด 21 นิ้วแล้วนั้น สเปคของมันก็ยังจัดเต็มภายใดการออกแบบที่เรียกได้ว่าฉีกไปจากโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมที่มีอยู่ในตลาด นอกเหนือไปจากนั้นทาง Acer ยังมีโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกอัปเกรดสเปคได้ด้วยตัวเองอย่าง Predator Helios 300 งานนี้ได้คะแนนดีไซน์และนวัตกรรมไปได้เยอะแบบสบายๆ ครับ
2. Alienware (80/100)
ยังคงอยู่กับที่ 2 ร่วมอย่าง Alienware ที่ได้คะแนนในแต่ละเกณฑ์การตัดสินกระจายกันออกไป โดยที่ Alienware นั้นเรียกได้ว่าอยู่ในลำดับต้นๆ มาหลายปีต่อกัน ดังนั้นแล้วจึงสามารถที่จะทำคะแนนหลายๆ ส่วนไปได้เป็นอย่างดี จุดที่น่าเสียดายก็คือโดยปกตินั้น Alienware จะไม่ค่อยได้ออกโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมจำนวนมากเข้าสู่ตลาดดังนั้นแล้วสิ่งที่เราได้เห็นกันนั้นไม่ว่าจะรุ่นใดๆ ก็ค่อนข้างจะเหมือนๆ กันไปซะหมดคะแนนนวัตกรรมของทาง Alienware จึงได้ไปไม่มากเท่าไรครับ
4. Razer (79/100)
เช่นเดียวกันกับ Alienware ครับที่ Razer นั้นโดยปกติจะไม่ได้ทำการเปิดตัวโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมออกมาหลายรุ่น แถมรุ่นที่วางจำหน่ายนั้นก็เรียกได้ว่ามีดีไซน์ของตัวเครื่องค่อนข้างที่จะเหมือนกันดังนั้นคะแนนในเรื่องของนวัตกรรมใหม่ๆ จึงไม่ดีมากนัก อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมไม่ค่อยมากนักแต่ทว่าโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมของทาง Razer เกือบจะทุกรุ่นก็สามารถที่จะทำแนนการรีวิวได้เป็นอย่างดีครับ
5. Asus (78/100)
สำหรับ Asus เองนั้นเชื่อได้ว่าในปีหน้าน่าจะสามารถไต่ลำดับขึ้นไปได้อีกโดยในปีนี้นั้นทาง Asus ได้เปิดตัว ROG Zephyrus ซึ่งเป็นโน๊ตบุ๊คเครื่องแรกของโลกที่มาพร้อมกับกราฟิกชิป Max-Q ของทาง NVIDIA ซึ่งตัวเครื่องนั้นก็ออกแบบได้ดีมากครับ แต่ครับแต่ หากเป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมที่มีสเปคไม่สูงมากนักอย่าง ROG Strix GL553VD ทาง Asus กลับพลาดในส่วนของลำโพงและคีย์บอร์ดที่ถือว่าเป็นปัจจัยหลักในการเล่นเกมบนโน๊ตบุ๊คดังนั้นแล้วหากทาง Asus สามารถที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้ ปีหน้านี้เราได้เห็น Asus ไต่อันดับขึ้นไปอยู่สูงขึ้นกว่าเดิมแน่ครับ
6. HP (75/100)
HP เองนั้นก็ถือได้ว่าเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างมากครับ ด้วยการก้าวขึ้นมาอยู่อันดับที่ 6 จากที่ในปีแล้วนั้นอยู่ที่อันดับที่ 10 แสดงให้เห็นได้ว่างานนี้ทาง HP เริ่มเอาจริงแน่ๆ แล้ว โดยโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมของทาง HP อย่าง Omen 15 และ Omen 17 ถือว่าได้รับความนิยมอตัวเลยทีเดียวและผู้ใช้ที่มีงบประมาณน้อยนั้นก็มักจะซื้อโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมจากทาง HP กัน สิ่งหนึ่งที่ทาง HP ควรจะทำการแก้ไขนั้นก็คือเรื่องของซอฟต์แวร์สำหรับการควบคุมตัวเครื่องที่บอกตรงๆ ว่ายังไม่ค่อยจะดีมากสักเท่าไรครับ
7. Aorus/Gigabyte (72/100)
สำหรับ Aorus/Gigabyte นั้นถือว่าดีไซน์ตัวเครื่องได้ค่อนข้างดีครับ แน่นอนว่าหากคุณนำตัวเครื่องไปเล่นกับเพื่อนหรือเอาไปในที่ทำงานล่ะก็งานนี้คุณได้เป็นจุดเด่นที่ทุกคนต้องมองอย่างแน่นอน โน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมของ Aorus/Gigabyte นั้นถือว่ามีจุดเด่นอย่างชัดเจนครับทว่าภายใต้จุดเด่นนั้นก็มีข้อด้อยที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างเข่นความสว่างของหน้าจอที่ทำออกมาไม่ค่อยจะดีเท่าไรนัก รวมไปถึงเรื่องระบบเสียงของตัวเครื่องก็ไม่ได้แตกต่างไปจากโน๊ตบุ๊คธรรมดาซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญสำหรับโน๊ตบุ๊คเพื่อการเล่นเกมเป็นอย่างมากครับ
8. Origin PC (71/100)
Origin PC นั้นเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้มีเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราอย่างเป็นทางการครับ ทว่าในต่างประเทศที่มีการวางจำหน่ายนั้นก็สามารถครองใจผู้ใช้ได้เป็นอย่างดีโดยโน๊ตบุ๊คของทาง Origin PC ก็มีออกมารองรับทั้งผู้ที่ชื่นชอบตัวเครื่องที่ดูทรงพลังอย่าง Won17-X ซึ่งสามารถที่จะเปลี่ยนสเปคได้มากมายตามความต้องการหรือจะเป็นรุ่นบางอย่าง EVO15-S ก็มีให้ผู้ใช้ได้เลือกด้วยเช่นเดียวกัน ทว่าจุดด้วยของ Origin PC นั้นอยู่ที่ซอฟต์แวร์ที่แถมมาดูเหมือนกับว่าไม่มีประโยชน์มากนักแถมเรื่องของการรับประกันก็เรียกได้ว่าค่อนข้างที่จะแย่ งานนี้หาก Origin PC แก้ไขจุดด้อยได้ล่ะก็น่าจะได้เห็นการแข่งขันที่สนุกสนานอย่างแน่นอนครับ
9. Dell (67/100)
ในส่วนของ Dell นั้นถึงแม่ว่าจะมี Alienware ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ผลิตแต่โน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะอยู่แล้ว ทว่าในส่วนของ Dell เองนั้นก็มีโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมเช่นเดียวกันอย่างเช่น Inspiron Gaming 15 5000 ทว่าด้วยความที่ทาง Dell เองไม่ได้สนใจในโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมมากนัก(เพราะมี Alienware) จึงทำให้โน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมของทาง Dell นั้นขาดๆ เกินๆ แบบไม่ค่อยใส่ใจมากเท่าไร งานนี้จะไปว่า Dell เขาก็ไม่ได้ล่ะครับแต่การที่ยังสามารถทำคะแนนติดลำดับเข้ามาได้ก็น่าจะเป็นผลดีกับทาง Dell แล้วครับ
9. Lenovo (67/100)
ปิดท้ายด้วย Lenovo ที่จะบอกว่าไม่ดีก็คงไม่ได้เพราะว่า Lenovo เองก็พึ่งเข้าสู่ตลาดโน๊ตบุ๊คสำหรับการเล่นเกมได้ไม่นานกับโน๊ตบุ๊คซีรีย์ Legion ดังนั้นหากจะว่าไปแล้วทาง Lenovo เองก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนาตัวเครื่องออกมาอีกสักหน่อยแต่เชื่อได้ครับว่าทาง Lenovo ต้องจัดเต็มในปีหน้าอย่างแน่นอนดังจะเห็นได้จาก Legion Y530 ที่เริ่มจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่ทาง Lenovo ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมก็คือเรื่องของการรับประกันนี่ล่ะครับ
ที่มา : engadget