องค์กรอนามัยโลกหรือ WHO ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าอาการ “ติดเกม” จะถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในอาการทางจิตเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลังจากมีการถกเถียงหารือกันเป็นระยะเวลานานโดยจุดมุ่งหมายหลักคือการรักษาหาแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม
หลังจากได้มีการพิจารณาเป็นระยะเวลาหนึ่งในที่สุดองค์กรอนามัยโลกก็ตัดสินใจให้อาการติดเกมหรือ Gaming Disorder เป็นหนึ่งในอาการทางจิตลงในบัญชี ICD (International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems) ฉบับที่ 11 โดยพวกเขาให้คำนิยามของอาการติดเกมคร่าว ๆ ว่า
“เป็นพฤติกรรมการเล่นวีดีโอเกมหรือเกมดิจิทัล (ออฟไลน์/ออนไลน์) ที่ไม่สามารถควบคุมตนเอง ไม่สามารถแบ่งความสำคัญหรือแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนสำคัญกว่าโดยจะให้ความสำคัญกับการเล่นเกมมากเป็นพิเศษรวมถึงส่งผลเสียต่อครอบครัว , ตนเอง , สังคม , การศึกษา , การประกอบอาชีพ”
“โดยอาการที่เรียกได้ว่าติดเกมจะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือซ้ำ ๆ กันอย่างน้อยเป็นเวลา 12 เดือนขึ้นไปแต่อย่างไรก็ตามระยะเวลาอาจน้อยกว่านั้นหากผู้ที่ติดเกมมีอาการแสดงออกที่รุนแรงหรือเห็นได้ชัดเจนจนผิดปกติ”
อาจจะสรุปได้อีกทีว่าผู้ที่เข้าข่ายอาการ “ติดเกม” จะไม่สามารถแบ่งเวลาหรือแยกแยะความสำคัญได้โดยจะทุ่มความสำคัญให้กับการเล่นเกมมากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ และจะต้องส่งผลกระทบต่อผู้คนหรือสังคมรอบข้างและอาการดังกล่าวจะต้องส่งผลต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือนติดต่อกันนั่นเองครับ
อย่างไรก็ตามการบรรจุเข้าเป็นอาการทางจิตก็มีเหตุผลมีจุดประสงค์หลักก็คือจะได้คิดค้นหาวิธีรักษาได้ถูกจุดและเหมาะสมซึ่งสอดคล้องกับการให้ข้อมูลของ Dr. Shekhar Saxena ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพจิตของ WHO ว่าการนำอาการติดเกมลงในบัญชีอาการทางจิตจะได้รักษาอาการได้อย่างถูกต้อง
ส่วนแนวทางการรักษาเบื้องต้นนั้นทาง WHO ก็ได้ชี้แจงว่าจะเป็นการรักษาด้วยการบำบัดเป็นหลักแต่ในบางครั้งก็จะมีการใช้ยารักษาควบคู่ไปด้วยครับ
อย่างไรก็ตามสำหรับเหล่าเกมเมอร์ก็ไม่ต้องวิตกไปกับข่าวนี้เพราะจากข้อมูลของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดได้เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารจิตเวชศาสตร์อเมริกัน (American Journal of Psychiatry) เมื่อปี 2016 พบว่ากลุ่มผู้เล่นที่มีอาการติดเกมทั้งชาย/หญิงมีเพียง 2-3% จากกลุ่มสำรวจ 19,000 คนและในบางผลวิจัยก็มีไม่ถึง 1% ที่เข้าข่ายติดเกม
ฉะนั้นแล้วมันจึงเป็นการกำหนดแบ่งแยกอาการของโรคให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้นเพื่อที่จะได้หาทางรักษาได้อย่างถูกต้องนั่นเองแต่ถึงอย่างนั้นการทำอะไรที่มากเกินไปก็ย่อมส่งผลไม่ดีต่อร่างกายทั้งนั้นครับ
ที่มา: BBC , The Japan Times