ตอนนี้ต้องยอมรับว่าโน๊ตบุ๊คที่ออกแบบมาสำหรับการเล่นเกมมีเยอะจริงๆ ทั้งตัวสเปคแรงราคาแพง ไปจนถึงเครื่องสุดแสนบางเบาที่มาพร้อมการ์ดจอแยก หรือจะเป็นโน๊ตบุ๊คสำหรับคอเกมราคาประหยัดก็มีมากมาย แต่สำหรับโน๊ตบุ๊คแรงๆ นั้นมีจุดด้อยอย่างนึงคือเรื่องของความร้อน ที่ยิ่งแรงก็ยิ่งทำให้เกินความร้อนมาก โดยเฉพาะเครื่องที่มาพร้อมกับซีพียู HQ และการ์ดจอ GTX ยิ่งเป็นตัวผลิตความร้อนชั้นดี
แม้การออกแบบตัวเครื่องจะสามารถระบายความร้อนได้ดีระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่การทดสอบก็อยู่ในประเทศเมืองหนาว ไม่ได้เป็นเมืองร้อนอย่างบ้านเรา แม้จะมีแอร์ช่วยแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดีนัก วันนี้ผมเลยขอพาเพื่อนๆ ไปสังเกตุโน๊ตบุ๊คกันสำหน่อยว่าจะระบายความร้อนได้ดีไม่ดีดูทีอะไรบ้าง
1.ช่องระบายความร้อน
ตัวแรกคือช่องระบายความร้อน โน๊ตบุ๊คแรงๆควรมีช่องระบายความร้อนไม่น้อยกว่า 2 ช่องทาง โดยเฉพาะพวกซีพียูการ์ดจอแรงๆ ทั้งด้านข้าง และด้านล่าง โดยต้องดูก่อนนะครับว่าด้านข้างนั้นอยู่ตรงไหน เช่นด้านซ้าย หรือด้านหลังจะดีมาก สำคัญคือต้องไม่มีอะไรบังทางลม บางเครื่องช่องระบายความร้อนอยู่ทางด้านหลัง แต่ถูกบานพับหรือขอบจอภาพบังไว้ ก็อาจจะทำให้ระบายความร้อนได้ไม่ดีนัก บางเครื่องมีช่องระบายความร้อนด้านหลัง 2 ตัวเลย แต่ใต้เครื่องไม่มีช่องให้อากาศเข้า ก็อาจจะร้อนอยู่ดี โดยหลักการคือควรมีช่องใต้เครื่องเพื่อดูดอากาศเย็นเข้าไปแล้วระบายออกทางด้านหลังจะดีที่สุดครับ
2.ความหนาของตัวเครื่อง
นับวันเครื่องรุ่นใหม่ๆจะบางลงเรื่อยๆ บางเครื่องบางมาก พกพาสะดวกแต่ข้อเสียคือระบบระบายความร้อนแย่ เพราะไม่มีพื้นที่ให้อากาศถ่ายเทได้เลย เพราะฉะนั้นเครื่องอาจจะหน้าสักหน่อย แต่ช่วยในการถ่ายเทอากาศได้จะดีกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องบางๆจะไม่ดีไปเสียหมดนะครับ ต้องดูเป็นตัวๆไปเช่น asus rog zephyrus ที่มีเทคโนโลยีเฉพาะในการช่วยระบายความร้อน
3.ท่อนำความร้อน และพัดลมระบายความร้อน
ท่อนำความร้อนหรือฮีทไปป์ เป็นตัวกลางที่จะนำความร้อนจากตัวชิปการ์ดจอและซีพียูไปสู่งฟินระบายความร้อนเพื่อให้พัดลมเป่าออกไป โดยหลักการแล้วควรแยกท่อนำความร้อนของชิปการ์ดจอและซีพียูออกจากกัน หรือไม่ก็ควรมีมากกว่า 2 เส้น ในการช่วยถ่ายเทความร้อน ซึ่งถ้าเชื่อมต่อกันก็ควรแยกพัดลมระบายความร้อนเป็น 2 ตัว 2 ด้านออกจากกันไปเลยจะดีกว่า ไม่ควรระบายแค่ด้านในด้านหนึ่งเพราะความร้อนจะสะสมที่ตัวชิปฝั่งนั้นมากเกินไป
ส่วนตัวของพัดลมเองก็ควรมีอย่างน้อย 2 ตัว สำหรับโน๊ตบุ๊คที่มีสเปคแรงๆ และถ้าเป็นไปได้ควรแยกจากกันเป็น 2 ฝั่งเลย เพราะจะช่วยให้ระบายความร้อนได้ดีมากกว่า และบริเวณใจกลางควรมีช่องให้อากาศเย็นเข้าไป ไม่ควรปิดทึบหรือมีช่องที่เล็กจนเกินไปนัก
4.เช็คผลทดสอบจากเว็บไซต์ต่างๆ
สุดท้ายไม่ว่าระบบระบายความร้อน หรือช่องระบายความร้อนจะเป็นแบบใดก็อย่าเพิ่งไปตัดสินครับว่าดีหรือไม่ดี แต่ควรเช็คจากเว๊บไซท์ต่างๆที่มีการทดสอบ ทั้งจาก notebookspec เอง หรือเว๊บไซท์ต่างประเทศ ซึ่งแม้เขาอาจจะทดสอบในประเทศเขตหนาวหรือทดสอบในห้องแอร์ แต่ก็ยังคงสามารถเชื่อถือได้เพราะเวลาเราใช้จริงก็คงใช้ในห้องแอร์ หรือห้องพัดลมที่เต็มที่บวกไปอีก 5-8 องศา ปรกติโน๊ตบุ๊คที่ดีเวลาใช้งานหนักๆไม่ควรเกิน 85 องศา ซึ่งถือว่าสูงสุดแล้ว ถ้าเกินกว่านั้น อาจจะมีผลต่ออุปกรณ์ในระยะยาวได้ ถ้าเลวร้ายเลยคือเมื่อเครื่องร้อนเกิน จะดับไปเองเพื่อป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์ ซึ่งถ้าจะเป็นต้องใช้เครื่องนั้นจริงๆก็ควรจะหา Cooling Pad ดีๆมาใช้ช่วยระบายความร้อนสักตัวนึงครับ