ในระยะ 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้นั้นเราได้เห็นกันว่าแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD นั้นมีความต้องการสูงขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ แถมสามารถที่จะเข้ามาแย่งตลาด HDD ได้พอสมควรครับ อย่างไรก็ตามแต่แล้วนั้น SSD ที่หลายๆ คนคิดว่ามีความปลอดภัยสูง(จนในระดับ Data center ก็ยังใช้) ก็ถูกค้นพบช่องโหว่อย่าง “programming vulnerabilities” ซึ่งอาจจะส่งผลให้ถึงกับการทำงานไม่เสถียรรวมถึงที่แย่ที่สุดก็คือไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไปครับ
ผู้ที่ค้นพบช่องโหว่ดังกล่าวนี้นั้นเป็นกลุ่มนักวิจัย 6 คนจาก Carnegie Mellon University, Seagate และ Swiss Federal Institute of Technology โดยได้เผยแพร่งานวิจัยนี้เอาไว้ในงาน 23rd International Symposium on High-Performance Computer Architecture (HPCA) Industrial Session ซึ่งตัวงานวิจัยนั้นได้ระบุถึงช่องโหว่ที่น่ากลัวไว้ 2 รายการดังนี้ครับ
- Program Interference – หรือการโจมตีที่เขียนข้อมูลเฉพาะเจาะจงบางอย่างลงไปใน SDD จนทำให้ข้อมูลที่อยู่ใน SSD นั้นสูญหายได้ โดยข้อมูลดังกล่าวนั้นจะเข้าไปทำให้ Programming Logic ของ Multi-level Cell (MLC) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักในการพัฒนา SSD ในปัจจุบันทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดการเขียนข้อมูลบน SSD ของผู้ใช้มีอัตราความผิดพลาดมากกว่าเดิมถึง 4.9 เท่า แถมมันยังจะไปส่งผลกระทบกับ NAND Flash cell ที่อยู่รอบๆ ข้อมูลที่เขียนผิดเกิดความผิดพลาดไปตามๆ กัน ผลเสียหายที่ตามมานั้นก็คือ SSD ที่โดนจู่โจมดังกล่าวก็จะมีอายุการใช้งานที่สั้นลงกว่าเดิมครับ
- Read Disturb – อย่างที่ 2 นั้นเป็นการเขียนโค้ให้ทำการอ่านข้อมูลเป็นจำนวนมากๆ จนกระทั่งไปกระทบต่อการเขียนข้อมูลทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้น การอ่านข้อมูลนั้นจะอยู่ในระดับที่เรียกว่ามหาศาลผิดปกติจนในที่สุดก็จะทำให้ SSD เกิดอาการ Read Disturb Error ซึ่งจะไปทำให้ข้อมูลที่บันทึกใน Page เสียหายทั้งส่วนของ Page ที่กำลังเขียนข้อมูลและ Page ที่อยู่ใกล้ๆ กัน สุดท้ายแล้วนั้นมันก็จะทำลายความมีเสถียรภาพของ SSD ในระยะยาวครับ
ชุด SSD ที่ทางนักวิจัยใช้ในการทดสอบ
โชคยังดีครับที่นักวิจัยกลุ่มนี้นั้นได้เสนอแนวทางการป้องกันช่องโหว่ดังกล่าวเอาไว้ในงานวิจัย(โหลดได้จาก ที่นี่) ซึ่งงานนี้นั้นผู้ใช้ทั่วไปอาจจะอ่านยากกันสักหน่อยเพราะมันค่อนข้างจะเกี่ยวข้องกับการโปรแกรม อย่างไรก็ตามคงได้แต่หวังว่าเมื่องานวิจัยดังกล่าวนี้เผยออกไปแล้วผู้ผลิตจะช่วยปิดช่องโหว่เหล่านี้มาให้พวกเราหล่ะครับ
หมายเหตุ – จริงๆ แล้วช่องโหว่ดังกล่าวนี้อยู่ที่ NAND Flash ที่ SSD ใช้งานมากกว่า ซึ่งไม่เพียงแต่ SSD เท่านั้นที่เสี่ยงเพราะ NAND Flash นิยมใช้กันค่อนข้างมากไม่เว้นแม้กระทั่งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตครับ
ที่มา : bleepingcomputer