น่าจะเข้าใกล้วันเกิดตัวเข้าไปทุกทีแล้วครับกับหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Zen ที่ในตอนนี้นั้นทาง AMD ได้ออกมายืนยันชื่อในการวางจำหน่ายแล้วว่าจะเป็น “RYZEN” โดยทาง AMD ได้จัดงาน “New Horizon” ขึ้นมาเพื่อแจ้งความคืบหน้าของหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Zen ที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันแล้วว่าได้มีการเปิดตัวออกมาตั้งแต่ในปี 2012 ซึ่งทาง AMD เคยบอกเอาไว้ว่าหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม ZEN นั้นจะมาพร้อมกับการเพิ่ม IPC เข้าไปบนตัวชิปมากกว่า 40% เมื่อเทียบกับหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่ผ่านมา
โดยในงาน “New Horizon” นี้นั้นไม่เพียงแค่ได้มีการเผยข้อมูลว่าสถาปัตยกรรม Zen สำหรับ PC Desktop จะใช้ชื่อเป็น Ryzen เท่านั้น ทว่าทาง AMD ยังได้มีการโชว์ผลการทดสอบของหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Ryzen ซึ่งจะเป็นรุ่นแรกที่วางจำหน่ายสำหรับ PC Desktop ออกมาด้วย ซึ่งหน่วยประมวลผล RYZEN ที่ได้มีการนำมาสาธิตนั้นจะมาพร้อมกับแกนการประมวลผลจำนวน 8 cores, 16-thread พร้อมด้วยเทคโนโลยี SMT-enabled ความเร็วฐานอยู่ที่ 3.4 GHz แลมี L2+L3 Cache มากถึง 20 MB ใช้แพลตฟอร์ม AM4 ใหม่
และเพื่อไม่ให้ทางแฟนๆ ต้องผิดหวังและคาดเดากันไปว่าสรุปแล้วนั้น AMD Zen จะดีอย่างที่ทาง AMD โฆษณาเอาไว้หรือไม่ ทาง AMD ได้มีการสาธิตประสิทธิภาพของ RYZEN รุ่นที่สำหรับตลาดผู้บริโภคทั่วไป(ซึ่งมีสเปคตามที่ได้กว่าไปแล้วข้างต้น) กับหน่วยประมวลผลที่มีสเปคใกล้ๆ กันของฝั่ง Intel อย่าง Core i7-6900K ที่มาพร้อมกับ 8 cores, 16 threads บนความเร็วฐาน 3.2 GHz โดยเปิด Turbo Boost เอาไว้ด้วย(แต่ของทาง AMD ไม่มีการ Boost ความเร็วเพิ่มขึ้น) ในการทดสอบ Blender test และ Handbrake transcoding demo โดยได้ผลดังต่อไปนี้ครับ
จากผลการทดสอบนั้นจะเห็นได้ว่า RYZEN สามารถที่จะทำได้ดีกว่า 5 วินาทีซึ่งก็ไม่ได้มากเท่าไรนัก แต่ทว่า AMD ได้บอกเอาไว้ว่า RYZEN นั้นมีอัตราการคายความร้อน(TDP) ที่น้องกว่า i7-6900K คืออยู่ที่ 95 W TDP เทียบกับของ Intel นั้นจะอยู่ที่ 140 W TDP นอกเหนือไปจากนั้นแล้วยังมีสิ่งที่นย่าสนใจนั่นก็คือเรื่องของราคาของตัวหน่วยประมวลผลที่ถึงแม้ว่าทาง AMD ยังไม่เผยออกมาว่า RYZEN นั้นจะมีราคาอยู่ที่เท่าไร แต่ทาง AMD ได้บอกเอาไว้ว่ามันจะถูกกว่า i7-6900K ที่มีราคาอยู่ที่ราวๆ 41,500 บาทอย่างแน่นอน(เพราะทาง AMD ยืนยันหนักแน่นว่า RYZEN นั้นจะอยู่ในกลุ่มตลาดผู้ใช้ทั่วไปครับ)
ในเรื่องของการเล่นเกมนั้นทาง AMD ตั้งใจที่จะให้สภาพแวดล้อมของการสาธิตเหมือนการใช้งานจริงมากที่สุดดังนั้นทั้ง RYZEN และ i7-6900K นั้นต่างก็ถูกจัดมาใช้งานคู่กับกราฟิกการ์ด NVIDIA Titan X(ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมทาง AMD ถึงไม่ใช้กราฟิกการ์ด Radeon ของตัวเอง) โดยผลที่ปรากฎนั้นก็คือเครื่องที่ใช้ RYZEN นั้นเผยให้เห็นถึง frame-skipping ที่น้อยกว่าเครื่องที่ใช้ i7-6900K ที่น่าเสียดายก็คือนอกเหนือไปจากเรื่องดังกล่าวแล้วทาง AMD ไม่ได้โชว์ข้อมูลของ frame rate บนเครื่องทั้ง 2 แพลตฟอร์มออกมาให้เห็นกันตรงๆ ครับ
นอกเหนือไปจากความสามารถในการใช้งานทั่วไปแล้วทาง AMD ยังได้โชว์ SenseMI technology ที่อยู่บนหน่วยประมวลผล Ryzen ด้วยอีกต่างหาก โดยบนเทคโนโลยีนี้จะประกอบไปด้วยตัวช่วยสำหลับการประมวลผลของหน่วยประมวลผล Ryzen ต่างๆ ดังนี้ครับ
- Neural Net Prediction : เป็นปัญญาประดิษฐ์รูปแบบ neural network(เรียกแบบการเชื่อมต่อของระบบประสาทของมนุษย์) โดยมันจะทำหน้าที่ในการคาดเดาเส้นทางในอนาคตที่แอปพลิเคชันต่างๆ จะต้องใช้งานโดยอาศัยการทำงานที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ผลที่ได้ก็คือแอปพลิเคชันต่างๆ นั้นจะสามารถทำงานได้เร็วมากขึ้นกว่าเดิมเพราะหน่วยประมวลผลได้ทำการเดาและจองเส้นทางไว้ให้แอปพลิเคชันแล้ว
- Smart Prefetch : จะทำงานควบคู่กับ Neural Net Prediction ในการเตรียมข้อมูลสำหรับการใช้งานของแอปพลิเคชันในอนาคตที่ได้มีการคาดเดาโดย Neural Net Prediction มาแล้วว่าจะต้องใช้
- Neural Net Prediction และ Smart Prefetch นั้นจะเป็นฟีเจอร์ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการยกระดับประสิทธิภาพการประมวลผลของ Ryzen แล้วถึง 1 ใน 4
- “Pure Power” และ “Precision Boost” จะเป็นฟีเจอร์ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มลดความเร็วสัญญาณนาฬิกาของหน่วยประมวลผลให้เป็นไปตามการใช้งาน โดยในการทำให้ฟีเจอร์ทั้ง 2 นี้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ทาง AMD ได้ติดตั้งเซ็นเซอร์ขนาดเล็กมากกว่า 100 ตัวลงไปบนหน่วยประมวลผลซึ่งเซ็นเซอร์ต่างๆ แหล่านี้นั้นจะคอยตรวจจับความดังไฟฟ้า, พลังงานที่หน่วยประมวลผลใช้รวมไปถึงระดับของอุณหภูมิ เพื่อที่จะนำมาคำนวณและปรับลดแรงดันไฟฟ้าและความเร็วของหน่วยประมวลผลให้ออกมามีประสิทธิภาพที่สุด(โดยฟีเจอร์ดังกล่าวนี้นั้นจะเน้นเรื่องของการประหยัดพลังงานในขณะที่หน่วยประมวลผลยังสามารถที่จะประมวลผลได้เป็นอย่างดี)
- “Extended Frequency Range” (XFR) ท้ายสุดกับฟีเจอร์ที่จะทำหน้าที่เพิ่มความเร็วสัญญาณนาฬิกาโดยอาศัยกับรับรู้ในเรื่องอุณหภูมิมาเป็นเกณฑ์(ลักษณะคล้ายๆ กับ Turbo Boost ของทาง Intel) ตรงจุดนี้นั้นทาง AMD ได้บอกเอาไว้ว่าหากคุณใช้ระบบระบายความร้อนดีๆ แล้วนั้นก็มีสิทธิที่จะเพิ่มความเร็วสัญญาณนาฬิกาไปได้มากโดยที่ตัวหน่วยประมวลผลจะทำให้คุณเองครับ
เรื่องที่น่าสนใจก็คือการรองรับการเล่นเกมกับระบบสร้างภาพเสมือนจริงนั้น มาในคราวนี้ทาง AMD ได้โชว์ออกมาอย่างเต็มรูปแบบเลยครับว่า Ryzen นั้นรองรับการใช้งานกับอุปกรณ์สร้างภาพเสมือนจริงอย่างแน่นอน นอกเหนือไปกว่านั้นแล้วประสิทธิภาพที่ได้นั้นยังดีกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจนอย่างการประมวลผล raytracing ของวัตถุ 3 มิติที่จัดเต็มทั้งเรื่อง shaders, materials และ HDR ที่ Ryzen สามารถจะสร้างภาพ 3 มิติโดยการแสดงผลรูปหลายเหลี่ยมได้มากถึง 53 ล้านรูป
ในการเล่นเกมจริงนั้นเพื่อโชว์ประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผล Ryzen ที่มาพร้อมกับกราฟิกแบบฝังที่มีประสิทธิภาพพอๆ กับ AMD 4850(หรืออาจจะไกลถึง 4870) ทาง AMD ได้ทำการรันเกม DOTA 2 แบบสตรีมมิง เทียบกับ Core i7-6700K ของฝั่ง Intel ซึ่งพบว่านอกเหนือไปจากที่ Ryzen จะสามารถแสดงผลได้สวยงามมากกว่า Core i7-6700K แล้ว Ryzen นั้นยังมาพร้อมกับ frame-skipping ที่น้อยกว่าเมื่อทำการสตรีมมิงภาพจากตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ไปที่หน้าจอใหญ่ที่เอาไว้โชว์ครับ
ดูแล้วนั้นเหมือนกับว่าทาง AMD จะทำการบ้านมาได้ดีกับหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Zen จริงๆ ครับ อย่างไรก็ตามแต่หากไม่มีอะไรผิดพลาดไปอีก เราน่าจะได้เห็นหน่วยประมวลผลสถาปัตยกรรม Zen อย่าง Ryzen นี่วางจำหน่ายในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2017 ที่จะถึงนี้ และน่าจะพอฟัดกับ Intel Kaby Lake ได้เป็นอย่างดี แต่ทว่าถ้าหากทาง AMD ยังติดโรคเลื่อนเข้ามาอีกหล่ะก็ มีสิทธิได้ว่าทาง Intel อาจจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเป็นการสกัด Zen ก่อนออกมาก็เป็นได้ครับ
ที่มา : techpowerup