ในขณะที่แหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD กำลังมีราคาถูกลงทุกวันๆ จนในอีกไม่กี่ปีนี้เทคโนโลยีแหล่งเก็บข้อมูลแบบ SSD น่าจะเข้ามาแทนที่แหล่งเก็บข้อมูลแบบ HDD ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ทว่านักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างก็ไม่หยุดวิจัยและพัฒนาแหล่งเก็บข้อมูลแบบใหม่ออกมาเรื่อยๆ ครับ
ล่าสุดนั้นนักวิทยาศาสตร์จาก Delft University of Technology หรือ TU Delft ได้ออกมาเผยแพร่งานวิจัยแหล่งเก็บข้อมูลแบบใหม่ที่ใช้พื้นฐานการเก็บข้อมูลเล็กในระดับอะตอมจนสามารถทำให้สร้างแหล่งเก็บข้อมูลความจุ 62 TB บนพื้นที่เพียงหนึ่งตารางนิ้วได้ขึ้นมาครับ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ TU Delft ได้เปิดเผยออกมาครับว่าอะตอมที่พวกเขาใช้ในการวิจัยนั้นเป็นอะตอมของคลอรีนซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อที่จะทำการเก็บข้อมูบในระดับ bit โดยเฉพาะ(ข้อมูลตัวเลขเฉพาะ 0 และ 1 ซึ่งเป็นข้อมูลระดับที่เล็กที่สุดของคอมพิวเตอร์) ซึ่งด้วยการใช้อะตอมของคลอรีนดังกล่าวนั้นทำให้ทางทีมวิจัยสามารถที่จะเก็บข้อมูลขนาด 1 KB ได้โดยใช้พื้นที่ความกว้างเพียง 100 นาโนเมตรเท่านั้น หากคำนวณออกมาอย่างเป็นทางการแล้วก็จะพบว่าพื้นที่ขนาดหนึ่งตารางนิ้วนั้นสามารถที่จะเก็บข้อมูลได้มากถึง 62.5 TB มากกว่าแหล่งเก็บข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันถึง 500 เท่าครับ
อย่างไรก็ตามแต่ครับเทคโนโลยีดังกล่าวนี้น่าจะยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะสามารถประยุกต์มาใช้งานจริงได้ครับ เหตุผลนั้นก็เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างจะแพงอยู่ซึ่งนั่นก็คือแหล่งเก็บข้อมูลจากงานวิจัยชนิดนี้จะสามารถใช้งานได้เฉพาะในสถานที่ที่สะอาดแบบสะอาดจริงๆ(ถึงขั้นไร้ฝุ่น) และอีกหนึ่งเงื่อนไขอย่างการใช้งานนั้นจะต้องอยู่ในสภาวะอุณหภูมิแบบเย็นจัดที่ระดับ -196.15 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งแม้จะดูแล้วเหมือนจะอีกนานแต่ทางนักวิจัยก็ได้บอกเอาไว้ครับว่าหากลดขนาดการเก็บข้อมูลให้เล็กลงก็อาจจะทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวนี้เกิดเร็วขึ้นกว่าที่คิดครับ
หมายเหตุ – อย่างไรก็ตามแต่ดูตามคลิปของทางทีมวิจัยแล้ว ดูเหมือนว่าทีมวิจัยจะเน้นเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ไปที่ Data Center มากกว่าการใช้งานสำหรับผู้ใช้ทั่วไปหล่ะครับ
ที่มา : engadget